แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (75) (27/8/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (75) (27/8/2556)



แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (75)

(27/8/2556)





*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*


       
       หากเข้าใจวิธีคิดของตันตระเกี่ยวกับวิธีฝึกหยุด เพื่อชักนำพลังงานและจิตมิให้ส่งออกนอก แต่ให้ดึงพลังงานและจิตกลับคืนสู่ศูนย์กลางภายในได้แล้ว ตันตระแนะว่าให้ลองใช้วิธีนี้กับ “ความต้องการทางเพศ” ในขณะที่เกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมา แล้วผู้นั้นจะเห็นได้เองว่า วิธีนี้ทำให้เกิดความรู้สึกตัวดีกว่า วิธีกดข่มความต้องการทางเพศเป็นอย่างมาก เนื่องจาก พลังชีวิตของคนเรามีคุณสมบัติที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา เมื่อไม่ปล่อยออกสู่ข้างนอก ก็ต้องไหลกลับสู่ข้างใน ไม่มีทางหยุดนิ่ง ขณะที่การไปกดข่มจะไม่อาจกดข่มพลังงานได้ตลอด พลังงานจะต้องดิ้นรนหาทางออกไปสู่ข้างนอกจนได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือรูปการใดรูปการหนึ่ง


       
       เพราะฉะนั้น ตันตระจึงมุ่งที่จะใช้พลังงานที่เป็นพลังชีวิตของคนเรา เพื่อเข้าถึงศูนย์กลางภายในแทน เพราะตันตระรู้ดีว่า “ความคิดชั่ววูบ” หรือ “อารมณ์ชั่ววูบ” ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือความอยากประเภทใดก็ตาม เมื่อมีขึ้นปรากฏขึ้นก็แสดงว่า “พลังงาน” กำลังพุ่งพล่านที่จะออกไปสู่ข้างนอกอยู่ ซึ่งจะผลักดันจากข้างในให้ผู้นั้นทำอะไรออกมาสู่ภายนอกเป็น “การกระทำ” เพราะฉะนั้น เมื่อผู้นั้น “หยุด” โดยฉับพลัน พลังงานภายในตัวผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่นิ่งข้างในได้ ผู้นั้นหยุดแล้ว แต่พลังงานภายในยังไม่หยุด มันจึงต้องเข้าสู่ศูนย์กลางภายในแทน เพราะมันไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ นี่แหละคือเคล็ดที่สำคัญยิ่งในการฝึกสติ และความรู้สึกตัวของตันตระ โดยผ่านการชักนำพลังงานเข้าสู่ศูนย์กลางภายใน และทำการแปรเปลี่ยนคุณภาพของพลังงานของผู้นั้นอย่างเป็นไปเอง
       


       จะขอยกตัวอย่างให้เห็นความพิสดารของวิธีการนี้ของตันตระ อย่างเช่น ตอนที่เราเกิดความรู้สึกอยากจะจาม หากเราคิดที่จะไม่จาม เราจะรู้สึกว่าการพยายามที่จะไม่จามนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะเป็นการฝืนใจ ในที่สุดก็จะจามออกมาจนได้ เพราะฉะนั้น ตันตระจึงแนะว่า เมื่อเกิดความรู้สึกอยากจะจาม ให้เราหยุดการเคลื่อนไหวของร่างกายให้หมดชั่วขณะ หยุดแม้กระทั่งลมหายใจ จนความรู้สึกที่อยากจะจามบรรเทาลงแล้วจึงค่อยขยับตัว หากเราทำได้เช่นนี้แล้ว พลังงานของเราจะไม่แผ่ซ่านออกไปข้างนอก แต่จะถูกปล่อยเข้าสู่ศูนย์กลางภายในตัวเราแทน


       
       อีกตัวอย่างหนึ่ง หากเรากำลังโกรธอยู่ มีความรู้สึกที่อยากจะต่อยหน้าคน หรืออยากทำลายข้าวของ หรืออยากใช้ความรุนแรง ใจของเราในขณะนั้นกำลังเดือดพล่านเต็มไปด้วยพลังแห่งการทำลาย ทันใดนั้น ด้วยมหาสติและความรู้สึกตัวอย่างยิ่งของตันตระ เราตัดสินใจฉับพลันแสดงความรักกับคนใกล้ชิดจะเป็นใครก็ได้ โดยการสวมกอดเขา จุมพิตเขาด้วยความรัก อะไรจะเกิดขึ้นภายในตัวเรา? แรกๆ เราอาจรู้สึกแปลกๆ เหมือนเป็นการเล่นละคร เพราะเรากำลังโกรธอยู่ แต่เรากลับต้องแสดงความรักออกมา แต่แล้วเราก็จะตระหนักได้เองว่า ในห้วงยามนั้นแหละ ที่ตัวเราสามารถ “รัก” คนได้มากเหลือเกิน เพราะพลังงานที่กำลังเดือดพล่านอยู่ได้ถูกดึงให้ไปสู่ความรัก แทนที่จะถูกระบายออกมาเป็นความโกรธแค้น
       


