กรณีหลวงปู่พุทธะอิสระ สึกลดพรรษา

กรณีหลวงปู่พุทธะอิสระ สึกลดพรรษา

 

 

บทความของกองบรรณาธิการ นิตยสารอาทิตย์
ต่อกรณี "สึกลดพรรษา" ของหลวงปู่พุทธะอิสระ



 

"เมื่อไม่ได้เป็นคนสร้างให้พระศาสนานี้เกิดขึ้นก็จงอย่ามาทำลาย"

(หลวงปู่พุทธะอิสระ)



การตกเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งของ "หลวงปู่พุทธะอิสระ" เป็นสิ่งที่มีการคาดหมายกันนานแล้ว แต่สิ่งที่ไม่มีใครนึกถึงก็คือ แทนที่จะโดนข้อหา "ปาราชิก" (เช่น เสพเมถุน อวดอุตริ ฯลฯ) อย่างที่นิยมกัน หลวงปู่หนุ่มแห่งวัดอ้อน้อยกลับโดนข้อหา "พิลึก" นั่นคือ "สึกปุ๊ป - บวชปั๊บ" ซึ่งโยงใยไปถึงเรื่องความขัดแย้งระหว่างพระศรีรัตนโมลี กับมูลนิธิธรรมอิสระที่เป็นคดีความกันอยู่ในชั้นศาล

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มูลเหตุขัดแย้งที่สะสมกันมานาน "อาทิตย์" ขอลำดับเหตุการณ์และตัวละครที่เกี่ยวข้องนำเสนอเป็นพื้นความเข้าใจของท่าน

กุมภาพันธ์ 2544 มีการจัดอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ที่วัดวังตะกู จังหวัดนครปฐม

มีนาคม - เมษายน 2544 หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตีข่าว "พระภิกษุสงฆ์ยกแขนขาผิดหลักวิปัสสนาหวั่นลัทธิฝ่าหลุมกงแทรก" พาดพิงถึง "หลวงปู่พุทธะอิสระ" ผู้เป็นวิทยากรว่าเป็นคนทรงหลวงปู่โลกอุดรและหวั่นจะเกิดลัทธิใหม่

"พระเทพคุณาภรณ์" เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เสนอชื่อ "วัดอ้อน้อย" เป็น 1 ใน 8 สำนักวิปัสสนาจารย์ ต่อ "สมเด็จพระมหาธีราจารย์" วัดชนะสงคราม แต่ถูกยับยั้งการเสนอชื่อในที่ประชุมมหาเถรฯ เหตุเพราะกรมศาสนาตั้งข้อสังเกตว่าวัดอ้อน้อยมีหลักคำสอนที่บิดเบือนต้องใช้เวลาตรวจสอบ ต่อมา "นายปัญญา สลักทองตรง" และ "นายเสนาะ ผดุงฉัตร" เจ้าหน้าที่วิชาการกรมศาสนาได้เดินทางไปตรวจสอบ พร้อมได้สรุปว่าหลักคำสอนของหลวงปู่พุทธะอิสระบิดเบือนจากพระไตรปิฏกไป 9 ข้อ ไม่สมควรอนุญาตให้ตั้งเป็นสำนักวิปัสสนาจารย์

พฤษภาคม - มิถุนายน 2544 หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเดิมตีพิมพ์บทความของ "พระศรีรัตนโมลี" "กะเทาะเปลือกสัทธรรม ปฏิรูปพระวิปัสสนาจารย์ ต้องไม่ทรงเจ้า! " พาดพิงเครื่องหมายของวัดอ้อน้อย (สวัสติกะ) เป็นเครื่องหมายฮิตเลอร์ การใช้ชื่อพุทธะอิสระ และธรรมอิสระ และเห็นหลวงปู่พุทธะอิสระกำลังเข้าทรงหลวงปู่โลกอุดร พร้อมระบุถ้าเป็นฝ่ายผิดเองก็จะพิจารณาตัวเองโดยการลาสิกขาก็ยอม

กรกฎาคม 2544 มูลนิธิธรรมอิสระ โดย "นายนพพร ปริปุณณะ" และ "นายจิโรจน์ ทีปกานนท์" ฟ้อง "นายพิเชษฐ์ อินทิน" เจ้าของ นสพ. และ "พระศรีรัตนโมลี" ข้อหาหมิ่นประมาท มีการเจรจาจาก "เจ้าคณะจังหวัด" เพื่อไกล่เกลี่ยและให้ถอนฟ้องโดยให้พระศรีรัตนโมลีแก้ข้อกล่าวหา

สิงหาคม 2544 "พระศรีรัตนโมลี" ยอมเขียนหนังสือแก้ข้อกล่าวหาทั้งหมด 7 ข้อ "อาทิตย์รายสัปดาห์" ฉบับ 1183 ตีพิมพ์เป็นรายงานข่าว "พระศรีรัตนโมลี" "แก้ข่าว" ขอรอมชอมคดีหมิ่นประมาท" แต่อีกไม่นาน "พ.อ.(พิเศษ)ทองขาว พ่วงรอดพันธ์" และ "นายกมล ศรีนอก" ได้ทำหนังสือยื่นต่อ "สมเด็จพระมหาธีราจารย์" วัดชนะสงคราม เพื่อให้ตรวจสอบการพบหลักฐาน "โกงพรรษา" ของ "พระสุวิทย์ ธัมมธีโร" (หลวงปู่พุทธะอิสระ)

กันยายน 2544 มีใบปลิวแจกไปตามหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับ ในจังหวัดนครปฐม และได้จากพระภิกษุสามเณรบางรูป กล่าวหาพระเทพคุณาภรณ์ และพระสุวิทย์ ธัมมธีโร ทำผิดกฏระเบียบและพระวินัยอย่างร้ายแรง โดยพระเทพคุณาภรณ์กลายเป็นเป้าโจมตี ซึ่งกล่าวหาท่านได้รับ "รถตู้" และ "เงิน 8 หลัก" เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขอายุพรรษาของพระสุวิทย์เพื่อการแสวงหาประโยชน์นทางคณะสงฆ์....... ใบปลิวดังกล่าวอ้างว่ามาจาก "ชมรมชาวพุทธจังหวัดนครปฐม"

