คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (20) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (8 พฤษภาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (20) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (8 พฤษภาคม 2556)

 

นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (20)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

8 พฤษภาคม 2556




อะไรคือความเสียหายของประเทศ?



การไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายตามคำแนะนำเชิงสั่งการของรัฐมนตรีคลังกิตติรัตน์จนนำมาซึ่งความพยายามจะปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่าสำหรับกิตติรัตน์และวีรพงษ์



ข้ออ้างหลักก็คือ ดอกเบี้ยเป็นที่มาของเงินทุนไหลเข้าและก่อให้เกิดการแข็งค่า (Appreciation) ในเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญที่ไทยใช้ค้าขายอยู่คือดอลลาร์สหรัฐหรือเยน



อะไรคือความเสียหายต่อประเทศหากผู้ว่าฯ ธปท.ไม่ดำเนินการตามที่กิตติรัตน์และคู่หูอยากได้?



หากจะอ้างการแข็งค่าของเงินบาทเป็นความเสียหายกับผู้ส่งออกดูจะเป็นการพูดข้อเท็จจริงแต่เพียงด้านเดียวอันเป็นงานถนัดของ “อำมาตย์” ในรัฐบาลชุดนี้ อย่าลืมว่าผู้นำเข้าก็ได้ประโยชน์เช่นกัน จะประเมินอย่างไรจึงจะชี้ได้ว่าใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน



หากจะอ้างการขาดทุนของ ธปท.จากการเข้าแทรกแซงมิให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ถ้า ธปท.บอกว่าธุระไม่ใช่ก็สามารถทำได้ หากพยายามจะระลึกชาติเอาความผิดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อนก็ควรกลับไปอ่านแถลงการณ์เมื่อไทยประกาศออกจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 อีกครั้งดีไหมว่านับจากเวลานั้นไทยใช้ระบบอะไรในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน



ผู้ที่ต้องการให้ค่าเงินบาทคงที่และ/หรืออ่อนค่ากว่าที่ควรจะเป็น เช่น ผู้ส่งออก หรือสภาอุตสาหกรรม (สอท.) ควรจะเข้าใจเสียใหม่ว่าการเรียกร้องให้ ธปท.เข้ามาแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนนั้นเอาเปรียบคนในสังคมคนอื่นๆ อย่างเห็นแก่ตัวใช่หรือไม่



ประพฤติปฏิบัติในเรื่องนี้ที่ผ่านมาของกิตติรัตน์และคู่หูดูเหมือนจะแสดงให้สังคมได้รับรู้ว่าทั้ง 2 คนไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายการเงินสมฐานะและตำแหน่งที่ดำรงอยู่แต่อย่างใด



เป้าหมายหลักที่ ธปท.รับผิดชอบในปัจจุบัน คือ การรักษาเงินเฟ้อ เป็นสำคัญหาใช่เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนมิให้ผันผวนแต่เพียงอย่างเดียวไม่ เพราะ ธปท.เป็นผู้มีอำนาจในการสร้างเงินและเงินเฟ้อก็เกิดมาจากเงิน ผลเสียของเงินเฟ้อมีมากมายกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนทุกคนไม่เลือกหน้า ดังนั้นก็ชอบแล้วที่ ธปท.ควรจะทำหน้าที่นี้อันเป็นประโยชน์โดยตรงของประชาชนทุกคนซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าการรักษาเงินเฟ้อเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์



เครื่องมือด้านนโยบายที่สำคัญเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะระบบการเงินไทยพึ่งพาระบบธนาคารในการระดมเงินออมและปล่อยกู้



ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของปัจเจกชนที่จะปกป้องตัวเองเพราะขาดทุนหรือกำไรก็เป็นเรื่องที่คนอื่นไม่เกี่ยวข้อง ทำไมกิตติรัตน์และคู่หูไม่สนับสนุนให้ผู้ส่งออกหรือ สอท.ใช้ตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าคือสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าที่มีค่าธรรมเนียมแค่ 2 บาทต่อสัญญาในการปกป้องความเสี่ยงให้กับตนเอง แต่กลับไล่บี้ผู้ว่าฯ ธปท.ให้เข้ามารับผิดชอบแทนโดยใช้เงินของประชาชนทุกคน แปลกไหมเรื่องแค่นี้ทำไม คิดไม่ออก ไม่ได้คิด หรือคิดไม่เป็น?



ตัวตนผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดำเนินนโยบายการเงินด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคือกลุ่มบุคคล 7 คนที่เรียกว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เป็นคนนอก ธปท.ถึง 4 คน หาใช่ผู้ว่าฯ ธปท.แต่เพียงลำพังเหมือนอดีตที่ผ่านมาไม่



การจะปลดผู้ว่าฯ ธปท.จึงไม่ได้ทำให้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงหาก กนง.ไม่เห็นชอบด้วย แล้วจะดื้อดึงไล่บี้ปลดเขาเพื่อประโยชน์อันใด?



