สมาธิลม 7 ฐานของหลวงปู่พุทธะอิสระ

สมาธิลม 7 ฐานของหลวงปู่พุทธะอิสระ


หลวงปู่ : สมาธิลม 7 ฐานของหลวงปู่พุทธะอิสระ

 



ถ่ายทอดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2541…….

สิ่งที่หลวงปู่รู้นี้ ไม่ได้จำขี้ปากชาวบ้านมา ไม่ได้ลอกเลียนแบบจากตำราเล่มไหนไม่ได้ไปศึกษาจากสำนักใด แต่มันเป็นความรู้ด้วยการถ่ายทอดวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ จิตถึงจิต ธรรมถึงธรรม กายต่อกาย เพราะฉะนั้นคนที่จะเรียนรู้มันจนครบถ้วนกระบวนความจนถึงความหมายของคำว่า 3 ศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น ต้องทำให้ครูแน่ใจเสียก่อนว่า ศิษย์ผู้นี้ดูแล้วมีดี แต่ถ้าดูแล้วอัปรีย์ถ่ายทอดไปก็ไม่มีประโยชน์ แถมยังให้โทษอีกต่างหาก


วิชาลม 7 ฐานเป็นวิชาที่สามารถครอบงำจักรวาลก็ยังได้ สามารถยืดอายุขัยให้ยาวนานก็ยังได้ สามารถจะทำให้คนโง่ที่สุดกลายเป็นคนฉลาดเยี่ยมยุทธ์ที่สุดในโลกก็ได้ สามารถทำให้มนุษย์เป็น "ยอดมนุษย์" ก็ได้ สามารถทำให้เราซึมสิงซึมซับกลิ่นไอบรรยากาศพลังรอบ ๆ ตัวเราเข้ามาสู่ตัวเราก็ได้ เพราะฉะนั้นการจะเรียนรู้วิชาลม 7 ฐานก็ต้องเริ่มต้นจากการจัดโครงสร้างของกายเสียก่อน


เอาความรู้สึกลึก ๆ สำรวจกาย หลับตาก็ได้ ลืมตาก็ได้ กระดูกทุกข้อต้องตั้งตรงเป็นแนวดิ่งกับพื้น อิริยาบถที่นั่งต้องนั่งด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ใช่เกร็งถมึงถึงจนกลายเป็นความตึงเครียด ส่งความรู้สึกสำรวจโครงสร้างของร่างกายตั้งแต่หัวจรดปลายตีน ลูกคลำไขกระดูกและเนื้อกระดูกของตน หลับตาระลึกดูโครงสร้าง กระดูกหัว กระดูกหน้า แก้ม ปาก ต้นคอ ไหล่ ไขสันหลัง กระดูกสันหลัง ท่อนแขน


เมื่อสำรวจตรวจสอบกระดูกทุกข้อของเราด้วยการส่งความรู้สึกลึก ๆ ลงไปภายในกายได้ดังนี้ ก็จงพยายามให้เกิดความชัดเจนกระจ่างชัดภายในโครงสร้างกระดูก ตรวจสอบไปมา ก็คือ ตรวจขึ้น แล้วก็ตรวจลง ตอนนี้ต้องไม่ปรากฏอารมณ์ใด ๆ นอกจากการตรวจสอบโครงสร้างและกระดูกภายในตนเท่านั้น ไร้ความคิดสิ้นความรู้สึก นึกแต่เพียงโครงกระดูกภายในกายตน


ความหมายของประโยคที่ว่า "ไร้ความคิด สิ้นความรู้สึก" เป็นเรื่องราวของการจัดระบบและระเบียบแห่งโครงสร้างของตน มันจะเป็นวิธีหนึ่งใน 3 ศักดิ์สิทธิ์ คือ การทำกายให้ศักดิ์สิทธิ์ขั้นพื้นฐาน…… พยายามทำให้เกิดความกระจ่างชัด ระลึกรู้ถึงโครงสร้างกระดูกภายในกายให้ได้ทุกข้อ ถ้ารู้สึกว่าหัวนึกถึงยาก ก็ให้นึกถึงมือก่อนก็ได้ กระดูกมือ กระดูกแขน กระดูกซี่โครง หรือกระดูกสันหลัง


คนที่มีจิตวิญญาณ กายกับใจผนึกแนบแน่นรวมกันเป็นหนึ่งแล้ว เสียงและความรู้สึกใด ๆ จะไม่ปรากฏขึ้น
เมื่อทำได้อย่างนี้ โบราณเขาเรียกว่า "ตบะ" แปลว่า พลังอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องนึกถึงธรรมะ พุทโธ ธัมโม สังโฆใด ๆ นึกแต่ "กายในกาย" สำรวจเพียงแค่โครงสร้างและกระดูกของตนเท่านั้นพอ อย่างที่หลวงปู่เคยเขียนบทโศลกบอกไว้ว่า


