คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (29) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (14 สิงหาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (29) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (14 สิงหาคม 2556)


นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (29)


โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

14 สิงหาคม 2556




       เศรษฐกิจไม่โต + หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้น
      ไม่ว่าท่านจะ “สี” อะไร นี่คือหนทางสู่ประตู “นรก”
       


       เศรษฐกิจไทยยุค “ปฏิแหลเพื่อพี่” กำลังเข้าตาจน ประเด็นที่ถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้น่าจะอยู่ที่ หนี้สินครัวเรือนและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มที่จะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
       


       ในเรื่องหนี้สินครัวเรือน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับร้อยละ 44 เมื่อไตรมาสแรกปีพ.ศ. 2546 มาเป็นประมาณร้อยละ 78 ในไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2555 หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปีและเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงรัฐบาล “ปฏิแหลเพื่อพี่”



 






       พสิษฐ์ โชติวัฒนะกุล “หนี้ครัวเรือนนั้นสำคัญไฉน” เอกสารวิชาการ, ธนาคารแห่งประเทศไทย


       
       หากไม่นำเอาตัวเลข GDP มาเป็นตัวหารเนื่องจากในช่วงในช่วงปี พ.ศ.2551-55 อัตราการเจริญเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 2.9 ต่อปีเท่านั้นจากความไม่สงบทางการเมืองและความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาลจนทำให้น้ำท่วมทั้งแผ่นดิน เมื่อตัวหารมีขนาดเล็กลงกว่าปกติสัดส่วนข้างต้นก็อาจจะสูงเกินปกติได้
       


       เมื่อคิดเฉพาะจำนวนหนี้ครัวเรือน ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่าเพิ่มขึ้นจาก 124,560 บาทต่อครัวเรือนในปี พ.ศ. 2543 มาเป็น 241,760 บาทต่อครัวเรือนในปี พ.ศ. 2554 ยืนอยู่ที่ประมาณ 10 เท่าของรายได้ไม่เปลี่ยนแปลงสักเท่าใด


       
       ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดการเพิ่มในหนี้สินครัวเรือนอย่างรวดเร็วก็คงหนีไม่พ้น โครงการประชานิยมทั้งหลายที่กระตุ้นและกระตุ้นให้คนใช้จ่ายโดยรัฐบาลสนับสนุนการเป็นหนี้ในรูปแบบต่างๆ



       
       ตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นมาบ่อยครั้งก็คือ โครงการรถคันแรก ที่รัฐมนตรีคลังกิตติรัตน์บอกว่ารัฐบาลไม่ได้นำเงินมาอุดหนุนคนซื้อ แต่เป็นภาษีสรรพสามิตของเจ้าของรถเองเอามาคืนให้เมื่อถือครองเกิน 1 ปี หากจะมีหนี้เสียก็เป็นเรื่องของสถาบันการเงินเพราะเป็นผู้ตัดสินใจปล่อยสินเชื่อเอง รัฐบาลไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

       
       ฟังดูเหตุผลแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นรัฐมนตรีที่โกหกเก่งแล้วยังตะแบงเก่งอีกด้วย เหตุก็เพราะการเก็บภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีอะไรก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การนำเงินของรัฐไปให้กับผู้ซื้อรถยนต์โดยอ้างว่าเป็นภาษีของผู้ซื้อแล้วคืนให้นั้นมันจะไม่เป็นการอุดหนุนผู้ซื้อให้สามารถซื้อรถในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมได้อย่างไร เงินจากภาษีนั้นเป็นรายได้ของรัฐเมื่อเก็บได้ก็ต้องนำส่งคลัง ส่วนจะเบิกจ่ายเพื่อการใดก็ต้องตั้งจ่ายตามกฎหมายการเงิน เช่น งบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่สามารถรับเงินจากภาษีแล้วนำไปคืนให้โดยทันทีโดยไม่เข้าคลังเสียก่อน


       
       แต่ที่รัฐมนตรีผู้นี้พูดไม่หมดและพยายามทำให้เข้าใจผิดก็คือ ภาษีสรรพสามิตมีไว้เพื่อจำกัดการบริโภค หาไม่แล้วก็จะมีคนซื้อรถเกินกว่าปริมาณความจุถนน สร้างผลกระทบภายนอกหรือ externalities ในด้านสภาพแวดล้อมทั้งรถติดและการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อทั้งผู้ใช้และไม่ได้ใช้รถดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


