(46) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (15/2/54)

(46) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (15/2/54)



วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

46. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.)




วิกฤตพลังงานกับระบบเกษตรกรที่ยั่งยืน


       ภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกร้อน และพื้นที่ผลิตข้าวในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ลดน้อยลงทุกปี อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม-เศรษฐกิจไทย ย่อมส่งผลกระทบเรื้อรังต่อการผลิตข้าวของพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็น “ชามข้าว” ของประเทศไทยอย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่ ยุคสมัยแห่งการขาดแคลนอาหารและน้ำในระดับโลกกำลังมาเยือนอยู่แล้ว ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคธุรกิจและภาครัฐ จะต้องตระหนักถึงวิกฤตการขาดแคลนอาหารในอนาคตอันใกล้ และควรมีฉันทมติเห็นพ้องร่วมกันว่า ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนคือ “ทางรอด” ของสังคมไทยในยุคโลกร้อนหลังจากนี้เป็นต้นไป 

       
       ก่อนอื่นพวกเราจะต้องทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับนิยาม และความหมายของคำว่า “เกษตรกรรม” ว่า มันมิใช่แค่ภาคหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเท่านั้น การเข้าใจแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่นนี้ เป็นการ “ลดทอน” คุณค่าของเกษตรกรรมโดยแท้ เพราะ เกษตรกรรมนอกจากจะเป็นภาคหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแล้ว มันยังเป็นการแสดงออกที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละชาติที่ควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกษตรกรรมยังมีมิติที่เป็นกระบวนการดำรงชีวิตที่ช่วยหล่อหลอมจิตใจให้คนท้องถิ่นรักแผ่นดินเกิดของตนเองได้ด้วย
       

       ความหมายของคำว่า เกษตรกรรมยั่งยืน ที่ผมคิดว่า จะเป็นทางรอดให้แก่สังคมไทย หากต้องเผชิญกับหายนภัยของโลกร้อนในอนาคตอันใกล้ เป็นดังนี้ (นิยามโดยสมัชชาเกษตรกรรมทางเลือก ครั้งที่ 3) “เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นวิถีเกษตรที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และพอเพียงตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกษตรกร และชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติโดยรวม”

       
       จะต้องเข้าไปร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคธุรกิจในการสถาปนาระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนขึ้นในประเทศของเราให้จงได้ โดยที่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน มีหลักการอยู่ 10 ประการ ดังต่อไปนี้

       
       (1)ใช้ประโยชน์และพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อใช้ในระบบเกษตรกรรม 
       

       ภูมิปัญญาเกี่ยวกับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก มีนัยของคุณค่าประกอบอยู่ด้วย เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ความเคารพยำเกรงต่อธรรมชาติ อีกทั้งเป็นความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพทางนิเวศ และเศรษฐกิจสังคมของพวกเขา การพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืนจึงควรพัฒนาจากรากฐานภูมิปัญญาพื้นบ้านดังกล่าว เป็นสำคัญ
       

       (2) ส่งเสริมให้เกษตรกรมีบทบาทหลักในการพัฒนาความรู้ และการวิจัยทางการเกษตร 
       

       เนื่องจากการวิจัยการเกษตรโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เป็นอยู่ มักเน้นไปที่พืชเชิงเดี่ยว เน้นการผลิตเพื่อการพาณิชย์ ละเลยผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ละเลยพื้นที่การเกษตรน้ำฝน และการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น มองข้ามภูมิปัญญาพื้นบ้าน มุ่งเน้นงานวิจัยในสถานีทดลอง และส่งเสริมการเกษตรแบบแยกส่วน
       

       (3) ใช้ทรัพยากรจากภายใน และลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก 
       

