บูรณาโยคะ

บูรณาโยคะ

บูรณาโยคะ

โดย สุวินัย ภรณวลัย



ตอนที่ 1

วิถีของศรีอรพินโธ

ผม (สุวินัย) ได้ยินชื่อของศรีอรพินโธและได้หนังสือที่เขาแต่งในระหว่างที่ผมมาหาท่านไสบาบาที่อินเดียในเดือนกรกฎาคมพ.ศ.2540 หลังจากกลับมาเมืองไทย ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและวิถีของศรีอรพินโธก็หลั่งไหลเข้ามาหาตัวผม จนผมต้องเริ่มศึกษาเรื่องราวของเขาอย่างจริงจัง... และเพียงแค่ผมได้ศึกษาชีวิตและวิถีของศรีอรพินโธเท่านั้น หัวใจผมก็สั่นสะท้านอย่างรุนแรงเมื่อได้รับรู้ว่าชีวิตและวิถีของผมในขณะนี้ กำลังเจริญรอยตามชีวิตและวิถีของศรีอรพินโธโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าผมจะไม่อาจเทียบท่านได้เลยในขอบเขตขนาดความยิ่งใหญ่ที่ท่านได้กระทำลงไป

ศรีอรพินโธเกิดที่กัลกัตตาในวันที่ 15 เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1872

บิดาของเขาเป็นแพทย์ผ่าตัดผู้มีชื่อเสียงและนิยมการใช้ชีวิตแบบยุโรปหรือแบบตะวันตก

ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นในอารยธรรมตะวันตก บิดาของเขาจึงต้องการให้ลูกชายทั้งสามของท่านรับการศึกษาแบบอังกฤษเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง ศรีอรพินโธจึงถูกบิดาส่งไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนคอนแวนต์ในอินเดีย ตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ และอีกสองปีต่อมาคือในปี ค.ศ.1879 บิดาของเขาได้ส่งเขาไปเรียนต่อประเทศอังกฤษเป็นเวลาทั้งหมด 14 ปีเต็ม

ในตอนแรกเขาพำนักอยู่ที่บ้านของครอบครัวชาวอังกฤษที่แมนเชสเตอร์ เรียนภาษาลาตินกับครูที่มาสอนพิเศษให้เขาเป็นการส่วนตัว ภาษาลาตินของศรีอรพินโธดีมาก ถึงขนาดเมื่อเขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์ปอลที่กรุงลอนดอนแล้ว ครูใหญ่ของโรงเรียนนี้ถึงกับยินดีลงมาสอนภาษากรีกให้แก่เขาเป็นการส่วนตัวโดยเฉพาะ

ศรีอรพินโธใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะบทกลอน นิยาย วรรณกรรม และประวัติศาสตร์ยุโรป ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน นอกจากนี้เขายังชอบเขียนบทกลอนเองอีกด้วย หลังจากเรียนจบจากโรงเรียนเซนต์ปอล เขาได้ทุนการศึกษาให้เข้าเรียนต่อที่คิงคองเลจในเคมบริดจ์ เขาเป็นนักศึกษาเรียนดีจนได้รับรางวัล

เมื่อศรีอรพินโธมีอายุแค่ 11 ขวบ เขาก็เริ่มตื่นตัวทางการเมือง และมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนักปฏิวัติเพื่อปลดปล่อยอินเดียให้มีเอกราชจากประเทศอังกฤษ เพราะฉะนั้นในช่วงที่เป็นนักศึกษาของเคมบริดจ์ เขาได้เป็นผู้นำนักศึกษาอินเดียในอังกฤษจัดตั้งสมาคมลับเพื่อการกู้ชาติขึ้นมา

แต่ความอยากเป็นนักปฏิวัติของศรีอรพินโธขัดแย้งกับความประสงค์ของบิดาของเขาที่อยากให้เขาเป็นขุนนาง และต้องการให้เขาสอบเข้าเป็นข้าราชการระดับสูงของประเทศอินเดีย

