ประสบการณ์เมื่อได้พบหลวงปู่พุทธะอิสระ

ประสบการณ์เมื่อได้พบหลวงปู่พุทธะอิสระ

 






ผมได้พบคุรุในอดีตชาติ


 

ในช่วงระหว่างวันที่ 22 - 27 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 ผมได้พาศิษย์สำนักยุทธธรรมของผมจำนวน 10 กว่าคนไปที่วัดดอยเกิ้ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้ลูกศิษย์ของผมได้เรียน "สมาธิหมุน" และวิชาอื่น ๆ จาก หลวงพ่อรัตน์โดยตรงเหมือนกับที่ตัวผมได้เคยเรียนกับท่านเมื่อสองปีก่อนในครั้งนี้หลวงพ่อรัตน์ท่านได้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาสมาธิทั้งหมดที่ท่านมีอยู่ และบางอย่างยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนให้แก่ผมและลูกศิษย์ด้วยความเมตตาเป็นอย่างสูง เพื่อให้ผมนำไปเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป (รายละเอียดเกี่ยวกับเคล็ดวิชาสมาธิทั้งหมดของหลวงพ่อรัตน์ จะได้กล่าวโดยละเอียดในบทหลัง ๆ ของหนังสือเล่มนี้)

เมื่อผมกลับมากรุงเทพฯ ในอาทิตย์เดียวกันนั้นเอง คือในวันศุกร์ที่ 31 เดือนตุลาคม ได้มีชายวัยกลางคนท่านหนึ่งชื่อ คุณกิตติพันธ์ มาหาผมที่ห้องทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในตอนบ่าย ตอนแรกคุณกิตติพันธ์ต้องการมาปรึกษาผมเรื่อง การทำปิระมิดสำหรับการนั่งสมาธิ แต่หลังจากที่เราคุยกันอย่างถูกคอไปได้พักหนึ่ง คุณกิตติพันธ์ก็เริ่มเล่าเรื่องราวอันแสนพิสดารของพระภิกษุรูปหนึ่งที่เขาและลูกศิษย์คนอื่น ๆ เชื่อกันว่าเป็นอริยสงฆ์จากธิเบตกลับชาติมาเกิด มิหนำซ้ำ พระรูปนี้จะอยู่กับพวกเราอีกไม่นานแล้ว พอได้ฟังเช่นนั้นผมเกิดความรู้สึกสังหรณ์ใจขึ้นมาว่า พระรูปนี้น่าจะเป็นคุรุในอดีตชาติ ของผมท่านหนึ่ง โดยที่ผมก็ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ ผมรู้แต่เพียงว่า ผมจะต้องรีบไปพบท่านโดยด่วน เนื่องจากเวลาของท่านอาจจะมีไม่มากแล้ว

วันรุ่งขึ้น ผมกับลูกศิษย์อีก 3 คนก็ขับรถไปวัดที่นครปฐมซึ่งภิกษุรูปนี้พำนักอยู่ พวกผมไปถึงที่วัดเกือบเย็นแล้ว ความรู้สึกของผมในตอนแรกเมื่อเห็นบรรยากาศภายในวัดนั้น ผมบอกตามตรงว่าเฉย ๆ จนตนเองก็เริ่มไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สิ่งที่ตัวเองสังหรณ์ใจนั้นจะถูกต้องหรือเปล่า ภิกษุที่พวกลูกศิษย์นิยมเรียกกันว่า "หลวงปู่" รูปนี้ กำลังยุ่งอยู่กับการเตรียมงานทอดกฐินที่จะจัดในวันรุ่งขึ้นอยู่ ขณะที่กำลังลังเลอยู่ว่าจะไปพบท่านดีหรือไม่ และจะไปเข้าพบได้ยังไงนั้น ผมก็ได้พบกับคุณกิตติพันธ์พอดี คุณกิตติพันธ์ได้พาผมและลูกศิษย์ไปหา "หลวงปู่" ที่ศาลาทันที "หลวงปู่" ที่ผมเห็นนั้นเป็นภิกษุร่างสันทัดในวัยฉกรรจ์คาดว่ามีอายุราว 30 กว่า ๆ เท่านั้น ใบหน้าเหลี่ยม ดวงตาโตดำ ในแวบหนึ่งผมนึกถึงใบหน้าครูมวยจีนคนแรกของผม แต่แล้วใจผมก็บอกว่าไม่ใช่ เพราะไม่ดุเท่าและพูดจาขี้เล่นมากกว่า เข้าทำนอง "พูดจาไม่ไพเราะในถ้อยคำ แต่เสนาะล้ำลึกในถ้อยที"

คุณกิตติพันธ์พาผมเข้าไปหา "หลวงปู่" ใกล้ ๆ พร้อมกับแนะนำตัวผมสั้น ๆ ว่าเป็นนักเขียน "หลวงปู่" เหลือบสายตามาดูผมแวบหนึ่ง ก่อนที่จะหันหน้าไปดุคนเตรียมงานทอดกฐินว่าทำงานไม่เรียบร้อยด้วยภาษาที่ชาวบ้านมาก ทันใดใบหน้าของ "หลวงปู่" ก็กลับมาเคร่งขรึมน่าเกรงขามอีกครั้งยามที่พูดกับผมอีกที

"เธอศึกษาศิลปะ.....ศิลปะการต่อสู้.....มวยไท้เก้กใช่มั้ย ?"

ผมถึงกับสะดุ้ง เมื่อรู้ว่าภิกษุหนุ่มผู้ถูกลูกศิษย์เรียกว่า "หลวงปู่" รูปนี้กำลัง ถอดจิต ผมออกมาอ่านอยู่ว่า ผมเป็นใครและมาหาท่านทำไม ผมไม่คิดแม้แต่นิดเดียวว่า นี่เป็นการเตี๊ยมกันมาระหว่างคุณกิตติพันธ์กับภิกษุรูปนี้ที่อาจจะรู้ข้อมูลของผมมาก่อนแล้ว เพราะบรรยากาศที่ผมสัมผัสในขณะนั้นไม่ได้บอกผมเช่นนั้น


"ครับ"

"เธอเป็นคนที่แสวงหาพลังของธรรมชาติและจักรวาล เธอฝึกฝนตัวเองมาตั้งนานแล้ว เธอได้พบหรือยังว่าอะไรเป็นที่พึ่งได้ในโลกนี้ที่หาสิ่งที่พึ่งได้ยากเหลือเกิน มันไม่ใช่กายนี้แน่ แล้วใช่ใจหรือเปล่า"

ผมสั่นหน้าปฏิเสธ.....

"อ้อ ไม่ใช่ใจ แล้วเป็นอะไรล่ะที่เป็นที่พึ่งของตัวเธอ" ผมใช้นิ้วชี้ขวาชี้ไปที่ทรวงอกข้างซ้ายของผมซึ่งเป็นที่ตั้งของอาตมันในคัมภีร์อุปนิษัท

"อ้อ.....เธอหมายถึงพลังแห่งจิตวิญญาณยังงั้นหรือที่เธอใช้เป็นที่พึ่งนี่เธอเพิ่งได้แค่ขั้นนี้เองเรอะ ?"

ผมตะลึงเป็นครั้งที่สองในคำบอกของท่าน นอกเหนือไปจากพลังแห่งจิตวิญญาณแล้ว ยังมีสิ่งใดอีกเล่าที่ผมควรพึ่งพิง ? ภิกษุหนุ่มรูปนั้นหันไปพูดจาตลกโปกฮากับคนในวัดอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนบุคลิกภาพอย่างสิ้นเชิง ยามที่หันมาพูดกับผมอีกครั้ง ด้วยน้ำเสียงที่ทุ้มนุ่มน่าฟังยิ่ง

"สิ่งที่ผู้คนเรียกว่าศาสนานั้น ยังไม่ใช่ศาสนาที่แท้จริงหรอก เพราะ ศาสนาคือการรู้จักตนเอง" ภิกษุรูปนี้พูดราวกับถอดแบบออกมาจาก กฤษณา มูรติ ปราชญ์คนสำคัญของโลกแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้ล่วงลับไปแล้ว ภิกษุผู้นี้อ่านใจผมได้ และรู้ว่าผมนับถือกฤษณา มูรติ เป็นครูทางใจคนหนึ่งของผม จึงพูดในสิ่งที่สอดคล้องกับความคิดผมหรือเปล่านะ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ภิกษุผู้มีฉายา "หลวงปู่" รูปนี้แสดงธรรมได้ตรงกับจริตและรสนิยมทางความคิดของผมเหลือเกิน แค่นี้ยังไม่พอ สิ่งที่หลวงปู่ได้พูดออกมาต่อจากนั้นได้ทำให้ "ครูมวย" อย่างผมต้องตะลึงอีกเป็นครั้งที่สามต่อเนื่องกัน เพราะท่านบอกกับผมว่า

"ในอดีตฉันเคยสอนมวยแปดทิศ หรือปากัวให้แก่ศิษย์ไทยคนหนึ่งแต่มันก็ไม่ได้วิชานี้ของฉัน........ เฮ้อ...ไม่รู้ว่าวิชานี้ยากเกินไป หรือว่าพวกคนไทยสมัยนี้มันใช้การไม่ได้กันแน่.. พวกมนุษย์ปัจจุบันนี่มันสนใจแต่ทฤษฏี อยากรู้อยากเห็น แต่ไม่เคยคิดทำ คิดฝึกกันจริง ๆ เลย โดยเฉพาะพวกคนไทยเนี่ยที่ฉันพูดเช่นนี้ไม่ใช่ฉันว่าพวกเขาโง่หรอกนะ แต่สิ่งแวดล้อมรายรอบมันดึงมันดูดจิตใจของพวกเขาไปเสีย จนใจของพวกเขามืดมัวต่อเรื่องและศาสตร์แห่งจิตวิญญาณไปมากแล้ว" ภิกษุหนุ่มรูปนี้พูดราวกับว่าตัวท่านไม่ใช่คนไทยและไม่ใช่คนยุคนี้ก็ไม่ปาน ท่านยังกล่าวตำหนิศิษย์คนไทยของท่านอีกว่า

"ศิษย์คนไทยสมัยนี้สอนยากฉันได้เคยพยายามทำในสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่มาแล้วนะ ฉันเคยถีบพวกเขาตกน้ำเพื่อหวังให้พวกเขาตื่น ฉันเคยขังพวกเขาไว้ในถ้ำแล้วนั่งเฝ้าอยู่หน้าถ้ำ ยอมให้งูพิษมากัดฉันเพื่อไม่ต้องไปกัดพวกเขา แต่พวกเขากลับนอนกรนสบายอยู่ในถ้ำ แทนที่จะนั่งบำเพ็ญเพียรทำสมาธิ จนฉันเบื่อหน่ายในการฝึกฝนศิษย์"

"............." ผมนั่งนิ่ง ตั้งใจฟังสิ่งที่ "หลวงปู่" พูดอย่างใจจดใจจ่อ ทันใดท่านก็ถามผมในสิ่งที่คนทั่วไปไม่มีทางรู้มาก่อน จนผมต้องสะดุ้งเป็นครั้งที่สี่ว่า

"เธอไปหา ไส บาบา มาแล้ว ได้อะไรมามั่ง ได้แหวนมาหรือเปล่า"

ในขณะนั้นมีคนไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่าผมเพิ่งไปหาท่านไส บาบา มาในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2540

"เปล่าครับ เพราะผมไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นจากท่านไส บาบา แต่ต้องการเข้าถึงหัวใจของท่านไส บาบา ครับ"

"ไส บาบา เขาเคยฝากผงวิภูติมาให้ฉัน และให้ลูกศิษย์นำผ้าขาวมาถวายให้แก่ฉันด้วย"

ท่านพูดราวกับว่าไส บาบากับท่าน มีศักดิ์เสมอหรือใกล้เคียงกัน ทั้ง ๆ ที่อายุของสองท่านนี้น่าจะห่างกันไม่ต่ำกว่าสามสิบปีเต็ม ภิกษุหนุ่มรูปนี้รู้จักท่าน ไส บาบา ในชาตินี้หรือชาติก่อนกันแน่นะ ผมถึงกับอึ้งไปชั่วขณะ หลวงปู่จึงสอนผมว่า

"ความรักในโลกนี้มีสองประเภท คือ ความรักของพระเจ้า กับ ความรักของซาตาน ความรักของพระเจ้าเป็นความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่หวังครอบครองไร้อัตตา แต่ความรักของซาตานเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม"

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ฟังพระพูดถึงเรื่องความรักของพระเจ้าได้อย่างราบรื่นกลมกลืน และเป็นธรรมชาติยิ่ง จากนั้นท่านถามผมอีกว่า

