สื่อกับทุน
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
8 สิงหาคม 2555
จะทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์ระหว่างสื่อกับทุน
บทบาทหน้าที่หลักสำคัญของสื่อก็คือ การส่งข่าวสารไปสู่มวลชน ในขณะที่ทุน มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสื่อที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้สื่อสามารถทำงานได้
เป้าหมายหลักของหน่วยทางเศรษฐกิจที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในคราวเดียวกัน ไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็คือ การแสวงหากำไรสูงสุดที่ในปัจจุบันถูกทำให้เป็นเป้าหมายที่น่ารังเกียจ
อย่าลืมว่า ด้วยเป้าหมายการแสวงหากำไรจึงทำให้เกิด “มือที่มองไม่เห็น” เข้ามาจัดการการใช้ทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยที่สังคมไม่ต้องไปคาดคั้นหรือตั้งกฎเกณฑ์พิเศษอันใดเป็นการเพิ่มเติมเหมือนการใช้เป้าหมายอื่นๆ
ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ปรากฏก็คือ ระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง เช่น ระบบคอมมิวนิสต์ จึงต้องพ่ายแพ้ต่อระบบแบบทุนนิยม อันเนื่องมาจากกำไรและกลไกราคาที่เป็นเป้าหมายและเครื่องมือสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพกว่าการวางแผนจากส่วนกลางที่ไม่ใช้กำไรหรือกลไกราคา
ประเทศที่ยังใช้งานระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อยู่จึงเหลือน้อยเต็มทีและต้องปิดกั้นประชาชนตนเองออกจากกระแสสังคมโลก หาไม่แล้วก็จะไม่สามารถต้านทานกระแสทุนนิยมของโลกได้เป็นแน่
หน่วยทางเศรษฐกิจที่ทำหน้าที่สื่อก็เช่นเดียวกัน จะมีสื่อใดปฏิเสธบ้างว่าที่ทำหน้าที่สื่อก็เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดจากการส่งข่าวสารไปสู่มวลชน เมื่อเป็นดังนี้ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสื่อก็คือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าข่าวสารที่ส่งออกมาโดยสื่อนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง มิได้บิดเบี้ยวไปตามกระแสของทุน
ธุรกิจโรงพยาบาล ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงไม่แตกต่างกับธุรกิจสื่อสักเท่าใด เพราะเอาเป้าหมายกำไรนำหน้าชีวิตคน ดังนั้นชีวิตคนที่มีเงินพอจ่ายจึงได้รับการดูแลที่ดีกว่าเพราะโรงพยาบาลสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งจริยธรรมทางการแพทย์ไปพร้อมกับกำไร ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรในยุค 30 บาทรักษาทุกโรคกลับมาใหม่ กลับต้องเผชิญปัญหาจริยธรรมทางการแพทย์กับการเป็นหนี้สินเพราะเอางบประมาณเป็นที่ตั้งให้อยู่เหนือกว่าชีวิตหรือสุขภาพของคนไข้
แต่ธุรกิจสื่ออาจแตกต่างออกไปที่เป็นผู้ผลิตสินค้าที่มี ผลภายนอก หรือ Externality อันเนื่องจากข่าวสารนั้นมีผลไม่เฉพาะต่อผู้รับข่าวสารแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีผลต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย ยิ่งในยุคของดิจิตอลที่ข่าวสารเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว อิทธิพลของสื่อจึงมีมากจนสามารถสร้างกระแสสังคมขึ้นมาได้โดยง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมฉาบฉวยที่ไม่สนใจรายละเอียดเพราะผู้รับข่าวสารมักง่ายหรือขาดความรู้เช่นสังคมไทย
การเข้ายึดกุมสื่อโดยทุนจึงกลายเป็นช่องทางที่ดีในการสร้าง/กลบข่าวหรือสร้าง/กลบกระแสแทนที่การรายงานข่าว “ดำเป็นขาว” “โกหกรายวัน” หรือ “พูดความจริงครึ่งเดียว” จึงสามารถทำให้คนส่วนหนึ่งหลงเชื่อไปได้ด้วยการสนับสนุนของสื่อที่บงการโดยทุนนั่นเอง
สังคมจะทำอย่างไรกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับทุนอันเนื่องมาจากการแสวงหากำไรที่ทำให้ Report กลายเป็น Propaganda จนคนในสังคมตัดสินใจผิดๆ เนื่องจากได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ในทางหนึ่งอาจทำได้โดยตัดตอนกำไรออกจากเป้าหมายของสื่อโดยยอมรับความด้อยประสิทธิภาพที่จะติดตามมา เช่น สื่อของรัฐที่สามารถทำงานโดยไม่มุ่งหวังกำไร แต่ก็หนีปัญหาทุนไม่พ้นหากทุนสามารถเข้ามายึดรัฐได้ หรือในอีกทางหนึ่งด้วยการจัดตั้งองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร เช่น NHK หรือ BBC หรือ ThaiPBS เข้ามาเป็นตัวถ่วงดุลในการเสนอข่าวสู่มวลชนกับธุรกิจสื่อที่มุ่งหากำไร แต่ก็ยังไม่แก้ปัญหาเนื่องมาจากทุนและอำนาจในการหารายได้เพื่อมาดำเนินการขององค์กรเหล่านี้ต่างก็มีที่มาจากรัฐที่อาจพลิกผันเปลี่ยนแปลงได้โดยข้ออ้างนโยบายรัฐ