ในปี ค.ศ.1890 ศรีอรพินโธจึงต้องแกล้งมาสอบไม่ทัน และถูกตัดสิทธิ์หมดสภาพการเป็นข้าราชการระดับสูงเพื่อหลีกเลี่ยงพันธะของบิดา

ศรีอรพินโธเดินทางกลับมาตุภูมิในปี ค.ศ.1893 บิดาของเขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจก่อนเขาเดินทางกลับไปถึง

ปี 1893 นี้เป็นปีที่มีความหมายทางจิตวิญญาณมากสำหรับอินเดีย เพราะปีนั้นเป็นปีที่สวามีวิเวกนันทะออกเดินทางไปเผยแผ่วิชาโยคะในโลกตะวันตก ขณะเดียวกันก็เป็นปีที่ศรีอรพินโธในวัย 21 ปี เดินทางกลับสู่โลกตะวันออก เป็นปีที่แอนนี่บีแซนท์ผู้นำสมาคมเทวญาณวิทยาเดินทางมาอินเดียเพื่อต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย ขณะที่ปีนั้นมหาตมะคานธีในวัยหนุ่มเพิ่งเดินทางไปแอฟริกาใต้ เพื่อช่วยต่อสู้ให้แก่ประชาชนอินเดีย

พอศรีอรพินโธย่างเท้าแตะแผ่นดินแม่ที่บอมเบย์ในเดือนมกราคม ปีค.ศ.1893 เท่านั้น ตัวเขาก็ได้รับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาทันที ดังที่เขาได้เคยกล่าวไว้ว่า

"ความสงบอย่างยิ่งยวดได้ลงมาสู่ตัวผม และอยู่ล้อมรอบตัวผมเป็นเวลาหลายเดือนทีเดียว... ตัวผมยังได้รับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเกี่ยวกับอาตมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยคิดถึงมาก่อน และไม่เคยเข้าใจมาก่อน"

หลังจากนั้นไม่นาน ศรีอรพินโธก็ได้มาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และเลขานุการให้แก่มหาราชาในรัฐบาโรดา ก่อนที่จะกลายมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้สอนภาษาและวรรณกรรมอังกฤษ

ที่วิทยาลัยบาโรดา ศรีอรพินโธเป็นอาจารย์สอนหนังสือจนถึงปี ค.ศ.1905 แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เคลื่อนไหวอย่างปิดลับในขบวนการกู้ชาติในระดับแกนนำคนหนึ่ง แม้เขาจะเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบปิดลับอย่างจริงจัง แต่ศรีอรพินโธก็ยังเขียนกลอนอย่างต่อเนื่องอยู่ งานเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนั้นแบ่งได้เป็น 3 ด้านคือ

หนึ่ง เคลื่อนไหวจัดตั้งองค์การลับและปลุกระดมมวลชน เพื่อเตรียมการติดอาวุธลุกฮือ

สอง เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ปลุกกระแสรักชาติในหมู่ประชาชนในวงกว้างและ

สาม จัดตั้งองค์กรมวลชนอย่างเปิดเผยเพื่อเคลื่อนไหวในวงกว้าง โดยใช้กลยุทธ์ไม่ให้ความร่วมมือและต่อต้านแบบอ่อนๆ

ศรีอรพินโธแต่งงานกับ ศรีมาติ มริณาลินี ในปี ค.ศ.1901

แม้เขาจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นในช่วงนั้นก็ตาม แต่เขาก็ต่างกับผู้เคลื่อนไหวคนอื่นๆ ตรงที่ตัวเขาสนใจ "โลกภายใน" และด้านที่เป็นจิตวิญญาณของชีวิตด้วย ดังที่เขาเคยเขียนจดหมายถึงภรรยาของเขาในปี ค.ศ.1905 ว่า...

