แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (36)
(7/2/2555)
*สูตรสมองใสเพื่อสุขภาพสมอง และการป้องกันโรคอัลไซเมอร์*
ปัจจุบันมีคนอเมริกันกว่า 2 ล้านคน เป็นโรคอัลไซเมอร์ สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับโรคนี้ก็คือ นอกจากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะไม่รู้วันในแต่ละวันแล้ว พวกเขายังไม่สามารถจำสมาชิกของครอบครัวตัวเองได้ และเริ่มสูญเสียความสามารถในการคิด แต่ถึงจะยังไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ตาม แต่การที่คนเราเมื่อสูงวัยขึ้นแล้ว เริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ ไม่มีสมาธิ หรือนึกคำพูดไม่ออกก็เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้นั้นรู้ว่า สมองของผู้นั้นกำลังมีความแปรปรวนเกิดขึ้น และผู้นั้นควรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขความแปรปรวนนั้น
นายแพทย์แลรี่ แม็กเคลียรี่ (Larry McCleary) ผู้เขียนหนังสือ “สูตรสมองใส ความจำแจ๋ว” (The Brain Trust Program) (สำนักพิมพ์สารคดี, พ.ศ. 2554) กล่าวว่า สมองเป็นสิ่งที่เสื่อมโทรมไปตามวัย เซลล์สมองของเรานั้นไม่อาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้เองเหมือนเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย เซลล์สมองเหล่านี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับเราแล้วก็จะตายไปพร้อมกับเรา หรือตัวเราอาจตายไปโดยไม่เหลือเซลล์สมองเหล่านั้นอยู่เลย ถ้าหากเราใช้ชีวิตอย่างที่ทำให้ต้องสูญเสียเซลล์สมองไปเป็นจำนวนมาก ก่อนที่เราจะเสียชีวิต
ด้วยเหตุนี้ การจะรักษาเซลล์สมองให้มีจำนวนเท่าเดิมตลอดชีวิตนั้น จำเป็นต้องอาศัยกลยุทธ์ในการป้องกันที่แตกต่างไปจากกลยุทธ์ที่ใช้ในการป้องกันเซลล์ซึ่งหลุดออกไป และเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา เนื่องจากเซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วมีอายุเพียงไม่กี่วัน เซลล์เหล่านั้นจึงไม่มีโอกาสสะสมความเสียหายเมื่อเวลาผ่านไป แต่เซลล์สมองมิได้ทำงานเช่นนั้น เซลล์ประสาทส่วนใหญ่ในสมองของเรามีอายุเท่าๆ กับตัวเรา และสะสมความเสื่อมสภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของเรา
เซลล์สมองที่มีอายุมากขึ้นจะสูญเสียความว่องไว และความยืดหยุ่น และที่สำคัญมันยังสูญเสียความสามารถบางส่วนในการสร้างพลังงานปริมาณมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการทำงาน โดยปกติแล้ว สมองทั้งก้อนประกอบกันเป็นร้อยละ 2 ของน้ำหนักร่างกาย แต่กลับใช้พลังงานมากถึงร้อยละ 20 นี่หมายความว่า สมองมีการผลาญพลังงานมากกว่าส่วนอื่นของร่างกายถึง 10 เท่า
วิธีหนึ่งที่จะให้เชื้อเพลิงแก่สมองก็คือ การบริโภคน้ำตาลซึ่งเป็นการกระตุ้นพลังงานระยะสั้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาว เพราะ คนที่กินอาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาลจำนวนมาก หรืออาหารซึ่งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้อย่างรวดเร็วในระยะยาวจะมีโอกาสสูญเสียความทรงจำ และเป็นโรคจากสมองเสื่อมสภาพ เช่น โรคอัลไซเมอร์ในอัตราที่สูงกว่า
อาการสมองตื้อ ที่มักเกิดกับผู้บริหารในวัยห้าสิบปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความเครียดในภาระหน้าที่การงานที่ต้องแบกรับ ผนวกกับการอดนอน และการรับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอในเชิงโภชนาการ อาจกล่าวได้ว่า คนที่มีอายุห้าสิบปีขึ้นไป ที่ทำงานอยู่ในโลกของทุนนิยมจะมากหรือน้อย มักจะต้องทุกข์ทรมานจากภาวะสมองเสื่อมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยไม่รู้ตัว
