นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (9)
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
20 กุมภาพันธ์ 2556
โกร่งและโต้งต้องมีข้อพิสูจน์มากกว่าน้ำลายว่า
ดอกเบี้ยสูงไม่ดีตรงที่ใด หาไม่ก็จง “หุบปาก” ไปซะ !!
การออกมาตำหนิการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ให้ต่ำลงมาใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาของวีระพงษ์ ประธานกรรมการ ธปท. และรัฐมนตรีคลัง “โต้ง” ปัญหาเรื่องนี้ดูจะเป็นการใช้อวิชชาเป็นที่ตั้งโดยแท้จริง
ทั้ง 2 คนอ้างว่าส่วนต่างจากดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 2 นั้น จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อแสวงหากำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ผลที่ติดตามก็คือค่าเงินบาทจะ “แข็งค่า” หรือ Appreciate มากขึ้น ส่งออกตก และหุ้นขึ้นไม่มีเหตุผลอย่างรวดเร็ว หาก ธปท.จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนมิให้เงินบาท “แข็งค่า” ก็จะทำให้ ธปท.มีผลขาดทุนจากการนี้เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากการขาดทุนสะสมในงบดุลของ ธปท.ที่ส่วนของทุนติดลบกว่า 5 แสนล้านบาท ณ เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2555 โดยขาดทุนกว่า 2.7 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2555 เพียงปีเดียว
วีระพงษ์ยังเชื่อว่าไทยมีเศรษฐกิจที่เล็กแต่เปิด เงินเฟ้อจึงมาจากปัจจัยต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันที่นำเข้า หากสินค้านำเข้ามีราคาแพงจะขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขนาดไหนก็ไม่สามารถจะควบคุมเงินเฟ้อได้ การไม่ลดดอกเบี้ยโดยกลัวว่าจะควบคุมเงินเฟ้อไว้ไม่ได้ของ ธปท.จึงไม่ถูกต้องในสายตาและความเชื่อของวีระพงษ์ หลักการและข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรลองมาดูกัน
ข้อเขียนจากสายนโยบายการเงิน ธปท. เรื่อง “เงินเฟ้อ ดุลบัญชีเดินสะพัด และนโยบายการเงิน” ได้เสนอข้อเท็จจริงก็คือ องค์ประกอบของสินค้าและบริการที่นำมาคิดเป็นเงินเฟ้อในประเทศไทยนั้นมีส่วนที่ไม่สามารถนำเข้า (หรือส่งออก) ได้ หรือ Non-Tradable ประมาณร้อยละ 65 ดังนั้นส่วนที่นำเข้าได้แม้จะมีราคาเพิ่มขึ้นก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นในการคำนวณเงินเฟ้อ
หากจะอ้างว่าประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าหรือดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งอาจหมายความว่าประเทศไทยมีการผลิตเหลือจากการบริโภคนั้นดูจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง เหตุก็เพราะสินค้าหลักๆ ที่ไทยส่งออกไม่ได้เกิดจากการเหลือกินเหลือใช้แล้วเอาที่เหลือไปขาย หากแต่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ การเกินดุลฯ ดังกล่าวจึงมิได้หมายความว่าจะไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อหลงเหลืออยู่ ดูจีนก็ได้ที่เกินดุลฯ มหาศาลแต่ก็ยังมีเงินเฟ้อในระดับสูง
ดังนั้นเงินเฟ้อในประเทศไทยจึงมาจากความต้องการในสินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำเข้า/ส่งออกได้ เช่น ในภาคอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน อิฐ หิน ดิน ทราย) และจากความต้องการภายในประเทศที่ไม่สามารถผลิตตอบสนองได้ทัน
เศรษฐกิจไทยที่เป็นอยู่พึ่งพาสถาบันการเงินเป็นหลักทั้งกู้และฝากเงิน การลดความต้องการภายในประเทศนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นมาตรการในนโยบายการเงินของ ธปท.ที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากที่สุด หากปล่อยให้เกิดเงินเฟ้อจะทำให้ประชาชนและผู้ผลิตคาดคะเนว่าสินค้าในอนาคตจะมีราคาแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ค่าจ้างและราคาวัตถุดิบก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นวัฏจักรกัดกร่อนความเชื่อมั่นและอำนาจซื้อของคนในประเทศที่ยากจะแก้ไขได้หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป
วีระพงษ์และรัฐมนตรีคลัง “โต้ง” ควรรู้ไว้ว่า เป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) และอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น เป็นแกนหลักของนโยบายการเงินที่มีผลการศึกษาและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์สนับสนุน
การขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ “แข็งค่า” ขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อมิให้มีเงินบาทท่วมตลาดและเกิดเงินเฟ้อนั้นเป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำหรือไม่? และมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.เพื่อประโยชน์ของประเทศมากน้อยเพียงใด?