ขณะนี้ตัวเขามีความคลั่งไคล้อยู่สามอย่าง

ความคลั่งไคล้อย่างที่หนึ่งคือ ศรัทธาที่เชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งว่าคุณธรรม ความสามารถ ความรู้ทั้งหลายที่เขามีอยู่นั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าหรือเบื้องบนประทานให้เขา หาใช่เป็นของเขาเองไม่ เขามีสิทธิ์ใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อตัวเองและครอบครัว เฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ที่เหลือต้องคืนให้แก่พระเจ้า หรือใช้มันเพื่อรับใช้พระเจ้า ถ้าหากเขาใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อบำเรอความสุขความสบายของตนเองแล้ว ตัวเขาจะไม่ต่างกับขโมยคนหนึ่งเลย

ความคลั่งไคล้อย่างที่สองคือ ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะต้องเข้าถึงพระเจ้าโดยตรงให้จงได้ ไม่ว่าตัวเขาจะต้องทุ่มเทอย่างไรก็ตามกับความเชื่อมั่นว่า คนทุกคนสามารถเข้าถึงความสมบูรณ์แห่งบารมีได้ ถ้าหากเดินอยู่บนทางหรือ "มรรค"

ความคลั่งไคล้อย่างที่สามคือ การเคารพบูชาแผ่นดินนี้ดุจแม่บังเกิดเกล้า เขารู้ดีว่าตัวเขามีพลังที่จะยกระดับชนชาตินี้ให้สูงขึ้นได้ด้วยพลังแห่งปัญญาญาณ ด้วยพลังของพรหมัน มิใช่ด้วยดาบ ด้วยปืน หรือพลังทางกายภาพใดๆ เขามีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า พระเจ้าได้ส่งเขาลงมาจุติบนโลกนี้เพื่อปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้

ศรีอรพินโธเริ่มฝึกวิชาลมปราณของโยคะในปี ค.ศ.1904 โดยเรียนจากศิษย์คนหนึ่งของสวามีพรหมนันท์ เพียงแค่เริ่มฝึกเท่านั้น อัจฉริยภาพทางสรีระของเขาก็สำแดงออกมา ดังที่เขาเคยบรรยายไว้ว่า

"ผมมีประสบการณ์โดยตรงด้วยตัวผมเองว่า สมองของผมเต็มเปี่ยมไปด้วยแสง ในขณะที่ผมฝึกปราณายามหรือลมปราณที่บาโรดา ในตอนนั้นผมฝึกลมปราณวันละ 5-6 ชั่วโมง โดยฝึกสามชั่วโมงในช่วงเช้าและสองถึงสามชั่วโมงในช่วงเย็น ทำให้ความสามารถในการเขียนหนังสือและบทกวีของผม ซึ่งแต่ก่อนเขียนได้แค่วันละแปดถึงสิบบรรทัด เพิ่มขึ้นเป็นวันละสองร้อยบรรทัดภายในครึ่งชั่วโมงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ไม่แต่เท่านั้นความสามารถในการจำของผมก็ดีขึ้นมาก และยังมีแรงบันดาลใจ ความคิดใหม่ๆ ที่เฉียบแหลมเกิดขึ้นด้วย ผมได้ฝึกลมปราณจนกระทั่งสามารถมองเห็นกระแสไฟฟ้าที่วิ่งรอบๆ สมองได้"


ตอนที่ 2

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1906 ศรีอรพินโธได้ทำเรื่องลาไปเพิ่มพูนความรู้เป็นเวลาหลายเดือน เขาได้ใช้โอกาสนั้นไปพบครูโยคะชื่อดังเพื่อศึกษาวิชาโยคะเพิ่มเติม และไปเข้าร่วมสมัชชาของผู้รักชาติทั่วทั้งประเทศที่จัดขึ้นที่เบงกาลในเดือนเมษายน

ในที่สุดเขาจึงทำเรื่องย้ายจากบาโรดามารับตำแหน่งเป็นอธิการมหาวิทยาลัยเบงกาลที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ เหตุที่เขาย้ายมาที่เบงกาลนี้ก็เพื่อที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองได้คล่องตัวกว่าเดิมนั่นเอง เพราะเบงกาลเป็นเมืองใหญ่กว่าบาโรดามาก ที่นั่นเขาออกนิตยสาร "กรรมโยคี" และเขียนบทความทางการเมืองชี้นำการเคลื่อนไหวหลายชิ้น จนถูกทางการเพ่งเล็ง กระทั่งถูกจับในข้อหาตีพิมพ์เอกสารต้องห้ามในวันที่ 16 เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1907