"แล้ววิชาพระอาทิตย์ของอินคาล่ะ เธอฝึกไปถึงไหนแล้ว" เรื่องที่ผมเคยฝึกวิชาพระอาทิตย์ของอินคานี้มีคนรู้น้อยยิ่งกว่าน้อยอีก แม้ในหมู่ลูกศิษย์ของผมเองก็ตาม

"ผมได้รับการถ่ายทอดวิชานี้ไม่ค่อยเป็นระบบนัก และอาจารย์ชาวเปรูที่สอนผมก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงไม่ได้ฝึกฝนต่อครับ"

ผมชักเริ่มจะชินกับคำถามที่ถอดจิตผมออกมาอ่านของภิกษุหนุ่มรูปนี้จนไม่ตะลึกเป็นครั้งที่ห้าแล้ว

"ฉันได้วิชานี้ตั้งแต่ฉันเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ตอนนั้นแค่ฉันมองไปที่เพดานก็ทำให้จิ้งจกตกลงมาแล้ว ที่ฉันต้องหัดวิชาพระอาทิตย์ของอินคาในตอนนั้น เพราะขณะนั้นฉันเป็นโรคตาไก่ มองอะไรไม่ค่อยชัด ก็เลยอยากฝึกวิชานี้ทำให้ตาสว่าง มองอะไรแจ่มใสชัดเจน ตอนที่ฉันฝึกวิชาพระอาทิตย์นี้ตัวฉันไม่มีครูหรอกนะ แต่ตัวฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ตัวฉันรู้วิชาเหล่านี้มาได้ยังไงตั้งแต่เด็กแล้ว"

"ท่านไม่เคยมีครูเลยในชีวิตนี้หรือครับ" ผมถาม "หลวงปู่" บ้าง


"ฉันไม่เคยมีครูเป็นตัวเป็นตนเลย การฝึกวิชาทางจิตของฉันทั้งหมดได้มาจากการที่ฉันได้ปลุก ครูผู้มีใจอารี ที่อยู่ภายในดวงใจของฉันให้ตื่นขึ้นมาสอนตัวฉันเอง เพื่อการนี้ฉันได้ฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก เคยฝึกนอนอยู่ท่ามกลางโรงศพ กองขี้ ถ้ำเสือแม่ลูกอ่อนเป็นวัน ๆ กว่าที่ตัวฉันจะสามารถปลุกครูผู้มีใจอารีของฉันได้"

"หลวงปู่ครับ ผมจะสามารถหลอมรวมวิชาสายต่าง ๆ ที่ผมฝึกมาให้เป็นหนึ่งเดียวได้มั้ยครับ"

คราวนี้ผมเปลี่ยนสรรพนามเรียกภิกษุหนุ่มรูปนั้นจาก "ท่าน" ไปป็น "หลวงปู่" โดยไม่ตะขิดตะขวงใจอีกต่อไปแล้ว

"ในโลกนี้มีพลังอยู่ 2 ชนิด คือ พลังอนันต์ กับ พลังมหัศจรรย์ หรือ พลังอมตะ แต่พลังทั้งสองนี้อยู่ในขั้วเดียวกันคือ ธรรมชาติ ตัวเธอก็รู้จัก พลังกุณฑาลินี ดีอยู่แล้วนี่ พลังนี้คล้ายพลังงานปรมาณู แต่เป็นพลังปรมาณูของจิต"



**************



ก่อนหน้าที่ตัวผมจะได้พบกับ "หลวงปู่" ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ผมมีโครงการจะพาลูกศิษย์ของผมไปทำไร่เกษตรที่จังหวัดนครสวรรค์บนเนื้องที่ของศิษย์คนหนึ่งในสำนักยุทธธรรม ระหว่างวันที่ 5 - 10 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 แต่การได้พบกับ ยอดคน เช่น "หลวงปู่" โดยไม่คาดฝันเช่นนี้ทำให้ผมตัดสินใจที่จะพาลูกศิษย์ของผมมาปฏิบัติธรรมกับท่านที่วัดของท่านที่นครปฐม เมื่อผมลงจากศาลาแล้วได้บอกความตั้งใจนี้ให้คุณกิตติพันธ์ทราบเพื่อให้คุณกิตติพันธ์ไปขออนุญาต หลังจากนั้นคุณกิตติพันธ์ได้มาบอกผมว่า "หลวงปู่" ท่านอ่านจิตของผมทะลุล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว ท่านจึงบอกกับคุณกิตติพันธ์และลูกศิษย์คนอื่น ๆ ของท่านว่า อีกไม่นานผมจะพาลูกศิษย์ของผมจำนวน 10 คน มาปฏิบัติธรรมกับท่าน แต่ท่านจะไม่ให้พวกผมปฏิบัติธรรมที่นี่ที่นครปฐมนี่ ท่านจะจับพวกผมบวชชีพราหมณ์ และพาพวกผมไปปฏิบัติธรรมที่ ถ้ำไก่หล่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ท่านเคยอยู่และเคยปฏิบัติธรรมที่นั่นมาก่อน พวกลูกศิษย์ของท่านถามท่านกันใหญ่เลยว่า ผมเป็นใคร และทำไมผมจึงกราบท่านด้วยท่าแปลก ๆ ยื่นแขน แบมือออกแตะพื้นพร้อมหน้าผาก "หลวงปู่" ตอบว่า ผมกราบท่านแบบธิเบต



********************




 

หัวใจและจิตวิญญาณของคุรุ

 


ในวันที่ผมไปพบ "หลวงปู่" เป็นครั้งแรกนั้น คุณกิตติพันธ์ได้ให้หนังสือผมมา 2 เล่ม เพื่อ
ที่ผมจะได้รู้จัก "หัวใจและจิตวิญญาณ" (ฮาร์ท แอนด์ โซล) ของ "หลวงปู่" มากยิ่งขึ้น หนังสือ 2 เล่มนั้นคือ "อยู่กับปู่" (พ.ศ. 2540) และ "พ่อให้เจ้าทั้งชีวิต" (พ.ศ. 2540)

หนังสือ "อยู่กับปู่" เล่มนี้เขียนโดยคุณนารีรัตน์ นาคะเวช ศิษย์ก้นกุฏิคนหนึ่งของหลวงปู่ ซึ่งผมจะขอนำมาสรุปเรียบเรียงใหม่ดังนี้

.....วันนั้นเป็นวันจันทร์ที่ 15 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2536 เมื่อดิฉันกลับจากงานสอนหนังสือที่โรงเรียนในตอนเย็น พบว่า สามีดิฉันมีท่าทางตื่นเต้นขณะพูดว่า มีเพื่อนมาชวนเขาไป ถ้ำไก่หล่น ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยกัน เพราะได้ข่าวว่า มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาพำนักอยู่ ส่วนรายละเอียดยังไม่ทราบ แต่สงสัยว่าจะเป็น "หลวงปู่พระครูเทพโลกอุดร" เมื่อสามีดิฉันและเพื่อนไปที่ถ้ำไก่หล่นมาแล้ว ก็กลับมาบอกว่า ถ้ำไก่หล่น ไม่ใช่วัดไม่ใช่สำนักสงฆ์ แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีพระธุดงค์แวะเวียนมารูปแล้วรูปเล่าเขาบอกดิฉันว่าพระองค์นี้ซึ่งใคร ๆ เรียกกันว่า "หลวงปู่" ความจริงยังไม่แก่เลย พอดิฉันเอารูปหลวงปู่พระครูเทพโลกอุดรในหนังสือโลกทิพย์ฉบับเก่าให้เขาดูแล้วถามว่า หน้าตาเหมือนในรูปนี้หรือไม่ เขาตอบว่าไม่เหมือน สามีบอกกับดิฉันว่า เขาไม่เคยเห็นพระแบบนี้มาก่อนเลย พูดจาไม่เพราะ แต่มีภูมิปัญญาสูงมาก

"หลวงปู่" เพิ่งกลับมาจากกรุงเทพฯ ความจริงท่านมีกำหนดกลับวันที่ 21 มีนาคม คนที่อยู่บนถ้ำบอกว่า ไม่ทราบว่าทำไมหลวงปู่ถึงกลับเร็วกว่ากำหนด หลวงปู่บอกว่า

"ถ้ากูไม่กลับวันนี้ก็ไม่พบไอ้พวกนี้ (สามีและเพื่อน) ซิ มันร่ำ ๆ จะมาหากูตั้ง 2 วันแล้วนี่"
กลุ่มที่ไปนั้นอยู่สนทนากับท่านตั้งแต่บ่ายจนเย็นค่ำแล้วจึงลากลับ บางประโยคที่ท่านพูดได้แก่

"มึงมากันทำไม.......มาขอธรรมะอะไรจากกู กูไม่มีธรรมะอะไรจะให้หรอก ธรรมะมันอยู่ที่ตัวมึง.... ใคร ๆ เขาว่ากูบ้า มึงไม่กลัวจะบ้าเหมือนกูเรอะ"

พอกลุ่มที่ไปเอ่ยปากลา หลวงปู่ก็อุทานออกมาว่า

"น่าจะกลับตั้งนานแล้ว"

สามีดิฉันบอกท่านว่า..... วันหลังจะมาใหม่ ท่านกลับทำตาโต อุทานเป็นประโยคว่า

"หา ! นี่มึงยังกล้าหน้าด้านมาอีกรึ"


*******************



"หลวงปู่" เป็นผู้ที่เอื้ออาทรต่อการกินการอยู่ของคนอื่นอยู่มาก ใครที่มาหาท่านจะถูกถามด้วยประโยคต่อไปนี้เสมอว่า

"มาหาใคร".... "กินข้าวแล้วหรือยัง"

ดิฉันเคยถามท่านว่า ทำไมถึงถามแต่เรื่องกินข้าวแล้วยัง ท่านบอกว่า

"ก็กูหิว กู้รู้ดีว่าความหิวเป็นอย่างไร เลยไม่อยากให้คนอื่นหิวอย่างกู"

ความจริงการเข้าพบปะสนทนากับ "หลวงปู่" เป็นเรื่องง่ายมาก ถ้าท่านอยากให้พบจะพบได้ทันทีไม่มีพิธีรีตองอะไรทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่อยากให้พบก็ยากอยู่บางคนนั่งคุยกับท่านตั้งนานก็ยังไม่รู้ว่าท่านคือ หลวงปู่ เพราะท่านไม่มีมาดอะไร หน้าตาเรียบ ๆ แถมยังหนุ่มแน่น คนไม่รู้จึงเรียกท่านว่า "หลวงพี่" แล้วถามหาหลวงปู่ไปไหน หลวงปู่จะพูดอย่างพินอบพิเทาว่า

"หลวงปู่ไม่อยู่ครับ ไปธุระ อยู่แต่หลวงพี่ครับ มีธุระอะไรหรือครับ"

เกี่ยวกับเรื่องที่ระยะหลังมีคนมาหาท่านมาก ๆ นั้น ท่านมักพูดเสมอว่า

ความจริงกูก็สงสารพวกเขานะ ไม่ใช่กูไม่สงสาร มากันไกล ๆ อุตส่าห์ตะกายมาแล้วก็ไม่ให้พบ แต่คิดไปคิดมากูสงสารตัวเองดีกว่า เพราะกูก็ไม่ไหวว่ะ ขนาดกูไม่ต้อนรับมันยังมาขนาดนี้ กูอยู่ที่ไหนสิ่งที่กลัวที่สุดคือคน เพราะคนหรือปุถุชนนี่ไว้ใจมันไม่ได้หรอก อีกอย่างกูบวชมิใช่ให้คนมาศรัทธา ไม่ได้มีหน้าที่รับแขก แต่กูต้องการทำตัวเองให้ศรัทธาตัวเองได้ คนเราจงทำตัวเองให้มีศรัทธาเถิด อย่าเที่ยวไปวิ่งหาศรัทธาจากที่อื่นเลย จงอย่าเอาใจไปผูกกับคนอื่นเลย จงผูกใจไว้กับตัวเองเถิด สำหรับตัวกูแล้ว การที่คนเราทำดีจนสามารถกราบไหว้ตัวเองได้อย่างสนิทใจนั่นแหละ คือสิ่งที่วิเศษสุด"

อีกเรื่องหนึ่งที่ "หลวงปู่" มักจะเตือนเสมอก็คือ

"กูไม่ใช่ดารานะ ไม่ต้องมีผู้จัดการมาจัดคิวให้คนโน้นคนนี้เข้าพบ ถ้ากูอยากให้พบได้พบ กูไม่อยากให้พบ กูจะหลบเอง อีกอันหนึ่ง กูไม่เคยคิดว่าพวกมึงที่นั่งหน้าสลอนอยู่นี่เป็นลูกศิษย์กู ในขณะเดียวกัน กูไม่เคยคิดว่าพวกที่เพิ่งมาไม่ใช่ศิษย์"

