คมดาบซากุระ 2 : เศรษฐกิจไทยในอนาคต โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (27 มิถุนายน 2555)

คมดาบซากุระ 2 : เศรษฐกิจไทยในอนาคต โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (27 มิถุนายน 2555)

เศรษฐกิจไทยในอนาคต


โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

27 มิถุนายน 2555



จะไปทางไหน จะเป็นคล้ายดั่ง “ปินอยส์”หรือไม่?



ประเทศไทยคล้ายดั่งเข้าสู่ Lost Decade เหมือนเช่นที่ญี่ปุ่นเคยประสบมาในช่วงทศวรรษที่ 1990 หรือฟิลิปปินส์ กล่าวคือตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จวบจนถึงปัจจุบันไทยมีความเจริญก้าวหน้าไปในทิศทางใดบ้างและเป็นความเจริญที่ยั่งยืนหรือไม่?



เศรษฐกิจแม้จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นแต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด ประเทศยังคงพึ่งพากับการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นสำคัญในการเป็นหัวรถจักรฉุดลากเศรษฐกิจไทยให้เดินไปข้างหน้า



หากจะใช้ทฤษฎีฝูงห่านบินมาอธิบาย ไทยก็จะเปรียบได้กับห่านตัวท้ายๆที่สามารถขยับมาอยู่ตรงกลางฝูงมากว่า 2-3 ทศวรรษ แต่ไม่สามารถเร่งความเร็วเพื่อบินไปสู่ตำแหน่งผู้นำของฝูงห่านที่กำลังบินได้



สิงคโปร์ เกาหลี หรือมาเลเซีย ที่แซงหน้าไปก็ทิ้งระยะห่างไปเรื่อยๆ ในขณะที่ห่านตัวใหม่ๆ เช่น เวียดนาม ลาว ศรีลังกา หรือแม้แต่พม่า ก็จี้ตูดตามติดเข้าใกล้มาเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากการผลิตสินค้าที่ไทยเคยทำมาก่อนก็เสียความสามารถไปให้ประเทศเหล่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ไทยก็ไม่สามารถขยับตำแหน่งไปสู่ประเทศที่พัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่ได้



ดูเหมือนว่าไทยกำลังติด “กับดักของความเจริญ” ไปเสียแล้ว เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าในอดีตแม้ทำให้คนมีรายได้มากกว่าเดิม แต่ก็ขาดความต่อเนื่องไม่สามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวไปข้างหน้าได้มากกว่าที่เป็นอยู่ พอเริ่มมีเงินสักนิดก็คิดหลอกตนเองว่าตนเองเป็นเศรษฐีเสียแล้ว งานหนักจึงไม่เอางานเบาไม่สู้ ปล่อยให้ลาว เขมร พม่า เข้ามาทำแทน การหยุดนิ่งในขณะที่คนอื่นวิ่งอยู่ก็คือการถอยหลังนั่นเอง



จะมีนักการเมือง/รัฐมนตรีคนใดสังเกตบ้างหรือไม่ว่า 10 ปีที่แล้วไทยเคยส่งออกอะไร ปัจจุบันก็ส่งออกอย่างนั้นเหมือนเดิม แต่ที่แย่ก็คือราคาที่ส่งออกนั้นมิได้เพิ่มขึ้นทัดเทียมกับราคาสินค้านำเข้า ราคาสินค้าส่งออกเปรียบเทียบกับราคาสินค้านำเข้าหรือ Terms of Trade ของไทยจึงเรี่ยต่ำติดดิน



เป็นเครื่องชี้ยืนยันการไร้ความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออกของตนเองได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ไทยต้องส่งสินค้าไปขายในแง่จำนวนมากชนิดสินค้าและมากในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิมทุกปีเพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศในจำนวนเท่าเดิมมาใช้



จะมีประชาชนคนไทยสังเกตบ้างหรือไม่ว่าการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และใช้วิทยาการที่คนไทยมีความชำนาญ เช่น การปลูกข้าวนั้นเริ่มจะลดความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจไปเสียแล้ว หากวันนี้จะปลูกข้าวทั้งปีไปขายเพื่อซื้อน้ำมันก็จะได้น้ำมันมาใช้เพียงไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้นเพราะมูลค่าน้ำมันที่ใช้ทั้งปีมากกว่ามูลค่าข้าวที่ไทยส่งออกถึงประมาณ 7 เท่า แม้จะรวมสินค้าเกษตรที่ปลูกได้ทั้งหมดก็ไม่พอกับรายจ่ายค่าน้ำมันทั้งปี



ในทางตรงกันข้ามการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วิทยาการที่คนไทยไม่มีหรือไม่เคยคิดจะทำและได้ส่วนแบ่งตกอยู่กับคนไทยต่ำเพราะขายได้แต่เพียงค่าแรงกลับเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกในลำดับต้นๆ ของประเทศ



การเพิ่มของรายได้ประชาชาติหรือ GDP จึงทำให้ประเทศมีขนมก้อนใหญ่มากขึ้นแต่ส่วนแบ่งก็ยังหั่นไม่เท่าเทียมกันเหมือนเดิม เหตุส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีใครคิดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พ้นจาก “ความมักง่าย” เราสมควรจะภาคภูมิใจหรือไม่กับโครงสร้างฯ เช่นนี้



