วิถีคานธีกับการเมืองแห่งความหมาย 23/8/2548

วิถีคานธีกับการเมืองแห่งความหมาย 23/8/2548


วิถีคานธีกับการเมืองแห่งความหมาย



คงเป็นการยากที่จะปฏิเสธได้ว่า ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กำลังโหยหา "ความหมาย" ใน ชีวิต และใน การเมือง ยิ่งพวกเขาดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ รัฐบาล "เบ็ดเสร็จ" พรรคเดียว ที่มีอำนาจล้นเหลือและ พยายามครอบงำหรือผูกขาดแม้กระทั่งโลกทัศน์ หรือวิธีมองโลกมองชีวิตของคนไทยด้วยแล้ว ความอึดอัด หมดอาลัยตายอยากในจิตใจของพวกเขา จึงเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้


โลกทัศน์ ที่สถาบันทางเศรษฐกิจ-การเมือง-วัฒนธรรมหลักๆ ของสังคมไทยได้พยายามถ่ายทอดหล่อหลอม "เป่าหู" คนไทยโดยผ่านสื่อต่างๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่วนใหญ่ก็ไปในทิศทางเดียวกันคือ สอนให้เรามองโลกจากสายตาที่คับแคบด้านเดียว ระยะสั้น เป็นวัตถุนิยม และมุ่งที่ผลลัพธ์เป็นหลัก


โลกทัศน์ เช่นนี้หล่อหลอมให้เรามองผู้อื่นว่าเป็น "คู่แข่ง" ที่ต้องเอาชนะ เป้าหมายของชีวิตมีแต่การแก่งแย่งช่วงชิง ผู้ชนะ ผู้ประสบความสำเร็จเท่านั้นที่มีคุณค่า ความหมายควรแก่การยกย่อง ผู้แพ้ ผู้ล้มเหลวกลายเป็นคนไร้ค่า หมดความหมาย หรือสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์


ทั้งๆ ที่ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สังคมสามารถเรียนรู้เก็บเกี่ยวบทเรียนจากความพ่ายแพ้ และความล้มเหลวได้มากกว่าชัยชนะอันจอมปลอมที่เฉพาะหน้า และชั่วคราวเสียอีก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่เดี๋ยวนี้สังคมไทยมั่งคั่งขึ้นทางวัตถุกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึก "แปลกแยก" และพบว่าตนเองกำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยวเหงาและ ไม่อาจไว้วางใจผู้อื่นได้เลย


คนเราจึงโหยหา "ความหมาย" ในชีวิตและในการเมืองที่แม้แต่ "อภิมหาประชานิยม" ของทักษิโณมิกส์ก็ไม่อาจถมเติม ไม่อาจเติมเต็ม ความรู้สึกกลวงว่างในจิตใจนี้ได้


มันเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ ทั้งๆ ที่คนเราพยายามเห็นแก่ตัวมากขึ้น พยายามใส่ใจในเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่คนเรากลับมีความสุขน้อยลง กลับหาความหมายในชีวิตได้ยากขึ้น


ในทัศนะของผู้เขียน วาระใหญ่ทางการเมืองของภาคประชาชนนั้น มิได้อยู่ที่จะคานอำนาจระบอบทักษิณอย่างไร หรือว่าจะตรวจสอบระบอบทักษิณอย่างไร จริงอยู่แม้เรื่องนี้จะมีความสำคัญอยู่เหมือนกัน แต่การทุ่มเทพลังงานทั้งหมดของภาคประชาชนให้แก่เรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น มันจะนำไปสู่อะไร ถ้ามิใช่ ความไม่ไว้วางใจผู้อื่นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


ในยุคสมัยที่ผู้ปกครองเถลิงอำนาจเบ็ดเสร็จจนภาคประชาชนยากที่จะทัดทานอะไรได้มาก การเมืองแห่งความหมาย หรือ การเมืองเพื่อหาความหมายที่แท้จริงให้แก่ตนเองที่ข้ามพ้นลัทธิปัจเจกนิยมอันคับแคบ น่าจะเป็นทางเลือกที่ควรแก่การใส่ใจ และเราก็สามารถเรียนรู้ วิถีการเมืองแห่งความหมายนี้ ได้จากท่านมหาตมะ คานธี


ท่านมหาตมะ คานธี เป็น บุคคลที่ไม่มีวันตาย ท่านได้ทิ้ง พลังทางใจอันยิ่งใหญ่ ไว้ให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง ซึ่งสักวันหนึ่งในกาลข้างหน้า จักต้องมีอำนาจเหนือกำลังรบ และอาวุธยุทธภัณฑ์และเหนือลัทธิก่อการร้ายทุกรูปแบบทั้งปวง


การกอบกู้การเมืองภาคประชาชน ภายใต้ ระบอบเบ็ดเสร็จ เช่นปัจจุบันนี้ จึงควรเริ่มจากการสถาปนา การเมืองแห่งความหมาย (Colitics of Meaning) โดยศึกษาจากแบบอย่างและวิถีของท่านมหาตมะ คานธี เป็นปฐม


พฤติการณ์ในชีวิตของท่านคานธีส่วนใหญ่เป็น การทดลองความจริง หรือสัจจะ เพราะสำหรับตัวเขาแล้ว ประสบการณ์ในชีวิตได้สอนเขาตลอดมาว่า นอกจากสัจจะ (ความจริง) แล้ว ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าในรูปอื่นใดอีกหรือไม่มีสิ่งสูงสุดในรูปอื่นใดอีก โดยที่ อหิงสาเป็นมรรคาเดียวเท่านั้นที่จะนำพาไปสู่สัจจะความจริงนี้


การทดลองความจริงให้ "ความหมาย" แก่ท่านคานธี ให้กำลังใจแก่ตัวเขาและทำให้ตัวเขาเกิดปีติสุข หลังจากคร่ำเคร่งกับการฝึกฝนจิตใจตนเองมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีๆ ในที่สุด ระดับจิตของ "ผู้นำ" อย่างท่านคานธีก็เข้าถึงสภาวะที่เกลียดสิ่งที่มีชีวิตใดๆ ในโลกนี้ไม่เป็น การเคลื่อนไหวทางการเมืองของท่าน แนวทางทางการเมืองของท่านล้วนออกมาจากสภาวะจิตในระดับนี้ของท่านคานธีทั้งสิ้น


ท่านคานธีกล่าวว่า วิถีแห่งอหิงสา หรือ วิถีแห่งความรักความเมตตา นั้น ต้องลุยไฟ ผู้ขยาดจะไม่ยอมเดินบนวิถีทางนั้น จึงมีอยู่บ่อยครั้งที่ผู้ที่เดินบนมรรคาแห่งอหิงสาจักต้องเดินโดยลำพังอย่างเดียวดาย


ท่านคานธีถือว่า การทรมาน การหลู่เกียรติเพื่อนมนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็น "หิงสกรรม" ที่โจ่งแจ้งและร้ายกาจที่สุด ท่านจึงเห็นว่า ในชีวิตของคนเรานั้น บางครั้งเราก็ต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ชนิดที่แม้แต่ชีวิตก็อุทิศให้ได้


นักการเมือง ผู้ปกครองที่ไม่ตระหนักถึงศักดิ์ศรีของชีวิตมนุษย์ ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจ หลักการขั้นพื้นฐานของอหิงสา ที่กล่าวว่า "ผู้ที่บูชาสัจจะจะยอมตาย แต่ไม่ยอมเสียสัจจะ" เพราะฉะนั้น ผู้ที่บูชาอหิงสาธรรมจะคุกเข่าอ้อนวอนศัตรูให้ฆ่าเขาเสีย แต่ขออย่าให้หลู่เกียรติหรือบังคับให้เขาต้องกระทำสิ่งใดที่ไม่คู่ควรกับการมีชีวิตอย่างมนุษย์


เมื่อท่านคานธีพบว่า ตนเองได้ถูกดึงเข้ามาอยู่ในแวดวงของการเมืองเสียแล้ว ท่านได้ถามตัวเองว่า การที่ท่านจะรักษาตนให้พ้นจากความไม่มีศีลธรรม อสัจจะ และจากสิ่งที่เรียกกันว่า ผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น จำเป็นจะต้องทำอย่างไร? คำตอบที่ผุดขึ้นในสมองของท่านก็คือ


"หากจะรับใช้เพื่อนร่วมชาติด้วยกัน ซึ่งเราเห็นพวกเขาได้รับความทุกข์ยากอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้วไซร้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ เราจะต้องละทิ้งทรัพย์สินทุกชิ้นโดยสิ้นเชิง"


ท่านคานธีจึงเป็น "ผู้นำ" ที่ยากจน ทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ในโลกนี้ มีกงล้อปั่นด้าย 6 เครื่อง จานรับประทานอาหาร 1 ใบ กระป๋องใส่นมแพะ 1 ใบ ผ้านุ่งและผ้าเช็ดตัวทอด้วยมือ 6 ชิ้น นอกนั้นก็มีแต่ชื่อเสียงซึ่งท่านไม่เคยนำไปแปรเป็น "ทรัพย์" เลย ท่านไม่ได้เรียกร้องให้คนอื่นต้องทำตามท่าน แต่ท่านเรียกร้องต่อตัวท่านเอง ท่านยอมจนด้วยสมัครใจเอง


ท่านได้ตัดสินใจแล้วที่จะอุทิศร่างกายของท่านมอบให้แด่พระผู้เป็นเจ้า ท่านจึงมิได้ใช้ร่างกายนี้เพื่อความสนุกสนาน ความบันเทิงส่วนตน แต่ท่านใช้มันเพื่อบริการผู้อื่นตลอดเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ในเมื่อแม้แต่ร่างกายของท่าน ท่านก็ยังมอบให้แด่พระผู้เป็นเจ้าได้เช่นนี้แล้ว การที่ท่านจะสละทรัพย์สินไม่คิดสะสมยึดครอง จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากเลยสำหรับคนอย่างท่าน


ท่านคานธีไม่เคยเรียกร้องผู้ใดให้เดินตามหลังท่าน ท่านมีความเห็นว่า คนเราทุกคนควรจะเดินตามเสียงเรียกร้องซึ่งเกิดจากภายในของตนเอง และไม่ว่าจะเป็นในกรณีใด คนเราทุกคนไม่ควรจะเดินตามหลังผู้อื่นเหมือนแพะหรือแกะ ไม่ว่าผู้นั้นจะดูยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม


ในโลกที่เต็มไปด้วยความปวดร้าวเช่นทุกวันนี้ จะมีวิถีการเมืองอื่นใดให้เลือกเดินได้อีก นอกเสียจาก วิถีแห่งอหิงสา ซึ่งเป็นวิถีที่แคบแต่ตรง?


ท่านคานธี เคยกล่าวให้กำลังใจตนเอง และผู้ที่เลือกจะเดินบนวิถีอหิงสาธรรมเช่นท่านว่า


"เจ้าจะต้องยืนหยัดสู้กับโลกทั้งโลก แม้ว่าเจ้าจะต้องยืนหยัดอยู่โดยเดียวดายก็ตาม


เจ้าจะต้องจับตาดูใบหน้าของโลก แม้ว่าโลกจะมองเจ้าด้วยสายตาอันแดงก่ำไปด้วยเลือดก็ตาม


เจ้าจะต้องไม่กลัว จงเชื่อมั่นและจงยืนหยัดอยู่กับสิ่งที่เจ้าได้ต่อสู้มา และที่เจ้าได้ยอมอุทิศชีวิตให้แล้ว"


ท่านคานธีเป็นผู้นำประเภทที่ทนดูความอยุติธรรมและความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่ได้ ท่านมุ่งมั่นที่จะปลดปล่อยผู้คน เพื่อการนี้ ท่านจึงพยายามขัดเกลาตนเองตลอดเวลา เพื่อให้ใจของท่านได้บรรลุความสว่าง และอิสรภาพโดยสมบูรณ์เสียก่อน


ท่านได้เจริญภาวนาอยู่ตลอดเวลาว่า จะไม่ขอโกรธขึ้งผู้ใดที่นินทาว่าร้ายท่าน แม้ท่านจะต้องตกเป็นเหยื่อกระสุนปืนของผู้ที่คิดร้ายหมายปองชีวิตท่าน ท่านก็จะขอให้ตนเองมีสติระลึกถึง พระนามของพระผู้เป็นเจ้าขณะที่วาระสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านมาเยือน และท่านก็ทำเช่นนั้นได้จริงๆ


ท่านคานธีมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นว่า สัจจะความจริงกับความเป็นจิตวิญญาณ หรือความเป็นศาสนาที่สามารถเปลี่ยนจิตใจคนได้นั้น เป็นเรื่องเดียวกัน และไม่อาจแยกขาดจากเรื่องการเมืองได้ เพราะในธรรมชาติมูลฐานของมนุษย์นั้นมี แรงผลักดันภายใน ที่จะวิวัฒนาตัวเองให้สูงส่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และ แรงผลักดันภายในนี้ จะไม่มีวันหยุดนิ่งจนกว่าผู้นั้นจะค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ค้นพบพระผู้เป็นเจ้า และค้นพบความสัมพันธ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างตัวเขากับพระผู้เป็นเจ้าหรือธรรมจิต


ท่านคานธีจึงทราบดีว่า หากท่านไม่ลุกขึ้นต่อสู้กับความชั่วร้ายชนิดเอาชีวิตเข้าแลกแล้ว ท่านจะไม่มีวันรู้จักพระผู้เป็นเจ้าได้เลย แต่การต่อสู้กับความชั่วร้ายของท่านนั้น เป็นแบบ "เกลียดบาปโดยไม่เกลียดคนทำบาป" ซึ่งเป็น อหิงสาของคนกล้า


วิถีแห่งความรักและความภักดีที่ท่านคานธีมีต่อสัจจะความจริงได้ดึงนำตัวท่านเข้าสู่เวทีการเมือง ท่านจึงกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ผู้ที่กล่าวว่าศาสนาไม่เกี่ยวกับการเมืองนั้น เป็นผู้ที่ไม่รู้ความหมายของคำว่า ศาสนาและจิตวิญญาณ สำหรับท่านคานธีแล้ว การรับใช้เพื่อนมนุษย์เป็นวิถีแห่งการพานพบกับพระผู้เป็นเจ้าของท่าน และเป็นวิถีการเมืองแห่งความหมายของตัวท่านด้วย







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้