คมดาบซากุระ 2 : สืบเนื่องจากบทสนทนาของ หนูแก่สกปรกกับคนหนีคุก โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (10 กรกฎาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : สืบเนื่องจากบทสนทนาของ หนูแก่สกปรกกับคนหนีคุก โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (10 กรกฎาคม 2556)



สืบเนื่องจากบทสนทนาของ หนูแก่สกปรกกับคนหนีคุก

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

10 กรกฎาคม 2556




ยิ่งลักษณ์! คุณมีหน้าที่เป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน
มิใช่นายกฯ ของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
       


       คงไม่มีบทสนทนาใดในปัจจุบันที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของคนบางคนและสร้างผลกระทบในวงกว้างให้กับคนอีกหลายๆ คนได้มากเท่ากับที่หนูแก่สกปรกตัวหนึ่งพยายามพูดเอาใจคนหนีคุกเพื่อหวังแค่ตำแหน่งทางการเมืองในที่ลับแต่ถูกนำมาไขในที่แจ้ง
       


       ที่มาที่ไปของบทสนทนาดังกล่าว จึงมีความน่าสนใจไม่แพ้เนื้อหาเพราะสามารถบ่งบอกได้เลยว่าผู้ทำและนำมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้จะเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ ฝ่ายหนูแก่สกปรกหรือคนหนีคุกน่าจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์เสียมากกว่าเมื่อมีการเปิดเผย ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามที่อาจเป็นคนมีสีในเครื่องแบบหรือไม่ที่จะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด?
       


       ดังนั้น การวิเคราะห์จากที่มาที่ไปจึงไม่ต้องสงสัยว่าใครเป็นคนทำและเอามาเปิดแผย อย่าคิดว่ากุมอำนาจได้ทั้งหมดแต่เพียงคนเดียว
       


       เนื้อหาของการพูดในที่ลับแต่ถูกนำมาไขในที่แจ้งจึงทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีน้อยอยู่แล้วให้หมดไปโดยสิ้นเชิง
       

  
       การใช้อำนาจกับความชอบธรรมเป็นของคู่กัน รัฐบาลในระบอบทักษิณนิยมสร้างความชอบธรรมจากการอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง อ้างเสียงข้างมาก อ้างประชาชนที่มาลงคะแนน เพื่อให้เป็นหน้าฉากของวาระที่ซ่อนเร้นของตนเอง แต่หากรัฐบาล/สภาใดไม่เคารพกฎหมายเสียเองก็หมายถึงการขาดความชอบธรรม ดังนั้นจะหวังใช้อำนาจตนเองออกกฎหมายให้ประชาชนคนอื่นเคารพกฎหมายที่ตนออกได้อย่างไร
       


       การใช้วิธีการซ้ำๆ กันเพื่อหลอกคนก็ทำได้เพียงบางครั้งแต่ไม่สามารถปิดบังวาระซ่อนเร้นของตนเองได้ทุกครั้ง จุดแข็งจากแนวนโยบายประชานิยมในยุคแรกจึงกลายเป็นจุดอ่อนประชานิยมในยุคสุดท้ายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังเผชิญอยู่ จุดจบน่าจะมาถึงในไม่ช้า ไม่นานเกินรอก็ว่าได้
       


       เหตุก็เพราะโครงการนโยบายประชานิยมในยุคแรกส่วนใหญ่อยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐบาล แต่ในยุคสุดท้ายกลับก้าวล่วงฝืนกลไกตลาดซึ่งเกินเขตอำนาจที่รัฐบาลจะสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน จำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาด จัดการน้ำท่วมด้วยการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท หรือแม้แต่การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อมาทำรถไฟ “ความเลวสูง”


       
       ทั้งหมดล้วนเป็นการฝืนกลไกตลาด แทรกแซงชีวิตความเป็นอยู่การดำรงชีวิตของประชาชนหรือธุรกิจ การอาศัยอำนาจรัฐทำนโยบายประชานิยมจึงประสบกับอุปสรรคและความล้มเหลวเป็นเป้าหมายรออยู่เบื้องหน้าอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเพราะขาดความชอบธรรมในการใช้อำนาจ
       


       โครงการจำนำข้าวจึงต้องมีการปิดบังข้อมูลการซื้อขายข้าวทั้ง ผู้ซื้อ จำนวน และราคา มาโดยตลอดราวกับว่าเป็นความลับของชาติเพื่อปิดบังซ่อนเร้นความล้มเหลวและวาระซ่อนเร้นของตนเองว่าทำไปเพื่อหวังเอาชนะทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว
       


       ในทำนองเดียวกันโครงการจัดการน้ำที่กู้เงินมาทำถึง 3.5 แสนล้านบาทโดยปราศจากตัวโครงการที่เป็นรูปธรรมจึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำที่ไหนและอย่างไร ทำไมจึงมาเป็นตัวเลขตามโครงการที่จัดให้มีการประมูลในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทได้ เมื่อเป็นอย่างนี้จะทำตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตาม ม.57 และ ม.67 ตามที่ศาลปกครองบังคับให้ทำได้อย่างไร เมื่อไรเมื่อไรก็ทำไม่ได้
       


       รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้พิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงผ่านการกระทำทั้งหลายให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วหรือไม่ว่าตนเองเป็นรัฐบาลของปวงชนชาวไทยหรือเป็นเพียงรัฐบาลของตระกูล
       


       การกระทำจึงดังกว่าคำพูด การทำตัวลอยตัวอยู่เหนือปัญหาไม่พยายามจะเข้ามาเกี่ยวข้องแสดงจุดยืนเพื่อตัดสินใจในเรื่องนโยบายหรือเรื่องที่มีความสำคัญในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นจุดอ่อนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่าเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด
       


       ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือแนวนโยบายประชานิยมที่ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ทั้งหลายคือการไม่ประกาศตัวเป็นอิสระจากพี่ชายตนเอง การปล่อยให้พี่ชายตนเองเข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้ายที่มิใช่แต่เพียงตำแหน่งทางการเมืองแต่เพียงลำพัง หากลามไปถึงการแต่งตั้งข้าราชการประจำในระดับต่างๆ ที่สำคัญก็คือการไม่นำตัวพี่ชายตนเองกลับมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้กับคนไทยทุกคน
       


       ยิ่งลักษณ์! คุณมีหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน มิใช่ของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หากยังละเว้น ละเลย หรือปฏิบัติอย่าง 2 มาตรฐานเหมือนที่ได้ทำมาแล้วในช่วงดำรงตำแหน่งมากว่า 2 ปีก็หมายถึงความชอบธรรมในตำแหน่งก็หมดไปเช่นเดียวมอร์ซีนายกฯ อียิปต์ จะอ้างว่ามาด้วยการเลือกตั้ง มีเสียงข้างมาก หากจะขออยู่ในตำแหน่งตามวาระ 4 ปี ก็ต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน อย่าอ้าปากอ้างประชาธิปไตยเพียงการเลือกตั้งแต่เพียงด้านเดียว
       


       เมื่อปราศจากความโปร่งใสให้ตรวจสอบได้ ความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐจากตำแหน่งตนเองก็ไม่เกิด นี่จึงเป็นจุดตายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างแท้จริง





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้