ภูมิปัญญาหมากล้อมกับ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (5) 9/8/2548

ภูมิปัญญาหมากล้อมกับ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (5) 9/8/2548



ภูมิปัญญาหมากล้อมกับ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (5)



"ท้องนภาเปรียบเสมือนกระดานหมากล้อม ดวงดาวคือเม็ดหมากล้อม การเดินหมากล้อมแฝงข้อพลิกแพลงเปลี่ยนแปลง แต่ต้องเดินตามหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ขอเพียงพวกเราสามารถเกาะกุม แนวทางในความเปลี่ยนแปลง ยึดมั่นใน หลักการของหมากล้อม ในที่สุด ก็จะสยบศัตรูเอเชียได้ เฉกเช่นเวลาเดินหมาก หากทุกตาสามารถบีบบังคับให้อีกฝ่ายมิอาจไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ก็จะควบคุมทั้งกระดานได้"
จาก "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ของหวงอี้


แก่นแท้ของภูมิปัญญาหมากล้อมนั้น อยู่ที่ ปรัชญาจักรวาฬ (Kosmos) ในหมากล้อม ปรัชญาจักรวาฬในสายตาของเต๋านั้น มุ่งที่จะค้นหา "แนวทาง" ในความเปลี่ยนแปลง หรือศึกษาความเปลี่ยนแปลงในจักรวาฬเพื่อค้นหาหลักเกณฑ์ที่แน่นอนของความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของจักรวาฬ (เต๋า) ในฐานะที่ชาวเต๋ามองว่า ร่างกายของคนเราก็เป็น "โลก" อันน้อยนิด โดยที่รอบกายของคนเราก็เป็นอีกโลกหนึ่ง การศึกษาเต๋าจึงเป็นการศึกษาหลักแห่งธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งสอง คือโลกภายในตัวเรากับโลกภายนอกตัวเรา เพื่อบูรณาการหรือหลอมรวมโลกทั้งสองนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน หรือเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า หรือจักรวาฬนั่นเอง


คัมภีร์อี้จิงของเต๋าถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อการศึกษาธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงอันนี้ โดยที่ หมากล้อมเป็นศิลปะแห่งการศึกษา หลักการของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาโดยเหล่าอัจฉริยะแห่งเต๋าในยุคโบราณ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เดินอยู่บนวิถีเต๋าหรือผู้ที่กำลังฝึกฝนตนเองตามแนวทางเต๋า สามารถหลอมรวม ปรองดองเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า หรือจักรวาฬได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยผ่านศาสตร์และศิลปะชั้นสูงแห่งเต๋าอย่างหมากล้อม เช่นเดียวกับมวยไท้เก๊ก และสมาธิเต๋าหรือเซน


หมากล้อม ส่งเสริม สมอง และสติปัญญาของผู้นั้นให้ปรองดอง เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าในระดับใจ และความคิด


มวยไท้เก๊ก ส่งเสริม กาย และลมปราณของผู้นั้นให้เคลื่อนไหว เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าในระดับกาย และพลังชีวิต


สมาธิเต๋า หรือเซน ส่งเสริม กาย-ใจ-ปราณของผู้นั้นให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวิญญาณของผู้นั้น เพื่อ เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าในระดับจิตวิญญาณ


อู๋ชิงหยวน ปรมาจารย์หมากล้อมแห่งศตวรรษที่ 20 เป็นผู้ที่น่าจะถือได้ว่าเข้าถึง ปรัชญาจักรวาฬในหมากล้อมนี้มากที่สุดคนหนึ่ง กิมย้งนักเขียนนิยายกำลังภายในชื่อดัง ก็เป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในอาจารย์อู๋ชิงหยวน เพราะกิมย้งเองโดยส่วนตัวก็ชอบเล่นหมากล้อมอยู่แล้ว แต่ที่ตัวเขาเลื่อมใสอาจารย์อู๋ชิงหยวนนั้น ไม่ใช่แค่เพราะพรสวรรค์อันเปี่ยมล้นของตัวอาจารย์อู๋ชิงหยวนเท่านั้น แต่เพราะ อาจารย์อู๋ชิงหยวนเป็นยอดนักหมากล้อมแห่งศตวรรษที่ 20 คนแรกที่สามารถนำเอาศิลปะแห่งเกมกีฬาอย่างหมากล้อม ที่มุ่งเน้นในการแพ้ชนะอย่างเดียวนี้ มายกระดับให้สูงส่งขึ้นถึงขั้นสุดยอดแห่งภาวะความเป็นมนุษย์แบบเต๋าได้


