แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (17) (20/9/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (17) (20/9/2554)



แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (17)


(20/9/2554)




*มหัตภัยฟาสต์ฟูด*



แม้แต่สังคมไทยเอง ประสบการณ์ในร้านอาหารฟาสต์ฟูดกำลังกลายเป็นเรื่องที่ชนชั้นกลางไทย ที่พำนักอยู่ในเมืองรู้สึกคุ้นเคยจนกระทั่งเป็นความเคยชินโดยแทบไม่รู้ตัวเลยว่า ลูกค้าที่เข้าร้านฟาสต์ฟูดตามห้างสรรพสินค้านั้น ส่วนมากเกิดจากการถูกกระตุ้นโดยโฆษณาที่กรอกหู กรอกตาชนชั้นกลางไทยตั้งแต่วัยเด็กซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งชนชั้นกลางไทยรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกับอาหารฟาสต์ฟูดเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน



เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกหิว และคิดถึงอาหารฟาสต์ฟูดที่เต็มไปด้วยไขมัน เกลือ และน้ำตาล จงรู้ไว้ด้วยเถิดว่า คุณได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของแรงกระตุ้นโดยโฆษณาของธุรกิจฟาสต์ฟูด ซึ่งเป็นธุรกิจข้ามชาติขนาดยักษ์ไปเรียบร้อยแล้ว



อันที่จริงแล้ว การตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเป็นการตัดสินใจที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเรา แต่ละคน แต่ละวัน แต่ถ้าหากคนส่วนใหญ่ไม่ยอมเสียเวลาไปคิดเกี่ยวกับอาหารฟาสต์ฟูดที่พวกเขาซื้อ อีกทั้งไม่เคยสนใจว่า อาหารฟาสต์ฟูดนี้มาจากที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต มีส่วนประกอบอะไรบ้าง และจะเกิดผลลัพธ์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง หากทานอาหารฟาสต์ฟูดเหล่านี้ต่อเนื่องยาวนานนับปี พวกเขาอาจจะเสียใจในภายหลัง แต่ตอนนั้นอาจจะสายเกินแก้ไปแล้ว เมื่อพวกเขาถูกรุมเร้าด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ซึ่งสืบเนื่องมาจากมหันตภัยของอาหารฟาสต์ฟูด



คนส่วนใหญ่ควรจะตระหนักให้มากกว่านี้ว่า การซื้ออาหารต่างไปจากการซื้อเสื้อผ้า หรือเครื่องสำอางโดยสิ้นเชิง คุณผู้หญิงอาจจะยอมเสียเวลาในการคัดเลือกเสื้อผ้าหรือเครื่องสำอางก่อนตัดสินใจซื้อมาใช้ พอใช้แล้วเกิดเบื่อหรือไม่ชอบขึ้นมาก็อาจยกให้คนอื่นหรือโยนทิ้งไปได้ แต่การซื้ออาหารมิใช่เช่นนั้น เพราะอาหารที่เราทานเข้าไปในร่างกาย มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา และจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะมีคุณภาพชีวิตที่แข็งแรงและยืนยาวหรือไม่ หรือเราอาจป่วยตายก่อนวัยอันควร เพราะ คนเราทานอย่างไร ก็จะได้ชีวิตอย่างนั้น



ธุรกิจอาหารฟาสต์ฟูดถือกำเนิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 30 กว่าปีก่อน จากนั้นก็แพร่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก อันที่จริงธุรกิจนี้เริ่มต้นจากการขายฮอตด็อก และแฮมเบอร์เกอร์จำนวนเพียงหยิบมือเดียวทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น แต่กลับสามารถแพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว โดยผ่านระบบการตลาดสมัยใหม่ที่เรียกกันว่าระบบแฟรนไชส์ จนกระทั่งอาหารฟาสต์ฟูดอย่างแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟราย และน้ำอัดลมได้อยู่ในสถานะเทียบเท่าอาหารประจำชาติของสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อยแล้ว เพราะทุกวันนี้ คนอเมริกันใช้เงินไปกับอาหารฟาสต์ฟูดมากกว่าเงินที่พวกเขาใช้ซื้อตั๋วภาพยนตร์ หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และเทปเพลงรวมกันเสียอีก