"ลูกรัก ถ้าเจ้าต้องการสมาธิ พบพระพุทธเจ้าต้องฆ่าทิ้ง"
เห็นพระธรรมต้องเผาทิ้ง เจอพระสงฆ์ต้องหนีให้ไกล"

เพราะเมื่อใดที่เราไปใส่ใจยุ่งกับสิ่งที่ปรากฏในขณะที่เราต้องการสันติสุขและความสงบ นั่นมันกำลังจะดึงเราออกไปนอกกาย
สมาธิจิตและพลังทั้งหลายจะสูญเสียไปกับการได้นึกถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงพระธรรม น้อมนำถึงพระสงฆ์อย่างนั้นมันก็ไม่ใช่เป็นตัวเรา ไม่ใช่เป็นของของเรา ไม่ใช่เป็นกายเรา ไม่ใช่อารมณ์เรา ไม่ใช่จิตวิญญาณเรา ไม่ใช่ความรู้สึกเรา มันกลายเป็นของใครไปหมดแล้ว ความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณก็จะโลดแล่นหลุดออกไปนอกกายในทันที เพราะฉะนั้นเวลานี้ต้องไม่มีอะไรทั้งหมด นอกจากโครงสร้างภายในกายและตัวเอง


อารมณ์ที่มันจะได้ มันจะเป็นความเงียบ ๆ ถ้าสำรวจตรวจถึงโครงสร้างของตนพบ มันจะเป็นความสว่าง……ความปล่อยวางของอารมณ์ ความตึงเครียดจะหมดไป อิริยาบถจิตวิญญาณจะผ่อนคลาย ไม่ต้องภาวนาอะไร ไม่ต้องทำความรู้สึกจากอะไรมากไปกว่าการรู้เพียงแค่โครงกระดูกของตนภายในกายมีกี่ข้อ…. หากพวกเธอหัดแล้วเริ่มรู้สึกว่าใจนิ่งขึ้น ก็แสดงว่า พวกเธอเริ่มรู้จักวิธีทำให้กายศักดิ์สิทธิ์แล้ว จากนั้นก็จงหัดทำบ่อย ๆ ทำให้เป็นนิจศีล แล้วเราก็จะรู้ว่า กายของเรามีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง


จงทำให้กายกับจิตวิญญาณและใจรวมกันเป็นหนึ่งเหมือนกับบุรุษผู้แข็งแรงแบกสายยางน้ำซึ่งไม่รั่ว ไม่หล่นไปไหน เอาไปฉีดทำลายภูเขาและหินผา
ปล่อยให้น้ำมันพุ่งออกมาอย่างรุนแรง โดยไม่มีรอยรั่วจากสายยาง นั่นถือว่าเรามีพลัง อันเต็มเปี่ยม แต่ถ้าเมื่อใดที่เราปล่อยให้น้ำมันรั่วไหลออกไปจากตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ตามพระบาทพระศาสดา นึกถึงพระธรรมในตำราใคร่ครวญหาพระสงฆ์ แสดงว่าเราสูญสิ้นพลังไปกับการรั่วไหลนึกคิดเหล่านั้นแล้ว แล้วเราจะใช้พลังอะไรสำหรับการกำกับกาย ? คนโง่เขามักจะสอนกันอย่างนี้ไปชั่วชีวิตแหละ แล้วก็โง่กันอยู่อย่างปัจจุบันนี้ หลาย ๆ สำนักก็ทำกันอย่างนี้


วิถีทางของพระพุทธะนั้น ขอให้ลองนึกถึงธรรมชาติสิ น้ำอยู่ในตุ่มเต็ม ๆ แล้วอยู่ดี ๆ ปล่อยให้รั่วไหลออกไปตามรูเล็ก ๆ มันจะเหลือให้เราได้ใช้สักกี่วันกัน พลังคือสมาธิ และสมาธิก็คือพลัง คนมีสมาธิคือคนมีพลัง แล้วถ้าพลังมันไหลรั่วไปจากตาเห็น ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ภาวนา หรืออะไรก็ตามที แล้วจะบอกว่ามีพลังได้อย่างไร เพราะฉะนั้น คำว่าสมาธิก็คือ สภาวะแห่งพลังที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนซึ่งมันจะมีประโยชน์ต่อเราได้ก็ต่อเมื่อมันอยู่กับเรา มันไม่ได้อยู่กับพระพุทธ ไม่ใช่อาศัยพระธรรม ไม่ใช่ฝักใฝ่อยู่กับพระสงฆ


