ใครกันแน่ที่เป็นกบฎ ?
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
27 พฤศจิกายน 2556
กบฏคือการไม่ยอมรับกฎหมายหรืออำนาจศาลให้มาบังคับตน
ยิ่งลักษณ์กับพวก หรือ สุเทพ ใครคือกบฏ
ขณะนี้ประเทศไทยดูเหมือนจะมี 2 รัฐบาลในเวลาเดียวกัน หนึ่งคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่อ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้งกับอีกหนึ่งคือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่นำโดยนายสุเทพและคณะ
แม้จะไม่ทำหน้าที่รัฐบาลบริหารประเทศโดยตรง แต่ก็ได้ทำการแข็งข้อจนมีผลทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถดำเนินการบริหารประเทศได้
ประเด็นสำคัญคือ ทำให้ประชาชนชาวไทยต้องตัดสินใจว่าจะเลือกข้างใดดี
เหตุของการแข็งข้อมาจากประพฤติปฏิบัติของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมานับตั้งแต่หาเสียงตั้งไข่จนฝักเป็นตัวรัฐบาลนี้ก็ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ว่ามิได้ใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยแต่อย่างใด แต่แฝงไปด้วยวาระซ่อนเร้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อช่วยเหลือพี่ชายตนเองด้วยการทำลายกระบวนการยุติธรรมด้วยเสียงข้างมากในสภาฯ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ซึ่งเป็นการปฏิเสธอำนาจศาลโดยตรง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนให้ยิ่งลักษณ์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ประกาศร่วมกับ ส.ส. พรรคตนเองและ ส.ว.บางส่วนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.ว่ากระบวนการแก้ไขไม่ถูกต้องและเนื้อหาขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
เมื่อเป็นเช่นนี้ยิ่งลักษณ์จะมีหน้ามาเรียกร้องนิติรัฐและนิติธรรม หรืออาศัยสภาฯ ที่ยิ่งลักษณ์มิได้มีความเคารพอย่างแท้จริงเป็นเวทีเจรจากับสุเทพและมวลมหาประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อตัวยิ่งลักษณ์และพรรคที่สนับสนุนตนเองก็ไม่ได้แสดงความเคารพต่อหลักการหรือสถาบันนี้แต่อย่างใด
ภาพมวลมหาประชาชนที่มารวมตัวกันอย่างมืดฟ้ามัวดินในวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่โต้เถียงไม่ได้ว่า ประชาชนเหลืออดแล้วกับพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ปกป้องเฉพาะแต่ประโยชน์ของวงศ์วานว่านเครืออาศัยเสียงข้างมากทำชั่ว
พลเมืองแข็งข้อมันได้พิพากษาระบอบทักษิณ ตระกูลของคุณทักษิณ และรัฐบาลขี้ข้าของคุณไปเรียบร้อยแล้วในตอนนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขณะนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง แม้แต่จะระดมมวลชนเสื้อแดงมาปกป้องเหมือนเช่นที่ได้ทำมาก็ไม่สามารถทำได้
เมื่อไม่เคารพอำนาจศาล รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขณะนี้ในทางพฤตินัยจึงเป็นโมฆะหมดสภาพจากผู้ปกครองไปเสียแล้ว เหตุก็เพราะโดยทั่วๆ ไป เวลาที่ผู้ร้ายหรือผู้ทำผิดและถูกศาลตัดสินลงโทษ คนเหล่านี้หากมีโอกาสก็มักจะพูดว่า ตนเองไม่ผิด และไม่ยอมรับคำพิพากษานั้น แต่คนอื่นๆ ที่เขามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา เขาก็ปฏิบัติไป เอาตัวไปเข้าคุกหรือประหารชีวิต สุดแต่กรณี การที่คนทำผิดจะยอมรับหรือไม่รับกฎหมายหรือคำพิพากษา จึงไม่มีผลอะไร
