คมดาบซากุระ 2 : ปัญหาเรื่องเสียงข้างมาก โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (12 ธันวาคม 2555)

คมดาบซากุระ 2 : ปัญหาเรื่องเสียงข้างมาก โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (12 ธันวาคม 2555)



 
ปัญหาเรื่องเสียงข้างมาก

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย


12 ธันวาคม 2555





 
เสียงข้างมากมิใช่เสียงสวรรค์เสมอไป
ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเสียงข้างมาก



เกษียร เตชะพีระ (มติชนรายวัน 7 ธ.ค. 55) กล่าวถึงปัญหาของขวาไทยในปัจจุบันว่า “ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้ฝ่ายขวาไทยอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภา ถ้าพวกเขาปรับตัวยอมรับประชาธิปไตย” ซึ่งเกษียร ยังให้ความหมายของ “ประชาธิปไตย” เอาไว้ในมุมของเขาว่า “เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข” การปรับตัวยอมรับประชาธิปไตยของเขาจึงแปลว่า “(1) ปรับใจยอมรับว่าคนเราเท่ากัน และ (2) ปรับตัวยอมรับว่าถ้าอยากชนะก็ต้องหาเสียงข้างมากมาอยู่กับฝ่ายตัวให้ได้ . . .จบ” ดังนั้นจึงอาจกล่าวโดยสรุปง่ายๆ ได้ว่า “ประชาธิปไตย” ในมุมของเกษียรจึงขึ้นอยู่กับตัวเลขและจำนวนเป็นสำคัญ



ในบทความมีความคลุมเครือเป็นอย่างมากว่าใครเป็นขวาหรือซ้าย “ฝ่ายขวา” ที่เกษียรเรียกโดยข้อเท็จจริงจึงกลายเป็นพวกรักเจ้าไม่เอาทุนสามานย์ไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภาและกลายเป็นพวกล้าหลังไม่ก้าวหน้าเหมือน “ฝ่ายซ้าย” ของเกษียรที่รู้จักว่า “ประชาธิปไตย” ต้องเล่นด้วยเสียงข้างมาก ดังเช่น กลุ่ม นปช. หรือพรรครัฐบาลในปัจจุบัน ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วตั้งแต่คณะรัฐมนตรี จนถึงแกนนำ นปช.ล้วนเป็นนายทุนตั้งแต่หัวจรดหาง ในขณะที่ นปช.ก็ไม่เชื่อมั่นระบบรัฐสภาเช่นกัน เกษียรจึงทำความสับสนทำให้นายทุนกลายเป็นซ้ายและฝ่ายที่ต่อต้านนายทุนกลายเป็นขวา



ในเชิงแนวคิดทฤษฎี เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในทางเศรษฐศาสตร์มานานแล้วว่า มีข้อผิดพลาดและบกพร่องเป็นอย่างมากที่จะรวมเอาความชอบหรือพึงพอใจส่วนบุคคลมาเป็นความชอบหรือพึงพอใจของสังคมแล้วอ้างว่าเป็น “ประชามติ” ดังนั้นการอ้างเอาเสียงข้างมากมาเป็นเรื่องเดียวกับประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัว



คงต้องกล่าวอีกครั้งว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ปฏิบทการเลือกตั้ง หรือ Voting Paradox ที่สังคมจะไม่สามารถหาความพึงพอใจของสังคมได้จากการรวมเสียงข้างมากจากความชอบส่วนบุคคลจากหีบเลือกตั้งเพราะมีโอกาสเป็นอย่างมากที่สังคมจะไม่สามารถบอกได้ว่าชอบหรือพึงพอใจนโยบายจากพรรคใดมากกว่า (ดูบทความผู้เขียน ผู้จัดการออนไลน์ 29 พ.ย. 55)



ตัวเลขเสียงข้างมากจากหีบเลือกตั้งจึงไม่สามารถบอกได้ว่ารัฐบาลจะมีความชอบธรรมที่จะทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้หรืออะไรก็ได้จากเสียงข้างมากที่เลือก ส.ส.มาแต่อย่างใด



เงื่อนไขของการใช้เสียงข้างมากที่จะสามารถมาเป็นตัวแทนความพึงพอใจของสังคมจึงมีอยู่อย่างจำกัดขึ้นอยู่กับทางเลือกเป็น Single Peak ที่อาจหมายถึงความพอใจสูงสุดหนึ่งเดียวระหว่างสองทางเลือกหรือไม่ แต่ในข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มีพรรคหรือกลุ่มใดทั้งซ้ายหรือขวาเสนอทางเลือกที่เป็น Single Peak บ้างในสังคมไทยที่ผ่านมา