       
       รถที่ซื้อในประเทศไทยที่มีราคาแพงกว่าซื้อในต่างประเทศหลายเท่าจนต้องมีการลักลอบแยกชิ้นส่วนมาจดประกอบนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีส่วนนี้มิใช่หรือ รถเล็กและไม่ใช่รถหรูก็สร้างผลกระทบภายนอกนี้เช่นกัน ทำไมกิตติรัตน์ไม่เข้าใจเรื่องนี้เลยหรือว่าภาษีก็มีส่วนช่วยสภาพแวดล้อมได้เช่นกัน


       
       ประเด็นสำคัญก็คือ ทำไมจึงต้องเอาเงินของประชาชนคนไทยทุกคนไม่ว่าจะจนหรือรวยไปช่วยให้คนบางคนสามารถซื้อรถได้ในราคาที่ถูกกว่าเดิมเพียงครั้งเดียว นี่คือคำถาม?
       


       ตัวเลขภาระหนี้ครัวเรือนของประเทศ 241,760 บาทข้างต้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นเครื่องชี้ในภาพรวมเป็นค่าเฉลี่ย สิ่งที่ซ่อนอยู่ก็คือ ครัวเรือนในกทม.และปริมณฑลมีระดับหนี้โดยเฉลี่ยเกินกว่า 4 แสนบาทที่ส่วนใหญ่เกิดจากการไปซื้ออสังหาและวัตถุถาวรซึ่งต่างกับครัวเรือนในภาคอีสานและใต้ที่แม้จะมีจำนวนหนี้สินน้อยกว่า 2 แสนบาทแต่ส่วนใหญ่ก่อหนี้เพื่อนำไปบริโภคในครัวเรือนซึ่งแสดงถึงโอกาสการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงเพราะ “กู้มากิน มิใช่นำมาลงทุน”


       
       ในทำนองเดียวกันสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ประมาณ 10 เท่าที่แม้จะดูเหมือนไม่เปลี่ยนแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้เหมือนเดิมเพราะรายได้ยังเพิ่มขึ้นตามทันหนี้ที่เพิ่ม



       
       ประเด็นก็คือ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่เป็นเหล่งรายได้ไม่ว่าจะเป็น ยาง หรือ มัน ต่างมีราคาลดลงอย่างรุนแรงมาโดยตลอดซึ่งหมายความว่าหากไม่สามารถผลิตในจำนวนที่เพิ่มขึ้นได้ รายได้ของเกษตรกรก็จะลดลง ไม่เว้นแม้แต่ข้าวที่รัฐบาลคุยว่าเกษตรกรได้ประโยชน์เพราะราคาจำนำสูงถึง 15,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก แต่ราคาที่เกษตรกรขายข้าวได้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกรณีไม่มีโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดสักเท่าใด

       
       ที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยโตได้ด้วยการบริโภคจากประชาชนในประเทศและจากต่างประเทศในรูปของการส่งออกสินค้าไปขายต่างชาติ


       
       หากรายได้เกษตรลดลงจากราคายาง 120 บาทเหลือเพียง 60 บาทเศษ หรือราคามันจาก 5 บาทเหลือเพียง 2 บาทเศษ หรือรายได้จากค่าจ้าง 300 บาทไม่พอเพียงเพราะราคาสินค้าเพิ่มมากกว่าค่าจ้าง พลังจากการบริโภคในประเทศก็จะลดลง


       
       เช่นเดียวกันพลังจากการส่งออกนั้นทำได้ยากในปัจจุบันเนื่องจากต่างชาติที่ซื้อของจากไทยไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ยุโรป อาเซียน หรือแม้แต่สหรัฐฯ ต่างก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจรายได้ลดลงหรือมีคนตกงานมากขึ้น อัตราการเพิ่มการส่งออกปีนี้ทั้งปีของไทยอาจไม่ถึงร้อยละ 3 ตามที่คาดไว้ทั้งที่โดยปกติจะโตเป็นเลข 2 หลัก