การที่หลวงปู่พูดเช่นนี้ ฟังดูผิวเผินเหมือนหลวงปู่เป็นกบฏ ไม่เคารพพระศาสดา แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะอารมณ์สมาธิ ก็คือสภาวะความคิดไม่แตกแยก ความรู้สึกไม่แตกแยก ความเข้าใจไม่แตกแยก มันต้องรวมกับกายนี้ นั่นคือสมาธิ แต่ถ้ามันแตกแยกออกไป มันเป็นกะทิ มันไม่ใช่สมาธิ มันใช้อะไรไม่ได้เพราะสมาธิคือ กายกับใจรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เหมือนกับองค์กรแห่งพลังงานที่โดนกักเก็บเอาไว้ในหม้อแบตเตอรี่ ถ้าหม้อมันไม่รั่ว น้ำกลั่นมันไม่แห้ง มันใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ


เพราะฉะนั้น ความหมายของการทำให้กายศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ใช่เพียงแค่จัดระเบียบของกายเฉย ๆ เท่านั้น หรือทำงานให้เกิดสาระอย่างเดียว แต่มันรวมถึงการรวบรวมพลังทั้งนอกและในให้เป็นหนึ่งเดียวกับกาย
คนสมัยโบราณเวลาเขาทำสมาธิ เขาจึงสามารถทนต่อทุกสภาวะได้ เขาจึงสามารถใช้พลังที่มีในการกำราบป้องกันภัยที่เกิดขึ้นรอบข้างได้….. ขอเพียงแค่เรารวบรวมกายกับใจสำรวจพิสูจน์กระดูกทุกข้อภายในกายให้ครบ เมื่อกายศักดิ์สิทธิ์ ธรรมะศักดิ์สิทธิ์จะอุบัติขึ้น จิตศักดิ์สิทธิ์ก็จะเป็นไปเอง แล้วทีนี้ลมทั้ง 7 ฐานก็จะปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า เราจะรู้จักเคล็ดวิธีของการเดินลมในฐานทั้ง 7 เทียบเท่ากลุ่มเจ็ดดาวเหนือบนท้องฟ้าในทิศเหนือ




------------------------------------------

 

"หลวงปู่ครับ ขอความกรุณาช่วยขยายความ การสำรวจโครงสร้างกระดูกของร่างกายให้ละเอียดขึ้นกว่าเดิมด้วยเถอะครับ"


ขอให้เธอมองเป็นภาพรวม ๆ ก่อนลูก มองในภาพเหมือนกับพวกเธอที่นั่งอยู่ตรงนี้แล้วเห็นหลวงปู่เต็มตา
พวกเธอจะสามารถจับภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องไปเจาะลึกเอาแว่นขยายไปส่อง ไม่ต้องถึงขนาดนั้น แค่พื้น ๆ มองเป็นภาพรวม ๆ ของโครงสร้างก็พอ โดยเอา "ตาใน" ฉายส่องดู เหมือนสปอตไลท์ที่ไล่เก็บรายละเอียดแบบไม่ค่อยละเอียดนัก แบบหยาบ ๆ ว่า นี่คือกะโหลกศรีษะนะ มันมีรูปร่างแบบนี้นะ


ถ้าเธอยังนึกแบบนั้นไม่ได้
หลวงปู่จะสอนพระว่า ถ้านึกไม่ออก บอกไม่ได้ เพราะ "ตาใน" ยังไม่สว่างพอ นึกไม่รู้ ดูไม่เห็น ก็ให้ใช้วิธีหลับตาแล้วเอามือคลำกะโหลกศรีษะของตัวเอง แล้วใช้ความรู้สึกจับตามก็ได้ เสร็จแล้วก็เปลี่ยนจากกะโหลกศรีษะลงมาที่ต้นคอ จากต้นคอลงมาที่หัวไหล่ ไล่ลงมาเรื่อย ๆ …. ในขณะที่เรากำลังสำรวจโครงสร้างอยู่นี้ สมองของเราจะค่อย ๆ โล่ง ความคิดจะไม่ปรากฏอารมณ์มันจะไม่ปรุง เมื่อความคิดไม่ปรากฏ อารมณ์ไม่ปรุง แสดงว่า กายกับใจเรารวมกัน สมาธิมันจะเกิดตรงนั้น


