ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (2) 10/5/2548

ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (2) 10/5/2548


ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (2)



มูซาชิ กล่าวว่า แก่นแท้ของกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ นั้น อยู่ที่ การมีชัยเหนือผู้อื่น ไม่ว่าต่อปัจเจก หรือต่อฝูงชนล้วนมาจากหลักการเดียวกัน แล้วจะมีชัยเหนือผู้อื่นได้อย่างไร? ต่อคำถามนี้ มูซาชิตอบว่า ก่อนอื่นผู้นั้นจะต้องศึกษาและเข้าถึง คุณธรรม หรือ หลักธรรมของกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ ก่อน


การกล่าวเชิงนามธรรมเช่นนี้ของมูซาชิ อาจทำให้ผู้ที่มีความคิดตื้นเขินแย้งว่า คุณธรรมหรือหลักธรรมมิได้ทำให้หายหิว หรือทำให้ท้องอิ่ม จึงไม่มีประโยชน์ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งมูซาชิจะโต้กลับไปว่า ใน วิถีของสำนักฟ้าคู่ ของเขานั้น การฝึกฝนให้เชี่ยวชาญชำนาญทั้งในเรื่องรูปธรรมอย่างงานช่าง งานฝีมือ และในเรื่องนามธรรมอย่างงานปรัชญาความคิดจึงเป็นวิถีแห่งกลยุทธ์ที่แท้จริง


เพราะในมุมมองของมูซาชินั้น นักดาบที่คิดพึ่งแต่เทคนิคของดาบ เท่านั้นในการชิงชัย สุดท้ายก็จะไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงวิถีแห่งดาบ เพราะฉะนั้น ถ้าหากสมมติให้มูซาชิสามารถให้คำแนะนำ ภราดร ศรีชาพันธุ์ นักเทนนิสอันดับหนึ่งของไทย ที่ระยะหลังฟอร์มการเล่นไม่ค่อยดีนักได้ มูซาชิก็คงเตือนสติภราดรว่า


"นักเทนนิสที่คิดพึ่งแต่เทคนิคของเทนนิสในการชิงชัย


สุดท้ายก็จะไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงวิถีแห่งเทนนิส"


หรือถ้าให้มูซาชิมาเตือนสติ "ท่านผู้นำ" แห่งระบอบทักษิณได้ มูซาชิก็คงจะเตือนคุณทักษิณว่า


"ผู้นำทางเศรษฐกิจที่คิด พึ่งแต่เทคนิคของการหมุนเงิน หาเงินในการชิงชัยสงครามเศรษฐกิจ สุดท้ายก็จะไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง วิถีแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่แท้จริง"


วิถีของนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่แท้มิใช่จะเข้าใจ เข้าถึงกันได้ง่ายๆ หรอก ต่อให้หาเงินเก่ง หมุนเงินเก่งแค่ไหนก็ตาม เพราะมันคนละเรื่องกัน


หลักธรรมหรือคุณธรรมแห่งวิถีที่แท้ ย่อมมีความเป็นสากลที่ใช้ได้กับทุกเรื่อง นี่คือ ความเชื่อโดยสุจริตใจของ จอมดาบ อย่างมูซาชิที่ตัวเขาสามารถเข้าถึงสัจธรรมอันนี้ได้ โดยผ่านการฝึกฝนในวิถีแห่งกลยุทธ์ และวิทยายุทธ์อันยาวนานของตัวเขา ภราดรยังไม่เข้าถึง หลักธรรมแห่งวิถีเทนนิส และตัวคุณทักษณก็ยังเข้าไม่ถึงหลักธรรมแห่งวิถีผู้นำ ความสำเร็จที่ได้รับในปัจจุบันจึงชั่วคราว ไม่ยั่งยืน และไม่ได้รับการยกย่องจากเหล่าปราชญ์ และผู้ทรงธรรมทั้งปวง


มูซาชิกล่าวว่า ผู้อยู่บนวิถีใด ผู้นั้นก็ควรที่จะเอาใจใส่ดูแลเครื่องมือแห่งวิถีตนเป็นอย่างดี ดาบเป็นเครื่องมือของนักดาบ ตำราหนังสือเป็นเครื่องมือของนักวิชาการ องค์กรเป็นเครื่องมือของนักบริหาร ผู้อยู่บนแต่ละวิถีควรเอาใจใส่เครื่องมือของตนอย่างให้ความสำคัญดุจชีวิตของตนเอง


