ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (3) 17/5/2548

ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (3) 17/5/2548




ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (3)



โลกของนักกลยุทธ์ อย่างมูซาชิมันเป็น โลกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะ มันเป็นโลกของนักคิด นักปราชญ์ โลกของนักพรต โลกของนักรบ และโลกของศิลปินในคนคนเดียวกัน เวลาที่เราอ่าน "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" เรายังไม่สามารถจินตนาการได้ว่า โลกของซุนหวู่ผู้แต่งตำราพิชัยสงครามอันลือลั่นเล่มนี้เป็นคนอย่างไร และใช้ชีวิตยังไง หรืออาจกล่าวได้ว่า เนื้อหา ของ "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" กับ วิถีของซุนหวู่ สามารถแยกจากกันได้เป็นเอกเทศ และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ ผู้ที่ศึกษา แต่ "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" จึงยังไม่ใช่ผู้ที่อยู่บนวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการที่แท้จริง


แต่เวลาที่เราจะอ่าน "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิให้ เข้าถึง เรากลับพบว่า เนื้อหา ของ "คัมภีร์ห้าห่วง" ไม่อาจศึกษาอย่างแยกส่วนจาก วิถีของมูซาชิ ได้เลย เราต้องอยู่บนวิถีเดียวกับวิถีของมูซาชิ เราจึงจะสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของ "คัมภีร์ห้าห่วง" ได้ กล่าวโดยนัยนี้ วิถีของมูซาชิเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกฝนวิชากลยุทธ์เชิงบูรณาการ


ใน "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" เราจะไม่ได้เจอคำสอนทำนองนี้เหมือนอย่างใน "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิ ยกตัวอย่างเช่น


"ยามเผชิญเรื่องราวใดๆ ใบหน้าจะต้องไม่ลนลาน ไม่หลบสายตาผู้คน ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด สายตาจะต้องไม่วอกแวก ห่อตาเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ตากะพริบ ตีสีหน้าเข้ม เชิดจมูกและคางเล็กน้อย ลำคอตั้งตรง หลังตั้งตรง แต่ไหล่จะต้องตก บริเวณนับตั้งแต่ลำคอลงมาจะต้องไม่เกร็งแรงไว้ที่ส่วนไหนของร่างกายเป็นพิเศษ ก้นจะต้องไม่ยื่นออก บริเวณตั้งแต่หัวเข่าลงมาถึงปลายเท้า คือ ส่วนที่พยุงแรงทั้งหมดของร่างกายเอาไว้ จงทำตัวเหมือนยามปกติในขณะเผชิญการต่อสู้ และจงทำตัวเหมือนพร้อมต่อสู้ในขณะดำเนินชีวิตตามปกติ"


ใน "วิถีกลยุทธ์เชิงบูรณาการของมูซาชิ นั้น เรียกร้องให้ผู้นั้น นอกจากจะเป็น นักกลยุทธ์ แล้วจะต้องเป็น นักรบ ไปพร้อมๆ กันด้วย มูซาชิบอกว่า วิชาฝีมือของสำนักเขานั้น ถือหลักเสี่ยงตาย ยินดีเอาชีวิตเข้าแลกในการต่อสู้ทุกครั้ง จึงมิได้เน้นความพลิกแพลงใช้ลวดลายเหมือนสำนักอื่น แต่เน้นความเด็ดขาด รู้เป็นรู้ตายเป็นสำคัญ โดย มุ่งที่จะต่อสู้กับคนจำนวนมากกว่าแล้วก็ยังสามารถเอาชนะได้ เพื่อการนี้ผู้ฝึกจะต้องรู้จุดเด่นจุดด้อย และความถนัดของคู่ต่อสู้ให้กระจ่างเสียก่อน ที่จะเอาชนะเขา อีกทั้งจะต้องรู้อย่างถี่ถ้วนด้วยว่า ในวงการนี้นอกจากตัวเราแล้วมีใครคนไหนบ้างที่เก่งจริง และเก่งอย่างไรในเรื่องอะไร ตัวเราจะได้มีความมานะหมั่นฝึกฝนตนเองทั้งเช้าเย็น เพื่อบรรลุสภาวะอิสรเสรี และความสามารถที่โดดเด่นเหนือธรรมดาให้จงได้