       
       การปรับตัวเลขการเจริญเติบโตให้ลดลงจากร้อยละ 5 มาเหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 4 จึงเริ่มที่จะเห็นได้ในครึ่งปีหลังด้วยพลังที่ลดลงจากการบริโภคและการส่งออกเป็นสาเหตุสำคัญ


       
       ครัวเรือนจะมีหนี้เสียมากน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องเป็นปัญหาของสถาบันการเงินอย่างที่กิตติรัตน์อ้างก็จริงอยู่ แต่เมื่อรัฐบาลไทยฝากความหวังไว้กับโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านและ 2 ล้านล้านบาทที่มีโอกาสเป็นอย่างมากที่จะไม่ได้ใช้เงินกู้ดังกล่าวแม้แต่บาทเดียวแต่เพียงลำพัง เศรษฐกิจไทยจึงถูกจับเป็นตัวประกันเช่นเดียวกับคนไทยจากกฎหมายนิรโทษกรรม
       


       หากมีความผันผวนทั้งจากภายนอกหรือภายในก็มีโอกาสเป็นไปได้ไม่ยากเลยที่ GDP อาจโตอยู่ในระดับร้อยละ 0 ถึง 1 นั่นคือไม่เติบโตเลย อย่าลืมว่าตัวเลข 4 กับต่ำกว่า 1 นั้นใกล้กันมาก


       
       หากรายได้ประเทศไม่โต ด้วยหนี้สินครัวเรือนที่สูง จะให้เตือนอีกไหมว่า นรกของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน


       
       กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยอธิบดีธาริต ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งฉับไวกับคดีนายวิรพล สุขผล หรืออดีตหลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก ในหลายข้อหาภายหลังจากที่ปรากฏหลักฐานความผิดทั้งทางโลกและทางธรรม
       


       ธาริตได้เปิดเผยว่าจะได้มีการออกหมายจับ สั่งอายัดทรัพย์ทั้งที่เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคาร ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เพิกถอนพาสปอร์ตและร้องขอต่อทางการสหรัฐฯ ให้เพิกถอนวีซ่าเพื่อผลักดันให้นายวิรผลกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย


       
       หากจะถามว่าความเสียหายที่นายวิรผลได้ทำเอาไว้กับสังคมไทยคืออะไร คำตอบน่าจะอยู่ที่การเข้าสู่ “ผ้าเหลือง” และอาศัยการสร้างความเชื่อว่าตนเองสามารถหาทางลัดเข้าสู่สวรรค์ได้โดยไม่ต้องสร้างบุญ การหลอกลวงทรัพย์สินเงินทองของผู้คนที่หลงเชื่อจึงเป็นสิ่งที่ติดตามมาที่อาจอยู่ในระดับร้อยล้านบาท


       
       แต่เทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายที่ทำไว้กับ “สถาบัน” พุทธศาสนาให้คนหลงเชื่อในทางที่ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของบรมศาสดา


       
       กรณีนายตำรวจที่ชื่อคำรณวิทย์ก็เช่นกัน การถูกร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบจริยธรรมกรณีให้ทักษิณ ชินวัตรผู้ต้องโทษหนีคดีอาญาแผ่นดินประดับยศให้จึงเป็นการส่อแสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมของคนเป็นผู้รักษากฎหมายโดยตรง


       
       การไปพบโดยจงใจกับผู้ต้องหาต้องโทษที่มีหมายจับแม้จะในต่างประเทศในขณะที่ตนเองเป็นนายตำรวจใหญ่ผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย จะอ้างเหตุผลใดก็รับฟังได้ลำบากเมื่อทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนเสียแล้ว


       
       เมื่อไม่เคารพกฎหมายก็เท่ากับว่าไม่เคารพวิชาชีพของตนเอง คำรณวิทย์จึงไม่ต้องดิ้นรนไปถามแม่แต่อย่างใดเพราะผู้ที่ชี้ถูกผิดเรื่องจริยธรรมในกรณีนี้คือผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้วินิจฉัยไปแล้ว มิเช่นนั้นผู้ต้องหาอื่นก็จะอ้างได้เหมือนกันว่าถามแม่แล้วว่าปล้น ข่มขืนและฆ่าเจ้าทรัพย์ไม่ผิดจริงไหม?