"หลวงปู่" เคยเล่าว่า ท่านเคยพาพระเณรไปธุดงค์ แล้วขังในถ้ำแห่งหนึ่งโดยเอาหินปิดปากถ้ำไว้ แต่มีงูพิษร้ายตัวหนึ่งจะเลื้อยเข้าไปในถ้ำ ท่านเห็นว่าหากปล่อยมันเข้าไปอย่างนั้น พระเณรในถ้ำต้องได้รับอันตรายแน่ ๆ ท่านจึงตัดสินใจยื่นเท้าข้างหนึ่งออกไปให้มันกัด แล้วรีบนั่งสมาธิใช้ลมหายใจสกัดพิษไม่ให้แล่นเข้าสู่หัวใจ พิษจึงถูกขับมาอยู่ที่ผิวหนัง รุ่งเช้าผิวหนังของท่านจึงมีสีช้ำ เป็นจ้ำ ๆ และปัสสาวะก็เป็นสีเลือดคล้ำ ๆ ท่านยังบอกอีกว่าที่ถ้ำไก่หล่นนี้ มีพลังของไอสุริยันจันทรา ใครที่ไม่สบายไปนอนรับพลังตรงกลางปล่องถ้ำได้ นอกจากนี้ ถ้ำไก่หล่นยังเป็นที่รวมของพลังเร้นลับ เหมาะสำหรับทำพิธีกรรมต่าง ๆ ท่านเล่าว่าถ้ำแห่งนี้ในอดีตเคยมีพระโพธิสัตว์มาอยู่ 4 องค์แล้ว ตีนถ้ำด้านหลังก็เป็นทะเลมาก่อน หลวงปู่จึงเขียนบทโศลกขึ้นมาบทหนึ่งเกี่ยวกับถ้ำแห่งนี้ว่า

"สรรพสิ่งเริ่มประปราย ดารารายเปลี่ยนวิถี
ทะเลลึกเนิ่นนานปี มาบัดนี้กลายเป็นสูง"


"หลวงปู่" มีความผูกพันกับธิเบตมากทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เคยไปธิเบตมาก่อนเลยท่านสามารถพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ตลอดจนประเทศธิเบตได้ละเอียดลึกซึ้งทุกอณูของธิเบตก็ว่าได้ ท่านพูดว่า

".....กูต้องไปธิเบตสักวันหนึ่ง เพราะกูมีสัญญาผูกพันกับที่นั่น มีพระอายุ 120 ปี คอยให้กูไปส่งวิญญาณ ตอนนี้เขานอนตายอยู่ในถ้ำน้ำแข็ง...... คนที่นั่นเขาก็เหมือนพวกมึงนี่แหละไม่อยากให้กูไปไหน เขาร้องไห้อาลัยอาวรณ์เวลากูจากมา"

หลวงปู่เคยพูดถึงพระยันตระว่า

"ยันตระสมัยที่เขาบวชเป็นฤาษี เขาไปหากูที่ถ้ำแห่งหนึ่ง เขาขอสมัครเป็นศิษย์แต่กูไม่รับ ตอนนั้นดูเขาประสาท ๆ อยู่ เล่นกสิณมากไป"

ถ้าคำนวณอายุของพระยันตระตอนเป็นฤาษี "หลวงปู่" มีอายุแค่สิบกว่าปี เท่านั้นเอง (ว่ากันวา ท่านมาอยู่ในร่างนี้ ในปี พ.ศ. 2502) หรือว่าเป็นร่างอื่น ?

ส่วนหลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงปู่เคยพูดว่า "เจ้าฤาษีลิงดำ กูเคยเห็นมันตั้งแต่เด็ก ๆ อายุ 7 - 8 ขวบ วิ่งตะลอน ๆ อยู่กลางทุ่ง หนอยตอนนี้เผลอแผล็บเดียวเป็นพระนักเทศน์ชื่อดัง นิพพานของมันเป็นบ้านเป็นเมือง กูชักอยากได้ซักหลังหลอกหาแดกไปวัน ๆ คนมันก็โง่ชอบให้พระหลอก"

หลวงปู่บอกว่าวิชาสุดยอดของท่าน คือวิชาลม 7 ฐานและเป็นสุดยอดวิชาของพระโพธิสัตว์ วิชานี้เป็นวิชาเก่าแก่ของคนยุคโบราณ เป็นวิชาว่าด้วย การหายใจ การบังคับลมหายใจให้ลึกยาวนานและช้า ๆ ผู้สำเร็จวิชาลม 7 ฐานนี้แล้ว จะมีคุณวิเศษมากมาย เช่น มีพลังในตัว ใช้พลังรักษาโรคได้ เวลาป่วยใช้วิธีซึมซับพลังจากธรรมชาติรอบตัวเข้าร่าง ล่วงรู้วาระจิตของผู้อื่น อายุยืน เหล่านี้เป็นต้น

ครั้งหนึ่งมีเณรรูปหนึ่งจิตใจฟุ้งซ่าน เปลี่ยนอาจารย์มาหลายสำนักแล้วก็ไม่ก้าวหน้าขึ้นเลย เผอิญได้ยินกิตติศัพท์หลวงปู่จึงมุ่งมาที่นี่ แต่ทนอยู่กับหลวงปู่ได้สองวันก็มาลาหลวงปู่ไปต่อ หลวงปู่ทำตาเหลือกใส่

"หา จะไปต่ออีกหรือนี่ เธอยังเร่ร่อนไม่พออีกหรือจ๊ะ"

เณรพูดว่า "ที่นี่ไม่สงบเงียบครับ เณรอยากจะหาที่เงียบ ๆ พิจารณาธรรมไปเรื่อย ๆ "

หลวงปู่จึงเทศนากัณฑ์ใหญ่มีใจความว่า

"ไม่มีที่ไหนจะเหมาะกับตัวเราหรอก เพราะเราทำตัวไม่เหมาะสมกับทุกที่เณรเข้าใจคำว่าสมาธิแค่ไหน สมาธินั่งตัวแข็งทื่อหลับตาปี๋หรือ นั่นมันสมาธิตอไม้จ๊ะ เพราะสมาธิที่ถูกต้องหมายถึงความแข็งแกร่งของจิตที่พร้อมที่จะทำหน้าที่การงานที่สร้างสรรค์ตลอดเวลาต่างหาก"

ในคืนหนึ่ง ที่ลานหินโค้ง บริเวณถ้ำไก่หล่น "หลวงปู่" ได้นั่งสนทนาธรรมกับลูกหลานตอนหนึ่ง หลวงปู่ได้อธิบายถึงกระบวนการทำงานของจิตโดยสมมติเลข 6 ขึ้นมาแล้วถามว่า

"ก่อนถึงเลข 6 จะต้องผ่านเลขหนึ่งมาก่อน 1...2...3...4...5...ก่อนใช่ไหม ? อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากผัสสะก็เช่นกัน ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าจะมาถึงจุดนี้ ผู้ที่รู้ไม่เท่าทันอารมณ์จะไม่รู้ถึงข้อนี้ ทันทีที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส เขาจะเกิดเวทนาทันทีทันใด ยับยั้งอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ได้ ผู้ที่มีสติปัญญาเท่านั้นถึงจะรู้ทันมัน สามารถยับยั้งอารมณ์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นช้าลง น้อยลงและในที่สุดไม่เกิดอารมณ์ปรุงแต่งใด ๆ เลย ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนสติปัญญาของแต่ละคน......"

ใครคนหนึ่งถามหลวงปู่ว่า ลูกผู้ชายต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ท่านตอบว่า

"ลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง อดทน จริงจัง จริงใจ ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีคุณธรรม พูดจริง ทำจริง สุภาพ อ่อนโยน.....ส่วนลูกผู้หญิงที่สำคัญต้องมีความอาย เพราะความอายเป็นสมบัติของกุลสตรี"

เกี่ยวกับเด็กที่มีบุญวาสนา ท่านให้ข้อคิดว่า

"เด็กมีบุญวาสนามาเกิด หมายถึง พวกเทพเทวดาที่หมดบุญมาเกิด เด็กพวกนี้จะมีนิสัยเรียบร้อย สติปัญญาดี และไม่ต้องให้ใครสอน เขาจะดีด้วยตัวเขาเองยิ่งถ้าพ่อแม่เป็นคนไม่ดีพอ เขาจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบมากหากไปบังคับเขา ส่วนแม่ที่เด็กมีบุญจะมาอาศัยเกิดต้องมีคุณลักษณะดังนี้ ใจคอเยือกเย็น มีคุณธรรม ไม่ละโมบ"

หลวงปู่พูดถึงการจัดดอกไม้ว่า จะต้องมีรูปแบบในการจัด มีชั้น มีเด่น เป็นวงกลมบ้าง ห้าเหลี่ยมบ้าง เป็นการจัดที่รวมพลังเพื่อตอบรับและปฏิเสธ ถ้าจัดเป็นแปดเหลี่ยมจะเป็นการรวมพลังที่สมบูรณ์ หลวงปู่มีความเชี่ยวชาญในศิลปะแทบทุกแขนง

ท่านเคยเทศน์ว่า.......

"อยากเป็นคนเก่งต้องหมั่นฝึกอบรมสติปัญญา ต้องสั่งสมเรื่อยมา
อยากเป็นคนพูดจาไพเราะน่าฟัง ต้องพูดแต่สิ่งดีมีประโยชน์
อยากสวยต้องรักษาศีล อยากมีบริวารต้องรู้จักศรัทธาฟังผู้อื่น
อยากมีวาสนาต้องเป็นผู้ให้ ทำดีต้องได้ดีจะเป็นชั่วไปไม่ได้"


"ราชสีห์มี 2 จำพวก พวกแรกมีบริวารห้อมล้อมมากมาย
ดูแลคุ้มครองบริวาร อาศัยบารมีบริวารทำให้ตนโดดเด่น
พวกหลังชอบอยู่ตัวเดียวโดดเดี่ยว เมื่อมีราชสีห์ตัวอื่นเข้าใกล้
มันจะขบกัด ถ้าทนได้มันถึง จะยอมรับ ยอมสั่งสอน
กูขอเป็นราชสีห์ประเภทหลัง"

เวลาหลวงปู่สวดมนต์ เสียงของท่านไพเราะจับใจมาก ท่านเคยสอนว่าการจะสวดมนต์ให้ได้ผลดีเราจะต้องเตรียมตัวดังนี้

หนึ่ง กายสะอาด หมายถึง การวางภาระทางโลกต่าง ๆ ลงเสีย ฝึกระเบียบทางกาย ที่เรียกว่ามี กายศักดิ์สิทธิ์

สอง วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ คือ การฝึกใจให้สะอาดบริสุทธิ์ สงบปราศจากความโลภ โกรธ หลง เรียกว่า มีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์
เมื่อมีสองศักดิ์สิทธิ์แล้ว

สาม ธรรมศักดิ์สิทธิ์ ก็จะเกิดขึ้นด้วย และการสาธยายมนต์จะดีไปโดยปริยาย มีผู้ถามหลวงปู่ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ? หลวงปู่ตอบว่า

"อารมณ์ทั้งหลายเป็นเพียงอาการของจิต มันเป็นเพียงมายาของจิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยธรรมชาติแล้ว จิตของคนเราจะไม่มีว่าง ถ้าว่างก็เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น อารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจึงเปรียบเสมือนแขกที่มาเยือนเราเป็นครั้งคราว เราเป็นเจ้าของบ้าน เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกต้อนรับแขก ในเมื่อเรารู้อยู่ว่าถ้าเราออกไปรับอารมณ์ภายนอกก็เท่ากับเราไปยืนอยู่นอกบ้านรับพายุฝน ทั้งเปียก ทั้งหนาว จะเอาไหม เราก็ไม่เอา เราต้องสลัดทิ้ง แล้วอะไรล่ะที่จะเป็นตัวควบคุมให้เกิดการรู้เท่าทันอารมณ์ ก็สติอย่างไรล่ะ สติเป็นส่วนหนึ่งของจิต แต่เป็นฝ่ายกุศล......"

