คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (13) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (20 มีนาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (13) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (20 มีนาคม 2556)



นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (13)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

20 มีนาคม 2556



โครงการกู้นี้ทำเพื่อเอาเงินมาให้ แม้วโกง
ขณะที่คนชั้นกลางล่างและคนไทยจะได้หนี้ไป



รัฐบาลนี้กำลังจะกู้เงินรอบใหม่จำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาทมาลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและสร้างความเจริญให้ประเทศไทย การลงทุนดังกล่าวมันเป็นความจำเป็นของประเทศนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงหรือ?



เพื่อให้เกิดปัญญา การหาข้อเท็จจริงมาถกเถียงกันจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่าจะใช้ความรู้สึก การตรวจสอบการศึกษาในอดีตของประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกเงินกว่าให้นักการเมืองลองทำดูก่อนหากไม่สำเร็จก็ยกเลิก ครั้งนี้เริ่มที่ประสบการณ์ของนานาชาติก่อน



เริ่มที่ญี่ปุ่นก่อนก็ดีเพราะเป็นประเทศที่ “ทุน” เสียหายไปจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐานทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกฟื้นกลับมาได้หรือไม่ คำตอบคือใช่ แต่ “ทุน” กายภาพที่เป็น อิฐ หิน ดิน ทราย และ ปูนซีเมนต์ ล้วนมิใช่ปัจจัยแห่งความสำเร็จแต่เพียงลำพัง หากแต่คุณภาพของ “ทุน” มนุษย์ต่างหากที่เป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างประเทศมากกว่า



การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่นในตารางที่ 1 ช่วงหลังสงครามระหว่างปี 1953-71 เฉลี่ยร้อยละ 8.81 ต่อปี แสดงที่มาจากจำนวนหรือปริมาณของ “ทุน” ที่เพิ่มขึ้นมาเพียงร้อยละ 23.8 ของ 8.81 เท่านั้น ปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตคือ ประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิต หรือ Total Factor Productivity (TFP) ต่างหากที่มีผลต่อการเจริญเติบโตถึงร้อยละ 55.2 ของ 8.81 ในกรณีญี่ปุ่น และร้อยละ 47.8 ของ 4.0 ในกรณีสหรัฐฯ ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน แบบแผนการเจริญเติบโตไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด



ในกรณีของจีนในตารางที่ 2 ก็เช่นเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงการปฏิรูปปี ค.ศ. 1978-99 กับก่อนการปฏิรูป TFP ของจีนก็เพิ่มขึ้นมาจากติดลบร้อยละ 5.9 มาเป็น 23.9 ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นจากร้อยละ 6.46 มาเป็น 9.72 ต่อปีเพราะการสะสมทุนที่มีผลต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 56.8 เป็น 48.3



TFP จึงเป็นปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตนอกเหนือไปจาก จำนวนหรือปริมาณของทุน หรือ แรงงาน ที่เป็นปัจจัยหลักในการผลิต เช่น การปฏิรูปสถาบันที่สำคัญของประเทศ หรือการเปิดประเทศต่อการค้าและการลงทุน อันมีผลทำให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะได้มาจากการเพิ่มในคุณภาพของคน เช่น ความรู้ และคุณค่าของสถาบัน เช่น การไม่โกง มิใช่จากการเพิ่มในปริมาณทุน หรือแรงงานแต่เพียงลำพัง



การจะเปลี่ยนเศรษฐกิจจากการเจริญด้วยการลอกเลียนแบบ (imitation-based economy) มาเป็น เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ (innovation-oriented economy) ที่ “คนหูกระต่าย” พร่ำเพ้ออยากจะให้เป็นจากการดำเนินโครงการนี้จึงไม่สามารถทำได้จากทัศนคติของการโกงหรือด้อยซึ่งความรู้ความสามารถของคนในประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือ เพิ่มจำนวน “ทุน” หรือแรงงานอย่างเดียวไม่ทำให้ประเทศเจริญ ต้องเพิ่มที่ “ปัจจัย” ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ ทุน และแรงงานที่มีอยู่