อาจารย์อู๋ชิงหยวน ต่างจากนักหมากล้อมฝีมือเลอเลิศทั่วไป ตรงที่นักหมากล้อมฝีมือเลอเลิศนั้น เกิดขึ้นบ่อยในทุกยุค แต่ยอดปรมาจารย์แห่งวงการหมากล้อมนานที นับเป็นหลายร้อยปีถึงจะปรากฏขึ้นสักครั้ง ความยิ่งใหญ่ของอาจารย์อู๋ชิงหยวนนั้นอยู่ที่ท่านได้นำหลักธรรมของเซนเรื่อง การประคองสภาวะของจิตอันเป็นปกติในทุกสถานการณ์ มาใช้ในเกมการแข่งขันที่ดุเดือดอย่างหมากล้อมอย่างประสบความสำเร็จ


ท่านใช้หมากล้อมเป็นศิลปะในการบ่มเพาะสภาวะจิตแบบเซน หรือสภาวะแห่ง "จิตอันเป็นปกติ" นี้ ซึ่งทำให้สำหรับตัวท่านแล้ว การเล่นหมากล้อม มิใช่เกมที่ไร้สาระ ผลาญพลังงานและผลาญเวลาไปเปล่าๆ มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดอัตตายึดติดในผลแพ้ชนะอันเป็นโทษที่แลเห็นได้ชัดของการหมกมุ่นในหมากล้อมที่ต้องระวังให้มาก กล่าวโดยนัยนี้เราต้องถือว่า อาจารย์อู๋ชิงหยวนประสบความสำเร็จในการยกระดับการเล่นหมากล้อม การฝึกฝนหมากล้อมของท่านให้กลายเป็นวิถีธรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งเซนและเต๋า เพื่อการชำระจิตใจของตนเอง


ด้วยเหตุนี้ อาจารย์อู๋ชิงหยวนถึงกล้านำเสนอแนวคิดแบบเต๋าที่ว่าด้วย "ความปรองดองกับจักรวาฬ" ในหมากล้อม โดยหลักการนี้มุ่งที่จะสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นในเกมการแข่งขัน เน้นการสร้างสรรค์แปลกใหม่ในแต่ละเกม เพิ่มมิติมุมมองใหม่เชิงศิลปะในเกมหมากล้อม มากกว่าการให้ความสำคัญในเรื่องผลแพ้ชนะ


อาจารย์อู๋ชิงหยวนเคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า


"พวกท่านรู้จักความหมายของอักษรจีน ที่แปลว่า ตรงกลาง หรือไม่ อักษรที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วมีเส้นขีดแบ่งผ่ากลาง สิ่งที่ถูกแบ่งแยกออกเป็นซ้าย-ขวานั้นคือ หยินกับหยาง ส่วนเส้นตรงที่ผ่ากลางนั้น บ่งชี้ว่า จักรวาฬ หรือ เต๋า นั้นไร้รูป ไร้ขอบเขต จนต้องขีดเส้นผ่าออกมาจึงปรากฏเป็นรูป...


"ในหมากล้อมนั้น การบรรลุถึงสภาวะแห่ง "ตรงกลาง" นี้ เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะผู้ใดก็ตามที่ค้นพบ "ตรงกลาง" นี้ได้ในกระดานหมากล้อมขณะนั้น เขาก็จะค้นพบตำแหน่งการวางที่ถูกต้องในขณะนั้น ซึ่งทำให้หมากทั้งหมดบนกระดานเกิดความปรองดองได้..."