"พระเทพคุณาภรณ์" แถลงข่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาตามใบปลิวพร้อมชี้แจงยืนยันว่าเรื่องหลักฐานอายุพรรษาเป็นเรื่องความผิดพลาดด้านเอกสาร และได้อนุมัติให้ "พระสุวิทย์" ลาออกจากเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลเรียบร้อยแล้ว

ตุลาคม 2544 "หลวงปู่พุทธะอิสระ" ตัดสินใจดับครหาประกาศ "สึกลดอายุพรรษา" กลางงานกฐินของวัดอ้อน้อย

พฤศจิกายน 2544 สื่อยักษ์ใหญ่ตีข่าว "พุทธอิสระ พระดังทำพิลึกขอลาสึกแล้วบวชใหม่ทันที" ต่อมาหลวงปู่พุทธะอิสระเปิดใจกรณี "สึกลดพรรษา" ในรายการ "คารวะแผ่นดิน" โดยมี "สนธิ ลิ้มทองกุล" เป็นผู้ดำเนินรายการ




คำต่อคำ "หลวงปู่พุทธะอิสระ"

 



หมายเหตุกอง บก.

หลังจากตกเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งอยู่ 2 วัน ในวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2544 หลวงปู่พุทธะอิสระได้ชี้แจงเหตุผลของการ "สึกลดพรรษา" ผ่านรายการ "คารวะแผ่นดิน" ทางสถานีวิทยา FM 99.5 MHz โดยมี "นายสนธิ ลิ้มทองกุล" เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยได้บันทึกเทปกันในช่วงเช้าของวันนั้นท่ามกลางสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งที่เฝ้าติดตามมาทำข่าว "อาทิตย์" จะนำเสนอสิ่งที่หลวงปู่พุทธะอิสระได้กล่าวไว้อย่างละเอียด ทั้งนี้หัวข้อกำกับประเด็จเป็นการเรียบเรียงของกอง บก. เพื่อความง่ายในการติดตาม


เป็นเรื่องของลูกผู้ชาย

"จริง ๆ แล้วไม่น่าจะต้องมาพูดกันมาก เพราะมันเป็นเพียงเรื่องส่วนบุคคลเท่านั้น ทีนี้เมื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล เมื่อสื่อสารมวลชนหนังสือพิมพ์จับมาเป็นประเด็นก็กลายเป็นเรื่องของสังคมที่ต้องรับรู้และเผยแพร่ออกไป มันก็เป็นเรื่องของ "ลูกผู้ชาย" คนหนึ่งที่สึกแล้วก็บวชใหม่มันไม่มีอะไรมาก หากมองไม่เอาประเด็น ไม่มองเอาจำเลยของสังคมก็เป็นเพียงเรื่องสึกพระแล้วก็บวชพระเท่านั้น แต่ที่โยงใยจนกลายมาเป็นประเด็นเยอะแยะมากมาย จนกระทั่งจะเป็นเรื่องเสียหายร้าวฉาน จนต้องมีการตรวจสอบ ถึงมีหลายบุคคลบางกลุ่มบางท่านออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่าจะต้องให้มีการตรวจสอบ ต้องมาการตรวจดูพฤติกรรมเป็นเรื่องที่สังคมมีสิทธิที่จะทำ

แต่ฉันเชื่ออยู่อย่างว่า "เพชรแท้ไม่กลังการเจียระไน ทองแท้ไม่กลัวการเผาไฟ เหล็กแท้ไม่กลัวการทุบตี คนดีแท้ ๆ ไม่กลับการพิสูจน์ทราบ" เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายที่ต้องการให้มีการตรวจสอบ ก็ยินดีที่จะให้มีการตรวจสอบ เพราะชั่วชีวิตนั้นนับตั้งแต่บวชมาก็ไม่เคยคิดว่าจะทรยศหรือเป็นกบฏต่ออุดมการณ์พระศาสดา หรือทำผิดพลาดต่อพระธรรมวินัย


ก่อนออกจากป่าเตือนศิษย์ให้รับสภาพ


"ที่จริงแล้วไม่น่าจะมีชื่อฉันอยู่ในสังคมด้วยซ้ำไป ถ้าฉันตามใจตัวฉันเอง ไม่ตามใจชาวบ้าน ตลอดระยะเวลาที่บวชเข้ามา เวลาฉันไปไหนไม่เคยแสดงตน ไม่บอกชื่อ ถ้าไปทำคุณประโยชน์ใดให้สังคมพยายามที่จะหลีกเลี่ยง คือจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงชื่อแซ่ของตนมาตลอด สุดท้ายก็หนีไปจากสังคม ไปอยู่ในป่า ในถ้ำไม่อยากวุ่นวายในสังคม

จนมีช่วงหนึ่งที่ลูกหลานนิมนต์ออกมาจากถ้ำ ก่อนที่จะรับนิมนต์ก็บอกกับเขาว่า พวกเขาสามารถทนรับกับปัญหาแรงกดดันของสังคมได้หรือไม่ ก็ยกตัวอย่างให้ฟังถึงเรื่องต้นไม้ต้นเล็ก ๆ อยู่ในป่าต้นไม้ใหญ่ก็จะคอยปกป้อง จากแรงลมพายุร้าย ไม้ใหญ่มันจะรับไว้ก่อนแต่ถ้าต้นไม้นั้นโตขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้นมาซึ่งก็ต้องทนกับแรงเสียดสี แรงผลักดัน แรงทับถม และแรงพายุของสังคมโลก ถ้าเราทนได้ก็ดีไป แต่ถ้าทนไม่ได้ก็จะต้องหักกลาง ล้มหายตายจากไป ฉันถามว่า

"พวกคุณรับสภาพได้ไหม" ทุกคนก็บอกว่ารับสภาพได้ ฉันก็บอกว่า "มันเหนื่อยนะ ถ้าจะให้ฉันออกมาทำงาน ก็ต้องมีผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่คนทั้งหลาย"

คำว่าโดยตรงก็คืออาจจะกระทบในฐานะที่เราทำประโยชน์ ทำสิ่งดีงาม ไม่ไร้สาระ ไม่เป็นกบฏต่อพระธรรมวินัย ไม่ทรยศพระศาสนา นี่ก็เป็นผลกระทบที่ทำให้พระศาสนาดูงามในสายตาที่คนไม่ต้องการให้พระศาสนาดูงาม