มูซาชิบอกว่า วิถีของนักรบต้องเป็นวิถีของสุญตา อันเป็นสภาวะที่ ใจว่าง แต่เป็นความว่างอย่างมีปัญญา รู้ว่ากำลังมีอะไรหรือไม่มีอะไรอยู่ในใจตน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นอิสระจากความมีไม่มีนั้น ใจที่ว่างอย่างขาดสติ ขาดปัญญา จึงไม่ใช่สุญตา แต่เป็นความหลง นักรบที่ไม่รู้จักวิถีของนักรบ จึงไม่อาจมีสุญตาได้ นักกลยุทธ์ที่รู้จักแต่เทคนิคของกลยุทธ์ แต่ไม่รู้จักวิถีของกลยุทธ์ ก็ไม่อาจมีสุญตาได้ เช่นกัน


นักรบ จะต้องยึดมั่นใน วิถีของวิชาฝีมือ หมั่นฝึกฝนฝีมือของตนอย่างต่อเนื่องจริงจัง ด้วยจิตใจที่เปิดเผย เปิดกว้าง ร่าเริง โดยไม่มีความหลง ความขุ่นมัว ความเมามัวอยู่ในจิตใจ และไม่เกียจคร้านลำพองตน นักรบและนักกลยุทธ์ที่ดีจะต้องหมั่นฝึกฝนทั้งกาย ใจ และลมปราณโดยไม่ขาดตกบกพร่อง เขาจะต้องฝึกฝน "ตาใจ" เพื่อให้มีสัมมาทิฐิจะได้สามารถขจัดเมฆหมอกให้หมดไปจากใจได้ นี่แหละคือ ความหมายของสุญตาที่แท้จริงในทัศนะของมูซาชิ


มูซาชิบอกว่า ตราบใดที่ผู้นั้นยังไม่ได้ตระหนักถึงวิถีที่แท้จริงของกลยุทธ์อันนี้ ต่อให้ฝึกฝนเทคนิคมากแค่ไหน ก็จะไม่มีทางกระจ่างแจ้งได้ เพราะยังคิดเข้าข้างตัวเองอยู่ จึงมิอาจเข้าใจได้ว่า สุญตาคือวิถี (เต๋า) และวิถีก็คือ สุญตา จะมีก็แต่ผู้ที่มีจิตใจซื่อตรง จริงใจ และถ่อมตนเท่านั้น จึงจะฝึกฝนสำเร็จ


เมื่อได้อ่าน "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิ เราจะยิ่งตระหนักชัดว่า มูซาชิเป็นผู้ที่ช่ำชองใน "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" อย่างหาตัวจับยากคนหนึ่ง จนแทบกล่าวได้ว่า กลยุทธ์ของมูซาชิ ใน คัมภีร์ห้าห่วงคือ ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่ในระดับปัจเจก นั่นเอง


คำสอนของซุนหวู่ ต่อไปนี้ล้วนเป็นหลักกลยุทธ์ที่มูซาชิได้ฝึกฝนจนชำนาญ


"ย่อม สามารถเอาชนะได้ เมื่ออีกฝ่ายเดาใจไม่ถูก"


"จะรู้ว่าได้เปรียบมากหรือน้อย ต้องประเมินสถานการณ์ เสียก่อน"


"จงคว้าชัยมาโดยยอมให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด"


"ต้องรู้ว่า เมื่อไหร่ควรโจมตี เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยงการปะทะ"


"จงเอาชนะด้วยสติปัญญาเสียก่อน ที่จะเริ่มทำสงคราม"


"จงสู้รบเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่มีแต่ทางชนะ" "ต้องใช้ทั้ง ความประหลาดใจ และ การโจมตีตรงหน้า ได้อย่างเหมาะสม"


"รสมีอยู่เพียงไม่กี่รส แต่ถ้าเรารู้จักผสมกันจะได้รสชาติอันโอชะแห่งชัยชนะมากมายให้ลิ้มได้ไม่รู้จบ"


"จงใช้พลานุภาพที่ทรงพลัง ใช้จังหวะเวลาที่แม่นยำ"


"จงบีบข้าศึกให้เคลื่อนไหวไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา"


"จงลึกลับอย่างมีเหลี่ยม ไปถึงอย่างไม่มีรูปแบบที่เห็นได้ชัด จงเร้นกายอย่างลี้ลับ ไปถึงอย่างไม่มีเสียง แล้ว ใช้ทักษะทุกอย่างควบคุมการตัดสินใจของข้าศึก"


