คมดาบซากุระ 2 : ทักษิณ VS รักไทย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (21 มีนาคม 2555)

คมดาบซากุระ 2 : ทักษิณ VS รักไทย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (21 มีนาคม 2555)


ทักษิณ VS รักไทย

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

21 มีนาคม 2555




ฟ้ามิได้สร้างคนให้อยู่เหนือคน และฟ้ามิได้สร้างคนให้อยู่ใต้คน
. . . ฟุกุซาวะ ยูคิจิ




ข้อวิพากษ์ล่าสุดของอดีตฝ่ายซ้ายธีรยุทธ บุญมีดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการยอมรับทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านทักษิณเหมือนเช่นที่ผ่านมา



หัวใจของข้อวิพากษ์อยู่ที่การแบ่งแยกคนในสังคมออกเป็น 2 ฝ่ายในลักษณะของ dichotomy คือไม่เป็นพวกเราก็ต้องเป็นพวกเขาหรือระหว่างอำนาจฝ่ายอนุรักษ์และอำนาจรากหญ้าในคำพูดของธีรยุทธ ข้อสมมตินี้อาจทำไปเพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ทำความเข้าใจแต่ไม่หลากหลายและไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริงที่มีอยู่



การจะไปทึกทักเอาว่าคนในสังคมทั่วไปที่ไม่ใช่คนเสื้อแดงจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์เสียทั้งหมดดูจะห่างไกลจากความเป็นจริง ในทางกลับกันคนเสื้อแดงก็ไม่น่าจะใช่ตัวแทนของคนจนหรือรากหญ้าเสียทั้งหมดเช่นกัน



ดังนั้น หากข้อสมมตินี้ใช้ไม่ได้เพราะไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงแล้ว ข้อวิเคราะห์วิพากษ์ของธีรยุทธก็ไปต่อไม่ได้ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมิได้เนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจอนุรักษ์กับรากหญ้า หากแต่เป็นระหว่างปัจเจกชนทักษิณกับรัฐไทยต่างหาก



มวลชนที่แสดงออกโดยคนเสื้อสีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเสื้อแดงนั้นจึงเป็นปรากฏการณ์ของปัจเจกชนมากกว่าที่จะเป็นปรากฏการณ์ของมวลชนที่มีอุดมการณ์พร้อมที่จะแปรเปลี่ยนสภาพเป็นองค์กรพรรคการเมืองต่อไปได้



ที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยก็มิได้ก่อกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับคนเสื้อแดงแต่อย่างใด ดูจากผู้ก่อตั้ง กรรมการบริหาร และจำนวนสมาชิกพรรคก็ได้ว่าเป็นพรรคของมวลชนหรือไม่



ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นที่รวมกลุ่มก๊วนของนายทุน และนักการเมืองที่ไม่เคยปรากฏอุดมการณ์ทางการเมืองที่แน่ชัดเป็นส่วนใหญ่ เช่น เสนาะ เนวิน สุริยะ รวมถึงผู้ที่เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่เป็นส่วนน้อยและมีนโยบายประชานิยมเอาไว้หาเสียงกับคนจนที่พวกเขาเรียกว่า “รากหญ้า” เหมือนกับพรรคอื่นๆ ทั่วไป จวบจนเมื่อถูกโค่นอำนาจเมื่อปี พ.ศ. 2549 จึงมีการตั้งขบวนการที่เรียกว่า นปช.ขึ้นมาและมีการขยายหาแนวร่วมโดยใช้ยุทธวิธีของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยได้รับผลสำเร็จจึงได้เกิดกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อนำมาเป็นฐานมวลชน



กล่าวได้ว่านโยบายของพรรคทักษิณไม่ว่าจะชื่ออะไรมิได้มีอุดมการณ์เพื่อคนจน หากแต่ทำเพื่อทักษิณและพวกเป็นที่ตั้ง เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เช่น



การคอร์รัปชันเชิงนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทักษิณในธุรกิจสื่อสารที่ตนเองเป็นเจ้าของที่แท้จริงเพื่อผูกขาดโดยรับสัมปทานจากรัฐ หรือ การรวบอำนาจในท้องถิ่นผ่านนโยบายผู้ว่าซีอีโอในช่วงพรรคไทยรักไทย



การไม่ออกกฎหมายอะไรเลยแม้แต่ฉบับเดียวยกเว้น พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีในช่วงพรรคพลังประชาชน