โดยอ้อม การกระทำของเราก็อาจจะไปกระทบกระทั่งกับคนที่ทำผิด คิดผิด และมีอคติก็เป็นเหตุทำให้เกิดความร้าวฉานสร้างศัตรูขึ้นมาก็ได้ รวมแล้วทั้งหมดเกิดมาจากการทำงาน ที่ชีวิตให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างซื่อตรงด้วยสำนึก ของความรู้ถึงบุญคุณพระศาสดาที่ประกาศพระศาสนา"


พระอยู่ได้ด้วยศรัทธาชาวบ้าน

"พูดกันให้ชัดจริง ๆ ทุกวันนี้พระสง"ในพระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นอยู่ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์แบบ ทุกรูปทุกท่านก็ยังต้องอิงอาศัยบารมีธรรมของพระพุทธเจ้าและพระธรรมหาอยู่หากินทุกวันนี้ เพราะชาวบ้าเขาศรัทธาพระพุทธธรรม ศรัทธาพระพุทธเจ้า ศรัทธาพระพุทธศาสนา เขาจึงเลี้ยงดูทำการบูชาพระสงฆ์และเมื่อเราเป็นอยู่ด้วยกำลังศรัทธาของชาวบ้านที่ได้มาจากกำลังศรัทธาของชาวบ้าน เราต้องตอบแทนบุญคุณนั้นด้วยการทำงานอย่างมอบกายถวายชีวิต ด้วยการจรรโลงคุณธรรมศีลธรรมให้เจริญเติบโต

ตั้งแต่เริ่มออกจากป่า ออกจากถ้ำ ฉันไม่มีวันใดที่ฉันหยุดจากการทำงาน แม้จะป่วยไม่สบายก็ทำงาน การทำงานด้วยความสำนึกในบุญคุณของพระศาสนา ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าไปกระทบกระทั่งกับคนที่ไม่ได้ทำ ซึ่งพวกเขามักจะอ้างว่าผู้ที่ทำระดับนี้ต้องอายุมากต้องแก่ ต้องมีเปรียญธรรม ต้องมีคุณสมบัติพอสมควร ฉันเคยพูดเสมอว่า

"ขอได้โปรดอย่าเลือกคนดีเพียงแค่มีคุณสมบัติ อย่างน้อยผู้ที่เลือกสรรควรจะคำนึงถึงคุณธรรมด้วย แค่คุณสมบัติเท่านั้นยังไม่พอ สังคมนี้ต้องการคนดีมีคุณธรรมด้วย"

แค่คนมีความสามารถอย่างเดียว ฉลาดรอบรู้เอาเปรียบสังคมก็ได้ต้องมีคุณธรรมประจำใจ มีความพรั่งพร้อมที่จะเสียสละแบ่งปัน ทุกอย่างตั้งแต่ของเล็กจนถึงของใหญ่จนกระทั่งชีวิตเป็นพุทธบูชา ฉันคิดอย่างนี้เสมอและก็สอนลูกหลานในวัดเสมอ"


ไม่ตำหนิสื่อจับตา "พระดัง" "จะบวช จะสึก จะอยู่ จะไป"

"ฉันจะทำงานทุกอย่างด้วยความรัก เพราะเหตุด้วยการทำงานด้วยความรักผลของมันออกมาเป็นเรื่องดี เป็นที่นิยมชมชอบของสังคมและคนทั้งหลายเลยกลายเป็นว่า "จะบวช จะสึก จะอยู่ จะไป" มันอยู่ในสายตาชาวบ้านที่ชาวบ้านจะเฝ้ามองแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์สื่อสารมวลชนก็คอยเฝ้าดูว่า จะมีพิธีกรรมอย่างไร เบี่ยงเบนแค่ไหน หรือจะมาหลอกลวงชาวบ้านสังคมอย่างไร ฉันก็ไม่ได้ตำหนิติเขาเพราะเป็นหน้าที่เขาต้องเฝ้ามอง มันก็เป็นธรรมดาเพราะสังคมที่ผ่านมาก็ทำให้เขาน่าตำหนิติมอง เพราะว่าแต่ละรูป แต่ละท่านที่ขึ้นมามีชื่อเสียง ก็สุดท้ายก็มาเป็นขบถต่อพระธรรมวินัย พระศาสนา

ฉันก็ไม่โทษเขา กลับรู้สึกขอบคุณเขาด้วยซ้ำที่เอาเรื่องทั้งหลายไปเผยแพร่ ต้องวงเล็บว่าเป็นเรื่องไม่ดีด้วย ฉันบอกให้ทางมูลนิธิเขียนหนังสือขอบคุณหนังสือพิมพ์เหมือนที่ฉันเคยเขียนขอบคุณ "คอลัมนิสต์" หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งขอบคุณที่เขียนถึงฉันว่า "ฉันไม่ดีอย่างนั้น จะเหมือนกับพระแบบนั้น แบบนี้ ฉันไม่ดีอีกแยะช่วยเขียนให้เยอะ ฉันจะได้อยู่สบายขึ้น จะได้ไม่มีคนมาหาฉัน ฉันจะได้อยู่อย่างผ่อนคลาย" อย่างน้อยก็ไม่ต้องมาคอยนั่งรับแขก"


เปิดใจสึกแล้วบวช

"มาพูดถึงเรื่องทำไมสึกแล้วถึงบวชใหม่ ต้องเรียนว่าเมื่อการทำงานของเรามีมากขึ้น อายุพรรษามันเยอะขึ้น พูดจริง ๆ แล้วมันก็ สังคมโดยรวมแล้วเมื่อมีการทำงาน มีอายุพรรษามันก็เหมือนสังคม ราชการต้องมีการเลื่อนขั้น เลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่งเหมือนกัน ถ้าไม่ให้ก็จะกลายเป็นว่าผู้ใหญ่ดูดายไม่สนับสนุนผู้น้อย ไม่ส่งเสริมให้ผู้น้อยมียศถาบรรดาศักดิ์ขึ้นมา และที่ผ่านมามันก็เป็นความรู้สึกค้างในใจ ว่าเราทำงานไม่ใช่เราหวังที่จะได้อะไร เราทำงานเพื่อเป็นพุทธบูชาด้วยความศรัทธาในพระธรรมวินัยและอุดมการณ์ของศาสนาก็มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

