What is to be done? พรรคของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย “ควรจะทำอะไรในอนาคต”
(สึนามิลูกใหม่ทางการเมืองได้เกิดขึ้นแล้ว )
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 26 พ.ค. 52
รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง
รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การประกาศตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยท่ามกลางสายฝนเมื่อคืนวันที่ 25 พฤษภาคม แม้จะเป็นการจัดงานรำลึกหนึ่งปีของ 193 วันแห่งการต่อสู้ของพวกเขา ที่สนามกีฬาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่ต้องถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเมืองไทย ไม่ว่าจะมองจากมุมใดๆ ก็ตาม
เท่าที่ผ่านมา ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนในประเทศนี้ที่เป็น พรรคมหาชน (mass party) และมี “ประวัติศาสตร์แห่งการก่อเกิด” เหมือนอย่างเช่น พรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เป็นพรรคที่เกิดจากการเรียกร้องของมวลมหาประชาชน ที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
เป็นพรรคที่เกิดจากขบวนการภาคประชาชนที่ผ่านการหล่อหลอมจากการต่อสู้อย่างต่อเนื่องถึง 193 วันติดต่อกันอย่างชนิดยอมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิตของผู้กล้านิรนามทั่วทั้งแผ่นดินจำนวนมาก
เป็นพรรคที่เกิดจากหยาดโลหิตที่หลั่งลงพื้นพสุธาจริงๆ ทั้งจากมวลชนและจากแกนนำของพวกเขา ตามความหมายของภาษาเช่นนั้นจริง
ประเทศไทยเราไม่เคยมีพรรคการเมืองเช่นนี้มาก่อน และหลังจากนี้ไปอีกนานแสนนานก็คงจะไม่มีพรรคการเมืองเช่นนี้อีกแล้ว ยกเว้นพรรคการเมืองพรรคนี้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น
พรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะสร้าง “ความเปลี่ยนแปลง” หรือ change ให้กับประเทศไทยได้หรือไม่? การที่จะตอบคำถามนี้ได้อาจจะต้องกลับมาทบทวนปัญหาในอดีตของพรรคการเมืองต่างๆ ในประเทศไทยเสียก่อน
ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง มีการจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมาย และมีพรรคการเมืองมาหลายสิบปี อยู่คู่รัฐธรรมนูญมาแล้วนับสิบฉบับ แต่ใครจะเชื่อบ้างว่าประเทศไทยมีพรรคการเมืองที่แท้จริง มิใช่เป็นเพียงเสมือน “คอก” ที่นายทุนหรือเจ้าของคอกคอยต้อน ส.ส.เข้ามาไว้
หากจะพิจารณาจากความหมายของพรรคการเมือง ที่จะต้องมีการรวมเอาบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้ามาร่วมงานเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่จะได้มาซึ่งอำนาจรัฐในการปกครอง สภาพความมีอยู่ของพรรคการเมืองในประเทศไทยอาจมีน้อยมาก เท่าที่เห็นและสัมผัสได้ใกล้เคียงที่สุดก็อาจจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคพลังธรรม เป็นต้น
ประเทศไทยมี ส.ส.ที่สามารถชนะการเลือกตั้งมาแล้วหลายๆ สมัยจำนวนมากพอสมควร แต่มีใครลองนึกดูไหมว่า ทำไม ส.ส.หลายสมัยที่ว่าเหล่านั้นส่วนใหญ่จึงไม่สังกัดพรรคการเมืองเดียวติดต่อกันเหมือนตำแหน่ง ส.ส.ที่ตนได้เป็นมาแล้ว
ไม่มีพรรคการเมืองสักพรรคเดียวเลยหรือที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับ ส.ส.หลายสมัยของท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านั้นถึงทำให้ท่านผู้ทรงเกียรติต้องเปลี่ยนพรรคไปอยู่เรื่อยๆ ทั้งในช่วงที่มีการเลือกตั้ง หรือแม้แต่ในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งก็ตาม
หรือในความเป็นจริงทั้งพรรคและท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านั้นก็ไม่มีจุดร่วมในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด หากแต่มีจุดร่วมอื่นๆ เช่น เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง หรือเพื่ออามิสสินจ้างเพราะทำอาชีพ ส.ส.เลี้ยงตัวเอง
