คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (17) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (17 เมษายน 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (17) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (17 เมษายน 2556)



นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (17)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

17 เมษายน 2556



 
ไม่ต้องดูดวงเมืองก็รู้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดวงแตก
เงินทุนไหลเข้าออกจะเป็นปัจจัยชี้ขาด



อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทกับเงินสกุลอื่นๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หรือ เยน กำลังแข็งค่า หรือ Appreciate มากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและอาจเข้าใกล้อัตราแลกเปลี่ยนก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ก็มีความเป็นไปได้ในไม่ช้า



การแข็งค่าที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการเกินดุลการค้าแต่เพียงลำพัง ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาแม้จะเกินดุลการค้า แต่ดุลบริการปรากฏว่าขาดดุลอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมาทุกปีจนทำให้ในบางปีการเกินดุลการค้าไม่เพียงพอที่จะรองรับการขาดดุลบริการที่เกิดขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นการรวมเอาดุลการค้าและดุลบริการเข้ามาด้วยกันขาดดุลอันเป็นผลจากดุลการบริการที่ขาดดุล สรุปง่ายๆ ได้ว่าสถานการณ์การค้าต่างประเทศจึงอยู่ในสภาพลูกผีลูกคน



ในยุคที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยเสรี มีความเข้าใจผิดอยู่เสมอๆ ว่า ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีความสัมพันธ์ตามดุลบัญชีเดินสะพัดเพื่อทำให้ดุลการชำระเงินสมดุลหรือเท่ากับศูนย์ กล่าวคือเมื่อเกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะต้องมีเงินทุนไหลเข้าเท่ากับยอดการขาดดุลดังกล่าวเพื่อทำให้ดุลการชำระเงินได้ดุลและเป็นไปในทางตรงกันข้ามเมื่อเกิดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด



แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วมักเป็นไปในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมักจะหาผู้ให้กู้ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีเงินทุนไหลเข้าเพื่อชดเชยการขาดดุลดังกล่าวจนต้องพบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะมีเงินทุนไหลเข้าทั้งๆ ที่ไม่เป็นที่ต้องการ ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงมิได้เป็นเหตุอีกต่อไปที่ทำให้ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงตาม



ดุลการชำระเงินจึงอยู่ในภาวะที่ไม่ได้ดุลมากกว่าสมดุลอยู่อย่างสม่ำเสมออันเนื่องมาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเป็นปัจจัยต้นเหตุที่สำคัญ



เงินทุนเคลื่อนย้ายนี้แหละที่มีบทบาทสำคัญทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นอย่างมากในระยะหลังๆ เนื่องจากเป็นเงินตราต่างประเทศซึ่งต้องมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเสียก่อนจึงจะนำไปทำธุรกรรมอื่นๆ ต่อไปได้ ความต้องการเงินบาทจึงมีมากจากอะไรที่มีความต้องการมากก็ย่อมจะมี “ราคาแพงขึ้น” หรือ แข็งค่าขึ้นมานั่นเอง ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่ติดตามมาด้วยก็คือเงินเฟ้อเพราะมีเงินบาทเพิ่มเข้ามามากขึ้นจากเงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ



นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมา จึงตอบสนองต่อการแข็งค่าเงินบาทด้วยการ “ทำหมันเงิน” หรือ Sterilization เงินทุนที่ไหลบ่าเข้ามาเพื่อมิให้เงินท่วมตลาดจนเกิดเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้







ตัวเลขเงินยืมสถาบันการเงินที่แสดงถึงสถานะ ธปท.ในการเป็นเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ในระบบที่รับเงินทุนไหลเข้ามาจากต่างประเทศในปี พ.ศ. 2545หรือเป็นลูกหนี้จากปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมาในตารางที่ 1 จึงแสดงถึงการดำเนินนโยบายการเงินในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาว่ามีการ “ทำหมันเงิน” เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยการควบคุมการเพิ่มขึ้นของฐานเงินให้แตกต่างไปจากการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างชัดเจน



กล่าวง่ายๆ ก็คือ ธปท.ยินยอมให้ฐานเงินหรือ Monetary Base เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าเศษจากปี พ.ศ. 2545-55 แม้ว่าจะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 3.5 เท่าในห้วงระยะเวลาเดียวกัน มิเช่นนั้นแล้วปริมาณเงินบาทในระบบจะต้องเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.5 เท่าจากที่เป็นอยู่



แม้ว่าจะยินยอม “กลืนเลือด” ด้วยการยอมเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินด้วยการขายหลักทรัพย์ให้เพื่อดูดซับเอาเงินออกมาจากระบบเพื่อมิให้เกิดเงินเฟ้อ แต่ก็มีต้นทุนจากการเป็นหนี้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเรื่อยๆ ประเด็นสำคัญก็คือ ธปท.จะดำเนินนโยบายเช่นนี้ไปได้อีกนานเท่าใด



ผู้ร้ายตัวสำคัญคือ เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมิใช่ใครอื่นใด หาใช่อัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่เพียงลำพังก็หาไม่ อย่าสับสนกับสิ่งที่กิตติรัตน์หรือวีรพงษ์เรียกร้องในปัจจุบัน คิดว่าลดอัตราดอกเบี้ยแล้วเงินทุนจะไม่ไหลเข้ามาในประเทศเช่นนั้นหรือ? ดูข้อมูลเสียก่อนกิตติรัตน์ หากจะเถียง เงินทุนไหลเข้ามันสนองตอบต่ออัตราดอกเบี้ยมากน้อยเพียงใด



ธปท.มีทางเลือกแต่ก็ไม่มากนักในการจัดการเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศที่ก่อให้เกิดต้นทุนกับประเทศไทยอย่างมหาศาล การฝืนดำเนินนโยบายเช่นนี้ต่อไปจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างน้อย 3 ประการคือ



1. ภาวะฟองสบู่ที่เกิดขึ้นทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และคอนโดฯ เป็นผลโดยตรงจากการคาดคะเนในราคาหลักทรัพย์ว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือคาดคะเนเงินเฟ้อในอนาคตที่จะเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ทำให้คนมองว่า “การซื้อวันนี้จึงดีกว่าซื้อพรุ่งนี้ (เพราะถูกกว่า)” ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนก็คือการสนับสนุนของรัฐบาลให้ประชาชนใช้จ่ายและสภาพคล่องที่มีท่วมตลาด แม้ว่า ธปท.จะดูออกไปแล้วบ้างก็ตามแต่ก็ยังมีมากเกินความต้องการอยู่ดี ผลลัพธ์เมื่อฟองสบู่แตกเมื่อพ้นน้ำจะเป็นอย่างไรไม่ต้องกล่าวเพราะวิบัติเมื่อปี พ.ศ. 2540 เพิ่งผ่านพ้นไปเพียงทศวรรษเดียวแผลยังเพิ่งปิดไปหมาดๆ


2. การแข็งค่าของเงินบาท ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมากมักถูกนำมาเป็นภาพลวงตาหรือส่งสัญญาณที่ผิดว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะที่ดีอยู่เสมอมาไม่เว้นแม้แต่ปัจจุบัน ข้อเท็จจริงที่มักประสบพบในภายหลังเมื่อวิบัติแล้วก็คือ จำนวนเงินทุนสำรองฯ ที่มีอยู่นั้นเป็นของเราเองน้อยกว่าที่เห็น หากอนุมานจากตัวเลขในตารางข้างต้นว่าเงินทุนไหลเข้ามีมากกว่าหรืออย่างน้อยเท่ากับเงินที่ ธปท.สูบออกมา ดังนั้น เงินทุนสำรองฯ จำนวน 5.56 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา จะมีที่เป็นของไทยเพียง 1.72 ล้านล้านบาทเท่านั้น (5.56 - 3.84) เงินบาทที่แข็งค่าหรือราคาหุ้นที่เพิ่มสูงในวันนี้ก็อาจอ่อนค่าและลดลงอย่างรวดเร็วได้โดยง่ายในอนาคตเมื่อเงินทุนไหลออกไป


ทุกคนคิดลึกๆ ในใจว่าข้าแน่หนีได้ทันทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่จะหนีทันหรือ หุ้นตก 10% ก็ปลอบใจว่าพรุ่งนี้ก็อาจขึ้นกลับมาใหม่ หุ้นตกต่อเป็น 20% ก็บอกว่าไม่ขายก็ไม่ขาดทุน หุ้นเหลือมูลค่าเพียงครึ่งเดียวก็เก็บไว้ให้ลูกหรือเอาใบหุ้นแปะฝาบ้านก็ได้ ประสบการณ์ของคนที่ถูกหลอกให้ซื้อทองเก็บเอาไว้เก็งกำไรจากกูรูต่างๆ เป็นข้อเตือนใจที่ดี จาก 24,000-26,000 บาทต่อ 15.2 กรัมเหลือเพียงประมาณ 18,000 บาทเท่านั้นในปัจจุบัน


3. ที่สำคัญมากกว่าก็คือรัฐบาลนี้กำลังพาประเทศเดินไปในทิศทางที่สุ่มเสี่ยงเป็น Risk Lover อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มิได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์ หรือ Risk Averter แต่อย่างใด การก่อและซุกหนี้สาธารณะ การสนับสนุนประชาชนในบริโภคใช้จ่ายเงินเกินตัวด้วยนโยบายประชานิยม ทั้งหมดล้วนเพิ่มความเสี่ยงและสร้างเงื่อนไขพันธนาการประเทศในทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลนี้สร้างขึ้นมาเองมากขึ้นทุกขณะ นั่นก็หมายความว่าประเทศไทยจะมีช่องว่างเหลือเอาไว้รองรับความผันผวนหรือปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาได้น้อยลงทุกขณะ



นับต่อจากนี้ไปความผันผวนในเงินทุนไหลเข้าออกจึงเป็นปัจจัยชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจประเทศไทยโดยแท้ ไม่ต้องดูดวงเมืองก็รู้ ธปท.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ชัดว่า การตัดสินใจว่าจะไม่ตัดสินใจก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่น่าเลือกเป็นอย่างยิ่ง




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้