มันมีกฏข้อหนึ่งใน 35 บทที่วัดอ้อน้อยสร้างขึ้นคือห้ามพระในวัดรับยศถาบรรดาศักดิ์หรือฉลองพัดยศ และเราเป็นผู้ตั้งกฏเองและเราจะมาเป็นผู้ทำลายเองไม่ได้ เราก็พยายามจะบอกพระตั้งแต่เริ่ม แม้กระทั่งตำแหน่งสมภาร ตอนที่เราอยู่ถ้ำก็เขียนตราตั้งมาให้และนิมนต์เราออกมาจากถ้ำ พอมาเป็นสมภารได้สองปีเจ้าคณะตำบลรูปเก่าท่านมรณภาพ ท่านเจ้าคณะอำเภอก็มาขอร้องแต่เราก็ปฏิเสธ ปฏิเสธไป 3 - 4 ครั้ง จนกระทั่งหลวงพ่อท่านเจ้าคณะจังหวัดต้องยื่นคำขาดว่าถ้าท่านเคารพผมท่านต้องยอมรับตำแหน่งเจ้าคณะตำบล อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระของผมในการทำงาน"



โต้กรณีโกงพรรษา

"แล้วก็ตั้งแต่นั้นก็ส่งคนมาทำเรื่องอะไรต่ออะไร เรื่องทั้งหลายเราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำอย่างไร เราไม่รู้ด้วยว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ใครเขียนอะไร เพราะเราเป็นไม่นานเดี๋ยวก็ลาออกแล้ว คิดว่ามันไม่สำคัญอะไร ในขณะที่เป็นเจ้าคณะตำบลก็ดีหรือเป็นสมภารก็ดีหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดท่านก็เร่งให้เราไปสอบคู่สวดสอบอุปัชฌาย์ เราก็บอกท่านว่าไม่เอาละครับ ผมเป็นแค่นี้ก็ลำบากแย่แล้ว ถ้าเป็นมากกว่านี้มันจะหนักยิ่งกว่านี้ เอาเป็นว่าผมไม่เป็นอะไรเลยดีกว่าเดี๋ยวอีกไม่กี่วันผมก็จะลาออกแล้ว และก็เขียนหนังสือลาออกมาทุกปีท่านก็ไม่เคยอนุมัติสักปี จนสุดท้ายท่านยอมเพราะว่าเราไปประกาศต่อหน้าคณะสงฆ์ทั้งจังหวัดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่อาตมาจะพูดในที่ประชุมและจะไม่พูดอีกแล้ว ก็ถือว่าเราลาออกตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป นั่นก็เป็นที่มาของการลาออก

แต่ที่ออกมาเป็นเรื่องเสียหายออกไปสู่สื่อสารมวลชนว่าอาตมาโกงอายุพรรษา เพราะว่ามีบุคคลที่เขาได้รับผลกระทบในการทำงานของเราแล้วเขาไม่พอใจก็หาเหตุปัจจัยมาสร้างเรื่อง มันก็เป็นเรื่องน่าอายเหมือนกัน เราสีเดียวกัน พวกเดียวกัน อยู่ในพระศาสนาเหมือนกัน ก็ยังมาทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน เอาเรื่องส่วนตัวมาทำให้ส่วนรวมเสียหาย ไม่คำนึงถึงสถานภาพของศาสนาในสังคมว่าจะต้องอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นกันได้อย่างไร สังคมเราจึงเป็นเสียอย่างนี้ ไม่ต้องมาพูดพรอกว่าใครจะมาทำลายเรา พวกเรากันเองนี่แหละที่ทำลายกันเอง หาเหตุปัจจัยขึ้นมา เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หยุมหยิมนิดเดียวก็เอามายัดเยียดให้เป็นข้อหาใหญ่โต"


บวชใหม่ลดอีโก้

"ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมถึงสึกก็เพราะว่าเป็นพระเถระมันต้องมีคนไหว้ เรามีความรู้สึกว่าอยากจะไหว้พระบ้างไม่อยากให้ใครมาไหว้เรา ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าเราเองยังไม่มีคุณสมบัติ คุณธรรมพอที่จะเป็นพระเถระ อาตมายังมีความโกรธ ความโลภ ความหลง ยังมีความไม่ดีงามเยอะแยะมากมาย เรายังบอกกับผุ้ที่ร่วมคุยก่อนอัดรายการว่าทางมูลนิธิต้องเขียนหนังสือขอบคุณเขานะที่หนังสือพิมพ์เขาเขียนว่าเรามา ว่าเราไปหลอกท่านสมเด็จเจ้าประคุณตั้งมากมายแล้วยังไปโกงอายุพรรษาต้องเขียนบอกเขาไปอีกว่าเรายังมีเรื่องไม่ดีอีกเยอะยังต้องเขียนอีกมาก ๆ เราจะได้สบายขึ้น เราจะได้อยู่ง่ายขึ้นไม่ต้องมีใครมาหาเพราะเห็นเราชั่วหรือไม่ดีในสายตาสังคม เราจะได้เป็นอิสระขึ้นเราไม่ได้รู้สึกโกรธ เกลียด หรืออาฆาตมาดร้ายเพราะถือว่าท่านเหล่านี้เป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ และเราจะได้อยู่สบาย

แต่เหตุที่เราอยากสึกก็เพราะ เราอยากจะลดอหังการ มนังการ และมานะทิฐิ ความเป็นตัวเป็นตนซึ่งมีอยู่ในอุปกิเลส 16 ข้อ พวกนักวิปัสสนาต้องมีและต้องรู้จัก และการลดอหังการ มนังการ และความถือตัวถือตนความเย่อหยิ่ง ทระนง จองหอง ยโส อวดดี พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คืออยากลดอีโก้ (ไอ้โก้) ตนเองลงบ้างเท่านั้น พูดง่าย ๆ คือไม่อยากแก่ และจะได้ทำตัวสบาย ๆ ไม่ต้องมีอะไรหนักหนา ทำงานของตนเองที่ตนเองรักไปก็คือทำงานพระศาสนา