บางครั้งอาการจับจ้องมองภาพภายในมันอาจจะเลือนไป อาจจะเผลอวูบไปคิดถึงเรื่องอื่น ๆ เมื่อเรารู้ตัวเราต้องหยุดหายใจทันที คือไม่หายใจเข้าและไม่หายใจออก จนกว่าร่างกายมันจะทนไม่ได้แล้วจึงเริ่มหายใจใหม่ เพราะอะไร ? เพราะธรรมชาติของกายกับใจมันมีสื่อสัมพันธ์อันแนบแน่นต่อกัน ใจจะกลับมาเพื่อดูแลระวังรักษากาย ถึงเวลานั้นเมื่อเราเลิกหายใจสิ่งที่มันหลุดออกไปก็จะกลับเข้ามามันจะมาเตือนให้เราหายใจ มิฉะนั้นเราจะตาย เราก็จะเริ่มหายใจยาว ๆ สูดเข้ายาว ๆ แบบสุภาพนิ่มนวลและอ่อนโยน เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกอย่างผ่อนคลาย ปล่อยวาง และหมดจด ทำอย่างนี้สัก 5 ครั้ง 10 ครั้ง พอให้ร่างกายรู้ว่าอย่าออกไปอีกนะ แล้วก็เริ่มจัดโครงสร้างใหม่ต่อ หรือเริ่มต้นใหม่ในการสำรวจโครงสร้าง โดยเธอต้องทำให้เป็นธรรมชาติที่สุด


การสำรวจร่างกายในวิชาลม 7 ฐานนั้น การนั่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก แต่ถ้าเราค่อยเป็นค่อยไป ทำไปทีละขั้นก็จะก้าวหน้าไปได้เอง วันนี้อาจจะสำรวจได้แค่กะโหลกศรีษะ พรุ่งนี้อาจจะได้หัวไหล่ ต้นคอ มะรืนนี้อาจจะได้หน้าอก สัปดาห์หน้าอาจจะได้ช่องท้องหรือกระดูกสันหลัง ค่อย ๆ เป็นไปอย่างนี้ ค่อย ๆ ที่จะรู้จักหน้าตาแท้ ๆ ของตัวเอง อย่างพินิจพิจารณา ไม่ใช่รู้จักแบบผิวเผิน


วิธีนั่ง หลวงปู่ชอบที่จะนั่งแบบผ่อนคลาย คือ นั่งในลักษณะสามเหลี่ยมมุมแหลม เราต้องเข้าใจหลักสรีระร่างกายของเราก่อนว่า ทวารที่ผ่อนคลายได้ดี คือทวารที่มันมีรูให้ออก เพราะมันปฏิเสธไม่ได้ว่า รักแร้ของเรามันสามารถผ่อนคลายความร้อน ความถมึงทึงและไออุ่นออกมาได้เหมือนกัน


เมื่อนั่งแล้วก็ลองโยกตัวไปข้างหลังหน่อยนึง จัดโครงสร้างย้ายไปข้างขวาหน่อยนึง ข้างซ้ายหน่อยนึง เพื่อสำรวจดูว่า กระดูกข้อใดมันบกพร่องในร่างกายแล้วเราจะรู้ว่า เราจะเป็นโรคอะไรด้วย สำรวจดูทั้งหน้าหลังซ้ายขวา เมื่อเห็นว่าทุกอย่างในกายเราไม่มีอะไรบกพร่อง คือวอร์มได้ที่แล้วก็เริ่มนั่ง ทำตัวให้ตรง ตามองลงต่ำ ทอดตาลงต่ำ แต่ไม่ใช่ก้ม คือ คอต้องไม่เสียศูนย์ อย่าเชิดคาง ตาทอดลงต่ำขนาด 90 องศา แล้วค่อย ๆ หรี่เปลือกตาลงอย่างอ่อนโยนและนิ่มนวล ไม่ใช่รีบหลับแล้วเกร็งลูกตาปี๋ จงหรี่เปลือกตาลงอย่างอ่อนโยนนิ่มนวลสุภาพ จากนั้นก็เริ่มส่งความรู้สึกสำรวจตั้งแต่โครงกระดูกของศรีษะลงมา


ถ้ากายกับใจเรารวมกันจริง ๆ เราจะรู้สึกว่าความร้อน ความง่วง ความเพลีย ความเบื่อ ความเซ็ง ความเครียด ความอึดอัดขัดเคืองมันจะพากันวิ่งออกไปจากตัวเรา มันจะคล้าย ๆ กับผู้ใหญ่ที่เข้ามาในบ้าน เด็กซน ๆ ที่กำลังเล่นอยู่ก็จะหยุดพฤติกรรมโจรขโมยที่อยู่ในบ้านก็จะวิ่งหนีออกไปจากบ้านทันที รวมความแล้วถ้ากายรวมใจจริง ๆ มลภาวะในตัวเราจะหายไปหมด มันจะออกไปทางอะไรที่เรารู้สึกได้ ออกจากตา จากหู จากจมูก จากผิวหนัง ความอุ่น ความร้อน มันจะมีความรู้สึกทันทีว่าความร้อนในกายมันจะพุ่งออกตามผิวหนัง มลภาวะของเสียทั้งหลายมันจะออกตามผิวหนัง ตามทวารทั้งหลาย แม้กระทั่งที่เส้นผมและที่หัว แต่อันนี้เป็นความรู้สึกที่ละเอียดขึ้น ผู้หัดใหม่ยังไม่ต้องสนใจ ให้สนใจแค่โครงสร้างของกายเท่านั้น

