คมดาบซากุระ 2 : สงครามความชอบธรรม ตอนที่ 2 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (20 มิถุนายน 2555)

คมดาบซากุระ 2 : สงครามความชอบธรรม ตอนที่ 2 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (20 มิถุนายน 2555)


สงครามความชอบธรรม ตอนที่ 2

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

20 มิถุนายน 2555





ไม่มีรัฐธรรมนูญใดไม่ได้มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร
ความชอบธรรมต่างหากที่ทำให้แตกต่าง




สัจธรรมอย่างหนึ่งในทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยก็คือ รัฐธรรมนูญล้วนมีที่มาจากการปฏิวัติยึดอำนาจ ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองเมื่อ 24 มิ.ย. 2475 อันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญฉบับแรก ไม่เว้นแม้แต่ในฉบับปัจจุบัน



แต่สิ่งที่พิเศษสำหรับฉบับปัจจุบันก็คือ ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงจากการลงประชามติอนุมัติให้ใช้ ซึ่งแตกต่างไปจากฉบับอื่นๆ ที่มีผู้อื่นที่มิใช่ประชาชนเป็นผู้อนุมัติ



ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงคล้ายดั่งเช่นดอกบัว แม้ถือกำเนิดมาจากโคลนตมด้วยการปฏิวัติ แต่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นดอกไม้สำหรับการบูชาบนหิ้งพระอันเนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่ออกเสียงยอมรับให้นำมาใช้กับทุกคนได้



เมื่อ “อำนาจในการสถาปนา” รัฐธรรมนูญมาจากประชาชนโดยตรง การที่ผู้ใดจะมาล้มล้างก็ต้องอาศัยประชาชน การจะมาโดยอ้อมอ้างเอาว่าเป็น “ตัวแทน” ประชาชน เช่น ส.ส.หรือ ส.ว. เพื่อมาล้มล้างย่อมกระทำมิได้เพราะขาดความชอบธรรม



ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.และส.ว.ฝ่ายรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก “ตัวแทน” ประชาชนมีอำนาจหน้าที่อยู่ 2 ประการนี้เท่านั้นคือ ออกกฎหมายและควบคุมตรวจสอบรัฐบาล



หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของ “ตัวแทน” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกลับไปถามประชาชนที่มี “อำนาจในการสถาปนา” รัฐธรรมนูญเสียก่อนด้วยการลงประชามติว่าจะยินยอมให้แก้หรือไม่ แล้วจึงเสนอร่างแก้ไขว่าจะแก้อะไร และแก้ไปทำไมเพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจ



มิใช่กระทำกลับหัวกลับหางอย่างที่เป็นอยู่ จะแก้ไขในประเด็นใดก็ไม่แจ้ง จะแก้รัฐธรรมนูญไปเพื่ออะไรก็ไม่บอก ไม่เสนอแก้ด้วยตนเองแต่กลับไปมอบอำนาจให้ “ตัวแทนของตัวแทน” คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้เป็นผู้กระทำแทน แถมยังหนีความรับผิดชอบด้วยการให้อำนาจประธานสภาฯ แต่เพียงผู้เดียวในการพิจารณาว่าจะส่งไปให้ประชาชนลงมติโดยตรงหรือไม่ก่อนการทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย



ปัญหาความชอบธรรมจึงเกิดขึ้นกับ “ตัวแทน” ประชาชนเหล่านั้นว่าการกระทำดังกล่าวส่อเจตนาขัดแย้งต่อเจตนาของเจ้าของอธิปไตยที่ออกเสียง “รับ” รัฐธรรมนูญฉบับนี้



เหตุก็เพราะนักการเมืองที่อ้างว่าเป็น “ตัวแทน” มิได้มีความเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย “แม่บท” ที่ก่อให้เกิดกฎหมายอื่นๆ ตามมา แม้โดยข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญมาทีหลังกฎหมายอื่นและดำรงอยู่อย่างไม่ต่อเนื่องจากผลของการรัฐประหาร แต่ “ตัวแทน” ก็มิได้มีอำนาจในการแก้ไขหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยปราศจากความเห็นชอบของประชาชนผู้เป็น “เจ้าของ”



สิ่งที่ “ตัวแทน” เหล่านี้ลืมหรือแกล้งลืมไปก็คือ อำนาจการเป็น “ตัวแทน” นั้นก็มีขอบเขต มิใช่ได้รับเลือกตั้งมาแล้วจะสามารถทำอะไรก็ได้ทุกอย่างเพราะไปหาเสียงมาว่าจะทำโดยไม่คำนึงว่ามีอำนาจที่จะทำได้หรือไม่และถูกต้องชอบธรรมมากน้อยเพียงใด



