จอมยุทธ์แห่งมวยแปดสุดยอด

จอมยุทธ์แห่งมวยแปดสุดยอด

จอมยุทธ์แห่งมวยแปดสุดยอด


(โดย สุวินัย ภรณวลัย)



ตอนที่ 1

ท่านอาจารย์หลิวหยุนเฉียว เกิดในตระกูลขุนนางผู้มั่งคั่งแห่งเมืองซางโจว บรรพบุรุษของท่านเป็นขุนนางมาหลายชั่วอายุคนแล้ว หลิวหยุนเฉียวเป็นบุตรชายคนเดียวของตระกูล

ในวัยเด็กท่านมีร่างกายอ่อนแอและขี้โรค บิดาของท่านห่วงใยในสุขภาพของลูกรักจึงให้หลิวหยุนเฉียวเรียนมวยเหนือกับครูมวยแซ่จางท่านหนึ่งตั้งแต่เล็กจนมีร่างกายแข็งแรง แต่ครูมวยท่านนี้สูงวัยมากแล้วและเสียดายพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวของหลิวหยุนเฉียวจึงปรารภกับบิดาของท่านว่า ถ้าหากหลิวหยุนเฉียวได้ฝึกวิชาฝีมือกับครูดีเขาจะต้องมีฝึมือล้ำเลิศเป็นแน่ บิดาของหลิวหยุนเฉียวถามว่าควรจะเชิญใครมาเป็นครูมวยดี ครูมวยท่านนั้น เสนอให้เชิญจอมยุทธ์ลิโฉะบุนแห่งมวยแปดสุดยอดผู้มีฉายา “ทวนเทพยดาแซ่ลี้” เป็นครูมวยที่มีชื่อเสียงที่สุดของมณฑลหูเป่ยและจีนตอนเหนือ

ในตอนแรกบิดาของหลิวหยุนเฉียวลังเลที่จะเชิญลิโฉะบุน เพราะได้ยินกิตติศัพท์มาว่าลิโฉะบุนเป็นคนเพี้ยนและเอาใจยาก แต่ครูมวยท่านนั้นกลับบอกว่า ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือแล้วจะได้ลูกเสือหรือหากอยากเรียนมวยชั้นยอดก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญอุปสรรคทุกชนิดอยู่แล้วจริงหรือไม่ เมื่อได้ฟังเช่นนั้น บิดาของหลิวหยุนเฉียวจึงตัดสินใจเชิญลิโฉะบุนมาที่บ้านของตน

“อาจารย์ลิโฉะบุนครับ อาจารย์จะกรุณาพำนักที่บ้านผมและสอนวิชาฝีมือให้แก่หลิวหยุนเฉียวบุตรชายของผมจะได้มั้ยครับ”

“เท่าที่ผ่านมาเราไม่เคยสอนเด็กมาก่อนเลย ถ้าเราจะสอนหลิวหยุนเฉียวเหมือนที่เราสอนผู้ใหญ่ ท่านจะตกลงมั๊ย”

“แล้วแต่อาจารย์ครับ”

“เราไม่เคยออมมือใคร ถ้าลูกชายของท่านเกิดบาดเจ็บขึ้นมาจะโทษเราไม่ได้นะ”

“ผมคิดดีแล้ว และได้ตัดสินใจแล้วครับ”

“ถ้าเช่นนั้น เราจะสอนให้ แต่มีเงื่อนไขอยู่หนึ่งข้อ”

“เงื่อนไขอะไรครับ”

“หลิวหยุนเฉียวจะต้องทิ้งมวยกระโดดโลดเต้นที่เขาเคยเรียนมาทั้งหมดเสียก่อน ที่จะมาเรียนมวยแปดสุดยอดกับเรา”

“ครับ”

ลิโฉะบุนเป็นครูมวยที่เข้มงวดมาก เขาจับหลิวหยุนเฉียวฝึกท่า นั่งม้าอย่างเดียวเป็นเวลา 3 ปีเต็ม ในตอนแรก หลิวหยุนเฉียวเกลียดการฝึกนั่งม้านี้มาก และไปฟ้องบิดาของตนว่าลิโฉะบุนไม่ยอมสอนมวยแก่เขาเลย เอาแต่จับให้ยืนท่านั่งม้าเท่านั้น เมื่อบิดาของหลิวหยุนเฉียวไปต่อว่าลิโฉะบุนว่า ทำไมถึงไม่ยอมสอนมวยให้แก่บุตรชายของเขาสักที ลิโฉะบุนกลับตอบกลับมาว่า

“ก็ไหนว่าคุณฝากฝังบุตรชายของคุณไว้กับเราแล้วยังไงล่ะ”

“ก็จริงครับ แต่...”

“ไม่มีคำว่าแต่ เพราะมวยแปดสุดยอดที่เราจะถ่ายทอดให้แก่หลิวหยุนเฉียวนั้นไม่ใช่กายบริหาร แต่เป็นมวยที่สามารถโค่นปรปักษ์ได้ในหมัดเดียวต่างหาก”

เมื่อได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้นหลิวหยุนเฉียวและบิดาจึงเข้าใจ เขาจึงอดทนฝึกกังฟูต่อไปภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวดของลิโฉะบุน หลิวหยุนเฉียวได้ร่ำเรียนมวยกับลิโฉะบุนเป็นเวลาถึง 10 ปีเต็ม จนกระทั่งลิโฉะบุนเสียชีวิต

ผู้เขียน (สุวินัย) มีโอกาสได้ศึกษาข้อเขียนและบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ซูยู่จาง (ศิษย์เอกของอาจารย์หลิวหยุนเฉียว) ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภายหลังจากที่อาจารย์หลิวหยุนเฉียวได้เสียชีวิตไปแล้วในปี ค.ศ.1992 ส่วนคำสอนที่ออกมาจากปากของอาจารย์หลิวหยุนเฉียวโดยตรงนั้นผู้เขียนมีโอกาสศึกษาแค่ครั้งเดียว คราวที่อาจารย์หลิวหยุนเฉียวเดินทางมาบรรยายที่ประเทศญี่ปุ่นในปลายปี ค.ศ.1985 สิ่งที่จะถ่ายทอดต่อไปนี้คือคำสอนของท่านอาจารย์หลิวหยุนเฉียวในครั้งนั้น



