นักเศรษฐศาสตร์คุยกับ "โต้ง"
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
2 พฤษภาคม 2555
ดูจากการกระทำ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง คงต้องคุยกับนักเศรษฐศาสตร์มากกว่านี้
ข่าวจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง หลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา
นายกิตติรัตน์ ได้กล่าวออกตัวอย่างน่าเห็นใจในเรื่อง “แพง” ทั้งแผ่นดินว่า ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด จึงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มีส่วนทำให้เกิดเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก และวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่ใช้การแก้ปัญหาโดยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อลามไปทั่วโลก
“ที่จริงแล้ว ผมไม่ได้พอใจที่สินค้ามีราคาแพง ต้องยอมรับว่าประเทศเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิด บางทีเงินเฟ้อมาจากปัจจัยภายนอก ผมว่าเราต้องคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ให้มากว่าในอนาคตเราจะอยู่ในโลกที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างไร ในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ระดับเงินเฟ้อต่ำกว่าประเทศคู่ค้า หรือประเทศที่เป็นคู่แข่ง”
สรุปความง่ายๆ ก็คือภาวะ “แพง” ทั้งแผ่นดินที่เกิดขึ้นในขณะนี้มิได้เกิดมาจากฝีมือรัฐบาล หากแต่เป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่รัฐบาลนี้ควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกแพง และ/หรือเงินเฟ้อที่มาจากสหรัฐฯ หาได้เกิดจากการเพิ่มเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจไทยผ่านนโยบายประชานิยมต่างๆ เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เป็นต้น
ฟังดูแล้วรู้สึกน่าเห็นใจเป็นอย่างมากที่นายกิตติรัตน์ต้องมารับหน้าเป็นหนังหน้าไฟทั้งในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นอย่างยิ่งจนอยากจะแนะนำว่า ลาออกมาเป็นคนธรรมดาดีกว่าไหม? ไปเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลก็ได้เพราะทำความเสียหายให้ประเทศได้น้อยกว่า
นักเศรษฐศาสตร์หางแถวเช่นผู้เขียนก็อยากจะสื่อสารกับนายกิตติรัตน์ว่า ในภาพรวมคงต้องให้ความรู้กับรองนายกฯ นี้ว่า สินค้าราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเงินเฟ้อนั้นเป็นเรื่องของเงินมีมากกว่าสินค้า นโยบายประชานิยมที่เพิ่มเงินในกระเป๋าผู้มีสิทธิออกเสียงคือรากฐานที่มาของปัญหาเงินเฟ้อในปัจจุบัน เพราะการผลิตสินค้าหรือบริการให้เพิ่มมากขึ้นนั้นอาจเกิดได้ทั้งจากการขยายการผลิตให้มีปริมาณมากขึ้นโดยการเพิ่มปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน หรือทุน และ/หรือจากผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่ม แต่ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยใดก็ต้องใช้เวลา ข้อสรุปฟังง่ายๆ ก็คือโดยเปรียบเทียบแล้ว เงินเพิ่มได้เร็วกว่าสินค้านั่นเอง
หากจะอ้างว่า เงินเฟ้อเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาน้ำมันที่ต้องนำเข้าและมีราคาแพงขึ้นนั้น ข้อเท็จจริงมันไม่สนับสนุนข้ออ้างนี้แต่อย่างใด
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาพลังงานเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น ปี 2552 ราคาพลังงานโดยเฉลี่ยทั้งปีเพิ่ม(ลด)มากกว่าปีก่อนหน้า -13.1% ในขณะที่ปี 2553 เพิ่ม 9.7% และปี 2554 เพิ่ม 5.6% ในขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2555 ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 3.0% เท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวนี้ไม่ได้สื่อถึงราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ในทำนองเดียวกันเงินเฟ้อที่มาจากต่างประเทศอาจเกิดขึ้นได้หากไทยมีโครงสร้างการนำเข้าสินค้าเช่นลาว ที่นำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากไทย แต่โดยข้อเท็จจริงนั้นไม่ใช่ ไทยมีโอกาสที่จะนำเข้าเงินเฟ้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ น้อยมากเนื่องจากสินค้าที่นอกเหนือจากพลังงานนั้นนำเข้ามาจากหลายประเทศมิได้พึ่งพาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งโดยเฉพาะ
ดังนั้น หากมิใช่จากปัจจัยนอกประเทศดังที่นายกิตติรัตน์กล่าวอ้าง ภาวะ “แพง” ทั้งแผ่นดินที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็มีที่มาจากในประเทศและเกิดจากฝีมือรัฐบาล
อัตราเงินเฟ้อที่วัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่มิได้รวมราคาอาหารและพลังงานตั้งแต่ที่รัฐบาลนี้เข้ามารับตำแหน่งก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสูงกว่าในรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงเวลาเดียวกันถึงกว่าร้อย 2.6 เป็นอย่างต่ำมาโดยต่อเนื่องทุกเดือนจนถึงปัจจุบัน
