รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ ในอดีตที่ผ่านมา “การเสียสัตย์เพื่อชาติ”แล้วมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นที่พิสูจน์แล้วมิใช่หรือว่าผู้ที่ตระบัดสัตย์เช่นนั้นมีอันเป็นไปเช่นใด
วันนี้ต้องขอแทรกบทความต่อเนื่องขนาดยาว “ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย” ด้วยเรื่องสำคัญสัก 1 ครั้งก็คือ ข้อพิพาทการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกปราสาทพระวิหารโดยกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวและปัญหาเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา
ทั้ง 2 เรื่องมีความเกี่ยวโยงกันอย่างชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อยมาโดยตลอด แม้ว่าแรกเริ่มอาจเป็นเรื่องข้อพิพาทเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกปราสาทพระวิหารโดยกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวซึ่งหากกัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนโดยไม่รุกล้ำเขตแดนไทยก็อาจจะจบลงโดยง่าย
แต่ทำไปทำมากลับกลายเป็นปัญหาเรื่องเขตแดนเพราะกัมพูชาน่าจะคิดการใหญ่กว่านั้น โดยหวังที่จะได้ดินแดนประชิดโดยรอบปราสาทพระวิหารเพื่อที่จะสามารถเป็นทางขึ้นลงได้โดยง่าย และที่สำคัญไปมากกว่านั้นก็คือ หากมีการตกลงเขตแดนกันใหม่ซึ่งอาจไม่เหมือนกับที่ไทยเคยตกลงไว้กับฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมกัมพูชาเมื่อศตวรรษก่อน อาณาเขตทางทะเลก็จะเปลี่ยนไปและทรัพยากรที่เชื่อว่ามีอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมากคือน้ำมันก็จะตกไปอยู่กับทางกัมพูชา
“บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบก ลงนาม ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา วันที่ 14 มิถุนายน 2543” หรือที่รู้จักกันในชื่อ MOU 2543 ที่จัดทำขึ้นในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นพื้นฐานหรือกรอบในการเจรจาเรื่องการจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่คือ ต้นเหตุ
แม้ว่าทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศกษิตและนายกฯ อภิสิทธิ์จะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการจัดทำเขตแดนใหม่เพราะได้มีข้อยุติไปแล้วเมื่อมีสัญญา 2 ฉบับกับฝรั่งเศส แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏมาโดยตลอดนับตั้งแต่กัมพูชาเริ่มการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้ทำให้สาธารณชนมีความรู้ความเข้าใจว่าฝ่ายการเมืองกำลังทำอะไรกันอยู่ในเรื่องดินแดนส่วนนี้
ประเด็นในข้อแรกก็คือกัมพูชาสามารถเริ่มกระบวนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารได้โดยลำพังฝ่ายเดียวทั้งที่ไม่เคยทำได้มาก่อนก็ต่อเมื่อฝ่ายไทยโดยนายนพดลในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยรัฐบาลสมัครให้คณะรัฐมนตรีรับรองแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชาในลักษณะที่ยอมให้กัมพูชาไปขึ้นทะเบียนแต่ฝ่ายเดียว
เมื่อศาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวตามที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยส่งตัวแทนไปฟ้องต่อศาล ทำไมเมื่อท่านทั้ง 2 เข้ามารับตำแหน่งจึงไม่ยกเลิกแต่กลับปล่อยให้สิ้นผลไปโดยคำสั่งศาล การไม่ยกเลิกนอกจากเป็นการเอื้อประโยชน์มิให้ข้าราชการที่มีส่วนร่วมไม่ต้องมีข้อหาตามนพดลไปด้วย ยังเป็นการแสดงท่าทีสนับสนุนให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนต่อไปได้ ถ้าไม่ลูบหน้าปะจมูกในคราวนั้นแล้ว เราคงไม่ลำบากเช่นนี้ นี่คือเหตุที่ประชาชนเริ่มไม่ไว้ใจว่าพูดอย่างทำอย่าง