เข้าคุก หรือประหารชีวิต จึงเป็นนิตินัยที่จะติดตามมา แม้จะมีความล่าช้าไม่ทันใจไปบ้างแต่ก็เป็นผลแห่งกรรมที่สัตว์โลกที่ทำกรรมนั้นๆ หลีกเลี่ยงไปไม่พ้น มีแต่จะมาช้ามาเร็วก็แค่นั้นเอง บุญหรือกรรมจึงเป็นเรื่องที่แยกจากกัน ไม่สามารถนำมาหักลบกลบหนี้กันได้
แต่บังเอิญคราวนี้คนทำผิดคือ ประธานสภาฯ สภาฯ และรัฐบาล เวลาออกมาประกาศว่า ไม่ยอมรับ จึงมีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คน และหลักการปกครองประเทศอย่างรุนแรง เพราะคนเหล่านี้มีหน้าที่หลักที่จะต้องแสดงตนให้ผู้อื่นเห็นว่าปฏิบัติตามกฎกติกาบ้านเมืองจึงจะปกครองกันได้อย่างปกติสุข
ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกับคณะออกมาพูดปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ท่านคงลืมไปว่าท่านยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ และอยู่ในกระทรวงที่รับผิดชอบการปกครองซึ่งต้องดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎกติกา
จะให้ประชาชนเชื่อได้อย่างไรว่ายิ่งลักษณ์ยังมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจในฐานะผู้ปกครองต่อไป ในเมื่อประชาชนหมดความไว้วางใจเสียแล้ว อย่าลืมว่าอำนาจการปกครองนั้นเป็นของประชาชนมอบให้ใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เมื่อนำไปใช้ผิดทางประชาชนก็มีสิทธิที่จะถอดถอนอำนาจนั้นคืน ไม่ต้องรอ 4 ปีก็สามารถขอคืนได้
ยิ่งลักษณ์และพวกจึงกลายเป็นเป็ดง่อยรอเวลาที่จะถูกนำไปขึ้นตะแลงแกง การกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นกบฏนั้น จึงเป็นการดิ้นรนออกมาขัดขวางอย่างสิ้นหวัง
แน่จริงก็ทำสิ ใจถึงก็ทำสิ ถ้าไม่กลัวถูกล้างโคตร ล้างบางในภายหลัง เหมือนพวกนาซีที่ถูกตามไล่ล่าหลังพ่ายแพ้สงคราม
ตำรวจ-ทหารเสื้อแดงที่ขายตัว หรือข้าราชการที่เป็นขี้ข้า แน่จริงก็มาปราบปรามประชาชนผู้รักชาติที่แข็งข้อกับรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม ถ้าพวกคุณไม่กลัวถูกประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกันในข้อหาสังหารประชาชนที่ปราศจากอาวุธและมือเปล่า ถ้าพวกคุณอยากประพฤติตนเยี่ยงอาชญากรสงครามที่จะมีคนไล่ล่าคุณไปตลอดชีวิตก็ทำได้เลย
พลเมืองแข็งข้อจึงเกิดขึ้นเมื่อผู้ปกครองไม่เป็นกลางไม่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวม
การปกครองบ้านเมืองนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากอย่างเดียว ศรัทธาที่ประชาชนมีต่อผู้ปกครองบ้านเมืองต่างหากที่สำคัญ ถ้าประชาชนขาดความเชื่อถือศรัทธาเสียแล้ว ต่อให้มีเสียงข้างมากอย่างไร ก็ถูลู่ถูกังไปได้เพียงระยะเดียว ไม่ว่าจะทำอะไรคนก็จะไม่เชื่อ มีแต่ความระแวงสงสัยเหมือนเช่นที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประสบอยู่ในขณะนี้
แน่นอนว่าแข็งข้อแล้วจะถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ แต่ข้อหากบฏที่จะกล่าวหาต้องพึ่งอำนาจศาลที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปฏิเสธไม่ยอมรับ? เข้าใจกันหรือยังว่าระหว่าง “เคารพกฎหมาย” กับ “ทำผิดกฎหมาย” ของการเป็นพลเมืองแข็งข้อไม่ว่าจะเป็น คานธี หรือ สุเทพ หมายความว่าอย่างไร
ระหว่างรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมกับพลเมืองผู้แข็งข้อ กบฏคือใครกันแน่?