ดาบ ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ นักดาบ


ตำราหนังสือ ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ นักศึกษา ปัญญาชน


การปฏิบัติธรรม ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ นักบวช


สุขภาวะขององค์กร ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ นักบริหาร


ความมั่นคงยั่งยืนสถาพรของชาติ ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ ผู้ปกครองประเทศ...อย่างนี้ถึงจะเรียกได้ว่า กำลังเดินอยู่บนวิถี และไม่เบนห่างจาก วิถีของฟ้า


สำหรับผู้ที่สนใจคิดจะร่ำเรียนฝึกฝนตามแนวทางสำนักฟ้าคู่ของมูซาชิ ตัวเขาได้ให้แนวทางการปฏิบัติตนเอาไว้ 9 ประการ


ซึ่งผู้เขียนได้ตีความตามแนวภูมิปัญญาบูรณาการ ดังต่อไปนี้

(1) จงคิดแต่ในเรื่องที่ถูกต้องดีงามเป็นสัมมาเสมอ หรือขยายความได้ว่า จงคิดดี พูดดี และทำดีในทุกสถานการณ์ที่ตัวเองประสบ ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะเลวร้ายย่ำแย่เพียงไหนก็ตาม ก็จะไม่เลิกคิดดี พูดดี ทำดีเป็นอันขาด


(2) จงหมั่นฝึกฝน "อภิมรรค" หรือ "วิถี"

หมายความว่า จงเลือกฝึกฝนศิลปะอะไรก็ได้ ที่คนผู้นั้นรักจนสามารถทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมดของตนให้กับการฝึกฝนศิลปะนั้นได้อย่างมิรู้เบื่อหน่าย อย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า จงพยายามพัฒนายกระดับ "ทักษะ" บางอย่างที่ตนเองมีให้สูงส่งจนกลายเป็น "วิถี" ให้จงได้ สำหรับในกรณีของมูซาชิคือทักษะในการใช้ดาบ


(3) จงสนใจศิลปะแขนงอื่นให้กว้างขวางเข้าไว้ หมายความว่า จงขยายความสนใจใฝ่รู้ในการฝึกฝนตนเองให้กว้างออกไป เพื่อพัฒนา "พหุปัญญา" ของตน ด้วยท่าทีที่เปิดใจกว้างเสมอ และจงมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ศิลปะแขนงต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อบูรณาการการฝึกฝนศิลปะต่างๆ เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากาย-ใจ-จิตวิญญาณอย่างรอบด้าน


(4) จงหมั่นศึกษาวิถีของอาชีพอื่นๆ ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วย หมายความว่า จงศึกษาอาชีพสาขาวิชาต่างๆ ในฐานะที่ต่างก็เป็น องค์ความรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้อง พยายามสังเคราะห์องค์ความรู้ต่างสาขาที่หลากหลายเหล่านั้น ให้กลายเป็นวิสัยทัศน์เชิงบูรณาการของผู้นั้นให้จงได้


(5) จงมีดุลพินิจในการจำแนกสิ่งสาระเป็นประโยชน์ออกจากสิ่งสาระไร้ประโยชน์ หมายความว่า จงเลือกทำแต่ในสิ่งที่ช่วยให้ตนเองมีความรุดหน้าบน "วิถี" เท่านั้น และใช้ชีวิตตามมาตรฐานตามหลักการนี้อย่างเคร่งครัด


(6) จงมีสายตาคมกล้าในการมองสรรพสิ่ง หมายความว่า จงมองให้ทะลุถึงแก่นแท้แห่งหลักวิวัฒนาการของสรรพสิ่ง หรือจักรวาฬ (Kosmos) จนสามารถกำหนดตำแหน่งแห่งที่ (positioning) และทิศทางพัฒนาการของสังคม และปัจเจกไปพร้อมๆ กันได้


(7) จงแลเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็น หมายความว่า จงพัฒนาความสามารถเชิงญาณทัสนะ (intuition) หรือสัมผัสพิเศษในเชิงญาณปัญญา โดยผ่านการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับรู้สิ่งที่เหนือโลก สิ่งที่เป็นอภิปรัชญาได้


(8) จงมีความละเอียดรอบคอบ แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หมายความว่า จงหมั่นเจริญสติปัฏฐาน 4 จนกระทั่งจิตมีความตื่นตัว มีสติเต็มบริบูรณ์อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เป็นนิจ