*****************



ว่าด้วยการเรียนวิทยายุทธ์ขนานแท้

โดย อาจารย์ หลิวหยุนเฉียว

ในการเรียนวิชาฝีมือหรือวิทยายุทธ์นั้น ก่อนอื่นผู้เรียนจะต้องเข้าใจคำว่า “สำนัก” หรือ “สายวิชา” เสียก่อน แนวคิดเรื่อง “สำนัก” หรือ “สายวิชา” จึงเป็นแนวคิดที่สำคัญมากในการเรียนมวยจีนในแต่ละ “สำนัก” หรือ “สายวิชา” จะต้องมีกระบวนท่าที่เป็นตัวแทนสำนักหรือสายวิชานั้นเสมอ เพื่อยืนยันถึงความมีเอกลักษณ์ของสำนักหรือสายวิชานั้นโดยหลัก แล้วกระบวนท่าแรกในชุดมวยจะต้องสำแดงความเป็นสำนักหรือสายวิชานั้นออกมา

ตัวเราได้เรียนวิชาฝีมือจากครูทั้งหมดสี่ท่านด้วยกันคือ ได้เรียนมาสี่สำนักหรือสี่สายวิชา ซึ่งได้แก่มวยเอี้ยงแช มวยแปดสุดยอด มวยฝ่ามือแปดทิศ และมวยตั๊กแตน ซึ่งมวยแต่ละสายก็มีกระบวนท่าเริ่มต้นไม่เหมือนกัน โดยแสดงเอกลักษณ์ของสำนักตนออกไป เพราะฉะนั้นหากพวกเธอเรียนมวยของสำนักใดหรือของสายวิชาใดแล้วไม่สามารถสำแดงเอกลักษณ์หรือลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะตัวของมวยนั้นออกมาได้ ก็ต้องถือว่ากังฟูของเธอล้มเหลว หรือตายไปแล้วหรือไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

แม้เทคนิคการใช้ฝีมือของแต่ละสำนักจะคล้ายๆ กันก็จริง แต่วิธีสำแดงออกถ่ายทอดออกมากลับแตกต่างกันมาก เพราะถ้าหากขึ้นชื่อว่าเป็นมวยจีนแล้วไม่ว่าจะเป็นมวยจีนสายอะไรจะต้องมีเทคนิค “ทุ่ม ตี และคว้าจับ” แฝงอยู่ในกระบวนท่าของมวยนั้นทั้งสิ้นไม่ว่าอย่างเปิดเผยหรืออย่างซ่อนเร้นก็ตาม”

หากเธอเรียนมวยจีนแล้วไม่สามารถเข้าใจวิธีใช้หรือเทคนิค การประยุกต์ใช้ของกระบวนท่านั้นๆ เธอจงรู้ไว้เถิดว่าเธอเรียนแค่การเคลื่อนไหวร่างกายแต่ยังไม่ได้เรียนวิชาฝีมือที่แท้จริงเลย แน่นอนว่า การเคลื่อนไหวของเธอจะต้องถูกต้องตามหลักวิชาเพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีวิธีใช้ขนานแท้ดำรงอยู่ในท่าร่างหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง จึงมีคำกล่าวว่า “หากท่าร่างไม่ถูกวิธีใช้ย่อมไม่มี” เธอจะต้องจำใส่ใจไว้เสมอว่า ในท่าเดินเท้าหรือการใช้เท้า ในการใช้ร่างกาย ในการใช้มือ ก็ต้องมีวิธีใช้แฝงอยู่ด้วยเช่นกัน หากไม่มีจะถือวิชาฝีมือนั้นเป็นวิทยายุทธ์ขนานแท้ไม่ได้ เวลาหัดวิชาฝีมือเธอจึงต้องสนใจฝึกฝนทุกส่วนของร่างกายไม่ว่าจะเป็นมือ เท้า หรือลำตัว เธอจะละเลยส่วนไหนไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเช่นในนิ้วมือของเรา นิ้วหัวแม้โป้งมีความสำคัญที่สุดในการฝึกวิทยายุทธ์ เพราะถ้าไม่มีนิ้วหัวแม้โป้ง มือของเราจะหยิบ จะจับ จะกุมอะไรไม่ถนัดเลย จะใส่แรงเข้าไปก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในการใช้มือในวิทยายุทธ์จึงต้องตั้งหัวแม่มือสำแดงออกมาให้ชัดเจน

วิทยายุทธ์ของจีนให้ความสำคัญกับ “เต๋า” หรือ “อภิมรรค” คำว่า “เต๋า” ในที่นี้เราหมายถึง “วิถีแห่งคุณธรรม” เพระหากไม่มีคุณธรรมย่อมเป็นเต๋าไม่ได้ เป้าหมายของการฝึกวิทยายุทธ์คือการ “ฝึกฝนร่างกาย” และการ “อบรมจิตใจ” มิใช่การชกตีหาเรื่องทำร้ายผู้อื่น การฝึกฝนร่างกายและการอบรมจิตใจจึงเป็นเงื่อนไขที่เป็นพื้นฐานที่สุดในการเรียนวิทยายุทธ์ จุดประสงค์ของการฝึกฝนร่างกายนั้นก็เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว และเพื่อสังคม เพราะถ้าหากคนเราไม่มีร่างกายที่มีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ต่อให้ผู้นั้นคิดสิ่งใดที่ดีเลิศเพียงใดก็ตามก็ยากที่จะทำให้ปรากฎเป็นจริงได้ ได้แค่คิดแต่ไม่เคยทำและไม่อาจทำได้ เพราะฉะนั้นเราจึงอยากให้คนหนุ่มคนสาวอย่างพวกเธอคิดถึงการฝึกฝนร่างกาย แล้วพวกเธอก็ต้องมาคิดต่อว่าพวกเธอควรจะฝึกฝนร่างกายอย่างไรดี?

เรามีข้อแนะนำสำหรับผู้เรียนวิทยายุทธ์เกี่ยวกับการฝึกฝนร่างกาย 3 ประเด็นดังต่อไปนี้คือ “สรีระ” “พลศาสตร์” ”และ “การประยุกต์” พวกเธอจะต้องเข้าใจใน 3 ประเด็นให้กระจ่างแจ้งก่อนที่จะฝึกฝนร่างกายของเธอ

คำว่า “สรีระ” ในที่นี้เราหมายความว่า การเคลื่อนไหวหรือท่าทาง ของเธอจะต้องไม่ผิดธรรมชาติหรือฝืนธรรมชาติ เธอจะต้องสามารถ ควบคุมสรีระและกายภาพของเธอให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ นีคือประเด็นที่หนึ่ง

คำว่า “พลศาสตร์” ในที่นี้เราหมายความว่า การเคลื่อนไหวและท่าร่างของเธอจะต้องสอดคล้องกับกฎทางพลศาสตร์ เพราะถ้าหากเธอเคลื่อนไหวโดยขัดกับกฎทางพลศาสตร์ เธออาจจะเสียสมดุลล้มลงก่อนที่เธอจะทำให้ปรปักษ์ของเธอล้มลงเสียอีก นี่คือประเด็นที่สอง