อย่าลืมนะลูก ถ้ารู้สึกว่าตัวเรากับใจมันจะแยกกันแล้ว มันเกิดความคิดขึ้นมาแล้ว ก็จงหยุดลมหายใจเสีย ถ้าไม่คิดเตือนตัวเอง ชาตินี้ก็ไม่มีใครเตือนเราได้หรอกลูก ถ้าไม่สนใจจะรู้จักหน้าตาแท้ ๆ ของตัวเอง แล้วเมื่อไหร่จะได้รู้จัก ถ้าไม่รู้จักวันนี้ รอถึงพรุ่งนี้ก็ไม่มีสิทธิ์แล้วละ เหตุผลก็เพราะ เราไม่รู้ว่ามัจจุราชจะเข้ามาถามหาและดึงเราไปเมื่อไหร่



------------------------------------



ครั้งใดที่เรารู้สึกท้อแท้ ท้อถอย หมดเรี่ยวแรง ขัดเคือง กลัดกลุ้ม ฟุ้งซ่าน และอึดอัดรำคาญ จงกลับเช้ามาสู่บ้านของตนเสีย แล้วก็ปิดประตูหน้าต่าง อย่าปล่อยให้มารและศัตรูหรือลมพายุร้ายพัดสาดเข้ามาสู่นครกายแห่งนี้ สมัยก่อนหลวงปู่เคยเขียนสูตรไว้สูตรหนึ่งเรียกว่า "นครกาย" ในนั้นหลวงปู่บอกว่า


"ใจคือเจ้าเมือง หัวและสมอง ความรู้สึกนึกคิด คือมหาอำมาตย์
อวัยวะทั้ง 32 อย่างก็คือ ทหารดี ทหารเลว และทหารยาม"
เพราะฉะนั้นถ้าเจ้าเมืองดี มันก็จะสามารถรักษาเมืองนี้ให้อยู่รอดปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูที่จะมาจ้องมาปล้นทำร้ายมาโจมตีได้ แต่ถ้าเจ้าเมืองอัปรีย์ กายนี้ก็จะเป็นทาสตลอดกาล


ทุกครั้งที่เรารู้สึกท้อแท้และท้อถอย จงเฝ้ามองดูตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง สนับสนุนส่งเสริมสถานภาพที่ตกต่ำภายในตัวเองให้ตั้งมั่นขึ้นในกาย ชั่วชีวิตของหลวงปู่ไม่เคยมีความหวัง ไม่เคยมีใครให้กำลังใจ และไม่เคยคิดจะขอกำลังใจและความหวังจากใคร ทุกอย่างมันถูกสร้างและดลบันดาลให้มันเกิดขึ้นในตัวเองตลอด เพราะฉะนั้น ข้าจึงอยู่ได้ในทุกที่ ทุกถิ่น ทุกหนทางอย่างไม่หวาดหวั่น ไม่สะดุ้งผวา ไม่วิตกกังวล ไม่เกรงกลัว และมีชีวิตอยู่อย่างเสรีภาพ เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระ แถมมีความสุขอีกต่างหาก


หลวงปู่จึงเชื่อว่า วิถีชีวิตที่หลวงปู่ทำอยู่นี้ไม่ได้ผิดจุดประสงค์ของพระพุทธองค์ใดในโลกในจักรวาล วิถีชีวิตที่กูกำลังถ่ายทอดให้พวกมึงอยู่นี้ มันเป็นวิถีชีวิตของผู้กล้าในโลก เป็นวิถีชีวิตของนักรบผู้แกร่ง กล้า องอาจและอาจหาญ เป็นผู้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทุกเหตุ และเป็นผู้คงดำรงไว้ซึ่งความเป็นตัวของตัวเอง มีอิสระอย่างสมบูรณ์แบบ ภาษาธิเบตเขาเรียกชีวิตอย่างนี้ว่า "ซัมบาลา" หรือ "นักรบผู้กล้า"


เราไม่ใช่กล้าที่ไปรบท้าตีท้าต่อยกับใคร แต่เรากล้าที่จะรบและสามารถที่จะชนะในจิตวิญญาณของตัวเอง