ไม่ต้องร่ำเรียนกฎหมายทั้งตรีโทเอกอย่างด็อกเตอร์เหลิมก็สามารถเข้าใจโดยสามัญสำนึกได้ว่าไม่มีใคร “บ้า” มอบอำนาจให้ “ตัวแทน” อย่างไร้ขอบเขตจนมีอำนาจอยู่เหนือ “เจ้าของ”



การทึกทักอ้างว่าถึงการเป็น “ตัวแทน” ประชาชน ดังนั้นจึงถือตนว่ามีอำนาจสูงสุดเหนือกฎหมายและเหนือกว่าอำนาจอื่น เช่น ศาล จึงเป็นความเข้าใจผิด (หากมองในแง่ดี) หรือเป็นการแสดงเจตนาที่จะล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยแท้ (หากมองในแง่ร้าย)



การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องตาม ม. 68 นั้นก็เนื่องจากศาลมีหน้าที่โดยตรงที่จะพิจารณาวินิจฉัยคดีรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติก่อนที่จะประกาศใช้บังคับเพื่อมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ



เป็นหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องมาถือปืนยืนเฝ้าหน้าตัวรัฐธรรมนูญที่เป็นเพียงวัตถุแต่อย่างใด หากแต่เป็นการปฏิบัติโดยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ให้อำนาจเอาไว้ต่างหาก ความชอบธรรมในการตีความเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจึงตกเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ หาใช่อัยการหรือ “ตัวแทน” ประชาชนไม่



เช่นเดียวกับกรรมาธิการสภาฯ ที่ระเบียบข้อบังคับให้อำนาจเป็นผู้ตีความว่ากฎหมายใดเป็นกฎหมายการเงิน แต่การตีความโดยอาศัยเสียงข้างมากแต่เพียงลำพังวินิจฉัยว่า “หมู” เป็น “หมา” เพื่อมุ่งหวังมิให้ร่างกฎหมายปรองดองกลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่ต้องให้นายกฯ รับรองเสียก่อนจึงจะนำเข้าสภาฯ พิจารณาได้ เป็นการกระทำที่ขัดกับข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง และขัดต่อเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด



เหตุก็เพราะร่างฯ ดังกล่าวได้กำหนดเนื้อหาให้ลบล้างผลการกระทำขององค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้น เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ปี 2549 และ 2550 เป็นการขัดหลักการสำคัญที่อยู่ใน ม. 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือการพิพากษาของศาลฎีกาทั้ง 2 คดี ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เช่น ที่ดินรัชดาฯ และการยึดทรัพย์สิน



การลบล้างผลดังกล่าวนี้ ทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบภาระในการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะต้องให้เป็นไปตามร่างฯ ดังกล่าว ดังนั้นโดยข้อเท็จจริงจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เป็น “หมู” มิใช่ “หมา” ตามเสียงข้างมากตั้งแต่ต้น



การลบล้างผลดังกล่าวนี้ยังเป็นการให้ฝ่ายนิติบัญญัติก้าวล่วงเข้ามาทำให้อำนาจตุลาการใช้บังคับไม่ได้กรณีที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว



เช่นเดียวกับอัยการที่แย่งหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดตอนเสียเองว่าคำร้องตาม ม. 68 ของผู้ร้องไม่ได้ขัดหรือเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจ



ดังนั้นทั้งศาลรัฐธรรมนูญ อัยการและกรรมาธิการสภาฯ ต่างก็ต้องรับผิดชอบต่อคำวินิจฉัยของตนเองว่าใช้อำนาจโดยวิปริต วิปลาส ฟั่นเฟือนไปหรือไม่ หากใช่ก็สามารถยื่นถอดถอนได้



วิวาทะเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนตาม ม. 68 โดยศาลรัฐธรรมนูญว่าทำได้หรือไม่จึงเป็นปลายเหตุหรือผลของเป้าหมายหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นคือการรวบอำนาจตุลาการให้มาอยู่ใต้อำนาจนิติบัญญัติ/บริหาร ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นด่านหน้าสุดที่จะต้องถูกหักเข้าไปให้ได้



วาทกรรมในเรื่องนี้ก็คือการยึดโยงกับประชาชนโดยอ้างว่าศาลก็เป็นสถาบันที่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติหรือขึ้นอยู่กับสภาฯ จึงจะมีความชอบธรรมในการตัดสินอรรถคดี



ฟังแล้วดูดี แต่หากศาลใดก็แล้วแต่ขาดอิสระในการตัดสินใจเสียแล้ว ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้นหากการเข้าสู่ตำแหน่งและงบประมาณขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการจะใช้อำนาจโดยอิสระได้อย่างไร


ประชาธิปไตยของ “พวกเขา” จึงไม่ใช่ประชาธิปไตยในแบบที่คนทั่วไปเข้าใจอย่างแน่นอน ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญ สภาฯ ใครจะมีความชอบธรรมในเรื่องนี้หรือไม่อย่างไรลองใคร่ควรพิจารณาดูก็จะพบคำตอบ


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้