นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (4)
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
2 ตุลาคม 2556
“จักรวาลและความโง่นั้น เป็นสองอย่างที่ไม่มีที่สิ้นสุด”
อ.ไอน์สไตน์
คงจะไม่เป็นการกล่าวที่เกินเลยแต่อย่างใดหากจะบอกว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่รู้จักคนจนและไม่ได้มีความรู้เรื่องคนจนแต่อย่างใด
นโยบายประชานิยมที่ใช้มาหาเสียงไม่ว่าจะเป็น จำนำข้าว รถคันแรก ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมาทำรถไฟความเร็วสูง หรือพักหนี้ดี ล้วนแล้วแต่มิได้แก้จนแต่อย่างใด
ผลการศึกษา “พลวัตของความยากจน” ของอานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ที่เสนอในงานสัมมนาที่สภาพัฒน์จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ได้ชี้ให้เห็นถึงเรื่องราวข้อเท็จจริงของคนจนว่าคือใครและมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้หายจน
คนจนนั้นหมายถึง คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ที่คำนวณมาจากความต้องการด้านปัจจัยพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น อาหารหรือสินค้าอุปโภคที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า คนจนคือคนที่มีรายได้ไม่พอเพียงที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารและสินค้าจำเป็นพื้นฐานนั่นเอง เป็นการวัดในเชิงสัมบูรณ์ Absolute Poverty
คนจนจึงมิใช่ผู้ที่ไม่มีรถคันแรกเอาไว้ใช้ หรือหมายถึงเกษตรกรหรือชาวนาชาวไร่เสมอไปเหมือนอย่างที่ Smart Lady และคนในรัฐบาลคิดแต่อย่างใด เหตุก็เพราะเป็นการมองแบบเปรียบเทียบ หรือ Relative Poverty ที่อาจเอาตนเองหรือมาตรฐานใดมาเป็นตัวตั้งเพื่อเปรียบเทียบ
นอกจากนี้แล้ว ความจนยังเป็นพลวัต หรือ Dynamic เหตุก็เพราะคนจนในอดีตอาจกลายเป็นคนไม่จนในปัจจุบัน หรือในทางกลับกัน คนที่ไม่จนในปัจจุบันก็อาจกลายเป็นคนจนในอนาคตได้ ดังนั้นหากเริ่มต้นมองคนจนในเชิงสถิตย์ มองคนจนอย่างไม่มีการเคลื่อนไหวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานะของตนเอง หรือมองเพียงว่าอาชีพเกษตรกรนั้นจนก็ผิดแล้ว
แม้ว่าผลของการพัฒนาในอดีตที่ผ่านมาจะสามารถทำให้ตัวเลขสัดส่วนคนจนของประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 51 ในปี พ.ศ. 2531 ให้เหลือเพียงร้อยละ 16 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี พ.ศ. 2552 ที่หมายความว่าครัวเรือนส่วนใหญ่หายจนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีครัวเรือนที่เดิมในปี พ.ศ. 2531 ที่ไม่ยากจนแต่เข้าสู่ความยากจนในปี พ.ศ. 2552 อยู่ถึงร้อยละ 8 เช่นเดียวกับครัวเรือนที่จนเรื้อรังที่จนดักดานตั้งแต่ พ.ศ. 2538-2552 โดยไม่สามารถออกจากความจนได้เลยอีกประมาณร้อยละ 10 ของครัวเรือนทั้งหมด
หากทราบถึงอะไรเป็นสาเหตุปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการ “ออกจาก” และ “เข้าสู่” ความยากจนก็จะมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้องตรงจุด หาไม่แล้วก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบไม่รู้จริงไม่ตรงจุดเหมือนดังเช่นนโยบายประชานิยมข้างต้น
ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างคนจนกับที่ไม่จนจึงเป็นผลมากกว่าเหตุ หาใช่เรื่องวาทกรรมโง่ๆ อย่าง “ไพร่-อำมาตย์” แต่อย่างใดไม่
ปัจจัยที่สนับสนุนให้ครัวเรือน “ออกจาก” ความยากจนได้อันดับแรกก็คือ โครงสร้างประชากรที่หากมีผู้ที่มีความสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ทั้งจากอายุที่อยู่ในวัยทำงานและมีการศึกษาก็จะเป็นหลักให้กับผู้พึ่งพิง เช่น เด็กและคนแก่ ในครอบครัวได้