แต่ข่าวการจับกุมตัวศรีอรพินโธโดยทางการอังกฤษ กลับทำให้ศรีอรพินโธมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งประเทศในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ที่รักชาติ รพินทรนาถ ฐากูร กวีรางวัลโนเบลคนแรกของเอเชียถึงกับเขียนกลอนสดุดีความรักชาติของศรีอรพินโธออกมา กระแสสังคมที่ออกมาปกป้องศรีอรพินโธ ทำให้เขาถูกคุมขังไม่กี่เดือนเท่านั้นก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา

ระหว่างอยู่ในที่คุมขัง ศรีอรพินโธมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอีกครั้งเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

พอออกจากที่คุมขังเขาก็ทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อ แต่คราวนี้เขาได้ตระหนักแล้วว่า พลังที่ใช้ในงานทางการเมืองของตนนั้นมาจากโยคะ ดังนั้นเขาจึงต้องการคำแนะนำจากโยคีที่จะมาช่วยชี้นำการฝึกโยคะของเขา เพื่อนของเขาจึงติดต่อโยคีผู้มีความสามารถท่านหนึ่งชื่อ วิษณุ เลเล มาช่วยเขา... ในวัยหนุ่มวิษณุก็เป็นผู้รักชาติเช่นกัน แต่การที่เขาได้พบกับคุรุทางจิตวิญญาณหลายท่าน ทำให้ชีวิตของวิษณุหลังจากนั้นต้องกลายมาเป็นโยคีตามครรลองของคุรุของตน

ในช่วงปลายปี ค.ศ.1907 ศรีอรพินโธได้พบกับ วิษณุ เลเล ที่บ้านเพื่อน วิษณุแนะนำให้เขายุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองพักหนึ่งเพื่อสะสมพลังให้แก่จิตก่อน ศรีอรพินโธเห็นด้วย ทั้งคู่จึงเก็บตัวอยู่ในห้องห้องหนึ่งเป็นเวลาสามวันสามคืนเพื่อฝึกโยคะ

ศรีอรพินโธได้เล่าประสบการณ์ในตอนนั้นให้ฟังว่า

"ผมถูกวิษณุจับให้นั่งลงและทำสมาธิวิปัสสนาให้เห็นว่า ความคิดทั้งหลายของผมนั้นล้วนมาจากข้างนอกตัวผม เพราะฉะนั้นผมจะต้องขับมันออกไป ก่อนที่มันจะเข้ามาในหัวผม เมื่อผมนั่งวิปัสสนาตามที่เขาบอกผมก็เห็นเช่นนั้นจริงๆ

ผมเห็นกระทั่งว่าเจ้าตัวความคิดมันค่อยๆ คืบคลานเข้ามาหาผมกำลังจะเข้าหัวผม และผมก็สามารถขับมันออกไปก่อนที่มันจะเข้ามาได้ ในช่วงสามวันที่ผมฝึกสมาธิกับวิษณุนั้น จิตของผมนิ่งมากและเปี่ยมไปด้วยความสงบอย่างแท้จริง"

ภายหลังจากที่ศรีอรพินโธออกจากที่คุมขังได้ไม่กี่เดือน เขาก็ถูกทางการบุกเข้ามาจับตัวถึงบ้านอีกครั้งในตอนเช้าวันที่ 2 เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1908 ด้วยข้อหาที่หนักกว่าเก่า เพราะคราวนี้ทางการอังกฤษได้หลักฐานเป็นเอกสารใต้ดินของศรีอรพินโธ คราวที่จับกุมกลุ่มนักปฏิวัติที่เคลื่อนไหวใต้ดินกลุ่มอื่นๆ ได้

