คมดาบซากุระ 2 : ฤานิติราษฎร์จะเป็น "จตุพรทางวิชาการ" โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (18 กรกฎาคม 2555)

คมดาบซากุระ 2 : ฤานิติราษฎร์จะเป็น "จตุพรทางวิชาการ"  โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (18 กรกฎาคม 2555)


ฤานิติราษฎร์จะเป็น "จตุพรทางวิชาการ ?"

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

18 กรกฎาคม 2555





 
แกนนำเสื้อแดง “สู้แล้วรวย” ยอมพูดเท็จขายชีวิตจนติดโรค “ขี้ข้าทักษิณ”

แต่ “จตุพรทางวิชาการ” ทั้งหลายดูจะแย่กว่าเสียอีก



ข้อเสนอของนิติราษฎร์ในการให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญแล้วตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาแทนดูจะเป็นความเห็นล่าสุดที่เสนอต่อสังคมหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาเพียงไม่กี่วัน



จะไม่ขอกล่าวถึงข้อเสนอเพราะเป็นความเห็นที่ใครๆ ก็สามารถมีได้และเห็นแตกต่างกันได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือบทบาทที่ผ่านมาของกลุ่มนิติราษฎร์ต่างหาก



บทบาทของวรเจตน์แกนนำนิติราษฎร์ที่มีต่อคำพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงตนเลือกข้างสนับสนุนที่เข้าทางทักษิณหลังจากที่ก่อนหน้านั้นไปเขียนวิพากษ์ความฉ้อฉลทักษิณในหนังสือชื่อ “รู้ทันทักษิณ” เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำวินิจฉัยของศาล และเป็นพื้นฐานในการตัดสินนั้นแตกต่างไปจากข้อวิพากษ์ที่เป็นความเห็นของวรเจตน์



การใช้เสรีภาพทางวิชาการตามสภาพฐานะอาจารย์ของตนเองที่เป็นอยู่กับการเป็นโรค “นิยมทักษิณ” จึงก้ำกึ่งกันและยังจำแนกแยกแยะได้ยาก หลายๆคนในสังคมจึงอาจจะยังเก็บความสงสัยที่ว่านี้ไว้ในใจเพราะครูบาอาจารย์ยังคงมีสถานะพิเศษในสังคมไทยเช่นเดียวกับหมอรักษาโรค



แต่เมื่อกลุ่มนิติราษฎร์เปิดเผยแนวคิดและเดินหน้ารณรงค์เกี่ยวกับการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือที่รู้จักโดยทั่วไปในชื่อการล้มเลิก ม. 112 ของกฎหมายอาญาโดยมีวรเจตน์และพวกเป็นแกนนำขับเคลื่อนซึ่งเป็นมากกว่าการขายความคิดแต่เพียงอย่างเดียว บทบาทของนิติราษฎร์จึงก้าวข้ามเส้นเขตแดนเสรีภาพทาวิชาการไปเข้าสู่แดนของการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปเสียแล้ว



อย่าลืมว่าแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นขาข้างหนึ่งของทักษิณในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาก็มีแนวคิดเรื่อง “ล้มเจ้า” เช่นนี้เหมือนกัน หากเลือกที่จะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเขาจะอ้างว่าตนเอง “รักเจ้า” ไม่ให้คนอื่นๆ หาว่าช่วยเขา “ล้มเจ้า” ไปได้อย่างไร



สังคมจึงมองเห็นเชื้อโรค “ขี้ข้าทักษิณ” เกาะติดไหลเข้าสู่เส้นเลือดของแกนนำนิติราษฎร์จากบทบาทดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก การเสนอขายความคิดเป็นเสรีภาพและหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและหลักวิชา แต่การเคลื่อนไหวโดยเอาความเห็นของตนเป็นที่ตั้งโดยใช้ข้อเท็จจริงเพียงเสี้ยวเดียวนี่สิใช่หน้าที่พึงกระทำด้วยหรือ



ศาลรัฐธรรมนูญแม้จะมีคำวินิจฉัยที่นิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยมากแค่ไหนก็ตาม นิติราษฎร์ก็สามารถมีเสรีภาพในการวิพากษ์บนพื้นฐานหลักการทางวิชาการหรืออาจจะร่วมกับคนอื่นๆ ที่เห็นเหมือนกันเข้าชื่อถอดถอนหากเห็นว่าจงใจกระทำผิด แต่การออกมาเคลื่อนไหวโดยพลันเสนอให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญอันเนื่องจากเห็นต่างจากความเห็นของตน ดูไปแล้วจะไม่แตกต่างไปจากแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นโรค “ขี้ข้าทักษิณ” ขั้นสูงสุดระยะสุดท้ายแต่อย่างใดไม่



แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมากดดันการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นๆ ต่างก็กระทำอยู่บนพื้นฐานของการเอาความเห็นตนเองที่ต้องการเป็นใหญ่ หากได้คำพิพากษาหรือวินิจฉัยที่แตกไปจากที่ตนต้องการก็กล่าวหาว่ามีสองมาตรฐานบ้าง
เป็นกระบวนการยุติความเป็นธรรมบ้าง หรือมีอำมาตย์หรือมือที่มองไม่เห็นมาสั่งการบ้าง ปลุกระดมมวลชนให้เชื่อตามความคิดเห็นของตนเอง ละทิ้งความจริง



