มายาคติของนิธิเรื่องจำนำข้าว
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
7 พฤศจิกายน 2555
เปลี่ยนประเทศด้วยการจำนำข้าวแพงคือการปฏิรูปสังคม
ใช่อคติและมายาคติของ “ซ้าย” ชื่อนิธิหริอไม่?
นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มติชนรายวัน 5 พ.ย.55) บอกว่าจะ “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว” เพื่อการปฏิรูปสังคม หากประเทศไทยจะขาดทุนไปบ้างสัก 100,000 ล้านบาทจากงบประมาณแผ่นดินหลายล้านล้านบาท เพื่อช่วยชาวนาซึ่งมีจำนวนประมาณร้อยละ 40 ของประเทศ “จะเป็นไรไปละครับ!!!”
ในความเห็นของนิธิ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้จึงเป็นผู้ที่มีจุดยืนจารีตนิยมที่รังเกียจรัฐสวัสดิการทุกรูปแบบเพราะเชื่อว่าจะทำให้คนขี้นเกียจซึ่งนิธิกล่าวถึงว่า “น่าสงสารเกินไป”
นิธิจึงคิดว่า “รัฐบาลต้องชัด(กว่านี้)ว่าโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงคือการปฏิรูปสังคม ไม่ใช่โครงการจำนำข้าวอย่างที่ผ่านมา . . .ต้องไม่ขาดทุน . . . ตรงกันข้ามเลยครับ รัฐบาลตั้งใจขาดทุนมาตั้งแต่ต้น”
ดูจากอุดมการณ์และจุดยืนที่เป็น “ซ้าย” รังเกียจเจ้าและชนชั้นกลางมาตลอดชีวิตเพราะชนชั้นกลางนิยมเจ้าก็คงบอกได้ว่าเป็นอคติและมายาคติของนิธิในเรื่องจำนำข้าวใช่หรือไม่?
การสนับสนุนช่วยเหลือ “คนจน ชนชั้นล่าง” ดูจะเป็นอุดมการณ์และจุดยืนที่ก้าวหน้าของ “ซ้าย” โดยทั่วไป แต่ก็เป็นจุดอ่อนทำให้วิธีคิดมีอคติไม่เป็นกลาง การสนับสนุนตามทัศนะของนิธิว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้ถูกต้องแล้วเพราะเป็นการช่วย “คนจน ชนชั้นล่าง” ด้วยการเอาเงินคนไทยทั้งรวยและจนไปช่วยซื้อข้าวราคาแพงเกินจริงที่ไม่รู้ว่า“คนจน ชนชั้นล่าง” ในชื่อ “ชาวนา” จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่นี้มีแต่จะนำตัวห่างออกจากโลกของความเป็นจริง
หากใช้สำนวนของนิธิก็ต้องบอกว่า อุดมการณ์และจุดยืนข้างต้นเช่นนี้ “น่าสงสารเกินไป” เช่นเดียวกัน
คิดในแบบนิธิ ตรรกะที่สำคัญที่เป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ (1) ชาวนา กับ “คนจน ชนชั้นล่าง” ร้อยละ 40 ของประเทศเป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือไม่ และ (2) โครงการจำนำข้าวในราคาสูงนี้จะช่วยพวกคนเหล่านี้และปฏิรูปสังคมเปลี่ยนประเทศไทยได้จริงหรือ?
นิธิบอกเองในข้อเขียนว่าชาวนาที่ดำรงชีวิตด้วยการปลูกข้าวและไม่มีรายได้นอกเหนือจากการทำนาแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน รายได้ส่วนใหญ่มาจากนอกภาคเกษตร ดังนั้นถ้าถือเอาเส้นความยากจน (poverty line) เป็นเครื่องชี้ ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน
ดังนั้นชาวนาที่ดำรงชีวิตด้วยการปลูกข้าวและไม่มีรายได้อื่นนอกเหนือจากการทำนา กับชาวนาที่มีอาชีพนอกภาคเกษตรเป็นหลักแต่ทำนาด้วยมือถือสั่งจ้างคนดำนาเกี่ยวข้าวย่อมแตกต่างกันในสถานะและจำนวนเป็นอย่างมาก การตีขลุมเอาง่ายๆ ว่าชาวนากับ “คนจน ชนชั้นล่าง” เป็นพวกเดียวกันที่มีเป็นจำนวนมากในสังคมมันเป็นแนวคิดที่ขาลอยไม่ติดดินใช่ไหม?
การอ้างว่า “ส่วนหนึ่งของชนชั้นนำไทยต้องการเก็บชาวนาไว้ภายใต้อุปถัมภ์ของตนตลอดไป” ดังนั้นด้วยโครงการจำนำข้าวราคาสูงของรัฐบาลนี้ “ย่อมมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนาด้วย” มันเกี่ยวข้องกันได้อย่างไรและจะทำได้อย่างไรในเมื่อชาวนาส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้เอาอาชีพทำนาเลี้ยงตนเองอีกต่อไปแล้ว เมื่อไม่รับซื้อในราคาแพงความเข้มแข็งของชาวนาจะเกิดได้หรือ หากทำได้จริงที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลนำเงินไปอุปถัมภ์นี้มันต่างกับการอุปถัมภ์ของชนชั้นนำที่นิธิอ้างตรงที่ใด เพียงการเปลี่ยนหน้าชนชั้นที่มาอุปถัมภ์เพื่อเก็บชาวนาไว้กับตนมันเปลี่ยนประเทศไทยปฏิรูปสังคมได้อย่างไร?