"จิตเปรียบเสมือนแม่ สติเปรียบเสมือนลูก หากอยากจะถึงนิพพานก็ต้องมีสติเต็มตัวทั่วพร้อมจิตเชียวแหละ เจตสิก คือสภาวะอาการของจิต รูปคือการปรุงแต่ง ตัดตัวเจตสิก รูปทิ้งก็ถึงนิพพาน การจะฝึกสติให้มีเต็มตัว ทั่วพร้อมได้ ผู้นั้นควรฝึกลม 7 ฐาน"

ศิษย์ของหลวงปู่ที่เป็นพระรูปหนึ่งเคยเล่าว่า ตอนที่หลวงปู่จะมาเกิดใหม่มีร่างให้เลือกเพียง 2 ร่างเท่านั้น คือ สุนัข กับเด็กชายคนหนึ่งที่กำลังป่วยหนักท่านคิดว่าถ้าเกิดในร่างสุนัข คงทำประโยชน์อะไรให้โลกไม่ได้ จึงตัดสินใจเข้าร่างเด็กคนนี้ ตอนที่ท่านเป็นเด็ก มีพระธิเบต 2 รูปมาหาท่านแล้วเอาลูกแก้ว 2 ลูกมาให้ท่านเลือก ลูกหนึ่งกลมเกลี้ยง ลูกหนึ่งเป็นเหลี่ยม ถ้าเลือกลูกกลมเกลี้ยงจะไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้ว แต่ถ้าเลือกลูกเหลี่ยมแสดงว่าท่านต้องอยู่ทำงานในโลกมนุษย์บำเพ็ญเพียรต่อไป หลวงปู่หยิบลูกเหลี่ยมใส่ปากกลืนลงไป พระธิเบตพูดก่อนจากว่า "ท่านยังเหมือนเดิมเลยนะ ชอบความลำบาก"



************************


พ่อให้เจ้าทั้งชีวิต

 



ส่วนหนังสือ "พ่อให้เจ้าทั้งชีวิต" เป็นหนังสือรวมโอวาทของ "หลวงปู่" ที่สำคัญมากในขณะนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้ หลวงปู่มุ่งที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ทางวิญญาณและการดำเนินชีวิตของท่านให้แก่ลูกหลานไว้เป็นเครื่องพิจารณาดังที่ผมจะขอนำมาถ่ายทอดสักส่วนเสี้ยวหนึ่ง ดังต่อไปนี้

ลูกรัก..........

เมื่อจิตใจของลูกกลับคืนสู่ธรรมชาติแท้แห่งความแจ่มใส ลูกจะพบขุมทรัพย์ ภายในตัวของลูกเองอย่างมากมาย อันได้แก่ความรัก ความอบอุ่น ความปลื้มปิติ ความนิ่งสงบ ลูกจะรู้สึกสังผัสได้กับความสวยงามอันซาบซึ้งของชีวิต ลูกจะรับรู้และสัมผัสได้กับประสบการณ์ทุก ๆ ขณะที่ไหลเรื่อยเข้ามาสู่การรับรู้ จิตของลูกจะเปิดรับสัมผัสกับความสุขในการมีชีวิต การที่ลูกจะประจักษ์ถึงคุณภาพต่าง ๆ เหล่านี้ในตัวลูกได้นั้น มันก็ต้องเกิดมาจากจิตใจอันแจ่มใสที่ยิ่งใหญ่นั่นเอง

คำถามมันมีอยู่ว่า ลูกจะสามารถพัฒนาและเข้าถึงความแจ่มใสในจิตใจของลูกได้มากน้อยแค่ไหน ? ลูกจะสัมผัสกับธรรมชาติอันดีงามของชีวิตได้อย่างไร ? และลูกจะมีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งในความรู้สึกนึกคิดได้มากขนาดไหน ?

แม้ว่ามีอยู่บ่อยครั้งที่ลูกได้สัมผัสกับความอิ่มเอิบภายในที่ได้จากศานติ โปร่งเบา และแจ่มใส แต่เจ้ามักจะปิดบังตนเองจากมัน กลับไปเลือกทำสิ่งที่เป็นความสับสน วุ่นวาย หนัก หน่วงเหนี่ยว และอึมครึม หลายครั้งที่ลูกไม่อนุญาตให้ตนเองได้สัมผัสกับความสุขอันแท้จริงเลย เหตุเป็นเพราะเจ้าหลงผิด คิดผิด จึงทำผิด และพยายามทำให้เกิดความสุขแบบผิด ๆ จนบางทีบางครั้งลูกก็ไม่สามารถจะเบิกบานกับความสำเร็จของลูกได้อย่างเต็มที่ อาจเป็นเพราะเจ้ายังเป็นผู้มีความเคลือบแคลง สงสัย เป็นห่วงและหวงกังวลอยู่ความรู้สึกในเชิงลบเช่นนี้มันทำให้ลูกยิ่งห่างไกลออกจากเนื้อแท้ของชีวิต อีกทั้งยังทำให้ลูกต้องหลงทางไปแสวงหาความสุข และความอิ่มเอิบจากภายนอก เจ้าจึงถูกชักจูงให้สับสนและสนใจกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นรอบตัว เจ้าจึงใส่ใจอยู่กับมันอย่างจดจ่อโดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้ลูกมีความสุข

แต่ลูกหารู้ไม่ว่า การที่ลูกใช้พลังงานมุ่งแต่ภายนอกกายตน มันทำให้ลูกต้องพลาดจากกระแสแห่งความรู้สึกอันละเอียดอ่อนลึกซึ้งที่มีอยู่ในตัวเจ้า การที่ลูกแยกตนเองออกจากธรรมชาติอันแจ่มในของจิตใจ มันจึงทำให้เจ้าเสียรากฐานที่แท้จริงของชีวิตเจ้าไป มันจึงทำให้ลูกรู้สึกหวั่นไหวไม่มั่นคง ลูกจึงเริ่มรู้สึกว่าชีวิตนี้ว่างเปล่าไร้คุณค่า เมื่อลูกไม่สามารถดื่มด่ำกับความอิ่มเอิบจากการรู้จักตนเองได้อย่างแท้จริงแล้วละก็ ลูกก็มักจะมุ่งหาผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เพื่อทำให้ลูกสบายใจหรือเป็นสุข ลูกจึงขาดสามัญสำนึกอันละเอียดอ่อนในตน และถูกดึงดูดให้ตกอยู่ในวงจรของความกังวล หมกมุ่นไม่เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ทำให้เจ้ายิ่งดิ้นรน หมุนวนที่จะแสวงหาความสุข แต่พ่อเชื่อแน่เหลือเกินว่า ลูกจะไม่มีทางได้พบกับมันเลยการแสวงหาเช่นนี้จะเกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนกลับกลายเป็นความเคยชิน จนเจ้าหลงผิดคิดไปว่ามันเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ของเจ้า

ลูกรัก........

ความชัดเจนในการมองตนเอง เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้แห่งตน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ง่ายถ้าลูกหมั่นสังเกตดูการทำงานของจิตและร่างกายของลูกอยู่เสมอ ลูกสามารถฝึกการสังเกตในกายและจิตใจของตน เมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าลูกกำลังจะทำอะไรอยู่ โดยสังเกตที่จะใส่ใจต่อการเกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงของการทำงานและความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ที่เกิด ลูกจะเห็นเองว่าสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงและอารมณ์ มีอิทธิพลต่อร่างกายและจิตใจจนยากที่จะฝืนทีเดียวแต่ถ้าลูกเพียรพยายามเพิ่มขึ้นสักนิดเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการมองเข้ามาสู่ภายในกายของตน ลูกก็จะเกิดพลังและแนวความคิดใหม่ ๆ ที่จะเชื่อมระหว่างกายกับจิตให้ผสมผสานกลมกลืนสอดคล้องต่อการมีชีวิตอย่าธรรมชาติ ลูกจะเกิดพลังงานอย่างมีคุณภาพ ลูกจะดำเนินเข้าสู่กระแสแห่งชีวิตและหนทางแห่งการเรียนรู้ตนเองอย่างมีคุณภาพ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันส่งเสริมต่อการกระทำของลูกให้แจ่มใส สดชื่นทุกอิริยาบถอีกด้วย

พลังเหล่านี้จะถูกลูกนำมาใช้อย่างมีประโยชน์สูงประหยัดสูง เมื่อลูกสงบนิ่ง ซื่อตรงและยอมรับตนเอง ความเชื่อมั่นของลูกจะเกิดขึ้น ลูกจะสามารถเรียนรู้วิถีทางใหม่ ๆ และแนวทางอันดีงามที่จะรู้จักตนเองมากขึ้น เมื่อเครื่องมือแห่งการรับรู้ของลูกแจ่มใสสะอาด ทั้งยังมีการเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา นั่นก็คือจิตที่สะอาดปราศจากการปรุงแต่ง หรือ "สมาธิ" สิ่งนี้แหละที่พ่อเรียกว่ามันคือ ตัวการกำหนดพลัง ที่พ่อจะสามารถใช้มันได้ตามความต้องการ การมีสมาธินั้นมิใช่การฝึกวินัยอย่างเข้มงวดกวดขันตายตัว แต่มันหมายถึง การผ่อนคลายการทำใจให้สงบอย่างธรรมชาติที่สุด

สมาธิที่ลูกต้องการนั้น มันควรจะรวมกายกับใจด้วยความรู้สึกผ่อนคลายแบบสบาย ๆ อันเป็นคุณภาพที่อ่อนโยน ไม่เข้มงวดตายตัว ลูกสามารถทำสมาธินี้ได้แม้ในการทำงาน โดยการทำงานทีละอย่างอย่างทุ่มเท จดจ่อ ให้ความสนใจทั้งหมดแก่งานอย่างเต็มที่และละเอียดถี่ถ้วน ใส่ใจอย่างต่อเนื่องจนงานนั้นเสร็จเรียบร้อย ในขณะเดียวกันก็จงอย่าทำงานด้วยความกังวล จงอย่าทำงานด้วยความเครียด และจงอย่าผูกใจไว้กับผลของงาน ลูกควรจะทุ่มเทสนใจ ผูกใจเฉพาะในขณะที่ทำงานนั้น ๆ เท่านั้น แล้วลูกจะพบกับความชัดเจน ความเข้าใจลึกซึ้งถี่ถ้วนขึ้น นี่คือการทำงานตามวิถีทางแห่งธรรมชาติ ด้วยความโปร่งใจ แจ่มใสและสงบ ความรู้เนื้อรู้ตัวของลูกก็จะเกิดขึ้น และมีความละเอียดอ่อนที่จะเข้าถึงการไหวแห่งความคิดที่เจ้าจะสามารถรับรู้และรู้สึกถึงการไหวแห่งความคิด อารมณ์ และการกระทำของเจ้าได้

ความรู้เนื้อรู้ตัวจึงเป็นการรวมตัวของพลังอำนาจ ลูกจะเกิดความชัดเจนในสะอาดในสำนึกของตน หากปราศจากความรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว แม้ว่าลูกจะให้ความใส่ใจและเพียรพยายามสัมผัสซึมซาบ กระทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความชัดเจนแจ่มใสเพียงใด ลูกก็จะเหมือนกับเด็กเล็ก ๆ ที่สร้างปราสาททรายเอาไว้ชายทะเล โดยไม่คำนึงว่า คลื่นลมจะทลายมันลงไปในเวลาอันรวดเร็ว ความรู้เนื้อรู้ตัวจะทำให้เกิดความมั่นใจแก่ตัวลูก มันจะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจต่อทุกสิ่งที่ลูกกระทำ ลูกจะทำมันด้วยพลังความสามารถของลูกอย่างเต็มที่ลูกสามารถพัฒนาความรู้เนื้อรู้ตัวโดยการมี ความชัดเจนในการคิดพิจารณาต่อกิจการงานที่กำลังจะทำ ความชัดเจนใสสะอาดในการรับรู้ ความโปร่งใจ แจ่มใส ความสงบ และความรู้เนื้อรู้ตัวนี้ ลูกจะไม่สามารถเรียนรู้จากห้องเรียนได้เลยหรือจากหนังสือ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้คือ สาระแก่นสารของธรรมชาติแท้ในมนุษย์ซึ่งลูกจะต้องเรียนรู้จากตัวของลูกเองเท่านั้น

ลูกรัก ถ้าลูกเรียนรู้จากตัวเองได้จริง ชีวิตของลูกก็จะกลับกลายเป็นงานศิลปะ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจ ระหว่างการเรียนรู้และประสบการณ์ของชีวิตในแต่ละขณะ ลูกจะสามารถเชื่อถือและพึ่งตนเองได้ ความโปร่งใจ แจ่มใส สงบ และรู้เนื้อรู้ตัวนี้ ความจริงมันอยู่ในคนทุกคนอยู่แล้ว มันขึ้นอยู่ที่ว่า คนใดจะสามารถพัฒนาให้ถึงมัน และนำมันออกมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก และถ้าผู้ใดสามารถพัฒนาและนำมันออกมาใช้ได้แล้ว มันจะทำให้ผู้นั้นเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริง เขาจะเกิดความเข้าใจ ความสงบอย่างสันติ ทั้งยังจะทำให้เกิดความงอกงามในทางร่างกายและจิตใจ ชีวิต การงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสรรพสิ่ง อีกทั้งยังจะเกิดความรู้สึกอิสระเสรีในการมีชีวิต ชีวิตที่แท้จะเกิดความปีติอย่างล้ำลึก ยาวนานในการเกิดและการมีชีวิต

