มวยไท่จี๋สายเจิ้งมั่นชิง

มวยไท่จี๋สายเจิ้งมั่นชิง



มวยไท่จี๋สายเจิ้งมั่นชิง

 

โยคะคือการสร้างเยื่อใยกับสิ่งสูงสุด โยคะแห่งเต๋าก็คือการสร้างเยื่อใยกับ “ เต๋า ( อภิมรรค ) “ โดยผ่าน “ พลังจักรวาล “ หรือ “ ชี่ “ นั่นเอง

มวยไท่จี๋ก็เป็นหนึ่งใน “ โยคะแห่งเต๋า “ เป็นศิลปะป้องกันตัว การทำสมาธิ กายบริหารและการพัฒนาตนเองทั้งทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจและจิตวิญญาณ

อาจารย์เจิ้งมั่นชิงเป็นศิษย์เอกคนสุดท้ายของอาจารย์หยังเฉิงฟู่ผู้โด่งดัง ท่านเป็นผู้เผยแพร่วิชามวยไท่จี๋ออกสู่วงกว้างเป็นคนแรกในช่วงต้นทศวรรษที่20

อาจารย์เจิ้งมั่นชิง เป็นปัญญาชนและบัณฑิตที่ฉลาดมาก แต่มีร่างกายอ่อนแอตั้งแต่เด็ก เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยในเซี่ยงไฮ้ สาขาวรรณคดี ตั้งแต่อายุเพียงยี่สิบปีเท่านั้น ด้วยหน้าที่การสอนที่หนักประกอบกับความรับผิดชอบทางสังคมที่ท่านมีจึงทำให้ท่านล้มป่วยเป็นโรควัณโรค ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก อาการป่วยของท่านทรุดหนักลงจนกระทั่งหมอที่รักษาก็หมดปัญญาที่จะช่วยเหลือให้ท่านหายจากโรคร้ายนั้นได้

โชคยังดีที่คนรู้จักแนะนำท่านให้รู้จักกับปรมาจารย์หยังเฉิงฟู่และกราบกรานเป็นศิษย์ในคนสุดท้าย ภายหลังจากที่อาจารย์เจิ้งมั่นชิงได้ฝึกมวยไท่จี๋เพียงปีเดียว สุขภาพของท่านก็กลับมาดีดังเดิม หลังจากนั้นท่านก็ตัดสินใจฝึกฝนมวยไท่จี๋อย่างจริงจังเป็นเวลาหลายปี จนมีฝีมือสูงมาก

เมื่อท่านได้อพยพไปไต้หวันในปี1949 และไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาในปี1965 วิชามวยไท้จี๋ของท่านก็เป็นที่แพร่หลายมากโดยเฉพาะในไต้หวันกับสหรัฐอเมริกา

อาจารย์เจิ้งมั่นชิงได้เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ “ คัมภีร์มวยไท้จี๋ 13 บทของคนแซ่เจิ้ง “ (1947 ) ซึ่งถือว่าเป็นตำรามวยไท่จี๋ที่คลาสิคไปแล้วในปัจจุบันนี้

 


บทที่ 1 ว่าด้วยชื่อและนาม


คัมภีร์อี้จิงได้กล่าวไว้ว่า ไท่จี๋ให้กำเนิดพลังปฐม 2 อย่าง คือพลังหยินกับพลังหยาง หยินมากสุดให้กำเนิดหยาง และหยางมากสุดให้กำเนิดหยิน ในการแปรเปลี่ยนระหว่างแข็งกับอ่อน และการเคลื่อนไหวกับสงบนิ่ง แต่ละส่วนจะถูกใช้จนถึงขีดจำกัดของมัน

ผู้คนที่ชอบการต่อสู้มักใช้พลังที่แข็งแกร่งกว่าและความรวดเร็วกว่าไปควบคุมปรปักษ์ นี่คือขีดจำกัดที่มากสุดของหยางและเป็นขีดจำกัดที่มากสุดของความแข็ง

ถ้าผู้คนใช้ความแข็งไปต่อต้านความแข็ง ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องสูญเสียหรือบาดเจ็บอย่างแน่นอน นี่ไม่ใช่วิถีของบรมครู เพราะฉะนั้นเมื่อคนอื่นใช้ความแข็งมา ผม ( เจิ้งมั่นชิง )จะใช้ความอ่อนสะเทินมัน เมื่อคนอื่นใช้ความเคลื่อนไหวรุกโจมตีมา ผม( เจิ้งมั่นชิง )จะใช้ความสงบสยบรอคอยการโจมตีนั้นและสะเทินมัน

ความอ่อนและความสงบที่มากสุดเป็นผลพวงของหยิน เมื่อหยางมากสุดเผชิญกับหยินมากสุด หยางจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสมอ ดังที่ท่านเล่าจื่อเคยกล่าวไว้ว่า “ ความอ่อนและความหยุ่นจะเอาชนะความแข็งและความแกร่ง “

ในการร่ำเรียนมวยไท่จี๋นั้น สิ่งแรกที่จำเป็นต้องเรียนเป็นอันดับแรกสุดคือ “ เรียนรู้จะลงทุนในสิ่งที่ขาดทุน “ เมื่อผู้นั้นเรียนรู้ที่จะลงทุนในสิ่งที่ขาดทุนแล้ว สิ่งที่ขาดทุนก็จะแยกขั้วเป็นฝ่ายตรงข้ามและแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ให้คุณอนันต์อย่างที่สุดในภายหลัง

การลงทุนในสิ่งที่ขาดทุนคือการยินยอมให้ปรปักษ์ใช้แรงโจมตีคุณในขณะที่คุณจะไม่ใช้แรงแม้เพียงนิดเดียวในการป้องกันตัวเอง แต่คุณจะต้องชักนำแรงของปรปักษ์ไปจากตัวคุณจนกระทั่งมันไร้ประโยชน์ และเมื่อคุณตอบโต้ ปรปักษ์จะถูกเหวี่ยงไปไกล

มวยไท่จี๋นี้ไม่เพียงสามารถพิชิตความแข็งเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในการควบคุมการเคลื่อนไหวด้วย ผู้หัดมวยไท่จี๋สามารถเป็น “ หมอ “ ที่ดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองก่อนที่จะป่วยไข้ได้ มันจึงเป็นวิทยายุทธชั้นยอด มันช่วยผู้อ่อนแอให้เข้มแข็ง ช่วยผู้ป่วยให้ฟื้นฟูสุขภาพ ช่วยคนขลาดให้เป็นคนกล้า

 


บทที่ 2 ความจริงแห่งไท่จี๋


ชื่อของไท่จี๋มาจากคัมภีร์อี้จิงและมาจากคัมภีร์โบราณเกี่ยวกับการแพทย์ของจีนและลัทธิเต๋า ทฤษฎีและหลักการทำงานของไท่จี๋สามารถพบในทุกหนแห่ง หลักไท่จี๋ปรากฏอย่างสมบรูณ์ในหยินหยาง การแปรเปลี่ยนของ” ชี่ ( ลมปราณ )“ อยู่ในธาตุทั้ง5

คัมภีร์มวยไท่จี๋โบราณกล่าวว่า “ จงใช้จิตไปเคลื่อนชี่ และจงใช้ชี่ไปเคลื่อนร่างกาย “ เมื่อร่างกายถูกทำให้เคลื่อน จึงกลายเป็นท่าร่างกายเคลื่อนไหว

