พหุปัญญาของมูซาชิใน "คัมภีร์ห้าห่วง" (2) 26/4/2548

พหุปัญญาของมูซาชิใน "คัมภีร์ห้าห่วง" (2) 26/4/2548


พหุปัญญาของมูซาชิใน "คัมภีร์ห้าห่วง" (2)



กลยุทธ์ เป็น เรื่องของการเอาชนะ ซึ่งเป็นเรื่องของคุณสมบัติความสามารถที่จำเป็น ไม่ว่าในระดับ ปัจเจก หรือระดับ รวมหมู่ ในการเอาชนะอุปสรรคปัญหาต่างๆ ไม่เพียงแต่ในเรื่องของสงคราม การแข่งขัน การขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบในทางการค้า การเมือง การทหาร และการกีฬาที่มีคู่แข่งคู่ต่อสู้เท่านั้น แต่ยังควรกินความกว้างไปถึง การเอาชนะตัวเอง ด้วย ถึงจะเป็น วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ ที่แท้จริง


ความช่ำชองทางกลยุทธ์ในการเอาชนะ โดยปราศจากการบ่มเพาะคุณธรรม และการพัฒนาจิตใจด้วย อย่างมากก็แค่ทำให้คนผู้นั้นเป็นคนเก่งที่เจ้าเล่ห์เพทุบายที่เป็นคนถ่อย เท่านั้น หาควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญไม่


จะเป็น คนดีวิญญูชน หรือเป็น คนถ่อย ต่างก็ศึกษากลยุทธ์จาก "ตำราพิชัยสงครามซุนหวู่" โดยเฉพาะศึกษา "36 กลยุทธ์" เหมือนกันทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงที่ ฝ่ายไหนสามารถยกระดับ "เทคนิค" การฝึกกลยุทธ์ให้กลายเป็น "อภิมรรค" (เต๋า) ได้หรือไม่ กับ มีเป้าหมายสุดท้ายแห่งการได้ชัยชนะจากกลยุทธ์ไปเพื่ออะไรเท่านั้น


ตราบใดที่โลกนี้ยังมีสงครามในรูปแบบต่างๆ ตราบนั้น คนเราก็จำเป็นต้องมี ความรู้เชิงกลยุทธ์อย่างบูรณาการ เพื่อชนะสงคราม เพื่อยุติสงคราม และเพื่อสร้างสรรค์โลกที่ไร้สงครามอย่างถาวร อย่างนี้แหละถึงจะเป็น วิถี และ เป้าหมาย ของผู้ที่มุ่งมั่นจะเป็น นักกลยุทธ์ที่แท้จริง


ใน "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" แก่นแท้แห่งกลยุทธ์ ที่ปรมาจารย์ซุนหวู่ถ่ายทอดไว้อย่างกระชับในตำราคัมภีร์เล่มนี้ ก็คือ ยุทธศาสตร์การเอาชนะโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง อันเป็นวิถีสำหรับ การบรรลุความสำเร็จแบบเต๋า ที่สอนให้คนเรา บรรลุความสำเร็จแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น และ "ใช้ทั้งกองทัพให้เหมือนใช้คนคนเดียว" คำสอนเชิงกลยุทธ์แบบนี้ ไม่มีวันตาย!


ผู้เขียนอยากให้ ท่านผู้นำแห่งระบอบทักษิณ น้อมใจรับฟังคำสอนของซุนหวู่ต่อไปนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ผลอย่างแท้จริง


"จงเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของการรบที่ประสบความสำเร็จ
ชัยชนะย่อมตกเป็นของผู้ที่ชนะอย่างง่ายดาย
สงครามที่ดีคือ สงครามที่ชนะได้อย่างชัดแจ้ง...
การได้มาซึ่งความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องใช้ความหาญกล้า
จงชนะการรบโดยไม่ต้องบากบั่น
จงหลีกเลี่ยงการดิ้นรนที่เหนื่อยยาก...
การป้องกันความพ่ายแพ้ ย่อมนำมาซึ่งชัยชนะได้เสมอ...
จะชนะสงครามได้ สิ่งแรกคือ ต้องทำให้มั่นใจได้ว่าจะชนะเสียก่อน แล้วจึงค่อยแสวงหาการรบ
จงเอาชนะด้วยสติปัญญาเสียก่อนที่จะเริ่มทำสงคราม
หลังจากนั้น จงเข้าสัประยุทธ์เพื่อชัยชนะ"


