Change : ประชาชนต้องการมัน(บทความที่ผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงควรอ่าน) 15/12/51

Change : ประชาชนต้องการมัน(บทความที่ผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงควรอ่าน) 15/12/51


Change : ประชาชนต้องการมัน

(บทความที่ผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงควรอ่าน)


์ผู้จัดการออนไลน์
15 ธันวาคม 2551
โดย รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง--รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รถไฟขบวนประเทศไทยเริ่มเคลื่อนตัวออกจากสถานี “ทักษิณ” หลังจากที่หยุดอยู่ที่สถานีนี้มากว่า 7 ปี และอาจเป็นการผ่านเลยไปโดยไม่มีวันหวนกลับมาอีก


ลาก่อน ทักษิณ และยินดีต้อนรับสถานี “อภิสิทธิ์”


การเปลี่ยนแปลงหรือ Change จึงเป็นสัจธรรมในชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นพวกเสื้อสีใดก็ตามก็ต้องยอมรับ หากจะแข็งขืนก็จะเป็นการปฏิเสธในสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงก็คือ พวกเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด


บัดนี้คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การต่อสู้แบบ “หงายไพ่เพื่อแพ้” ของทักษิณ ชินวัตรนั้นไม่สอดคล้องกับกระแสความต้องการการเปลี่ยนแปลงของประชาชน เพราะทักษิณ ชินวัตรไม่อาจยอมเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้ามกับที่ตนเองต้องการได้และไม่อาจปล่อยวาง บัดนี้ตัวเขาจึงต้องทุกข์ทนและดิ้นรนสุดชีวิตดุจ “สุนัขจนตรอก” ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่อยากเชื่อเลยว่าจะหลุดออกมาจากปากของคนที่อหังการอย่างตัวเขาได้


ในทางการเมือง ประชาชนคงต้องการ “การเมืองใหม่” เพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากจะเขียนเป็นรูปธรรมโดยไม่ผูกติดกับตัวแบบการเลือกตั้ง 70/30 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกโจมตีมาก อาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาของการเมืองใหม่คือ การที่ประเทศไทยต้องการแก้ไข “ปัญหาธุรกิจการเมือง” ให้ลดน้อยหรือหมดไปจากระบบการเมืองนั่นเอง


ประเทศไทยบอบช้ำกับ “ปัญหาธุรกิจการเมือง” ที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทุนสามารถไหลไปที่ใดได้อย่างเสรี และถูกหนุนด้วยความโลภของมนุษย์ การลงทุนในการเมืองจึงเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจเพราะสามารถที่จะแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่ต้องกังวลกับการผิดกฎหมายเพราะตนเองเป็นผู้ออกกฎหมายจะผิดได้อย่างไร เผด็จการรัฐสภาจึงเป็นรูปแบบที่เป็นรูปธรรมที่ประเทศไทยเผชิญในช่วง ทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจและได้กลายมาเป็นต้นเหตุของวิกฤตปัญหาบ้านเมืองมาจนถึงปัจจุบัน


ธุรกิจการเมืองจะไม่สามารถเติบโตได้หากประชาชนรู้เท่าทัน สื่อสารมวลชนจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการแก้ไข “ปัญหาธุรกิจการเมือง” เพราะข้อมูลที่ได้รับจะมีผลต่อการตัดสินใจของคน การปฏิรูปสื่อให้มีวิจารณญาณจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะความเป็นกลางมิได้หมายความว่าจะต้องมีเวลาหรือเนื้อข่าวเท่ากัน และลอยตัวออกจากประเด็นปัญหา หากแต่ต้องเสนอในสาเหตุของปัญหามิใช่เอาแต่ผลมานำเสนอ


การเสนอข่าวความเสียหายจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีว่าสื่อส่วนใหญ่ในขณะนี้มีวิจารณญาณมากน้อยเพียงใดเพราะส่วนใหญ่เสนอแต่ด้านความเสียหาย ซึ่งเป็นผลแต่ไม่ได้กล่าวถึงเหตุ ว่า “ทำไม” จึงมีคนจำนวนมาก ยอมไปตากแดด นอนบนพื้นถนน แทนที่จะนอนอยู่กับบ้านและทำตัวเป็น “ชาวเกาะ” ไม่รับรู้และรับผิดชอบอะไร


ใครเป็นคนสั่ง “ปิด” สนามบิน ทำไมจึงต้อง “ปิด” การเดินทางผู้โดยสารขาเข้าและขาออกทั้งที่มีเครื่องบินบินอยู่บนอากาศ และทำไมต้อง “ปิด” การขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก ทำไม “ไม่เปิด” สนามบินที่ใกล้เคียงเป็นสนามบินสำรองในทันที และที่สำคัญไม่ถาม สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดูบ้างว่า “ทำไม” จึงไม่ยอมแก้ไขอะไรเลย ใครเคยอ่านพบคำตอบจากคำถามข้างต้นจากสื่อส่วนใหญ่ที่จอมปลอมเหล่านั้นบ้าง?