คำว่า “การประยุกต์” ในที่นี้เราหมายความว่า ไม่ว่าตัวเธอจะอยู่ในท่าร่างไหน เธอจะต้องสามารถประยุกต์ใช้วิชาฝีมือได้ทุกท่า มิหนำซ้ำการประยุกต์ใช้ท่าเหล่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งหรือฝืนกับ “สรีระ” และหลัก “พลศาสตร์” ด้วย

หากเธอหมั่นตรวจสอบ 3 ประเด็นข้างต้นนี้อยู่เสมอในขณะที่ฝึกฝนวิชาฝีมือแล้ว เธอคงไม่ฝึกฝนผิดแนวทางจนบั่นทอนทำร้ายร่างกายและสุขภาพของเธออย่างแน่นอน

วิทยายุทธ์ของจีนเป็นวิทยายุทธ์ของชาวเอเชีย ที่มีสรีระและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมิใช่จำกัดแค่ชาวจีนเท่านั้น เพราะฉะนั้นชาวเอเชียทุกคนจึงสามารถเรียนวิทยายุทธ์ของจีนได้และเรียนได้ง่ายกว่าชาวตะวันตกที่มีสรีระและอุปนิสัยใจคอที่ต่างออกไป

วิทยายุทธ์ของจีนต่างกับ “สปอร์ต” ของตะวันตกตรงไหน? ในความเห็นของเรา วิทยายุทธ์ของจีนนั้นให้ความใส่ใจกับ “การแสวงหาความเป็นเลิศ” โดยไม่มีปัจจัยเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง วิทยายุทธ์ของจีนจึงมีแต่ “มรรค” หรือ “เต๋า” โดยไม่มีการปลดระวางหรือเกษียณอายุ ในขณะที่ “สปอร์ต” ของตะวันตกเป็นการออกกำลังกาย เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเดียว ซึ่งเมื่อเลยวัยหนึ่ง ความสามารถในการเคลื่อนไหวเชิงกีฬาจะตกต่ำลงไปอย่างฮวบฮาบ เพราะ “สปอร์ต” มีลักษณะที่ฝืนสรีระ ฝืนสังขารอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้น จึงหาคนที่มีอายุห้าสิบหกสิบปีแล้วยังยืนอยู่แนวหน้าของวงการสปอร์ตได้ยากมาก ในขณะที่ในวงการวิทยายุทธ์ของจีนวัยห้าสิบหกสิบปีคือวัยที่วิทยายุทธ์ของผู้นั้นถึงขีดสุดยอดสมบูรณ์ และแม้จะมีอายุล่วงเลยมากไปกว่านั้นวิชาฝีมือก็มิได้ลดหายลงอย่างฮวบฮาบแต่ประการใด

หาก “การมุ่งแสวงหาความเป็นเลิศภายใน “คือ หัวใจของการฝึกฝนวิทยายุทธ์ของจีนแล้ว อะไรเล่าคือปัจจัยแห่งความสำเร็จในการที่จะบรรลุความเป็นเลิศภายใน ? คำตอบของเราคือ ใจที่มีขันติคือใจที่มีความอดทน อดกลั้น คือใจที่หนักแน่นมั่นคงสม่ำเสมอไม่เปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้นั้นจะต้องรู้จักการแสวงหาความเคลื่อนไหวในความสงบนิ่งให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยไปแสวงหาความสงบนิ่งท่ามกลางความเคลื่อนไหว

จงรักษาสุขภาพกายให้ดีอยู่เสมอ จงรักษาจิตใจให้สงบสันติ จงใช้ชีวิตอย่างมีวินัยในแต่ละวัน ในหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง จงใช้เวลานอนหลับพักผ่อน 8 ชั่วโมง ทำงานหรือศึกษาเล่าเรียน 8 ชั่วโมง และฝึกฝนตนเองอีก 8 ชั่วโมง พวกเธอจะต้องแบ่งใช้แปดชั่วโมงทั้ง 3 ในแต่ละวันนี้อย่างถูกต้อง

เธอควรตื่นแต่เช้าออกกำลังกายในขณะที่อากาศยังบริสุทธิ์ มนุษย์เราเป็นสัตว์ประเสริฐเหนือสัตว์ใดๆ แต่มีอยู่ 2 สิ่งที่มนุษย์เราต่ำทรามกว่าสัตว์ชนิดอื่น นั่นคือความเกียจคร้านกับความฟุ่มเฟือย หรือการบริโภคอย่างไร้สาระ ช่วงเวลาระหว่างตีสี่ถึงแปดโมงเช้าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลัง ช่วงเวลาเที่ยงและบ่ายเหมาะแก่การพักผ่อนอย่างสงบสักสองชั่วโมง ช่วงหกโมงเย็นถึงสี่ทุ่มเป็นอีกช่วงหนึ่งที่เหมาะแก่การออกกำลัง ส่วนช่วงหลังสี่ทุ่มถึงตีสี่เป็นช่วงที่ร่างกายควรนอนหลับพักผ่อนอย่างที่สุด

คนที่ชอบเที่ยวกลางคืนโต้รุ่งหรือนอนดึกเกินกว่าสี่ทุ่มเที่ยงคืนเป็นประจำจึงบั่นทอนสุขภาพของตนโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่เข้าใจกลไกการทำงานของ “ชี่” หรือ “ปราณ” ในแต่ละช่วงเวลาที่มีผลต่อสุขภาพร่างกายของคนเรา ผู้ฝึกฝนวิทยายุทธ์ทุกคนควรมีความเข้าใจหลักการไหลเวียนของปราณในโลกธรรมชาติดังที่กล่าวมานี้ และหมั่นใช้มันส่งเสริมการฝึกวิทยายุทธ์ของตน นอกจากนี้พวกเขาจะต้องควบคุมพฤติกรรมทางเพศของตนให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมไม่เป็นคนมักมากในกามคุณ เพราะผู้ที่สำส่อนทางเพศจะพัฒนา บ่มเพาะอุปนิสัยใจคอของตนให้ดีงามได้ยาก และไม่อาจเป็น “ผู้กล้า” ที่แท้จริงได้

หากพวกเธอเข้าใจและปฏิบัติตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้ก็เชื่อแน่ว่า พวกเธอคงจะประสบความสำเร็จในการฝึกฝนวิทยายุทธ์ขนานแท้ได้เป็นแน่ และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อเธอบรรลุในวิชาฝีมือแล้ว เธอจะถ่ายทอดมันอย่างถูกต้องให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดมันต่อไปตราบนานเท่านาน