นอกจากนี้ เราจะต้องตระหนักให้มากว่า ฟาสต์ฟูดมิใช่อาหารที่คนเราสามารถทำกินเองได้ในครอบครัว อาหารฟาสต์ฟูดเป็นผลผลิตของสังคมอุตสาหกรรม และสังคมหลังอุตสาหกรรมแบบทุนนิยม มันเป็นสิ่งที่ใหม่มาก แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า เพียงแค่ช่วงเวลาเพียง 30 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ได้มีความเปลี่ยนแปลงในบริบทอาหาร และบริบทของแบบแผนอาหารที่ชาวโลกกินมากกว่าในช่วงเวลา 30,000 ปีก่อนหน้านี้เสียอีก



หนังสือ “มหันตภัยฟาสต์ฟูดเขมือบโลก” (Chew on This) ที่เขียนโดย อีริค ซลอสเซอร์ (Eric Schlosser) และชาร์ลส์ วิลสัน (Chales Wilson) (สำนักพิมพ์วีเลิร์น, พ.ศ. 2550) คือหนังสือที่เปิดโปงเบื้องหลังของธุรกิจอาหารฟาสต์ฟูดในสหรัฐอเมริกาอย่างล่อนจ้อน และเป็นหนังสือที่ฮือฮามากในสหรัฐอเมริกา เมื่อได้รับการตีพิมพ์ออกมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2006 เพราะที่ผ่านมา บริษัทอาหารฟาสต์ฟูดไม่ต้องการให้ผู้บริโภครู้ว่าอาหารพวกนี้มาจากไหน ผลิตขึ้นมาอย่างไร พวกเขาแค่ต้องการให้ผู้บริโภคซื้อมันเท่านั้น



ด้วยเหตุนี้ การมีความรู้ ความเข้าใจว่า อาหารฟาสต์ฟูดในสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบมาจากไหน และผลิตขึ้นมาได้อย่างไร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารในแต่ละวันของเรานับจากบัดนี้เป็นต้นไป



ขอเริ่มจาก เนื้อวัว ก่อนเป็นอันดับแรก การเติบโตของอุตสาหกรรมฟาสต์ฟูดได้ทำให้วิธีการเลี้ยงดู การฆ่า และการแปรรูปเนื้อวัวในสหรัฐอเมริกาต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ทุกวันนี้ แมคโดนัลด์ได้กลายเป็นผู้รับซื้อเนื้อวัวรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ



ในปี ค.ศ. 1989 แมคโดนัลด์ยังซื้อเนื้อวัวบดจากบริษัทท้องถิ่น 175 แห่ง ไม่กี่ปีถัดมา แมคโดนัลด์ได้ลดจำนวนซัปพลายเออร์ลงเหลือเพียงห้าราย และเริ่มซื้อเนื้อบดแช่แข็งซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โดยให้มีรสชาติเดียวกัน เมื่อเครือข่ายเติบโตขึ้น แมคโดนัลด์ก็ต้องการให้แฮมเบอร์เกอร์ของตนมีรสชาติเดียวกันทุกๆ สาขา จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อรองรับบรรดาบริษัทฟาสต์ฟูด



ในปี 1970 บริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกในสหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 21 แต่เมื่อเครือข่ายฟาสต์ฟูดเริ่มสยายปีก บรรดาบริษัทที่จัดส่งเนื้อสัตว์ให้แก่เครือข่ายเหล่านั้น ก็เติบโตตามไปด้วย ในเวลาต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยกเลิกมาตรการป้องกันไม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่เข้าครอบงำกิจการของบริษัทขนาดเล็ก ทุกวันนี้บริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกจึงครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 84 เรียกได้ว่า สามารถผูกขาดธุรกิจการแปรรูปเนื้อสัตว์ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต เพราะในปี 1917 ซึ่งเป็นยุคทองของกลุ่มธุรกิจผูกขาดการค้าเนื้อวัวในสหรัฐฯ บริษัทแปรรูปเนื้อวัวขนาดใหญ่ 5 แห่ง ก็ยังครองส่วนแบ่งตลาดได้แค่ร้อยละ 55 เท่านั้น



เมื่อบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์เติบโต และมีอำนาจมากขึ้น เจ้าของฟาร์มอิสระก็พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีรายได้ดีเหมือนในอดีตทุกครั้งที่ผู้บริโภคซื้อเนื้อวัวที่ซูเปอร์มาร์เกต เงินส่วนหนึ่งจะเข้ากระเป๋าของซูเปอร์มาร์เกต เงินอีกส่วนหนึ่งจะเข้ากระเป๋าของบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์ ซึ่งขายเนื้อวัวนั้นให้แก่ซูเปอร์มาร์เกต จากนั้นเงินส่วนที่เหลือนั้น จึงจะตรงไปเข้ากระเป๋าของเจ้าของฟาร์ม เมื่อ 30 ปีก่อน เจ้าของฟาร์มจะได้ส่วนแบ่งมากถึง 62 เซ็นต์จากเงินทุกดอลลาร์ที่ได้รับจากการขายเนื้อวัว แต่ทุกวันนี้พวกเขาจะได้เพียง 47 เซ็นต์เท่านั้น เงินส่วนใหญ่จะเข้ากระเป๋าของซูเปอร์มาร์เกต และบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์



สิ่งที่ผู้บริโภคควรรับทราบเป็นอย่างยิ่ง คือ สภาพที่แท้จริงของเมืองที่เป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปเนื้อวัวในสหรัฐฯ เมืองนั้นคือเมืองกรีลีย์ในรัฐโคโลราโด ผู้ที่เดินทางเข้าไปในเมืองกรีลีย์ทุกคน จะได้ “กลิ่น” ของเมืองกรีลีย์ก่อนที่จะได้เห็นตัวเมืองเสียอีก “กลิ่น” นั้นเป็นกลิ่นที่หากได้เคยสูดดมแล้ว คนผู้นั้นก็ยากจะลืมเลือน แต่ก็ยากที่จะพรรณนาออกมาเช่นกัน เนื่องเพราะมันเป็นส่วนผสมของกลิ่นสาบสัตว์ที่ยังมีชีวิต กลิ่นมูลสัตว์และกลิ่นซากสัตว์ที่จะกลายเป็นอาหารของสุนัข อาจกล่าวได้ว่า กลิ่นนี้คือการผสมกลิ่นไข่เน่ากับกลิ่นผมไหม้ แล้วก็กลิ่นส้วมแตกเข้าด้วยกัน ก็เห็นจะใกล้เคียงกับกลิ่นนี้



กลิ่นดังกล่าวจะเหม็นที่สุดในช่วงฤดูร้อน มันส่งกลิ่นตลบอบอวลไปทั่วเมืองกรีลีย์ทั้งกลางวันและกลางคืนราวกับหมอกที่ไม่มีใครมองเห็น ไม่มีที่ใดที่กลิ่นดังกล่าวไปไม่ถึง ชาวบ้านที่ทนกลิ่นนี้ไม่ได้ จะรู้สึกปวดหัว คลื่นเหียน และรบกวนการนอนของพวกเขา ในที่สุด พวกเขาก็ต้องอพยพย้ายหนีออกจากเมืองนี้ ส่วนผู้คนที่สามารถทนกลิ่นนี้เพราะคุ้นชินได้ และไม่มีที่อื่นไป จึงจะสามารถอาศัยอยู่ที่เมืองกรีลีย์นี้ได้



เมืองกรีลีย์นี้แหละคือเมืองแห่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อวัวที่สำคัญมากของสหรัฐฯ บรรดาคนงานและเครื่องจักรในโรงงานเหล่านี้ จะทำการเปลี่ยนสัตว์ที่มีขนาดใหญ่อย่างวัวให้เหลือเพียงก้อนเนื้อเล็กๆ ที่วางอยู่บนกล่องโฟมสุญญากาศ เนื้อที่ใช้ทำแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งเป็นอาหารฟาสต์ฟูดที่ชาวอเมริกันโปรดปราน และบริโภคกันปีละหลายพันล้านชิ้น ล้วนมาจากสถานที่อย่างเมืองกรีลีย์นี้ทั้งสิ้น



เรื่องของเมืองกรีลีย์นี้ เรายังเล่าไม่หมด และจะไม่สมบูรณ์เลยถ้าหากเราไม่กล่าวถึงสภาพที่แท้จริงของคอกขุนวัว หรือคอกขุนสัตว์ในเมืองกรีลีย์




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้