คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (10) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (27 กุมภาพันธ์ 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (10) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (27 กุมภาพันธ์ 2556)


นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (10)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

27 กุมภาพันธ์ 2556




นโยบายประชานิยมกำลังผลิดอกออกผล
ให้เห็นเป็นประจักษ์ที่หนี้เสียของธนาคารรัฐที่เบ่งบาน



“ผมเบื่อ เบื่อ เบื่อที่จะพูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว เคยบอกไปแล้วว่าเงินฝากของไอแบงก์จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลแน่นอน”นายกิตติรัตน์กล่าวออกมา “อุ้ม” นายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ไม่รู้เรื่องและไม่สามารถรับผิดชอบอะไรได้จากที่กล่าวก่อนหน้าว่า ธนาคารอิสลาม (ธอท.) หรือไอแบงก์ก็จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากจาก พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ทั้งๆ ที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของ พ.ร.บ.ดังกล่าว



มิใช่นายกิตติรัตน์คนเดียวที่เบื่อ แต่ประชาชนที่ได้ฟังเรื่องนี้จากปากของผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงไม่ว่าจะเป็นนายกิตติรัตน์หรือยิ่งลักษณ์ก็เบื่อเช่นกัน แต่เป็นความเบื่อที่เห็นนายกฯ และรัฐมนตรีคลังพยายามจะพาเศรษฐกิจของชาติไปสู่ทิศทางของความหายนะต่างหาก



สถาบันการเงินของรัฐที่รับฝากและปล่อยกู้ที่เรียกว่าธนาคารนั้นในปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25-30 ของการปล่อยกู้หรือการรับฝากเงิน ที่ใหญ่ที่สุดก็คือ ธนาคารกรุงไทย ตามมาด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจฯ (ธพว.) และธนาคารอิสลาม



แต่ใช่ว่าธนาคารรัฐจะได้รับการคุ้มครองเงินฝาก หากไม่ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาให้เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายและจ่าย “เงินสมทบ” เพื่อให้เงินฝากได้รับการคุ้มครองเงินฝากเหมือนอย่างที่ธนาคารเอกชนถูกรัฐบาลบังคับให้จ่าย จะมีเพียงบางธนาคารรัฐเท่านั้นที่เงินฝากได้รับการคุ้มครอง แต่มิใช่ ธพว.หรือ ธอท.อย่างแน่นอน



หากคิดตามกิตติรัตน์ รัฐบาลคุ้มครองหรือเป็นประกันในธนาคารรัฐมันเสียหายตรงที่ใด? มันน่าจะคุ้มครองได้ดีกว่าเสียด้วยซ้ำ คำตอบน่าจะอยู่ที่มันเป็นธุระอะไรของรัฐบาลที่เข้าไปดำเนินงานกิจการประเภทนี้แข่งขันกับเอกชน หากมิใช่มุ่งเป้าเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ



การเข้ามาทำธุรกิจธนาคารโดยอ้างว่าเพื่อทำในสิ่งที่ธนาคารเอกชนไม่สามารถทำได้นั้นดูจะห่างไกลจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก ประเด็นที่ควรพูดให้ตรงและชัดก็คือ ธุรกิจที่ธนาคารเอกชนไม่เข้าไปทำ (แต่ธนาคารรัฐฝืนจะเข้าไปทำ) ก็เพราะมีความเสี่ยงไม่คุ้มกับความรับผิดชอบที่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บังคับให้มีต่อผู้ฝากเงิน (เจ้าหนี้) และผู้ถือหุ้น (เจ้าของ) ต่างหาก



ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างมากมายว่า ธนาคารรัฐจะเข้าไปปล่อยกู้ตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดให้ทำโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงและความรับผิดชอบ กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทกว่า 8.7 หมื่นล้านบาท โดยข้อเท็จจริงก็เป็นเงินกู้มาจากธนาคารออมสินแต่รัฐบาลทยอยเบิกจ่ายคืนให้ภายหลังเป็นปีๆ ไปจากงบประมาณ หรือเงินกู้จาก ธ.ก.ส.ในการเข้าแทรกแซงรับจำนำข้าวให้กระทรวงพาณิชย์กู้จำนวนหลายแสนล้านบาทที่ไม่รู้ว่าจะได้คืนกลับมามากน้อยเท่าใด หากมีหนี้สูญรัฐบาลก็ต้องตั้งเงินงบประมาณมาชดเชยโดยปราศจากการขออนุมัติหรือตรวจสอบจากตัวแทนประชาชนเพราะไปทำอยู่นอกระบบงบประมาณฯ



ข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาก็ชี้ชัดว่าหนี้เสียในสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 40 ของเงินกู้ทั้งหมดของทั้ง ธพว.และธอท.ล้วนเกิดมาจากโครงการสินเชื่อจากนโยบายรัฐที่มีเงื่อนไข “ผ่อนปรน” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่คำนึงถึงความเสี่ยงและความรับผิดชอบต่อผู้ฝากเงินและเจ้าของซึ่งทั้งหมดก็คือภาระตกกับประชาชนในที่สุดนั่นเอง



รัฐบาลจึงไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลยกับสิ่งที่ได้ทำไป รัฐบาลคุ้มครองหรือเป็นประกันในธนาคารรัฐมันเสียหายตรงที่เอาเงินภาษีประชาชนมาแก้ไขปัญหาที่นักการเมืองสร้างขึ้นมาประชาชนจึงเป็นผู้เสียทั้งขึ้น (เสียเงินฝาก) ทั้งล่อง (ต้องเอาเงินภาษีมาแก้ไขชดเชยความเสียหาย) แต่รัฐบาลนั้นได้หน้าไปว่า “คิดใหม่ ทำใหม่”



การอาศัยธนาคารรัฐเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายประชานิยมจึงเป็นช่องทางที่จะหลบเลี่ยงการตรวจสอบภายใต้กลไกที่มีอยู่เพราะไม่ขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลของ ธปท.ในฐานะสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารทั่วไป ไม่ขึ้นอยู่กับการสอดส่องดูแลสถาบันคุ้มครองเงินฝากในฐานะธนาคารที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก



อย่าลืมว่าก่อนจะมีหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นมาถึงที่ระดับร้อยละ 40 ก็ต้องผ่านหลัก 10 20 และ 30 มาก่อนและมิใช่เพิ่งเกิดขึ้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ละเลยเข้าแก้ไขก็จะไม่สะสมหนี้เสียมามากถึงเช่นเพียงนี้ แล้วทำไมเจ้ากระทรวงจึงไม่จัดการอะไร?



ข้อเท็จจริงนี้จึงไม่สนับสนุนข้ออ้างในความสามารถกำกับดูแลธนาคารของรัฐของกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของได้ ระบบที่มีอยู่อาจดูแลในฐานะรัฐวิสาหกิจได้แต่ไม่ใช่การกำกับดูแลในฐานะสถาบันการเงิน



นอกจากนี้แล้วที่สำคัญก็คือหนี้สินที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินนั้นไม่ถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะแต่อย่างใด ทำให้สามารถซ่อนตัวเลขหนี้สาธารณะได้เป็นอย่างดี เหตุก็เพราะหนี้สินที่เกิดขึ้นโดยหลักการมีทรัพย์สินที่อยู่อีกฝากหนึ่งในงบดุลชดเชยเอาไว้ แต่ฝรั่งผู้ที่ตั้งเกณฑ์นี้จะรู้หรือไม่ว่า “ความขี้โกง” ของนักการเมืองไทยนั้นมันฉลาดกว่า