ประเด็นที่ 2 ก็คือ ปัญหาเรื่อง MOU 2543 ที่ท่านทั้ง 2 อ้างอยู่เสมอว่ามีประโยชน์กับฝ่ายไทยมากกว่าไม่มี ตรงนี้เองที่เป็นประเด็นปัญหาเพราะจุดยืนของท่านสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อการเสียอธิปไตยของประเทศและฝ่ายประชาชนเห็นตรงกันข้ามกับทั้ง 2 ท่านในเรื่องนี้
ใน MOU 2543 แม้จะอ้างถึงหลักการกำหนดเขตแดนตามสัญญา 2 ฉบับเมื่อปี ค.ศ. 1904 และ 1907 ที่ใช้หลักสันปันน้ำ แต่กลับไปอ้างอิงแผนที่ระวาง 1:200,000 ที่ฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำขึ้นเมื่อศตวรรษก่อนโดยมิได้ผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายไทยตามข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชาเป็นอีก 1 เงื่อนไขเพิ่มเติมในการกำหนดหลักเขตแดน ทำให้เป็นเรื่องแปลกประหลาดยิ่งนักเพราะแทนที่จะกำหนดนิยามเขตแดนโดยใช้หลักฐานทางภูมิศาสตร์ เช่น สันปันน้ำ แม่น้ำ หรือขอบหน้าผา ซึ่งมีปรากฏอยู่แล้วโดยธรรมชาติและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยง่ายมาเป็นหลักกำหนดเขตแดน แต่กลับไปใช้แผนที่ซึ่งเขียนใหม่ได้ตลอดเวลาและเป็นแผนที่เจ้าปัญหาเป็นหลักเพิ่มเติมเข้ามา
ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ที่ปรากฏก็คือตั้งแต่ตะวันออกสุดของประเทศไทยคือจังหวัดอุบลราชธานีจนมาถึงช่องสะงำได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์นั่นคือสันปันน้ำและขอบหน้าผาที่เห็นได้โดยชัดเจนในการกำหนดนิยามของเขตแดน เพราะไม่มีหลักเขตแดนปรากฏแม้แต่หลักเดียว ปราสาทพระวิหารก็อยู่ในบริเวณนี้ นอกเหนือไปจากนี้จึงเริ่มมีหลักเขตแดนที่ 1 จนถึงหลักที่ 73 ที่จังหวัดตราดซึ่งเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นมาในการกำหนดเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ
สิ่งที่นายกฯ อภิสิทธิ์จำเป็นต้องอธิบายกับเจ้าของประเทศก็คือ เหตุใดจะต้องมาจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่ในช่วงอุบลราชธานีจนมาถึงช่องสะงำที่สภาพทางภูมิศาสตร์เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขตแดนอยู่ที่ใดไม่ว่าจะเมื่อ 100 ปีก่อนหรืออีก 100 ปีข้างหน้าก็ตาม แต่หากเป็นการเข้าไปสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนที่ชำรุดหรือหายไปในช่วงหลักเขตแดนที่ 1 ถึง 73 ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี
ความพยายามในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยฝ่ายกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประจักษ์ได้ว่าการครอบครองปราสาทพระวิหารของกัมพูชาโดยคำตัดสินของศาลโลกนั้นไม่สามารถจะทำให้กัมพูชาได้ครอบครองปราสาทนี้อย่างแท้จริง เพราะการอ้างหลักทางนิติศาสตร์โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงก็เป็นเสมือน การปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ หรือออกกฎหมายให้คนออกลูกเป็นลิง ฉันใดก็ฉันนั้น ทางขึ้นทางลงและพื้นที่ประชิดโดยรอบตัวปราสาทจึงเป็นสิ่งสำคัญ ปราสาทพระวิหารนั้นตั้งอยู่บนขอบหน้าผา หากปฏิเสธไม่ถือหลักภูมิศาสตร์กัมพูชาจะไต่หน้าผาขึ้นมายังตัวปราสาทได้อย่างไร
ดังนั้น กระบวนการปล้นดินแดนไทยโดยรัฐบาลหุ่นเชิดของทักษิณเป็นผู้ให้ความร่วมมือออกแถลงการณ์ร่วมโดยไม่ผ่านสภาฯ จึงเริ่มขึ้นโดยอาศัยช่องในเรื่องการกำหนดนิยามเขตแดนโดยอาศัยแผนที่ระวาง 1:200,000 ใน MOU 2543 เป็นหลักเพราะไปเอื้อให้มีการกำหนดเขตแดนใหม่และละทิ้งหลักการเดิมคือหลักภูมิศาสตร์ที่ไทยยึดถือมาโดยตลอด