ตอนที่ 2 [จบ]

ต่อมาเมื่อหลิวหยุนเฉียวแตกเนื้อหนุ่มกำลังจะย่างยี่สิบปีพอดีเขาได้ฝึกฝนวิชามวยแปดสุดยอด โดยกลายเป็นศิษย์คนสุดท้ายของลิโฉะบุนมาได้ 10 ปีเต็ม และมีฝีมือพอตัวแล้ว ในช่วงนั้นเองที่อาจารย์ลิโฉะบุนได้รับเชิญจากนายพลจางให้มาพำนักอยู่ที่มณฑลชานตุง ชื่อเสียงของ “ทวนเทพยดา ลิโฉะบุน” โด่งดังมาไกลถึงชานตุงแล้ว เพื่อทดสอบวิชาฝีมือของศิษย์รักหลิวหยุนเฉียว ท่านอาจารย์ลิโฉะบุนจึงให้หลิวหยุนเฉียวไปประลองกับนักมวยเก่งๆ สายอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ในระหว่างเส้นทางที่เดินทางไปชานตุง จนหลิวหยุนเฉียวซึ่งโค่นคู่ประลองได้ทุกคนไม่เคยพ่ายแพ้แก่ใครเลยได้รับฉายาเป็น “ราชันย์น้อยแห่งชานตุง” ความที่ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ หลิวหยุนเฉียวซึ่งยังไม่เคยแพ้ใครเลยจึงมีความภาคภูมิใจและทะนงตนเป็นอย่างยิ่งจนแทบจะเรียกได้ว่าหลงตนเอง

นายพลจางซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารที่ควบคุมทัพของมณฑลชานตุงอยู่ในสมัยนั้นเป็นผู้ที่ชื่นชอบวิทยายุทธ์ของจีนเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้เชิญครูมวยต่างๆ ที่ท่านสนิทสนมมาพำนักกับท่านเพื่อให้ช่วยเผยแพร่วิชามวยจีนให้แก่คนรอบข้าง ดังนั้นนอกจากท่านนายพลจางจะเชิญลิโฉะบุนแห่งมวยแปดสุดยอดแล้ว ท่านยังเชิญติงซื่อเฉินแห่งมวยตั๊กแตนหกประสานและกงเป่าเถียนแห่งมวยฝ่ามือแปดทิศซึ่งเป็นครูมวยชั้นยอดที่ท่านนายพลสนิทสนมด้วยมาพำนักและสอนมวยในที่เดียวกัน แต่อาจารย์ลิโฉะบุนเป็นผู้ที่ถือดีไม่เห็นมวยจีนสายอื่นอยู่ในสายตา ท่านจึงไม่ยอมสุงสิงกับครูมวยคนอื่น และไม่ยอมให้หลิวหยุนเฉียวหัดมวยสายอื่นเป็นอันขาด

ทุกเช้าอาจารย์ลิโฉะบุนจะเรียกหลิวหยุนเฉียวมาซ้อมทวนยาวหกประสานกับท่าน โดยใช้พลองยาวต่างทวนต่อหน้าครูมวยฝ่ามือแปดทิศอย่างกงเป่าเถียน แล้วใช้พลองกระแทกหลิวหยุนเฉียวจริงๆ อย่างไม่ยั้งมือ และดุดันขนาดหลิวหยุนเฉียวผู้ฝึกมวยจีนมาถึง 10 ปีเต็ม และมีฝีมือจนได้รับฉายาว่า “ราชันย์น้อยแห่งชานตุง” แล้วก็ยังไม่อาจต้านทานฝีมือของจอมยุทธ์เฒ่าอย่างลิโฉะบุนผู้มีอายุเกือบจะเจ็ดสิบได้เลย เมื่อหลิวหยุนเฉียวโดนอาจารย์ลิโฉะบุนฝึกซ้อมทวนอย่างเอาจริงจนร่างกายระบมไปหมดทุกเช้าเช่นนี้ เขาคิดว่าขืนปล่อยแบบนี้ภายในอาทิตย์สองอาทิตย์ร่างกายของเขาคงทนไม่ไหวต้องช้ำในมากเป็นแน่ เขาจึงคิดที่จะหลบหน้าอาจารย์ในช่วงเช้าไม่ให้อาจารย์เห็นหน้าจะได้ไม่ถูกเรียกไปซ้อมทวนด้วย ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าถ้าหากเขาต้องหลบหน้าอาจารย์โดยลอบออกจากคฤหาสน์ที่เป็นเรือนรับรองตั้งแต่เช้ามืดทุกวันแล้ว เขาจะไปทำอะไรฆ่าเวลาในช่วงนั้นดี เมื่อออกเดินสำรวจไปรอบๆ ก็พบว่ามีสถานที่ฝึกมวยของอาจารย์ติงซื่อเฉินแห่งมวยตั๊กแตนหกประสาน ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของค่ายทหาร ศิษย์คนโตของอาจารย์ติงซื่อเฉินที่ชื่อจางหยงซาน รู้จักหลิวหยุนเฉียวเป็นการส่วนตัว จึงชวนหลิวหยุนเฉียวเข้ามาทัศนศึกษาวิชามวยตั๊กแตน ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากมณฑลชานตุงนี้เป็นการเปิดหูเปิดตาให้กับหลิวหยุนเฉียวด้วย

หลิวหยุนเฉียวเห็นผู้คนกำลังฝึกท่ามวยแปลกๆ ยกแขนซ้ายชูขึ้นข้างหน้าแล้ววาดแขนเป็นวงกลมพร้อมกับตวัดขาซ้ายขึ้นมาพร้อมๆ กัน โดยไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ต่อสู้ได้อย่างไร ก็แสดงท่าดูแคลนอ้าปากหาวพร้อมกับบอกว่า มวยชนิดนี้น่าเบื่อดูแล้วไม่ต่างกับการออกกายบริหารเลย จางหยงซานรู้สึกฉุน แต่ก่อนที่เขาจะเอ่ยปากตักเตือนหลิวหยุนเฉียว อาจารย์ติงซื่อเฉินก็ชิงพูดขึ้นมา ก่อนว่าให้หลิวหยุนเฉียวมาลองกับท่านก็ได้จะได้รู้ว่าท่าๆ นี้ใช้อย่างไร

หลิวหยุนเฉียวหนุ่ม กับอาจารย์ติงซื่อเฉินแห่งมวยตั๊กแตนหกประสาน ยืนเผชิญหน้ากัน โดยมีพวกลูกศิษย์ของอาจารย์ติงยืนมุงโดยรอบ