จะได้ไม่ต้องเป็นภาระในการจัดการบริหารคณะสงฆ์ เพราะที่ผ่านมาร่วม 5 ปี ที่ทำงานในคณะสงฆ์เรารู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างง่าย ๆ คือเมื่อประชุมสังฆาธิการครั้งสุดท้ายเขาคุยกันเรื่องสวดมนต์ 3 ชั่วโมง แต่พอเราพูดว่าพระใหม่นี่อบรมวิปัสสนาอบรมวันเดียวไม่พอบกว่าขอเป็น 3 วันจะได้ไหม ท่านรองเจ้าคณะจังหวัดก็พูดขึ้นมาว่า ไม่ได้ต้องกลับไปถามพระใหม่ก่อน นี่แหละ 5 นาทีเท่านั้น ก็เลยมีความรู้สึกว่าถ้าอยู่กับแบบไม่เห็นพระธรรมวินัย ไม่เห็นการปฏิบัติ ไม่เห็นธุระสองอย่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่าคันถธุระและวิปัสสนาธุระก็มีความสำคัญเท่ากัน ยังมีความแบ่งแยกว่าวิปัสสนาธุระจะต้องต่ำกว่าคันถธุระ หรือคันถธุระจะต้องสูงกว่าวิปัสสนา ไม่คิดว่าวิปัสสนาจะคู่กับคันถธุระได้ ก็เลยมีความรู้สึกว่าเราออกแล้วก็มาทำงานในส่วนที่เราจะทำได้ ในขณะเดียวกันเราทำในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความชอบของเรา เป็นความเห็นส่วนตัวที่เราคิดว่าทำได้และไม่ผิดธรรมวินัย



ถ้าเขาว่าผิดก็ทำใหม่ให้มันถูก

"จริงแล้วการสึกของพระรูปหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเป็นเรื่องธรรมดา เราเป็นคนของสาธารณชนที่มีผู้คนมอง ทั้งมองถูก และมองผิด อย่างที่พูดไปว่าเจตนาในการสึกก็เพื่อลดมานะทิฐิและกิเลสตัณหาของตนให้ลดลงและกลายเป็นคนที่อ่อนวัยอ่อนอายุพรรษา จริง ๆแล้วนี่เราก็พยายามปลดเปลื้องภาระของตัวเองมาตลอด เจ้าอาวาสก็พยายามลาออกแต่ก็ไม่เอาออก เจ้าคณะตำบลก็พยายามลาออกก็ไม่เอาออก

ภาระทั้งหลายแม้ว่าฉันเป็นคนก่อตั้งมูลนิธิแต่ฉันก็ไม่ได้เป็นกรรมการมูลนิธิ และก็ไม่ได้ดูแลทรัพย์สมบัติอะไรของวัดหรือมูลนิธิในขณะเดียวกันก็พยายามลดภาระเพื่อที่จะได้ทำงานอย่างซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย คือพระศาสนา และฉันก็เชื่อว่าการเป็นพระไม่ใช่ว่าอยู่เพื่ออายุพรรษา พรรษามากก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นพระดี พรรษาน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นพระอัปรีย์ เพราะฉะนั้นชั้นถือว่าชั้นเป็นพระเพราะถือว่าหัวใจฉันเป็นไม่ใช่เป็นพระเพราะอายุพรรษาชั้นมาก หรือเป็นพระเพราะอุปัชฌาย์ให้ชั้นบวช

สาเหตุหนึ่งในหลาย ๆสาเหตุก็คือว่าที่ผ่านมามักจะมีเสียงครหาว่าฉันไม่มีหัวนอนปลายตีน บวชมาจากที่ไหน ครูบาอาจารย์ พระอุปัชฌาย์อยู่ที่ไหน ที่จริงแล้วเขาก็พูดถูกเพราะตอนฉันบวชถือว่าฉันหนีที่บ้านมาบวชแต่ไม่ใช่ว่าญาติโยมไม่รู้ ท่านอนุญาตแต่ท่านไม่รู้ว่าไปบวชที่ไหน คือวันที่ฉันบวชฉันไปบอกท่านว่าฉันอยากบวชท่านก็บอกว่าให้รอก่อน แต่ความรู้สึกบวชของฉันมีมากจนรู้สึกว่ารอไม่ได้ ซึ่งถามว่าอนุญาตหรือยังเขาก็บอกว่าอนุญาต ฉันก็ออกจากบ้านไปหาเงินแล้วก็ทำการบวชโดยมีญาติ ๆ และเพื่อนที่มาด้วยกันให้การสนับสนุนส่งเสริม เมื่อบวชแล้วนี่ขณะบวชเราก็ไปคนเดียวเป็นผู้ที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน เมื่อบวชแล้วผลปรากฏว่าเราก็พยายามทำตามพระธรรมวินัยของพระศาสนามาตลอด

เมื่อมาเป็นสมภาร บริหารจัดการคณะสงฆ์ในส่วนหนึ่งก็มีเสียงครหาร่ำลือว่าเราทำอายุพรรษาผิดทำอะไรต่ออะไรผิด ซึ่งเราเองเมื่อใครว่าอะไรเราผิดถ้าเป็นชาวบ้านฉันไม่ค่อยใส่ใจ แต่ถ้าหากเป็นพระนี่ฉันจะแคร์ เพราะถือว่าท่านเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ ท่านเป็นผู้มีพระธรรมวินัยโดยประมาณ เราควรต้องสดับรับฟังไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไร เมื่อเขาว่าเราว่าอายุพรรษาไม่ถูกเราก็ทำให้มันถูกก็คือบวชใหม่ สึกแล้วก็บวชใหม่เสียก็จบ เขาว่าเราก็ไม่มีหัวนอนปลายตีน ครูอุปัชฌาย์อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เราก็ทำให้มันถูกบวชให้เขาเห็น พระอุปัชฌาย์ให้เขาเห็นคนอื่นอาจจะมองว่าการบวชแล้วอยู่ดี ๆ มาสึกลดอายุพรรษาตัวเองแล้วก็มาบวชใหม่มันทำพิลึก ไม่มีใครกล้าทำ เพราะฉันคิดว่าความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่อายุพรรษา คิดว่าคุณธรรมไม่ได้อยู่ที่อายุขัย ฉันไม่คิดว่าคนแก่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าต้องมีคุณธรรมมาก แล้วเด็กก็ไม่ใช่หมายถึงว่าต้องเป็นคนอัปรีย์"