ส่วน ระบบกลยุทธ์ ในตำรา "36 กลยุทธ์" ถือได้ว่าเป็น การสังเคราะห์ประเภทของกลยุทธ์อย่างครอบคลุมในทุกสถานการณ์ของการสัประยุทธ์ เท่าที่มีอยู่ในตำราพิชัยสงครามของจีนกว่า 200 เล่ม เอาไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงขอนำเสนอ ระบบกลยุทธ์ ในตำรา "36 กลยุทธ์" นี้อย่างให้เห็น ภาพรวม ก่อนที่เราจะไปวิเคราะห์ โครงสร้างทางความคิดเชิงกลยุทธ์ ใน "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิ


ระบบกลยุทธ์ใน "36 กลยุทธ์"

ส่วนที่ 1 กลยุทธ์ชนะศึก

(1) ปิดฟ้าข้ามทะเล
(2) ล้อมเว่ยช่วยจ้าว
(3) ยืมดาบฆ่าคน
(4) รอซ้ำยามเปลี้ย
(5) ตีชิงตามไฟ
(6) ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม


ส่วนที่ 2 กลยุทธ์เผชิญศึก

(1) มีในไม่มี
(2) ลอบตีเฉินซัง
(3) ดูไฟชายฝั่ง
(4) ซ่อนดาบในรอยยิ้ม
(5) หลี่ตายแทนถาว
(6) จูงแพะติดมือ


ส่วนที่ 3 กลยุทธ์เข้าตี

(1) ตีหญ้าให้งูตื่น
(2) ยืมซากคืนชีพ
(3) ล่อเสือออกจากถ้ำ
(4) แสร้งปล่อยเพื่อจับ
(5) โยนกระเบื้องล่อหยก
(6) จับโจรเอาหัวหน้า


ส่วนที่ 4 กลยุทธ์ติดพัน

(1) ถอนฟืนใต้กระทะ
(2) กวนน้ำจับปลา
(3) จักจั่นลอกคราบ
(4) ปิดประตูจับโจร
(5) คบไกลตีใกล้
(6) ยืมทางพรางกล


ส่วนที่ 5 กลยุทธ์ร่วมรบ

(1) ลักขื่อเปลี่ยนเสา
(2) ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว
(3) แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า
(4) ขึ้นบ้านชักบันได
(5) ต้นไม้ผลิดอก
(6) สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน


ส่วนที่ 6 กลยุทธ์ยามพ่าย

(1) กลสาวงาม
(2) กลปิดเมือง
(3) กลไส้ศึก
(4) กลทุกข์กาย
(5) กลลูกโซ่
(6) หนีคือยอดกลยุทธ์


กล่าวโดยรวมแล้ว เคล็ด ของ "36 กลยุทธ์"ข้างต้นคือ การประยุกต์หลักการของเต๋า โดยเฉพาะในคัมภีร์อี้จิงมาใช้ในการทำศึก นั่นเอง เช่น "บุกก่อนมิสู้ตีโต้ตอบทีหลัง", "เลี่ยงแน่นตีกลวง เลี่ยงแข็งตีอ่อน", "แกร่งคือเสีย อ่อนคือได้", "ใช้ใกล้รอไกล ใช้สบายรอเหนื่อย", "ทำทีถอยแต่กลับรุก ทำทีรุกแต่กลับถอย", "ใช้ภาพลวงปกปิดภาพจริง", "ในจริงมีเท็จ ในเท็จมีจริง", "ใช้ความสงบรอความปั่นป่วน ใช้ความเงียบรอความวุ่นวาย", "อ่อนนอกแข็งใน", "สงสัยพึงแจ้ง สังเกตจึงเคลื่อน", "ไม่ปะทะด้วยกำลัง พึงขจัดความฮึกเหิม", "ลวงให้ย้ายแนวบ่อย หลอกให้ถอนทัพหลัก", "แกล้งไม่รู้ไม่ทำ ดีกว่าแสร้งรู้วู่วามทำ", "ยืมสถานการณ์สร้างกระบวนท่า", "เคลื่อนอย่างใจร้อนจักเสีย สงบแต่คล้อยตามจักได้", "ต่อแม่ทัพที่ฉลาด พึงโจมตีจุดอ่อนทางใจ", กลวงยิ่งทำกลวง สงสัยยิ่งให้สงสัย", "ใช้พิสดารซ้อนพิสดาร", "มีผู้แฝงอยู่ภายใน ไม่เสียหายแก่เรา", "เท็จจริงจริงเท็จ กลศึกจึงบรรลุ", "อาศัยจุดอ่อนแห่งจิต ลู่ตามจึงพิชิต", "หลายอุบายเป็นหนึ่งกลยุทธ์", "ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม" เป็นต้น