“ท่านจะให้ผมทำยังไงครับ”

“เชิญเธอบุกเข้ามาต่อยฉันได้ตามใจชอบ”

“ท่านจะให้ผมต่อยจริงๆ หรือครับ พิษสงของมวยแปดสุดยอดนั้นร้ายกาจมาก ถ้าโดนจังๆ จะทำให้บาดเจ็บมากนะครับ”

“เรื่องนั้นเธอไม่ต้องห่วงหรอก บุกเข้าโจมตีฉันได้เลย”

เมื่อได้ฟังเช่นนั้น หลิวหยุนเฉียวหนุ่มก็บุกเข้าโจมตีอาจารย์ติงในท่าพยัคฆ์ร้ายกระโจนขย้ำภูเขาซึ่งเป็นท่าไม้ตายท่าหนึ่งของมวยแปดสุดยอดทันที แต่หมัดขวาของหลิวหยุนเฉียวหนุ่มกลับถูกอาจารย์ติงใช้พลังอ่อนหยุ่นของ “มวยตั๊กแตนอ่อนหกประสาน” สลายและสะเทินแรงด้วยมือซ้ายจนหมัดขวา เบนออก พร้อมกันนั้นอาจารย์ติงก็แกว่งแขนซ้ายเป็นวงกลมโดยตวัดเท้าซ้ายขึ้นด้วยในจังหวะเดียวกัน เท้าซ้ายของอาจารย์ติงที่ตวัดขึ้นเกี่ยวขาขวาของ หลิวหยุนเฉียวหนุ่มจนร่างของเขาลอยขึ้นจากพื้นศีรษะตกลงฟาดกับพื้นเต็มแรงดังโครม

“พ่อหนุ่มนี่คือท่า สยายปีก ของมวยตั๊กแตนอ่อน คราวนี้เธอเข้าใจความหมายของท่านี้แล้วซินะ”

นี่เป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของหลิวหยุนเฉียว ในตอนนั้นเขารู้สึกทั้งเจ็บใจทั้งอับอาย เขาผลุนผลันวิ่งออกไปจากที่นั่น กลับไปแอบซ้อมมวยแปดสุดยอดคนเดียวที่ห้อง เพื่อหวังจะไปแก้มือกับอาจารย์ติงอีกครั้ง ความเรื่องนี้รู้ถึงหูของอาจารย์กงเป่าเถียนปรมาจารย์มวยฝ่ามือแปดทิศรุ่น 3 (หลานศิษย์ของตงไห่ชวน ผู้คิดค้นมวยฝ่ามือแปดทิศ) อดีตหัวหน้าราชองครักษ์ประจำพระราชวังจักรพรรดิ ที่รักและเอ็นดูหลิวหยุนเฉียว เป็นการส่วนตัวดุจหลานในไส้ แม้ท่านจะเป็นชายชรา ร่างเล็ก หัวโต แต่วิชาตัวเบาและขว้างอาวุธลับของท่านนั้นสูงส่งมากเลย ท่านได้เข้ามาเตือนสติของหลิวหยุนเฉียวว่า

“หลิวน้อยเธอเพิ่งพ่ายแพ้อาจารย์ติงมาใช่มั๊ย”

“ครับอาจารย์ แต่ขอความกรุณาอาจารย์อย่าบอกเรื่องนี้ให้อาจารย์ของผมทราบนะครับ”

“เรื่องนี้เราจะให้อาจารย์ลิโฉะบุนของเธอรู้ไม่ได้เป็นอันขาด เดี๋ยวอาจารย์ของเธอจะบุกไปท้าอาจารย์ติง ทำให้ไม่ใครคนหนึ่งอาจจะต้องบาดเจ็บ ล้มตาย ว่าแต่ว่าที่ฉันมาหาเธอนี่ก็เพราะฉันเป็นห่วงว่าเธอจะคิดไปแก้มือกับอาจารย์ติงด้วยตัวเธอเองต่างหากเล่า”

“ตอนนั้นผมประมาทไปครับก็เลยเสียท่า แต่คราวนี้ผมต้องเอาชนะอาจารย์ติงให้ได้ครับ”

“หลิวน้อย ทำไมเธอไม่เปลี่ยนวิธีคิดของเธอเสียใหม่เล่าว่า เธอเพิ่งได้เรียนรู้สิ่งที่ดีจากอาจารย์ติงแทนที่จะรู้สึกเจ็บใจและอับอายที่พ่ายแพ้”

“.....”

“เพราะถ้าหากเป็นการต่อสู้จริงๆ เธอคงถูกอาจารย์ติงสังหารไปแล้ว จริงมั๊ย”

“.....”

“การทุ่มเทชีวิตจิตใจเข้าไปกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเป็นอภิสิทธิ์ของคนหนุ่มนั้นเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่การที่เธอจะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นที่หนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้นน่าจะเป็นทัศนะที่ผิดพลาดและคับแคบ หลิวน้อยโลกนี้กว้างใหญ่ ไพศาลนัก สิ่งที่มีคุณค่าไม่ใช่มีแค่อย่างเดียวหรอกนะ”

“อาจารย์หมายถึง มวยแปดสุดยอดใช่ไหมครับ”

“หลิวน้อย เธอกลับไปคิดดูเอาเองก็แล้วกันนะว่าวันนี้เธอเพิ่งได้เรียนสิ่งที่สำคัญมากอะไรไปบ้างจริงมั๊ยล่ะ” คำเตือนของอาจารย์กงทำให้หลิวหยุนเฉียวได้คิด คืนวันนั้นจางหยงซานแอบมาหาหลิวหยุนเฉียวด้วยความเป็นห่วง ว่าจะบาดเจ็บภายในตกค้าง หลิวหยุนเฉียวรู้สึกซาบซึ้งใจมากและขอร้องให้จางหยงซานช่วยไปพูดกับท่านอาจารย์ติงให้ช่วยสอนมวยตั๊กแตนหกประสานให้เขาด้วย

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาหลิวหยุนเฉียวจึงกลายเป็นศิษย์ผู้น้องของจางหยงซานร่วมเรียนมวยตั๊กแตนหกประสานจากอาจารย์ติงโดยปกปิดเป็นความลับสุดยอดไม่ให้อาจารย์ลิโฉะบุนทราบ


*****************

ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวของหลิวหยุนเฉียวหลังจากนั้น จะขอขยายความการฝึกและการใช้ท่า “สยายปีก” ของมวยตั๊กแตนหกประสานก่อนในที่นี้