ในประเด็นต่อมา โครงการจำนำข้าวในราคาสูงนี้สามารถช่วยชาวนาที่มีอาชีพทำนาเลี้ยงตนเองหรือไม่? คำตอบจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาก็คือ ไม่ เพราะเลือกช่วยเฉพาะกลุ่ม ชาวนาที่เลี้ยงชีพด้วยการทำนาเป็นหลักจะมีข้าวเหลือไปจำนำน้อยกว่า เข้าถึงโครงการจำนำได้ยากกว่าและได้เงินจากการจำนำน้อยกว่าพวกที่ไม่ใช่
ผศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ รองคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่กล่าวว่า “ธ.ก.ส.รายงานการรับจำนำข้าวนาปรังล็อตแรก ชี้ให้เห็นว่าชาวนาที่เป็นคนจนจะกระจุกตัวอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานมาก แต่จำนวนเงินที่มาใช้ในภาคนี้มีสัดส่วนแค่ 14% ของเงินงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นจึงมีแค่ 14% ของเงินงบประมาณทั้งหมดที่ตกไปสู่กลุ่มพี่น้องที่ยากจนที่สุด ขณะที่เงิน 40% ไหลไปสู่ชาวนาในภาคเหนือ” คงไม่เกินจริงและขาลอยเท่ากับแนวคิดของนิธิ
ใครก็อยากเห็นคนจนในประเทศลดลง แต่วิธีการแก้ไขต่างหากที่ต้องทำแบบไม่สิ้นคิดเช่นโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงเช่นนี้ หากไม่เลิกโครงการนี้และทำติดต่อไปอีกสักสองสามปีตามที่นิธิกล่าวเอาไว้จะทำให้ชนชั้นกลางของสังคมไทยลดชั้นกลายเป็น “คนจน ชนชั้นล่าง” เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะคนเหล่านี้คือคนที่เสียภาษีที่จะมาใช้หนี้จากโครงการนี้ที่รัฐบาลนี้ก่อขึ้นมา ประเทศไทยจะเปลี่ยนแน่ๆ แต่ในทางตรงข้ามกับที่นิธิวาดฝันเอาไว้
หลัดคิดง่ายๆ ว่าโครงการนี้ทำไมจึงเป็นเรื่อ “การเมือง” ที่เอาไว้หาเสียงหลอกเอาคะแนนนิยม
หากจำนำในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเหมือนที่คนอื่นในอดีตทำมาโอกาสขาดทุนก็มีน้อยซึ่งหมายถึงว่าจะไม่ต้องไปกู้เงินหรือตั้งงบประมาณมาชดเชยผลขาดทุนจำนวนมโหฬารที่เกิดขึ้น และหากราคาตลาดสูงกว่าราคาจำนำชาวนาที่เอาข้าวมาจำนำเมื่อใดก็สามารถมาไถ่ถอนไปขายได้ประโยชน์อีกทอดหนึ่ง
แต่การจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 30-40 หรือประมาณ 3-4,000 บาทต่อตันก็คือการซื้อขาดเพราะโอกาสไถ่ถอนไม่มีและผลขาดทุนก็เป็นที่คาดการณ์ได้ แม้จะคิดด้วยตรรกะวิธีคิดของนิธิก็ไม่แตกต่าง เหตุที่ทำก็เพราะ “การเมือง” ต้องการหาเสียงโดยต้องการเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหม่กับชาวนา จะเพื่อหวังมาทดแทนคนเสื้อแดงที่อาจต้องแยกทางกันเดินต่อไปหรือไม่อนาคตเป็นเครื่องพิสูจน์ จะมีการทุจริตหรือไม่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
หลักของ Pareto เป็นสิ่งที่พิสูจน์เป็นเวลานานมากแล้วว่า (ก) การที่คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งต้องเสียประโยชน์จากการดำเนินนโยบาย สังคมจะไม่มีผลประโยชน์อะไรที่ดีขึ้นมาแต่อย่างใด (ข) สังคมจะได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิมหากดำเนินโยบายที่คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์แต่คนอื่นๆในสังคมไม่เสียประโยชน์
โครงการจำนำข้าวในราคาสูงจึงเข้าข่าย (ก) มากกว่า (ข) อย่างเห็นได้ชัดเจน พิสูจน์หลักของ Pareto ได้ง่ายๆ หากจะทำโครงการจำนำข้าวต่อไปแนะนำให้เอาเงินทักษิณ+นิธิมาทำ อย่าเอาเงินประชาชนมาทำดูซิว่าตนเองจะยอมเสียประโยชน์เพื่อประโยชน์ของคนอื่นๆ เช่น ชาวนาหรือไม่ หากพวกคุณยังไม่ทำ เหตุใดคนอื่นๆ ต้องทำ
จุดยืนของนิธิที่ไม่ชอบทั้งเจ้าและชนชั้นกลางก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่นิยม “ซ้าย” แต่การพยายามสร้างวาทะกรรมสนับสนุนการเปลี่ยนประเทศไทยด้วยการจำนำข้าวนั้นไม่ใช่การปฏิรูปสังคมในทางที่ถูกที่ควรแต่อย่างใด หากแต่เป็นการสร้างมายาคติให้กับสังคมให้มองเห็นผิดเป็นชอบโดยแท้