นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (26)
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย 19 มิถุนายน 2556 นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด ได้สร้างและทำลายยิ่งลักษณ์ในที่สุด คำว่า โปร่งใส (Transparency) หรือ การบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) เป็นคำสุภาพที่ใช้แทนคำว่า การฉ้อโกง หรือ คอร์รัปชัน ซึ่งในปัจจุบันเป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนาโดยทั่วไปรวมถึงประเทศไทย คอร์รัปชันไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากมีความโปร่งใส หรือมีการบริหารจัดการที่ดี การบิดเบือน/ปกปิดข่าวสารข้อมูลจึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการทำให้เกิดการคอร์รัปชัน นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นตัวอย่างที่ดีของการบิดเบือน/ปกปิดข้อมูลข่าวสารเพื่อการคอร์รัปชัน ไม่มีการชี้แจงโดยผู้ดำเนินนโยบายอย่างตรงไปตรงมาว่าเงินภาษีประชาชนกว่า 6.6 แสนล้านบาทนำไปซื้อข้าวในจำนวนเท่าใด ขายข้าวไปได้จำนวนเท่าใด ใครเป็นผู้ซื้อ ราคาขายต่อตันเท่าใด เหลือข้าวที่ขายไม่ได้เท่าใด และที่สำคัญมีกำไร/ขาดทุนจากการดำเนินนโยบายนี้เท่าใดทั้งๆ ที่ทำมาประมาณ 2 ปีแล้ว ทุกอย่างเป็นความลับหมด หากไม่มีการปูดข้อมูลจากนายกรณ์เรื่องการขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรที่ติดตามมาด้วยการย้ายรองปลัดฯ ผู้ที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญการออกมาแถลงการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดอันดับฯ Moody’s รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คงปกปิดข้อมูลนี้ต่อไปโดยปราศจากสำนึกว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ในการนี้เป็นเงินของประชาชน หาใช่เงินของนายกฯ และรัฐมนตรีแต่อย่างใดไม่ ประชาชนไทยที่รวมถึงคนชั้นกลางล่างเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ประมวลข้อมูลในเชิงตัวเลขตามตารางข้างล่างที่ได้มาจากการแถลงข่าวจากหน่วยงานของรัฐในวาระต่างๆ พบว่ามีตัวเลขการขาดทุนจากนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดใน 3 ฤดูกาลผลิตกว่า 2.2 แสนล้านบาท (เอกสารประชุม ครม.โดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย) และยังมีข้าวที่ยังขายไม่ได้ที่อยู่ในความดูแลขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ทั่วประเทศประมาณ 17.5 ล้านตันและมีข้อสงสัยจากสาธารณชนว่าข้าวดังกล่าวส่วนใหญ่เน่าเสียไปแล้ว แม้รัฐบาลโดยนายวราเทพจะออกมาแถลงในภายหลังยอมรับมีการขาดทุนเพียง 2 ฤดูกาลผลิตในจำนวน 1.36 แสนล้านบาทโดยอ้างว่าตัวเลขสต๊อกในฤดูกาลผลิตนาปี 55/56 ยังมีความคลาดเคลื่อน แต่ก็เป็นเพียงความพยายามในการบรรเทาความเสียหายให้ดูน้อยลงว่าขาดทุนไม่ถึง 2.6 แสนล้านบาทตามที่ฝ่ายค้านแฉ แต่ไม่ได้ทำให้ข้อมูลขาดทุนที่พยายามปกปิดแต่ชาวบ้านเขารับรู้มาจากฝ่ายค้านแตกต่างผิดเพี้ยนไปแต่อย่างใด ไม่เชื่อก็ลองบวกตัวเลขขาดทุน 42,963+93,993 ว่าใกล้เคียงกันหรือไม่ หากคิดให้ลึกลงไปอีกว่ามีข้าวที่ขายไม่ได้อีกกว่า 17.5 ล้านตันที่จะต้องเสียค่าจัดเก็บรักษาข้าวประมาณตันละ 100 บาทต่อเดือน (ตัวเลขจาก อคส.) ต้นทุนจากการขายข้าวไม่ได้ต่อเดือนจะเป็น 1,750 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 21,000 ล้านบาทต่อปี ทุกวันจึงมีต้นทุนจากการ “อม” ข้าวเอาไว้เป็นจำนวนมากกว่า 38 ล้านบาทต่อวันหรือกว่า 1.5 ล้านบาทต่อช.ม.จากนโยบายนี้ การอ้างว่ามีสัญญาขายไว้แล้วแต่ผู้ซื้อยังไม่มารับนั้นจะเป็นจริงไปได้อย่างไรเพราะผู้ซื้อจะปล่อยให้มีต้นทุนและการเสื่อมสภาพในสินค้าที่ตนเองซื้อ (ข้าวเน่า) ไปเรื่อยๆ เช่นนี้หรือ นายกฯ และรัฐมนตรีจะมีสำนึกบ้างหรือไม่ว่า “โกหกไม่ทำบาปนั้นไม่มี” ตัวเลขขาดทุน 220,976 ล้านบาทบวกกับต้นทุนจากการขายข้าวไม่ได้อีกปีละ 21,000 ล้านบาท 2 ปีก็จะทำให้ตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทไม่น่าจะเกินความเป็นจริงสักเท่าไร นี่ยังไม่ได้คิดค่าดอกเบี้ยรวมเข้าไปด้วย |