ด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ประเทศไทยจะมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ดำรงความเป็นพรรคการเมืองมาได้โดยตลอดนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2489 เป็นต้นมา ส่วนพรรคอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่มีการดำเนินการทางการเมืองได้สัก 1-2 การเลือกตั้งแล้วก็ล้มหายตายจากไป
ห้วงเวลาของระบอบประชาธิปไตยไทยหากนับอย่างหยาบๆ ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา กว่า 70 ปีแล้วที่ประเทศไทยมีพรรคการเมืองที่แท้จริงน้อยมาก เพราะพรรคการเมืองที่เคยตั้งมาส่วนใหญ่มีเจ้าของซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยและมีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มใหญ่คือผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคหรือผู้ที่จะลงคะแนนเสียงให้น้อยเช่นกัน อาศัยแต่เพียง “มากเงิน” เพื่อชักจูง และ “มากกฎ” ที่จะบังคับให้ ส.ส.เป็นเสมือนทรัพย์สินของเจ้าของพรรค ไม่เชื่อลองไปดูสถิติเกี่ยวกับสมาชิกพรรคการเมืองก็ได้ว่าแต่ละพรรคมีฐานมวลชนที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ว่านี้มากน้อยเพียงใด แล้วจะอ้างตัวเองว่าเป็นพรรคการเมืองของมวลชนได้อย่างไร
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่กฎว่าด้วยการสังกัดพรรคการเมืองของผู้ที่จะเข้ามาสู่การเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเมืองไทยแบบเก่า เพราะมีไว้ควบคุม ส.ส.แต่เพียงอย่างเดียว หาได้มีไว้เพื่อให้ผู้บริหารหรือเจ้าของพรรคแสดงความรับผิดชอบต่อ ส.ส.แต่อย่างใดไม่
ประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงกลับหัวกลับหางกับระบอบประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ เพราะขาดซึ่งมวลชนที่มีความคิดเห็นร่วมกัน มีแต่นายทุนหรือเจ้าของพรรคที่เป็นคนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่มวลชนแต่มีความเห็นร่วมกัน และไปลงทุนหรือกวาดต้อนเอา ส.ส.เข้า “คอก” เพื่อเป็นหนทางเข้าสู่อำนาจรัฐโดยผ่านเปลือกของระบอบประชาธิปไตย
ดังเช่นที่ ทักษิณ ชินวัตร เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการเพื่อเข้าสู่อำนาจ มิใช่เป้าหมายที่ต้องการ
วิกฤตทางการเมืองประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือมวลชนหรือประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีพรรคที่เป็นตัวแทนที่จะเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของตนเองอย่างแท้จริง
ในปัจจุบัน พรรคการเมืองที่มี ส.ส.อยู่ในสภามีอยู่ไม่มากนักสามารถนับด้วยนิ้วมือทั้ง 2 มือได้ถ้วน แต่ที่สำคัญก็คือพรรคเหล่านั้นสามารถที่จะเป็นตัวแทนของผู้ที่เลือกให้ไปทำงานได้หรือไม่ต่างหาก
พรรคเพื่อไทยมีบรรพบุรุษจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกตุลาการรัฐธรรมนูญในปี 2550 ตัดสินยุบพรรคพรรคไทยรักไทยและอีก 3 พรรคด้วยข้อหาพรรคไทยรักไทยโดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาลและพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคในขณะนั้น จ้างพรรคอื่นหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยให้พ้นเกณฑ์ผู้สมัครคนเดียวที่ต้องได้คะแนนขั้นต่ำเมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 และอีกครั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญในปี 2551 ตัดสินยุบพรรคพรรคพลังประชาชน ร่วมกับพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากมีการซื้อเสียงโดยผู้บริหารพรรคทั้ง 3 พรรค เมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2550
จะเห็นได้ว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองไทยโดยผู้บริหารพรรคทั้งสิ้น มิใช่โดย ส.ส.ไปกระทำแล้วให้ผู้บริหารพรรครับผิดชอบแต่ประการใด ดังนั้นจึงเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีความยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะถึงขั้นมีการกระทำผิดในกระทรวงกลาโหม พรรคเหล่านี้จึงไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองประเทศโดยรวมได้ตามคำพิพากษาของศาลที่ผ่านมา
ในปัจจุบันพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีซึ่งหัวหน้าพรรคที่แท้จริง เพราะแม้แต่ในช่วงการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ แข่งกับนายอภิสิทธิ์ยังไปเสนอชื่อบุคคลนอกพรรค เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนาที่มีบรรพบุรุษจากพรรคชาติไทยซึ่งเดิมก็เป็นพรรคชนกลุ่มน้อยอยู่แล้วเพราะเป็นพรรคครอบครัว ที่อาศัยน้องชายหัวหน้าพรรคชาติไทยที่โชคดีไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองแต่ไม่ได้ตั้งใจจะมาดำเนินการทางการเมืองมาเป็นหัวหน้าพรรค หรือพรรคภูมิใจไทยที่มีที่มาจากพรรคมัชฌิมาธิปไตยกับก๊วนการเมืองที่แตกออกมาจากพรรคพลังประชาชน จึงเหลือแต่เพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความเป็นพรรคการเมืองมากที่สุด
แต่การเป็นตัวแทนประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์เริ่มที่จะเป็นปัญหา เพราะสิ่งที่พรรคเห็นไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ประชาชนเห็น และสิ่งที่พรรคทำเริ่มไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ
ใครก็ตามที่ทำงานการเมืองโดยใช้มุมมองของประชาชนในการทำงาน จึงเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง หากแตกต่างไปจากนี้ก็จะเป็นประชาธิปไตยส่วนตัวไป
ดังนั้น การคัดเลือกรัฐมนตรีที่เป็นไปตามโควตาพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลมากกว่าความรู้ความสามารถก็ดี เรื่องนโยบายสนามบินเดี่ยวก็ดี เรื่องการแต่งตั้งผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตสนามบินมาเป็นผู้ดูแลเรื่องการพัฒนาสนามบินก็ดี หรือเรื่องการเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงเป็นประชาธิปไตยส่วนตัวของพรรคการเมืองในปัจจุบันทั้งสิ้นไม่เว้นแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์
สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจมีคำอธิบายจากนายกฯ อภิสิทธิ์หรือจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การเมืองแบบเก่าที่ได้พิสูจน์อีกครั้งแล้วว่าไม่สามารถทำให้นายกฯ รุ่นใหม่ เช่น นายอภิสิทธิ์เป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลงของมวลชนได้
พรรคประชาธิปัตย์กล้าหรือไม่ที่จะ change ชูธงปฏิรูปการเมืองที่เป็นมากกว่าการฝืนแก้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนใหญ่ลงมติรับรองมา
พรรคประชาธิปัตย์กล้าหรือไม่ที่จะ change ชูธงยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตของรัฐบาลตนเอง พร้อมที่จะ “หัก” มากกว่า “ห-งอ” พรรคร่วมเพราะกลัวไม่ได้เป็นรัฐบาล เหมือนเช่นสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ที่ไม่มี ส.ส.ในสังกัดแม้แต่คนเดียว
พรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณอภิสิทธิ์ กลัวหรือไม่ที่จะรักษาความถูกต้องและสร้างความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้ายสนามบิน การเช่ารถเมล์ 4,000 คัน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเดียวกันกับกรณีข้าวโพด คุณอภิสิทธิ์กล้าหาญ ที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เหมือนกับที่เคยแถลงกับประชาชนเมื่อตอนรับตำแหน่งใหม่ๆ หรือไม่
ผู้เขียนก็คิดว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เป็นมวลชนเช่นกัน รู้สึกผิดหวังกับการเมืองเก่าที่นายกฯ อภิสิทธิ์เผชิญอยู่และหาทางออกได้ยาก
อย่าลืมว่าพันธมิตรฯ เริ่มต้นมาจากการต่อสู้ของสื่อฯ เช่น ผู้จัดการโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นการสู้โดยสื่อสารมวลชนคนหนึ่ง ผ่านร้อน ผ่านฝน และห่าลูกปืน จนกลายมาเป็นผู้นำมวลชน
อย่าลืมอีกเช่นกันว่าพันธมิตรฯ สู้จากข้างถนนและเกิดปรากฏการณ์สนธิขึ้นมาจนสามารถคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อให้ทักษิณ ชินวัตรพ้นผิดได้สำเร็จ