มันจึงเป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่ “กลัวแก่” มักเอาใจใส่ดูแลในเรื่องเส้นผม ผิวหนัง น้ำหนักตัว ใบหน้า และรูปร่างของตนเองอย่างไม่ค่อยเสียดายเงินทองที่ต้องใช้ไป แต่ผู้คนเหล่านี้กลับละเลยการดูแลสุขภาพสมองไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้นคือ ผลจากความชราของสมองมิใช่สิ่งที่คนเราสามารถมองเห็นได้ทันทีจากการส่องกระจกหรือก้าวขึ้นบนตาชั่งน้ำหนัก แต่ความชราของสมองที่มีมากขึ้นตามวัยของผู้นั้น เป็นเรื่องจริงสำหรับทุกคน
อย่างไรก็ดี มันก็เป็นเรื่องจริงอีกเช่นกันว่า ตราบใดที่เซลล์สมองยังไม่ตายไปจริงๆ คนเรายังสามารถเข้าไปแทรกแซงและป้องกันการสูญเสียความเฉียบคมของสมองเราได้ด้วยการให้สารอาหารบำรุงสมอง และให้การดูแลสมองอย่างถูกต้อง ซึ่งจะสามารถช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมจากวัยที่สูงขึ้นได้
อาหารที่คนเรารับประทานเข้าไป และวิถีชีวิตที่เราใช้ในช่วงต้นของชีวิต จะส่งผลอย่างชัดเจนต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บในระยะต่อมาของชีวิต สิ่งนี้ไม่เพียงเป็นความจริงสำหรับร่างกายของเราเท่านั้น หากยังเป็นความจริงสำหรับสมองของเราด้วยเช่นกัน ผลกระทบของสิ่งที่เรากิน และสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันที่มีต่อความสามารถของเราในการรับรู้ เรียนรู้ การคิด การมีสมาธิ การจดจำ และการตอบสนอง ทำให้ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญเสีย ความสามารถเหล่านี้เร็วกว่าที่ควร (สมองเสื่อมเร็วก่อนวัยอันควร) มันคงเป็นเรื่องน่าเศร้า และโง่เขลาจริงๆ หากคนเราเสียเงินและพลังงานมากมาย เพื่อดูแลร่างกายแต่กลับใช้พลังงาน และเงินทองน้อยเกินไปในการค้ำจุนสมองซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนเราแตกต่างจากสัตว์ทั่วไป
สมองเป็นอวัยวะที่เปราะบางที่สุด และมีค่าที่สุด คนเราจึงควรมีองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพสมอง เพื่อปรับปรุงการทำงานของสมองให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อขจัดอาการสมองตื้อเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน หรือเพื่อการมีความคิดที่เฉียบแหลมอยู่เสมอ หรือเพื่อการมีสมาธิที่ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างสุขภาพสมองให้แข็งแรงยิ่งขึ้นเพื่อให้อยู่กับเราต่อไปนานเท่านาน แม้ว่าเราจะมีอายุมากขึ้นแค่ไหนก็ตาม
สมองประกอบด้วยเซลล์จำนวนมหาศาลนับหลายแสนล้านเซลล์ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักได้แก่
(1) เซลล์ประสาท (neuron) เซลล์ประสาทเป็นเซลล์สำหรับประมวลผลข้อมูล เซลล์นี้เป็นเซลล์พิเศษที่ออกแบบมาเพื่อส่งต่อข้อมูลที่สั่งให้เราเคลื่อนไหว พูด จดจำ รวมทั้งมองและเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เราได้ยิน เห็น สัมผัส ได้กลิ่น และรับรสในโลกรอบตัวเรา เซลล์ประสาทเซลล์หนึ่งสามารถรับสัญญาณจากเซลล์ประสาทอื่นๆ ได้มากถึง 1 หมื่นเซลล์ ทำให้สัญญาณสามารถเดินทางอย่างรวดเร็วไปยังทุกส่วนของสมองตามที่ต้องการ แทบจะในเวลาเดียวกัน
(2) แอสโตรไซต์ (astrocyte) เซลล์รูปดาว ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างค้ำจุน และให้การสนับสนุนด้านการเผาผลาญพลังงานแก่เซลล์ประสาท
(3) โอลิโกเดนโดรไซต์ (oligodendrocyte) ทำหน้าที่สร้างฉนวนหุ้มเส้นใยประสาท ซึ่งมีไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญเรียกว่า ไมอีลิน (myelin) สำหรับหุ้มการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง และเร่งการส่งสัญญาณไฟฟ้า
(4) ไมโครเกลีย (microglia) คือตัวเก็บขยะ หรือทีมงานทำความสะอาดของสมอง ทำหน้าที่คล้ายกับเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายที่ออกลาดตระเวนในอาณาเขตของตนเพื่อค้นหาสิ่งแปลกปลอม
เวลาที่เรากล่าวถึงเซลล์สมองในที่นี้ ส่วนใหญ่เราจะหมายถึง เซลล์ประสาท (neuron) การส่งสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทอื่น กระทำโดยผ่านการกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสารเคมีรับส่งสัญญาณที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (neurotransmitter) ซึ่งจะถูกปล่อยออกมาในบริเวณที่เรียกว่า ซินแนปส์ (synapse) หรือ จุดประสานประสาท ซินแนปส์ หรือการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทนั้น มิได้เป็นสิ่งตายตัวเหมือนการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้าน แต่จะเปลี่ยนแปลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดชีวิตของเรา โดยจะมีการสร้างซินแนปส์ขึ้นมาใหม่ เมื่อเราได้สัมผัสรู้ เรียนรู้ ตอบสนองและได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ซินแนปส์จะเสื่อมสภาพลงหากไม่ได้ใช้งาน ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “ความยืดหยุ่น” (plasticity) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้เราเป็นมนุษย์
การทำงานขั้นสูงของสมองนี้ จะไม่อาจทำได้เลยหากปราศจาก สารสื่อประสาท ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อซินแนปส์ เพื่อถ่ายทอดข้อมูลจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทอีกเซลล์หนึ่ง สารสื่อประสาทที่สำคัญมีอยู่ 5 ชนิดด้วยกันคือ
(1) อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) หรือACH ร่างกายเราใช้สารชนิดนี้ควบคุมการทำงานหลายอย่าง ซึ่งเรียกว่าการทำงานโดยอัตโนมัติ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การหลั่งสารของต่อม และการเคลื่อนไหวของลำไส้ อย่างไรก็ตาม ในสมองนั้น ACH มีบทบาทสำคัญในการเก็บรักษา และเรียกใช้ข้อมูลที่เรียนรู้ (จดจำ) มาก่อนแล้ว การขาดสารนี้ เช่น ในกรณีของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะทำให้ความจำเสื่อม และนึกคำพูดที่จะพูดไม่ออก หรือนึกใบหน้าหรือชื่อคนไม่ได้ การทานอาหารเสริมซึ่งช่วยให้ ACH อยู่ในซินแนปส์ได้นานขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ สามารถช่วยให้ความจำดีขึ้นอย่างมาก
(2) โดพามีน (Dopamine) หรือ DA เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองด้านการให้ความสนใจ และการเอาใจจดจ่อ นอกจากนี้ยังจำเป็นสำหรับการเคลื่อนไหวที่สอดประสานกันอย่างคล้องจองกัน โดพามีนมีบทบาทสำคัญในโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ประสาทเกิดการเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง
(3) นอร์อีพิเนฟรีน มีหน้าที่ตรวจตราสภาพแวดล้อมภายในร่างกาย เช่น การควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย อัตราการเผาผลาญพลังงานความอยากอาหาร รวมทั้งการหลั่งฮอร์โมนหลายชนิด และดูแลความพร้อมของร่างกายในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถต่อสู้หรือวิ่งหนีเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้น
(4) เซโรโทนิน การขาดเซโรโทนินทำให้เกิดอาการซึมเศร้า เซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทสร้างความสุข โดยส่งข้อมูลสำหรับควบคุมบริเวณด้านสังคมและอารมณ์ รวมทั้งความรู้สึก ความวิตกกังวล และความกลัว นอกจากนี้เซโรโทนินที่สมดุลยังช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
(5) ทอรีน (Taurine) ทอรีนเป็นกรดอะมิโนที่ทำหน้าที่คล้ายสารสื่อประสาทเกี่ยวข้องกับการปรับปริมาณสัญญาณจากการอักเสบที่เกิดจากภาวะต่างๆ
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ วิชาสมอง ต่อไปเราต้องทำความเข้าใจว่า สมองของเรานั้น ทำงานเกี่ยวกับ “ความทรงจำ” ได้อย่างไร