       จงอย่าสับสน การ “หยุด” โดยนำไปปนกับการ “กลั้น” เพราะการหยุดของตันตระไม่ใช่การกลั้นพลังงาน แต่เป็นการเล่นกับพลังงาน โดยดูว่าพลังงานจะเคลื่อนที่เข้าสู่ศูนย์กลางภายในหรือไม่อย่างไรต่างหาก อนึ่ง วิธีหยุดความอยากของตันตระที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะต้องใช้กับความอยากจริงๆ ที่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ หรือแรงกระตุ้นเร้าภายในจริงๆ จึงจะสามารถชักนำพลังงานเข้าสู่ศูนย์กลางภายในได้ หากเป็นความอยากที่เกิดจากความรู้สึกตามความเคยชินแบบกลไก มันจะไม่ได้ผล เพราะฉะนั้น จงใช้วิธีหยุดนี้ก็ต่อเมื่อตัวเราเกิดความอยากขึ้นมาจริงๆ และจงหยุดทันที โดยไม่คิดอะไรทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องการหยุดคือให้หยุดเท่านั้น จากนั้นจงรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นโดยไม่ขยับตัว โดยไม่หายใจ โดยไม่คิดแม้แต่เรื่องศูนย์กลางภายใน จงปล่อยให้ความอยากหรือพลังงานเคลื่อนไหวเอง เพราะในขณะนั้น หากไป “คิด” เรื่องศูนย์กลางภายใน พลังงานก็จะพุ่งไปที่ “ความคิด” ทันที จงอย่าลืมว่า พลังงานภายในนี้ถูกใช้อย่างสูญเปล่าง่ายดายเหลือเกิน แค่เผลอไปคิดนิดเดียวก็เปลี่ยนทิศทางของพลังงานได้โดยง่ายแล้ว


       
       (26) “เมื่อเกิดความอยากใดๆ ขึ้นมา จงพิจารณาดูมัน หลังจากนั้น จากมันไปในทันทีทันใด”

       
       ขยายความ เมื่อเราเกิดความอยากหรือความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความอยากใดก็ตาม ตันตระจะแนะให้เราพิจารณาดูมัน คำว่า “พิจารณาดู” ของตันตระในที่นี้ หมายถึงการดูจิต ดุความอยากนั้นอย่างพิจารณาเฉยๆ โดยไม่ประเมินคุณค่าหรือตัดสินใดๆ นี่คือความหมายท่อนแรกของวิธีนี้ที่บอกว่า “เมื่อเกิดความอยากใดๆ ขึ้นมา จงพิจารณาดูมัน” ส่วนความหมายท่อนหลังที่กล่าวว่า “หลังจากนั้น จากมันไปในทันทีทันใด” ประเด็นสำคัญอยู่ที่คำว่า ทันทีทันใด คือจะต้องไม่พูด ไม่คิดว่า ความอยากที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เลว ควรเลิกเสีย ตันตระจึงแนะไม่ให้เราอดกลั้นปิดกั้นความอยาก หรือแม้แต่จะควบคุมความอยาก ตันตระเพียงบอกว่า ให้เรา “จากมันไปในทันทีทันใด” แล้วจะจากความอยากนั้นไปได้อย่างไร? ตันตระบอกว่า โดยการทำให้ตัวตนทั้งหมดของเราเป็นตัวความอยากนั้นเต็มตัวเสียก่อน แล้วจึงค่อยจากมันไปโดยไม่ต่อกร โดยไม่ต่อสู้กับความอยากนี้ เราเพียงบอกกับตัวเองว่า เราจะจากมันไปเท่านั้นเอง โดยการทำเช่นนี้ จิตเราจะแยกออกจากกายที่เปี่ยมไปด้วยความอยาก กลายเป็นจิตผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็นที่เฝ้าดูกายที่เต็มไปด้วยความอยากนี้อย่างสงบ ณ ที่ศูนย์กลางภายในโดยไม่ต่อสู้ขัดขืนดิ้นรน จะเห็นได้ว่า การจากความอยากไปในทันทีทันใดของวิธีนี้ของตันตระ คือการแยกจิตออกจากกาย ให้จิตเป็นแค่ผู้ดูเฉยๆ แล้วพลังงานทั้งหมดจะหันทิศเข้ามาสู่ภายในเองโดยธรรมชาติ