หลังจากที่หลิวหยุนเฉียวพ่ายแพ้ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตโดยท่า “สยายปีก” ของมวยตั๊กแตนหกประสานแล้ว เขาก็ศึกษาวิชามวยตั๊กแตนอ่อนสายนี้จนเชี่ยวชาญ ภายหลังเมื่อเขาอพยพมาอยู่ที่ไต้หวันแล้ว เขาก็ถ่ายทอดเคล็ดวิชามวยตั๊กแตนหกประสานนี้ให้แก่ลูกศิษย์ของเขาโดยเฉพาะท่า “สยายปีก” ที่เขาไม่มีวันลืม แต่ตัวเขาเองกลับไม่เคยสำแดงวิชานี้หรือมวยตั๊กแตนอ่อนชุดนี้ให้คนภายนอกได้เห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตัวจางหยงซาน ศิษย์ผู้พี่ของหลิวหยุนเฉียวเองแม้ถ่ายทอดวิชามวยตั๊กแตนสายอื่นๆ ให้แก่ผู้คนเป็นจำนวนมากที่ไต้หวันก็จริง แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยแสดงมวยตั๊กแตนอ่อนชุดนี้ให้คนภายนอกได้ดูเช่นกัน จนอาจกล่าวได้ว่ามวยตั๊กแตนอ่อนหกประสานอันนี้เป็นมวยที่ถูกปกปิดเป็นความลับอย่างยิ่ง

แม้จนบัดนี้ เราทราบแต่เพียงว่ามวยตั๊กแตนหกประสานนี้เป็น มวยอ่อนชนิดที่ไม่เน้นการกระโดดโลดเต้น แต่เน้นการย่างเท้าหรือท่าเท้าที่คล่องแคล่วไหลต่อเนื่องดุจสายน้ำ ท่ามือก็เน้นที่การเกาะติดตามตัวดุจเงาตามตัว มากกว่าการโจมตีเป็นจุดๆ โดยเน้นที่การประสานสามนอกและสามใน ดูไปแล้วมีความใกล้เคียงกับมวยไท้เก๊กเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่ท่านิ้วมือของมวยตั๊กแตนหกประสานก็หาได้เป็น “ท่ามือตั๊กแตน” เหมือนมวยตั๊กแตนสายอื่น แต่เป็นท่าฝ่ามือธรรมดาเท่านั้น

เพราะฉะนั้นท่า “สยายปีก” ซึ่งเป็นท่าไม้ตายท่าหนึ่งของมวยตั๊กแตนหกประสานชุดนี้ จึงเป็นท่ามวยที่รับรู้ได้ยากมากจริงๆ แม้แต่ในยุคปัจจุบันนี้



การใช้ท่า “สยายปีก” ของมวยตั๊กแตนหกประสาน

วิธีที่ 1

(ก) หากปรปักษ์บุกเข้าโจมตีเราที่ใบหน้าหรือลำตัวด้วยหมัดขวา

(ข) เราต้องรีบใช้แขนซ้ายสลายพลังหมัดขวาของปรปักษ์จากด้านใน ให้หมัดขวาของปรปักษ์เบนไปจากเป้าเสียก่อน

(ค) ในขณะนั้น ถ้าทำได้เราใช้มือซ้ายของเราเกี่ยวเป็นตะขอ คล้องหมัดขวาของปรปักษ์เอาไว้แล้วโจมตีตามติดด้วยมือขวา การทำเช่นนี้ เป็นการใช้การบุกเป็นการตั้งรับทำให้ปรปักษ์เกิดช่องโหว่ ตัวเราก็สามารถพลิกแพลงไปสู่ท่าคว้าจับได้ด้วย

วิธีที่ 2

(ก) หากปรปักษ์เป็นผู้มีฝีมือเหมือนกัน เขาจะจับเจตนาของเราได้ว่าจะคว้าจับแขนขวาของเขา เขาก็จะหันทิศตามการเคลื่อนไหวของเราโดยใช้หมัดซ้ายต่อยสวนเรามาบริเวณลิ้นปี่ของเราก็เป็นได้

(ข) ซึ่งเราก็รู้ทันจึงเปลี่ยนจากมือตะขอเป็นฝ่ามือดันใต้ศอกขวาของปรปักษ์เพื่อคุมทิศทาง หากปรปักษ์ต่อยหมัดซ้ายตามมาจริงๆ

(ค) เมื่อปรปักษ์เห็นเราแปรเปลี่ยนเช่นนั้น เขาก็รู้ทันทีว่าจะ ต่อยมาที่ลิ้นปี่ไม่ได้ จึงเปลี่ยนเป็นใช้หมัดซ้ายโจมตีมาที่ใบหน้าเราแทน ส่วนเราก็ใช้ฝ่ามือขวาของเราดันโต้เพื่อเบี่ยงหมัดซ้ายของปรปักษ์ไปทางขวามือของเรา

จะเห็นได้ว่าเคล็ดในการใช้กระบวนท่าของมวยจีนขั้นสูงนั้น จะต้องดูจังหวะบุกของปรปักษ์เสมอ เมื่อปรปักษ์แปรเปลี่ยนตัวเราก็ต้องแปรเปลี่ยนกระบวนท่าตามไปด้วย หากเป็นมวยจีนขั้นสูงจะไม่มีการใช้กระบวนท่าที่แข็งทื่ออย่างตายตัวและรุนแรงเป็นอันขาด เพราะการทำเช่นนั้น จะทำให้สูญเสียความคล่องตัว

วิธีที่ 3

(ก) กระบวนท่าเราจะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เราจะไม่ หยุดมือซ้ายที่ดันใต้ศอกขวาของปรปักษ์ แต่จะใช้มือซ้ายนั้นม้วนแขนขวาของปรปักษ์เข้าใน ขณะเดียวกันเราก็ไม่หยุดการเคลื่อนไหวของแขนขวา แต่เราจะใช้แขนขวานั้นม้วนแขนซ้ายของปรปักษ์จากด้านนอกเข้าด้านใน ไปพร้อมๆ กันจนทำให้แขนทั้งสองข้างของปรปักษ์ถูกเราจับไขว้กันเป็นรูปกรรไกร โดยมือซ้ายของเรากดแขนขวาของปรปักษ์ซึ่งไปทับแขนซ้ายของปรปักษ์เองอีกทีหนึ่งทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ส่วนแขนขวาของเราอยู่เบื้องล่าง ค่อยช้อนขึ้นพร้อมกับการทำงานของแขนซ้ายเพื่อทำให้ร่างของปรปักษ์เสียหลัก เวลาจะช้อนขึ้นจะต้องใช้การบิดลำตัวของเอวส่งแรงไปที่แขนทั้งสองข้างเป็นสำคัญ