|||
การบิดเบือน/ปกปิดข่าวสารข้อมูลการจำนำข้าวจึงเป็นต้นตอของการคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ยิ่งปกปิดมากเท่าใดยิ่งทำให้ความเชื่อว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นมีมากเท่านั้น ตัวอย่างมีมาแล้วในอดีต หากความจำไม่สั้น การปกปิดตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยรัฐบาลกับธปท.เป็นกรณีที่เปรียบเทียบได้ว่าการปกปิดตัวเลขเงินทุนสำรองหลังจากเอาไปต่อสู้กับการเก็งกำไรนั้น มันสามารถสร้างความเสียหายจาก GDP ที่ลดลงไปหลายปีที่รวมกันแล้วมีมากกว่ามูลค่าการขาดทุนในทุนสำรองที่มีประมาณ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 114,000 บาท) เสียอีก ความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นก็คือ ไทยต้องยอมจำนนออกจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เพราะไม่มีเงินทุนสำรองหลงเหลือพอเพียงที่จะรักษาระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เอาไว้ได้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐจึงเปลี่ยนแปลงอ่อนค่าลงโดยฉับพลันจาก 25 กลายเป็นกว่า 45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงระยะเวลาไม่นานและส่งผลกระทบไปในวงกว้างต่อประชาชนทุกกลุ่มทุกภาคเศรษฐกิจ เห็นแล้วหรือไม่ว่าการปกปิดข้อมูลก่อให้เกิดผลร้ายติดตามมามากน้อยเพียงใด คดีฆาตกรรมนายเอกยุทธ ก็เป็นตัวอย่างของความไม่โปร่งใสและขาดการบริหารจัดการที่ดีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกกรณีหนึ่งในปัจจุบัน ประเด็นก็คือ กระบวนการยุติธรรม ขาดความไม่โปร่งใสและขาดการบริหารจัดการที่ดี ถ้าไม่หูหนวกตาบอด คนในสังคมไทยก็รู้ดีว่านายเอกยุทธผู้ตายมีข้อขัดแย้งพิพาทกับทักษิณและน้องสาว รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาลหัวหน้าผู้ทำคดีนี้ หากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่มีสำนึกถึงความขัดแย้งทับซ้อนในผลประโยชน์ รองนายกฯ ผู้รับผิดชอบก็ต้องมี หากสั่งการให้ตำรวจหน่วยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้เข้ามาทำคดีแทนก็จะเป็นการทำให้เกิดความโปร่งใสสร้างการจัดการบริหารที่ดีให้เกิดขึ้นมาได้ แต่กลายเป็นว่าคู่ขัดแย้งนายเอกยุทธมาเป็นคนทำคดีนายเอกยุทธเสียเอง เมื่อมีผู้ไม่เชื่อถือในผลการสืบสวนก็ถือโอกาสสวนกลับเลยว่า หากใครรู้ดีนักก็เอาข้อมูลมา (ซึ่งหมายความต่อไปได้ว่า หากไม่ก็เงียบซะ) ผลสรุปแห่งคดีจึงไม่มีความน่าเชื่อถือตั้งแต่เริ่มต้นเพราะกระบวนการยุติธรรม ขาดความไม่โปร่งใสและขาดการบริหารจัดการที่ดี พูดให้ยากเข้าไปอีกนิดหนึ่งก็คือ กระบวนการยุติธรรมมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ผู้อ้างว่าเป็นด็อกเตอร์ทางกฎหมายอยู่เสมอๆ จะนึกหรือไม่ว่า ตอนเรียนด็อกเตอร์อยู่แล้วถ้าอาจารย์ผู้สอนไม่อธิบายแสดงเหตุและผลที่มาที่ไป บอกเพียงแต่ว่าให้เชื่อตามที่สอนเพราะตนเองเป็นด็อกเตอร์มาก่อน หากรู้ดีก็เอาข้อมูลมา หากไม่มีก็หุบปากซะ จะบอกไหมว่าอาจารย์ผู้สอนมีความโปร่งใสและบริหารจัดการที่ดีน่าเชื่อถือในคำสอนเป็นอย่างยิ่ง หรือไม่รู้ไม่ได้ทำเพราะไม่ได้เข้าห้องเรียนเจอผู้สอนสักเท่าใด การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบหรือเปลี่ยนราคา/ปริมาณจำนำก็คงไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นมาได้เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุนั่นคือ การโกหก ปกปิดข้อมูล นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เคยเป็นจุดขายและกำลังเป็นจุดตายในท้ายที่สุด |