บวชใหม่ ขอทำงานสืบศาสนา

"ฉันบวชครั้งนี้ฉันไม่มีทรัพย์สินเงินทองสักบาท เพราะฉะนั้นฉันจะไม่เอาเงินวัดไม่เอาเงินมูลนิธิมาทำการบวช ใครที่จะเมตตาช่วยอนุเคราะห์ช่วยเกื้อกูลการุณย์ก็แล้ว แต่ศรัทธาแล้วแต่ที่จะไปหามา หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดท่านบอกว่าเดี๋ยวจะไปหาจีวรให้ ท่านหาบาตรให้เมื่อวานนี้ เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเราไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไร การสึกการบวชเรื่องธรรมดา คน ๆ หนึ่งที่ต้องการจะปลดเปลื้องฐานะของพระเถระ และฉันก็ไม่ชอบและไม่อยากมียศถาบรรดาศักดิ์ อยากเป็นพระธรรมดา ที่ไม่มีบทบาทอะไรในคณะสงฆ์ ขอเพียงได้ทำงานสืบทอดอุดมการณ์พระธรรมวินัยและพุทธศาสนาและมีเวลาที่เป็นตัวของตัวเอง อยู่ป่าอยู่เขา เรียนรู้ศึกษาธรรมะจากธรรมชาติฉันชอบอย่างนั้นมากกว่า

และอยากจะฝากว่านิสัยฉันเป็นคนซื่อตรงหรือเปล่าฉันก็ไม่แน่ใจ แต่ฉันเชื่อว่าธรรมะอยู่กับใครจะเป็นผู้ซื่อตรง ฉันคิดอย่างไรฉันก็ทำอย่างนั้น ฉันพูดอย่างไรฉันก็จะทำอย่างนั้นทั้งชีวิตฉันคิด ทำ พูดเรื่องเดียวกัน เพราะด้วยอุปนิสัยการทำงานของฉันเป็นแบบนี้มันก็อาจจะเป็นไปได้ที่ไปกระทบกระทั่งใครทำให้เขาเสียหายแต่จริง ๆ แล้วไม่ได้มีเจตนา

ฉันถือว่าการที่ได้ถืออายุพรรษาใหม่ทำให้ฉันได้ลดอีโก้ลงลดมานะทิฐิ ความถือตัวถือตน ลดอหังการ ความทระนง ยโส จองหอง อวดดี ทำให้เรากราบลูกศิษย์เราได้ ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องเลิศแล้ว เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่เรากล้าที่จะทำ ก็ถือว่าเราก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งในการปฏิบัติธรรม แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าคนที่บวชแล้วไม่สึกไม่ยอมลดอายุพรรษาจะไม่ดี แต่นี่คือความคิดของฉันไม่ผิดธรรมวินัย ไม่ผิดกฏหมายบ้านเมือง ในครั้งพุทธกาลมีคนสึก ๆ บวช ๆ ตั้ง 7 ครั้ง ยังมีอยู่พระพุทธเจ้าก็ยอมให้บวช เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ผิดพระธรรมวินัย และการบวชของฉันมันก็ไม่ได้เดือดร้อน ไม่ได้ทำร้ายทำลายใคร"



แจงกรณีอ้างชื่อสมเด็จ

"ส่วนเรื่องปัญหาประเด็นว่าหลอกลวงฉ้อฉล ทำให้พระผู้ใหญ่เข้าใจผิด สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ท่านไม่ได้รับรู้อะไร ที่จริงแล้วฉันคิดว่าคงจะเป็นการกระทำของมูลนิธิเพราะว่าเมื่อเราปรึกษากันทางมูลนิธิเขาก็ทำหนังสือไปกราบนมัสการนิมนต์ซึ่งตอนนั้นท่านก็ไม่อยู่ เลขาท่านก็รับเอาไว้ มูลนิธิเขาก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำเรื่องแล้วก็เลยมาคุยกันในที่ประชุมแต่ไม่ได้ไปติดป้ายโฆษณาใหญ่โตมโหฬารอย่างที่เป็นข่าว แล้วก็เรื่องอื่น ๆ ที่บาดหมางเสียหายอย่าไปพูดถึงมัน เพราะฉันถือว่ามันเป็นเรื่องน่าอาย น่าอายที่ฉันไม่ผิดก็ทำให้ฉันผิดวินัย ฉันไม่ได้ทำเรื่องเสียหายอะไร ในขณะเดียวกันถ้าเราจะมีเรื่องบาดหมางกันในวงพระศาสนาด้วยกันมันอายสังคม อายนักบวชนอกศาสนา เพราะฉะนั้นอย่าไปพูดถึง เอาเป็นว่าขอให้ฉันได้บวชอย่างสบายแล้วก็สึกและก็ไปบวชวันนั้นเพื่อที่จะรักษาพรหมจรรย์ของฉันให้ดำรงอยู่ รักษาศีล คุณงามความดี ของฉันให้มันต่อเนื่องเท่านั้นเอง

สึกชั่วโมงนี้ บวชชั่วโมงหน้าไม่ได้ผิดอะไร แล้วก็ไม่ผิดกฏหมายบ้านเมือง ไม่ได้รบกวนใครให้เดือดร้อนเสียหาย ไม่ได้ทำร้ายทำลายหลอกลวงใคร ทั้งชีวิตฉันก็ไม่มีสมบัติอะไรที่จะให้มาตรวจสอบพิสูจน์ทราบ แต่ก็ยินดีที่จะให้ตรวจสอบพิสูจน์ทราบ เพราะฉันถือว่าเพชรแท้ไม่กลัวการเจียระไน ทองแท้ไม่กลัวการเผาไฟ เหล็กแท้ไม่กลัวการทุบตี คนดีแท้ ๆ ไม่กลัวการพิสูจน์"