เหตุก็เพื่อให้เกิดการเข้าใจผิดสร้างความแตกแยกในสังคมประหนึ่งว่ากระบวนการยุติธรรมเช่นศาล นั้นบกพร่องหรือเป็นการทำให้สังคมสนใจ “ผล” มากกว่า “เหตุ” โดยละเลยข้อเท็จจริงที่เป็นพยานหลักฐานแห่งคดีซึ่งเป็น “เหตุ” ที่มาของ “ผล” การตัดสินไปเสียสิ้น



แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ที่ร่ำเรียนมาโดยตรงด้านกฎหมายก็น่าจะทราบดีว่าศาลมิได้เป็นคู่ความด้วยแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นแค่ผู้ตัดสินตามพยานหลักฐานและกฎหมายที่มีอยู่ ความเห็นทางกฎหมายนั้นเห็นต่างได้ แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระแห่งคดีนั้นต้องเห็นเหมือนกัน



คดีความที่ทักษิณและพวกถูกตัดสินให้พ้นผิดก็มี แต่เมื่อใดที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดก็กล่าวหากระบวนการยุติธรรมหรือศาลว่าไม่ยุติธรรม ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ปรากฏในข้อเท็จจริงอยู่เสมอๆ ว่าทักษิณและพวกไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้เพราะขาดข้อเท็จจริงสนับสนุน



ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านที่ทักษิณและคนในครอบครัวไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้เลย มีแต่อ้างอย่างข้างๆ คูๆ หรือด้วยหลักฐานที่กระทำขึ้นมาแต่ฝ่ายเดียวทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ยิ่งลักษณ์น้องสาวหรือลูกที่ให้การเท็จต่อศาลในเรื่องความเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ป



วรเจตน์และกลุ่มนิติราษฎร์ไร้เดียงสาจนไม่รู้เลยดอกหรือว่าการยืนยันความเป็นเจ้าของหุ้นที่ตนเองถืออยู่นั้น มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นว่าชอบสีนั้นสีนี้ หากแต่เป็นการแสดงข้อเท็จจริงที่ตนเองย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ ดังนั้นตนเองจึงรู้อยู่ว่าได้จ่ายเงินซื้อหุ้นชินคอร์ปดังกล่าวจริง เป็นเจ้าของตัวจริง หรือถือแทนทักษิณและเมียหรือไม่



หน่วยงานที่ไม่ยอมดำเนินคดีต่อสิที่กลุ่มนิติราษฎร์ควรจะแสดงความคิดเห็นตั้งคำถามเพื่อทวงหาความยุติธรรมให้กับสังคม ทำไมจึงละเว้นปล่อยไป แต่กลับไปทำในเรื่องที่สังคมไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา



สังคมไทยยังมีเรื่องทางกฎหมายที่ต้องการความเห็นเพื่อการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอีกมาก สังคมไทยเสียเวลากับการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่รู้ว่าจะแก้ไปเพื่ออะไรและเป็นประโยชน์กับคนส่วนรวมอย่างไรมามากพอแล้ว ทำไมกลุ่มนิติราษฎร์จึงเล่นไม่เลิกแถมยังหาว่าศาลตัดสินไม่ดีสมควรยุบเลิกเสียอีกในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นด้านนิตินัยหรือพฤตินัยก็ควรเป็นที่สิ้นสุดเพราะศาลรัฐธรรมนูญก็มีวินิจฉัยออกมาแล้ว



ข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาเรื่อยๆ ที่ยากจะปฏิเสธก็คือ ทักษิณปิดบังทรัพย์สินเอาไว้ทั้งก่อนและหลังดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะปิตุฆาตโดยลูกชายของตนเองที่อ้างว่าพ่อรวยมาก่อนเข้ารับตำแหน่ง (แต่ไม่ยอมแจ้งทรัพย์สิน) หรือการถูกทนายความต่างชาติโกงเงินไปหลายร้อยล้านบาทจนต้องฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล (เอาเงินที่ไหนมาให้เขาโกงได้มากขนาดนั้น) หากยังเล่นบทเป็นไม้เป็นมือช่วยคนผิดคนไม่ดีอย่างนี้แล้วจะให้คนในสังคมเข้าใจว่าอย่างไร



สุรวิชช์ แห่งผู้จัดการได้ให้ฉายานักวิชาการหลายๆ คนที่ไม่ยึดหลักการเอาแต่ความเห็นความชอบความแค้นหรือโมหะส่วนตนเป็นที่ตั้งในการออกมาให้ความเห็นสู้กับผู้ที่เห็นต่างจากทักษิณกับบริวารของเขาว่าเป็น “จตุพรทางวิชาการ” เหตุก็เพราะมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับแกนนำเสื้อแดงที่พูดดำเป็นขาวและพูดโกหกหลอกลวงผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาจนหาสาระอันใดมิได้ คล้ายคลึงกับคำว่าพูดแบบ “เหวงๆ”



แกนนำเสื้อแดง “สู้แล้วรวย” เพราะยอมขายชีวิตติดโรค “ขี้ข้าทักษิณ” แลกกับอามิสสินจ้างที่หาไม่ได้ในชีวิตคนเหล่านั้นด้วยสัมมาอาชีวะ แต่บรรดาเหล่า “จตุพรทางวิชาการ” ดูจะกระทำไปอย่างไม่มีเหตุผลมากกว่าเสียอีก



บทบาทพฤติกรรมของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ผ่านมา จึงน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็น “จตุพรทางวิชาการ” เช่นเดียวกับนักวิชาการรุ่นพี่ของพวกคุณที่ได้สมญานามนี้ไปก่อนแล้วหรือไม่? เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเสียนี่กระไรหรือไม่?




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้