ในยุคเศรษฐกิจโตเร็วของญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 1960 ก็มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกขึ้นมาเชื่อมต่อระหว่างโอซะกะกับโตเกียว ประสบการณ์ของการพัฒนาโดยวิธีเพิ่ม “ทุน” กายภาพมิได้เป็นสูตรสำเร็จในการพัฒนาแต่อย่างใดไม่ ในช่วงโตเร็วระหว่างปี ค.ศ. 1955-1970 ในรูปที่ 1 การลงทุนโดยรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นมีทิศทางเดียวกับการเพิ่มขึ้นในอัตราการเจริญเติบโต แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มิได้มีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด



เหตุก็เพราะประสิทธิภาพในการลงทุนโดยรัฐบาลเริ่มลดน้อยถอยลงดังแสดงโดยตารางที่ 3 อันเนื่องมาจากการโกงหรือฉ้อฉลโดยนักการเมืองเป็นสำคัญ การสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยเหตุผลทางการเมืองไปจังหวัดบ้านนอก เช่น นิงิกะตะ บ้านเกิดและเขตเลือกตั้งของนายกฯ ทะนะกะผู้ถูกฟ้องร้องจากคดีรับสินบนการซื้อเครื่องบินจะแตกต่างอย่างไรกับการสร้างรถไฟความเร็วสูงของไทยที่ไม่มีแผนการศึกษาฯ หรือรายละเอียดอะไรเลย มีเพียงกระดาษจาก พ.ร.บ.กู้เงินไม่กี่แผ่น



รัฐบาลนี้จึงริเริ่มลงทุนทำให้ประชาชนเป็นหนี้จำนวนมหาศาลโดยมิได้เรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จและล้มเหลวจากประเทศอื่นๆ แต่อย่างใด เป็นการลงทุนโดยเอาการเมืองนำอย่างมืดบอดโดยแท้



สำหรับกรณีประเทศไทยก็ไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ แต่อย่างใด ผลการศึกษาจากรูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของไทยในทิศทางเดียวกันในช่วงสั้นๆระหว่างปี ค.ศ. 1971-1976 เช่นเดียวกับการลงทุนโดยรัฐบาลไทยที่แสดงโดยรูปที่ 3 โดยหลังจากปี 1975 ก็มิได้มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน อันจะแสดงถึงการสร้างความเจริญเติบโตให้กับชาติด้วยการลงทุนของรัฐบาลแต่อย่างใด



ผลจากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ไม่ได้สนับสนุนแนวคิดการลงทุนโดยรัฐบาลโดยการเพิ่มในจำนวนหรือปริมาณปัจจัยการผลิต เช่น ทุน หรือแรงงาน แต่อย่างใด เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำเนื่องจากรัฐบาลมักจะมีแนวโน้มที่จะโกงหรือฉ้อฉลในการลงทุนจากเงินประชาชนมากกว่าการลงทุนโดยเอกชนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะมีเจ้าของที่แท้จริงดูแลเงินของตนเองอยู่



รัฐบาลต้องตอบโจทย์เรื่องนี้เพราะคำชี้แจงและข้อมูลไม่ได้สนับสนุนหรือหักล้างข้อเท็จจริงที่นานาชาติรวมถึงไทยเคยประสบพบมาจากการลงทุนประเภทนี้แต่อย่างใด ยิ่งบอกว่าคนชั้นกลางล่างจะได้ประโยชน์จากการเก็บค่าโดยสารราคาถูก (กว่าต้นทุน) ยิ่งโกหก คนรวยเท่านั้นจะเป็นผู้มีโอกาสได้ใช้มากที่สุด จะมีพวกคุณสักกี่คนมีโอกาสได้ใช้มากเท่าคนรวย แต่หนี้ที่เกิดเป็นของพวกคุณเท่ากับเขาจริงไหม?






 

 

 

 

 


หมายเหตุ : เส้นตั้งฉากกับแกนนอนและเส้นลูกศรตั้งแต่รูปที่ 1-3 เป็นของผู้เขียน



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้