ในการศึกษาเรื่องกลยุทธ์นั้น จึงควรศึกษา "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" ควบคู่ไปกับ "36 กลยุทธ์" นอกจากนี้ยังควรศึกษาหนังสือ "ชมรมขุนพล" ของขงเบ้งซึ่งเป็นแม่บทของ "การดูคนเก่ง เพาะคนเก่ง ใช้คนเก่ง" เพื่อบ่มเพาะยอดคนในองค์กรด้วย แต่แม้กระนั้น การศึกษากลยุทธ์แค่จากตำราข้างต้นก็ยังไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ และยังไม่บูรณาการจริง หากปัจเจกผู้นั้น มิได้ ฝึกฝนเต๋า จนกลายเป็น ผู้เชี่ยวชาญเต๋าในภาคปฏิบัติ โดยผ่านการฝึก มวยไท้เก๊ก และ หมากล้อม โดยเฉพาะ หมากล้อมซึ่งเป็นศิลปะอัจฉริยะเพื่อการฝึกกลยุทธ์ของปราชญ์ชาวจีนมาแต่โบราณกาล


พวกเราควรศึกษา "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิจากบริบทการศึกษาวิชากลยุทธ์เชิงบูรณาการข้างต้น เพื่อทำให้ วิถีแห่งกลยุทธ์ หรือ วิถีแห่งวิทยายุทธ์ ของผู้นั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในระดับปัจเจก และระดับรวมหมู่


มูซาชิเริ่มต้น "คัมภีร์ห้าห่วง" ของเขาดังต่อไปนี้

(1) วิถีแห่งกลยุทธ์ ของข้า ตัวข้าเรียกมันว่า "นิเท็นอิจิริว" (ทวิภพบรรจบเป็นหนึ่ง) ข้าได้ฝึกฝนมานานปีแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ข้าตั้งใจจะเขียนถ่ายทอดหลักกลยุทธ์ของข้าทั้งหมดลงในคัมภีร์เล่มนี้...

ข้าคือชินเม็ง มิยาโมโต้ มูซาชิ ซามูไร ที่เกิดที่จังหวัดเฮียวโงะ บัดนี้ (ค.ศ. 1643) ข้ามีอายุหกสิบปีกว่าแล้ว


(2) ข้ามีความสนใจใน วิชากลยุทธ์ และศิลปะการต่อสู้ มาตั้งแต่เด็กแล้ว จำได้ว่า ข้าเริ่มประลองฝีมือกับผู้คนเป็นครั้งแรก เมื่ออายุสิบสามคู่ต่อสู้ของข้าชื่อ อาริม่า คิเฮอิ เป็นนักดาบสายชินโตริว แต่ข้าก็สามารถเอาชนะเขาได้ เมื่อข้าอายุสิบหก ข้าก็สามารถเอาชนะนักดาบฝีมือดีคนหนึ่งที่ชื่อ อาคิยาม่า จากจังหวัดเฮียวโงะได้เช่นกัน ครั้นเมื่อข้าอายุได้ยี่สิบเอ็ด ข้าได้ขึ้นไปเมืองเกียวโต ได้มีโอกาสประลองกับนักดาบผู้มีชื่อแห่งยุคที่นั่นหลายครั้งด้วยกัน ไม่เคยมีเลยที่ข้าไม่ชนะ