หากจะอ้างอิงตัวแบบของสื่อประชาชน เช่น ASTV T-News หรือสื่อค่ายทักษิณ ที่อ้างว่าตนเองเป็นอยู่นั้นก็ยังมิใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะการเป็นสื่อของประชาชนก็หมายถึงจะต้องอยู่ได้โดยไม่พึ่งโฆษณาหรือให้เจ้าของทุนมากำหนดนโยบาย แต่จากข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏทั้ง ASTV T-News หรือสื่อค่ายทักษิณ ต่างก็อยู่แบบลุ่มๆ ดอนๆ ต้องพึ่งพาโฆษณาดูดวง ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หรือแม้กระทั่งยาปลุกเซ็กซ์หรือจากการอุดหนุนจากนายทุนเพื่อความอยู่รอด
ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังอยู่ในช่วงการปรับตัวไปสู่ Media ประเภทอื่นๆ เช่น วิทยุหรือโทรทัศน์ จนสื่อไทยมีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนับสิบช่องพร้อมๆ กับช่องทางอินเทอร์เน็ตอีกนับไม่ถ้วนเพื่อยึดหัวหาดก่อนที่ กสทช. จะประกาศปิดรับการขึ้นทะเบียน
แต่จะมีใครสักคนคิดบ้างไหมว่าจะมีสักกี่รายช่องที่จะสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะล้นตลาดเช่นนี้เพราะคงไม่มีผู้เสพข่าวรายใดเปิดดูได้ครบทุกช่องเป็นแน่ นับเป็นการสูญเปล่าของทรัพยากรไทยเพื่อการนี้โดยแท้เพราะไหนจะค่าเช่าช่องดาวเทียมที่ไม่ใช่ของไทย ไหนจะค่าผลิตจัดทำรายการ และที่สำคัญจะมีเหลือรอดสักกี่รายการกี่ช่อง แต่เหตุที่เกิดมีขึ้นมากก็เพราะรายการเหล่านี้เข้าไม่ถึงช่องฟรีทีวีที่ถูกยึดไปโดยระบบสัมปทานของนายทุน
ประสบการณ์ฟรีทีวีญี่ปุ่นก็เช่นกัน จากเดิมส่งในระบบอนาล็อกที่มี 7 ช่องโดยที่เป็นของ NHK 2 ช่องส่วนที่เหลืออีก 5 ช่องมีสื่อสิ่งพิมพ์เป็นเจ้าของโดยรับสัมปทานจากรัฐและรัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของแม้แต่ช่องเดียว ได้เปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลทั้งหมดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้มีช่องของสื่อทีวีเพิ่มขึ้นผ่านระบบดาวเทียมอีก 7 ช่อง (ที่เจ้าเดิมได้ไปหมด) รวมเป็น 14 ช่องพร้อมกับทีวีท้องถิ่นที่แพร่ภาพเฉพาะพื้นที่อีก แต่ปรากฏว่าแต่ละช่องก็ยังไม่สามารถผลิตรายการเพื่อช่องทีวีใหม่ผ่านดาวเทียมของตนได้ดีเท่าเดิม บางช่องก็เอารายการเก่าที่ได้รับความนิยมมาฉายซ้ำ ขณะที่สัดส่วนคนดูต่อรายการก็จะลดลง แสดงถึงความสูญเปล่าเพียงเพื่อหวังการผูกขาดเท่านั้น
การเปิดเสรีด้วยจำนวนช่องหรือสถานีจึงมิใช่ทางออกที่ดีเสมอไป กสทช.ควรที่จะหันกลับมาทบทวนการผูกขาดด้วยสัมปทานรัฐของฟรีทีวีหรือไม่ แม้รัฐจะได้ค่าตอบแทน แต่ก็ไม่คุ้มกับการให้ใบอนุญาตผูกขาดที่เจ้าของสัมปทานสามารถนำไปทำกำไรหาประโยชน์อย่างเอาเปรียบกับสังคมมาเป็นเวลานานแล้ว กล่าวง่ายๆ คือ ประโยชน์ที่รัฐได้รับจากค่าสัมปทานผูกขาดมันน้อยกว่าความสูญเสียที่สังคมต้องจ่าย
การเวนคืนเวลาฟรีทีวีบางส่วนเพื่อนำมาให้ กสทช.เป็นผู้จัดสรรรายการโดยตรงแทนที่แต่ละช่องจะเป็นการตัดตอนการแสวงหากำไรและการพึ่งพาทุนของสื่อให้ลดลงได้ ขณะที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับรายการใหม่มากขึ้น
จำเป็นหรือที่สื่อรายใหม่จะต้องเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ที่สามารถออกรายการ 24 ชม.ต่อวันเพียงเพื่อที่จะหาโอกาสออกอากาศเผยแพร่รายการที่ตนทำเพียง 2 - 4 ชม.ต่อวัน ในขณะที่จำนวนคนดูต่อช่องหรือต่อรายการมีแนวโน้มลดลงอันเนื่องจากคนเท่าเดิมแต่ช่องมากขึ้น เหตุก็เพราะการผูกขาดของฟรีทีวีที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ
ดังนั้นการเวนคืนเวลาเพียง 4 ชม.ต่อวันหรือเพียง 1 ใน 6 ของเวลาจากช่อง 3 5 7 9 11 ที่ได้สัมปทานจากรัฐไปจะทำให้สังคมได้รายการ 1 ชม.ใหม่ถึง 20 รายการต่อวันหรือ 140 รายการต่อสัปดาห์ที่น่าจะมีคุณภาพดีกว่าเดิมเพราะสร้างสรรค์จากสมองคนอื่นอีก 20 คนที่ไม่ใช่เจ้าของสถานี นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาสื่อกับทุนแล้ว สังคมจะมีสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นเพราะประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น