ลูกรัก.....ชีวิตของพ่อ พ่อให้เจ้าทั้งชีวิต พ่อเชื่อมั่นในตัวลูกว่า สักวันหนึ่งลูกจะกลายเป็นคนที่เคารพและศรัทธาในตนเองได้


 

(1) "หลวงปู่" เคยกล่าวถึง จิตของพุทธะ เอาไว้ว่า

"จิตของพุทธะคือ สภาวะของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาอาการของสภาวจิตที่ปราศจาก การปรุงแต่ง หลวงปู่เคยเขียนบทโศลกเพื่อสอนลูกหลานไว้ว่า ลูกรักประตูของธรรมชาติ จักรวาล และนิพพานจะเปิดก็ต่อเมื่อใดที่ใจเจ้าไร้การปรุงแต่ง จิตของพุทธะนั้นมีความละเอียดอ่อน ซึ่งไม่ได้มุ่งตรงไปกับอะไร แต่เป็นจิตที่ได้ประโยชน์จากอะไรในสิ่งรอบข้าง รู้จักอ่านเกมส์ อ่านกาล อ่านวิธีการ และอ่านการกระทำที่เกิดขึ้นรอบข้างให้ได้ออก ขณะเดียวกันก็ต้องบอกตัวเองให้ได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่มายาการ มันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป......."

"รวมความแล้ว คนที่จะมีจิตปลดปล่อย และวางได้อย่างอิสระ ไม่ยึดติดในสุข ในทุกข์นั้น คือคนที่ไร้ความปรุงแต่งในหัวใจ แต่ก่อนจะถึงไร้ความปรุงแต่งในหัวใจ ก็ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น หมั่นหมายใจมั่นคงในการฝึกปรือ และเรียนรู้กฎเกณฑ์และกติกาธรรมดาของโลกเสียก่อน สุดท้ายเราถึงละวางกลายเป็น พุทธะผู้อิสระ โดยที่ไม่ต้องมีใครเป็นนายเรา แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องเป็นนายอะไรได้อย่างสมบูรณ์"


(2) ส่วนการที่คนเราจะศรัทธาในตนเองได้นั้น "หลวงปู่" บอกว่า ผู้นั้นจะต้องสร้าง 3 สิ่งให้เกิดขึ้นได้ก่อนคือ (1) การงานดี (2) ตบะดี (3) ปัญญาดี เมื่อเกิด 3 สิ่งนี้ก็จะศรัทธาในตัวเองได้

การงานดี คือ การงานที่สะอาดทั้งเบื้องในและเบื้องนอก ต่อหน้าและลับหลัง มากไปด้วย
ประโยชน์และเต็มไปด้วยประหยัด เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่ ทำเพื่อพลี ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์

ตบะดี คือ การมีจิตใจที่มั่นคงดุจขุนเขา รักษาใจเราให้เป็นหนึ่ง แนบแน่นสนิทจนกระทั่งไม่เกิดอารมณ์ชนิดใด ๆ ออกมา เต็มไปด้วย สติ สมาธิ ตบะ

ปัญญาดี คือ ความใคร่ครวญจนละเอียดถี่ถ้วนก่อนยอมรับหรือปฏิเสธจะดูว่าใครเป็นผู้ที่มีปัญญาญาณ ให้ดูที่คำพูด การเจรจาของเขาว่าทำให้ผู้คนสว่าง สะอาด แจ่มแจ้ง หมดจดหรือไม่

เมื่อคนเรามี 3 สิ่งนี้แล้ว ก็ถือว่าผู้นั้นแก่กล้าที่จะศรัทธาในตนเองได้


(3) "หลวงปู่" กล่าวถึง ความว่าง เอาไว้ว่า

"ความเปล่าไม่ใช่ความว่าง เพราะความว่างเป็นสภาวะที่ไร้ปฏิกิริยาสนธิ คือปราศจากการก่อเกิด หรือปราศจากสาเหตุของการก่อเกิดทั้งปวง ก่อนอื่นคนเราต้องเข้าถึงความเปล่าแห่งจิตเดิมให้ได้ก่อน จึงจะไปถึงความว่างนั้นได ซึ่งต้องเริ่มจากการทำสามศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาภายในตัวเรา นั่นคือ กายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ และธรรมศักดิ์สิทธิ์"

"กายศักดิ์สิทธิ์" คือ ความพยายามที่จะทำประโยชน์จากกาย ให้ประโยชน์กับกาย และรับประโยชน์จากกาย เมื่อกายศักดิ์สิทธิ์แล้ว มีสภาวะของการศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอานุภาพแล้ว กายนั้นจะเป็นกายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการฝึกปรือ เต็มเปี่ยมไปด้วยความอดทน อดกลั้น เสียสละ อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้จิตกล้าแข็ง มีความสมดุล มั่นคง ไม่กระเพื่อม อันเป็น จิตศักดิ์สิทธิ์ เมื่อจิตถึงความไม่กระเพื่อม สงบ ความหยุดและเสรีภาพแล้วมันถึงจะเกิด ธรรมศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะทำให้เกิดญาณรู้แจ้ง หยั่งรู้ได้ว่า อะไรคือ ความว่าง และจะพ้นจากความเปล่าไปสู่ความว่างได้อย่างไร"


(4) "หลวงปู่" กล่าวถึง ธรรมะ เอาไว้ว่า

"ธรรมะมิใช่สิ่งที่มีเอาไว้คุยอวดกัน หรือมีเอาไว้จดใส่ตำรา แต่ธรรมะมีไว้สำหรับกำกับดูแลกิริยาอาการของตัวเราให้ละเมียดละไมเรียบร้อยอ่อนช้อยสวยงาม เป็นสตรีก็เป็นกุลสตรีที่เหมาะสมควรแก่การให้เกียรติเคารพ ถ้าเป็นผู้ชายก็เป็นสุภาพบุรุษที่เยี่ยมยอด องอาจ กล้าหาญ โดดเด่น เด็ดเดี่ยว และมั่นคง เพราะเสริมสร้างบุคลิกภาพของตนให้เป็นคนกล้าทำ กล้าพูด กล้าคิด และกล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง นั่นถือว่าคนคนนั้นมีธรรมะ"

"รวมความแล้ว ธรรมะ คือ เครื่องเสริมสร้างจรรโลง และเจือจุนให้บุคคลนั้น กิน ยืน เดิน นั่ง นอน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความถูกต้องเรียบร้อยเป็นปกติ จึงถือว่าคนคนนั้นมีธรรมะ คนที่จะมีธรรมะสูงนั้น เขาไม่ใช่ดูที่การยืดชูคอ อวดอ้างคุณภาพ แต่จะดูที่กิริยาการกระทำอาการของเขา การวางตัวของเขา โดยเฉพาะตอนที่เกิดเรื่องว่า เขาสามารถรักษาทรงอารมณ์ของเขาไม่ให้กระเพื่อม ไม่ให้อ่อนยวบยาบ สามารถตั้งมั่นอยู่ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ถือว่าเขามีธรรมะ มีสติ มีสมาธิ มีพลังอำนาจ"

"คนที่เขามีธรรมะเนี่ย เขาจะมีธรรมะอยู่ในวิญญาณ อยู่ในสายเลือด อยู่ในชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ไม่ใช่มีธรรมะแค่ริมฝีปากเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่มีธรรมะจึงไม่จำเป็นต้องมานั่งสวดมนต์อ้อนวอนขอพรพระเจ้า หรือไม่จำเป็นต้องมานั่งหลับหูหลับตาแสดงท่าเป็นผู้วิเศษ ผู้ที่มีธรรมะนั้นไม่ว่าจะมีกิริยาอาการใด ๆ ก็แล้วแต่ ล้วนแต่เพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน เอื้ออำนวยสรรพสัตว์ให้เกิดสรรพสุข พ้นจากสรรพทุกข์ทั้งปวงได้"

"เพราะ ธรรมะ ก็คือ การทำหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์ บริสุทธิ์ ถูกต้อง ตรงแนวและยุติธรรม ตามครรลองและทำนองคลองธรรมของกฎเกณฑ์แห่งสังคม และความเป็นสมมติในโลก ซึ่งในที่สุด ธรรมะจะเป็นตัวการทำให้เราพ้นจากอำนาจความเป็นสมมติได้ด้วย คนมีธรรมะเขาจึงไม่ได้นิ่งแต่ใจเขานิ่งธรรมะชั้นสูงสุดยอดวิเศษสุดนั้น ไม่ใช่เรียนจากตำรา จากคัมภีร์ใด ๆ ตำรา คัมภีร์เหล่านั้นไม่ได้ทำให้คนเราเข้าถึงธรรมะ มันเป็นเพียงสื่อบอกธรรมะเท่านั้น การที่คนเราจะเข้าถึงธรรมะได้ ผู้นั้นต้องกระทำมันด้วยใจ"

"ถ้าเธอรู้สึกถึงรสชาติและกลิ่นไอของความหอมหวานตลบอบอวลต่อทุก ๆ สิ่งที่เธอลงมือกระทำมันด้วยชีวิตจิตวิญญาณของเธอ แม้แต่การกวาดขยะ ล้างห้องน้ำ หากเธอทำมันด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความยินดี และเสียสละตั้งมั่นที่จะฝึกปรืออบรมตน นั่นแหละคือสุดยอดของพระธรรม"




********************


 

ถูกทดสอบก่อนรับเป็นศิษย์

 



สัปดาห์ต่อมาหรือวันเสาร์ที่ 8 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ผมพาศิษย์สำนักยุทธธรรมกลุ่มใหญ่มาหา "หลวงปู่" เป็นครั้งที่สอง พร้อมกับเตรียมดอกไม้มาบูชาท่านด้วย โดยมีจุดประสงค์เพื่อกราบกรานขอเป็น "ศิษย์" ของหลวงปู่ อย่างเป็นทางการ ก่อนหน้าที่จะได้รู้จัก "หลวงปู่" ตัวผมเพิ่งได้ยินชื่อของ "หลวงปู่เทพโลกอุดร" ครั้งแรกในขณะที่พาลูกศิษย์ไปปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิหมุนกับหลวงพ่อรัตน์ ที่วัดดอยเกิ้ง อำเภอแม่สะเรียง เมื่อสองอาทิตย์ก่อนเท่านั้น หลังจากนั้นผมก็ได้ยินชื่อนี้หลายครั้งจากหลายทิศทางจนผมเริ่มสะกิดใจ การได้พบคุณกิตติพันธ์และถูกคุณกิตติพันธ์ชักชวนให้ไปพบภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งที่ทุกคนเรียกว่า "หลวงปู่" และเชื่อกันว่าเป็น "หลวงปู่พระครูเทพโลกอุดร" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตามมาราวกับตัวผมกำลังถูกชักจูงจากสายใยอันศักดิ์สิทธิ์เส้นหนึ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จนผมไม่อยากจะคิดว่าเป็นเรื่อง บังเอิญ เสียแล้ว ครั้นผมได้มาพบกับ "หลวงปู่" จริง ๆ เมื่อเสาร์ที่แล้ว ถูกท่านถอดจิตผมมาถามแทบหมดเปลือก ทำให้ผมหมดความสงสัยหรือลังเลใจที่จะนับถือท่านเป็น "คุรุ" ของผมอีกท่านหนึ่งโดยสิ้นเชิง ผมจึงพาลูกศิษย์ของผมมากราบกรานขอเป็นศิษย์ของท่านอย่างเป็นทางการในวันนี้

ก่อนที่ผมจะมาหาท่านเป็นครั้งที่สองนี้ ผมได้ทราบเรื่องราวของ "หลวงปู่" กระจ่างชัดกว่าเดิมมากจากหนังสือ 2 เล่มที่ผมได้รับจากคุณกิตติพันธ์เมื่อเสาร์ที่แล้ว ผมรู้ว่าท่านมีสุดยอดวิชาคือ วิชาลม 7 ฐานและยังมีความรู้เรื่องวิทยายุทธ์ของจีน โดยเฉพาะ "มวยแปดทิศ" อย่างน่าทึ่งด้วย ผมคิดเอาเองว่า ถ้าจะมาขอเรียนวิชาลม 7 ฐานเลยคงจะน่าเกลียดและรวดเร็วเกินไป ทางที่ดีผมควรจะขอเรียนเคล็ดวิชาฝีมือจากท่านก่อนเป็นเบื้องแรกน่าจะดีกว่า "หลวงปู่" นั่งอยู่บนเก้าอี้หินในสวนไม้ที่หลวงปู่เป็นคนตกแต่งเอง ส่วนพวกผมนั่งอยู่บนเสื่อที่ปูบนกรวดหินอีกทีหนึ่ง ผมถวายดอกไม้ให้ท่าน แจ้งความจำนงขอเป็นศิษย์ของท่านและขอเรียนเคล็ดวิชาฝีมือจากท่าน โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า ผมจะถูกท่านทดสอบและตรวจสอบอย่างเข้มงวด !