หรือแม้แต่ในยุคพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันที่พยายามหาช่องทางเพื่อนิรโทษกรรมทักษิณ ในขณะที่ละเลยไม่เอาใจใส่การบริหารงานเพื่อประเทศจนน้ำท่วมและข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน กฎหมายที่ดินที่ผ่านสภามาได้ครึ่งทางแล้วก็ไม่ทำต่อ



ภาพของนโยบายประชานิยมเพื่อรากหญ้าที่นำมาอ้างถึงว่าเป็นความสำเร็จเสมอๆ จึงเป็นเพียงการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงผ่านระบบการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเท่านั้น เป็นเปลือกบางที่ห่อหุ้มปกปิดนโยบายที่เป็นแก่นใหญ่ภายในเอาไว้ แถมยังใช้เงินงบประมาณที่เป็นของคนในสังคมมาหาเสียงเสียด้วยมิได้ควักกระเป๋าตนเองแต่อย่างใด ความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้งจึงเปราะบางและมิได้แสดงสาระสำคัญถึง “บารมี” ของทักษิณแต่อย่างใด



ข้อวิพากษ์เรื่องการเป็นเพียง “ผู้นำทางการตลาด” จึงถูกต้องเพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏมันสนับสนุน ในขณะที่การยกทักษิณไปเทียบชั้นกับอดีต “ผู้นำทางการเมือง” จึงไม่ถูกต้องเพราะขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ผลประโยชน์จากการทำการตลาดมันเป็นของปัจเจกชน ในขณะที่ผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นเรื่องของส่วนรวมเป็นเรื่องของชาติจะนำมาเปรียบเทียบกันได้อย่างไร



ปัญหาของประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นปัญหาระหว่างทักษิณกับรัฐไทยที่หมายถึงคนไทยทุกคนมิใช่เฉพาะสีเสื้อใดโดยแท้



ประเด็นก็คือการยกตนเองให้อยู่เหนือคนอื่น เป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญที่แท้จริงเพราะไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ใดๆ ที่ประชาชนในสังคมเขาเห็นชอบและยอมรับ



ในฐานะ “ขาประจำ” ธีรยุทธไม่น่าพลาดที่มองประเด็นความรุนแรงทางการเมืองเป็นเพียงการไม่ยอมรับการดำรงอยู่ซึ่งกันและกันระหว่างคนสีเสื้อต่างกัน แดงก็ไม่ใช่ควายที่ไร้ซึ่งการศึกษา เหลืองก็มิใช่คลั่งเจ้าคลั่งชาติ คนทั่วไปแม้ไม่ใช่นักวิชาการก็ยอมรับความมีตัวตนของทั้งสองฝ่ายอยู่แล้วเพียงแต่ว่า “ความชอบธรรม” หรือ legitimacy และวิธีการที่คนเสื้อแดงถูกใช้เป็นตัวแทนมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทักษิณต่างหากที่เป็นรากเหง้าของปัญหา



เหตุผลก็คือ หากมิได้เป็นเรื่องส่วนบุคคลเพื่อคนเพียงคนเดียว คนเสื้อแดงจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาจากการนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ทักษิณจะพ้นผิดไม่ติดคุกหรือไม่ มันเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของคนเสื้อแดงตรงไหน มันเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ตรงไหน คนเสื้อแดงน่าจะพอใจที่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมทั้งหลายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเอาไว้ไม่ใช่หรือ



หากจะบอกว่าทำไปเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับสังคม คนเสื้อแดงและญาติพี่น้องที่ติดคุกไม่ว่าคดีใดจะได้ออกมาจากคุกด้วยหรือไม่ หรือจะเปิดประตูคุกให้นักโทษทุกคนออกมา แล้วจะตอบคำถามเรื่องความยุติธรรมกับเจ้าทุกข์ทั้งหลายในสังคมได้อย่างไร ในอนาคตหากทำผิดอีกจะนิรโทษกรรมอีกหรือไม่ ถ้าทำจะทำอีกสักกี่หนกี่ครั้งจึงจะเพียงพอให้ปรองดองกันได้



“เราจะย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่จุดใดดี?” จึงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบเพราะธรรมชาติมิได้อนุญาตให้เราสามารถย้อนอดีตได้ อดีตจึงเป็น “กรรม” ที่มนุษยชาติต้องยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ไม่ว่าจะเป็นทักษิณ หรือคนเสื้อสีใดก็ตาม การแก้ไขจึงทำได้ก็เฉพาะ “นับจากนี้ต่อไป” เท่านั้น