"ลำพังแค่การค้นคว้าทางเทคนิคอย่างเดียว เราไม่สามารถที่จะเข้าถึงหรือบรรลุถึงสภาวะแห่ง "ตรงกลาง" นี้ได้ เพราะ "ตรงกลาง" นี้มันจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา พร้อมๆ กับหมากแต่ละหมากที่ได้วางลงไป ผู้ที่จะเข้าถึงสภาวะนี้ได้ จะต้องเป็นผู้ที่สามารถทำจิตของตนให้ใสกระจ่างดุจกระจกที่สามารถสะท้อนภูมิปัญญาอันล้ำเลิศของจักรวาฬออกมาในการเดินหมากแต่ละหมากที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้"


เพราะหมากล้อมเป็นโลกที่ไร้รูปไร้ขอบเขตที่ไม่อาจควบคุมหรือจัดการได้ด้วยเทคนิคล้วนๆ หรือด้วยเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น วิถีของปรมาจารย์หมากล้อมอย่างอู๋ชิงหยวน จึงอยู่ที่แค่มุ่งค้นหา "ตรงกลาง" ในท่ามกลางความไร้รูปไร้ขอบเขตของหมากล้อมเท่านั้น ไม่มีอย่างใดอื่นอีก และผลพวงของการแสวงหาการค้นหานี้คือ การค้นพบหลักการหรือ หลักความจริงของหมากล้อม หรือ ประกาศิตของหมากล้อม ที่ใครก็ไม่อาจละเมิดได้ หาไม่แล้วเมื่อคนผู้นั้นได้พบกับคู่ต่อสู้ที่เข้าใจหลักความจริงของหมากล้อมนี้ได้ลึกซึ้งกว่า เขาก็จะได้รับความเจ็บปวดจากบทเรียนราคาแพงเสมอ แก่นแท้ของหลักกลยุทธ์ก็ล้วนแฝงอยู่ในหลักความจริงของหมากล้อม หรือประกาศิตของหมากล้อมนี้ทั้งสิ้น


คุณูปการที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งของอาจารย์อู๋ชิงหยวน ที่มีต่อวงการหมากล้อมสมัยใหม่ก็คือ ท่านกล้าสลัดทิ้ง "หลักความจริงแบบเก่า" ของหมากล้อมที่เชื่อกันมานับร้อยๆ ปีว่า หมากล้อมจะต้องเดินจากมุมสู่ด้านข้างสู่ตรงกลางกระดานตามลำดับนี้เสมออย่างไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ อาจารย์อู๋ชิงหยวนในวัยหนุ่มน้อยเพียงแค่ 19 ปี ก็กล้าคิดนอกกรอบ ด้วยการนำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการเปิดเกมที่ไม่ยึดติดกับหลักการเดิมในอดีต แต่เริ่มจากมุมมองใหม่ที่มองว่า "หลักความจริงแบบใหม่" ของหมากล้อมก็คือ เสรีภาพที่จะเลือกวางหมากได้อย่างอิสรเสรีตรงไหนก็ได้ โดยคำนึงถึงดุลยภาพและความปรองดองของหมากทั้งกระดานเป็นสำคัญ


นี่คือการปฏิวัติทางความคิดเกี่ยวกับหมากล้อมในวงการหมากล้อมของอู๋ชิงหยวนโดยแท้ เพราะเป็นการนำเสนอว่า โลกของหมากล้อม คือจักรวาฬอันไร้ขอบเขต ซึ่งเป็นมุมมองที่ไม่มีนักหมากล้อมคนไหนในญี่ปุ่นก่อนหน้านั้น กล้านำเสนอมาก่อนนับร้อยๆ ปีมาแล้ว จากความเข้าใจใหม่อันนี้ เมื่อเรามาศึกษาถึงประกาศิตต่างๆ ของหมากล้อม เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเรื่องหลักกลยุทธ์ เราจะได้ บทเรียนเชิงกลยุทธ์จากหลักความจริงของหมากล้อม ต่างๆ ดังต่อไปนี้


(1) อย่าเดินหมากครึ่งๆ กลางๆ


(2) อย่าทำร้ายหมากของตนเอง หากจำต้องสละหมากบางส่วน ก็เพื่อที่จะได้ผลประโยชน์ในทางอื่นตอบแทนกลับคืนมาเสนอ


(3) อย่าหมกมุ่นอยู่กับการสู้รบ จนกลายเป็นสู้เพื่อที่จะสู้เท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงผลได้ผลเสียในแต่ละสนามรบเลย การสู้อย่างหัวชนฝา อย่างตาบอดเช่นนี้ จะนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ในสงครามเท่านั้น


(4) จงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเกมที่ตัวเองเล่น จนกระทั่ง ความหมายของเกมนั้นในขณะนั้นคือ โลกทั้งหมดของผู้เล่นคนนั้นในขณะนั้น


