แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (48) (19/2/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (48) (19/2/2556)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (48)

(19/2/2556)


 
*เคล็ดการฝึกปราณายามะ ในหทะโยคะ และกุณฑาลินีโยคะ*



ปราณายามะของโยคะ มิได้เป็นแค่เทคนิคการหายใจเหมือนอย่างที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดกัน แต่ความจริงแล้ว ปราณายามะคือ วิชาที่ว่าด้วยการควบคุมปราณ โดยผ่านการควบคุมการหายใจ และการปรับสมดุลระหว่างร่างกายกับจิตใจ เพื่อนำพาผู้ฝึกไปสู่การรู้แจ้งในจิตวิญญาณอย่างราบรื่น ต่างหาก ในการฝึกควบคุมปราณนั้น โยคะได้จำแนกรูปแบบของปราณออกเป็น 5 รูปแบบด้วยกัน โดยที่ปราณแต่ละรูปแบบจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามหน้าที่ในร่างกาย ซึ่งสัมพันธ์กับปราณนั้น ปราณทั้ง 5 นี้ได้แก่



(1) อุทานะวายุ เป็นชื่อเรียกปราณในบริเวณจากลำคอขึ้นไปถึงศีรษะทั้งหมด ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพูด การทำให้ตัวเบา การทำให้ลอยตัว ผู้ที่รู้วันตายของตัวเองล่วงหน้า และเมื่อช่วงเวลานั้นมาถึงจะกำหนดจิตที่ปราณบริเวณนี้ก่อนละสังขาร


(2) ปราณะวายุ เป็นชื่อเรียกปราณในบริเวณจากลำคอลงมาถึงบริเวณทรวงอก ทำหน้าที่ให้พลังการทำงานแก่ร่างกาย โดยผ่านการหายใจดูดซับปราณจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย


(3) สมานะวายุ เป็นชื่อเรียกปราณในบริเวณจากทรวงอกถึงบริเวณสะดือ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร ให้ความร้อนแก่ร่างกาย


(4) อปานะวายุ เป็นชื่อเรียกปราณในบริเวณจากสะดือลงมาถึงปลายเท้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำจัดของเสีย สิ่งสกปรกออกจากร่างกาย รวมทั้งการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนล่าง


(5) วยานะวายุ เป็นชื่อเรียกปราณที่กระจายอยู่ทั่วร่าง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของโลหิตและระบบประสาท รวมทั้งการทำให้ปราณแต่ละแบบกระจายพลังงานไปทั่วร่างกาย



หากนิยามของปราณายามะคือ วิชาที่ว่าด้วยการควบคุมปราณดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การฝึกหายใจของโยคะหรือปราณายามะก็คือ การฝึกควบคุม “วายุ” หรือการฝึกควบคุม “ลมปราณ” นั่นเอง โดยที่คำว่า “ปราณ” ในที่นี้ คือชื่อเรียกรวมของปราณทั้ง 5 รูปแบบข้างต้นนั่นเอง โดยที่เทคนิคการฝึกปราณแต่ละรูปแบบด้วยวิธีต่างๆ จะประกอบขึ้นมาเป็นระบบการฝึกปราณายามะที่มีความหลากหลายมาก



เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ฝึกคิดจะฝึกปราณายามะ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงอย่างเดียวเท่านั้น ผู้ฝึกอาจจะมุ่งเน้นเฉพาะการฝึกปราณ 2 รูปแบบคือ ปราณะวายุกับอปานะวายุ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ถ้าผู้ฝึกคิดจะฝึกปราณายามะเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนในทุกๆ มิติ ตั้งแต่การมีสุขภาพที่แข็งแรง การมีสมองที่เฉียบคม การชะลอวัย การมีอายุยืนยาว การเพิ่มพลังชีวิต การเพิ่มพลังจิต และการพัฒนาพลังทางจิตวิญญาณด้วย ผู้ฝึกก็ควรที่จะให้ความสนใจกับการฝึกควบคุมลมปราณ 5 รูปแบบทั้งหมดโดยไม่ตกหล่น โดยที่การฝึกลมปราณทั้ง 5 รูปแบบนี้ ถ้าไม่นับเทคนิคปลีกย่อยของการหายใจเข้า-ออก และการกลั้นลมหายใจ วิธีต่างๆ มักจะผนึกรวมอยู่ในการฝึกอาสนะท่าต่างๆ ที่หลากหลายนั่นเอง



ยกตัวอย่างเช่น ในการฝึกท่าอาสนะที่ต้องเงยหน้า แหงนคอ มันก็จะเป็นการฝึก อุทานะวายุ ไปพร้อมๆ กันด้วยโดยปริยาย หรือในการฝึกท่าอาสนะที่ต้องก้มลำตัวและใบหน้าลงมาแนบกับท่อนขา มันก็จะเป็นการฝึก สมานะวายุ ไปพร้อมๆ กันโดยปริยาย หรือการฝึกอาสนะท่ายืนด้วยไหล่ หรือท่าคันไถ มันก็จะเป็นการฝึก ปราณะวายุ ไปพร้อมๆ กันโดยปริยาย หรือในการฝึกท่าอาสนะที่ต้องบิดลำตัว มันก็จะเป็นการฝึก อปานะวายุ ไปพร้อมๆ กันโดยปริยาย หรือการฝึกท่าอาสนะหลายๆ ท่าติดต่อกันอย่างต่อเนื่องช้าๆ โดยไม่หยุดพัก (หรืออย่างการรำมวยไท้เก๊ก) มันก็จะเป็นการฝึก วยานะวายุ ไปพร้อมๆ กันโดยปริยาย เป็นต้น



