อารยะขัดขืน
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
13 พฤศจิกายน 2556
หยุดงานไม่จ่ายภาษี นี่คือรากเหง้าต้นกำเนิดของประชาธิปไตย เพราะมันเป็นสิทธิของประชาชน
มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอารยะขัดขืนทั้งโดยตั้งใจบิดเบือนและอาจไม่รู้เรื่องเลยว่าอารยะขัดขืนนั้นมิใช่เป็นเพียงฉีกบัตรเลือกตั้งเหมือนอาจารย์ไชยยันต์จากรัฐศาสตร์จุฬาฯ ทำเป็นตัวอย่างเมื่อหลายปีก่อน
การประกาศอารยะขัดขืน 4 ข้อ เช่น นัดหยุดงาน ไม่จ่ายภาษี ไม่ร่วมสังฆกรรมและต่อต้านกับคน/กิจกรรมของรัฐบาล โดยสุเทพ เทือกสุบรรณนั้นน่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า Civil Disobedience ที่เป็นชื่อหนังสือรวมข้อเขียนแนวคิดของ Henry David Thoreau เมื่อปีค.ศ.1866
ในหนังสือชื่อ Civil Disobedience ข้อเขียนอันหนึ่งของ Thoreau ที่ชื่อ Resistance to Civil Government เมื่อปี ค.ศ. 1849 กล่าวเปรียบเทียบการขัดขืนต่อต้านรัฐบาลของประชาชนว่า หากรัฐบาลเป็นเครื่องจักรที่ผลิตความไม่ชอบธรรมออกมา มันจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้มีสติที่จะต้องยับยั้งเครื่องจักรนั้นเสีย
ได้ข่าวว่ายิ่งลักษณ์ก็จบรัฐศาสตร์ จะมาทำลืมหลักการอารยะขัดขืนนี้ได้อย่างไร อย่าบอกว่าไม่เคยอ่าน มันเป็นข้อเขียน/หนังสืออ่านพื้นฐานมิใช่หรือ!
รัฐบาลจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะไม่ทำ “ชั่ว” เพราะหากทำประชาชนก็จะต่อต้านแข็งขืนไม่ยอมให้ปกครองต่อไป
แนวคิดนี้มิใช่อยู่แต่ในโลกตะวันตกหรืออยู่แต่ในหนังสือแต่เพียงลำพัง หากแต่มีส่วนอย่างมากต่อการต่อสู้ของทั้ง มหาตมะ คานธี หรือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ทำอย่าง สงบ สันติ และอหิงสา
ปรากฏการณ์ของประชาชนที่มาร่วมกันชุมนุมต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นเล่าเข้าข่ายอารยะขัดขืนนี้หรือไม่?
ประชาชนนั้นเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเป็นผู้ให้อำนาจ ส.ส.เป็นตัวแทนมาใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมอย่างซื่อสัตย์สุจริต แต่อย่าลืมว่าต้องควบคู่กับความรับผิดชอบด้วย
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อทักษิณพี่ชายยิ่งลักษณ์ก็ดี การแก้รัฐธรรมนูญในหลายมาตรา เช่น ม. 190 หรือ ม. 68 ก็ดี ต่างทำไปเพื่อโอนอำนาจการตรวจสอบรัฐบาลจาก ส.ส.ทำให้อำนาจประชาชนลดน้อยถอยลงไปขณะที่กลับไปเพิ่มอำนาจรัฐบาลให้มากขึ้น จึงปรากฏชัดแจ้งว่าเข้าข่ายการกระทำที่ไม่สุจริตและทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนเพื่อคนบางคน หรืออีกนัยหนึ่งคือการทรยศหักหลังประชาชนนั่นเอง
ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจฯ จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาอำนาจที่ให้ตัวแทนไปกลับคืนมาและหากไม่คืนกลับมาก็มีสิทธิที่จะแข็งขืนกับอำนาจรัฐนั้น นี่คือสิ่งที่เป็นอารยะขัดขืน ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็กำหนดให้อำนาจนี้ไว้
การแข็งข้อขัดขืนต่ออำนาจรัฐที่ฉ้อฉลทรยศต่อประชาชนเจ้าของอำนาจนั้นเป็นสิทธิของประชาชน สามารถทำได้หลายรูปแบบ ที่เบาที่สุดก็คือการไม่ร่วมสังฆกรรม (Social Sanction) กับรัฐบาล การหยุดงานหรือไม่จ่ายภาษีก็เป็นสิทธิ
ถ้าไม่รู้อย่าสะเออะมาอ้างกฎหมายว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องจ่ายภาษี (ให้พวกคุณไปโกง) หรือไปรับใช้ชาติเป็นทหาร (ไปตายแทนพวกคุณ) แต่เพียงลำพัง สิทธินั้นมาคู่กับหน้าที่ความรับผิดชอบ ในเมื่อพวกคุณไม่ซื่อสัตย์ทรยศต่อหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะใช้อำนาจที่ได้ไปเสียแล้วจะมีหน้ามาเรียกร้องให้ประชาชนที่เป็นเจ้านายพวกคุณทำหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างไร?