       
       หากจะถามเช่นกันว่าคำรณวิทย์ทำความเสียหายอะไรไว้กับสังคมไทย คำตอบน่าจะอยู่ที่การเข้าสู่ “สีกากี” เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษากฎหมายแต่กระทำในทางตรงกันข้าม เป็นการทำลาย “สถาบัน” ตำรวจ ที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย


       
       แต่ความเสียหายที่ทั้งวิรพลและคำรณวิทย์ได้ทำเอาไว้กับสังคมยังเทียบไม่ได้กับความเสียหายที่ทักษิณและรัฐบาลของเขาทำไว้กับประเทศไทย


       
       การที่สังคมใดสังคมหนึ่งขาดซึ่ง “สถาบัน” หมายความว่าสังคมนั้นจะขาดซึ่งโครงสร้างที่ประชาชนของประเทศนั้นเองและคนนอกประเทศจะใช้ยึดถือ


       
       ตัวอย่างของการขาดการบังคับใช้ซึ่งกฎหมาย ขาดซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรมก็หมายถึงว่าประเทศนั้นได้กลายเป็น “บ้านป่า เมืองเถื่อน” กฎอย่างเดียวที่มีอยู่ก็คือ อำนาจมาจาก “กำปั้น” ที่มีขนาดใหญ่หรือจำนวนมากกว่าผู้อื่น จะเป็นผู้ออกกฎและเปลี่ยนแปลงกฎนั้นตามอำเภอใจนั่นเอง


       
       สังคมที่เจริญแล้วจึงเรียนรู้ว่า มนุษย์ได้ประโยชน์จากการอยู่ร่วมกัน แต่ต้องมีและเคารพกติกาที่เขาเรียกทั่วๆ ไปว่ากฎหมาย มิเช่นนั้นก็ต้องใช้ขนาดของ “กำปั้น” เป็นเครื่องตัดสินแทนความถูกต้องซึ่งไม่แตกต่างจากพฤติกรรมของฝูงสัตว์สักเท่าใด ผู้ด้อยโอกาสก็จะกลายเป็นเช่นคนชั้นกลางล่างทั้งหลายเพราะเป็นผู้ที่มีขนาด “กำปั้น” เล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนชั้นอื่นๆ


       
       ประเทศที่ขาด “สถาบัน” จึงไม่สามารถเป็นประเทศที่เจริญแล้วได้อย่างแน่นอนเพราะขาดซึ่ง “ขื่อแป” ไว้ค้ำจุนตัวบ้านเอาไว้ นี่จึงเป็นความสำคัญของการดำรงไว้ซึ่ง “สถาบัน” และเป็นสิ่งที่ทักษิณ ชินวัตรพยายามจะทำลายเพื่อมิให้ตนเองต้องปฏิบัติตาม “ขื่อแป” ที่มีอยู่อันเป็นผลประโยชน์ส่วนตนโดยแท้


       
       นี่จึงเป็นปมขัดแย้งระหว่างทักษิณ ชินวัตรกับประเทศไทยโดยแท้จริงในปัจจุบัน หาใช่ระหว่าง ไพร่-อำมาตย์ อันเป็นวาทกรรมประดิษฐ์ หากแต่เป็นการไม่ยอมปฏิบัติและหลีกหนีในความผิดของตนเองที่มีต่อกติกาของสังคม เป็นการเอาตนเองไปอยู่เหนือกติกาส่วนรวม หากพบว่าตนเองทำผิดก็แก้ไขกฏหมายเสียใหม่
       


       การอาศัยเสียงข้างมากหรือใช้ขนาดหรือจำนวนของ “กำปั้น” ในการตัดสินทุกเรื่องราวในสังคมจึงไม่ต่างจากพฤติกรรมของฝูงสัตว์หรือหมู่โจรที่จ่าฝูงหรือหัวหน้าโจรที่แข็งแรงมีพวกมากที่สุดเท่านั้นที่จะได้กิน/ปี้ก่อนตัวอื่นๆ ไม่มีการใช้เหตุผลเยี่ยงคนแต่ประการใด ประชาธิปไตยของทักษิณจึงกลายเป็น “เครื่องมือ” ในการเข้าสู่อำนาจมากกว่าที่จะเป็น “จุดหมาย” ที่จะไปให้ถึง