จะมีใครคิดหรือไม่ว่าพลังงานที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมิใช่ใช้อย่างฟุ่มเฟือยในภาคการขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังต้องเอาไปใช้เพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่คนไทยมีส่วนแบ่งน้อยเป็นหลัก



ประเทศไทยจึงเป็นม้าอารีผลาญทรัพยากร เช่น ก๊าซ น้ำมัน ไฟฟ้า ป่าไม้ ต้นน้ำ ที่ดิน เพื่อให้นายทุนทั้งต่างชาติและชาติเดียวกันใช้เพื่อสร้างผลกำไรในปัจจุบันอย่างบ้าคลั่งโดยไม่คำนึงว่าจะมีเหลือไว้เพื่อลูกหลานในอนาคตหรือไม่ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เน้นการลงทุนจากต่างประเทศ



คำถามก็คือ หากเป็นการผลิตที่ดีเป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นทำไมต้องย้ายฐานการผลิตไม่ทำในบ้านเขามาทำในบ้านเราที่ห่างไกลจากบ้านเขามาก นายทุนต่างชาติเหล่านั้นเป็นนักบุญกลับชาติมาเกิดหรืออย่างไร หรือเป็นเพราะเป็นการผลิตที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่บ้านเขาและสามารถใช้แรงงานราคาถูกในบ้านเราได้อีก



ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเสียภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเพราะเราละทิ้งภาคเกษตรหรือละทิ้ง “ความพอเพียง”



วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ. 2008 ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาตนเองด้านเศรษฐกิจได้ เมื่อไม่สามารถส่งออกได้เพราะผู้ซื้อไม่มีเงินซื้อ ประเทศก็จะพบกับความลำบากในทันทีเพราะไม่สามารถลดการใช้จ่ายตามรายได้ที่ลดลงได้ ต่างกับวิกฤตเมื่อปี ค.ศ. 1997 ที่คนตกงานในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคอื่นๆ ยังสามารถหันหน้าไปพึ่งพาภาคเกษตร กลับบ้านไปพึ่งพาที่ดินหรือกิจการของพ่อแม่ได้



นี่คือตัวอย่างของ “ความพอเพียง” ที่สร้างความยืดหยุ่นเป็นภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจ ไม่สำคัญว่าจะมีรายได้มากน้อยเท่าใด หากแต่ความสามารถในการดำรงตนอยู่ได้กับรายได้ที่มีอยู่ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญมากกว่า



นโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ทำให้คน “แบมือ” รับความช่วยเหลือเพราะต้องการฐานเสียงมาใช้ทางการเมือง จึงเป็นการทำลายมากกว่าสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจ



นโยบายจำนำข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ ในราคาสูงเกินจริงทำให้คน “ตาโต” ปลูกข้าวเพื่อจำนำแทนที่จะปลูกเพื่อขาย คุณภาพของข้าวเพื่อจำนำที่โดยข้อเท็จจริงเป็นการขายขาดให้รัฐบาล มิได้มีจุดประสงค์จะกลับมาไถ่ถอนจำนำจึงแตกต่างไปจากเพื่อขายโดยสิ้นเชิง เพราะเขาจำนำที่ปริมาณ(ตัน)มิใช่คุณภาพ



ในขณะที่กลไกการค้าข้าวทุกระดับอันเป็นโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโรงสี พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าส่งออก จะถูกทำลายตามไปด้วยเพราะจะมีผู้ซื้อเพียงรายเดียวคือรัฐบาลที่ไม่มีเอกชนรายได้สู้ได้เพราะมีทั้งอำนาจและเงิน



ข้าวในฐานะที่เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญจึงเป็นตัวชี้ถึงอนาคตภาคเกษตรของไทยภายใต้นโยบายประชานิยมได้เป็นอย่างดี เห็นได้แล้วว่าจะไปสู่จุดใด



ดังนั้นเมื่อขาดซึ่งภาคเกษตรที่เปรียบได้กับ safety net หรือ “ตาข่าย” รองรับคนตกงาน ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปในปี ค.ศ. 2012 นี้ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจึงคาดหมายได้ว่าจะเป็นเช่นใดหากไทยไม่สามารถส่งออกได้



แม้ว่าเหล่าอำมาตย์เสนาบดีที่ดูแลเศรษฐกิจอาจโล่งอกที่การส่งออกเริ่มกระเตื้องขึ้นมาเป็นบวกหลังจากที่ติดลบมาแล้วหลายเดือน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้แก้ ยังไม่สามารถวางใจได้เพราะเรายังอยู่ใน Lost Decade ที่การเมืองและนักการเมืองยังเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ ยังวนเวียนทุ่มเทสติปัญญา เวลา และทรัพยากรอื่นๆ ของประเทศเพื่อหาทางหาโอกาสแก้อดีตให้คนเพียงคนเดียว



ออกกฎหมายปรองดองหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมันจะเป็นทางออกให้กับประเทศได้อย่างไร?


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้