"อะไรทำให้เธอคิดว่าฉันเป็นคนมีวิชา" น้ำเสียงของหลวงปู่ดุมาก

"ผมไม่คิดเรื่องนี้แล้วครับ ผมผ่านจุดนั้นไปแล้ว ผมไม่สงสัยครับ"

"แล้วพวกนี้เป็นใคร" ท่านปรายตาดูลูกศิษย์ของผมที่นั่งอยู่ข้างหลังผมร่วมสิบคน

"ลูกศิษย์ของผมครับ พวกเขาหัดศิลปะการต่อสู้ครับ"

"สอนอะไร" ท่านถามห้วน ๆ

"มวยไท้เก๊ก แล้วก็วิชาลมปราณ การนั่งสมาธิครับ หลวงปู่เคยบ่นว่า พวกมึงไม่สามารถเรียนวิชาของกูได้ พวกเราจะมาเรียนวิชาของหลวงปู่ให้ได้ครับ" ผมตอบท่านอย่างมุ่งมั่น

"ไอ้หนู คนเขาอยู่กับข้ามา 20 ปีนะ เขายังไม่รู้จักข้าเลยว่าข้าเป็นใคร ไม่รู้ด้วยว่าข้ามีอะไร ไม่รู้ว่าข้าจะทำอะไร ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้ถึงที่มาที่ไป การที่ไม่รู้ถึงความรู้สึกนึกคิดนั้นถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนเราถ้าอยู่กันมา 20 กว่าปีนี่ อย่างน้อยก็ต้องรู้จักซึ่งกันและกัน ในแผ่นดินนี้ยังไม่เคยมีใครรู้จักข้าเลย ก่อนที่จะเรียนรู้สิ่งที่ข้ามี พวกเอ็งทำความรู้จักข้าหรือยัง"

"คนอื่นที่มานี่อาจจะเป็นครั้งแรก แต่ตัวผมคิดว่าผมพอรู้ได้บ้าง ผมไม่สงสัยครับ หลวงปู่เคยพูดเองไม่ใช่หรือครับว่า มึงอย่ามาถามกูเลยว่ากูเป็นหลวงปู่เทพโลกอุดรหรือไม่ เรื่องมันเป็นอดีตไปแล้ว อย่าไปสนใจอดีตเลย สนใจปัจจุบันขณะนี้เถอะ เพราะฉะนั้นสำหรับผมแค่รู้ว่า หลวงปู่เป็นครูของผมเท่านี้ก็พอแล้วสำหรับผมครับ"

"ข้าเคยเขียนไว้ในหนังสือไวยากรณ์อรหันต์ของข้าว่า ครูที่ดีไม่ต้องการศิษย์ มีแต่ศิษย์ที่ดีเท่านั้นที่ต้องการครู ครูจริง ๆ ที่มีความรู้ที่พึ่งตัวเองได้ไม่ต้องอาศัยศิษย์ เพราะเขายืนอยู่ในสังคมในธรรมชาติในหมู่ของศัตรูและมิตรได้อย่างสามารพึ่งพิงอิงแอบอาศัยตนเอง รักษาตัวเอง อยู่รอดได้ด้วยตนเอง ช่วยเหลือตัวเองและก็พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ทุกโอกาสที่ต้องการ นี่คือคุณสมบัติของครูที่ดี จงจำไว้นะ มีแต่ศิษย์ที่ดีเท่านั้นที่ต้องการครู ศิษย์ที่ดีที่ต้องการครู เมื่อรู้จักเข้าใจความเป็นครู เห็นหน้าครู ก็ต้องทำความซึบซาบและซึมสิงเข้าไปในจิตวิญญาณของครู ต้องรู้จักครูและรู้ว่าครูของเรานั้นเป็นใคร ความหมายของคำว่าครูของเราเป็นใคร ไม่ใช่นามธรรมแต่เป็นสัจธรรม"

"................" ผมนั่งนิ่งตั้งใจฟังคำสอนของ "หลวงปู่" อย่างใจจดใจจ่อ เพราะผมรู้ว่า ท่านกำลังถ่ายทอด วิถีแห่งความเป็นครูให้แก่ผมอยู่ โดยเริ่มจากวิถีแห่งความเป็นศิษย์ที่ดีก่อน

"ข้าต้องการบอกเอ็งว่า เมื่อศิษย์ต้องการครูจริง ๆ ก็ต้องแสดงวิถีทางของลูกศิษย์ให้ครูได้เห็นด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยความจริงจัง ตั้งใจ มีสัจจะและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกเอื้ออาทร การุณย์ต่อผู้เป็นครู ครูผู้ยิ่งใหญ่เมื่อเห็นศิษย์ดีดังนั้น จึงจะสามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของครูให้แก่ศิษย์......."

"........ความหมายของประโยคว่า จิตวิญญาณของครูไม่ใช่วิชาของครู พวกมึงจะรู้จักวิชากูได้ร้อยแปดพันเก้าไปธุระอะไร ถ้าพวกมึงไม่รู้จักว่า จิตวิญญาณของวิชานั้นเป็นอะไร เขาผูกวิชานี้เป็นอะไร เขาผูกวิชานี้ขึ้นเพื่ออะไร เพื่อทำให้เกิดอะไร และเพื่อได้อะไรจากคนที่เรียนรู้ พวกมึงที่เรียนรู้พระไตรปิฏก 84,000 พระธรรมขันธ์ มึงรู้ได้ทุกบท แต่ถ้ามึงไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระไตรปิฏกนั้นมีชีวิต มีจิตวิญญาณ ความนึกคิด การกระทำอย่างไร มึงก็ไม่มีทางเอาพระไตรปิฏกเหล่านั้นไปใช้อะไรได้ เมื่อใช้ไม่ได้มันก็ทำแบบถูก ๆ ผิด ๆ งู ๆ ปลา ๆ แล้วอย่างนี้มีครูที่ไหนในโลกต้องการศิษย์ที่ทำแบบถูก ๆ ผิด ๆ งู ๆ ปลา ๆ"

"............." ผมโดนท่านเทศน์เต็มเปา ไม่อาจทำอะไรได้นอกจากก้มหน้านิ่งให้ท่านดุว่า

"กูเหลาไม้ กูก็ต้องการให้ไม้ที่กูเหลามันคด หรือมันตรง หรือมันแหลม หรือมันทู่ตามใจปรารถนา กูผู้เป็นครูหรือเป็นผู้เหลา ไม่ใช่จับไม้มาเหลา แล้วก็สุดแท้แต่ไม้ว่ามันจะเป็นอะไรก็ช่าง ถ้าเป็นอะไรก็ช่างแล้วจะมาหาครูทำไม ก็เป็นตัวของตัวเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำอะไรด้วยวิถีทางของตัวเองก็จบแค่นั้น ไม่ต้องมาเรียนอะไรกับครู การที่เราน้อมตัวเองเข้าไปเป็นศิษย์ของครูก็แสดงว่าเราต้องการรับการถ่ายทอดจิตวิญญาณของครู ไม่ใช่วิชาการของครู ถ้าเป็นวิชาการของครู หนังสือก็มีอ่านตำราก็มีสอน ถ้าเอ็งจะมาหาข้า ด้วยเห็นแก่วิชาการก็ถือว่าเอ็งไม่เห็นข้าอยู่ในสายตาหรอก เอ็งไม่ได้เคารพศรัทธาข้าด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยจิตวิญญาณจริง ๆ เอ็งเคารพข้าในฐานะที่ข้ามีวิชาความรู้ นั่นข้าถือว่าไม่ใช่เป็นการสักการะด้วยใจและวิญญาณที่แท้จริงเข้าใจหรือเปล่า"

"เข้าใจครับ" ผมรับคำท่านและให้คำมั่นกับท่านในใจว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผมจะขอเป็นศิษย์ท่านโดยจะไม่อ้อนวอนของวิชาต่าง ๆ จากท่านอีกต่อไป ท่านจะให้วิชาแก่ผมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเมตตาของท่านเอง

"พระพุทธเจ้าสอนอริยสัจ 4 ทรงประกาศสัจธรรม วิมุติธรรม อริยธรรม พระบริสุทธิธรรม คนเหล่านั้นต้องเคารพพระพุทธเจ้าด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่ด้วยความเชื่อ"

หลวงปู่กำชับย้ำอีกจนผมอด "ตัดพ้อ" ท่านไม่ได้ว่า

"คราวที่แล้วที่ศิษย์มาหาหลวงปู่ ศิษย์นึกว่าหลวงปู่รู้อยู่แล้วว่า จิตวิญญาณของศิษย์เป็นอย่างไรนี่ครับ"

"ทำไมกูต้องไปรู้เรื่องของคนอื่น ธุระอะไร ไม่ใช่หน้าที่ ถึงรู้กูก็ไม่จำเป็นต้องทำว่ารู้ ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับกู คนอื่นก็คือคนอื่น ไม่เกี่ยวกับกู"

พอได้ฟังถึงตรงนี้ ผมถึงเข้าใจแล้วว่า ท่านต้อง "เชือดไก่ให้ลิงดู" หรือ ดุด่าผมเพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ผมดู ว่าความสัมพันธ์แบบครูกับศิษย์ในวิถีบูรพานั้นเข้มงวดจริงจังแค่ไหน เพราะท่านรู้จิตวิญญาณของผมตั้งแต่เสาร์ที่แล้วก็จริง แต่ศิษย์คนอื่น ๆ ของผมส่วนใหญ่เพิ่งได้พบกับท่านเป็นครั้งแรกในวันนี้

"ศิษย์กราบขออภัย ศิษย์ขอพระจิตของครูก็แล้วกัน ส่วนวิชาก็แล้วแต่จะเมตตา" ผมพูดในสิ่งที่ผมให้คำมั่นกับท่านในใจเมื่อครู่ออกมา

"เอ็งไม่อายเขาหรือ ว่าเอ็งเป็นถึงดอกเตอร์แล้วยังมาเป็นลูกศิษย์ข้าควายข้างถนน ข้าไม่จบ ป.4 นะโว้ย ที่นั่งอยู่นี่" ท่านไม่วายลองใจผมต่อไปอีก

"ตอนนี้ศิษย์เป็นครูคนแล้ว ศิษย์อยากจะลดอหังการ์ในตัวเอง ศิษย์อยากจะเป็นอย่างหลวงปู่ที่กล้าพูดได้ว่า พ่อให้เจ้าทั้งชีวิต........"

"ใช่ กูให้ศิษย์ของกูทั้งชีวิต ให้ลูกกูก็ทั้งชีวิต แต่ไม่มีใครรับกูได้ทั้งชีวิตเลยสักคน มีแต่คนรับแค่ปลาย ๆ ชีวิต ถามว่ามีใครได้ครึ่งชีวิต ไม่ถึงด้วยซ้ำ บทวลีหรือถ้อยคำกระทงความหรือความหมายด้วยความเอื้ออาทรที่แสดงส่งออกมาจากจิตลึก ๆ ถึงไขกระดูก เป็นบทวลีที่กูได้มาจากจิตวิญญาณ กูลงมือเขียนมันด้วยตัวเอง ลงมือแสดงด้วยวาจาของกู หรือริมฝีปากของกู แสดงว่ากูเอื้ออาทร เพราะกูไม่ได้จำขี้ปากใครมา ฉะนั้น อะไรที่กูจะสอนใคร สอนแล้วต้องได้ สอนแล้วเสียไม่อยากสอน แล้วเพียงแค่ความรู้สึก แค่อยากเรียน อยากรู้ ยังไม่เหมาะสมกับที่กูมีหรอก เพราะเดี๋ยวเมื่อไรที่มึงหมดอยากเรียน หมดอยากรู้ ก็หมดกันไป ไม่ตลอดรอดฝั่งพอดี"

"....................."