วิธีที่ 4

(ก) โดยไม่หยุดเคลื่อนไหว เราจะใช้เท้าขวาของเราตวัดขึ้น เป็นเส้นโค้งเล็กๆ ไปที่ข้อเท้าซ้ายของปรปักษ์

(ข) ขณะเดียวกันก็ต้องใช้แขนขวาของเราฟาดไปที่ทรวงอก ของปรปักษ์ไปในทิศทางขึ้นสูง เป็นการงัดลำตัวของปรปักษ์ให้ลอยขึ้น ขณะที่เกี่ยวขาตามหลักคานงัดโดยที่มือซ้ายของเราคุมเชิงที่บริเวณใบหน้าและทรวงอกเอาไว้

วิธีที่ 5

(ก) หากปรปักษ์เป็นผู้มีฝีมือเหมือนกัน เขาจะรู้ทันเจตนาของเราและจะพยายามหลบหลีก ซึ่งเราก็ต้องพลิกแพลงกระบวนท่าของเราต่อไปอีก

(ข) การใช้เท้าเกี่ยวตวัดข้อเท้าปรปักษ์นั้น ปรปักษ์ที่มีฝีมือ สามารถหลบหลีกได้ง่าย เราจึงควรพลิกแพลงเป็นถีบหน้าแข้งของเท้าขวา อีกข้างของปรปักษ์แทน

(ค) หากปรปักษ์คิดขยับมือหนีให้พ้นจากการเกาะติด เราก็ ต้องไม่ฝืนไปคว้าจับต่อ แต่ควรพลิกแพลงใช้มือของเราจี้จุดโจมตีไปที่ใบหน้า ลำคอ หรือดวงตาของปรปักษ์แทน

จะเห็นได้ว่า การพลิกแพลงกระบวนท่า ไม่ใช่การทิ้งท่าเดิมหรือเลิกท่าเดิม แต่เป็นการปรับแต่งท่าเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อนึ่งการตวัดเท้าจะต้องวาดจากด้านในไป ด้านหน้าจนยาวมาถึงด้านหลังอีกด้าน ถึงจะใช้พลังจากเอวงัดปรปักษ์ให้ล้มได้ โดยที่การเคลื่อนไหวของมือแขนจะต้องเคลื่อนไหวในทิศทางที่สวนทางกับการเคลื่อนไหวของขาที่ตวัดออกมาถึงจะได้ผลเต็มที่

*******************

ต่อมาหลังจากนั้นไม่นาน ประเทศจีนก็ถูกต่างชาติรุกราน ความที่รักชาติ หลิวหยุนเฉียวหนุ่มจึงสมัครเป็นทหารปฏิบัติงานเป็นสายลับให้กับกองทัพ โดยมีรหัสลับว่า “แม่น้ำเหลืองหมายเลข 1” หรือ “001” นั่นเอง แหล่งปฏิบัติงาน สืบราชการลับส่วนใหญ่ของหลิวหยุนเฉียวจะอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งตอนนั้น ถูกยึดครองโดยต่างชาติหลายประเทศเป็นส่วนๆ มีสภาพไม่ต่างกับกึ่งอาณานิคมเลย

ขณะนั้นเป็นทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นยุคเดียวกับ เฉินเจิน แห่ง “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง” ของสำนักเยี่ยมยุทธของฮั่วหยวนเจี่ย ซึ่งมีสำนักมวยอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เรื่องราวของเฉินเจินภายหลังได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโดยอิงอยู่กับเรื่องจริงเป็นบางส่วนเท่านั้น มิได้เป็นเรื่องจริงทั้งหมด งานสายลับของหลิวหยุนเฉียวแทบไม่ต่างจากงานสายลับสมัยนี้ เท่าไหร่นักคือนอกจากจะสืบหาข้อมูลแล้ว บางครั้งก็ต้องเป็นมือสังหารฝ่ายตรงข้ามหรือปฏิบัติการบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม

การปฏิบัติงานของ “001” เป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้คนในวงการนักเลงของเซี่ยงไฮ้ยุคนั้นเป็นอย่างมาก แต่น้อยคนนักที่จะรู้โฉมหน้าที่แท้จริงของ “001” ว่าเป็นใครและมีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อสงครามยุติลงในปี ค.ศ.1949 และ หลิวหยุนเฉียวต้องอพยพมาอยู่ที่ไต้หวันนี้ เขารู้สึกหดหู่กับชีวิตที่ต้องต่อสู้ประหัตประหารปรปักษ์ในอาชีพของสายลับ จึงลาออกจากราชการทหารเมื่อมีอายุ 39 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นหลิวหยุนเฉียวก็ละทิ้งวงการยุทธจักรเป็นเวลา นานถึงยี่สิบปีเต็ม และไม่ปรากฎตัวต่อสังคมภายนอกอีกเลย ถ้าหากจางหยงซานศิษย์รุ่นพี่มวยตั๊กแตนหกประสานของเขาไม่อุตส่าห์สืบเสาะตามหาตัวเขา มาถึงที่บ้านและชวนให้ตัวเขากลับคืนสู่วงการยุทธจักรอีกครั้ง บางทีโลกเราอาจไม่มีวันได้ยินชื่อของจอมยุทธ์หลิวหยุนเฉียวศิษย์เอกและศิษย์คนสุดท้ายของลิโฉะบุนก็เป็นได้

...ขณะนั้น จางหยงซานเป็นครูมวยสอนมวยตั๊กแตนให้แก่พวกลูกศิษย์อยู่ ขณะเดียวกันก็ทำงานสมาคมมวยจีนสากลเพื่อเผยแพร่วิชามวยจีนอันเป็นมรดกสำคัญทางวัฒนธรรมของประเทศจีนให้สืบทอดไปถึงคนรุ่นหลัง จางหยงซานคิดจะชวนหลิวหยุนเฉียวมาทำงานสมาคมเดียวกัน แต่ตอนแรก หลิวหยุนเฉียวตอบปฎิเสธเพราะบาดแผลจากสงครามทำให้ตัวเขาไม่คิดจะฝึกวิทยายุทธ์ต่อไปอีก เขาเบื่อที่จะสู้รบประหัตประหารกับใครอีกต่อไปแล้ว อีกอย่างเขาละทิ้งวงการนี้มาร่วมยี่สิบปีแล้วจึงไม่คิดจะกลับมาสู่วงการนี้อีก แต่ข่าวคราวที่จางหยงซานได้พบตัวหลิวหยุนเฉียวได้แพร่สะพัดไปทั่ววงการทหารและวงการตำรวจของไต้หวัน พออาจารย์หลี่หยวนจื้อซึ่งขณะนั้น เป็นครูสอนมวยแปดสุดยอดให้กับกองทัพและตำรวจของไต้หวันอยู่ได้ทราบว่า หลิวหยุนเฉียวก็พำนักอยู่ที่ไต้หวันด้วย ท่านก็ประกาศล้างมือทันที เป็นการให้เกียรติอย่างสูงแก่หลิวหยุนเฉียว ถึงกระนั้นก็ตามหลิวหยุนเฉียวก็ยังลังเล ที่จะกลับคืนสู่วงการยุทธจักร