ถ้ากบฏต่อพระพุทธเจ้าโลกนี้คงไม่ใช่ที่อยู่

"และก็อยากจะฝากบอกญาติโยมผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายชาวสื่อสารมวลชนว่าถ้าจะเสนอข่าวใด ๆ ก็ขอให้เสนอโดยมีจุดยินที่บริสุทธิ์ยุติธรรม แล้วถ้าไม่มีอคติในใจแล้วการเสนอนั้นกจะเป็นการสร้างสรรค์ทำให้สังคมดีงาม พูดอย่างนี้ฉันก็ไม่ได้กลัวที่พวกคุณจะตำหนิติด่าฉัน ฉันกลับรู้สึกชอบด้วยซ้ำที่คุณจะตำหนิติด่าฉันให้เสียหายในสังคม เพราะฉันจะได้อยู่สบายขึ้น และจะได้ไม่ต้องมีใครมาหาฉัน ถ้าฉันจะเป็นคนเสียโดยที่แนไม่ได้เป็นคนเสียเองฉันไม่ได้รู้สึกเสียดายและรู้สึกเสียใจ

แต่ถ้าหากฉันเป็นคนเสียในฐานะที่ฉันเป็นทำเสียพูดเสีย ฉันจะแย่มาก ความรู้สึกของฉันจะเลวร้ายกว่ามาก เพราะฉันจะถือว่าฉันเป็นกบฏ ทรยศต่อพระพุทธเจ้าแน่ โลกนี้คงไม่อาจเป็นที่อยู่ของฉันได้ ในโลกนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงฉันได้ อุดมการณ์ของฉันก็คือเพื่อยืนหยัดรับใช้สนองงานพระธรรมวินัยและพุทธศาสนาเพื่อบำเพ็ญเพียรบารมีทั้ง 10 เริ่มต้นจากทาน และจบลงตรงเนกขัมบารมี

ทศบารมีทั้ง 10 ประการที่สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญมา ฉันเคารพยึดถือศรัทธา ชั่วชีวิตไม่มีวันเปลี่ยนฉันได้ ทั้งชีวิตของฉันคือการทำงานเพื่อสร้างสรรค์และอบรมบารมีของตน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่อย่างไร เป็นแบบไหน ถูกเหยียบย่ำเหยียดหยามอย่างไร ฉันก็ยังเป็นฉันอยู่เพราะว่าไม่มีใครจะมาทำให้ฉันดีหรือว่าจะมาทำให้ฉันชั่วได้ เพราะฉันถือว่าชีวิตเป็นของฉัน"


ดลบันดาลชีวิต.........ตนเอง

การดลบันดาลชีวิตของตัวเองเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ฉันควรต้องทำ ฉันจะไม่มีชีวิตอยู่ที่การกระโดดโลดเต้นบนฟองน้ำลายที่อยู่บนปลายลิ้นชาวบ้านแล้วต้องวิ่งเต้นตาม แล้วที่ว่าทำไมต้องสึกแล้วบวชใหม่เพราะว่าฉันไม่อยากให้สังคมเดือดร้อน หรือว่าให้ใครมาวิตกกังวลว่าฉันดังขึ้นมาแล้วนะ เป็นพระเถระแล้ว เป็นพระผู้ใหญ่จะต้องมีอำนาจวาสนา วันนี้เป็นเจ้าคณะตำบล พรุ่งนี้ต้องเป็นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดอะไรอย่างนี้เลยไม่อยากให้ใครคิดอะไรอย่างนั้น และในขณะเดียวกันตัวเองก็ไม่อยากได้เพราะอยากจะปฏิบัติธรรมมากกว่าที่จะไปทำเรื่องพวกนี้ในขณะเดียวกันก็อยากทำงานแบบสบายใจโดยไม่ต้องหวาดผวากังวลต่อสิ่งรอบข้างว่าจะมาจับผิดหรือคอยมาดูว่าเราจะพลาดตรงไหน แล้วก็จับเอาสิ่งที่พลาดมาเหยียบย่ำซ้ำเติม แล้วก็ทำให้คนที่มาร่วมงานเสียดายเสียใจเสียหายเท่านั้นเอง"




 

"ถ้าไม่จบ…ก็แล้วแต่กฎแห่งกรรม"

 



อุปัชฌาย์จะเป็นใครก็ได้

สื่อมวลชน : พระที่จะนิมนต์มาเป็นพระอุปัชฌาย์เป็นใครครับ
หลวงปู่พุทธะอิสระ : ฉันก็ยังไม่แน่ใจเพราะทางมูลนิธิเป็นคนนิมนต์ มูลนิธิเป็นคนจัดการ ฉันอยู่แต่ในป่าเลยไม่รู้เรื่อง ฉันมาก็เพื่อแสดงธรรมเท่านั้น

สื่อมวลชน :จำเป็นไหมครับว่าพระอุปัชฌาย์จะต้องเป็นใคร
หลวงปู่พุทธะอิสระ : จะเป็นใครก็ได้ ฉันเพียงแค่บอกว่าเป็นคนที่ฉันเคารพศรัทธาในปฏิปทาน
ของท่าน เป็นบุคคลที่ควรเคารพกราบไหว้บูชาเท่านั้นเอง

สื่อมวลชน : ไม่จำเป็นต้องเป็นพระชั้นสมเด็จราชาคณะใช่ไหมครับ
หลวงปู่พุทธะอิสระ : ไม่จำเป็น…

สื่อมวลชน : กรณีหลวงพ่อวัดสุวรรณหรือหลวงพ่อสมเด็จรูปอื่นๆ ติดกิจนิมนต์ไม่ว่างในช่วงนั้นอาจจะเป็นท่านอื่นก็ได้

หลวงปู่พุทธะอิสระ : ฉันก็บอกมูลนิธิไปแล้ว ทางมูลนิธิก็ถามฉันเหมือนกัน ก็บอกไปแล้วว่าใครก็ได้ ใครก็ได้ที่ท่านน่าเลื่อมใสศรัทธา แล้วเป็นพระที่ทรงธรรมทรงวินัย

สื่อมวลชน : ก็แสดงว่าทางมูลนิธิเป็นคนเสนอว่าจะเป็นผู้นิมนต์ใคร
หลวงปู่พุทธะอิสระ : เรื่องทั้งหมดทางมูลนิธิดำเนินการ