ถ้าจะว่าเป็นเรื่องปกติธรรมชาติของภาวะเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องปกติธรรมชาติเมื่อมีเงินในระบบมากกว่าจำนวนสินค้าที่มีอยู่ เงินจึงเฟ้อหรือ “แพง” ทั้งแผ่นดินนั่นเอง
น้ำท่วมใหญ่เกือบทั้งประเทศในปลายปี 2554 ทำให้การผลิตในทุกภาคส่วนไม่สามารถทำได้ ในขณะที่รัฐบาลกลับเร่งการใช้จ่ายโดยพยายามเพิ่มเงินในกระเป๋าผู้มีสิทธิออกเสียง การเพิ่มขึ้นของราคาจนทำให้ “แพง” ทั้งแผ่นดินจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะสินค้าเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเงิน
การประกาศเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเป็นตัวอย่างที่ดีถึงการชี้นำระดับราคาสินค้าในระบบเศรษฐกิจจากฝีมือของรัฐบาล ทำให้ทุกคนทุกภาคส่วนในระบบฯ อาศัยตัวเลขนี้เป็นพื้นฐานในการคาดคะเนราคาสินค้าในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แรงงานไม่ว่าจะมีฝีมือหรือไม่ก็จะใช้เป็นฐานในการอ้างอิงค่าจ้าง เช่นเดียวกับพ่อค้าหรือนักอุตสาหกรรมก็จะอาศัยตัวเลขนี้เป็นฐานในการคิดราคาต้นทุนกำไรในการผลิตหรือขายสินค้าของตนเอง
ผลที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปก็คือ ภาคการผลิตของประเทศไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งจากต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้ว่าค่าจ้างแรงงานอาจเป็นเพียงส่วนเดียวในหลายส่วนของต้นทุนการผลิตโดยรวม แต่เมื่อทุกหน่วยเศรษฐกิจต่างคาดคะเนถึงเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะมีใครบ้างคิดราคาสินค้าหรือบริการของตนเองที่จะขายในอนาคตถูกลง มีแต่จะคิดเพิ่มขึ้นเท่าที่อำนาจเหนือตลาดที่ตนเองมีจะเอื้ออำนวย
เศรษฐกิจประเทศที่มีค่าครองชีพแพงไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ย่อมจะยากที่จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งแม้จะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นก็ตาม สหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโร ญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่ดี
ในฐานะรัฐมนตรีคลังและรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ นายกิตติรัตน์ควรรู้ว่าการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานมิได้ทำได้ง่ายๆ โดยการเพิ่ม “ทุน” ให้กับแรงงาน การแจกแท็บเล็ตหรือกระดานชนวนอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถทำให้คนฉลาดมีความสามารถมากขึ้นในทันที หากแต่ต้องอาศัยปัจจัยการศึกษาเข้ามาเพราะคอมพิวเตอร์ยัง “โง่” กว่าคน ถ้าคนใช้ไม่รู้วิธีที่จะหาคำตอบคอมพิวเตอร์จะรู้ได้อย่างไร เงินจึงมิใช่ปัจจัยที่จะบันดลบันดาลทำให้คนฉลาดขึ้นแต่อย่างใด ดูตัวอย่างจาก ส.ส.ที่ได้แจกคอมพิวเตอร์ไปก็ได้ว่าช่วยให้มีผลิตภาพมากขึ้นหรือไม่
ในฐานะรัฐมนตรีคลังและรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ นายกิตติรัตน์ควรรู้ว่าการรักษาวินัยทางการเงินการคลังเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ดังนั้นการรักษาระดับราคามิให้ “แพง” ทั้งแผ่นดินจึงต้องให้อิสระกับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเพิ่มลดเงินในระบบนั่นคือธนาคารแห่งประเทศไทย อย่าไปก้าวก่ายแทรกแซงจนทำให้สังคมเกิดความแคลงใจว่าหน่วยงานที่ดูแลภาวะเงินเฟ้อไม่มีอิสระในการทำงานเพราะต้องมาสนองนโยบายฝ่ายการเมือง
ลองพิจารณาดูใหม่ก็ได้ว่านโยบายประชานิยมที่มุ่งเพิ่มเงินมากกว่าเพิ่มรายได้ เช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก พักชำระดอกเบี้ยของลูกหนี้ดีในธนาคารของรัฐ หรือจำนำราคาข้าวเกินจริงนั้นเป็นการเพิ่มเงินหรือเพิ่มรายได้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรกระทำต่อไปหรือ
ที่สำคัญก็คือ การเข้าแทรกแซงบังคับจากการออก พ.ร.ก.โอนหนี้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยที่มิได้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการหารายได้เข้ามารับผิดชอบการชดใช้เงินต้นและดอกเบี้ยกว่าปีละ 60,000 ล้านบาทที่เกิดขึ้นจากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้นเป็นเรื่องที่ล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงานหลักด้านการเงินของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นก็คือด้วยภาระปีละกว่า 60,000 ล้านบาท มีโอกาสเป็นอย่างมากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นชนวนของวิกฤตการเงินครั้งต่อไปของประเทศหรือไม่หากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดกลับผิดนัดชำระหนี้ นายกิตติรัตน์มีคำตอบเรื่องนี้แล้วหรือยัง?
ในฐานะรัฐมนตรีคลังและรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ นายกิตติรัตน์ควรรู้ว่าตนเองมิใช่รัฐมนตรีของพรรคฯ หรือรองนายกฯ ของใครคนใดคนหนึ่งแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นของประเทศไทยดังคำปฏิญาณตนที่ให้ไว้กับเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิใช่หรือ