"จงเป็นฝ่ายเลือกรบ จงหลีกเลี่ยงสงครามที่เราไม่ต้องการ"


"จงรบให้ชนะอย่างเด็ดขาด อย่าให้ข้าศึกมีโอกาสได้โงหัวขึ้นมาอีก"


"จงจัดรูปแบบการรบดุจ น้ำ จงทำตัวได้ดั่ง เงา"


"ชัยชนะได้มาจากการสร้างโอกาสโจมตี แม่ทัพต้องไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย"


จากวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการของมูซาชิ ทำให้เราตระหนักได้ว่า การจะเป็นนักกลยุทธ์ และนักรบที่ดีได้อย่างมูซาชินั้น จำเป็นจะต้องฝึกฝนการใช้มันสมองซีกซ้าย (ส่วนที่เป็นความคิด ตรรกะ เหตุผล) และมันสมองซีกขวา (ส่วนที่เป็นญาณ สมาธิ ศิลปะ ความงาม พลังสร้างสรรค์) ให้ใช้งานได้ดีทั้งสองส่วน กล่าวคือ นักกลยุทธ์ที่ดีควรเป็นบุคคลที่มีทั้งญาณทัสนะ (intuitive) และตรรกะเหตุผล (rational) อยู่ในตัวเองอย่างพร้อมบริบูรณ์


"คัมภีร์ห้าห่วง" เป็นผลงานจากมันสมองซีกซ้ายของมูซาชิ ขณะที่ภาพเขียน ภาพแกะสลักเป็นผลงานจากมันสมองซีกขวาของมูซาชิ เหตุที่มูซาชิสามารถใช้สมองทั้งสองซีกได้ดีกว่าคนทั่วไป น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เขาเป็นคนที่ถนัดทั้งสองมือ เพราะใช้ดาบคู่ได้อย่างแคล่วคล่อง


การทำงานของมือขวานั้น ถูกบงการให้เคลื่อนไหวด้วยคำสั่งจากสมองซีกซ้าย ส่วนการทำงานของมือซ้ายนั้นถูกบงการให้เคลื่อนไหวด้วยคำสั่งจากสมองซีกขวา ปัจจุบันวงการวิชาการต่างยอมรับแล้วว่า การฝึกใช้สองมือให้คล่องแคล่วนั้น มีส่วนกระตุ้นการทำงานของสมองโดยตรง โดยเฉพาะ การฝึกใช้ "มือซ้าย" ให้มาก ให้คล่องดุจมือขวา ตั้งแต่วัยเยาว์ย่อมมีผลดี ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อการพัฒนามันสมองซีกขวา ซึ่งบงการเรื่องญาณ จินตภาพ จินตนาการ การแสดงออกทางศิลปะ ความสร้างสรรค์อย่างแน่นอน


วิธีการหายใจอย่างมีศิลปะ ก็น่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนามันสมองทั้งสองซีกได้เช่นกัน นอกจากการฝึกหายใจแล้ว การฝึกสมาธิก็น่าจะมีผลให้ศักยภาพในการสร้างสรรค์ และทักษะฝีมือของคนผู้นั้นเพิ่มขึ้นสูงมากขึ้นได้


นอกจากการฝึกหายใจ และการฝึกสมาธิแล้ว การฝึกปลายนิ้วให้แข็งแรงและคล่องแคล่วปราดเปรียว ก็น่าจะมีผลต่อการพัฒนาการใช้สมองทั้งสองซีกของคนเราได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วบูรพาจารย์ในสมัยโบราณคงไม่กล่าวออกมาหรอกว่า "นิ้วมือคือมันสมองที่อยู่ภายนอกของร่างกายคน"