ระหว่างรถคันแรก จำนำข้าว ค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน มีนโยบายอะไรบ้างที่ถูกนำเสนอมาให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแสดงความพึงพอใจโดยเลือกเพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าจะทำหรือไม่และหากทำจะนำนโยบายใดมาทำก่อนหลังในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เห็นมีแต่นโยบายที่ไม่ได้หาเสียงเอาไว้ เช่น การล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือการล้างผิดให้ทักษิณเท่านั้นที่มีลำดับความสำคัญในลำดับแรกเหนือกว่านโยบายอื่นๆ ถึงขนาดขยายสมัยประชุมโดยไม่มีกำหนดปิด แต่ที่ไม่นำมาหาเสียงอย่างเป็นทางการและทำอย่างปกปิดซ่อนเร้นก็เพราะเกรงว่าจะไม่ได้เสียงข้างมากมาอยู่กับฝ่ายตัวใช่หรือไม่



ดังนั้นหากไม่นำเอานโยบายมาลำดับความสำคัญทีละคู่ให้ประชาชนเลือก เสียงสวรรค์ข้างมากจากหีบบัตรเลือกตั้งก็ไม่เกิด มิพักจะกล่าวถึงว่านโยบายที่เสนอมาเหล่านั้นว่าเป็นนโยบายสาธารณะ (Public Policy) จริงหรือไม่เพราะหากเป็นจริงก็ควรเกี่ยวข้องกับสินค้าสาธารณะ (Public Goods) การแทรกแซงตลาดข้าวหรือการออกกฎหมายล้างผิดให้คนเพียงคนเดียวนั้นอยากถามว่า ข้าว หรือกฎหมายปรองดอง หรือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนเพียงคนเดียวนั้น เป็นสินค้าสาธารณะดังเช่น การปราบปรามโจรสลัดหรือนำเอานักโทษหนีคำพิพากษาให้จำคุกมาลงโทษได้อย่างไร



หรือหากจะมีมายาคติดังเช่น นิธิ ที่เห็นว่านโยบายจำนำข้าวเป็นการเปลี่ยนประเทศไทยเพราะจะทำให้มีการกระจายรายได้ที่ดีกว่าเดิมให้เกิดขึ้นในสังคมโดยผลประโยชน์จะตกอยู่กับชนชั้นล่างเช่นชาวนาโดยขอให้คนกลุ่มอื่นๆ เสียสละไม่ต้องแบกเรือขึ้นภูเขาไปส่งทักษิณ ก็ขอให้ดูตัวอย่างข้างล่างนี้ก่อน


























จะเห็นได้ว่าจำนวนภาษีในตารางเพื่อจะนำมาใช้ในนโยบายกระจายรายได้ เช่น การจำนำข้าว มาจากทุกกลุ่มในสังคม หากภาระภาษีในแต่ละกลุ่มคนเป็นประเด็นที่ถูกนำมาตัดสินเชิงนโยบายด้วยเสียงข้างมาก โครงสร้างภาษีตามนโยบาย ก. คือร้อยละ 20 ของรายได้ที่เท่ากันทุกกลุ่มจะเป็นที่พึงพอใจกับกลุ่มคนชั้นกลางและคนรวยเพราะรับภาระไม่แตกต่างกับกลุ่มคนที่จนกว่า ในขณะที่กลุ่มคนจนจะต่อต้านไม่พอใจเนื่องจากต้องจ่ายภาษีเท่ากับกลุ่มคนที่รวยกว่า แต่หากเลือกนโยบาย ข. กลุ่มคนจนและคนชั้นกลางจะพึงพอใจเพราะคนกลุ่มตนเองรับภาระน้อยกว่าเดิมขณะที่กลุ่มคนรวยรับภาระเสียภาษีในสัดส่วนที่มากกว่า หากเปรียบเทียบระหว่าง 2 ทางเลือก ก. และ ข. เสียงข้างมากจะเลือกนโยบาย ข. เพราะกลุ่มคนจนและคนชั้นกลางจะสนับสนุนเพราะพึงพอใจในนโยบายนี้



แต่หากกลุ่มคนรวยที่ต้องรับภาระภาษีสูงกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมจากนโยบาย ข. เสนอกับกลุ่มคนจนว่าในเมื่อกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือมากกว่า ดังนั้นจึงสมควรจ่ายภาษีน้อยลงกว่านโยบาย ข. จากร้อยละ 17 มาเป็น 16 ภาษีที่ขาดหายไปจะไปเพิ่มที่กลุ่มคนชั้นกลางแทนจากร้อยละ 18 มาเป็น 22 กลุ่มคนรวยที่โดยส่วนใหญ่ในสังคมแม้จะมีจำนวนน้อยที่สุดในสังคมจึงได้เสียงข้างมากในนโยบาย ค. ที่ตนเองรับภาระภาษีน้อยกว่าทางเลือกนโยบาย ข. เพราะมีกลุ่มคนจนที่โดยทั่วไปจะมีจำนวนมากที่สุดมาเป็นพวก ทิ้งให้กลุ่มคนชั้นกลางรับภาระมากกว่าเดิม (ร้อยละ 22)



ประชาธิปไตยโดยเสียงข้างมากจึงมีข้อบกพร่องไม่สามารถหาทางออกให้สังคมให้มีความพึงพอใจโดยถ้วนหน้าได้ ในที่สุดก็อาจจะมีคนเสนอให้กลับมาใช้นโยบาย ก. เหมือนเดิมด้วยเสียงข้างมาก กลุ่มคนจนก็จะเสียเปรียบอีกครั้งหนึ่งด้วยเสียงข้างมาก มิพักจะกล่าวถึงข้อเท็จจริงว่า ส.ส.ได้แสดงตนเป็นตัวแทนของประชาชนหรือไม่ หรือพรรคการเมืองในประเทศไทยเป็น “พรรคการเมือง” ในความหมายที่แท้จริงหรือไม่



นักรัฐศาสตร์ก็เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์ที่อาจจะหลงลืมประเด็นพื้นฐานเรื่อง ความต้องการสังคม หรือ Social/Collective Choice ว่าไม่สามารถหามาได้โดยง่ายจากการรวมความพึงพอใจส่วนบุคคลมาเป็นเสียงข้างมากของสังคมจากหีบบัตรเลือกตั้ง การจัดทำนโยบายสาธารณะโดยทึกทักอ้างว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้เสียงข้างมากจึงมิได้เป็นทางเลือกที่แท้จริงของสังคมแต่อย่างใด การอ้างประชาธิปไตยด้วยจำนวนจึงเป็นเรื่องที่ทำให้สังคมหลงผิดโดยแท้



ปัญหาของขวาไทยที่เกษียรเรียกซึ่งโดยข้อเท็จจริงน่าจะเป็นกลุ่มเสียงข้างมากที่อยู่ตรงข้ามระบอบทักษิณที่ประกอบด้วยซ้ายและขวามากกว่าที่จะเป็น “ฝ่ายขวา” จึงมิใช่เสียงข้างน้อยที่เล่นการเมืองในระบอบรัฐสภาไม่เป็นตามที่เกษียรวิพากษ์กล่าวหา หากแต่เป็นเรื่องการอ้างอิงใช้เสียงข้างมากอย่างผิดๆ ต่างหากที่เป็นปัญหาพื้นฐานของประชาธิปไตยในบ้านเรา เรื่องของเสียงข้างมากอยู่คู่กับเสียงข้างน้อยเสมอ แต่การเอาจำนวนเสียงข้างมากมาชี้ขาดแต่เพียงอย่างเดียว เอะอะอะไรก็จะโหวตเอาเสียงข้างมากมาเป็นเครื่องตัดสิน “ความถูกต้อง” ไม่ต้องสนใจเหตุผลเพราะคิดว่าฝ่ายตนเองได้เปรียบจึงเป็นบ่อเกิดของปัญหาที่แท้จริง



ดูตัวอย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งผ่านมาก็ได้ว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้ใคร่ครวญใช้วิจารณญาณเอาประโยชน์ของชาติอยู่เหนือพรรคหรือไม่ในการยกมือสนับสนุน หรือการละเลยของรัฐบาลที่ไม่เคารพคำตัดสินของศาลฯ ไม่ประกาศเป็นนโยบายหรือดำเนินการโดยชัดแจ้งว่าจะนำตัวทักษิณกลับมาลงโทษ หรือการมีนโยบายซ่อนเร้นละเลยเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตาม ม.112 ของรัฐบาลปัจจุบันตามที่สังคมกล่าวหา นี่จึงเป็นเหตุให้กลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามระบอบทักษิณที่ถูกหาว่าเป็นเสียงข้างน้อยต่างๆ ต้องเข้าหาองค์กรอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายสาธารณะโดยตรง เช่น การฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการจำนำข้าว



เกษียรจึงมองผิดไปว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ข้างต้นทำให้ระบบปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว ทั้งๆ ที่ที่ผิดฝาผิดตัวที่แท้จริงก็คือการใช้เสียงข้างมากในทางที่ผิดต่างหาก



Single Peak ที่เคยเกิดแล้วก็คือการทำประชามติรับ/ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและที่จะเกิดและสามารถใช้เสียงข้างมากมาเป็นความต้องการของสังคมได้ในอนาคตก็คือ เมื่อทักษิณกลับมาไทยได้อย่างเท่ๆ นั่นแหละ







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้