(9) จงอย่าทำในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ หมายความว่า จะคิดทำการสิ่งใด ต้องเห็นภาพทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวม แล้วเลือกกระทำแต่ในสิ่งที่ก่อประโยชน์สูงสุดแก่คนส่วนใหญ่เสมอ


มูซาชิกล่าวว่า ผู้ใดก็ตามที่หมั่นฝึกฝน วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ ตามแนวทางการปฏิบัติ 9 ประการ ที่เขาเสนอไว้ดังข้างต้น จงพยายามบรรลุทั้ง ความลึก และ ความกว้าง ของวิถีไปพร้อมๆ กัน จงหมั่นฝึกฝนทั้งด้านทักษะเทคนิคแห่งวิถีให้เชี่ยวชาญ จงฝึกฝนวิธีคิด วิธีพินิจพิเคราะห์ของวิถีนั้นอย่างละเอียดลึกซึ้ง จงฝึกปรือร่างกายตนเองจนเคลื่อนไหวได้อย่างแคล่วคล่อง แม้เริ่มมีอายุแล้ว กำลังวังชา พละกำลัง ความคล่องตัวก็ยังไม่เสื่อมถอย จงฝึกจิตฝึกใจ จนกระทั่ง "ไม่หวั่นไหว" แม้ตกอยู่ในสถานการณ์คับขันเพียงใดก็ตาม หากผู้นั้นสามารถฝึกฝนตนเองในทุกมิติ ในทุกด้านได้อย่างนี้แล้ว จะแพ้คนอื่นได้อย่างไร? จะแพ้ตัวเองได้อย่างไร? ไม่ว่าจะต่อสู้กันตัวต่อตัว หรือต่อสู้กับคนหมู่มากก็ตาม


ใจของวิชาฝีมือของสำนักฟ้าคู่ของมูซาชินั้น ใช้ "น้ำ" เป็นต้นแบบ เพื่อได้มาซึ่งชัยชนะ มูซาชิบอกว่า คนเราต้องใช้ใจตนเองค้นหา "ใจของน้ำ" ให้พบ และหมั่นฝึกฝนจิตใจของตนเองให้กลายเป็นใจของน้ำให้จงได้


มูซาชิกล่าวว่า ใจจะต้องเป็นปกติเสมอ ไม่ว่ายามเผชิญการต่อสู้ หรือยามใช้ชีวิตประจำวันก็ตาม จะให้ผิดแผกแตกต่างกันไม่ได้ กล่าวคือ ใจของนักกลยุทธ์ที่แท้จะต้องกว้าง เปิดเผย เที่ยงตรง ไม่กระด้างเกินไป ไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่โอนเอียงไปข้างไหน แต่จะต้องผ่อนคลายและสงบเยือกเย็นเป็นธรรมดา ไม่ใช่ว่ายามร่างกายนิ่งแล้วใจถึงค่อยนิ่ง แต่จะต้องฝึกตนจนกระทั่งแม้ยามร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ใจก็ยังคงนิ่งเป็นปกติไม่เคลื่อนไหว หวั่นไหวตามไปด้วย


ใจจะต้องไม่ถูกร่างกายที่เคลื่อนไหวฉุดลากไป และร่างกายก็ไม่ควรถูกใจที่เตลิดฉุดลากไปเช่นกัน จงใส่ใจกับการกำหนดวางใจ โดยอย่าให้ใจไปยึดติดกับร่างกาย พยายามรักษาสภาพ "อ่อนนอกแข็งใน" เอาไว้เสมอ อย่าให้คนอื่นอ่านออกได้


ในการใช้ชีวิตประจำวัน จงพยายามระมัดระวังอย่าให้จิตใจเกิดความขุ่นมัว หม่นหมอง จงทำใจให้กว้างและมีปัญญาเป็นศูนย์กลาง จงให้ความสำคัญในการฝึกฝนลับใจให้คมพร้อมๆ กับลับปัญญาให้คมพอๆ กัน การลับปัญญาให้แหลมคมจะช่วยให้การแยกแยะธรรมะอธรรม ผิดชอบชั่วดีในโลกนี้อย่างถูกต้องได้ เมื่อมีปัญญาในการเรียนรู้โลกเช่นนี้แล้ว ต่อไปปัญญาอันนี้ก็จะสามารถพัฒนาไปเป็นปัญญาของหลักกลยุทธ์และหลักวิทยายุทธ์ได้อย่างแน่นอน








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้