ถึงแม้หลวงปู่จะพูดไม่ไพเราะ กิริยาหยาบกระด้าง แสดงตนเหมือนกับเป็นคนที่ไร้การศึกษา ไม่มีมารยาท แต่ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น มันมาจากเหตุปัจจัยของเจตนา เพราะเคยมีคำพูดของคนที่รู้จักหลวงปู่จริง ๆ อยู่แค่สี่คนว่า ถ้าหลวงปู่เป็นตัวของตัวเองและทำอย่างที่ตัวเองเป็น นั้นหมายถึงว่า แสดงสิ่งที่ตัวเองเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ แล้ว เทวดาอาจตกสวรรค์เพราะมันมาหลงเสน่ห์กู เพราะด้วยความรู้ความสามารถ ด้วยประสบการณ์ที่สะสมมาเนิ่นนาน และด้วยวิธีที่แสดงออกอย่างชาญฉลาด สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือทำให้เกิดเสน่ห์ ทุกคนมีสิทธิ์เป็นไม่ใช่เฉพาะหลวงปู่เท่านั้น เสน่ห์ไม่ได้มาจากการลงนะหน้าทอง ไม่ได้มาจากการแขวนพระสมเด็จ แต่มันได้มาจากความรู้ ความสามารถ และการกระทำของตัวเราเอง แต่เพราะหลวงปู่ไม่ได้ปรารถนาจะสร้างเสน่ห์ให้แก่ตัวเอง ก็เลยพยายามจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม พยายามจะผลักดันให้ทุกคนได้สิ่งดี ๆ ไปซึ่งสามารถจะนำไปใช้ ไม่ใช่มาหลงใหลในเสน่ห์


หากต้องการจะทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ ก็จงใช้ชีวิตดั่ง "น้ำ" จงทำตัวให้เป็นน้ำ ใส่ตุ่มก็เป็นรูปตุ่ม ใส่ขวดก็เป็นรูปขวด ใส่แก้วก็เป็นรูปแก้ว คนอื่นดูเราว่าอ่อนโยน อ่อนไหว แต่เราหาใช่อ่อนแอ คนอื่นดูเราว่าไม่เข้มแข็ง แต่เรามากมีไปด้วยพลังมหาศาล ภูเขา แผ่นดิน สามารถละลายได้ด้วยน้ำของเรา ด้วยตัวเรา ไม่มีอะไรที่น้ำอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณสมบัติของน้ำที่วิเศษสูงสุดคือ "ความเย็น"


ถ้าเราทำตัวให้ได้ดั่งน้ำ ในที่ที่ร้อนรุ่ม เราจะสงบและเยือกเย็น ในที่ที่สับสนและวุ่นวายไร้พลังและเสถียรภาพ เราจะมากมีไปด้วยพลังอำนาจและมั่นคงในเสถียรภาพของตน ความหมายของคุณสมบัติแห่งน้ำ ถ้าน้อมนำมาใช้ในชีวิตของตนแค่นี้ก็เป็นสุขแล้ว ไม่ต้องเรียนรู้อย่างอื่นมากไปกว่านี้หรอก


เพราะฉะนั้น การมีชีวิตอยู่อย่างเสรีภาพและอิสระถือว่าเป็นสูตรสำเร็จของการได้มีลมหายใจ มีชีวิต ได้พลัง ใช้พลัง สร้างสรรค์สาระ หมดลมหายใจ ไร้ชีวิต สิ้นพลัง ขาดสาระ เราจะมีลมหายใจเป็นเจ้าของชีวิต ใช้พลังสร้างสรรค์สาระได้นั้นก็ต่อเมื่อเราต้องมีสิทธิ์อันสมบูรณ์แบบในลมหายใจ ในชีวิต ในพลัง ไม่ใช่มีบ้าง.. ไม่มีบ้าง……เผื่อว่า……อาจจะ….ใช่มั้ง….อยากจะมี……เหล่านี้ยังคุยกันคนละเรื่อง คนละภาษา ยังไม่เหมาะที่จะต้องมาร้องเรียก ร้องเรียนในเรื่องใด ๆ


คนที่บอกว่าร้องเรียน แสดงออกเพราะต้องการรักษาสิทธิ์ ก็ต้องขอถามกลับไปว่าสิทธิ์ของใคร ? สิทธิ์ของตัวเราเองหรือของผีห่าซาตานที่มาสิงสถิตอยู่ในจิตวิญญาณของเรา ถ้าเป็นสิทธิ์ของตัวเราเองล้วน ๆ นั้นมันต้องเป็นตัวเองที่ผ่านการกำจัดขยะเก่า ไม่มีขยะใหม่ ของดีที่มีอยู่แล้วทำให้ผ่องใสก็มีสิทธิ์ที่จะร้องเรียกร้องเรียนอะไรได้ เหมือนกับถังขยะที่มันเปล่า มันว่างพร้อมที่จะบรรจุขยะหรืออะไรก็ได้ ที่ใครจะใส่มันลงไป แต่ถ้ามันเต็ม แถมยังสกปรก มีฝาปิดต่างหาก หากยังหน้าด้านไปร้องเรียนเรียกร้องสิทธิ์ มันจะดูทุเรศไป มันจะไม่สมบูรณ์ แล้วมันจะกลายเป็นการประณามตัวเองในต่อหน้าและลับหลังสังคม