ในด้านเศรษฐกิจ ยุคหลังทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเริ่มแรกอาจเป็นยุคของความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ปัญหาเศรษฐกิจหลายๆ ปัญหาได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ประเทศไทยมิได้อยู่ในโลกใบนี้แต่เพียงลำพังและพึ่งพาประเทศอื่นๆ ค่อนข้างมาก การถดถอยในเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ อันเนื่องมาจากปัญหาการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้ต่ำกว่ามาตรฐานอาจส่งผลกระทบในระยะสั้นให้กับประเทศไทยและประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก การชะลอตัวในเศรษฐกิจไทยจึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ประเทศไทยน่าจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าประเทศอีกหลายประเทศเพราะภาคการเงินของประเทศไทยไม่มีปัญหาเหมือนเขา และที่สำคัญก็คือวิกฤตครั้งนี้เรารู้ตัวล่วงหน้า แต่สำคัญว่าจะรับมืออย่างไร


การจัดการเศรษฐกิจของประเทศจากคนดีมีความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่างหากที่น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนต้องการ


การผ่านเลยไปของทักษิณ ชินวัตรและรัฐบาลตัวแทนของเขาน่าจะทำให้สถานการณ์ในด้านบุคลากรที่เป็น “คนดี” หามาร่วมงานได้ง่ายมากขึ้น และปฏิเสธได้ยากว่าปัญหาการจัดการเศรษฐกิจของประเทศจากรัฐบาลตัวแทนทักษิณทั้ง 2 รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ทำอย่างเป็นจริงเป็นจังและเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เนื่องจากมีเป้าประสงค์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเดินไปในทิศทางใด ดังนั้น ในระยะสั้นหยุดคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญสักครู่แล้วหันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักก่อนจะดีไหมเพราะทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นอดีตของประเทศไทยไปแล้ว


ในระยะยาว การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นสิ่งที่น่าจะจัดทำเป็นวาระของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศเดินก้าวหน้าต่อไปได้ จะอาศัยความได้เปรียบในด้านใดของประเทศที่จะนำไปเป็นจุดแข็งแข่งขันกับโลก


การเตรียมความพร้อมในด้านการศึกษาจะเป็นการลงทุนที่สำคัญต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง และสำคัญมากกว่านโยบายคอนกรีตทั้งหลายที่ใช้เพื่อสร้างถาวรวัตถุเสียอีก การก้าวกระโดดของประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีรากฐานจากคนในประเทศที่แข็งแรงในด้านความรู้ การลงทุนในเมกะโปรเจกต์จึงไม่ต้องมองไปอื่นไกลหากแต่มุ่งไปที่การศึกษาเพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่ประชาชนต้องการเห็น


สังคมไทย ณ วันนี้มาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจเลือกแล้วว่าจะเดินไปในทิศทางใด แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม เราจะมี ทุน ปืน และเจ้า ที่สามารถเดินเคียงคู่กันไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่ และเราจะสลายขบวนการ “ล้มทุน ล้มปืน ล้มเจ้า” ที่เป็นต้นตอของปัญหาอันเนื่องมาจากระบอบทักษิณได้อย่างไร?


ประเทศไทยของเราได้เดินทางมาไกลในแบบไทยๆ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างประชาธิปไตย ทุน และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบฉบับของเราเอง อาจจะล้มเหลวไปบ้างแต่ก็มีตัวอย่างของความสำเร็จ เพราะคำว่าประชาธิปไตยต้องมีจิตสำนึก มิใช่มีแต่เพียงการอ้างสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น การเลือกตั้ง แล้วก็บอกว่าประเทศมีประชาธิปไตยแล้ว เช่นเดียวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ในประเทศไทยมิใช่เป็นเพียงแต่สัญลักษณ์หากแต่มีความหมายเพื่อคนทั้งประเทศ


อย่ามองด้วยสายตาที่คับแคบดังเช่นนักวิชาการบางส่วนที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือจากสื่อต่างประเทศที่อาจไม่เข้าใจ การผสมผสานระหว่างประชาธิปไตย ทุน และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ว่า ระบบขุนนางเป็นระบบอุปถัมภ์ เป็นอุปสรรคในการพัฒนา เป็นบ่อเกิดของความไม่เท่าเทียมกัน แต่ในระบบทุนนิยมก็เกิดระบบอุปถัมภ์ได้เช่นเดียวกัน


และที่ร้ายกว่านั้นก็คือระบบประชาธิปไตยทุนนิยมที่ใช้เงินซื้อทุกอย่างแม้กระทั่งจิตวิญญาณของผู้คน ก็เอาทุกอย่างเป็นแค่สัญลักษณ์ และทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาและเกิดความอยุติธรรมหรือไม่เท่าเทียมได้เช่นกัน มิหนำซ้ำมันอาจเลวร้ายยิ่งกว่าเก่าด้วยซ้ำเพราะมันได้เข้าไปทำลายระบบคุณค่า คุณธรรม และความหมายดั้งเดิมที่บรรพบุรุษของพวกเราได้เคยยึดถือกันมาช้านานจนหมดสิ้น


ประชาชนจะใส่เสื้อสีอะไรก็เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล ไม่ผิด แต่ต้องมีขอบเขต มีหลักยึดที่รู้ผิดชอบชั่วดี และที่สำคัญต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนอื่นๆ ไปร่วมขบวนการด้วยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์


สุดท้าย ผู้เขียนเพิ่งได้ดูละครซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง “Change” นำแสดงโดย คิมูระ ทะคุยะ พระเอกชื่อดังตลอดกาลของญี่ปุ่น ที่เพิ่งฉายจบไปที่ญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง (ในประเทศไทยก็มีจำหน่ายในรูปของ DVDแล้ว) ในเรื่อง คิมุระ ซึ่งแสดงเป็น อะซะคุระ เคตะ บุตรคนรองของนักการเมืองชื่อดังทางภาคใต้ของญี่ปุ่น แต่เนื่องจากบิดาของเขาสยบยอมต่อ “การเมืองเก่า” โดยจำยอมรับสินบนเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป เคตะ(คิมุระ)ไม่อาจยอมรับพฤติกรรมของบิดาได้และรู้สึกรังเกียจการเมืองจึงเลือกที่จะไปเป็นครูบ้านนอก ต่อมาบิดาและพี่ชายคนโตที่สืบทอดอาชีพนักการเมืองเช่นบิดาของเขาได้เสียชีวิตกะทันหันเนื่องจากเครื่องบินตก คนรอบข้างจึงผลักดันแกมบังคับให้ เคตะ ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน
นักการเมืองหน้าใหม่อย่าง เคตะ ในวัยแค่ 35 ปีได้ใช้ความจริงใจของเขาด้วยการกล่าวขอโทษประชาชนแทนบิดาของตนที่ได้คอร์รัปชัน และเขาได้สัญญากับประชาชนว่าตัวเขาจะไม่มีวันทำเช่นนั้นเป็นอันขาด


“ผมเคยเป็นครูสอนหนังสือเด็ก ผมไม่มีวันยอมรับว่าการคอร์รัปชันเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็นเป็นอันขาด เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ผมก็ไม่รู้จะสอนพวกเด็กๆ ให้รู้จักผิดชอบชั่วดีได้อย่างไร”


ผลก็คือ เคตะ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หน้าใหม่ ที่ต่อมาถูกพวกผู้ใหญ่ภายในพรรค “เชิด” ให้กลายเป็น “นายกรัฐมนตรีที่หนุ่มที่สุดและหล่อที่สุดของประเทศญี่ปุ่น” แต่ เคตะ กลับสามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ โดยเขามุ่งมั่น ทุ่มเท ที่จะเป็นผู้นำประเทศที่มองปัญหาบ้านเมือง และปัญหาของประชาชน ด้วย “สายตา” และ “ความรู้สึก” ของประชาชนเดินถนน มิใช่ด้วยตรรกะแห่งการต่อรองผลประโยชน์เพื่อกลุ่มก๊วน


นายกฯ หนุ่มผู้นี้ได้เริ่ม “Change” คนรอบข้างที่ทำงานร่วมกันให้คิดแบบเดียวกับเขา แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากพวก “การเมืองเก่า” เพียงใดก็ตาม


ผู้เขียนขอเสนอให้ว่าที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลองดูละครซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องนี้ เผื่อจะได้มีแรงบันดาลใจที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงที่ประชาชนต้องการ และผู้เขียนขอเสนอให้ทีวีสาธารณะไทย PBS รีบนำละครซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องนี้มาฉายให้คนไทยทั้งประเทศดูโดยเร็ววัน


Change! Change! Change! ประชาชนต้องการมันครับ


หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้