แม้กฎหมายออกโดยเสียงข้างมาก แต่ความชอบธรรมไม่ได้ยืนยันด้วยเสียงข้างมาก การปรองดองด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยนักการเมืองที่ทักษิณได้มาด้วยการส่งลงเลือกตั้งจึงมิใช่คำตอบให้กับสังคมเพราะเป็นการแก้อดีตแก้กรรมที่ได้ทำเอาไว้



ในทางตรงกันข้าม การ “ข่มขืน” ให้สังคมยอมรับโดยอ้างความชอบธรรมจากการเป็นตัวแทนประชาชนก็ดี หรือการอ้างเป็นตัวแทนคนเสื้อแดงระดมมวลชนมาสนับสนุนหรือขัดขวางทำร้ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ดี ไม่ว่าทางใดล้วนนำมาซึ่งความรุนแรงจากการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของปัจเจกชนทักษิณกับรัฐไทยโดยแท้ คนเสื้อแดงหรือสีใดย่อมคาดเดาได้ว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เหตุก็เพราะขาดความชอบธรรมนั่นเอง



หลายฝ่ายหลายคนในสังคมขณะนี้อาจคิดว่าทักษิณเป็นฝ่ายได้เปรียบเพราะรัฐบาลก็ของเขา สภาก็ของเขา ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้กำหนดเกมว่าจะเริ่มอย่างไร แต่ “กรรม” ของเขาต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดชะตาของเขาที่แท้จริงว่าจะจบอย่างไร



ทักษิณน่าจะกำลังอยู่ระหว่าง “เขาควาย” หรือ dilemma ที่หากไม่รีบกลับรัฐบาลหุ่นโชว์ที่ทำอะไรไม่เป็นสักอย่างก็อยู่ได้ยาก แค่กระทู้ถามก็ยังหนีสุดฤทธิ์ไม่ยอมมาตอบ แล้วหากเข้าสมัยอภิปรายไม่ไว้วางใจ แค่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายนายกฯ หุ่นโชว์แต่เพียงลำพังให้ “โชว์เดี่ยว” จะทำอย่างไร จะให้ใครมาตอบแทนก็ไม่ได้ รับรองว่าดูไม่จืดแน่ รอดก็เลี้ยงไม่โต แม้แต่ทักษิณก็ยังยุบสภาหนีเลย เศรษฐกิจสังคมรวมถึงความชอบธรรมที่มีคงย่อยยับไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่รัฐบาลหุ่นโชว์ยังคงอยู่ แล้วสังคมที่รวมคนหลากหลายทุกสีทั้งรวยจนจะทนภาวะเช่นนี้ไปได้สักกี่น้ำ



แต่หากเลือกหักด้ามพร้าด้วยเข่าออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ตนเองได้ประโยชน์ ความชอบธรรมที่มีน้อยอยู่แล้วก็จะสูญสิ้นอย่างสิ้นเชิง



“กลับได้แต่ปกครองไม่ได้” จะเป็นภาวะ “เอาไม่อยู่” ที่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลหุ่นโชว์จะต้องเผชิญเหมือนเมื่อเณรถนอมกลับเข้าประเทศที่นำมาซึ่งมิคสัญญี เช่น 6 ต.ค. 19 การยอมกลับมาติดคุกอาจเป็นทางเลือกที่ทักษิณไม่เลือก ในขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจสำเร็จได้ยากใช้เวลานานและอาจไม่เป็นไปตามที่ต้องการเพราะผิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว



สังคมทั่วไปมักยกย่องเชิดชูบุคคลที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติโดยให้มีรูปปรากฏในธนบัตรเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง คำกล่าวข้างต้นของฟุกุซาวะ ยูคิจิ ผู้มีรูปปรากฏอยู่บนธนบัตรที่มีราคาแพงที่สุดคือ 10,000 เยนเป็นปราชญ์และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเคโอในยุคการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นในสมัยเมจิมาสู่ความก้าวหน้าในปัจจุบันจึงเป็นคติให้คนรุ่นหลังได้คิด



ว่าแต่ทักษิณจะได้คิดบ้างหรือไม่ มีใครตอบได้บ้าง? แต่สังคมไทยควรได้คิดว่าปัญหาปัจจุบันคือปัญหาระหว่างทักษิณกับรัฐไทยโดยแท้ มิใช่ของเสื้อสีใดหรือระหว่างชนชั้นใด ถ้าสังคมไม่อยากให้เกิดความรุนแรงก็ควรปล่อยให้เป็นปัญหาของเขาไป พรรคการเมืองหรือคนกลุ่มใดจะไปเดือดร้อนแก้ให้เขาทำไม





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้