ดังนั้นศิลปะในการใช้ชีวิตและรู้จักชีวิต ซึมสิงเข้าใจความหมายของชีวิตอย่างนี้ มันเป็นศิลปะสูงสุดของพระศาสดา พระพุทธะ และพระเป็นเจ้า เราไม่ต้องไปถามว่าใครคือพระศาสดา ใครคือพระพุทธะ หรือใครคือพระเป็นเจ้า แต่เราต้องถามตัวเราว่าเราคือใคร และรู้จักตัวเราที่แท้จริงให้ได้ เท่านั้นก็พอแล้ว


ลำนำบูชาวิชาลม 7 ฐาน
โอม มณี ปัทเม ฮุม
โลกุตตะโร จะ มหาเถโร อะหังวันทามิ ตังสะทา
โลกุตตะโร จะ มหาเถโร อะหังวันทามิ ตังสะทา
โลกุตตะโร จะ มหาเถโร อะหังวันทามิ ตังสะทา


วิชาลม 7 ฐาน คือ การเข้าถึงธรรมอันหมายถึง ธรรมชาติแท้ของจิตวิญญาณ
วิชาลม 7 ฐาน คือ วิถีทางของการปลุกครูผู้อารีที่หลับใหลอยู่ในห้วงลึกของจิตวิญญาณให้ตื่นขึ้นมาอบรม สั่งสอน กระตุ้นเตือนผู้นั้น จนกระทั่งผู้นั้นกลายเป็นครูที่แท้จริงของตัวเองและผู้อื่นได้

วิชาลม 7 ฐาน คือ วิชาศักดิ์สิทธิ์ของคุรุผู้ศักดิ์สิทธิ์

เคล็ดวิชาลม 7 ฐาน แฝงเร้นอยู่ในข้ออรรถธรรมทั้งหลายของบรมครูหลวงปู่เทพอุดรอิสระธรรมมุนี ผู้เป็นพระมหาโพธิสัตว์เจ้า มันเป็นปริศนาในกลบทธรรม ผู้ที่จะสามารถหยั่งรู้ ถึงมันได้ ผู้นั้นจะต้องใช้ปัญญาอันนิ่งของตัวเองเท่านั้น ไม่อาจพึ่งพึงอาศัยถ้อยคำของใครที่ไหนได้


มานะ ความถือดี ความถือตัวถือตน ความเย่อหยิ่ง คือตัวกางกั้นขัดขวางปัญญาที่จะหยั่งรู้วิชาลม 7 ฐาน อันเป็นกุญแจวิเศษที่สามารถหยั่งรู้ในสรรพวิทยาทั้งปวงได้วิชาลม 7 ฐานจะตกทอดแก่ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พึ่งตนเองได้และทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้เท่านั้น


ลำตัวตั้งตรง สายตาทอดต่ำ นั่งด้วยความผ่อนคลาย เดินลมหายใจเข้าเบา ๆ ลึก หายในออกนิ่มนวลผ่อนคลาย จนกายกับใจรวมกันเป็นหนึ่ง


ความสงบที่ได้จากกายรวมใจ เมื่อใช้สยบความวุ่นวายและอึดอัดขัดเคืองคือวิชาขันธมาร ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาของวิชาลม 7 ฐาน


การส่งความรู้สึกเข้าไปสำรวจโครงสร้างภายในกาย ตั้งแต่กะโหลกศรีษะเรื่อยมาจนถึงกระดูกสันหลังทุกข้อ รวมทั้งกระดูกซี่โครง แขน มือ ขา เท้า คือวิชาย้ายเส้นเอ็น ในวิชาลม 7 ฐาน เพื่อให้ลมปราณแล่นไหลไปในกระดูก ทำให้ร่างกายโล่งโปร่งเบาสบาย


วิชาลม 7 ฐาน คืออาวุธใน การขับไล่มารซาตานมิให้มามีอำนาจครอบงำตัวเราได้อย่างเด็ดขาด อย่างเด็ดเดี่ยว อย่างผู้รู้ ผู้ตื่น ซึ่งทำให้จิตวิญญาณของเราเข้าถึงความเบิกบานได้


วิชาลม 7 ฐาน ให้ความสำคัญในสมาธิมากกว่าอภิญญา เพราะอภิญญาเปรียบเหมือนละอองฝน ส่วนสมาธิเปรียบเหมือนน้ำฝน ซึ่งยังประโยชน์ให้แก่เรามากกว่าละอองฝนมากนัก