       
       จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดที่ทักษิณใช้แนวนโยบายประชานิยมที่โอ้อวดสรรพคุณของนโยบายเกินจริงเพียงเพื่อหลอกลวงให้ผู้คนหลงเชื่อว่าตนเองจะพบกับการกินดีอยู่ดีมีความสะดวกสบายที่รัฐบาลประชานิยมหามาให้โดยไม่ต้องออกแรงดังเช่นที่เณรคำหรือนายวิรพลหลอกลวงสาวกของตนเอง


       
       จำนำข้าวในราคาที่เกินจริงก็ดี ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันก็ดี รถไฟ “ความเลวสูง” ก็ดี ล้วนเป็นการหลอกลวงสร้างฝันให้ชาวนา กรรมกรผู้ใช้แรงงาน หรือคนอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงแต่ไม่เคยเสียภาษีได้เสพเพื่อแลกกับคะแนนเลือกตั้งเพื่อให้ตัวแทนของเขาสามารถเข้าสู่อำนาจและมาแก้ไขกฎหมายล้างผิดให้กับตนเอง ในขณะที่ละเลยทอดทิ้งคนในภาคส่วนอื่นๆ เช่น ผู้ที่เสียภาษีทะนุบำรุงผู้อื่นในสังคมที่มีประมาณ 3 ล้านคนทั่วประเทศ หรือผู้ปลูกพืชเกษตรชนิดอื่นๆ เช่น ยาง มัน


       
       ความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าวจึงเป็นที่มาของการ “เน่า” ทั้งแผ่นดิน “สถาบัน” ที่เกี่ยวข้องกับข้าวทั้งระบบตั้งแต่ ชาวนาผู้ปลูก พ่อค้าคนกลาง โรงสี พ่อค้าส่งออก จนถึงผู้บริโภคต้อง “เน่า” ตามนโยบายที่ ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ จากการให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่เสียเอง ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนจนต้องโกหกไม่กล้าบอกความจริงว่าไม่มีผู้ซื้อจากต่างประเทศแต่อย่างใด ซื้อแพงแต่ขายได้ถูกสร้างผลขาดทุนมหาศาลจนไม่สามารถขายได้และต้องเก็บข้าวเน่าในสต๊อกจนส่งกลิ่นเหม็นโฉ่อยู่ในขณะนี้
       


       หากข้าวเป็นการเพาะปลูกพืชที่อยู่คู่ประเทศไทยมาช้านานแล้วตามคำของยิ่งลักษณ์ พี่คุณและตัวคุณก็กำลังทำลายข้าวทั้งระบบด้วยนโยบายจำนำข้าวตามแนวประชานิยมอย่างสิ้นคิดเช่นนี้ เหม็น. . .เน่า. . .ทั้งคนคิดคนทำไปทั้งแผ่นดินก็ว่าได้ เพราะคนทั้งในและนอกประเทศดูจะขาดความเชื่อมั่นในคำพูดคำโตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปเสียแล้ว


       
       หากคนชั้นกลางล่างยังไม่ตระหนักว่าตนเองและครอบครัวยังด้อยซึ่งโอกาสเนื่องจากมีขนาด “กำปั้น” เล็กกว่าคนชั้นอื่นในสังคม การปล่อยให้ทักษิณอาศัยการทำลาย “สถาบัน” โดยไม่เคารพกฎหมายเพื่อให้ตนเองพ้นผิดอันเป็นประโยชน์ของเขาเองโดยแท้ก็หมายความว่าสังคมที่พวกคุณอยู่ด้วยจะกลายเป็นฝูงสัตว์ไปในไม่ช้า กติกาหรือกฎหมายเท่านั้นที่จะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงจากการอาศัยอยู่ในสังคมของคนที่ด้อยโอกาสให้ทัดเทียมกับผู้อื่น


       
       
คนชั้นกลางล่างและไทยเฉยทั้งหลายจึงควรรู้ว่าหาก “สถาบัน” ถูกทำลายพวกคุณจะพึ่งพากฎหมายได้อย่างไรแถม “กำปั้น” ที่มีก็เล็กกว่า หากไม่ตระหนัก “นรก” ของคนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือนในไม่ช้าหากเขาทำสำเร็จ

 



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้