หวงเฟยหง ยอดคนพิทักษ์ชาติ

หวงเฟยหง ยอดคนพิทักษ์ชาติ

หวงเฟยหง ยอดคนพิทักษ์ชาติ


(โดย สุวินัย ภรณวลัย)




ตามตำนานมวยตระกูลหงมีต้นตอมาจากวัดเส้าหลินใต้ โดยที่หลวงจีนจี้เซนถ่ายทอดวิชามวยเส้าหลินใต้ให้กับศิษย์ฆราวาสสองคนคือ “หงซีกวน” กับ “ปึงเซี่ยวเง็ก” แต่ปึงเซี่ยวเง็กเสียชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่มฉกรรจ์ ขณะที่หงซีกวนมีอายุยืนยาวร่วมเก้าสิบปี จึงเป็นผู้เผยแพร่วิชามวยเส้าหลินใต้ให้ขจรไกลไปทั่วมณฑลกวางตุ้ง “ลู่อาไฉ่” ได้เรียนมวยเส้าหลินใต้มาจากหงซีกวนโดยตรงและได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ “หวงฉีอิง” ผู้เป็นบิดาของ “หวงเฟยหง” ผู้โด่งดัง

มวยเส้าหลินใต้ที่หงซีกวนเรียนมา พอถ่ายทอดถึงรุ่นของหวงเฟยหงก็ได้ชื่อใหม่เป็น “มวยตระกูลหง”

ตัวหวงเฟยหงเองมีศิษย์เอกอยู่สี่คน คือ “หมูตอนหยง” “เหลียงคุน” “น้าสิบสาม” และ “ตีนผีเจ็ด”

“หมูตอนหยง” หรือลิ้มซีหยง มีชื่อเสียงกว่าใครในบรรดาศิษย์ของหวงเฟยหง เพราะนอกจากจะเป็นพี่ใหญ่และเป็นพ่อค้าที่มี ฐานะดีแล้ว ยังเป็นคนเผยแพร่วิชามวย “ตระกูลหง” ไปยังฮ่องกงให้ศิษย์แซ่หลิวคนหนึ่ง ซึ่งศิษย์แซ่หลิวคนนั้นได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ “หลิวเจียเหลียง” ผู้กำกับหนังกังฟูชื่อดังของฮ่องกง ทำให้วิชานี้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก

ตัวผู้เขียนเองสนใจ “หวงเฟยฟง” มากเป็นพิเศษ เพราะภาพยนตร์ชุด “หวงเฟยหง” (ONCE UPON A TIME IN CHINA) ของฉีเคอะ ที่นำแสดงโดย หลี่เหลียนเจี๋ย นั้นได้ทำให้ตัวละครที่อิงมาจากครูมวยที่มีตัวตนจริงผู้นี้ กลายเป็น “อมตะ” ในโลกบันเทิงไปแล้ว ตัวหลี่เหลียนเจี๋ยก็ได้กลายเป็น “มังกร (DRAGON)” คนที่สามต่อจาก บรู๊ซลี , เฉินหลง ในโลกภาพยนตร์ไปอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้ ก็เพราะภาพยนตร์ชุด “หวงเฟยหง” นี่แหละ

และ “หวงเฟยหง” ก็ได้ กลายเป็น “ฮีโร่” ในดวงใจของเยาวชนนับล้านทั่วโลกในยุคนี้ไปแล้วด้วย

ตามข้อมูลจากซีดีรวมเพลงจากภาพยนตร์ชุด “หวงเฟยหง” ได้กล่าวถึงประวัติหวงเฟยหงเอาไว้สั้นๆ ว่า เป็นคนในปลายราชวงศ์เช็งและเป็นผู้นำของ “สิบพยัคฆ์กวางตุ้ง” เป็นปรมาจารย์มวยเส้าหลินใต้ เป็นแพทย์ผู้มีชื่อเสียงของมณฑลกวางตุ้ง เป็นครูมวยให้แก่กองทัพ “ธงดำ” ของราชวงศ์เช็ง วิชาที่ โด่งดังมากคือ “หมัดกากบาท” กับ “เท้าไร้เงา” ที่คิดขึ้นเอง

มวยหมัดกากบาทเป็นมวยที่หวงเฟยหงสืบทอดมาจาก “มวยตระกูลหง” แต่ท่า “เท้าไร้เงา” เป็นวิชาเตะที่หวงเฟยหงคิดขึ้นเอง ปัญหาทางวิชาการจึงอยู่ที่ว่า ท่าเท้าไร้เงานี้ จริงๆ แล้วเป็นเช่นไรกันแน่ เพราะผู้ที่เป็นมวยย่อมดูออกว่าท่า "เท้าไร้เงา” ที่เห็นในภาพยนตร์นั้นไม่ใช่ของจริง แต่เกิดจากการชักให้ตัวลอยด้วยลวดสลิง และที่สำคัญไม่เห็นว่าท่าเตะนั้นไร้เงาตรงไหนเลย มันเป็นท่าถีบต่อเนื่องขณะลอยตัวกลางอากาศด้วยสลิงเท่านั้น หาได้พิสดารในสายตาของคนเป็นมวยแต่ประการใดไม่

แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะลงลึกไปวิเคราะห์ “จริง-เท็จ” เกี่ยวกับท่า “เท้าไร้เงา” และประวัติตัวตนที่แท้จริงของหวงเฟยหง ผู้เขียนก็อยากจะออกตัวก่อนว่า ในฐานะผู้ชมคนหนึ่ง ผู้เขียนชอบเพลงนำ ของภาพยนตร์ชุดนี้ของฉีเคอะมากเป็นพิเศษ และชอบทั้งฉากคิวบู๊ของหนังชุดนี้ด้วย ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าวิชามวยที่ใช้ในหนังเรื่องนี้ของหวงเฟยหงเป็นมวยเส้าหลินเหนือ มิใช่มวยเส้าหลินใต้และไม่ใช่มวยตระกูลหงแต่ประการใด เพลงนำของภาพยนตร์ชุดนี้ชื่อ “ลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง” มีท่วงทำนองและเนื้อหาที่ปลุกเร้าจิตใจให้ ฮึกเหิมมาก จึงอยากถ่ายทอดเนื้อเพลงนี้ให้รับทราบโดยสังเขป

เพลงนำในภาพยนตร์ชุด “หวงเฟยหง” ของ ฉีเคอะ

“ลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง”
“เผชิญคลื่นมากมายด้วยใจทรนง
เลือดร้อนระอุในกายแดงฉานดุจแสงตะวัน
ฝึกใจดุจตีเหล็กเคี่ยวกรำอย่างเต็มที่
กระดูกแข็งแกร่งดุจเหล็กไหล
ปณิธานมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า มีสายตายาวไกล
เรามุมานะที่จะฝึกตนให้เข้มแข็งและเป็นคนดี
เราจะเป็นคนดี มุ่งพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
ลูกผู้ชายที่มีอุดมการณ์อย่างเรา
เจิดจ้ายิ่งกว่าแสงตะวัน”


ตามข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตจริงของหวงเฟยหงที่ผู้เขียนได้สืบค้นมา หวงเฟยหงเกิดในปี ค.ศ.1847 เสียชีวิตในปี ค.ศ.1924 เมื่ออายุ 77 ปี เรียกได้ว่า เป็นครูมวยรุ่นก่อน ลิโฉะบุน (1864-1934) และซุนลู่ถัง (1861-1933) อยู่สิบกว่าปี

“หวงฉีอิง” บิดาของหวงเฟยหงเสียชีวิตในปี ค.ศ.1863 เมื่อหวงเฟยหงมีอายุได้ 16 ปี ว่ากันว่าหวงเฟยหงมีอัจฉริยภาพในด้านมวยจีน เพราะเมื่ออายุแค่ 12 ปีก็ร่ำเรียนวิชามวยตระกูลหงจากบิดาได้หมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ด้วยวัยแค่ 17 ปี หวงเฟยหงจึงประกอบอาชีพร้านขายยา “เป่าจือหลิน” พร้อมกับเปิดสอนมวยด้วยทั้งๆ ที่ยังหนุ่มอยู่มาก หวงเฟยหงยังได้ร่ำเรียน “หมัดเหล็กเส้น” ของ “เฉียวซาน” (สะพานเหล็กสาม) ซึ่งเป็นศิษย์ของหงซีกวนที่ถ่ายทอดให้แก่ “ลิ้มฟู่เฉิน” ซึ่งลิ้มฟู่เฉินได้ถ่ายทอดให้หวงเฟยหงตอนที่เขาไปรักษาอาการบาดเจ็บให้ ส่วนท่า “เท้าไร้เงา” ของหวงเฟยหงนั้นไม่มีในมวยตระกูลหงซึ่งถนัดการใช้หมัด แต่เขาเรียน เพลงเตะของมวยเหนือมาจากเพื่อนของเขาอีกคนหนึ่งชื่อ “ซ้องคีถัง” โดยที่ซ้องคีถังได้เรียนเพลงเตะของมวยเหนือจากภรรยาของเขาที่มาจากปักกิ่ง

เรื่องมีอยู่ว่า ซ้องคีถังซึ่งหัดมวยใต้มาเคยถูกหญิงสาวคนหนึ่งหัวเราะเยาะวิชาหมัดของเขา จึงมีการท้าประลองกัน ปรากฏว่าเพลงเตะของหญิงสาวคนนี้ เร็วมากจนมองแทบไม่เห็น (ไม่เห็น “เงา” เท้า) ซ้องคีถังไม่สามารถหลบเพลงเตะของหญิงสาวได้เลย เขาจึงเอ่ยปากยอมแพ้อย่างลูกผู้ชายและเอ่ยปากขอหญิงสาวคนนั้นแต่งงาน ตัวหวงเฟยหงจึงได้เรียนเพลงเตะของมวยเหนือจากซ้องคีถังโดยที่เขาได้ถ่ายทอด “หมัดเหล็กเส้น” ของมวยตระกูลหงให้เป็นการแลกเปลี่ยน แต่ตอนที่หวงเฟยหงเรียนเพลงเตะของมวยเหนือนั้น เขาอยู่ในวัยกลางคนแล้ว และเป็นครูมวยที่เลื่องชื่ออยู่แล้ว แต่เพลงเตะของหวงเฟยหงที่ต่อมารู้จักกันในนาม “เท้าไร้เงา” นั้น น่าจะร้ายกาจสมชื่อจริงๆ เพราะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ท่าเท้าไร้เงาของหวงเฟยหงหลายเรื่องด้วยกัน

แม้ตอนนั้นหวงเฟยหงจะมีอายุหกสิบปีแล้วก็ตามแต่ “เท้าไร้เงา” ของหวงเฟยหงนั้น ไม่ใช่ท่าเตะท่าใดท่าหนึ่งอย่างที่เห็นในภาพยนตร์หรอกและไม่ใช่ท่าเตะที่ยุ่งยากด้วย มันเป็นท่าเตะตรงธรรมดาๆ เพียงแต่เตะได้เร็วมากในจังหวะที่เหมาะสมและในแง่มุมที่เหมาะสมจนคู่ต่อสู้มองแทบไม่เห็นและหลบไม่ได้

“เท้าไร้เงา” จึงไม่ใช่ท่าเตะ แต่เป็นวิธีใช้เท้าเตะที่เก่งมากแบบเดียวกับ “ท่าเตะลับ” ของมวยไท้เก๊กกับมวยฝ่ามือแปดทิศที่ยากจะมองออกและยากจะหลบหลีกพ้น

เคล็ดการใช้ท่า “เท้าไร้เงา” ของหวงเฟยหงนั้นมีอยู่ 4 คำเท่านั้นคือ “ความเร็ว พลังจิต ความแม่นยำ และพลังที่ใช้” และท่าเตะของเท้าไร้เงาของหวงเฟยหงนั้นก็ง่ายมาก เพียงแต่ยากจะหาใครชำนาญได้เหมือนหวงเฟยหงผู้มีอัจฉริยภาพในเพลงหมัดและเพลงเท้า

ภาพท่า “เท้าไร้เงา” ของหวงเฟยหงที่ได้รับการเปิดเผยโดยศิษย์รุ่นหลังๆ ในทศวรรษ 1970 ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นท่ามุ่งเตะต่ำกว่าเอวเป็นหลัก ขณะที่สองมือ กางออกมาเป็นท่ากงเล็บเสือใช้มือโจมตีท่อนบนของคู่ต่อสู้ ขณะที่ใช้เท้าโจมตีท่อนล่างของคู่ต่อสู้ในเวลาเดียวกัน

เท่าที่สืบค้นมาปรากฏว่าไม่มีภาพถ่ายของหวงเฟยหงเลยแม้แต่ใบเดียว เคยมีภาพวาดตัวหวงเฟยหงอยู่หนึ่งใบสมัยราชวงศ์เช็งโดยผู้ตรวจการกองทัพเรือมณฑลกวางตุ้งสั่งจิตรกรวาดให้และมอบให้แก่อาจารย์หวงเฟยหง แต่ครั้นเกิดการปฏิวัติที่นำโดยซุนยัดเซ็น ก็ปรากฏว่าภาพอาจารย์หวงเฟยหงถูกเผาในกองเพลิงวอดวายไปพร้อมกับเป่าจือหลินในปี ค.ศ. 1923 ก่อนอาจารย์หวงเสียชีวิตเพียงปีเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ดีผู้เขียนได้เห็นภาพถ่ายของ "หวงคันซี" บุตรชายคนที่สิบของอาจารย์หวงเฟยหงในช่วงทศวรรษที่ 1970

หวงคันซีผู้นี้ พวกลูกศิษย์ของอาจารย์หวงล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มีใบหน้าเหมือนอาจารย์หวงเฟยหงในวัยกลางคนมาก ก็พอทำให้สันนิษฐานหน้าตาของหวงเฟยหงจากหน้าตาของหวงคันซีในวัยกลางคนได้

เกี่ยวกับชีวิตรักของหวงเฟยหง เท่าที่สืบค้นมาหวงเฟยหงมีภรรยาทั้งหมดสี่คน คนแรกเสียชีวิตภายหลังจากการคลอดลูกในช่วงที่หวงเฟยหงมีชีวิตอยู่ เป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนราชวงศ์ การรุกรานจากพวกจักรพรรดินิยมคงทำให้หวงเฟยหงพลัดพรากจากภรรยา ในที่สุดก็มาได้ “ม่อกุ่ยหลัน” ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหวงเฟยหงและคงจะมีวัยต่างกันมากหลายสิบปี เพราะในปี 1970 ม่อกุ่ยหลันในวัยแปดสิบปียังเคยออกทีวีโชว์มวยตระกูลหงที่นางเรียนมาจากหวงเฟยหงโดยตรงเลย ตอนที่หวงเฟยหงเสียชีวิตม่อกุ่ยหลันเพิ่งมีอายุแค่ 34 ปีเท่านั้น วัยห่างจากหวงเฟยหงผู้เป็นทั้งอาจารย์และสามีถึง 43 ปี

หวงเฟยหงสอนมวยให้แก่บุตรชายคนโตที่มีกับภรรยาคนแรกบุตรชายคนโตของหวงเฟยหงก็มีฝีมือเช่นเดียวกับบิดา แต่เพราะเขาได้ชัยชนะในการแข่งขัน จึงถูกผู้แพ้ใช้วิธีการต่ำช้าลอบสังหารด้วยอาวุธปืนจนเสียชีวิตไป หวงเฟยหงเสียใจกับเหตุการณ์นี้มากจึงไม่ให้บุตรชายคนอื่นฝึกมวยจีนอีกเลย

ถึงแม้ว่าเรื่องจริงชีวิตจริงของหวงเฟยหงจะต่างจากเรื่องราวในภาพยนตร์อย่างเป็นคนละเรื่องเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ อาจารย์หวงเฟยหงคือครูมวยคนสำคัญคนหนึ่งของจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่ 20

อนึ่ง เหตุที่เรื่องราวของหวงเฟยหงโด่งดังจนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมานั้นก็เพราะศิษย์คนหนึ่งของ “หมูตอนหยง” เป็นนักเขียนและเกิดบ้านเดียวกับหวงเฟยหง ได้นำเรื่องของอาจารย์หวงเฟยหงมาเขียนเป็นหนังสือกึ่งนิยายนั่นเอง

ไหนๆ ผู้เขียนก็พูดถึง “ท่าเท้าไร้เงา” ของหวงเฟยหง แล้วจึงขอถือโอกาสนี้พูดถึงเคล็ดวิชา “ท่าเตะลับ” หรือ “ท่าเท้าไร้เงา” ของมวยไท้เก๊ก และมวยฝ่ามือแปดทิศ ของสำนักยุทธธรรมบ้าง

“เงื่อนไขของท่าเท้าไร้เงา” ของหวงเฟยหง มีดังนี้คือ

1. ต้องใช้ระยะทางที่สั้นที่สุดคือ เตะได้เร็วที่สุดเพราะใช้ระยะทางสั้นที่สุด

2. เตะในจังหวะเวลาและแง่มุมเตะที่คู่ต่อสู้คาดไม่ถึง

3. ใช้หลัก จริง-ลวง หลอกล่อให้จับทิศทางไม่ได้

4. เตะออกมาด้วยท่วงท่าที่ใช้น้อยที่สุด เล็กแคบที่สุด

ยิ่งถ้ารู้จุดอ่อนในสรีระของร่างกายมนุษย์ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้การเตะในท่าไร้เงานี้ร้ายกาจอย่างที่สุด ส่วนหลักการในการเตะท่าเท้าไร้เงาของมวยไท้เก๊กและมวยฝ่ามือแปดทิศนั้นได้พัฒนา “เงื่อนไขของท่าไร้เงา” ของหวงเฟยหงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งคือ จะต้องบรรลุเงื่อนไขเพิ่มอีก 3 ประการ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ยามใช้เท้าต้องแทบมองไม่ออก หรือมองไม่เห็นว่าเป็นการใช้เท้า จึงได้ชื่อว่าท่าเตะลับ

สอง ยามใช้ท่าเตะจะใช้ในระหว่างท่าเดิน หรือในระหว่างการเคลื่อนไหว เท้าเสมอจนแยกการเดินกับการเตะออกจากกันแทบไม่ได้

สาม ท่าเตะที่ใช้ออกไปนั้นจะต้องติดต่อต่อเนื่องเป็นห่วงสัมพันธ์ด้วยเสมอ ไม่ใช่การแยกท่าเตะออกมาอย่างโดดๆ และขาดช่วง





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้