สมาธิของวิชาลม 7 ฐาน สามารถทำได้ทุกขณะ ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ไม่จำเป็นต้องหาวิเวกหรือเวลาที่ปราศจากการงานใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นสมาธิแบบวิถีของธรรมชาติ
เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วใช้จิตพิจารณาความจริงของขันธ์ 5 อันไม่เที่ยงแล้วในที่สุดเมื่อจิตจะเกิดปัญญาญาณทำให้ละวางและเข้าหาความหลุดพ้นได้ การละวางและมีดวงตาเห็นธรรมจึงเกิดจากปัญญาที่ได้จากจิตที่สงบ ปราศจากอารมณ์ปรุงแต่ง มิใช่ได้จากผลแห่งอภิญญาหรือสมถะกัมมัฏฐานอันเป็นช่องทางที่เล็กและแคบเท่ารูเข็ม


วิชาลม 7 ฐาน คือ การฝึกรวมกายกับใจให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นพ้นจากสภาวะปรุงแต่งของอารมณ์ ทำให้มีพลังและเข้าถึงแหล่งแห่งพลังอันไม่มีวันสิ้นสุดได้


จิตกับกายที่รวมกันจะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ชนะต่อสรรพสิ่ง เราไม่จำเป็นต้องคอยเวลารวมใจกับกายให้เป็นหนึ่งเดียวในตอนเย็นหรือตอนเช้า แต่เราควรจะรวมกายกับจิตให้เป็นหนึ่งได้ทุกเวลาที่มีโอกาสที่จะทำ และนำพลังนั้นไปสร้างสรรค์กิจกรรมอันมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ


การฝึกจิตให้รวมกับกายเป็นหนึ่งเดียวจะทำให้เกิด 3 ศักดิ์สิทธิ์ คือ กายศักดิ์สิทธิ์ ธรรมศักดิ์สิทธิ์ และจิตศักดิ์สิทธิ์


วิชาลม 7 ฐาน จึงเป็นสุดยอดวิชาของพระโพธิสัตว์ และเป็นวิชาที่แท้จริงที่จะทำให้ผู้นั้นเป็นพระพุทธะได้ เพราะเคล็ดสุดยอดของสมาธิแบบพระพุทธเจ้าคือกายรวมกับใจ


วิชาลม 7 ฐานนี้เป็นวิชาหนึ่งที่สมเด็จพระสัมาสัมพุทธเจ้าทรงถ่ายทดให้พระมหากัสสปะและเป็นวิชาเดียวที่พระองค์ทรงยอมรับว่า กัสสปะ เธอมีธรรมอันเสมอเรา แต่วิชานี้ไม่ค่อยปรากฏในตำราเล่มใด ๆ และก็ไม่เคยปรากฏในคำสอนของศาสดา ลัทธิศาสนา หรือคำสอนของเกจิอาจารย์องค์ไหน ๆ เพราะวิชาลม 7 ฐานนี้เป็นเรื่องของการถ่ายทอดกันจากจิตสู่จิต วิญญาณสู่วิญญาณ กายสู่กาย



ข้าพเจ้า (สุวินัย) มีบุญเหลือเกิน ที่สามารถ "ตาสว่าง" จนหยั่งรู้ในเคล็ดการฝึกวิชาลม 7 ฐาน อย่างกระจ่างแจ้งได้ด้วยตนเอง ในขณะที่กำลังนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำแก้วมังกรทอง (ถ้ำไก่หล่น) ร่วมกับศิษย์สำนักยุทธธรรมและชาวชมรมมังกรธรรม ในตอนบ่ายของวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1999 ภายหลังจากที่ข้าพเจ้าได้อธิษฐานจิตต่อหน้าเจดีย์เบญจมหาโพธิสัตว์คนเดียวในตอนบ่ายวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 เพื่อขอพรและมหากรุณาจากมหาโพธิสัตว์ทั้งห้าให้ข้าพเจ้าสามารถกระจ่างแจ้งในวิชาลม 7 ฐานได้

ไม่มีพรอันใดประเสริฐสุดเท่ากับการรู้แจ้ง ข้าพเจ้าผู้เป็นศิษย์ของบรมครูหลวงปู่เทพอุดรอิสระธรรมมุนี ขอน้อมกราบลง ณ เบื้องบาทแห่งพระพุทธในความเมตตาอย่างเหลือล้นประมาณที่ให้แก่ "ผู้แสวงธรรม" อย่างผู้น้อยเช่น ข้าพเจ้า

อิติปิโส ภะคะวา
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะธัมมะสาระถิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ



"ชั่วชีวิตหลวงปู่ เวลาจะเรียนรู้เรื่องอะไร หลวงปู่ต้องทำความเข้าใจถึงคนที่จะให้เราเรียนด้วยว่า
เขาต้องการอะไรจากเรา แล้วสิ่งที่เราเรียนมันก็ทำให้เรารู้จริงจนแจ่มแจ้ง ไม่ใช่รู้จำแล้วทำไม่ได้"

หลวงปู่พุทธะอิสระ






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้