MOU 2543 เป็นข้อตกลงที่น่าจะเข้าข่ายต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ด้วยเช่นกันเพราะมีโอกาสที่ทำให้อาณาเขตของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ไม่ได้เข้าสภาฯ การเสนอให้สภาฯ รับรองบันทึกข้อตกลงกรอบเจรจาฯ กรณีปราสาทพระวิหารและการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาทั้ง 3 ครั้งที่จัดทำโดยกระทรวงต่างประเทศที่ใช้ MOU 2543 เป็นพื้นฐานในการเจรจา จะเป็นการรับรอง MOU 2543 ให้มีความถูกต้องไปโดยปริยาย
การพยายามป้องกัน MOU 2543 ของนายกฯ อภิสิทธิ์ได้สร้างความสงสัยและไม่ไว้วางใจกับสาธารณชนมาโดยตลอด หลักการและเหตุผลที่ใช้ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่คงเส้นคงวา สุดแท้แต่จะหาอะไรมาอ้างเพื่อให้เห็นว่า MOU 2543 ยังเป็นคุณกับประเทศไทยตั้งแต่เรื่องแผนที่หลายฉบับจนถึงการไม่ให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เป็นโล้เป็นพายทั้งสิ้น
นายกฯ อภิสิทธิ์ชี้แจงในสภาฯ เมื่อ 2 พ.ย. 53 ในลักษณะที่ว่า การมี MOU 2543 เป็นประโยชน์เพราะทำให้กัมพูชาต้องยอมรับต่อประชาคมโลกว่าเรื่องเขตแดนยังไม่เรียบร้อย ทำให้ยังขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่สำเร็จสมบูรณ์ หากประเทศไทยไม่มี MOU 2543 และไม่ใช้ประสิทธิภาพเจบีซี กัมพูชาจะใช้ต่างชาติ เช่น ยูเนสโก เข้ามาจัดการโดยอิงแต่แผนที่ของตนเอง
จุดยืนดังกล่าวข้างต้น นายกฯ อภิสิทธิ์ต้องชี้แจงให้เจ้าของประเทศผู้เป็นเจ้านายที่คุณอาสามารับใช้ก็คือ
1. ทำไมจึงกล่าวว่าเขตแดนไทยกัมพูชายังไม่เรียบร้อย ทั้งที่นายกฯ อภิสิทธิ์ก็รับเองว่า MOU 2543 ไม่ได้เป็นการจัดทำเขตแดนขึ้นมาใหม่? เขตแดนตกลงกันเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วกว่า 100 ปีมิใช่หรือ?
2. ไทยได้สละอธิปไตยและมอบไปให้ต่างชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศใดสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ตั้งแต่เมื่อใด?
3. ทำไมไทยจึงต้องเอาต่างชาติ เช่น ยูเนสโกมาเป็นตัวตั้ง หากไม่เป็นสมาชิกยูเนสโกประเทศจะเสื่อมถอยไปมากน้อยเพียงใด ทั้งๆ ที่หลายๆ ชาติก็ไม่ได้เป็นสมาชิก?
4. ที่สำคัญก็คือ การไม่มี MOU 2543 ไทยกับกัมพูชาสามารถอยู่ด้วยกันได้หรือไม่? เพราะในโลกนี้ไม่มีข้อตกลงใดที่เมื่อขาดไปแล้วประเทศจะอยู่ไม่ได้ใช่หรือไม่?
การที่มีกระแสกล่าวหาว่านายกฯ อภิสิทธิ์ตระบัดสัตย์หรือพยายามจะขายชาติเหมือนดังเช่นทักษิณและรัฐบาลหุ่นเชิดของเขาก็เพราะนายกฯ อภิสิทธิ์มีพฤติกรรมมาโดยตลอดที่ตั้งตนอยู่ในความประมาท อวดดี เห็นข้อท้วงติงหรือความเห็นของประชาชนว่าด้อยและไม่มีเหตุและผลเท่ากับที่ตนเองมีใช่หรือไม่?
ประเทศชาติเป็นของส่วนรวม เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ นายกฯ อภิสิทธิ์เป็นเพียงผู้อาสาเข้ามาทำงานให้เท่านั้น ท่านต้องหนักแน่นอย่าเห็นคนคิดต่างเป็นศัตรู อย่าได้อ้างเพียงแต่ว่าตัวเองมิได้มีผลประโยชน์อันใดจาก MOU 2543 เพราะการเสนอให้สภาฯ มีมติรับรองบันทึกข้อตกลงฯ ทั้ง 3 ฉบับมิได้ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนไปในบัดดล หากแต่จะเป็นช่องทางสร้างความถูกต้องและชอบธรรมให้ทางฝ่ายกัมพูชานำไปอ้างเพื่อจดทะเบียนมรดกโลกได้อย่างสมบูรณ์เพราะเป็นการเพิ่มเติมคุณสมบัติให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาอีก 4.6 ตร.กม.จากการอ้างเขตแดนเส้นใหม่ตามแผนที่ระวาง 1 ต่อ 200,000 ซึ่งอาจเป็นในช่วงเวลาที่ท่านอาจมิได้อยู่ในตำแหน่งแล้ว
นายกฯ อภิสิทธิ์จึงอาจไม่ใช่คนขายชาติดังเช่นทักษิณ แต่แม่ยกอภิสิทธิ์ควรเข้าใจว่านายกฯ อภิสิทธิ์กำลังหลงอัตตาของตัวเองและนำประเทศเข้าสู่มุมอับในการเสียดินแดนเพราะการพูดกลับไปกลับมาไม่หนักแน่น
ฝ่ายประชาชนในขณะนี้จึงคิดเห็นต่างกับนายกฯ อภิสิทธิ์และต่อว่าท่านในเรื่องนี้ว่าตระบัดสัตย์ และท่านจะกลายเป็นคนที่ยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” คนที่สองหลังสุจินดา