(3) หลังจากนั้น ข้าได้ออกพเนจรไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และได้ประลองกับนักดาบสำนักต่างๆ เป็นจำนวนกว่าหกสิบกว่าครั้งด้วยกัน ไม่เคยเลยที่ข้าจะพ่ายแพ้แม้แต่ครั้งเดียว นี่คือประสบการณ์ในการต่อสู้ของตัวข้าในช่วงอายุตั้งแต่สิบสามจนถึงอายุยี่สิบเก้าปี


(4) แต่ครั้นเมื่อข้ามีอายุเลยสามสิบแล้วหันมาทบทวนการต่อสู้ของตัวข้าในอดีต ข้าได้พบว่า ชัยชนะที่ข้าได้มาโดยตลอดนั้น มิใช่เพราะว่าข้าบรรลุขั้นสุดยอดของวิทยายุทธ์แล้วจึงชนะได้หรอก แต่คงเป็นเพราะข้าอาจมีพรสวรรค์ติดตัวเกี่ยวกับเรื่องวิทยายุทธ์มาตั้งแต่เกิด หรืออาจเป็นเพราะ ข้าไม่ได้ละทิ้งวิถีของฟ้า หรืออาจเป็นเพราะคู่ต่อสู้ของข้ามีฝีมือด้อยกว่าข้ากระมัง จึงทำให้ข้าชนะมาได้โดยตลอด


(5) ดังนั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ข้าจึงมุ่งแสวงหาที่จะบรรลุขั้นสุดยอดของกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ให้จงได้ ข้าจึงยิ่งหมั่นเพียรฝึกฝนตนเองมากยิ่งขึ้น ทั้งเช้าและเย็น จนกระทั่งคิดว่าตนเองได้บรรลุอภิมรรค (เต๋า) แล้วเมื่อข้ามีอายุได้ห้าสิบ


(6) หลังจากนั้น ใจของข้าก็หมดความทุรนทุรายที่จะดิ้นรนแสวงหาอภิมรรค และหันมาใช้ชีวิตผ่านวันเวลาอย่างสงบสันติได้จริงๆ ข้าได้พยายามเอาหลักของแก่นวิชากลยุทธ์และวิทยายุทธ์ของข้าไปประยุกต์ใช้กับมรรคและศิลปะแขนงอื่น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งครูคนไหนเลยอีกต่อไป แม้แต่การเขียนคัมภีร์เล่มนี้ ข้าก็จะไม่ขออ้างคำสอนตั้งแต่โบราณของตำราพิชัยสงครามเล่มใดๆ แต่ข้าจะใช้ภาษา ความคิด และประสบการณ์ของตัวข้าเองเป็นหลักในการเขียนคัมภีร์เล่มนี้...


(7) วิชากลยุทธ์และวิทยายุทธ์เป็นวิชาของนักรบ ไม่ว่าจะเป็นขุนพลหรือทหารเลวต่างควรศึกษาวิถีกลยุทธ์อันนี้เหมือนกัน แต่อนิจจาในโลกปัจจุบันนี้ นักรบที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของวิชากลยุทธ์และวิทยายุทธ์ได้ช่างมีน้อยเต็มทน


(8) อภิมรรค ถ้าเป็นของพุทธจะหมายถึง วิถีที่มุ่งช่วยคนให้พ้นทุกข์ ถ้าเป็นคำสอนของขงจื๊อ จะหมายถึงวิถีแห่ง บุ๋น" (การศึกษาอบรมจรรยา) ถ้าเป็นแพทย์จะหมายถึง วิถีแห่งการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าเป็นกวีจะหมายถึง วิถีแห่งการแต่งกาพย์กลอน หรือถ้าเป็นการชงชา คัดอักษรหรือศิลปะแขนงอื่นๆ ต่าง ล้วนฝึกฝน มรรคของตนด้วยความปลอดโปร่งใจสำราญใจ กันทั้งสิ้น ซึ่งต่างกับ วิถีแห่งวิทยายุทธ์ หรือ มรรคบู๊ เพราะมี น้อยคนนักที่จะชอบวิถีนี้อย่างจริงจัง


(9) แต่ถึงจะเป็นนักรบ ก็จงระลึกไว้เสมอว่า หลักการของการเป็นนักรบที่แท้จริงนั้น จะต้องเพียบพร้อมทั้งบู๊และบุ๋น จะต้องเชี่ยวชาญทั้งสองทางนี้ไปพร้อมๆกัน ต่อให้มีแบ่งหลักแบ่งรอง ผู้ที่จะเป็นนักรบก็ต้องหมั่นเพียรพยายามฝึกฝนทั้งสองทางควบคู่กันไปให้จงได้