ในวิชาการแพทย์ของจีน ก็ยังสอนไว้อย่างชัดเจนเลยว่า ปลายนิ้วทั้งหมดของคนเรานั้น ล้วนเชื่อมต่อกับอวัยวะภายในทั้งหมดของคนเรา ยกตัวอย่างเช่น นิ้วหัวแม่มือ เชื่อมกับระบบประสาทที่เกี่ยวกับความสามารถในการตัดสินใจ นิ้วชี้ เชื่อมกับประสาทตาและระบบย่อยอาหาร นิ้วกลาง เชื่อมกับกระดูกสันหลัง และระบบหมุนเวียน นิ้วนาง เชื่อมกับกระเพาะ ลำไส้ นิ้วก้อย เชื่อมกับพลังชีวิต พลังทางเพศ จึงเห็นได้ว่า ถ้าหากต้องการจะเพิ่มพลังทางกาย ก็ควรที่จะเสริมความแข็งแกร่ง และคล่องแคล่วปราดเปรียวให้กับนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย แต่ถ้าต้องการจะเพิ่มพลังสมองก็ควรจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้


มูซาชิฝึกพัฒนาการใช้สมองทั้งสองซีกของเขา โดยผ่านการฝึกดาบและการจับพู่กันวาดภาพเขียน เพราะการฝึกดาบ ถือดาบ ชักดาบ ฟันดาบของมูซาชิตามปกติก็เป็นการฝึกปลายนิ้วอยู่แล้ว ยิ่งมูซาชิยังใช้เวลาที่เหลือนอกจากการฝึกดาบมาจับพู่กันวาดภาพ เขียนหนังสือ หรือจับมีด แกะสลักก็ยังเป็นการฝึกปลายนิ้วอยู่ดี


โดยปกติ การใช้ พลังสมอง ของคนเราสามารถจำแนกได้ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

(1) การใช้พลังสมองที่ปรากฏออกมาในรูปของ ความสามารถในการจดจำ ในการใช้ตรรกะเหตุผล (มันสมองซีกซ้าย)

(2) การใช้พลังสมองที่ปรากฏออกมาในรูปของ ความสามารถในการคิดไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ (มันสมองซีกขวา)

(3) การใช้พลังสมองที่ปรากฏออกมาในรูปของ ญาณทัสนะหรือสัมผัสพิเศษ ซึ่งเป็นการหยั่งรู้ที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการนึกคิดใช้เหตุใช้ผล (มันสมองซีกขวา)


ความโดดเด่นในการใช้ พลังสมอง ของมูซาชิในเชิงกลยุทธ์นั้น จะเห็นได้จากความสามารถในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ มาใช้ได้อยู่เรื่อยในการต่อสู้ของเขา ไม่ว่าจะเป็น การใช้สงครามจิตวิทยา การอ่านใจของคู่ต่อสู้ การไม่ยึดติดกับอาวุธที่ใช้เหล่านี้ เป็นต้น แน่นอนว่า ความสามารถในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ในการต่อสู้ของมูซาชินี้ เป็นผลงานจากมันสมองซีกขวาของเขาที่ตัวเขาฝึกฝนเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง


เราสามารถดึงข้อสรุปที่เป็นหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ได้ 5 ประการในการฝึกฝน ความสามารถในการคิดค้นไอเดียเชิงกลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมาได้เรื่อยๆ จากประสบการณ์ของมูซาชิดังต่อไปนี้

(1) จงล้มเลิกความคิดความเชื่อเก่าๆ ที่กลายมาเป็นความเคยชิน หรือเป็นสามัญสำนึกโดยไม่ตั้งข้อสงสัย (ความสามารถในการคิด "นอกกรอบ")

(2) จงมีความสนใจให้กว้างในสาขาวิชาต่างๆ (ความสามารถในการศึกษาอย่างบูรณาการ)

(3) จงหมั่นลับสมองให้เฉียบคมอยู่เสมอ โดยผ่านการอ่านหนังสือที่มีสาระอย่างสม่ำเสมอ หรือผ่านการเล่นหมากล้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฝึกวิธีคิดในเชิงกลยุทธ์เป็นประจำ

(4) จงใส่ใจวิธีคิดที่แลไปข้างหน้า และวิธีคิดในเชิงบวก อย่าให้อดีตมาเป็นโซ่ตรวนที่จองจำความคิดของเรา

(5) จงสร้างนิสัยให้หมั่นฝึกสมาธิอยู่เสมอ


ในสมัยของมูซาชิมีความเชื่อในหมู่นักดาบชาวญี่ปุ่นว่า การใช้ดาบจะต้องใช้สองมือจับ แต่มูซาชิกลายมาเป็นนักดาบชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ใช้อาวุธที่มีอยู่ทั้งหมดในการต่อสู้กับปรปักษ์จำนวนมาก สำหรับเขาก็คือ การใช้ดาบคู่ที่เป็นดาบยาวกับดาบสั้น