       ปัญหาของการเกษตรตามแนวทางตะวันตก คือ การทำเกษตรที่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก เช่น ปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร เครื่องจักรกลที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล และระบบชลประทานขนาดใหญ่ ระบบการผลิตเช่นนี้จึงไม่ยั่งยืน และไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น ในขณะที่ก่อให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น พิษตกค้างจากสารเคมี การแพร่กระจายของดินเค็ม และโครงสร้างของดินที่เสื่อมทรามลง เป็นต้น การเกษตรยั่งยืนจะให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรจากภายใน เช่น พันธุ์พืช ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพจากภายในระบบนิเวศนั่นเอง ในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อชดเชยผลผลิตจากระบบที่ถูกเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ ตราบใดที่ระบบการเกษตรมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก ตราบนั้น การพึ่งพาทรัพยากรภายในก็เพียงพอที่จะสามารถผลักดันให้ระบบดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน
       

       (4) หลีกเลี่ยงและปฏิเสธการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 
       

       ระบบการผลิตอาหารของโลกปัจจุบันใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอยู่ในรูปของน้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่ง การไถพรวนดิน ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฯลฯ ระบบเช่นนี้จึงตั้งอยู่บนความไม่ยั่งยืน เนื่องจากไม่ใช้ทรัพยากรที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย ทั้งนี้รวมไปถึงผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์จากเคมีการเกษตรที่ก่อให้เกิดผลกระทบ ทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็น ศูนย์กลางของปัญหาการเกษตรในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในหลายรูปแบบ เช่น เกษตรอินทรีย์ จึงหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์โดยเด็ดขาด โดยหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์แทน
       

       (5) ให้ความสำคัญสูงสุดในการปรับปรุงบำรุงดินให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน 
       

       ดินมิได้ประกอบไปด้วยวัตถุทางกายภาพเท่านั้น หากแต่ประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมากที่เรียกว่า จุลินทรีย์ รวมทั้งสัตว์ต่างๆ เช่น ไส้เดือน แมลงต่างๆ เป็นต้น สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงในดิน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างดินกับพืช เช่น การก่อตัวพัฒนาของดิน การปรับโครงสร้างดิน การย่อยหินและแร่เพื่อปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืช เป็นต้น การทำเกษตรกรรมยั่งยืน จึงมีวิธีปฏิบัติต่อดินเสมือน “ดินมีชีวิต” เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับผลผลิตการเกษตรที่มีคุณภาพ เนื่องจากดินที่อุดมสมบูรณ์ย่อมทำให้ได้พืชที่สมบูรณ์
       

       (6) ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความหลากหลายของกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรในไร่นา และผสมผสานกิจกรรมการผลิตให้เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันอย่างสูงสุด 
       

       ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่ทำให้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนดำรงต่อไปได้ และในขณะเดียวกัน ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนก็เอื้ออำนวยให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพงอกงามไปพร้อมๆ กันด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตอาหารที่มีคุณภาพอันหลากหลาย เกณฑ์เกี่ยวกับการรักษาและเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นเกณฑ์พื้นฐานของเกษตรกรรมยั่งยืนทุกรูปแบบ 
       

       ในระบบนิเวศการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อนนั้น จะมีทั้งการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์อย่างหลากหลายเพื่อให้พืชกับสัตว์กลายเป็นห่วงโซ่อาหารที่มีการประสานเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างกิจกรรมการผลิตต่างๆ ที่หลากหลาย เกษตรกรรมยั่งยืนใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศการเกษตรดังกล่าว โดยจัดการให้มีกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย เช่น ปลูกพืชและสัตว์เลี้ยงหลายชนิด และจัดการให้มีการผสมผสานระหว่างกิจกรรมการผลิตต่างๆ ไม่ให้ขัดแย้งกัน ผลผลิตจากระบบจึงสูงกว่าเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรต่างๆ โดยใช้ประโยชน์สูงสุด ลดการระบาดของศัตรูพืชสามารถยืดหยุ่นต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาพทางธรรมชาติได้ด้วย
       

       (7) ควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ และวิธีการซึ่งไม่ใช้สารเคมีรูปแบบต่างๆ 
       

       เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว และเกษตรกรรมแบบอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นในการเกษตร โดยทำให้แมลงศัตรูพืชหลายชนิดซึ่งในอดีตไม่ได้เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ กลายเป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญ นอกจากนี้การใช้สารเคมีการเกษตร และสารปฏิชีวนะต่างๆ ก็ทำให้แมลงศัตรูพืชกลายพันธุ์จนพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศัตรูพืช และโรคระบาดร้ายแรงในการเกษตร ขณะที่ เกษตรกรรมยั่งยืนที่เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดิน และจัดกิจกรรมการผลิตอย่างหลากหลาย ทำให้สามารถลดศัตรูพืชได้ในตัวเองอยู่แล้ว เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าวช่วยลดแมลงศัตรูพืช และวัชพืชในนาข้าวได้พร้อมๆ กัน เป็นต้น และถ้าหากจำเป็นต้องใช้การควบคุมแมลงศัตรูพืชหรือวัชพืช ก็จะใช้วิธีการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ วิธีการต่างๆ เป็นหลัก
       

       (8) ผลิตอาหารที่มีคุณภาพทางโภชนาการในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของครอบครัว และชุมชนก่อนเป็นเบื้องต้น 
       

       ความล้มเหลวสำคัญของเกษตรกรรมตามวิถีทุนนิยม คือ การมุ่งเน้นเกษตรกรรมเพื่อการพาณิชย์ และการส่งออก แต่ระบบการผลิตเช่นนี้กลับล้มเหลวในการตอบสนองต่อความต้องการอาหารของประชากรในโลก และล้มเหลวในการกระจายอาหารให้แก่ผู้หิวโหย ขณะที่การเกษตรที่ยั่งยืนทุกรูปแบบจะมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองต่อความต้องการอาหาร ภายในครอบครัวก่อนเป็นพื้นฐาน และขายผลผลิตส่วนเกินในตลาดท้องถิ่นก่อนจะคิดถึงการส่งออก
       

       (9) ปฏิบัติต่อธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยความเคารพ
       

       วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน ยังเป็น วิถีวัฒนธรรม ซึ่งเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อดิน น้ำ พืช สัตว์ ด้วยความเคารพ และนอบน้อม ดังที่เราเคยยกย่อง ดิน น้ำ และข้าวว่าเป็นแม่ธรณี แม่คงคา และแม่โพสพ ตามลำดับ เกษตรกรรมยั่งยืนจึงต้องเป็นวิถีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยมนุษย์มีฐานะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และความอยู่รอดของมนุษย์ยังขึ้นอยู่กับโลกธรรมชาตินั้นด้วย นี่เป็นกระบวนทัศน์ที่ “ก้าวข้าม” กระบวนทัศน์แบบทุนนิยม-วัตถุนิยม-บริโภคนิยม ที่มองเห็นเกษตรกรรมเป็นแค่ระบบการผลิตอาหาร หรือวัตถุดิบเพื่อการส่งออกเพื่อสร้างเงินตราให้แก่ผู้ประกอบการเท่านั้น
       

       (10) เอื้ออำนวยให้เกษตรกร-และชุมชนสามารถพัฒนาตนเองได้โดยอิสระ พึ่งพาตนเองได้โดยปราศจากการครอบงำจากภายนอก 
       

       เป้าหมายที่แท้จริงของเกษตรกรรมจะต้องเป็น การบ่มเพาะความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์ โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งของเกษตรกร และผู้บริโภค รวมทั้งเอื้ออำนวยให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองจนบรรลุเป้าหมายของตนได้ วิถีเกษตรกรรมที่ยั่งยืนจึงต้องเป็นไปเพื่อเอื้ออำนวยให้ตัวเกษตรกร สถาบันของเกษตรกร และชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาตนเองได้โดยอิสระเพื่อบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงของเกษตรกรรมในท้ายที่สุด





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้