คราวนี้ศรีอรพินโธและพวกถูกส่งไปเข้าคุกที่อลิปอร์ และถูกควบคุมจองจำอย่างแน่นหนาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

ตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีเต็มที่อยู่ในคุก ศรีอรพินโธใช้เวลาทั้งหมดของเขาหมดไปกับการศึกษาคัมภีร์อุปนิษัทและคัมภีร์ภควัทคีตากับฝึกฝนโยคะและทำสมาธิขั้นอุกฤษฏ์เข้มข้น

ศรีอรพินโธได้กล่าวถึงช่วงเวลาในขณะนั้นว่า

"ในตอนนั้นผมคาดไม่ถึงเลยว่า วันที่ผมถูกจับจะเป็นการปิดฉากชีวิตบทหนึ่งของผม และเป็นการเริ่มต้นบทใหม่ในชีวิตของผม การที่ผมถูกขังเดี่ยวเป็นเวลาหนึ่งปีเต็มในคุก ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมากของผมต้องถูกตัดขาดลงอย่าสิ้นเชิง

ในไม่ช้าผมก็เริ่มตระหนักทีละนิดแล้วว่า ศรีอรพินโธคนเก่าที่ผู้คนรู้จักกันในฐานะนักปฏิวัติผู้รักชาติกำลังตายจากไป ในขณะที่ศรีอรพินโธคนใหม่ที่มีบุคลิกใหม่ มีสติปัญญาอันใหม่ มีชีวิตใหม่ มีจิตใจใหม่ และมีงานใหม่ที่จะต้องทำ กำลังก่อรูปก่อร่างขึ้นมา

คุกอลิปอร์แห่งนี้ได้กลายเป็นอาศรมหรือสำนักปฏิบัติธรรมสำหรับตัวผมไปเสียแล้ว พวกทางการจับผมเข้าคุกเพื่อต้องการให้ผมตกอยู่ในความเลวร้าย และยุติการทำดี แต่ผลของมันกลับทำให้ผมได้พบกับพระเจ้า"

ศรีอรพินโธบรรลุเคล็ดวิชาของเวทานตะและตันตระโยคะในระหว่างที่อยู่ในคุกเป็นครั้งที่สองนี่เอง

ครั้งหนึ่งเขาเคยถามตนเองว่าเมื่อหัดโยคะจนได้ฤทธิ์แล้ว ตัวเขาจะคุมปราณส่วนที่เรียกว่า "อุดานา" ที่อยู่บริเวณเหนือลำคอขึ้นไปได้หรือไม่ ซึ่งก็ปรากฏว่าเขาทำได้ ทำให้ร่างกายของเขาลอยขึ้นจนแตะเพดานห้องขังได้ ราวกับกำลังถูกห้อยลงมาจากข้างบน

ครั้งหนึ่ง เขานั่งเข้าฌานสมาบัติแน่นิ่งจนผู้คุมไปรายงานเจ้านายว่า ตัวเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว เขาเคยบำเพ็ญตบะอดอาหารต่อเนื่องเป็นเวลาสิบเอ็ดวันเต็ม และหลับรวดเดียวสามวันสามคืนติดต่อกัน การฝึกเช่นนั้นทำให้ตัวเขาแข็งแกร่งมากทั้งภายนอกและภายใน ผลของการฝึกโยคะขั้นสูงได้แล้วนี้เองทำให้เขาไม่เคยป่วยหนักเลยในระหว่างที่ถูกจองจำ

ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่ศรีอรพินโธได้รับขณะที่อยู่ในคุกก็คือ ตัวเขาได้ยินเสียงของสวามี วิเวกนันทะ มาสอนโยคะแก่เขาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลาสองอาทิตย์ ในขณะที่เขากำลังนั่งสมาธิอยู่ ศรีอรพินโธได้กล่าวในภายหลังว่า คำสอนของวิเวกนันทะ ที่ให้แก่เขาในตอนนั้น เป็นแนวทางที่นำเขาไปสู่ "อภิจิต" (Supermind) ซึ่งเป็นแก่นแท้ที่สำคัญยิ่งของวิชา "บูรณาโยคะ" (Integral YOga) ของตัวเขาในเวลาต่อมา