อย่างไรก็ดี ก้าวแรกของการฝึกปราณายามะของโยคะสำหรับคนทั่วไปคือ การให้ความใส่ใจกับปราณ 2 รูปแบบ คือ ปราณะวายุกับอปานะวายุ หากสิ่งที่เข้าสู่ร่างกายเรียกว่า ปราณ และสิ่งที่ออกจากร่างกายเรียกว่า อปานะ คำว่า อปานะยังหมายถึงบริเวณท้องส่วนล่าง รวมถึงกิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นบริเวณนั้นด้วย อปานะก็คือ ส่วนของปราณซึ่งมีหน้าที่กำจัดของเสีย และให้พลังสำหรับกระบวนการกำจัดของเสีย อีกทั้งยังหมายถึง ท้องส่วนล่าง และของเสียซึ่งสะสมอยู่ที่นั่น



หากพลังปราณของผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะสมดุล มีความรู้สึกหนัก มีความเชื่องช้า ในมุมมองของโยคะ แสดงว่าผู้นั้นมีอปานะมากเกินไป อปานะในฐานะที่เป็นพลังปราณเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับเรา แต่อปานะซึ่งหลงเหลือจากการกระตุ้น พลังงานนี้จะขัดขวางการพัฒนาของปราณในร่างกาย อันที่จริงปราณทุกประเภททั้ง 5 มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่จะเกิดประสิทธิภาพได้ ปราณเหล่านี้จะต้องอยู่ในภาวะสมดุลซึ่งกันและกัน คนที่มีของเสียอยู่ในท้องส่วนล่างมาก คนนั้นจะใช้พลังงานที่อยู่ตรงนั้นมากเกินไป และความไม่สมดุลนี้จะต้องได้รับการแก้ไข ผู้ฝึกปราณายามะจึงต้องมุ่งลดอปานะให้อยู่ในระดับที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเป็นอย่างแรก



อปานะในฐานะที่เป็นของเสียจะเกิดการสะสมเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งปัจจัยที่เราควบคุมได้กับปัจจัยที่ตัวเราควบคุมไม่ได้ การฝึกปราณายามะมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดของเสียเหล่านี้ ขอให้สังเกตว่า คนที่ลมหายใจสั้น คนที่ไม่สามารถกลั้นหายใจได้ และคนที่ไม่สามารถหายใจออกอย่างช้าๆ ได้ แสดงว่า มีอปานะมากเกินไป ส่วนคนที่สามารถควบคุมลมหายใจได้ดี ถือว่ามีอปานะอยู่น้อย การมีอปานะมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นในร่างกายทุกส่วน เพราะร่างกายของผู้นั้นจะมีสารพิษหรือของเสียมากเกินไป การฝึกปราณายามะจะช่วยลดอปานะ และทำให้สามารถนำปราณเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น



เมื่อคนเราหายใจเข้า ปราณจากภายนอกร่างกายจะถูกนำเข้ามาภายในร่างกาย ในระหว่างการหายใจเข้า ปราณจะมาบรรจบกับอปานะ ในระหว่างการหายใจออก อปานะภายในร่างกายจะเคลื่อนไปหาปราณ จากมุมมองนี้ ปราณายามะก็คือ การเคลื่อนไหวของปราณไปยังอปานะ และการเคลื่อนไหวของอปานะไปยังปราณนั่นเอง ในทำนองเดียวกัน การกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้า เป็นการเคลื่อนปราณไปยังอปานะและค้างอยู่ตรงนั้น ส่วนการกลั้นหายใจหลังหายใจออกเป็นการเคลื่อนอปานะไปยังปราณ



มีอะไรเกิดขึ้นภายในการเคลื่อนไหวของปราณและอปานะ เมื่อฝึกปราณายามะ? ตามหลักของโยคะ คนเราทุกคนมี “อัคนี” หรือไฟอยู่ในร่างกายตั้งอยู่ที่บริเวณสะดือ ระหว่างปราณะวายุกับอปานะวายุ ตัวเปลวไฟเองจะเปลี่ยนทิศทางของมันตามการหายใจเข้า-ออก และตามตำแหน่งของร่างกาย ในระหว่างการหายใจเข้า ลมหายใจจะเคลื่อนไปยังท้อง ทำให้ไฟมีทิศทางลงข้างล่าง ในระหว่างการหายใจออก ลมหายใจจะพัดเปลวไฟไปในทิศตรงกันข้าม โดยนำของเสียที่เพิ่งถูกเผาไหม้ไปกับมันด้วย การเผาผลาญของเสียอย่างเดียวนั้นไม่พอ เราจะต้องกำจัดมันออกจากร่างกาย ด้วยเหตุนี้เอง ในการฝึกปราณายามะของโยคะจึงมักกำหนดให้ฝึกการหายใจออกยาวเป็น 2 เท่าของการหายใจเข้า เพราะมีจุดประสงค์เพื่อให้เวลาในการหายใจออกยาวขึ้นสำหรับกำจัดสิ่งอุดตันภายในร่างกายออกไป



นอกจากนี้ ตำแหน่งของร่างกายบางตำแหน่ง โดยเฉพาะท่ากลับหัวทุกท่า จะมีประโยชน์สำหรับการบรรจบกันของไฟกับของเสีย เพราะในท่ากลับหัวทุกท่า อัคนีจะมีทิศทางเข้าหาอปานะ นี่เป็นเหตุผลที่โยคะถือว่า ท่ากลับหัวมีความสำคัญยิ่งในการชำระล้างสิ่งสกปรกของเสียออกจากร่างกาย และการชำระล้างจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อผู้ฝึกประสานการฝึกอาสนะท่ากลับหัวเข้ากับการฝึกปราณายามะ (ยังมีต่อ)





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้