(10) หัวใจของการเป็นนักรบนั้น อยู่ที่การเตรียมพร้อมที่จะตายได้ทุกเมื่อ นักรบจะต้องรู้จักละอาย ยึดมั่นในคุณธรรม และเลือกที่ตายให้ถูกต้อง วิถีของนักรบนั้น มีพื้นฐานอยู่ที่การมีชัยเหนือคน ไม่ว่าในการต่อสู้หนึ่งต่อหนึ่ง หรือในการต่อสู้กับคนหมู่มาก


มูซาชิได้เขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" โดยแบ่งเป็นห้าภาคด้วยกัน แต่ละภาคก็มีหลักวิชาแตกต่างกันไป โดยมูซาชิแบ่งเป็นภาคดิน ภาคน้ำ ภาคไฟ ภาคลม และภาคสุญตา โครงสร้างการเขียนของมูซาชิแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า มูซาชิเป็นพุทธในเชิงหลักคิด นี่คงเป็น ผลของการปฏิบัติธรรมแบบเซน ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิตของเขานั่นเอง


ใน ภาคดิน มูซาชิได้กล่าวถึง ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับวิถีของกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ตามทัศนะของเขา มูซาชิกล่าวว่า ในการจะรู้วิถีที่แท้จริงนั้น จะต้องรู้ทั้งที่ใหญ่ที่เล็กที่ตื้นที่ลึก รู้หนารู้บาง ดุจการย่ำพื้นดินบนเส้นทางที่ตรงดิ่ง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตั้งชื่อภาคแรกในคัมภีร์เล่มนี้ของเขาว่า ภาคดิน


ส่วน ภาคน้ำ ซึ่งเป็นภาคที่สองของคัมภีร์ห้าห่วง มูซาชิบอกว่า เหตุที่เขาตั้งชื่อว่า น้ำ ก็เพราะวิทยายุทธ์ของตัวเขาเรียนรู้จาก "น้ำ" มาเป็นเยี่ยงอย่าง โดยเฉพาะในการฝึกใจของเขา ซึ่งมูซาชิบอกว่า เขาได้พยายามฝึกใจของเขาให้เป็นดุจใจของน้ำ เนื่องจากน้ำสามารถปรับตัวเข้ากับภาชนะได้ทุกชนิดทุกประเภท นอกจากนี้ น้ำยังสามารถดำรงอยู่แค่หยดเดียวเป็นหยดน้ำค้างก็ได้ หรือจะดำรงอยู่เป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ได้ เขาจึงขอใช้คุณสมบัติของน้ำนี้ เป็นสัญลักษณ์แทนหลักกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ของสำนักของเขา


มูซาชิกล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่ฝึกฝนหลักวิทยายุทธ์จนกระทั่งสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ที่เป็นปัจเจกได้ดั่งใจปรารถนาแล้ว ก็ย่อมที่จะสามารถชนะคนทั้งโลกได้ด้วยหลักการเดียวกันนั่นเอง เพราะใจที่มีชัยเหนือคนคนหนึ่งนั้น ย่อมเป็นใจเดียวกับใจที่มีชัยเหนือไพรีข้าศึกนับพันนับหมื่น ดั่งคำสอนที่ว่า "จงใช้หนึ่งไปรู้หมื่น" หรือ หากรู้ซึ้งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวก็ย่อมสามารถรอบรู้ในเรื่องทั้งปวงได้ นี่แหละคือ หลักวิชาฝีมือที่เป็นหลักกลยุทธ์เชิงบูรณาการ และพหุปัญญาของมูซาชิ


สำหรับ ภาคไฟ มูซาชิได้กล่าวถึงการสู้รบในทัศนะของเขา มูซาชิกล่าวว่า ไฟนั้นเจิดจ้า จะใหญ่ก็ได้จะเล็กก็ได้ จึงเหมาะที่จะเป็นสัญลักษณ์ของการสู้รบ ซึ่งมีทั้งการต่อสู้แบบตัวต่อตัว และการต่อสู้ระหว่างกองทัพกับกองทัพ แต่วิถีของการรบนั้นยังคงเป็นหลักวิชาเดียวกันอยู่ดี ความจริงในเรื่องนี้ หากครุ่นคิด เรื่องนี้ให้ลึกซึ้งรอบคอบก็จะเป็นที่ประจักษ์ได้เอง