ศรีอรพินโธถูกปล่อยตัวออกจากคุกในวันที่ 6 เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1909 ขณะนั้นตัวเขามีอายุย่าง 37 ปีแล้ว อันเป็นช่วงที่เขากำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์พอดี หลังจากที่ถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระ ศรีอรพินโธก็ยังออกมาทำหนังสือพิมพ์ออกอภิปรายทางการเมือง และคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่พักใหญ่จนทางการอังกฤษเอาจริงคิดจะเก็บหรือกำจัดเขาให้พ้นทางหรือสาบสูญไปจากโลกนี้

ขณะนั้นเป็นช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1910 ก่อนที่ทางการจะเริ่มปฏิบัติการทำลายตัวเขา ศรีอรพินโธก็ได้รับคำสั่งจากเบื้องบน โดยได้ยินเป็นเสียงภายในว่าให้เขารีบไปทางใต้ที่จันเดอนากอร์เดี๋ยวนี้ ตอนที่ได้ยินเสียงข้างในนั้นเป็นเวลาสองทุ่มพอดี และตัวเขายังทำงานอยู่ที่สำนักงานนิตยสาร "กรรมโยคี" อยู่ เขายังได้รับนิมิตจากเบื้องบนด้วยว่า ไม่ต้องเป็นห่วงงานกู้ชาติ เพราะอีกไม่นานอินเดียจะต้องได้รับอิสรภาพอย่างแน่นอน

ตัวเขาไม่ได้พ่ายแพ้หรือล้มเหลวในทางการเมืองจนต้องหนี แต่เพราะตัวเขาไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว
ถึงยังไงเบื้องบนก็ให้คำรับรองแก่เขาแล้วว่า อินเดียจะต้องได้รับเอกราชอย่างแน่นอน หน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่กำลังรอเขาอยู่คือ การเป็นคุรุทางจิตวิญญาณ และช่วยยกระดับจิตวิญญาณของชาวโลกให้สูงขึ้นด้วยโยคะของเขา ขณะนั้น ศรีอรพินโธ มีอายุย่าง 38 ปีแล้ว

เมื่อศรีอรพินโธลอบไปที่จันเดอนากอร์ ในตอนปลายเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.1910 เขาก็ได้รับคำสั่งจากเบื้องบนอีกให้ไปที่พอนดิเชอรี่ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอาศรมของมหาโยคีชื่ออกัสติยะ

ศรีอรพินโธพำนักอยู่ที่พอนดิเชอรี่และตั้งสำนักหรืออาศรมโยคะของเขาที่นั่น และไม่เคยออกไปจากที่นั่นเลยตราบจนเขาละร่างในปี ค.ศ.1950 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม

ตัวเขาได้มีโอกาสเห็นอินเดียเป็นเอกราชในวันที่ 15 เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1947 ซึ่งตรงกับวันเกิดของเขาพอดี และเรื่องนี้น่าจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญด้วย

งานเขียนหลักๆ ของศรีอรพินโธ คือ "ชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์" กับ "การสังเคราะห์วิชาโยคะ" หนังสือ 2 เล่มนี้เป็นหัวใจของวิชา "บูรณาโยคะ" ของเขา เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาในวัย 40 ปีเศษเท่านั้น



ตอนที่ 3 [ตอนจบ]

ว่าด้วยบูรณาโยคะของศรีอรพินโธ

โยคะของเราคือบูรณาโยคะ (Integral Yoga) หรือ อภิจิตโยคะ (Supramental Yoga) การคิดหรือการพูดถึงพระเจ้า หรือการหลุดพ้น ไม่อาจช่วยอะไรเราได้เลย พิธีกรรมต่างๆ ก็เช่นกัน... มีแต่ความมุ่งมั่นที่ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์ที่ต้องการเข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นถึงจะทำให้มนุษย์เข้าถึงโยคะที่แท้จริงได้

ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณที่ได้มาจากการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตในชีวิตประจำวันนั้น มันกินเวลานานมากเหลือเกิน ต้องตายแล้วเกิดใหม่ไม่รู้อีกกี่ชาติถึงจะมีความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณขึ้นมาได้บ้าง แต่ด้วยโยคะอันนี้ของเรา พวกมนุษย์สามารถย่นย่อหลายภพหลายชาติให้เหลือเพียงไม่กี่ปีในชาตินี้ได้ด้วยการบำเพ็ญโยคะปฏิบัติธรรม

ณ ที่ที่วิชาโยคะแบบเก่าสิ้นสุดลง ที่นั้นแหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของบูรณาโยคะของพวกเรา ในขณะที่วิชาโยคะทั้งหลายในอดีตมุ่งไปที่การยกระดับพลัง (ascent) ให้เข้าสู่จิตเดิม (the spirit) แต่โยคะของเราศรีอรพินโธนั้น มีทั้งการยกระดับพลังและการลงมาของพลังศักดิ์สิทธิ์ (descent)

คนเราสามารถเข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (the divine) ในจิตสำนึกของตนได้ด้วยวิชาโยคะแบบเก่า แต่เขาจะไม่สามารถสถาปนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนโลกนี้อย่างรวมหมู่และอย่างปัจเจกในชีวิตแห่งกายหยาบนี้ได้ ในวิชาโยคะแบบเก่าจะพิจารณาว่าโลกนี้เป็นมายาการ หรือเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนเป็นอนิจจัง แต่ในสายตาของเรา โลกนี้ยังเป็นการสร้างสรรค์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย และชีวิตของคนเราในโลกนี้สามารถทำให้เป็นชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงในทุกอณูธาตุของร่างกายนี้หรือเป็นกายศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วย

พลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเราให้กลายเป็นชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างรวมหมู่นี้เราเรียกว่า อภิจิต (supermind) การปรากฏขึ้นมาของ "อภิจิต" ในยุคนี้ จึงทำให้วิวัฒนาการอย่างยิ่งยวดบังเกิดขึ้นกับมวลมนุษย์ในยุคนี้ได้

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (one) นั้นมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นด้านที่สถิต อีกด้านหนึ่งเป็นด้านที่พลวัต (dynamic) ด้านที่พลวัตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือพลังแห่งการสร้างหรือมหาศักติ ผู้คนในอดีตเข้าถึงได้แต่ด้านที่สถิตหรือสงบนิ่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น และไม่ค่อยรู้มากเท่าไรนักเกี่ยวกับด้านที่เป็นพลวัตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะด้านนี้เป็นด้านที่ค่อนข้างยากแก่การเข้าถึง

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนส่วนใหญ่จึงไม่เข้าใจเหตุผลหรือจุดประสงค์ที่แท้จริงของการสร้าง จึงมองโลกหรือชีวิตโดยเห็นแค่เฉพาะด้านที่เป็นมายา เป็นทุกข์ เป็นอนิจจังของมันเท่านั้น และไม่อาจเห็นด้านที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้านที่จริงแท้ ด้านที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งของโลกนี้และชีวิตนี้ได้

บูรณาโยคะของเรามุ่งที่จะให้ประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมทั้งสองด้านของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่พลวัตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ผู้คนทั้งหลายได้ตระหนักว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง เป็นของจริง และตัวเราในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างก็ย่อมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงด้วยโลกนี้ยังอยู่ในภาวะที่ไม่สมบูรณ์ และกำลังวิวัฒนาการไปสู่ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทางภายใน

บูรณาโยคะของเราจึงไม่เพียงสอนศิษย์ของเราให้ทำการยกระดับพลังและจิตสำนึกของตนเองเท่านั้น แต่จะต้องทำการดึงแสงและพลังต่างๆ ของเหล่าเทพ (the higher worlds) ให้ลงมาสู่จิตสำนึกของมนุษย์ในโลกกายหยาบที่ภพภูมิต่ำกว่า เพื่อสถาปนาสวรรค์บนดิน หรืออาณาจักรของพระเจ้าบนโลกใบนี้ให้จงได้

ความหมายที่แท้จริงของคำว่าโยคะ คือการหลอมรวมจิตสำนึกภายนอกของเราเข้ากับตัวตนที่แท้จริงของเราซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในตัวเรา และเป็นอนุภาคของพระเจ้าผู้เป็นหนึ่ง (one) ซึ่งดำรงอยู่ในทุกหนทุกแห่งโดยผ่านการฝึกโยคะ จิตสำนึกของผู้นั้นจะขยายกว้างใหญ่ออกไปเทียบเท่าความกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวาล แต่ในการจะฝึกโยคะให้รุดหน้าได้ผู้นั้นจะต้องมีครู หรือคุรุผู้เชี่ยวชาญและมีความสามารถที่จะนำพาศิษย์ไปได้ตลอดรอดฝั่ง

บูรณาโยคะของเราถือกำเนิดมาเพื่อปฏิบัติภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการช่วยให้ผู้คนสามารถวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณได้ทันกาลกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น จิตสำนึกและชีวิตของมนุษย์ปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่เป็นโฮโมเอ็กเซลเลนส์ และพลังอันประเสริฐที่จะมาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกและชีวิตของมนุษย์ยุคนี้ก็คือ พลังอภิจิต (supramental power) ที่เป็นจิตสำนึกที่เข้าถึงความจริงแท้ได้แล้ว (truth consciousness)

บูรณาโยคะของเราจึงเป็นโยคะเพื่อความสมบูรณ์อย่างแท้จริงของตนเอง (yoga of self perfertion) มันจึงเป็นโยคะที่สมบูรณ์พร้อม (perfect yoga) ที่จะทำให้มนุษย์ผู้นั้นเกิดกายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ และชีวิตศักดิ์สิทธิ์ ธรรมศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นมาได้อย่างพร้อมบริบูรณ์

เงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งในการฝึกบูรณาโยคะของเรานี้คือ คนผู้นั้นจะต้องมีความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้า มีศรัทธา มีความอุทิศตัว มีความจริงใจ และความกล้าที่จะปฏิเสธสิ่งผิด โดยภักดีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด โดยไม่ยอมสยบให้กับสิ่งที่ใฝ่ต่ำหรือต่ำช้าใดๆ ทั้งปวง ยิ่งคนผู้นั้นอุทิศตนให้กับวิถีแห่งบูรณาโยคะนี้มากเท่าใด พลังอันศักดิ์สิทธิ์ก็จะกระทำต่อตัวผู้นั้น ช่วยให้การปฏิบัติธรรมของผู้นั้นรุดหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถส่งผลสะเทือนและบารมีออกสู่วงกว้างได้

ความเป็นจิตวิญญาณไม่ใช่สิ่งเดียวกับความมีศีลธรรม แต่เป็นสิ่งที่สูงส่งกว่า ศีลธรรมตั้งอยู่บนพื้นฐานทางคุณค่าแห่งความดีเลวตามบรรทัดฐานของปุถุชน ในขณะที่จิตวิญญาณตั้งอยู่บน "ใจฟ้า" หรือ "น้ำพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า" หรือ "จิตสำนึกอันศักดิสิทธิ์"

เป้าหมายสูงสุดของบูรณาโยคะของเราคือการเป็นหนึ่งเดียวกับจิตสำนึกอันศักดิ์สิทธิ์ และประพฤติตนในฐานะที่เป็นเครื่องมือหรือร่างให้แก่พระจิตของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อนำมาซึ่งอำนาจ พลัง ตบะ ความรัก ความสำเร็จ ความสุข ความปรองดอง ความงาม และความเป็นอมตะให้แก่โลกใบนี้และมนุษย์ชาติโดยรวม




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้