สื่อมวลชน : หลวงปู่ครับ แล้วกรณีที่เราจะลาสิกขาบทจะนิมนต์คู่สวดเจ้าอาวาสวัดคลองเตย
ไหมครับ
หลวงปู่พุทธะอิสระ : ก็ต้องแจ้งให้ท่านทราบ แต่ก็เคยนิมนต์ท่านมางานปิดทองลูกนิมิตท่านไม่มา



บวชใหม่เป็นพระนวกะแล้วแต่อุปัชฌาย์


สื่อมวลชน : หลังจากที่หลวงปู่สึกแล้วบวชใหม่นับเป็นพรรษาหนึ่งใหม่ยังจะจำพรรษาที่วัดอ้อน้อย
อยู่หรือเปล่า
หลวงปู่พุทธะอิสระ : ก็ต้องแล้วแต่พระอุปัชฌาย์จะสั่ง

สื่อมวลชน : ทำไมหลวงปู่ถึงเลือกวิธีการสึกแล้วบวชใหม่ในการคลี่คลายปัญหานี้ด้วย
หลวงปู่พุทธะอิสระ : มันเป็นความสบายใจของฉัน มันเป็นเหตุผลส่วนตัว ไม่ใช่เพราะคิด
จะทำเป็นเรื่องแปลก
แต่เป็นเพียงเหตุผลว่ามันน่าจะทำให้เราอยู่ได้สบายขึ้น อย่างน้อยสังคมจะมองว่าเป็นพระใหม่จะได้ไม่ต้องนิมนต์ ไม่ต้องอาราธนา หรือเคารพบูชาอะไรมากให้ท่านไปเรียนธรรมะ

สื่อมวลชน : ถ้าอุปัชฌาย์บอกว่าให้หลวงปู่ไปจำวัดท่านอุปัชฌาย์ หลวงปู่ก็จะไปไหม
หลวงปู่พุทธะอิสระ : ฉันก็ต้องทำตามพระนวกะ อยู่กับพระอุปัชฌาย์

สื่อมวลชน : แล้วชื่อฉายาอาจจะเปลี่ยนแปลง ถ้าพระอุปัชฌาย์บอกว่าให้เปลี่ยนจาก "หลวงปู่พุทธะอิสระ" เป็นอย่างอื่นล่ะครับ
หลวงปู่พุทธะอิสระ : ก็แล้วแต่อุปัชฌาย์ เป็นอะไรก็ได้ ฉันเป็นได้ทุกอย่างถ้าเป็นธรรมเป็นวินัย มีโอกาสทำงานพระศาสนาก็ใช้ได้แล้ว เพราะฉันไม่ได้คิดเป็นพระเพราะอายุพรรษามาก ไม่ใช่เป็นพระเพราะอยู่วัดนี้ เป็นพระเพราะเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนและทำตามก็เท่านั้นเอง

สื่อมวลชน : ส่วนใหญ่คนทั่วไปจะรู้จักชื่อ "หลวงปู่พุทธะอิสระ"
หลวงปู่พุทธะอิสระ : ฉันก็ไม่เคยพูดนะ มีแต่คนอื่นเขาพูด ที่เรียกตนเองก็น้อยครั้งมาก ถ้ามีคนถามหรือตั้งคำถาม

สื่อมวลชน : ตารางการเทศนาของหลวงปู่ยังคงเหมือนเดิมไหมครับ ถ้าสึกแล้วบวชใหม่
หลวงปู่พุทธะอิสระ : ทางมูลนิธิเป็นคนจัด ก็คงไม่อยากมีใครมานิมนต์พระบวชใหม่หรอก มันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฉันได้พักผ่อนคลายตนเองมากขึ้น รู้จักภายในตนเองมากขึ้น


ถ้าปัญหาไม่จบก็แล้วแต่กฎแห่งกรรม

สื่อมวลชน : ถ้าเกิดว่ากรณีกลุ่มพระที่มีปัญหาอยู่เดิมหลังจากที่หลวงปู่บวชใหม่แล้วยังมีปัญหา
อีก จะทำอย่างไรครับ
หลวงปู่พุทธะอิสระ : ทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎของกรรม และฉันก็ไม่คิดจะไปเอ่ยถึงเพราะมันน่าละอาย เราเป็นศาสนาเดียวกัน อยู่ในจังหวัดเดียวกัน แล้วก็เราก็ไม่ผิดธรรมผิดวินัย แล้วเราก็มาทะเลาะกันมันน่าละอายที่จะไปพูดถึง ก็แล้วแต่กฎของกรรมไปก็แล้วกัน เราก็ไม่ได้คิดจะไปผูกอาฆาตพยาบาทจองเวรอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามหลักของธรรม ของพระวินัย ตามหลักสังคม ก็สังคมมองว่าพระทะเลาะกันเป็นเรื่องน่าอาย แต่ฉันมองมากกว่านั้น มองว่าน่าอายแล้วยังไม่ซื่อตรงต่อพระศาสดา ต่อพระพุทธเจ้า

สื่อมวลชน : คดีฟ้องหมื่นประมาทยังไต่สวนตามเดิมไหมครับ
หลวงปู่พุทธะอิสระ : มันเป็นสิทธิของมูลนิธิกับคนเข้าวัด ชาวบ้านที่ไปวัดอ้อน้อยมีหลายสาขาอาชีพแล้วทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ถ้าไปบอกว่าวัดนี้เข้าทรง หลอกลวงประชาชน ก็แสดงว่าพวกเขาก็ต้องโดนหลอกด้วย คุณเห็นฉันเข้าทรงหรือเปล่า?

สื่อมวลชน : ไม่เห็นครับ
หลวงปู่พุทธะอิสระ : เมื่อไม่เห็นฉันเข้าทรงก็ต้องแสดงให้เห็นชัดว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าสำนักเข้าทรงมันเป็นวิธีทางเดียวที่ทำให้เขาเชื่อได้คือใช้อำนาจความยุติธรรมของศาล เพื่อพิสูจน์ว่าเราเข้าทรงจริงหรือเปล่า หรือสังคมยอมรับแค่นั้น เพราะสังคมไม่ได้เชื่อ สังคมไม่ได้ฟังว่าเราพูดอย่างไร สังคมจะเชื่อว่าศาลสั่งอย่างไร ก็เป็นไปอย่างนั้น







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้