เมื่อถึงคราวต้องบังคับชำระหนี้โดยเอาทรัพย์สินไปขายจะมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าคุ้มมูลหนี้เหลืออยู่มากน้อยเพียงใด การแปลงทรัพย์สินเป็นทุน เช่น ฟุตปาธ/ทางสาธารณะที่รัฐให้เป็นสิทธิทำมาหากิน หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่มักจับต้องไม่ได้นั้นเป็นตัวอย่างที่ดี จะไปบังคับขายให้ผู้อื่นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ดังนั้นการใช้ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นหลักประกันในการกู้ ผู้กู้จึงเป็นฝ่ายได้เปรียบและมักจะตั้งเป้าว่าจะไม่ชำระหนี้ตั้งแต่ต้นเนื่องจากผู้ให้กู้ไม่มีอะไรที่ทำให้ผู้กู้เดือดร้อนหากไม่มาชำระหนี้แม้แต่น้อย หากไม่เชื่อก็ลองไม่ต่ออายุเงินกู้กองทุนหมู่บ้านของผู้กู้เดิมดูก็ได้ดูซิว่าจะมีปัญญาชำระคืนเงินกู้มากน้อยเพียงใด



แม้ว่า ธพว. และ ธอท. มีความสำคัญต่อโครงสร้างทางการเงินไทยไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของ ธ.ก.ส.ที่อาจจะเป็นรายต่อไปจากหนี้เสียของสินเชื่อจำนำข้าวตามนโยบายรัฐบาล การขาดทุนจากการจำนำข้าวหลักแสนล้านบาทนั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้กู้ก็ขาดความโปร่งใสในข้อมูลการขายข้าว ธ.ก.ส.ในปัจจุบันจึงเสมือนยืนอยู่บนปากเหวขณะที่ ธพว.และธอท.ได้ตกลงไปก่อนหน้านี้แล้ว



แต่คนไทยทุกคนต่างหากที่เป็นผู้รับภาระของ ธ.ก.ส. ธพว. และ ธอท.จากที่รัฐบาลไปสั่งให้ทำตามนโยบาย หาใช่รัฐบาลที่อ้างว่ารับภาระแต่อย่างใดไม่



เมื่อกิตติรัตน์และยิ่งลักษณ์กำลังทำตัวเป็นเด็กเล่นอยู่กับไฟ “ความเชื่อมั่น” ไม่มีที่ใดขายและไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้โดยง่าย หากปล่อยให้ประชาชนขาด “ความเชื่อมั่น” ในธนาคารของรัฐ ธนาคารล้ม หรือ bank run จะเป็นภาวการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากหากไม่ตัดไฟเสียแต่ต้นลม หากปราศจากการตัดสินใจที่ชัดเจนที่จะรักษา “ความเชื่อมั่น” เอาไว้ ระวังจะเอา(ไม่)อยู่ได้โดยง่าย



แนวนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมของรัฐบาลในระบอบทักษิณจึงมิใช่เป็นซ้ายหรือขวา แก้ปัญหาไพร่หรือต่อต้านอำมาตย์ หากแต่เป็นแนวนโยบายเศรษฐกิจที่ขาดความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง มุ่งหวังแต่เพียงการเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ



หากชนชั้นกลางล่างคิดว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับตนเองก็ขอให้คิดใหม่ได้แล้วเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังจะพาชนชั้นกลางล่างเข้าใกล้ “นรก” เข้าทุกนาที



* * * *


แถมท้ายด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถ้าชายหมูชนะถล่มทลาย “เอาเสาไฟฟ้าฝังลงดิน” ด้วยคะแนนเกินล้านหรือห่างจากคู่แข่งมากกว่า 2 แสนเสียงขึ้นไปก็อย่าได้แปลกใจ เหตุก็เพราะคนกทม.เลือกเพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทักษิณที่จะส่งคนรับใช้คนใหม่มาครองกทม.ว่า “กูไม่กลัวมึง” ดังเช่นที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงออกต่อ พล.อ.ล้มเจ้า คนหนึ่งเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่าคนกทม.ชอบชายหมูหรือพรรคของเขาหรือไม่ชอบผู้สมัครอิสระแต่อย่างใดไม่



แม้จะถูกเปรียบว่ามีอำนาจในมือแค่ 4 วินาทีแต่คนกทม.ก็มีวิจารณญาณรู้ดีรู้ชั่วและที่สำคัญอยู่กับความจริงไม่ฝันหวาน คนกทม.รู้ดีอยู่แล้วว่า “โหวต” อย่างไรจึงจะมีความหมาย





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้