(5) ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อย้าย สลับปรับเปลี่ยนมุมมองในระดับภาพรวมกับในระดับเฉพาะส่วน ได้อย่างดังใจ ย่อมพ่ายแพ้ต่อผู้ที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ในขณะดำเนินกลยุทธ์เสมอ


(6) หนึ่งหมากคือหนึ่งโอกาสเสมอ ในกระดานที่หมากเริ่มถูกถมเต็มยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่หมากๆ หนึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์โดยรวมก็จะยิ่งลดน้อยลงตามลำดับ


(7) ทั้งในหมากล้อมและในชีวิตจริง ความได้เปรียบจากการเป็น "มือนำ" จะดำรงอยู่เสมอ


(8) อย่าเดินหมากที่ช่วยให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถเล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ


(9) อย่าเล่นหมากช่วงปิดเกมก่อนช่วงกลางเกม และอย่าเล่นหมากช่วงกลางเกมก่อนช่วงเปิดเกม เราต้องเล่นหมากที่เหมาะสมกับขั้นตอนที่เรากำลังอยู่ในเกม


(10) ชัยชนะในหมากล้อมจะมีกับผู้ที่เคารพความจริงที่ว่า เราไม่สามารถรู้ความเป็นไปได้ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในเกม เราจึงต้องยอมรับความไม่แน่นอนนี้ และปรับตัวให้เข้ากับความไม่แน่นอนหรือความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดีที่สุด โดยที่ชัยชนะเป็นเพียงผลพลอยได้ของการปรับตัวนี้เท่านั้น


(11) อย่ายึดติดกับแผนการที่วางไว้ก่อนหน้านั้น แผนการมีไว้ยกเลิก


(12) ต้องคิดใหม่ และคิดใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะทุกเกมในหมากล้อมเป็นเกมใหม่สดที่ไม่เคยซ้ำรอยเลย และชีวิตก็เช่นกัน


(13) หมากที่วางลงไปแล้วขยับไม่ได้ ต่อให้เดินพลาด เดินไม่ดีไปแล้ว ก็ต้องยอมรับหมากที่ตัวเราได้เล่นไปแล้ว


(14) จงเดินหมากที่ให้ประโยชน์ได้หลายทาง


(15) เราไม่มีทางรู้จิตใจของคู่ต่อสู้ โดยดูแค่หมากของเขาเท่านั้น


(16) รูรั่วเล็กๆ อาจกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ได้ ต้องเอาใจใส่ แม้แต่จุดอ่อนเล็กๆ น้อยๆ ในกลุ่มหมากของตน เกมทั้งเองอาจพลิกคว่ำพ่ายแพ้ได้ ถ้าผู้เล่นสนใจแต่ภาพใหญ่เท่านั้น โดยขาดความละเอียดรอบคอบในเรื่องเล็กๆ งานด่วนจึงต้องมาก่อนงานใหญ่เสมอ


(17) จงเดินหมากอย่างลื่นไหล ไม่หนักไป ไม่อ่อนไป ไม่แน่นไป ไม่หลวมไป


(18) โจมตีไม่ใช่เพื่อฆ่า แต่โจมตีเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์


(19) วิถีของหมากล้อมคือ การแสวงหาหมากที่ดีที่สุดอย่างไม่มีวันจบสิ้น และพยายาม "ก้าวข้าม" หลักความจริงแบบเก่าเสมอ


ภูมิปัญญาหมากล้อมเพื่อการเข้าถึงแก่นแท้ของกลยุทธ์นั้น มีอย่างอุดมสมบูรณ์ยิ่งเท่าที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น สุดท้ายแล้วผู้นั้นก็ต้องกระโดดเข้ามาศึกษาด้วยตนเอง เพื่อเข้าถึงด้วยตนเอง ภูมิปัญญาแห่งกลยุทธ์จากหมากล้อม จึงจะกลายเป็นของคนผู้นั้นได้ แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็สามารถเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องกลยุทธ์โดยทั่วไปแล้ว แม้ผู้นั้นจะยังเล่นหมากล้อมไม่เป็น หรือยังไม่ค่อยเข้าใจเกมหมากล้อมดีพอก็ตาม









 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้