ในเรื่องการมีความสนใจให้กว้างนั้น มูซาชิเคยกล่าวไว้ว่า "การฝึกแต่เทคนิคการใช้ดาบเพียงอย่างเดียว จะไม่ทำให้เข้าใจวิถีแห่งดาบที่แท้จริงได้" แต่การได้ฝึกศิลปะแขนงอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วยกลับจะทำให้ผู้นั้นสามารถเข้าใจวิถีแห่งดาบได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น


ในเรื่องการลับสมองให้เฉียบคมอยู่เสมอนั้น มูซาชิได้เคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่า อันวิชาฝีมือของนักรบนั้น ก็ไม่แตกต่างไปจากวิถีของช่างไม้ที่จะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดีอยู่เสมอ ถึงจะเป็นช่างไม้ที่ดีได้ ช่างไม้ที่ดีจะต้องหมั่นลับหมั่นฝนเครื่องไม้เครื่องมือของตนให้คมอยู่เสมอฉันใด คนเราก็ควรหมั่นลับสมองของตนให้เฉียบคมอยู่เสมอฉันนั้น


ในเรื่องการเอาใจใส่ในวิธีคิดในเชิงบวกที่แลไปข้างหน้าเสมอนั้น มูซาชิเคยกล่าวไว้ใน "วิถีที่เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว" ( ) ของเขาว่า "ตัวเราจะไม่สำนึกเสียใจในภายหลังกับเรื่องที่ตัวเราได้ทำลงไปแล้ว!"


ใช่หรือไม่ว่า ความทุกข์ส่วนใหญ่ของคนเราเกิดมาจากการยังยึดติดอยู่กับเรื่องราวในอดีต หรือเสียใจในเรื่องที่ได้กระทำลงไปแล้ว ว่าไม่ควรทำเช่นนั้นเลย? เพราะการกลุ้มใจอยู่กับอดีตนี่แหละ ที่ทำให้มนุษย์เราผลาญ "ปัจจุบัน" ไปอย่างไร้ค่า น่าเสียดาย และบั่นทอนศักยภาพของตัวเราในการทำงานที่สร้างสรรค์ออกมา มูซาชิคงต้องการจะบอกกับพวกเราว่า หากไม่อยากทุกข์ ก็จงใช้ แต่ละปัจจุบันขณะอย่างสร้างสรรค์ และคุ้มค่าเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง


ส่วนการสร้างนิสัยให้หมั่นฝึกฝนสมาธิอยู่เสมอนั้น เป็นสิ่งสำคัญเพราะการฝึกสมาธิเป็นการช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง และสภาพที่คนเราผ่อนคลายอย่างเต็มที่ ทั้งทางร่างกายและจิตใจก็ยังเป็นสภาพที่จะก่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ออกมาได้ง่ายที่สุดด้วย


นอกจากความสามารถในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์แล้ว มูซาชิยังมีความสามารถที่เป็นญาณทัสนะ หรือสัมผัสพิเศษ อันเป็นความสามารถที่จะหยั่งรู้อนาคตหรืออันตรายล่วงหน้าได้อย่างที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยตรรกะเหตุผล ความสามารถอันนี้เป็นผลของ การฝึกจิตรวมกาย มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นักกลยุทธ์ที่ดีจะขาดความสามารถเชิงญาณทัสนะหรือสัมผัสพิเศษนี้ไม่ได้เลย


มูซาชิบอกว่า ผู้ใดก็ตามที่คิดจะฝึก วิชากลยุทธ์เชิงบูรณาการ ของเขาให้รุดหน้าได้ ผู้นั้นจะต้องฝึกใจจนมีใจเหมือนน้ำคือ มี ใจน้ำ และเป็นใจน้ำที่อยู่ใต้ทะเลลึกหนึ่งร้อยเชียะให้ได้เสียก่อน ใจน้ำในความหมายของมูซาชิคือ ใจนิ่งเป็นปกติแม้ตกอยู่ในภาวะคับขัน นอกจากมีใจที่นิ่งดุจใจของน้ำลึกแล้ว มูซาชิยังบอกอีกว่า นักกลยุทธ์ที่ดี จะต้องมีความสามารถในการรวมพลังจิตพลังใจของตนให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดพลังแรงกล้าที่จะเปล่งออกมาในทุกๆ การกระทำของตน สองสิ่งนี้ฟังดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่ถ้าเราศึกษา "น้ำ" เราจะพบสองคุณสมบัติที่ว่านี้อยู่ในตัวน้ำ เพราะแม้ภายนอกน้ำจะดูอ่อนนิ่มและโอนอ่อนตาม แต่น้ำกลับแฝงอานุภาพทำลายอย่างคาดไม่ถึง


มีหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ อยู่ 3 ประการใน การฝึกรวมพลังจิต ที่เราสามารถดึงข้อสรุปจากประสบการณ์ของมูซาชิออกมาได้ดังต่อไปนี้

(1) จงตั้งปณิธานให้แก่ตัวเอง หรือกำหนดเป้าหมายที่แน่วแน่แน่ชัดให้แก่ตนเอง

(2) จงตั้งเงื่อนไขเวลาเอาไว้ด้วยว่า จะต้องบรรลุปณิธานของตนในแต่ระดับภายในระยะเวลาที่จำกัดไว้เมื่อใด คือต้องแข่งขันกับเวลาด้วย

(3) จงใช้การฝึกลมหายใจ การฝึกลมปราณมาช่วยเสริมการรวมพลังจิตให้แรงกล้ายิ่งขึ้น


ผู้ใดก็ตามที่รักษาหลักเกณฑ์ 3 ประการข้างต้นนี้ ได้โดยตลอดต่อเนื่องในระหว่างการฝึกฝนเหมือนอย่างมูซาชิแล้ว พลังจิต ของคนผู้นั้น และ ความสามารถในการรบชนะ ของคนผู้นั้นจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน


แม้แต่ "คนเก่ง" อย่างมูซาชิเองก็ยังมีช่วง "ขาลง" หรือมีบางช่วงที่มีสภาวะจิตตกต่ำเป็นการชั่วคราวได้เหมือนกัน เมื่อตกอยู่ในสภาพขาลงหรือสภาพตกต่ำเช่นนั้น มูซาชิมีวิธีการอย่างไร หรือทำอย่างไรถึงจะเอาชนะช่วงขาลง หรือช่วงสภาวะจิตตกต่ำของตนได้?


คนจริงคนแท้นั้น เขามิได้วัดกันดูกันที่ช่วง "ขาขึ้น" หรอก เขาวัดกันดูกันที่ช่วง "ขาลง" ต่างหากว่า จะทำตนเยี่ยงไร และผ่านพ้นห้วงยามนั้นมาได้อย่างไร จากประสบการณ์ของมูซาชิ เขาได้ใช้วิธีการ 3 วิธีดังต่อไปนี้สลับกันไป หรือเลือกใช้หนึ่งในสามวิธีนี้ตามวาระโอกาส และสภาพแวดล้อมในการเอาชนะช่วง "ขาลง" ของตัวเขา

(1) หันไปทำไปศึกษาเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยกับวิชาดาบ (วิถีหลัก) ของเขา หรือ

(2) หันไปทุ่มเทให้กับการฝึกวิชาดาบ (วิถีหลัก) ของเขามากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ขนาดเรียกได้ว่า ฝึกอย่างเอาเป็นเอาตาย

(3) ปลีกตัวเร้นกายไปบ่มเพาะพลัง ถนอมพลังของตนเอาไว้ อดทนจนกว่าทุกอย่างจะดีขึ้นหรือคลี่คลายขึ้น


ภูมิปัญญาของมูซาชิ และวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการของเขาเป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัยเลยแม้ในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคปัจจุบันที่ทั้งชะตากรรมของประเทศ และชะตากรรมของปัจเจกถูกโยงเข้าสู่วังวนของ "สงครามเศรษฐกิจ" และสงครามในมิติอื่นๆ นี่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นทุกที วิถีของมูซาชิเป็นวิถีของผู้ที่สามารถผ่านช่วงกลียุคแห่งยุคสมัยของเขามาได้อย่างองอาจ หฤหรรษ์ สง่างาม และเป็นไท วิถีของเขาจึงให้แรงบันดาลใจแก่พวกเราที่จะต้องฟันผ่าช่วงกลียุคแห่งยุคสมัยของพวกเราไปให้ได้เช่นกัน







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้