แต่ก็อย่าลืมอีกเช่นกันว่าสถานการณ์ในปี 2552 นี้แตกต่างไปจากที่ผ่านมา การยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำลังใกล้เข้ามา พันธมิตรฯ จะสามารถทำได้สำเร็จด้วยวิธีการเดิมจากข้างถนนได้หรือไม่หากรัฐบาลอภิสิทธิ์ยินยอมให้มีการแก้ไข
หรือการเมืองใหม่สามารถเกิดขึ้นได้จากพวกการเมืองเก่าที่อยู่ในสภาปัจจุบันได้หรือไม่
จงอย่าลืมว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน วิธีการก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน ไม่มีตัวแบบใดที่สามารถใช้ได้ผลในทุกๆ กาลเวลา ดูตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ว่าวิธีการแก้ไขสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำโดยการให้รัฐรับบทบาทเป็นผู้ใช้จ่ายแทนเอกชนตามแนวทางเศรษฐกิจของเคนส์(John Maynard Keynes) อาจสำเร็จได้ผลดีเมื่อช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1930 แต่จะหวังให้สำเร็จใน ค.ศ. 2009 ดังเช่นรัฐมนตรีกรณ์หรือรองนายกฯ กอบศักดิ์หวังนั้น คงจะยาก เพราะเวลาและสถานการณ์เปลี่ยนไป
มนุษย์จึงต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต มิเช่นนั้นก็ไม่ต่างกับไดโนเสาร์ที่ครองโลกในอดีตแต่ไม่รู้จักปรับตัวจึงสูญพันธุ์ไป
จุดสูงสุด ของนักกีฬาสมัครเล่นอาจเป็นเหรียญทองโอลิมปิก แต่หลังจากนั้นหากต้องการก้าวหน้าต่อไป จุดหมาย ก็คือการเข้าสู่นักกีฬาอาชีพ (หากมี)
สถานการณ์ที่เปลี่ยนเช่นกันที่ทำให้เวลานี้พันธมิตรฯ เป็นมวลชนที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกับพรรคการเมืองมากที่สุด และไม่มีพรรคการเมืองใดมีโอกาสเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะมีการรวมกลุ่มมวลชนซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน
เพราะฉะนั้นการจัดตั้งเป็นพรรคของพวกเขาย่อมสามารถเป็นพรรคการเมืองที่แท้จริงได้โดยง่าย เพราะมีการจัดตั้งจากล่างไปหาบน มิใช่มาจาก “บน” เช่นแกนนำ นายทุน หรือเจ้าของพรรค ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยแล้วค่อยไป “ล่าง”แสวงหาผู้ที่เห็นด้วยมาเป็นแนวร่วมหรือสมาชิกเหมือนดังเช่นการจัดตั้งพรรคการเมืองไทยที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นชี้ชัดว่าสำเร็จได้ยาก
พรรคของพันธมิตรฯ สามารถสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยการทำหน้าที่เป็นทางเลือกทางการเมืองให้กับมวลชนอื่นๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน หัวใจของการเมืองใหม่คือ change! เพราะพวกเขาต่อสู้เพื่อ...
สร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ที่ไม่สามารถพึ่งพาพรรคใดมาทำแทนได้ เพราะพรรคที่มีอยู่ไม่มีแรงจูงใจที่จะทำหรือ change
การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิดที่อยู่ในความใฝ่ฝันนั้น ต้อง change หรือทำการเมืองไม่ให้เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศไทยดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้
มันต้องเป็น change ในทุนของประเทศ เพราะเป็นการลงทุนลงแรงของเหล่าบรรดาพันธมิตรฯ อีกครั้งหนึ่งเพื่อสร้างชาติขึ้นมาใหม่
จงอย่าใช้วาทกรรมแบบเก่าๆ มาเข้าใจพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ว่าหากไม่ได้เป็นรัฐบาลจะทำไปทำไม มีโอกาสแค่ไหนที่จะเปลี่ยนแปลง หากได้ ส.ส.จำนวนน้อย
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่จำนวน ส.ส. หากแต่อยู่ที่วิธีปฏิบัติว่า ส.ส.จากพรรคของพันธมิตรฯ สามารถเป็นตัวแทนผู้ที่มองด้วยสายตาเดียวกับประชาชน คิดแบบประชาชน ได้หรือไม่ หากทำได้เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะส.ส.คือตัวแทนหรือ agent ของประชาชนที่เป็น principal
นี่คือความแตกต่างกับการเมืองเก่าที่ ส.ส.มักจะไม่ทำตัวเป็นตัวแทนของประชาชนและเป็นมาตรฐานใหม่ เพราะเมื่อนักการเมืองเข้าสู่โลกการเมืองเต็มตัวโดยการเป็น ส.ส.เมื่อใดก็จะไม่มีวันที่จะมองสังคมด้วยสายตาของปุถุชนทั่วไปอีกแล้ว และจะไม่เข้าใจความทุกข์ของประชาชนที่เลือกเขาเหล่านั้นเข้ามาอีกเช่นกัน