มูซาชิกล่าวว่า ไฟดวงใหญ่นั้นมองเห็นง่าย แต่ไฟดวงเล็กมองเห็นยาก เปรียบเหมือนกับคนหมู่มากที่จะเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กันนั้นเป็นเรื่องยาก ในขณะที่คนคนเดียวใช้ใจดวงเดียวของตนก็จะเคลื่อนไหวง่าย เปลี่ยนแปลงง่ายในทันที เพราะฉะนั้นการรู้ในเรื่องเล็กๆ อย่างใจของคนคนเดียว จึงยากกว่าการรู้ในเรื่องใหญ่ๆ ของคนกลุ่มใหญ่ที่กุมสภาพได้ง่ายกว่า มูซาชิจึงเน้นว่า คนเราควรหมั่นฝึกฝนใจให้เป็นปกติไม่เปลี่ยนแปลงไม่หวั่นไหว แม้ยามเกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฝัน หรือตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เพราะนี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการสู้รบ


สำหรับ ภาคลม มูซาชิได้กล่าวถึง วิชาฝีมือของสำนักอื่นๆ ที่ไม่เหมือนกับสำนักของเขา เขาตั้งชื่อภาคนี้ว่า "ลม" (ซึ่งคำคำนี้ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงคำว่า สไตล์หรือลีลาได้ด้วย) เพื่ออธิบายสไตล์การต่อสู้ของสำนักอื่นๆ เพราะเขามีความเห็นว่า หากไม่รู้จักเรื่องของคนอื่นแล้วจะรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ได้อย่างไร


ส่วนในภาคสุดท้ายหรือ ภาคสุญตา ของคัมภีร์ห้าห่วงนั้น มูซาชิบอกว่า เขาต้องการพูดถึง เรื่องที่ลึกล้ำ ที่เป็นปากทางเข้าสู่อภิมรรค โดยเขาต้องการจะชี้ให้เห็นว่า เมื่อบรรลุอภิมรรคแล้วก็จงเป็นอิสระจากอภิมรรคนั้นเสีย จงเป็นอิสระจากวิถีกลยุทธ์ และวิถีวิทยายุทธ์เสียเถิด เพื่อก้าวเข้าสู่สภาวะอันสุดแสนพิสดารพันลึกของจิต นี่แหละจึงเป็นการเดินเข้าสู่อภิมรรคที่แท้จริง ที่เรียกกันว่า วิถีแห่งสุญตา


มูซาชิเก่งกาจขนาดนี้! มูซาชิปราดเปรื่องขนาดนี้! แต่จอมยุทธ์ และนักกลยุทธ์ชั้นยอดอย่างเขากลับมีชีวิตที่อาภัพ เพราะมูซาชิไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไหร่นัก จากคนในยุคสมัยเดียวกับเขา มีผู้คนจำนวนไม่น้อยในยุคของมูซาชิที่ตั้งหน้าตั้งตา วิพากษ์วิจารณ์ หยามเหยียด ดูแคลนใส่ร้ายมูซาชิ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเจอตัวจริงของเขา และไม่เคยได้รับรู้ด้านลึกด้านในที่จริงแท้ของตัวเขาเลย เพียงแต่ได้ยินคำร่ำลือในเชิงลบเกี่ยวกับตัวเขาเท่านั้น


โลกนี้ช่างเต็มไปด้วยเสียงคลื่นต่างๆ นานา


ผู้คนส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตมิต่างจากพวกปลาเล็กปลาน้อย ปลาซิว ปลาสร้อยที่ปล่อยชีวิตไปตาม "กระแส" เริงร่า ระริกระรี้ไปตามกระแสคลื่นที่มีขึ้นมีลง วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร


แต่ จะมีใครบ้างที่รู้ซึ้งถึงหัวอกของน้ำที่อยู่ลึกใต้ทะเลหนึ่งร้อยเชียะนั้น?


จะมีใครบ้างที่ล่วงรู้ถึงความลึกล้ำของมัน?








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้