วิธีปลดผู้ว่าฯ ธปท.ไม่ยาก หากประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ กิตติรัตน์ในฐานะรมต.ก็เสนอให้ ครม.ปลดได้ หรือคณะกรรมการ ธปท.ที่มีวีรพงษ์เป็นประธานก็เสนอผ่านกิตติรัตน์ให้เสนอ ครม.ปลดได้อีกเช่นกันหากบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือหย่อนยานในความสามารถ



แต่ที่พร่ำเพ้อว่าอยากจะปลดอยู่ทุกวันแต่ไม่ทำก็เพราะการปลดดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้งเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นไปตามที่กล่าวข้างต้นหรือไม่ การขาดทุนในการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนหากจะมีจริงก็อยู่นอกขอบเขตหน้าที่ที่ผู้ว่าฯ ธปท.ต้องรับผิดชอบ



ทุกวันนี้ผู้ว่าฯ ธปท.รับผิดชอบเสถียรภาพด้านราคานั่นก็คือเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทุกปีต้องทำความตกลงร่วมกับกิตติรัตน์และเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อเดียวกับที่กิตติรัตน์เสนอ ครม.ให้เห็นชอบอนุมัติและประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาตาม ม.28/8 ของ พ.ร.บ.ธปท.2485 แก้ไขล่าสุด 2551 ต่างหาก ผู้ว่าฯ และธปท.ลอยตัวไม่รับผิดชอบต่อสภาฯ หรือประชาชนตรงที่ใด?



หากผู้ว่าฯ ธปท.พูดโกหกเหมือนเช่นที่ รมต.โกหกเรื่องเป้าส่งออกก็เข้าข่ายปลดได้แล้ว ทุกวันนี้ระหว่าง รมต.และคู่หูกับผู้ว่าฯ ธปท.ใครที่บกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือหย่อนยานในความสามารถมากกว่ากัน?



เรื่องนี้จึงคล้ายคลึงกับปาฐกถาด่าประเทศของนายกฯ ว่าทำไปเพื่ออะไร อะไรคือประโยชน์ของชาติ? รู้อยู่แล้วว่าพูดจาแบบนี้ต้องโดนคนในประเทศสอบถามวิพากษ์เพราะร้อยวันพันปีไม่เคยมีจุดยืนไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม แต่วันดีคืนดีออกมาด่ากระบวนการยุติธรรมประเทศตนเองให้ต่างชาติฟังโดยอ้างว่าเป็นอุทาหรณ์



การยกซึ่งตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เพื่อสนับสนุนคำพูดหรือแนวคิดของตนเองนั้นหากจะไม่ให้คนอื่นๆ วิพากษ์ว่าโกหกหรือพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวก็ต้องให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นประจักษ์เป็นข้อสรุปเสียก่อน รายงานข้อเท็จจริง คำพิพากษาของศาล หรืองานวิจัย จึงเป็นแหล่งที่มาของข้อเท็จจริงที่เป็นข้อสรุปที่ระบบหรือกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่สามารถจะให้ได้



ที่นายกฯ ไปพูดมานั้นมิได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เป็นประจักษ์แต่อย่างใด ทั้งจากคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินจำคุกพี่ชายตนเองด้วยข้อหาทุจริต หรือคำพิพากษาให้จำคุกคนเสื้อแดงที่ไปเผาศาลากลางจังหวัดในหลายจังหวัดซึ่งนายกฯ ก่อนเข้ารับตำแหน่งก็มีส่วนไปปลุกระดม หรือทำไปในทางตรงกันข้ามกับรายงาน คอป.ที่หาเสียงเอาไว้ว่าจะดำเนินการตามข้อสรุปที่ได้



ปาฐกถาในต่างประเทศที่ผ่านมา จึงเป็นการโหมโรงเพื่ออ้างกับต่างชาติให้รับรู้เพียงว่า หากมีคนคิดต่างกับรัฐบาลก็เป็นผู้ไม่หวังดี ความไม่สงบที่หากเกิดขึ้นก็มาจากผู้คิดต่างจากรัฐบาลชุดนี้



ทั้งๆ ที่นายกฯ คนนี้นอกจากจะหย่อนยานในความสามารถแล้วยังบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงไม่สมกับตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่ อย่าลืมว่าเป็นนายกฯ ของประเทศ มิใช่เป็นของคนเสื้อสีใดกลุ่มใด มิใช่เป็นนายกฯ รัฐบาลพลัดถิ่น หรือเป็นนายกฯ หุ่นเชิดตัวแทนของพี่ชายที่ต้องคอยแก้ตัวให้



ตำแหน่งนายกฯ นี้จึงไม่มีเพศสภาพ มีแต่หน้าที่ความรับผิดชอบที่จะเป็นนายกฯ ของคนทุกคน หากทำไม่ได้เพราะไร้ความสามารถก็ต้องออกไป



เป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงจากการไปจับประเด็นประท้วงเรื่อง “กะหรี่” ทั้งๆ ที่ความเสียหายที่แท้จริงคือ “การให้ร้ายต่อชาติ” อะไรคือความเสียหายต่อประเทศกันแน่?






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้