อันดับสองก็คือ ทุนมนุษย์ที่มาจากการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนซึ่งจะมีผลทำให้เกิดรายได้ประจำที่แน่นอนจากการที่สมาชิกในครอบครัวมีขีดความสามารถไปประกอบอาชีพอื่นๆ นอกภาคเกษตรได้โดยง่าย ลดการพึ่งพารายได้จากการเกษตรที่ส่วนใหญ่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับเทวดาที่ดลบันดาลให้มีน้ำหรือไม่
อันดับสามก็คือ ทุนทางสังคมที่สะท้อนออกมาในเรื่องของค่านิยม เช่น การประหยัด อดออม และขยันทำมาหากิน สุดท้ายก็คือที่ดินและการใช้ประโยชน์จากที่ดินซึ่งเป็นการสะสมทุนทางกายภาพที่สำคัญมากกว่าการสะสมทุนทางกายภาพนอกภาคเกษตร เช่น โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์
ในขณะที่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบให้ครัวเรือน “เข้าสู่” ความยากจนนั้นแตกต่างออกไปโดยเกิดจากความเสี่ยงจากวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเจ็บไข้ได้ป่วย อุบัติเหตุ หรือการเป็นบุคคลล้มละลายจากภาระหนี้สิน โครงสร้างประชากรที่มีสมาชิกครัวเรือนในวัยทำงานลดลง การถือครองที่ดิน เป็นต้น
นอกจากปัจจัยในเชิงโครงสร้างประชากรที่มีความคล้ายคลึงกันแล้ว ความแตกต่างในปัจจัยที่มากำหนดการ “ออกจาก” และ “เข้าสู่” ความยากจนจึงมีผลต่อนโยบายที่จะมาแก้ความยากจน
นโยบายที่สนับสนุนให้ครัวเรือนหลุดพ้นจากความยากจนจึงอยู่ที่การศึกษาเป็นหลักเพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ประจำที่มั่นคงจากการทำงานนอกภาคเกษตรให้กับครัวเรือน เช่นเดียวกันนโยบายเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้สามารถใช้ทุนที่ดินที่มีอยู่ในการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต้องพึ่งพาเทวดาซึ่งจะมีความสำคัญในการเป็นหลักประกันในการผลิตเพื่อสร้างรายได้จากการเกษตรในอีกทางหนึ่งควบคู่กันไป
ส่วนจะมีรถไฟความเร็วสูง หรือจะมีโครงการจำนำข้าวหรือไม่ก็ไม่ได้ทำให้หายจนแต่อย่างใดเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างขีดความสามารถทั้งจากการศึกษาหรือจากการผลิตแต่อย่างใด
นโยบายที่สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อลดความผันผวนของรายได้ครัวเรือนจากโรคภัยไข้เจ็บหรือจากอุบัติเหตุเพื่อสนับสนุนให้ครัวเรือนไม่ต้อง “เข้าสู่” ความยากจนด้วยการสร้างระบบปกป้องคุ้มกันทางสังคม เช่น นโยบายการออมแห่งชาติ หรือการปรับปรุงระบบบริการสุขภาพที่สามารถ “ใช้งานได้” อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และทั่วถึง
การป้องกันน้ำท่วมจึงสำคัญพอๆ กับการป้องกันน้ำแล้งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไร้ความรู้และความสามารถทั้ง 2 ด้าน ในขณะที่การส่งเสริมทัศนคติที่ถูกต้องในการประหยัดอดออมและขยันทำมาหากินจึงเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับนโยบายประชานิยมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ที่ส่งเสริมให้ครัวเรือนฟุ้งเฟ้อบริโภคเกินตัวมากขึ้นโดยเปิดโอกาสในการสร้างและเข้าถึงหนี้ให้มากขึ้นทั้งจากรถคันแรกหรือนโยบายดอกเบี้ยต่ำ
นโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาความจนแต่ทำไปในทิศทางตรงกันข้ามจึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่รู้ ชุ่ย และเพียบพูนไปด้วยความโง่อย่างแท้จริง
คนชั้นกลางล่างที่อาจเป็นคนจนเข้าใหม่ในปัจจุบันหรือเป็นคนจนเรื้อรังอยู่แต่เดิมรู้แล้วหรือยังว่าเป็นเพราะใครที่ทำให้ “นรก” ได้มาเยือนแล้ว