การเลือกตั้งมิใช่การให้สัมปทานไป 4 ปีเพื่อปกครองประเทศโดยฉ้อฉลอย่างไรก็ได้ ประชาชนไม่เกี่ยว ประชาชนจึงควรเข้าใจในสิทธิของตนว่าไม่ต้องรอให้หมดเทอม 4 ปีก็สามารถขับไล่ตัวแทนที่มันทรยศออกไปได้ หากไม่ไปก็อารยะขัดขืนได้
ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกฯ ที่ตั้งใจกระทำผิดเพื่อพี่ชายมาสารพัดตั้งแต่ต้นจึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องคืนอำนาจที่ได้ไปกลับให้ประชาชน
ยิ่งลักษณ์และพวกได้พิสูจน์และจำนนต่อข้อเท็จจริงที่ว่า กว่า 2 ปีที่ผ่านมาใช้ประชาธิปไตยเป็นหน้าฉาก แต่หลังฉากนั้นกลับประพฤติตนเป็นเผด็จการโดยอาศัยพวกที่ยกมือในสภาสนับสนุนการกระทำ
ทีม็อบแดงปิดถนนเผาเมืองปูกลับไปร่วม แต่ทีผู้ปลูกยางปูขออย่าปิดถนน บอกทุกคนว่ามีอะไรมาคุยกันในสภาฯ แต่จะมีสักกี่ครั้งที่ตนเองมารับผิดชอบร่วมกับสภาฯ
มันสายไปเสียแล้วสำหรับการเรียกร้องขอความไว้วางใจจากประชาชนในเมื่อยิ่งลักษณ์เองก็ไม่เคยมีแม้แต่สักครั้งเดียวที่จริงใจกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่ประชาชนมอบหมายให้ มิพักจะกล่าวถึงความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งว่ามีมากน้อยเพียงใด
หากจะมาเรียกร้องขอโอกาสให้ประเทศเดินหน้า สิ่งที่ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกฯ ก็ควรจะทำหน้าที่สักครั้งเพื่อประชาชนก็คือควรรู้ว่าหมดเวลาที่จะอยู่ในอำนาจแล้ว
หากยังฝืนดื้อดึงกับพลังประชาชนที่ลุกขึ้นมาทวงคืนสิทธิของเขาก็อย่าหาว่าสังคมไม่ให้ความเป็นธรรมกับตนเองและวงศ์วานว่านเครือ
มิใช่พี่ชายคุณ ประชาชนต่างหากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสิ่งที่ยิ่งลักษณ์ได้กระทำลงไปในระหว่างที่อยู่ในตำแหน่ง
หยุดงานไม่จ่ายภาษี นี่คือรากเหง้าต้นกำเนิดของประชาธิปไตย เพราะมันเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแข็งขืนต่อต้านรัฐบาลอย่างอารยชน ถึงตอนนี้ ณัฐวุฒิ เป็ดเหลิม จารุพงศ์ ปลอดประสพ โต้ง เบญจา เข้าใจแล้วหรือยังว่าอารยะขัดขืนนั้นคืออะไร