คัมภีร์ยังกล่าวอีกว่า “ จงผ่อนคลายบริเวณช่องท้องภายใน แล้วร่างกายทั้งหมดจะเบาและคล่องแคล่ว “ กับ “ จงใช้แรงสี่ตำลึงปัดทองพันชั่ง “ คำสอนทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวกับการมาใช้แรงทั้งสิ้น เมื่อผม(เจิ้งม่นชิง )บอกไม่ใช้แรง ผมหมายความว่าจะไม่รับแรงโจมตีของปรปักษ์ในรูปของการปะทะ ตัวผมจะเป็นผู้ควบคุมการไม่ปะทะแรงอันนี้และตรงนี้แหละที่เป็นแก่นแท้ของศิลปะอันนี้ ในการใช้แรงเพียงนิดเดียวไปทำให้ปรปักษ์เสียสมดุล

การตั้งจิตและ” ชี่ “ ไว้ที่จุดตันเถียน ทำให้เกิดประสิทธิผลคล้ายๆกับการแผดเผาของดวงอาทิตย์ในร่างกาย กล่าวคือการจมชี่ที่จุดตันเถียนมีบทบาทเหมือนกับการจุดไฟใต้หม้อดิน และต้มน้ำในหม้อดินให้เดือดจนมันระเหยกลายเป็นไอ หากทำได้เช่นนี้มันจะช่วยการไหลเวียนของกระแสโลหิตและเสริมสร้างสุขภาพของคนผู้นั้น

เมื่อชี่ซึมเข้าในกระดูก มันจะกลายเป็นเหล็กกล้าบริสุทธิ์ กล่าวคือ เมื่อชี่เคลื่อนจากตันเถียนผ่านก้นกบ ขึ้นไปถึงกระดูกสันหลังนั้น มันเป็นกระบวนการเดียวกับ การเปลี่ยนฮอร์โมนน้ำอสุจิให้กลายเป็นชี่ด้วย โดยความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนน้ำเชื้อ ( จิง ) ให้กลายเป็นชี่นี้ มีคุณสมบัติคล้ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งเมื่อแล่นผ่านไปยอดศรีษะก่อนที่จะกระจายไปตามสองแขนสองขานั้น ชี่ที่อบอุ่นจะบรรจุอยู่เต็มภายในกระดูกกลายเป็นไขกระดูก และสร้างความแข็งแกร่งให้กับภายในกระดูก เมื่อไขกระดูกถูกสร้างขึ้นด้วยความพากเพียรเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานแล้ว มันจะไปทำให้กระดูกของคนผู้นั้นแข็งแกร่งมาก คนโบราณจึงเปรียบเปรยความแข็งแกร่งนี้ว่า เหมือนเหล็กกล้าบริสุทธิ์

ที่ผมกล่าวมานี้ ยังเป็นแค่กระบวนการเปลี่ยนน้ำเชื้อ( จิง ) ให้กลายเป็นชี่ และบ่มเพาะชี่ให้ไปบำรุงสมอง เท่านั้น ยังมีกระบวนการอื่นที่สูกว่านี้ในวิชามวยไท่จี๋ขั้นสูง นั่นคือการบ่มเพาะชี่ให้กลายเป็น “ เสิน ( จิตวิญญาณ ) “ และบ่มเพาะเสินเพื่อแปรเปลี่ยนกลับคืนสู่ “ ความว่าง “ หรือ “ สุญตา “



บทที่ 3 การพัฒนาชี่เพื่อบรรลุความอ่อนหยุ่น


คุณสมบัติพิเศษของมวยไท่จี๋คือ ความสามารถในการจมชี่ไปที่จุดตันเถียน นี่คือความหมายระดับแรกของสิ่งที่เล่าจื่อพูดเกี่ยวกับการพัฒนาชี่ไปสู่ความอ่อนหยุ่น

ท่านยังบอกอีกว่า “ คนที่ยืดหยุ่นและอ่อนน้อมจะมีชีวิตชีวา ส่วนคนที่แข็งกร้าวและกระด้างจะตายซาก “ จึงเห็นได้ชัดว่าวิถีแห่งการบำรุงเลี้ยงชีวิตนั้น คือความอ่อนหยุ่น

หากท่านปรารถนาที่จะอ่อนหยุ่น ก่อนอื่นท่านต้องพัฒนาชี่ ( ลมปราณ )ในตัวท่านขึ้นมาก่อน ตำแหน่งที่วิเศษที่สุดในร่างกายคนเราที่เหมาะในการพัฒนาชี่ก็คือจุดตันเถียน

เมื่อชี่สามารถจมลงที่จุดตันเถียนได้ คัมภีร์อี้จิงจะบอกว่านี้เป็นการมาบรรจบกันระหว่างน้ำกับไฟในร่างกายคน ซึ่งจะต้องทำให้มีการสมดุลกัน จุดตันเถียนเป็นเหมือนกับเตาไฟ ใช้ไฟอุ่นน้ำในเตา และน้ำช่วยควบคุมไฟไม่ให้ลามขึ้นข้างบน หากทำได้เช่นนี้จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาชี่เพื่อบรรลุความอ่อนหยุ่นได้

ตันเถียนเป็นเพียงถุงบรรจุชี่ หากชี่ไม่จมไปที่จุดตันเถียนก่อนแล้ว ถุงนี้จะทำงานได้อย่างไร และหากจิตกับชี่ไม่ได้อยู่ด้วยกันและเคลื่อนไปมาอย่างฟุ้งซ่านไร้ที่หมายแล้ว ท่านจะไม่สามารถเพ่งสติไปที่ชี่ได้เลย

การจะพัฒนาชี่และจมชี่ไปที่จุดตันเถียน ผู้ฝึกจะต้องรักษาชี่ให้อยู่กับจิตเสมอแล้วถึงจะบรรลุความอ่อนหยุ่นได้ ผู้ใหญ่ควรพัฒนาชี่เพื่อให้มีร่างกายอ่อนนุ่มเหมือนเด็กเล็ก เพราะเด็กเล็กเป็นหยังบริสุทธิ์และเปี่ยมไปด้วยความคึกคักมีชีวิตชีวา ในขณะที่ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่คือผู้ที่เข้าใกล้ความตายไปทุกขณะดุจไม้ที่แข็งทื่อและหักง่าย ผู้ที่ใกล้ความตายและปรารถนาที่จะกลับมาเป็นเด็กเล็กอีก ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาชี่จนกลับมามีร่างกายที่อ่อนนุ่มอีกครั้ง


 


บทที่ 4 เปลี่ยนนิสัยใจคอ



จากประสบการณ์การฝึกมวยไท่จี๋มาร่วม30ปีของผม ( เจิ้งมั่นชิง ) ผมได้ค้นพบว่ามันได้ช่วยยกระดับจิตใจของผม เสริมความเข้มแข็งและแข็งแกร่งให้กับตัวผม และยังช่วยให้ผมปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย

เดี๋ยวนี้ผมมีขันติธรรมมากกว่าแต่ก่อน เลิกนิสัยทำอะไรแล้วละทิ้งกลางคันไปได้ แม้ว่าตัวผมยังไม่มีสันติภาพและความสงบภายในอย่างสมบรูณ์แท้จริงได้ แต่ตัวผมก็สามารถขจัดความบุ่มบ่ามและนิสัยไม่ใยดีผู้คนของผมไปได้มากเลย

ถ้าหากจิตใจและพลังงานทางกายภาพของคนเราอยู่ในระดับที่ต่ำ แม้ผู้คนนั้นยังหนุ่มแน่น เขาก็จะเป็นคนอ่อนแอ และถึงเขายังแข็งแรง เขาก็จะเจ็บป่วย หากเขาทั้งอ่อนแอและเจ็บป่วย เขาจะไม่มีทางปรับปรุงตัวเองได้เลย แม้ว่าเขาต้องการจะทำก็ตาม

การถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนนิสัยใจคอจะไม่เป็นประโยชน์เลย หากเราไม่สามารถปรับปรุงตัวเราเอง เพื่อตัวเราและครอบครัวของเรา

ผมได้เห็นคนเป็นจำนวนมากที่ยอมมีชีวิตอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรีดีกว่าที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรี กว่าครึ่งของคนเหล่านี้เป็นพวกที่ไม่มีพลังกายและพลังจิตที่มากพอที่จะประคองตัวเขาให้ดำเนินไปบนหนทางที่ถูกต้องได้




บทที่ 5 ว่ายน้ำบนบก


คนปรกติที่ว่ายน้ำเป็นประจำเขาจะสามารถสะสมชี่ มีพลังงานเพิ่มขึ้น และมีความสามารถในการหายใจดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน ข้อดีของการว่ายน้ำนี้ก็มาจากความอ่อนหยุ่นจากการว่ายน้ำนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากมุมมองของการบ่มเพาะและพัฒนาชี่แล้ว การว่ายน้ำยังไม่ใช่การออกกำลังกายที่สมบรูณ์ดีเท่ากับมวยไท่จี๋ ซึ่งมวยไท่จี๋จะไม่มีข้อเสียเลยยกเว้นข้อเดียวเท่านั้นก็คือ “ หัดให้เก่งได้ยาก “

มวยไท่จี๋มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ มวยยาว “ เพราะการเคลื่อนไหวของมันเหมือนกับแม่น้ำสายใหญ่ หรือการเคลื่อนม้วนตัวของมหาสมุทรที่ไม่เคยขาดสายหรือขาดตอน ความต่อเนื่องอันเป็นคุณสมบัติประจำตัวของมวยไท่จี๋นี้สะท้อนให้เห็นถึงการรวมตัวของชี่และความอ่อนหยุ่น

ปลาเป็นนักว่ายน้ำที่เก่งที่สุด มนุษย์ไม่มีทางว่ายน้ำเก่งเหมือนปลาได้เพราะปลาเกิดและโตในน้ำ แต่ใช่ว่าจะรู้บทบาทของน้ำก็หาไม่
มนุษย์เป็นนักเดินที่เก่งที่สุด เพราะมนุษย์เกิดและเติบโตในอากาศ แต่ก็ไม่แน่ว่ามนุษย์จะเข้าใจบทบาทของอากาศอย่างกระจ่างแท้

เพราะฉะนั้นผมถึงเสนอแนวคิดการออกกำลังกายด้วยการ “ ว่ายน้ำบนบก “ ในฐานะที่เป็นวิธีการออกกำลังกายที่ดีที่สุด การคลื่อนไหวของมนุษย์บนบกเป็นการว่ายน้ำในอากาศ แต่คนส่วนมากไม่ตระหนักในเรื่องนี้เลย และไม่รู้บทบาทของอากาศ ( ปราณ ) ด้วยว่าปราณเป็นองค์ประกอบของทุกๆสิ่งและธำรงค์ทุกๆสิ่งที่เป็นวัตถุธาตุเอาไว้ ผู้คนรู้ความสำคัญของปราณ แต่กลับไม่รู้กลไกการทำงานของปราณ

ทำไมคนเหมือนกัน แต่กลับมีพลังไม่เท่ากัน เข้มแข็งไม่เท่ากัน ความต่างอันนี้อยู่ที่ความต่างของการสะสมชี่ในตัวของคนแต่ละคน การสะสมชี่นั้นสะสมที่จุดตันเถียน ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ ทะเลแห่งชี่ “ ซึ่งอยู่บริเวณใต้สะดือ ราว 1.3นิ้ว เหตุที่เราเรียกตำแหน่งนี้ว่า” ทะเล “ ก็เพราะความจุของมันที่สามารถบรรจุชี่ได้มากมหาศาลและมีพลังลอยตัวที่ล้ำลึก

หากชี่สามารถเดินทางมาถึง “ ทะเล “ แห่งนี้ได้และได้รับการสั่งสมทุกๆวัน วันแล้ววันเล่าภายในสามปีมันจะบังเกิดผลในเชิงพลังให้แก่คนผู้นั้นอย่างเห็นได้ชัด

แล้วคนเราจะเริ่มต้นสะสมชี่ได้อย่างไร? คำตอบของผมก็คือ “ ควรเรียนรู้การเคลื่อนไหวแบบมวยไท่จี๋ “ เมื่อสะสมและระดมชี่ผ่านการฝึกมวยไท่จี๋แล้ว ร่างกายของเราจะเต็มไปด้วยชี่ ทั้งในเส้นโลหิต พังผืด ลงไปถึงไขกระดูก ความเต็มเปี่ยมของชี่นี้จะแผ่ไปถึงผิวหนังและเส้นผมของคนผู้นั้น การกระจุกตัวของชี่ในร่างกายทำให้ร่างกายอ่อนนุ่ม

การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักของมวยไท่จี๋ ผมจึงใช้การว่ายน้ำเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบในการสอนมวยไท่จี๋ โดยผู้หัดจะต้องเข้าใจก่อนว่า อากาศก็เป็นเหมือนน้ำคือไม่ใช่ความว่างเปล่า การเคลื่อนไหวของมวยไท่จี๋จะต้องเหมือน ”การว่ายน้ำในอากาศ” ที่จะต้องแหวกว่ายในทุกอากัปกิริยา ไม่ว่าในอาการ ปิด-เปิด ลอย-จม เคลื่อนหน้า-ถอยหลัง

 

 

 


บทที่ 6 หัวใจกับกระดูกสันหลังสำคัญเท่ากัน


มวยไท่จี๋เป็นมวยภายในที่ถูกคิดค้นโดยนักพรตเต๋าที่ชื่อ “ จางซันฟง “ในปลายราชวงศ์ซ้อง โดยท่านได้นำหลักกระทำและไม่กระทำของเล่าจื้อและหวงตี้ฮ่องเต้มาผนวกกับหลักคัมภีร์อี้จิง สรรสร้างวิชามวยนี้ขึ้นมาด้วยอัจฉริยะภาพของท่าน

อย่างไรก็ดี วิชามวยไท่จี๋ก็ยังอิงอยู่กับท่อชี่ด้านหน้าและท่อชี่ด้านหลังอยู่ดี โดยที่หัวใจเป็นผู้บงการท่อชี่ด้านหน้า และกระดูกสันหลังเป็นผู้บงการท่อชี่ด้านหลัง ยิ่งไปกว่านั้น กระดูกสันหลังยังเชื่อมต่อกับไตด้วย

กระดูกสันหลังเป็นแก่นสาร หัวใจเป็นหน้าที่ทำงาน สองอย่างผนึกรวมกันกับไตเป็นเอกภาพที่ทำงานเป็นหนึ่งเดียว หลักการอันนี้เองที่ทำให้มวยไท่จี๋เหนือกว่าศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่นและการออกกำลังกายแบบอื่น

หัวใจเป็นผู้ปกครองร่างกาย “ หัวใจ “ ในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่อวัยวะเท่านั้น แต่ยังหมายถึงจิตใจด้วย อวัยวะหัวใจกับจิตไม่ใช่สิ่งที่แยกจากันโดยเด็ดขาด แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันทีเดียว การทำงานของหัวใจที่ดีย่อมมีคุณสมบัติของจิตอยู่ในนั้น

กระดูกสันหลังมีข้อกระดูก 24 ข้อ ในคนกระดูกสันหลังเป็นโครงสร้างกระดูกหลัก อวัยวะภายในทั้งหมดล้วนต่ออยู่กับกระดูกสันหลังนี้ทั้งสิ้น กระดูกสันหลังยังทำหน้าพยุงลำตัวของร่างกายเอาไว้ แต่โครงสร้างของกระดูกสันหลังก็ยังไม่สำคัญเท่ากับ การทำงานของมันที่เป็นเส้นทางและเป็นปัจจัยในการบำรุงหล่อเลี้ยงและรักษาชีวิต พื้นฐานของมวยไท่จี๋ก็อิงอยู่บนความจริงในเรื่องนี้

เมื่อผู้เริ่มหัดมวยไท่จี๋ เขาควรระวังจิตกับชี่ให้จมอยู่ที่จุดตันเถียน แต่ก็อย่าไปบีบคั้นมัน นี่แหละคือ ความหมายของคำพูด “ จงแสวงหาการปล่อยวางใจ “ กับ “ เจ้าบ้านอยู่ที่บ้านหรือไม่ “ ในเต๋าและเซน

หลังจากที่ผ่านการฝึกอย่างยาวนาน ชี่จะไหลผ่านก้นกบอย่างเป็นธรรมชาติ แล่นไปตามกระดูกสันหลังขึ้นไปจนถึงกลางกระหม่อมศีรษะ ก่อนที่จะไหลกลับลงมาสู่จุดตันเถียน นี่เป็นการผนึกวงโคจรของชี่ในท่อด้านหน้ากับท่อด้านหลังให้เป็นหนึ่งเดียว และเป็นการเชื่อมหัวใจเข้ากับไตด้วย

การผนึกวงโคจรของชี่แบบนี้ไม่อาจทำได้ในระยะเวลาอันสั้น และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ตัวผู้ฝึกไม่อาจบังคับให้มันเกิดขึ้นได้เลย มันจะต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าผู้ฝึกบรรลุในสิ่งนี้ได้ เขาจะอายุยืนและมีสุขภาพดีเยี่ยมอย่างแน่นอน


 


บทที่ 7 ว่าด้วยแรง



การใช้ ”ชี่ “ ( ปราณ ) และ “ จิ้ง “( กำลังภายใน ) ในมวยไท่จี๋ ขึ้นอยู่กับ2สิ่งนี้ว่าสามารถไหลเวียนอย่างต่อเนื่องเป็นวงโคจรตลอดร่างกายโดยไม่ติดขัดได้หรือไม่

ภายในเอกภพซึ่งมีวัตถุขนาดใหญ่ขนาดดาวเคราะห์หรือเล็กอย่างหยดน้ำฝนหรือหยาดน้ำค้าง จะเห็นได้ว่ารูปร่างโดยธรรมชาติของวัตถุเหล่านี้คือ “ ทรงกลม “

จากรูปร่างที่เป็นทรงกลมของสิ่งเหล่านี้ เราสามารถอนุมานเกี่ยวกับแก่นแท้ การทำงาน และองค์ประกอบของมันที่มีส่วนคล้ายคลึงกับมวยไท่จี๋ในหลายๆทางได้

ดาวเคราะห์ที่ใหญ่มากอย่างโลกใบนี้ เพราะว่ามันมีรูปร่างเป็นทรงกลม มันจึงหมุนรอบตัวเองได้และได้รับการค้ำจุนจากปราณหรือชี่ให้ตั้งอยู่ในอวกาศได้ หากดาวเคราะห์ไม่มีรูปร่างเป็นทรงกลม แม้แต่ชี่แห่งจักรวาลซึ่งสามารถค้ำจุนสรรพสิ่งจะไม่อาจพยุงค้ำมันได้เลย

ทรงกลมยังเป็นรูปร่างที่มีปริมาณจุผิวหน้าได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับรูปทรงแบบอื่น โดยมันเป็นดุลยภาพระหว่างแรงขยายออกข้างนอกกับแรงหดข้างใน

หลักของมวยไท่จี๋ก็ต้องทำให้ร่างกายเป็นทรงกลมเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถสะเทินแรงโจมตีของปรปักษ์ได้ ในขณะที่เมื่อเราโจมตีออกไป ปรปักษ์ยากที่จะสะเทินแรงของเรา

วงกลมยังบรรจุภายในสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมจำนวนนับไม่ถ้วน สิ่งที่กลมจึงแข็งแรงมีพลังยากแก่การทำลายจากพลังภายนอก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าวงกลมนั้นหมุนด้วยความเร็วสูง ในมวยไท่จี๋จึงสามารถใช้แรงของปรปักษ์ย้อนกลับไปทำร้ายตัวของปรปักษ์ได้

นั่นคือ การสะเทินแรงกลายเป็นการเป็นการตอบโต้การโจมตีไปในตัว ในขณะที่ “ ปล่อยจิ้ง “ ออกไป หลังจากที่ปล่อยพลังในแนวเส้นตรงผ่านศูนย์กลางลำตัวของปรปักษ์ ดุจการปล่อยลูกศรออกจากคันธนู ปรปักษืจะปลิวไปดุจลูกศรก็ไม่ปาน


 


บทที่ 8 บำรุงชีวิต


เทคนิคหลักๆของมวยไท่จี๋ก็คือ การบ่มเพาะชี่ และจมชี่ที่จุดตันเถียน ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่อยากเลียนแบบเม่งจื่อผู้ที่เชี่ยวชาญในการบ่มเพาะชี่และปราดเปรื่อง แต่กลับไม่รู้วิธีที่จะบ่มเพาะชี่ให้กับตัวเองได้อย่างไร หรือไม่รู้วิธีฝึกมวยไท่จี๋ที่ถูกต้องแท้จริง

หากผู้ฝึกมวยไท่จี๋แล้วไม่รู้ในสิ่งที่เม่งจื่อกล่าวว่า “ จงแสวงหาจิตที่ปลดปล่อยและผ่อนคลาย “ การบ่มเพาะชี่ของบุคคลผู้นั้นย่อมไร้ความหมายและเป็นการเหนื่อยเปล่า

คัมภีร์โบราณกล่าวว่า จิตกับชี่ต้องอยู่ด้วยกันที่จุดตันเถียน นี่แหละคือ การแสวงหาจิตที่ปลดปล่อยและผ่อนคลายในตำแหน่งที่สมบรูณ์ที่สุดโดยไม่เกิดอันตรายความเสียหาย ไม่ไปบังคับมัน และไม่ลืม หมั่นมีสติอยู่เสมอปล่อยให้ชี่ถูกบ่มเพาะขึ้นมาเองตามธรรมชาติ

แต่การทำเช่นนี้ถึงจะได้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ และผู้ฝึกจะสามารถบ่มเพาะชี่ได้ในระหว่าง เดิน นั่ง ยืน นอน พูด หัวเราะ ดื่ม กิน ผู้ฝึกจะสามารถบ่มเพาะชี่ได้ในทุกๆโอกาสโดยไม่แยกจากชีวิตประจำวัน

ยามที่อยู่ในที่ที่อากาศดี จงสูดหายใจเข้าไปให้มาก หากอยู่ในที่อากาศแย่ พยายามหายใจเข้าไปแต่น้อย ยามเดินพยายามใส่ใจกับการแบ่งแยกความเต็มความว่างของเท้า ยามนั่งพยายามให้กระดูกสันหลังตรง ยามยืนขาข้างหนึ่งต้องเป็นความเต็มเกาะติดแน่นกับพื้นดิน ยามนอนผ่อนคลายร่างกายทั้งหมด ยามพูดหรือหัวเราะอย่าให้มีเสียงดังเกินไป กินอาหารแต่พอดี อย่ากินเร็วเกินไป และอย่าพูดหรือหัวเราะในระหว่างกินอาหาร หากทำได้เช่นนี้ก็เท่ากับว่า ตัวเราฝึกมวยไท่จี๋อยู่ตลอดเวลา

 

 


บทที่ 9 เป็นคุณต่ออวัยวะภายใน



ศิลปะการต่อสู้ของจีนแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ มวยภายนอก กับ มวยภายใน หรือมวยเส้าหลิน กับ สายบู๊ตึ้ง

สายบู๊ตึ้ง คือมวยภายในของเซียนที่ชื่อจางซันฟง ซึ่งเรียกกันว่า มวยไท่จี๋ สุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวว่า “มวยภายในฝึกฝนชี่ ส่วนมวยภายนอกฝึกฝนกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูกและผิวหนัง “ สิ่งนี้ย่อมชี้ชัดแล้วว่า มวยภายในเน้นความสำคัญของชี่เพียงใด

ในการบ่มเพาะชี่นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจมชี่ไปที่จุดตันเถียน เพื่อให้ชี่เกิดความแข็งแกร่ง เมื่อชี่แข็งแรงแล้วเลือดจะเต็มและอุดมสมบรูณ์ อวัยวะภายในจะได้ประโยชน์ เพราะตันเถียนอยู่ใต้สะดือ 1.3 นิ้ว ส่วนอวัยวะภายในอยู่เหนือสะดือ เมื่อชี่จมลงที่จุดตันเถียน อวัยวะภายในจะผ่อนคลายและเคลื่อนไหว เปิดและปิดพร้อมกับการหายใจ

ยิ่งเมื่อประกอบกับการบริหารร่างกายด้วยการหมุนเอว แก่วงแขน ห่อหน้าอก ย่างเท้า ล้วนทำให้เกิดการนวดเฟ้นอวัยวะภายในซึ่งกันและกัน เป็นการบริหารอวัยวะภายในทำให้แข็งแรง กระจายความชื้นร้อนที่เป็นสาเหตุของความเจ็บไข้

การจมชี่ที่จุดตันเถียนจึงมีผลต่อการบริหารอวัยวะภายใน มวยไท่จี๋จึงช่วยบำรุงอวัยวะภายในได้ ในการฝึกมวยชนิดนี้ จึงอย่าแสวงหาพลังภายนอก แต่จงแสวงหาพลังภายใน นั่นคือ ชี่ซึ่งเป็นหัวใจของมวยชนิดนี้


 


บทที่ 10 หายจากวัณโรค



หลายคนอาจจะสงสัยว่า มวยไท่จี๋มีประโยชน์อย่างไรในการรักษาโรคปอดโดยเฉพาะวัณโรคได้อย่างไร

มวยไท่จี๋จะใช้ได้ผลกับคนที่สามารถกิน และเดินได้ แต่ไม่ใช่กับคนป่วยที่เคลื่อนไหวไม่ได้แล้ว

เพราะก่อนอื่นมวยไท่จี๋จะใช้จิตของผู้ฝึกไประดมชี่ก่อน หลังจากนั้นแล้วจึงใช้ชี่ไปเคลื่อนไหวร่างกาย การเคลื่อนไหวของมวยไท่จี๋เป็นการยืดจากข้างในออกไปสู่ข้างนอก

มันเริ่มต้นจากอวัยวะภายในและถูกถ่ายทอดผ่านการเคลื่อนไหวของแขนและขา นี่คือกระบวนการจมชี่ลงสู่จุดตันเถียน ซึ่งจะทำให้ผู้ฝึกอ่อนนุ่มขึ้นโดยผ่านการเบาตัวและความว่องไว โดยห้ามใช้แรงแต่อย่างใด เพียงแต่บ่มเพาะชี่ และให้โลหิตไหลเวียนอย่างสะดวกเท่านั้น ยืดเส้นสายของตัวเราและถนอมพลังงานเอาไว้

ในขณะร่ายรำมวยไท่จี๋ อย่าไปรีบหวังผลเร็วนัก การขาดแคลนพลังงานที่ไตกับที่ม้ามก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคปอด การจมชี่ที่จุดตันเถียน จะไปเพิ่มชี่ให้กับไตและม้าม นี่คือคุณประโยชน์ของมวยไท่จี๋ที่ไม่มีใครโต้แย้งได้


 


บทที่ 11 ระดับต่างๆของมวยไท่จี๋

 

(ท่อนที่ 1)



มวยไท่จี๋แบ่งเป็น 3ระดับใหญ่ๆคือ ระดับมนุษย์ ระดับดิน และระดับฟ้า

ระดับมนุษย์จะผ่อนคลายเอ็นและกล้ามเนื้อของผู้ฝึกรวมทั้งไปกระตุ้นโลหิตของผู้ฝึกให้มีชิวิตชีวา

ระดับดิน” จะเปิดทวารต่างๆ “ ทำให้ชี่หรือลมปราณทะลวงผ่านจุดต่างๆในร่างกายได้

ส่วนระดับฟ้าจะเป็นการบริหารประสาทสัมผัสต่างๆ

ในแต่ละระดับยังแบ่งออกเป็น 3ขั้นย่อย ขั้นที่หนึ่งของระดับมนุษย์คือการผ่อนคลาย เอ็นของผู้ฝึกจากช่วงไหล่ถึงปลายนิ้ว ขั้นที่สองคือการผ่อนคลายเอ็นของผู้ฝึกจากสะโพกจนถึงฝ่าเท้า และขั้นที่สามคือการผ่อนคลายเอ็นของผู้ฝึกจากก้นกบถึงกลางกระหม่อมศรีษะ

ขั้นที่หนึ่งของระดับดินคือ การจมชี่ลงสู่จุดตันเถียน ขั้นที่สองคือการเคลื่อนชี่ไปจนถึงฝ่าเท้า และขั้นที่สามคือการไหลเวียนชี่จนกระทั่งมันไปถึงยอดศรีษะ

ขั้นที่หนึ่งของระดับฟ้าคือ “แรงฟัง“ ขั้นที่สองคือ “แรงเข้าใจ” และขั้นที่สามคือ “การรู้แจ้ง” อันเป็นชี่ได้รับการพัฒนาขั้นสูงสุดจนกลายเป็น "พลังจิต"

 

 

(ท่อนที่2)


ระดับมนุษย์

( 1 ) “ เทคนิคการผ่อนคลายเอ็นจากไหล่ถึงข้อมือ “ ถ้าเส้นเอ็นผ่อนคลายโลหิตจะไหลเวียนได้ดีขึ้น ลำดับการฝึกผ่อนคลายให้เริ่มจากข้อมือก่อนแล้วจึงไปที่ศอกและไหล่ตามลำดับ โดยจะต้องไม่ใช้แรงใดๆ มีแต่ความอ่อนนุ่มอ่อนหยุ่นเท่านั้นที่จะทำให้ผู้ฝึกค่อยๆก้าวหน้าไปตามลำดับได้

การฝึกนี้ตั้งอยู่บนหลัก “ แสวงหาความตรง จากความโค้ง “ ของมวยไท่จี๋ ผู้ฝึกจะต้องผ่อนคลายเส้นเอ็นไปจนถึงปลายนิ้วกลาง นี่คือ ขั้นที่หนึ่งของระดับมนุษย์

( 2 ) “ การผ่อนคลายเอ็นจากสะโพกถึงปลายเท้า “ ใช้เทคนิคเดียวกับข้างต้น แต่ต่างกันตรงที่ในขั้นนี้ เน้นที่การจำแนก ระหว่าง “ เบา “ และ “ หนัก “ และ “จริง ” กับ “ ลวง “

เท้าจะต้องรับน้ำหนักของร่างกายทั้งหมดของผู้ฝึก เท้าจึงไม่อาจเคลื่อนไหวได้อิสระเท่ามือ ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่อง “จริง ” กับ “ ลวง ” ของเท้า แม้แต่ผู้ฝึกศิลปะต่อสู้บางคนก็เช่นกัน

ในขณะที่ผู้ฝึกมวยไท่จี๋ที่แท้จริงนั้นจะต้องวางน้ำหนักตัวไว้ที่ขาข้างหนึ่งเสมอ และเปลี่ยนแปรถ่ายน้ำหนักไปที่ขาข้างหนึ่งโดยไม่ใช้แรงจากสะโพกผ่านหัวเข่าไปจนถึงส้นเท้า

สามส่วนนี้จำเป็นต้องผ่อนคลาย น้ำหนักจะอยู่ที่กลางฝ่าเท้าที่ถูกพยุงโดยพื้นดิน การที่เท้าแบ่งแยกออกเป็น “จริง ”กับ “ ลวง ” ก็เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของมือและแขน ตามหลักการแปรเปลี่ยนหยิน- หยัง แต่ตรงข้ามกัน กล่าวคือ ถ้าเท้าขวา”จริง” แขนซ้ายจะเป็นส่วนที่”จริง” และถ้าขาซ้าย”ลวง” แขนขวาก็จะเป็นแขน “ ลวง” การไม่จำแนก “ จริง” และ “ลวง” ให้สมบรูณ์ เรียกว่าเป็น “การหนักคู่ “ ในวิชาฝีมือ นี่แหละคือขั้นที่สองของระดับมนุษย์

( 3 ) “ การผ่อนคลายจากก้นกบถึงศีรษะ ” ใช้เทคนิคเดียวกับข้างต้น กระดูกสันหลังที่ประกอบด้วยข้อกระดูกจำนวนมากเป็นกระดูกหลักของร่างกาย กระดูกสันหลังนี้จะต้องอ่อนหยุ่นโดยผ่านเส้นเอ็นที่เกาะยึดกระดูกที่อ่อนหยุ่น เคล็ดที่สำคัญคือจะต้องเก็บก้นกบให้ตั้งตรงอยู่เสมอ และศีรษะเหมือนกับถูกแขวนด้วยเส้นด้าย นี่แหละคือ ขั้นที่สามของระดับมนุษย์


 

(ท่อนที่3)


ระดับดิน

( 1 ) “ จมชี่ลงสู่ตันเถียน” นี่คือ หลักสำคัญในการบ่มเพาะชี่ การจะทำให้ชี่จมสู่ตันเถียนได้ การหายใจของผู้นั้นจะต้องละเอียด ยาวเงียบและช้า

โดยการหายใจเข้าไปถึงจุดตันเถียนอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ ชี่ซึ่งเคลื่อนที่ไปพร้อมๆกับจิตจะค่อยๆสะสมบ่มเพาะที่นั่น ภายหลังจากการฝึกฝนวันแล้ววันเล่าอย่างต่อเนื่องยาวนานการสะสมชี่ที่จุดตันเถียนนี้จะต้องดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ และไม่ใช่เป็นการขืนบังคับ

ในตอนแรกผู้ฝึกจะรู้สึกว่าไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลยที่จะทำให้ชี่จมลง ผู้ฝึกจะต้องจมไหล่และศอกเบาๆก่อน จากนั้นจึงดึงชี่ไปที่กระเพาะ ผ่อนคลายหน้าอกลงมา ยกหลังขึ้นเบาๆ จึงจะทำให้ผู้ฝึกสามารถชักนำชี่ไปที่ตันเถียนได้ นี่แหละคือขั้นที่หนึ่งของระดับดิน

( 2 ) “การเคลื่อนชี่ไปที่แขนและขา” หลังจากจมชี่สู่ตันเถียนแล้ว ชี่จะสามารถถูกจิตชักนำให้ไปที่สะโพก และลงไปที่ฝ่าเท้าได้

กระบวนการนี้นักพรตเต๋ากล่าวว่า “มนุษย์ที่แท้จะหายใจไปถึงฝ่าเท้า” ซึ่งก็คือเคล็ดการเดินชี่ไปถึงฝ่าเท้านั่นเองจากนั้นใช้จิตไปชักนำชี่ไปที่ไหล่ ศอก และข้อมือ ฝึกจนกระทั่งข้อต่อที่แขนและขาทั้งสองข้างถูก “เปิด ” ให้ชี่ไหลอย่างสะดวกได้ ชี่จะไหลไปถึงจุดบ่อน้ำพุที่ฝ่าเท้า และจุดที่ใจกลางฝ่ามือ จนถึงปลายนิ้วกลาง

หากฝึกชี่ได้ถึงขั้นนี้ผู้ฝึกก็จะเข้าใจความหมายของคัมภีร์มวยไท่จี๋ที่กล่าวว่า “จิตเป็นตัวเคลื่อนชี่ และชี่เป็นตัวเคลื่อนร่างกาย ”ได้ นี่แหละคือขั้นที่สองของระดับดิน

( 3 ) “ การไหลเวียนชี่จากก้นกบไปถึงยอดศรีษะ ” นี่หมายถึงการเคลื่อนชี่ทะลวงผ่านประตูสามประตูในร่างกายของการเดินลมปราณจุลจักรวาล การเคลื่อนชี่ทะลวงผ่านก้นกบเป็นส่วนที่ยากที่สุด

หลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึกชี่จมลงสู่ตันเถียนเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ชี่ของผู้น้นจะไปสู่ก้นกบเองโดยอัตโนมัติ ผู้ฝึกจะต้องไม่ฝืน ไม่บังคับชี่ให้ทะลวงผ่านตำแหน่งนี้ การพยายามทำเช่นนั้นนอกจากสูญเปล่าแล้วยังอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ด้วย จงระวังให้ดี

หากฝึกจนชี่สามารถผ่านก้นกบได้แล้ว ชี่จะแพร่ซึมและถูกยกขึ้นไปถึงไหล่ จากไหล่ผ่านบริเวณลำคอ ก่อนไปถึงกลางกระหม่อมศีรษะ ทั้งหมดเกิดขึ้นในหนทางเดียวกัน คือผ่านประตูทวารไปก่อน จากนั้นจึงค่อยๆเข้าใกล้ “เต๋า ” โดยได้รับสุขภาพดีและอายุยืนเป็นรางวัลตามธรรมชาติ นี่แหละคือ ขั้นที่สามของระดับดิน




(ท่อนที่4)

 

ระดับฟ้า

( 1 ) “ แรงฟังหรือทักษะในการฟังจิ้ง ” อะไรคือจิ้ง ( แรงกังฟู ) ? และเราจะฟังมันได้อย่างไร ? นี่เป็นปัญหาที่ผู้ฝึกมวยไท่จี๋จะต้องศึกษาอย่างตั้งใจ

จื้งต่างจากกำลังแรงทั่วๆไป ดังที่คัมภีร์มวยไท่จี๋กล่าวไว้ว่า “จิ้งมาจากเส้นเอ็นในขณะที่กำลังหยาบมาจากกระดูก” นี่คือ ความจริงที่ลึกซึ้งมาก ที่แม้จนถึงบัดนี้ ผู้ฝึกส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจ

เพราะฉะนั้นต่อให้พวกเขาฝึกจนตายก็ไม่มีทางบรรลุและเข้าใจความล้ำลึกของมวยไท่จี๋ได้ จิ้งเป็นจิ้งเพราะมันมาจากความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นและเส้นโลหิตที่มีพลังดีดเด้ง ซึ่งทำให้สามารถเกาะติดปรปักษ์ได้

เมื่อเราเกาะติดปรปักษ์ ชี่ของเราก็จะสัมผัสกับชี่ของปรปักษ์ เราจึงสามารถคาดการณ์ความตั้งใจและเจตนาของเขาได้ ซึ่งมวยไท่จี๋เรียกว่า “ ฟัง” ซึ่งคัมภีร์มวยไท่จี๋ได้กล่าวถึงแรงฟังว่า “ ถ้าปรปักษ์เคลื่อนแม้เพียงเล็กน้อย เราเป็นฝ่ายเคลื่อนก่อน” นี่แหละคือขั้นที่หนึ่งของระดับฟ้า

( 2 ) “แรงเข้าใจหรือทักษะในการเข้าใจจิ้ง ” ความแตกต่างระหว่างแรงฟังกับแรงเข้าใจเป็นความแตกต่างระหว่างความตื้นกับความลึก หรือความหยาบกับความละเอียด ซึ่งยากแก่การอธิบาย เอาเป็นว่าเพราะเรา”เข้าใจ” แรงของปรปักษ์ เราจึงสามารถเคลื่อนได้ก่อน

การมีจังหวะและตำแหน่งที่เหมาะสมในการรับรุกอยู่ที่ตัวเราเป็นคนกำหนดไม่ใช่อยู่ที่ปรปักษ์ ยิ่งก้าวหน้าในการฝึกฝนมากเท่าไหร่ ความหยาบก็จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นความละเอียดดังที่คัมภีร์มวยไท่จี๋ได้กล่าวไว้ว่า “ต่อให้ปรปักษ์เคลื่อนอย่างแผ่วเบาเพียงใด เราก็สามารถได้ยินและเข้าใจได้”

ชี่เคลื่อนตัวผ่านเส้นเอ็น เส้นโลหิต เยื่อบุและกระบังลม ก่อให้เกิดจิ้งสี่ชนิดคือแรงรับ แรงปกปิด แรงพร้อมที่จะโจมตีและแรงโจมตี

ถ้าชี่ของปรปักษ์อยู่ที่เส้นเอ็น แสดงว่า เขากำลังตั้งรับ ถ้าอยู่ที่เส้นโลหิต แสดงว่าเขากำลังปกปิด ถ้าอยู่ที่เยื่อบุกล้ามเนื้อ แสดงว่าเขาพร้อมที่จะโจมตี ถ้าอยู่ที่กระบังลม แสดงว่าเขากำลังเตรียมที่จะโจมตี นี่แหละคือขั้นที่สองของระดับฟ้า

( 3 ) “ขั้นรู้แจ้ง สามารถในทุกทาง” ขั้นแห่งการรู้แจ้งของมวยไท่จี๋นี้ยากแก่การอธิบายยิ่งนัก คัมภีร์มวยไท่จี๋ได้กล่าวไว้ว่า “ตลอดร่างกาย จิตจะอิงอยู่กับจิง(พลังทางเพศ ) และ เสิน (จิตวิญญาณ) ไม่ใช่ชี่ ถ้าจิตอิงอยู่กับชี่มันจะหยุดนิ่ง ถ้าไม่มีชี่จะกลายเป็นเหล็กกล้าบริสุทธิ์”คำพูดนี้ฟังดูแปลกมากราวกับว่า ชี่เป็นสิ่งไม่สำคัญเลย แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

แท้ที่จริงประโยคนี้ ต้องการจะบอกเราว่า “ เมื่อชี่พัฒนาถึงระดับสูงสุด มันจะกลายเป็นพลังจิต” เมื่อเพ่งสายตาไปที่ใด จิตจะไปถึงที่นั่นและขี่จะเคลื่อนไหวตาม นำไปสู่ศักยภาพที่ไร้ข้อจำกัด นี่แหละคือขั้นที่สามของระดับฟ้า




บทที่ 12 เข้าใจการสร้างและการทำลาย



บทนี้อาจารย์เจิ้งมั่นชิงกล่าวถึง” สิบสามท่า” ของมวยไท่จี๋ ของจางซันฟงว่า หมายถึง “แปดประตู ” กับ” ห้าก้าว”

“แปดประตู ” หมายถึง แปดทิศ ซึ่งในมวยไท่จี๋หมายถึง ท่าเผิง ลู่ จี่ อั่น ไฉ่ เลี้ยะ เส่า เค่า

ส่วน” ห้าก้าว” หมายถึง เบญจธาตุหรือธาตุทั้งห้า ซึ่งในมวยไท่จี๋หรือตีความในสมัยก่อนหมายถึง การเคลื่อนไปข้างหน้า เคลื่อนไปข้างหลัง ดูซ้าย ดูขวา และยืนตรงกลางอย่างมีดุลภาพ



บทที่ 13 เคล็ดลับที่ถ่ายทอดจากปากอาจารย์หยังเฉิงฟู่



ผม(เจิ้งมั่นชิง)ไม่บังอาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าผมได้เรียนรู้ทุกอย่างจากท่านอาจารย์หยังเฉิงฟู่ ครูมวยไท่จี๋ของผม แต่ไม่ว่าผมจะเรียนรู้เคล็ดลับมวยไท่จี๋ จากอาจารย์ผมมาได้มากหรือได้น้อยก็ตาม ผมรู้อย่างหนึ่งว่า ผมจะทำบาปอย่างร้ายแรง หากผมจะปกปิดเก็บเคล็ดลับเหล่านี้เอาไว้เป็นสมบัติของผมตามลำพังในขณะที่มาตุภูมิของผมกำลังอยู่ในภาวะล่มสลาย

ผมจึงคิดที่จะเปิดเผยเคล็ดลับเหล่านี้ออกไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ทุกครั้งที่ผมคิดจะเผยแพร่เคล็ดลับเหล่านี้ออกไป ผมกลับต้องล้มเลิกความตั้งใจของผม เพราะผมเกรงว่าจะถ่ายทอดให้กับคนผิด ผมคิดเรื่องนี้หลายครั้งจนนับไม่ถ้วน ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเปิดเผยเคล็ดลับสิบสองประการของมวยไท่จี๋ดังต่อไปนี้

เคล็ดลับเหล่านี้ครูของผมไม่ยอมถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นโดยง่ายเลยและท่านมักพูดกับผมเสมอว่า “ถ้าฉันไม่บอกเธอ ต่อให้เธอฝึกมวยไท่จี๋ไปอีกสามชาติ ก็ยากที่จะบรรลุ” เพราะครูผมท่านเมตตาตัวผมแท้ๆ ท่านจึงถ่ายทอดเคล็ดลับสิบสองประการของมวยไท่จี๋นี้ให้แก่ผม ซึ่งผมก็หวังว่าเมื่อผมเปิดเผยออกไปแล้ว ผู้อื่นจะนำมันไปใช้เพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ



เคล็ดลับสิบสองประการของมวยไท่จี๋จากปากของหยังเฉิงฟู่
 

(1) “ผ่อนคลาย ” ครูผมย้ำคำพูดนี้อยู่เสมอวันละหลายๆครั้งในขณะที่ท่านสอนมวยไท่จี๋ให้ผมว่า “จงผ่อนคลาย จงผ่อนคลายอย่างสิ้นเชิง ร่างกายของเธอจะต้องผ่อนคลายตลอดร่าง” ถ้าหากไม่ผ่อนคลาย ร่างกายผู้นั้นจะเหมือนกระสอบทรายถุงหนึ่ง คำว่า“ผ่อนคลาย ” นี้จะทำให้เส้นเอ็นอ่อนนุ่มและเส้นโลหิตตลอดร่างกายอ่อนนุ่มขึ้นด้วย จะปล่อยให้มีความเกร็งเกิดขึ้น แม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้

(2) “จม” เมื่อผู้ฝึกสามารถผ่อนคลายได้อย่างสมบรูณ์ ถึงจะสามารถ“จม”ได้ การ“จม” กับการ“ผ่อนคลาย ” โดยพื้นฐานแล้วจึงเป็นสิ่งเดียวกัน การ”จม” หมายถึง การไม่ลอย การลอยทำให้มวยไท่จี๋เสื่อมสภาพ การทำให้ร่างกายจมเป็นสิ่งดี แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การทำให้”ชี่” จมเพื่อที่”เสิน (จิตวิญญาณ ) ”จะได้รวมตัว

(3) แบ่งแยก “จริง” กับ “ลวง” การถ่ายเทน้ำหนักของร่างกายเป็นการแปรเปลี่ยน“จริง” กับ “ลวง” ในมือและขา ในทุกๆกระบวนท่าของมวยไท่จี๋จะมี“จริง” กับ “ลวง” ดำรงอยู่ทั้งสิ้น โดยที่แขนขวากับเท้าซ้ายเป็นวงจรพลัง เดียวกัน และแขนซ้ายกับเท้าขวาก็เชื่อมต่อเป็นวงจรพลังเดียวกัน ดังนั้น ถ้าแขนขวากับเท้าซ้ายเป็นสิ่งจริงในขณะนั้น แขนซ้ายและเท้าขวาก็เป็นสิ่งลวง และในทำนองกลับกัน
สรุปสั้นๆก็คือน้ำหนักตัวทั้งหมดของร่างกายจะต้องอยู่บนขาเดียวเท่านั้น ไม่ให้เกิดการหนักคู่ โดยลำตัวกับก้นกบจะต้องตั้งตรง เพื่อไม่ให้เสียสมดุลของร่างกาย หลังท่อนบนเป็นกุญแจในการถ่ายเทพลังจากมือขวาไปมือซ้าย และในทำนองกลับกัน ส่วนก้นกบเป็นกุญแจสำคัญในการถ่ายเทพลังจากขาขวาไปขาซ้ายและในทำนองกลับกันด้วย

(4) “ดึงพลังขึ้นไปที่ส่วนยอดของศีรษะ” พลังที่ขึ้นไปบนกลางกระหม่อมของศีรษะจะต้องเบาและคล่องแคล่ว เมื่อชี่ขึ้นไปถึงยอดศีรษะ ผู้นั้นจะรู้สึกเหมือนกับว่าศีรษะของเขาถูกแขวนด้วยเส้นด้ายเล็กๆ เมื่อรำมวยไท่จี๋ ลำคอของผู้ฝึกจะต้องตั้งตรงเพื่อให้ ชี่กับเสินแล่นขึ้นไปถึงยอดศีรษะได้

( 5 ) “เมื่อหินที่ใช้เป็นโม่หมุน แต่แกนของมันต้องไม่หมุน” การหมุนของหินที่ใช้เป็นโม่ หมายถึง การหมุนของเอว ส่วนคำว่าแกนไม่หมุนนั้น หมายถึง ภาวะสมดุลที่มาจากการจมชี่ลงสู่จุดตันเถียนของผู้นั้น

( 6 ) “ การคว้าหางนกกระจอก จะต้องเหมือนชายสองคนกำลังเลื้อยต้นไม้” นี่เป็นเคล็ดของวิชาผลักมือของมวยไท่จี๋ ในการใช้ท่าเผิง ลู่ จี่ อั่น ซึ่งจะต้องทำเหมือนกับคนสองคนกำลังเลื่อยต้นไม้ การจะผลักมือให้ดีก็เหมือนกับการเลื่อยต้นไม้อย่างมีประสิทธิภาพราบรื่น คือผู้ฝึกจะต้องละทิ้งตนเองผ่อนตามคนอื่น และตามการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเกาะติด

( 7 ) “ฉันไม่ใช่ที่แขวนเนื้อชำแหละ ทำไมคุณถึงมาแขวนบนตัวฉัน” มวยไท่จี๋หลีกเลี่ยงความแช่นิ่งดุจเนื้อชำแหละที่ตายแล้วและถูกแขวนบนตะขอในตลาดขายเนื้อสด ซึ่งปราศจากจิตวิญญาณ ความมีชีวิตชีวา แต่มวยไท่จี๋มุ่งแสวงหาความผ่อนคลาย และความคล่องแคล่วตลอดทั้งร่าง นี่เป็นเคล็ดลับที่สำคัญมากในการฝึกมวยไท่จี๋ที่มีความหมายลุ่มลึกยิ่ง ผู้ฝึกมวยไท่จี๋จะต้องระวังไม่ให้การฝึกมวยของตน เป็นประหนึ่งเนื้อชำแหละที่ถูกแขวนบนตะขอในตลาด

( 8 ) “จงทำตัวเหมือนตุ๊กตาล้มลุก ที่ไม่มีวันล้ม” ลำตัวและร่างกายทั้งหมดจะต้องเบาและคล่องแคล่ว โดยมีรากอยู่ที่เท้า ถ้าผู้ฝึกไม่สามารถ”ผ่อนคลาย” และ “จม” ในเวลาเดียวกันได้แล้ว เขาจะไม่มีทางกลายเป็นตุ๊กตาล้มลุกได้เลย

( 9 ) ”จะต้องสามารถปล่อยจิ้งได้” จิ้งเป็นแรงกังฟูที่อ่อนยืดหยุ่นและมีชีวิตชีวา ซึ่งถูกปล่อยมาจากเส้นเอ็น การปล่อยจิ้งเป็นเหมือนการปล่อยลูกศรออกมาจากคันธนู ตัวคันธนูและสายธนูนั้นอ่อนโค้ง แต่สามารถปล่อยลูกธนูออกไปทำร้ายปรปักษ์ได้
การปล่อยจิ้งนั้น ครูผมเน้นว่ามันสำคัญที่โอกาสและจังหวะจะต้องเหมาะสมพอดี เท้า ขา และเอวจะต้องทำงานประสานพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้สามารถรวมพลังได้

( 10 ) “ยามรำมวย ร่างกายจะต้องตรง การเคลื่อนไหวของร่างกายจะต้องราบเรียบสม่ำเสมอ’” คำพูดนี้ง่ายมากต่อการทำความเข้าใจแต่ยากในการปฎิบัติ มีแต่ผู้ที่ตั้งใจฝึกฝนอย่างหนักอย่างเอาจริงเอาจังเท่านั้น ถึงจะทำตามคำพูดประโยคนี้ได้

( 11 ) “ตั้งใจศึกษาท่าเผิง ลู่ จี่ อั่นอย่างจริงจังและจริงใจ” มีเคล็ดลับบางอย่างที่ครูมวยจะต้องถ่ายทอดด้วยปากถึงจะทำให้การฝึกท่าเผิง ลู่ จี่ อั่น รุดหน้าไปได้

( 12 ) “ใช้แรงสี่ตำลึงไปปาดแรงพันชั่ง” คนธรรมดายากจะเชื่อว่า แรงสี่ตำลึงสามารถปาดแรงพันชั่งได้ แต่มวยไท่จี๋สามารถทำเช่นนั้นได้ ผู้ฝึกจะรู้เองเมื่อได้เรียนมวยไท่จี๋กับครูมวยที่แท้จริงtagแท็กรูปภาพpinเพิ่มตำแหน่งที่ตั้งpencil

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้