ผลงานวิจัยของ Alp & Elekdag (IMF working paper no. 12/69) ที่ได้จำลองสถานการณ์การลดผลกระทบจาก (1) การเกิดวิกฤตจากผู้กู้ต่ำกว่าระดับ หรือ Sub-Prime Crisis ของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2008 และ (2) การเกิดแผ่นดินไหวพร้อมกับสึนามิของญี่ปุ่นและน้ำท่วมใหญ่ในไทยเมื่อปี ค.ศ. 2011 พบว่า หาก ธปท.ไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน อัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงของ GDP ไทยจะลดลงมากกว่าที่เกิดขึ้นเดิมถึงร้อยละ 2.5 ต่อปี (ดูตารางที่ 5) หรือคิดเป็นตัวเงินกว่า 4-5 แสนล้านบาท นโยบายการเงินของไทยโดยอาศัยเป้าหมายเงินเฟ้อภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นไม่คงที่ตายตัวจึงมีส่วนในการบรรเทาผลจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ดูรูปที่ 1 ช่วงปี 2008-11 ที่ดอกเบี้ยนโยบายและอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงลดลงมีผลทำให้ Real GDP เป็นบวกได้
ในอีกทางหนึ่ง การขาดทุนจากการเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงิน “ความน่าเชื่อถือ” ของ ธปท.ที่จะยึดถือคำมั่นที่จะรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อตามที่ได้ประกาศไว้ต่างหากที่มีผลโดยตรง ดังที่พรพินันท์และคณะฯ ได้เสนอไว้ในงานวิจัย Central Bank Balance Sheet and Policy Implications (ดูฉบับย่อภาษาไทยได้ที่ Focus and Quick issue no.76 ใน www.bot.ot.th)
สาเหตุก็เพราะการขาดทุนทางบัญชีในงบดุลขององค์กรที่มุ่งแสวงหากำไรจะมีส่วนอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายขององค์กรนั้น แต่มิใช่กับงบดุลของธนาคารกลางเช่นธปท.เนื่องจาก (1) มิได้มีเป้าหมายเพื่อแสวงหากำไร หากแต่มุ่งที่เสถียรภาพ และ (2) เงินแม้เป็นหนี้สินของ ธปท.ที่เป็นผู้ออก แต่ก็มีลักษณะคล้าย “ทุน” มากกว่าเนื่องจากไม่มีกำหนดไถ่ถอนและไม่มีดอกเบี้ยจ่าย
การสร้างเงินในปริมาณที่ไม่เหมาะสมต่างหากที่จะมีผลต่อ “ความน่าเชื่อถือ” ของ ธปท.ดังเช่น ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ในสมัยมาร์กอส การที่ธปท.เป็นผู้มีอำนาจผลิตเงินแต่เพียงผู้เดียวในสังคมจึงต้องมีวินัยที่แสดงออกเป็นรูปธรรมโดยการรักษาเงินเฟ้อกำกับอยู่ด้วย
รัฐบาลก็สามารถสร้าง “ความน่าเชื่อถือ” นี้ได้เช่นกันจากการมีวินัยทางการคลังและการละเว้นไม่แทรกแซงการทำงานของ ธปท.หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ดำเนินนโยบายที่มุ่งสร้างอุปสงค์รวมให้เพิ่มมากขึ้นจากนโยบายประชานิยมทั้งหลาย ไม่กู้เงินก่อหนี้โดยไร้วัตถุประสงค์ในจำนวนมาก หรือ ดำเนินนโยบายการคลังแบบเกินดุล รัฐบาลก็จะสามารถแบ่งเบาภาระของ ธปท.ในการควบคุมเงินเฟ้อได้ ดอกเบี้ยที่ถกเถียงกันว่าสมควรจะลดหรือไม่ก็จะถูกลดลงมาเองหาก ธปท.พิจารณาดูแล้วเห็นว่าไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
แนวทางการจัดการเกี่ยวกับเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากในเวลาอันสั้นที่เปรียบเสมือน “ช้างใหญ่กับบ่อน้ำน้อย” นั้นสมควรที่จะได้มีการพิจารณาในเชิงวิชาการให้มีหลักการและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เป็นเหตุผลประกอบข้อเสนอ หาไม่แล้วก็จะเป็นการพูดจาหาสาระอะไรไม่ได้
การจะให้ ธปท.ไปลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือใกล้ 0 ใกล้เคียงกับสหรัฐฯจะต้องเพิ่มปริมาณเงินและแลกมาด้วยเงินเฟ้ออีกมากน้อยเท่าใดคิดบ้างหรือไม่? ในทางตรงกันข้ามหากสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทั้ง 2 คนจะเสนอให้ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยตามด้วยหรือไม่?
การปล่อยให้เงินบาทมีความผันผวนมากขึ้นจะเป็นช่องทางที่ดีในการลดภาระขาดทุนของ ธปท.จากการเข้าแทรกแซงเพื่อดูแลค่าเงินบาทที่ใช้เงินของคนทั้งประเทศเพื่อประโยชน์ของผู้ส่งออกนำเข้าที่เป็นคนส่วนน้อย ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นตัวปรับสมดุลกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของนักลงทุนต่างชาติเอง ทำไมรัฐบาลจึงไม่สนับสนุน ธปท.ให้ทำ?
ในเชิงสต๊อก การลดการสะสมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเอาไว้จำนวนมากจะเป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนของ ธปท.แต่คงทำได้ยากเพราะไม่รู้จะจัดการหน้าที่ที่ขัดแย้งระหว่างการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกับการเก็บรักษามูลค่าของดอลลาร์สหรัฐที่มีมากว่าค่อนศตวรรษได้อย่างไร
หมอเองก็ยังไม่รักษาโรคด้วยวิธีที่ไม่มีหลักการและข้อเท็จจริงให้เห็นเป็นประจักษ์ หากมีแต่เพียง “ลมปาก” วีระพงษ์และรัฐมนตรีคลัง “โต้ง” ก็ควร “หุบปาก” เรื่องนี้เสียที!!!
เรื่องนี้จึงมีเบื้องหลัง มิใช่อำมาตย์รังแกเอาเปรียบไพร่ เหมือนอย่างที่ ธิดา “นกแสก” เพ้อเจ้อว่าเอาไว้แต่อย่างใด คนชั้นกลางล่างควรตาสว่างได้แล้วหาไม่ “นรก” จะมาเยือน