การเมืองใหม่โดยการตั้งพรรคของพันธมิตรฯ จึงเป็นการลงทุนสร้างชาติด้วยเงินลงทุนต่ำแต่อาจได้ผลตอบแทนสูง “เป็นการมาทำบุญ ใช้หนี้แผ่นดินโดยแท้จริง”
หากเชื่อว่ามีจำนวนพันธมิตรฯ ผ่านการสำรวจการรับชม ASTV กว่า 10 ล้านคนขึ้นไป ก็หมายความว่า น่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างต่ำร้อยละ 20 ของทั้งหมดไม่ว่าจะในระบบประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียวตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่มีคนอยากนักที่กลับไปใช้ หรือแบ่งประเทศเป็นหลายเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 โดยใช้เงินลงทุนหาเสียงน้อยเนื่องจากไม่จำเป็นต้องไปหาเสียงแข่งในระบบกับ ส.ส.เขตแม้แต่คนเดียวก็ได้ และหากมี ส.ส. 20 คนก็สามารถเสนอกฎหมายได้แล้ว
ประชาชนต้องการ change ในแบบที่ไม่ใช่ที่พรรคมัชฌิมาฯ ครั้งหนึ่งเคยเสนอ
ดังนั้นบางทีหากพรรคของพันธมิตรฯ แค่ประกาศว่าจะส่ง “เสาไฟฟ้า” ลงเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ นักการเมืองเก่าก็อาจจะต้องหนีมาลง ส.ส.เขตแทน เพราะการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นต้องอาศัยคะแนนนิยมจำนวนมากกว่า ส.ส.เขตหลายเท่านักและซื้อเสียงก็ยาก
การมีฐานเสียงที่อาจซ้ำซ้อนกับพรรคประชาธิปัตย์อาจเป็นข้อดีเสียอีก เพราะจะเป็นการกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ประพฤติตัวแตกแยกกับความต้องการของประชาชนเหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะแม้ว่าจะยังไม่ถึงเวลาเลือกตั้ง แต่การตั้งพรรคของพันธมิตรฯ จะสร้างแรงกดดันทำให้ประชาธิปัตย์ต้องหันมาดูแลความต้องการมวลชนพันธมิตรฯ ไม่มากก็น้อย
อย่าลืมว่าด้วยฐานมวลชนที่กว้างขวางกว่าและอาจซ้ำซ้อนกับของพรรคประชาธิปัตย์ในหลายๆ พื้นที่โดยเฉพาะในภาคใต้ที่เป็นหัวใจของพรรคประชาธิปัตย์ หากพรรคของพันธมิตรฯสามารถสร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์ทำไม่ได้ ทางเลือกของมวลชนอาจไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์
อย่าลืมอีกเช่นกันว่า สีน้ำ “เงิน” ปัจจุบันมีแรงดูดมหาศาล อาจดูดไม่เฉพาะสีแดงแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่สีฟ้าก็อาจถูกดูดไปแล้วมากกว่าครึ่งตัว กลายเป็นปีศาจมากกว่าเทพไปแล้ว
อย่าลืมพันธมิตรฯ ฟีเวอร์ ในเขตเมือง เช่น กทม. ที่ได้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างให้เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน หรือกรณีการสมัครผู้ว่าฯ ของนายแก้วสรรหรือนายปลื้ม และที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งพร้อมๆ กับการเกิดพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ
ด้วยเหตุนี้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ทั้งหลายควรไตร่ตรองดูให้ดีว่า จะได้ประโยชน์จากการเป็นมิตรกับพันธมิตรฯ มากกว่าการทำให้พันธมิตรฯ กลายเป็นศัตรูคู่แข่งหรือไม่ เพราะบรรดาผู้บริหารพรรคของพวกคุณยังไปจูบปากกับ “ปีศาจ” เขมรได้แล้ว ทำไมจะกลับตัวกลับใจหันมาจับมือกับ “เทพ” เช่น พรรคของพันธมิตรฯ ไม่ได้ หรือถูกสีน้ำ “เงิน” ดูดไปเรียบร้อยแล้ว
พรรคของพันธมิตรฯ จึงน่าจะเป็น “ประชาธิปัตย์” ของมวลชนที่นิยม “ประชาธิปัตย์” ที่แท้จริงในปัจจุบันมากกว่า “พรรคประชาธิปัตย์ที่ในความเป็นจริงกำลังเหลือแต่ชื่อ” เสียอีก จริงไหมครับคุณสุเทพ!
บางที มวลมหาประชาชนของพันธมิตรฯ อาจต้องขอบคุณ สุเทพแห่ง “พรรคประชาธิปัตย์ที่ในความเป็นจริงกำลังเหลือแต่ชื่อ” ด้วยซ้ำที่ผลงานและความมีจิตใจที่คับแคบ เห็นแก่ได้ สายตาสั้นของเขาที่ร่วมมือกับคนมีสีและกลุ่มปีศาจเขมร ทำให้การก่อเกิดพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วถึงเพียงนี้
หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด