วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต
41. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
(8) “โลกสามารถรองรับการเติบโตของประชากรได้อย่างสบาย และไม่มีขอบเขต ยิ่งมีคนมากก็ยิ่งดี เพราะการมีคนมากขึ้นหมายถึงการมีนวัตกรรมมากขึ้น และมีความมั่งคั่งมากขึ้นในท้ายที่สุด”
วาทกรรมอันนี้ซึ่งเกี่ยวกับความสามารถในการรองรับอัตราการเติบโตของประชากรในระดับปัจจุบันอย่างไม่มีขอบเขตนั้น เป็นแนวคิดที่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจริงจัง และอาจจะตรงกันข้ามกับความเป็นจริงด้วยซ้ำ เพราะการมีคนมากขึ้น มิได้หมายถึงมีความมั่งคั่งมากขึ้นเสมอไป
(9) “ความห่วงใยสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย สำหรับพวกยัปปี้ในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมั่งคั่งร่ำรวยเท่านั้น แต่พวกนี้ก็ไม่มีธุระกงการอะไรที่จะต้องมาบอกพลเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายซึ่งสิ้นหวังว่าควรจะทำอะไรด้วย”
นี่เป็น วาทกรรมที่ “เห็นแก่ตัว” ของชนชั้นกลางในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเป็นเรื่อง “ธุระไม่ใช่” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขาเลย เพราะถึงยังไงพวกเขาก็เชื่อว่า พวกเขาสามารถดำรงชีวิตตามแบบของตนไปได้ด้วยดี แม้จะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นก็ตามเนื่องจากมันเป็นเรื่องที่ “ไกลตัว” จากพวกเขามากๆ โดยที่พวกเขาไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า ต่อให้เป็นคนรวยก็ไม่อาจปกป้องรักษาผลประโยชน์ทั้งของตนเอง และลูกหลานได้อย่างมั่นคง ถ้าพวกเขาบริหารปกครอง สังคมที่ใกล้จะประสบภาวะล่มสลาย
(10) “ถ้าหากปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เลวร้ายลงอีก มันก็คงจะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกลโพ้น หลังจากที่ฉันตายไปแล้ว และฉันก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากมายอะไรนัก”
จริงอยู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงทั้งหมดของโลกที่ได้กล่าวมานี้ จะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากภายในชั่วอายุคนของผู้ที่ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในปัจจุบันนี้ หรือในอีก 30-40 ปีข้างหน้า มันเป็นเรื่องแปลกแต่จริงใช่หรือไม่ ที่พวกเราส่วนใหญ่ที่มีลูกได้อุทิศเวลา และเงินทองจำนวนไม่น้อยให้แก่ลูกๆ ของเรา ทั้งหมดนี้ล้วนมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ลูกๆ ของพวกเรามีชีวิตที่ดีในช่วงอีก 50 ปีนับจากนี้ไป แต่ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งพวกเราก็ยังคงทำสิ่งต่างๆ ซึ่งบ่อนทำลายสิ่งแวดล้อมของโลกซึ่งลูกๆ ของพวกเราจะอาศัยต่อไปในอีก 50 ปีข้างหน้า
(11) “มีความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงระหว่างสังคมสมัยใหม่กับสังคมในอดีตที่ล่มสลายไปแล้ว จนกระทั่งเราไม่สามารถนำบทเรียนจากอดีตมาประยุกต์ใช้ได้โดยตรง”
วาทกรรมแบบนี้มักจะอ้างอยู่เสมอว่า ช่างเป็นเรื่องน่าขันเสียเหลือเกินที่จะตั้งสมมติฐานว่า การล่มสลายของผู้คนในยุคโบราณเหล่านั้น จะมีความเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน เพราะมีความแตกต่างมหาศาลระหว่างสถานการณ์ของสังคมในอดีตเหล่านั้น กับสถานการณ์ในโลกสมัยใหม่ของพวกเราในปัจจุบัน ความแตกต่างที่เด่นชัดประการแรกคือ มีประชากรมากกว่าเดิมเป็นอย่างมาก อาศัยอยู่ในโลกทุกวันนี้ และมีเทคโนโลยีที่มีศักยภาพซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอดีตเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน แต่จริงหรือไม่ที่ความแตกต่างดังกล่าวน่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงสำหรับพวกเราในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น แทนที่จะลดลง
นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ก็เผชิญกับปัญหาแบบเดียวกับสังคมที่ล่มสลายไปแล้วในอดีตได้ประสบมาแล้ว นั่นคือ ปัญหาความอดอยาก และปัญหาสงครามกลางเมืองที่ลุกลามมาจากการต่อสู้แย่งชิงที่ดิน หรือทรัพยากรน้ำจนฆ่าฟันกันเอง ในยุคโลกาภิวัตน์อย่างในยุคปัจจุบัน ที่สังคมต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ย่อมนำไปสู่โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการล่มสลายในระดับโลกมากกว่าในระดับท้องถิ่นเพียงแห่งใดแห่งหนึ่งเหมือนอย่างในอดีต
ปัญหาในขณะนี้ จึงไม่ใช่การตั้งคำถามว่า การล่มสลายของสังคมต่างๆ ในอดีตมีความคล้ายคลึงกับสังคมสมัยใหม่ และให้บทเรียนใดๆ แก่พวกเราหรือไม่ เพราะคำถามแบบนั้นได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาแล้ว เพราะได้เกิดการล่มสลายแบบเดียวกันนั้นขึ้นแล้วจริงๆ เมื่อไม่นานมานี้ในบางประเทศ และมีแนวโน้มเด่นชัดว่าน่าจะเกิดกรณีล่มสลายอื่นๆ ได้อีก ดังนั้น คำถามที่แท้จริงจึงน่าจะอยู่ที่ว่า จะมีประเทศอีกมากมายเพียงใดที่ประสบสภาวะล่มสลายในอนาคต รวมทั้งการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า ประเทศของเราจะประสบสภาวะล่มสลายในอนาคตด้วยหรือไม่
* * *
ตรงนี้แหละที่ พวกเราชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่จะต้องครุ่นคิดเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้มาก เพราะถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องทุ่มเทความพยายามส่วนใหญ่ของพวกเรา ให้ความรู้ประชาชน และชักชวนให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อเหมือนกับพวกเราว่า จะต้องจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และไม่อาจหลีกเลี่ยงผัดผ่อนเวลาได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากโลกทั้งโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตความล่มสลาย และการตกต่ำของมาตรฐานการดำรงชีวิตอย่างรุนแรงในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ อันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อน
เนื่องจากมนุษย์เป็นต้นเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจึงเป็นผู้ที่สามารถควบคุมมันได้ และสามารถ “เลือก” ที่จะหยุดสร้างปัญหา และเริ่มต้นแก้ไขมันตั้งแต่บัดนี้ด้วยตัวเราเองได้ เพราะ “อนาคต” อยู่ใกล้แค่เอื้อม และอยู่ในมือพวกเราที่จะกำหนดผลลัพธ์ของมันว่า พวกเราจะสามารถหลีกเลี่ยง “การล่มสลาย” ในอนาคตข้างหน้าได้หรือไม่
สิ่งที่พวกเราต้องการไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการมาแก้ปัญหาของเรา แต่ เราต้องการเจตจำนงทางการเมืองในการนำวิธีการแก้ปัญหาที่มีอยู่แล้วไปใช้ให้เป็นจริง และอย่างจริงจังเท่านั้น เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองใหม่ของพวกเราชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะต้องเป็นขุมกำลังหลักขุมพลังหนึ่งในการช่วยสร้างเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างเป็นองค์รวมและอย่างบูรณาการให้จงได้
ก่อนอื่น พวกเราจะต้องช่วยกันเผยแพร่ แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมให้กระจายไปสู่สาธารณชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะต้องทำการเผยแพร่แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมนี้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนด้วย กิจกรรมทางการเมืองเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” จะต้องกลายมาเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของพรรคการเมืองใหม่ และของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลังจากนี้เป็นต้นไป
ประการที่สอง พวกเราชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่จะต้องมีความกล้าหาญ แน่วแน่ในการฝึกฝนวิธีคิดที่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว รวมทั้งมีการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นหลังจากที่มีวิชัน หรือวิสัยทัศน์ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้แล้วว่าจะเกิดวิกฤตแห่งการล่มสลายในระดับโลกเมื่อไหร่ โดยทุ่มเทสรรพกำลัง และความพยายามทั้งปวงไปยับยั้งปัญหานั้นในช่วงเวลาที่ปัญหานั้นยังไม่ก้าวไปถึงจุดร้ายแรงจนไม่สามารถยับยั้งแก้ไขได้
การตัดสินใจประเภทนี้ จะต้องเป็น “การตัดสินใจแบบการเมืองใหม่” ซึ่งตรงกันข้ามกับการตัดสินใจแบบการเมืองเก่า” ที่มักจะตัดสินใจแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และหวังผลแค่ในระยะสั้น อันเป็นลักษณะที่พบเห็นได้บ่อยในบรรดานักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง พวกเราจะต้องช่วยกันผลักดันวิธีคิดที่คำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวให้เป็นที่แพร่หลายในโลกธุรกิจ หน่วยราชการ รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อต่างๆ และประชาสังคมโดยรวม เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถมองเห็นปัญหาตั้งแต่เพิ่มเริ่มก่อตัวขึ้น จากมุมมองที่กว้างและหลากมิติ เพื่อจะได้ร่วมมือกันช่วยแก้ไขปัญหานั้นๆ จนสำเร็จลุล่วงก่อนที่จะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตใหญ่โตที่สายเกินแก้
วิธีคิดที่กล้าหาญ แน่วแน่ มุ่งมั่นโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม คือ ความหวังในอนาคตที่จะทำให้ประเทศของเราสามารถหลีกเลี่ยง วิกฤตการล่มสลายในอนาคตอันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อนได้
ในฐานะประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีอำนาจพิเศษใดๆ แต่หากพวกท่านเห็นด้วยกับวิชันที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น สิ่งที่พวกท่านแต่ละคนในฐานะปัจเจกสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นอย่างเป็นชิ้นเป็นอันได้นั้น อยู่ที่พวกท่านจะต้องวางแผนกำหนดพันธกิจให้ตัวเองไปผลักดันกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอไปตลอดชีวิตของพวกท่าน
ถ้าเป็นไปได้ พวกท่านควรเข้ามาสนับสนุนและผลักดันพรรคการเมืองใหม่ ให้กลายเป็น พรรคกรีน หรือ พรรคเพื่อสิ่งแวดล้อมของพวกท่าน เพราะพรรคการเมืองใหม่คงเป็นพรรคการเมืองในประเทศนี้เพียงพรรคเดียวที่สามารถกลายเป็น พรรคกรีนของภาคประชาสังคม ที่ถือกำเนิดมาจากขุมพลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอันทรงพลังได้