“นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
19 ธันวาคม 2555
ของขวัญปีใหม่“รถคันแรก” จะเป็น “นรก”
สำหรับคนชั้นกลางล่างและคนไทยโดยถ้วนหน้า
ทุกวันนี้สื่อฯ ชอบเสนอเอาแต่ความเห็น ละเลยข้อเท็จจริง สื่อฯ จึงเสนอความเห็น(ตนเอง)มากกว่าข้อเท็จจริงให้ประชาชน การตัดสินใจจึงเบี่ยงเบนผิดไปจากที่ควรจะเป็น
นโยบายประชานิยมรถคันแรกก็เป็นอีกหนึ่งในนโยบายหนึ่งที่มีแต่ความเห็นแต่ขาดซึ่งข้อเท็จจริง และกำลังออกฤทธิ์ เอาใจคนบางกลุ่มบางพวกโดยอ้างว่าเป็น “คนส่วนใหญ่” โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศในระยะยาวแต่อย่างใด
กลุ่มเป้าหมายหลักของนโยบายนี้จึงน่าจะอยู่ที่กลุ่มคนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง หากใช้ข้อมูลปี 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะพบว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 23,236 บาทต่อเดือน ในขณะที่ครัวเรือนเดียวกันนี้จะมีรายจ่ายเฉลี่ย 17,403 บาทต่อเดือนและมีหนี้สินเฉลี่ย 241,760 บาทต่อครัวเรือน
มองในภาพรวมเสียก่อนจะพบว่า ถนนเป็นสินค้ากึ่งสินค้าสาธารณะเพราะหากมีผู้ใช้ถนนไม่เกินความสามารถที่ถนนจะรองรับโดยไม่เกิด “รถติด” ได้ การแย่งกันบริโภคใช้ถนนก็ไม่มีและการกีดกันมิให้ผู้อื่นมาบริโภคก็ไม่เกิด
เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าสาธารณะอื่นๆ เช่น การป้องกันประเทศ ถนนจึงมีสถานะของความเป็นสินค้าสาธารณะที่ก้ำกึ่งมากกว่าเพราะการได้ประโยชน์จากการป้องกันประเทศนั้นได้เท่าเทียมกันทุกคนไม่ต้องแย่งกันบริโภคในขณะที่การกีดกันมิให้ใครผู้ใดผู้หนึ่งไม่ให้ได้รับบริการนี้ทำได้ยาก ในขณะที่ถนนหากสภาพ “รถติด” ไม่เกิดก็เป็นเช่นเดียวกัน
ในแง่การผลิต เอกชนจึงไม่สามารถเป็นผู้ผลิตสินค้าสาธารณะได้เหมือนเช่นสินค้าอื่นๆ โดยทั่วไปเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตให้ผู้บริโภคอีก 1 คนหรือมากกว่าได้ใช้หรือได้ประโยชน์จากการป้องกันประเทศที่มีอยู่แล้วมีน้อยมากขณะที่ไม่สามารถกีดกันผู้ที่ไม่จ่ายเงินค่าบริการป้องกันประเทศมิให้ได้ประโยชน์ได้ กล่าวง่ายๆ ก็คือเมื่อมีการป้องกันประเทศเกิดขึ้นแล้วประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์จะแยกเป็นประชาชนในเขตจังหวัดชายแดนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์นั้นหาได้ไม่ ประชาชนในเขตจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศก็ได้ประโยชน์นี้เช่นกันแต่อาจจะแกล้งปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้ประโยชน์เพื่อที่จะไม่ต้องร่วมจ่ายค่าใช้จ่ายป้องกันประเทศที่เกิดขึ้น ทุกคนจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นพวก “แอบนั่งฟรี” หรือ Free Rider
รัฐจึงมีหน้าที่เข้ามาแก้ไขปัญหาการ “แอบนั่งฟรี” หรือ Free Rider ข้างต้นด้วยการเป็นผู้บังคับจัดเก็บค่าใช้จ่ายด้วยการเก็บภาษีตามอำนาจที่ตนเองมีเพื่อนำไปผลิตสินค้าสาธารณะเสียเองอันจะนำไปสู่ประโยชน์โดยรวมของสังคม หากไม่ทำก็จะไม่มีใครผลิตสินค้าสาธารณะ เช่น การป้องกันประเทศ หรือการต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีใครยอมจ่ายโดยสมัครใจ
ในทางกลับกัน สินค้าปกติอื่นๆ ที่มิใช่สินค้าสาธารณะ เช่น การค้าขายข้าว รัฐก็ไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวเพราะเอกชนสามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าเพราะกลไกตลาดสามารถทำงานได้ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของรัฐจึงถูกกำหนดขึ้นมาได้ด้วยเหตุผลดังกล่าว หาได้สามารถทำตามอำเภอใจแต่อย่างใดไม่
นโยบายรถคันแรกทำให้อุปสงค์หรือความต้องการของจำนวนเที่ยวที่รถจะมาใช้วิ่งบนท้องถนนเพิ่มขึ้นตามลูกศรในรูปที่ชี้ออกมา หากไม่คิดราคาค่าใช้ถนนดังที่เป็นอยู่ ความต้องการใช้ถนนวิ่งของรถที่มีอยู่จะอยู่ที่ T0 เที่ยวซึ่งหากยังไม่เกินความสามารถที่ถนนที่มีอยู่ (Tm) จะรองรับให้วิ่งได้โดยไม่ติดขัด ความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อสวัสดิการสังคม หรือ Welfare Loss ก็ยังไม่เกิด แต่การเพิ่มขึ้นของรถจะทำให้อุปสงค์เพิ่มเป็นที่ T2 ซึ่งมีจำนวนเที่ยวเกินกว่าถนนจะรองรับได้ ดังนั้นแม้จะไม่มีการเก็บเงินค่าใช้รถบนถนนทั่วไปแต่ราคาที่ผู้ใช้รถต้องจ่ายก็จะมีเพิ่มขึ้นถึง P อันเนื่องมาจากสภาพการจราจรที่แออัดเกินความสามารถที่ถนนที่มีอยู่
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อสวัสดิการสังคมจากนโยบายรถคันแรกที่ส่งเสริมให้คนมีรถส่วนตัวจึงเกิดขึ้นจากจำนวนเที่ยวที่รถไม่สามารถวิ่งเพิ่มได้เมื่อไม่เก็บเงินคือ Tm - T2 คูณกับราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มคือ P (จากศูนย์เพิ่มไปสู่ P) อันเนื่องมาจากสูญเสียทั้ง น้ำมัน เวลา และสุขภาพ ของคนทุกคนในสังคมซึ่งก็จะเท่ากับพื้นที่รูปสามเหลี่ยมที่เขียนเอาไว้นั่นเอง
หากจะบอกว่าประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการรถยนต์คันแรก ทั้งในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถยนต์คันแรกตามสติปัญญาของรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้อยู่นั้นก็ขอให้คิดดูดีๆ
ประเด็นก็คือ รายได้ประชาชาติ หรือ GDP นั้นแม้จะเพิ่มขึ้นจากมูลค่าเพิ่มในการผลิตรถยนต์ก็ตาม แต่ภาษีที่รัฐเก็บได้นั้นเป็นแค่เงินโอนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ยังมีส่วนมูลค่าที่เป็นลบที่ GDP ไม่ได้นับรวมเข้าไว้เนื่องจากภาครัฐไม่คำนึงคือ ผลเสียในด้านสิ่งแวดล้อม น้ำมัน เวลา และสุขภาพ ที่น่าจะมีมูลค่ามากกว่าส่วนที่เพิ่มจากการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาวตราบเท่าที่ยังมีรถสะสมอยู่ จำนวนรถที่มีสะสมบนท้องถนนมากขึ้นเท่าใด ขีดจำกัดของถนนในกทม.ที่จะมารองรับรถก็จะมีน้อยลงเท่านั้น
โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จำนวนรถสะสมในกทม.ก็มีมากกว่าความสามารถของถนนมาตั้งนานแล้ว เส้นตั้งฉากกับแกนนอน Tm ที่แสดงความจุของถนนจึงน่าจะอยู่ใกล้จุดกำเนิดมากกว่าในรูปและมีผลทำให้ความสูญเสียจากสวัสดิการสังคมเพิ่มอันเนื่องจากพื้นที่สามเหลี่ยมแห่งความสูญเสียจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อ Tm ขยับไปทางด้านซ้ายมือดังแสดงโดยเส้นประ
ในภาพย่อยที่เล็กลงมาในระดับครัวเรือน ราคารถที่คืนภาษีที่ถูกที่สุดประมาณ 400,000 บาท เงินผ่อนถูกที่สุด(72 เดือน)ก็จะตกประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน เงินภาษีที่คืนส่วนใหญ่จะต่ำกว่าเงินดาวน์ หากรวมค่าใช้รถที่ประกอบด้วยค่าเชื้อเพลิงและอื่นๆ อีกประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายในรถคันแรกก็ไม่หนี 10,000 บาทต่อเดือน เมื่อนำไปรวมกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนปี 2554 ที่มีอยู่แล้วที่ 17,403 บาทต่อเดือนแล้วก็จะเกินรายได้ที่มีไปอีกประมาณ 4,000 บาทเศษ หรือหากคิดเป็นร้อยละของรายได้ก็จะประมาณเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียวซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก
ดังนั้น นโยบายนี้จึงไม่แตกต่างไปจากนโยบายอื่นๆ ที่ “ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ” แต่อย่างใดเพราะเป็นนโยบาย “สิ้นคิด” อีกนโยบายหนึ่งไม่แพ้การจำนำข้าวที่ยอมทำลายระบบเพื่อเป้าหมายส่วนตน เปรียบได้กับฆ่าแม่เพื่อเอาลูก หรือยอมโค่นต้นเพื่อเอาผล หากมีรถเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคันในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจากนโยบายรถคันแรกและครึ่งหนึ่งอยู่ในกทม. ก็บอกได้อย่างเดียวว่าของขวัญที่ ซานต้า “ปู” และ ซาตาน “แม้ว” ให้กับคนไทยอื่นๆ ทั้งประเทศก็คือ วิกฤตผู้กู้ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือ Sub-Prime Borrower Crisis ที่จะเกิดกับกลุ่มคนชั้นกลางล่าง
“นรก” Which is not Santa is Coming to Town . . . SOON! Merry Christmas and Happy New Debt! โฮ โฮ โฮ