"จำไว้นะ ครูที่ไม่รู้อะไร เขาอยากจะได้อะไรจากศิษย์ แต่กูไม่ใช่หรอก กูไม่ได้เป็นคนอย่างนั้น กูไม่อยากได้อะไรจากใคร แล้วกูก็ไม่อยากให้ใครมาตามกู เพราะกูรู้ว่าสิ่งที่กูรู้ กูอยู่ที่ไหน กูก็พึ่งตัวเองได้ แล้วก็เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ เท่านั้นเอง ราชสีห์อย่างกูไม่ต้องการบริวาร" ท่านพูดแรงจนผมอดไม่ได้ต้องแย้งท่านว่า

"ผมไม่ได้ต้องการมาเป็นบริวารของหลวงปู่นะครับ แล้วผมก็คิดว่าตัวผมก็พึ่งตัวเองได้ เพราะผมก็เป็นครูแล้วเช่นกัน แต่อย่างที่ศิษย์ได้บอกกับหลวงปู่ไปแล้ว ศิษย์ต้องการจะลดอหังการ์ในตัวเอง ถ้าหากมีแม้เพียงน้อยนิด"

"อหังการ์มันขึ้นกับความระลึกถึง ความใคร่ครวญพิจารณา เรามีความถือตัวถือตน ความมานะ มีทิฐิความเห็นอันผิดพลาดว่าเราเป็นผู้รู้ มีภูมิ มีปัญญา นั่นแสดงว่าเราไม่มี ความมีความเป็นจริง ๆ มันไม่ร่วนนะ ถึงวันนี้ข้าก็ยังไม่เคยบอกว่าข้ารู้อะไร ข้าไม่รู้อะไรด้วยซ้ำไป รู้แต่เพียงว่าเมื่อใดที่ข้าต้องการอะไร ข้าเดือดร้อน ข้าจำเป็นต้องใช้ในสิ่งที่ข้าต้องการ ข้าก็จะทำได้"

"ถ้าหากหลวงปู่เห็นว่า ชีวิตของศิษย์คนนี้ จะสามารถมีประโยชน์ในการทำนุบำรุงศาสนาได้ ผมก็ยินดีให้หลวงปู่เอาไปใช้ครับ"

"เมื่อ 5 ปีก่อนโน้น กูเคยเขียนไวยากรณ์อรหันต์ไว้เล่มหนึ่ง หัวใจของไวยากรณ์อรหันต์เล่มนั้นมีอยู่ว่า รูปลักษณ์ศาสนธรรมนี้ หัวใจของพระอริยธรรม สัจธรรม คุณธรรม และพระบริสุทธิธรรม คือความอ่อนน้อมถ่อมตนถ้ามึงมีสิ่งเหล่านี้ ถึงมึงไม่มาหากู มึงก็เป็นศิษย์ของก คนเราขอเพียงมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หยิ่งผยอง ไม่เป็นปูชูก้าม ไม่เป็นช้างชูงวงเข้าป่า ใครเขาก็นับถือศรัทธา........"



*******************



จากนั้น "หลวงปู่" ก็หันไปซักถามลูกศิษย์ของผมเรียงตัวทีละคนว่า ฝึกอะไรกัน และฝึกไปทำไม แล้วท่านก็สอนว่า "คำตอบของชีวิตไม่ใช่การค้นหา การค้นหาไม่ใช่วิถีการหาคำตอบหรือเฉลยคำตอบ เพราะคำตอบของชีวิตคือการลงไม้ลงมืออย่างจริงใจกับการทำอะไรขึ้นมา หากต้องการทำให้ชีวิตมีสาระมีค่ามากที่สุด ก็จงทำให้คนที่เธอรักเกิดความภูมิใจ ทำให้ตนเองเป็นที่ภาคภูมิใจของคนที่เธอรัก"

เวลาหลวงปู่สอนใคร ดูเหมือนว่าท่านจะอ่านจิตของคนผู้นั้นก่อน แล้วจึงสอนสิ่งที่ท่านเห็นว่าสมควรสอนผู้นั้นในขณะนั้นให้ "หลวงปู่" ยังบอกอีกว่าถึงท่านเป็นพระ แต่ท่านก็เป็นผู้ที่บูชาในความรัก โดยเฉพาะความรักสูงสุดตามความหมายจริง ๆ

"ความรักมีอยู่ 2 ชนิด แบบหนึ่ง คือ ความรักของซาตาน อีกแบบหนึ่งคือ ความรักของพระเจ้า รักของซาตานเป็นความรักที่ต้องการทะยานอยากเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ คับแคบ ต้องได้ แต่ถ้าเป็นรักของพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าองค์ใดในโลกนี้ก็เป็นความรักที่ต้องการให้เอื้ออาทร การุณย์ เมตตา อนุเคราะห์ และคิดจะช่วยเหลือ"

"ความรักเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้ายกย่องนะ ในคุณธรรมเครื่องนำให้เกิดความสำเร็จ 4 อย่าง คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ข้อแรกก็คือความรัก ความพอใจ เพราะถ้าไม่รักก็ไม่เกิดความเพียร แต่ถ้ารักความเพียรจะมาเอง มีใจจดจ่อ ใช้ปัญญาใคร่ครวญ ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นกระบวนการของคนที่ทำอะไรก็สำเร็จ"

ศิษย์คนหนึ่งของผมได้ถาม "หลวงปู่" ว่า "การนั่งอย่างผ่อนคลาย เป็นอย่างไรครับ"

ท่านตอบว่า "ฉันอยากให้เราหันย้อนกลับไปถึงครั้งที่เราเคยดื่มด่ำ หรือดูดดื่มกับกลิ่นอายของธรรมชาติ แล้วปล่อยให้อณูของธรรมชาติ มันซึมสิงเข้าไปทุกขุมขนของตัวเรา จนกระทั่งถึงไขกระดูก นั่นแหละคือความผ่อนคลาย คนเราผ่อนคลายได้ไม่เท่ากัน คนที่ผ่อนคลายได้มากที่สุดคือ คนที่ไม่แบกอะไรเลย หรือแบกน้อยที่สุด"

ผมถามท่านต่อไปว่า

"หลวงปู่ครับ ที่บอกว่าซึมเข้าไปถึงไขกระดูกนี่เป็นความรู้สึกที่รู้สึกได้จริงใช่มั๊ยครับ"

"เป็นความรู้สึกที่รู้สึกได้จริงมั้ยเนี่ย ฉันบอกว่ารู้สึกได้จริง"

"ทุกส่วนของไขกระดูกสันหลังหรือเปล่าครับ" ผมรีบถามต่อเพราะรู้ว่าท่านกำลังจะสอนเคล็ดวิชาให้พวกเราในที่นั้นแล้ว "หลวงปู่" นี่เข้าทำนองปากดุแต่ใจดี คือไม่ดุจริง

"มันต้องเริ่มต้นจากทุกอณูของขุมขน เราคงไม่ปฏิเสธว่า วิชาโยคะโบราณเนี่ยเขาใช้ผิวหนังเป็นเครื่องหายใจ ร่างกายคนเรา มิใช่มีแค่รูทวารที่ออกมาจากจมูกกับปากเท่านั้นหรอก หูก็ใช้หายใจได้ ช่องตาก็หายใจได้ ผิวหนังก็หายใจได้ แต่เป็นการหายใจชนิดที่ผ่อนคลาย ดื่มด่ำ ดูดดื่ม สมัยก่อนกูเด็ก ๆ กูเอาหัวไปทิ่มในโอ่งน้ำแล้วนับเลขตั้งแต่ 1 - 5 จาก 5 - 10 มา 100 จาก 100 - 120 อะไรอย่างนี้แล้ว กูใช้จมูกหรือปากหายใจที่ไหน กูทำอย่างนี้เพื่อผ่อนคลาย เพราะสมัยนั้นกูเป็นโรคปวดหัวและโรคโลหิตเป็นพิษ เวลาร้อนแล้วจะปวด ความดันขึ้น จึงเอาหัวราดน้ำหรือเอาหัวทิ่มไปในโอ่งน้ำเต็ม ๆ ทำแล้วสบายขึ้น จึงเห็นได้ว่า ร่ายกายคนเราเหมือนฟองน้ำ มันสามารถซึมซับสรรพสิ่ง สรรพพลัง สรรพธรรมชาติที่แฝงสิงอยู่ในจักรวาล ชีวิต วิญญาณได้ สำคัญอยู่ว่าเราสามารถควบคุมระบบตรงนั้นเพื่อจะซึมสิงได้หรือไม่เท่านั้น"

"หลวงปู่ครับ วิธีซึมซับพลังจากธรรมชาตินี่ จำเป็นต้องเอาหัวตั้งพื้น เท้าชี้ฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการซึมซับหรือไม่ครับ"

"โดยกระบวนการของร่างกายเนี่ย มันไม่มีลักษณะท่าทางหรือท่าร่างในการซึมซับหรอกนะ เราไม่ปฏิเสธหรอกว่าสารทั้งหลายในบรรยากาศ มันสามารถเข้าไปอยู่ในร่างกายเราได้โดยไม่ต้องอ้าปาก อย่างหลวงปู่ หากหลวงปู่อยู่ในกลิ่นไอพิษ ร่างกายของหลวงปู่จะเกิดปฏิกิริยาในการต่อต้าน พยายามหาทางกำจัด ผ่อนคลายมันออกไปในทุกอิริยาบถ ฉะนั้น กระบวนการซึมสิงในร่างกายมันเป็นกระบวนการทางธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ทุกคนมี แต่ทุกคนไม่รู้จักมัน........"

".......ชาวบ้านเขาเรียกข้าว่า พระอิสระ เพราะข้าไม่มีข้อแม้ในการจำกัดนั่งสมาธิก็ไม่จำเป็นต้องนั่งไข้วขา ไม่จำเป็นต้องขาขวาทับขาซ้าย หรือไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิเพชร ข้าพอใจจะนั่งอย่างไรก็นั่งอย่างนั้น ที่สำคัญต้องรู้จักว่าสมาธิคืออะไร ถ้าไม่รู้จัก มานั่งท่าวิเศษพิสดาร หรือต่อให้นั่งบนตักของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่โดยกระบวนการทางโครงสร้าง ปราชญ์โบราณเขาถือว่า ท่านั่งขัดสมาธิเพชรท่านี้เป็นท่านั่งได้ดีที่สุดก็เลยอ้างกัน.........."

"........ในธิเบตเขาก็มีวิธีสอนนั่งสมาธิเรียกว่า โกลัมปะ คือวิชาซึมซับพลังธรรมชาติ โดยเขาต้องใช้วิชาแบบต้องเอาตัวเองไปอยู่ในภูเขาหิมะ ถ้ำน้ำแข็งแล้วก็ถอดเสื้อผ้าออกหมด จากนั้นเขาจะใช้ผ้าที่ทอจากขนจามรีไปจุ่มน้ำจนเปียกขณะนั่งฝึกอยู่ในถ้ำน้ำแข็งมาห่มตัว เพื่อจะทำให้คนผู้นั้นมีจิตวิญญาณอันหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับกาย เพราะคนเรานั้นเมื่อขณะใดเกิดอาการที่ร่างกายกระทบกระทั่งต่อมฤตยู จิตและวิญญาณรวมทั้งร่างกายมันจะมารวมกันเพื่อป้องกัน เพราะนี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ คนสมัยก่อนเขาใช้ประสบการณ์ทางธรรมชาติตรงนี้ในการฝึกจิตให้กล้าแข็ง แค่ชั่วระยะเวลาอึดใจเดียวก็ทำให้ผ้าชุ่มน้ำแห้งได้สนิท สำหรับคนที่ฝึกสำเร็จนะ ไอ้คนที่ฝึกไม่สำเร็จก็ปอดบวมตายหรือไม่ก็หนาวตายไปเลย จึงอยากจะบอกว่า ท่านั่งแบบไหนก็ตามสำหรับกูแล้วศักดิ์สิทธิ์ทุกท่า อยู่ที่ว่าจิตวิญญาณของเราอย่าบ้า นั่นแหละเราศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าเมื่อใดที่เรามีจิตวิญญาณอันสับสน เศร้าหมอง ขุ่นมัว วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด แม้จะอยู่ในท่าศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ได้สาระประโยชน์ สำคัญอยู่ที่ใจต่างหาก"