แต่พอดีในช่วงนั้นคนสำคัญของรัฐบาลถูกหนุ่มจีนในสหรัฐฯ ลอบยิงบาดเจ็บสาหัสในขณะที่ไปเยือนสหรัฐฯ พอดี ทางการไต้หวันจึงเห็นความสำคัญที่จะต้องบ่มเพาะบอดี้การ์ดหรือตำรวจลับเพื่อคุ้มครองบุคคลสำคัญของประเทศโดยด่วน ในที่ประชุมเสนอให้ตำรวจลับเหล่านี้ต้องฝึกมวยแปดสุดยอดและเสนอให้อาจารย์หลี่หยวนจื้อเป็นครูฝึก แต่อาจารย์หลี่หยวนจื้อซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมประชุมด้วยกลับเสนอชื่ออาจารย์หลิวหยุนเฉียวแทน ท่านบอกกับที่ประชุมว่า เมื่อได้ทราบว่าหลิวหยุนเฉียวผู้ซึ่งสืบทอดวิชามวยแปดสุดยอดมาจากจอมยุทธ์ลิโฉะบุนโดยตรงพำนักอยู่ที่ไต้หวันนี้ ท่านก็หมดหน้าที่ที่จะเป็นครูมวยแปดสุดยอดให้กับทางการแล้ว เพราะหลิวหยุนเฉียว เหมาะสมกว่าตัวท่านด้วยประการทั้งปวง

แต่เนื่องจากอาจารย์หลิวหยุนเฉียว เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวยุทธในสังคมปิดเท่านั้น พวกชาวยุทธในสังคมเปิดสมัยนั้นไม่มีใครรู้จักอาจารย์หลิว เพราะฉะนั้นเมื่อพวกนั้นได้ทราบข่าวอาจารย์หลิวได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูมวยผู้ฝึกสอนพวกตำรวจลับ พวกเขาจึงไม่ยินยอมพร้อมใจเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาได้เลือกผู้เก่งกาจในวิชาคว้าจับ ฉีกเส้นเอ็น หักกระดูก คนหนึ่งในหมู่พวกเขาเป็นตัวแทนไปท้าประลองกับอาจารย์หลิวหยุนเฉียวต่อหน้าผู้ใหญ่ของทางการหลายคน

พวกเขายืนกรานว่าวิชาฉีกเส้นเอ็น หักกระดูก กดจุด คว้าจับของจีน เป็นวิชาที่เหมาะสมที่สุดที่พวกตำรวจลับควรฝึกฝน หาใช่วิชามวยแปดสุดยอดของครูมวยที่ไร้ชื่อเสียงในสังคมอย่างหลิวหยุนเฉียวแต่ประการใดไม่

การประลองมีขึ้นในห้องโถงที่ประชุมของกระทรวงมหาดไทยต่อหน้าผู้ใหญ่ของทางการหลายท่าน อาจารย์หลิวหยุนเฉียวเป็นฝ่ายเสนอให้ตัวแทนฝ่ายนั้นที่เชี่ยวชาญวิชากรงเล็บเหยี่ยวเป็นผู้คว้าจับข้อมือขวาของเขาตั้งแต่แรก โดยบอกว่าถ้าหากเขาไม่สามารถแก้จากการถูกคว้าจับนี้ได้ เขาจะยอมรับความพ่ายแพ้และยกตำแหน่งครูฝึกตำรวจลับให้แก่ผู้นั้นทันที ตัวแทนฝ่ายตรงข้ามหัวเราะออกมาอย่างมั่นใจ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครหลุดรอดจากการคว้าจับของเขาไปได้เลย ดีไม่ดีคราวนี้หลิวหยุนเฉียวอาจจะแขนหักหรือพิการก็เป็นได้ หลิวหยุนเฉียวยื่นมือขวาให้ผู้นั้นจับ

คนผู้นั้นรีบใช้กรงเล็บเหยี่ยวขวาของเขาบิดข้อมือขวาของหลิวหยุนเฉียวและใช้แขนซ้ายดันไปที่ศอกขวา พร้อมที่จะหักแขนขวาของหลิวหยุนเฉียวได้ทุกเวลา

เมื่อผู้นั้นบอกว่าพร้อมแล้ว อาจารย์หลิวหยุนเฉียวก็ปล่อย “พลังจิ้ง” แบบประชิดตัวกระแทกใส่คนผู้นั้น จนร่างของเขากระเด็นไปกระแทกผนังห้อง ฟุบลงไปนอนแน่นิ่งกับพื้น ในกระบวนท่าที่คล้ายกับท่า “เผิง” ของมวยไท้เก๊ก มากเลย จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ชื่อเสียงของอาจารย์หลิวหยุนเฉียว เป็นที่โจษจันในหมู่ผู้ฝึกวิทยายุทธ์ทั่วไป

ครั้นพออาจารย์หลิวหยุนเฉียวกลายมาเป็นครูฝึกพวกตำรวจลับได้ไม่นาน “ไฟ” แห่งความรักในวิทยายุทธ์ของจีนที่เคยมอดดับไปร่วมยี่สิบปีเต็มก็กลับมาคุโชนอีกครั้งหนึ่งเหมือนสมัยหนุ่มๆ แต่พวกตำรวจลับมิใช่ชาวยุทธ หรือผู้รักการฝึกวิทยายุทธ์เป็นชีวิตจิตใจ สำหรับพวกเขาแล้ววิชามวยจีนเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง เหมือนปืนพกที่เป็นเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองบุคคลสำคัญตามหน้าที่เท่านั้น หลิวหยุนเฉียวจึงได้คิดว่าถ้าหากเขาคิดจะถ่ายทอดวิชามวยจีนอันแสนรักแสนหวงของเขาให้กับคนรุ่นหลังแล้วเขาควรจะถ่ายทอดให้แก่ “คนหนุ่มที่มีทั้งความสามารถและมีไฟอันแรงกล้า” เพื่อให้เป็น ทายาทมังกร สืบต่อจากตัวเขาไปจะดีกว่า



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้