       
       (27) “เดินวนเวียนจนเหนื่อยล้าเป็นที่สุด และเมื่อนั้นแหละที่ล้มลงกับพื้น เธอจะเข้าสู่ภาวะรอบด้านในการล้มนั้น”

       
       ขยายความ วิธีนี้แนะให้ฝึกเดินเป็นวงกลมอยู่อย่างนั้น จนเหนื่อยล้าถึงที่สุด คือให้เดินเป็นวงกลมจนกว่าผู้นั้นจะเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าถึงที่สุด แม้ใจจะพยายามบอกเราว่า “ตอนนี้เหนื่อยล้ามากเหลือเกินแล้ว” ก็จงอย่าเลิกเดิน จงอย่าไปใส่ใจกับคำพูดของใจที่พยายามหว่านล้อมให้เราเลิกเดิน แต่จงเดินต่อไป อย่าหยุดจนกว่าจะเกิดความรู้สึกที่ว่านี้เอง จนกว่าจะเกิดความรู้สึกหมดแรงขนาดอีกก้าวเดียวก็ไม่อาจก้าวต่อไปได้อีกแล้ว ในชั่วขณะนั้นแหละที่เราจะรู้สึกว่า เราขยับร่างกายไม่ได้แล้วมันจะล้ม ร่างกายนี้หนักเหลือเกิน “เมื่อนั้นแหละที่ล้มลงกับพื้น” การล้มลงกับพื้นของผู้นั้น จะต้องเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างไม่จงใจ ตรงนี้แหละที่เป็นเคล็ดสำคัญที่สุดของวิธีนี้ เพราะเมื่อคนเราล้มลงกับพื้น ในขณะที่ถึงจุดสุดขีดแล้ว เราจะเข้าถึงภาวะรอบด้าน ร่างของเราเป็นหนึ่งเดียวในตอนที่ล้ม และเราจะรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของตัวเอง ซึ่งตันตระเรียกว่า “ภาวะรอบด้าน” อันเป็นสภาพที่เรารู้สึกถึงศูนย์กลางภายในของตัวเรา
       


       พลังงานในตัวเรานั้นมีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นที่หนึ่ง เป็นพลังงานที่ร่างกายใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งหมดไปง่าย เวลาหมดต้องนอนหลับพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูพลังกลับคืนมา ชั้นที่สอง เป็นพลังงานที่สำรองสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ลึกลงไป ชั้นที่สาม เป็นพลังงานของจักรวาลที่ไม่มีขีดจำกัด เมื่อคนเรานอนหลับลึก พลังงานชั้นที่หนึ่งจะถึงพลังงานของจักรวาลจากชั้นที่สามมาใช้ฟื้นฟูพลัง วิธีการนี้ของตันตระคือ วิธีที่มุ่งจะใช้พลังงานชั้นที่สองให้หมดไป เพื่อเข้าถึงพลังงานชั้นที่สามหรือต้นตอของพลังงานของจักรวาลที่ไร้ขีดจำกัดโดยตรงนั่นเอง เพราะช่วงขณะนั้นแหละ ที่ตัวเราจะตกลงสู่มหาสมุทรแห่งพลังงานของจักรวาล แล้วตัวเราจะกลายเป็นหนึ่งเดียว เป็นทั้งหมด ไม่มีรอยแตกแยกระหว่างตัวตนกับจักรวาลอีกต่อไป อนึ่ง วิธีการนี้เหมาะสำหรับการฝึกเป็นกลุ่มมากกว่าการฝึกคนเดียว เพราะการฝึกเป็นกลุ่มจะสามารถฝึกจนเลยจุดความเหนื่อยในระดับพลังงานชั้นที่หนึ่ง และไปเค้นพลังงานชั้นที่สองได้ง่ายกว่าการฝึกคนเดียว (ยังมีต่อ)
        




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้