ผมถามท่านอีกว่า

"หลวงปู่ครับ ศิษย์ทราบมาว่าสมาธิธิเบตนี่ เวลานั่งสมาธิเขาต้องใช้มือทำมุทราด้วย เราจำเป็นต้องใช้ท่ามุทราเพื่อซึมซับพลังจักรวาลหรือไม่ครับ"
"นั่นเป็นเรื่องราวของแต่ละวิชา เพราะว่าในธิเบตนั้น เขามีคุรุ 8 คน ในคุรุทั้งแปดก็มีวิชาประจำตน แต่ละคนไม่เหมือนกัน"

"ผมได้อ่านบันทึกเหตุการณ์ตอนที่มีผู้เห็นหลวงปู่บิน คือ กระโดดสูงหลบหินก้อนใหญ่ที่ตกลงมาใส่ตัวได้สูงกว่า 3 เมตร ผมเข้าใจว่าตอนนั้นหลวงปู่ใช้วิชาตัวเบา แต่หลวงปู่บอกว่าใช้วิชามวยแปดทิศ ผมจึงอยากจะถามหลวงปู่ว่านี่เป็นเคล็ดวิชาเปลี่ยนแปลงธาตุและสามารถควบคุมธาตุได้ในสายของวิชาเซียนใช่หรือไม่ครับ"

"กูไม่รู้ว่านั่นเป็นการควบคุมธาตุหรือเปล่า ก็อย่างที่กูบอกมึงไปแล้วยังไงว่า ครูที่ดีนั้นย่อมปกครองตนเองได้ ย่อมรักษาสิ่งที่ตัวเองมีได้ และย่อมเป็นที่พึ่งของตนเองได้ กูเลยจำไม่ได้หรอกว่าตอนนั้นกูใช้วิชาอะไร มันเยอะจนกูก็ไม่รู้ว่า กูใช้วิชาอะไร เพียงกูไม่ต้องลงเหว ไม่ต้องโดนหินกลิ้งทับ เอาตัวรอดได้ก็พอแล้ว"

"ตอนนั้นมันออกมาเองโดยจิตใต้สำนึกใช่มั้ยครับ"

"มีคำพูดโบราณของนักดาบโบราณอยู่ว่า มีดาบอยู่ที่ใจ ไม่ต้องพกดาบในกาย กูไม่รู้หรอกว่าตอนนั้นใช้วิชาอะไร บอกไม่ได้ แต่รู้ว่ามันเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติของร่างกายที่แสดงออก และโต้ตอบสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง"

ศิษย์ผมคนหนึ่งถาม "หลวงปู่" เกี่ยวกับเรื่องการใช้ปราณรักษาผู้ป่วยซึ่งท่านได้อธิบายว่า

"ความหมายของคำว่าปราณ มันก็คือสถานที่รวมแห่งพลังในกายปราณในที่นี้คือกระบวนการเคลื่อนไหวได้ภายในกาย ที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีที่ตั้งแต่เป็นพลังงาน การส่งปราณไปรักษาผู้ป่วยไม่เกี่ยวกับการแผ่ความรักไปรักษาเพราะความรักแม้ไม่มีรูปร่างแต่มีที่ตั้งคือออกมาจากความคิด ขณะที่ปราณเป็นพลังงานที่อยู่ภายใน ไม่มีทั้งรูปร่างและที่ตั้ง ปราณดำรงทั้งภายนอกตัวเราและภายในตัวเรา ปราณมีทั้ง ปราณขั้วบวกกับปราณขั้วลบ ปราณที่อยู่ในตัวเราเป็นปราณที่เกิดจากขบวนการสะสม เรียกว่าปราณขั้วบวก แต่ปราณที่อยู่ข้างนอกเกิดจากขบวนการที่คงที่ ที่มีอยู่แล้ว เป็นปราณขั้วลบ.........."

"ปราณขั้วบวกเกิดขึ้นโดยการทำให้เกิดและสะสมได้ จะสะสมได้ยังไงก็โดยการทำให้มีสติ ทำให้มีการระลึกรู้ ทำให้เกิดการสัมผัส สำเหนียก ซึมสิง ดูดดื่มในพลังที่อยู่ภายใน รู้จักโครงสร้าง และส่งปราณไปตามกระบวนโครงสร้างนั้น ๆ มีความรู้สึกที่เราคิดว่า เราสามารถควบคุมและรักษาดูแลมันได้.........."

"ปราณเป็นกระบวนการแห่งพลังชีวิตชนิดหนึ่ง ปราณกับลมหายใจ เหมือนกันหรือไม่ เกือบจะเหมือนกัน เกือบจะคล้ายกัน แต่ต่างกันมากกระบวนการของปราณนั้นมันเป็นขั้นตอนที่หล่อหลอมออกมาจากลมหายใจอีกทีหนึ่ง แต่ปราณไม่ใช่ลมหายใจ การใช้ปราณรักษาคน เป็นการกระตุ้น นุ่มนวล ซึมซาบ ซาบซ่าน และดูดดื่ม มุ่งรักษาสมดุลของตัวมันเอง........."

"โดยสภาวะความเป็นจริงของปราณแล้ว มันจะโลดแล่นไปทั่วทุกอณูของร่างกาย โดยรู้สึกสัมผัสมันได้ว่า มันอยู่ในกึ่งกลางของโครงสร้างในร่างกายซึ่งปราชญ์โบราณเขาถือว่า ในโพรงกระดูกของร่างกายเราเป็นจุดกำเนิดของปราณทั้งปวง กระบวนการเกิดของปราณที่อยู่ในโพรงกระดูกนั้นที่สำคัญก็คือโครงสร้างและการรู้วิธีที่จะนำมันมาใช้ให้เกิดการหมุนเวียนสับเปลี่ยนเป็นพลังจิตวิญญาณแล้วก็ควบคุมมันได้.........."

"จะกลายเป็นพลังจิตวิญญาณได้ต้องดันปราณไปเก็บไว้ที่สมองใช่มั้ยครับ" ผมถือโอกาสถามต่อ

"ถ้าจะให้มันกลายเป็นพลังจิตวิญญาณ ก็ต้องพัฒนาสติอีกขั้นหนึ่งแล้วประสานปราณกับวิญญาณเข้าด้วยกันความรักก็เป็นตัวสร้างปราณได้ชนิดหนึ่งนะ ความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ความการุณย์ เป็นตัวสร้างปราณชนิดหนึ่ง เป็นปราณที่บริสุทธิ์ คนเรามีพลังศักดิ์สิทธิ์ในกายอยู่ 2 สาย คือพลังของพระเจ้ากับพลังของซาตาน คราใดที่เรารู้สึกว่า เรามีความรัก ความเอื้ออาทร นั่นแสดงว่า พลังของพระเจ้ามีอำนาจเหนือเรา ปราณของเราก็จะโลดแล่น เจริญเติบโต สร้างสรรค์ประโยชน์ สมองคิดไกล แววตาผ่องใส ประตูจิตวิญญาณตรงกึ่งกลางหว่างคิ้วกับหน้าผาก จะรับรู้ประสบการณ์รอบข้างได้อย่างละเอียดหมดจดและถี่ถ้วน แต่ถ้าคราใดที่พลังแห่งซาตานครอบงำเรา ตัวเราจะรู้สึกมืดมัว ขุ่นมัว ขุ่นข้อง กลัดกลุ้มใจ หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน และประตูจิตวิญญาณจะเปิดรับเอามลภาวะที่อยู่รอบ ๆ กายและภายในตัวเราเอง เก็บกด อัดสะสมจนกลายเป็นการวิกลทางกาย เช่น ทำให้กายท้องผูก ความดันโลหิตสูง ผิวหน้าแววตาเศร้างหมอง และรัศมีรอบกายเศร้างหมอง"

ก่อนจะยุติการสนทนาในวันนั้น "หลวงปู่" ก็วกมาคุยเรื่องวิชาฝีมือจนได้ เพราะท่านรู้ดีว่าพวกเราสนใจทางนี้

"ฉันรู้จักมวยชนิดหนึ่งเรียกว่า "มวยนิรรูป (ไร้รูป) มันไม่มีท่า ไม่มีวิธีแสดง แต่มันมีตัวตน สมัยก่อนฉันเป็นโรคเหน็บชา นั่งแล้วชา ก็เลยใช้การฝึกตันเถียนท่านั่งม้าอาชาไนย แล้วประยุกต์ออกมาเป็นนิรรูป มันก็ดีทำให้เราคุมลมปราณได้ทุกอิริยาบถ กูดูหน้าพวกเอ็ง หน้าไม่เป็นเหมือนนักมวยสักคน น่าจะไปขายเต้าฮวยมากกว่า"

"ไท้เก๊กไม่ได้ดูที่ข้างนอกครับ เขาดูที่ข้างใน" ผมอดแย้งท่านไม่ได้

"เออ กูรู้ !.........ไหน ๆ พวกเอ็งก็อุตส่าห์ดั้นด้นมาแต่ไกล กูจะบอกเคล็ดไท้เก๊กของกูให้พวกเอ็งก็ได้ จงไปหาน้ำใส่ถุงพลาสติกใบใหญ่ ๆ อย่าใส่เต็มผูกปากถุงกับผูกครึ่งให้น้ำมันอยู่สองข้าง แล้วหัดพยุงน้ำให้มันถ่ายเทไปมาได้.....ไปลองหัดดูนะ"

พอได้ยินเช่นนั้น ผมถึงกับตาลุก ตื่นเต้นในสิ่งที่ท่านบอก ที่เป็นเคล็ดแบบ "เส้นผมบังภูเขา" ผมรีบถามท่านต่อทันทีว่า

"หลวงปู่ครับ ถุงต้องมีขนาดเท่ากับหนึ่งเชียะมั้ยครับ หรือว่าไม่ถึงครับ"

"แล้วแต่ว่าใครจะรับน้ำหนักได้แค่ไหน ต้องดูว่าพวกมึกจะถือน้ำในถุงได้อย่างไร ไปลองก่อน สำหรับคนมือใหม่แค่ลองถือน้ำที่อยู่ในถุงได้ก็เก่งแล้ว (หัวเราะ)"

"ใส่น้ำแค่ครึ่งถุงใช่มั้ยครับ"

"ใส่เข้าไปเถอะ จะใส่น้ำมากน้อย ต้องใช้ประสบการณ์ของตัวเองเป็นหลัก ไม่ใช่ให้กูบอกกูสอนทุกเรื่อง กูรู้แต่เพียงว่า ถ้ากูเป็นพวกมึงแล้วมีคนบอกเยอะขนาดนี้นะ โอ้โฮ..... พลังไท้เก๊กเป็นพลังสีขาวเป็นสาย ต้องให้มันโคจรไปรอบกายได้ เหมือนน้ำที่อยู่ในถุงเคล็ดของมันก็คือ ต้องหาวิธีให้น้ำโยกโคลงไปมาตามกระบวนการที่เราต้องเปรียบน้ำเป็นพลัง เปรียบถุงเป็นตัวเรา เราต้องประคองมันให้ได้ตลอด ถ้าเราทำให้พลังของเราประสานกันดั่งน้ำในถุง แล้วก็เอียงซ้ายก็ไปซ้าย เอียงขวาก็ไปขวา นั่นแหละคือ คนที่รู้จักเคล็ดวิชาไท้เก๊ก ต่อให้มึงรู้ 100 ท่า 1,000 ท่า แต่ถ้าไม่รู้จักเคล็ดวิชานี้ ก็ไม่ถือว่ารู้จักไท้เก๊ก เอ็งว่าจริงมั้ย"

"ครับ" หลังจากที่ผมได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาอันนี้จาก "หลวงปู่" แล้ว ผมก็นำเอาไปประยุกต์ดัดแปลง จนได้วิชาใหม่ขึ้นมาวิชาหนึ่งเรียกว่า วิชาฝ่ามือมังกรคาบแก้ว เอาน้ำใส่บอลพลาสติกขนาดหนึ่งเชียะ ถือบอลใส่น้ำนั้นร่ายรำมวยไท้เก๊กกับมวยฝ่ามือมังกรแปดทิศที่หลอมรวมกันแล้วโดยไม่ขาดตอนลูกบอลใส่น้ำกับร่างกายเคลื่อนไหวเป็นหน่วยเดียวกัน

สิ่งที่ "หลวงปู่" ได้ให้โอวาทฝากฝังพวกผมก่อนจากกันในวันนั้นก็คือ

"จงไปช่วยกันสร้างเครือข่ายของความรัก สร้างอุมดคติของความรัก สร้างสถานภาพของความรักให้เบ่งบาน เจริญรุ่งเรือง และผลิดอกออกผล งอกงามไพบูลย์ดูจะมีประโยชน์กว่าการแยกตัวเองออกจากสังคมและขีดไว้ว่า ข้าคือ นักปฏิบัติ"

 





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้