วิชาสมาธิพระโพธิสัตว์ของหลวงปู่พุทธะอิสระ
(ถ่ายทอดในคืนวันที่ 9 พฤษภาคม 2541)
ความเป็นมา
"วิชานี้มันเป็นเฉพาะของพระโพธิสัตว์ จริงๆ แล้วหลวงปู่คิดดัดแปลงมาจากภาพกวนอิมพันมือ สมัยก่อนหลวงปู่เคยนอนยาวแล้วฝันไปว่า ได้มีโอกาสไปประชุมในเทวสภา ต้องวงเล็บว่าในความฝันนะ นี่เป็นการเล่าความฝันให้ฟังตอนนั้นหลวงปู่ไปในชุดที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ไปชุดวันเกิด มีผ้าแดงผืนเดียวเวลาหลวงปู่อยู่กุฏิหลวงปู่ชอบนุ่งอยู่ผืนเดียว มันเป็นผ้าดิบที่โดนซักอยู่บ่อยๆ เข้า เนื้อมันก็เป็นปุยนิ่มๆ ใส่สบายดี…"
หลวงปู่ใส่ผ้าแดงอยู่ผืนเดียว ใส่นอนใส่นั่งอยู่ในห้อง ก็บังเอิญฝันไปว่า มีโอกาสขึ้นไปประชุมในเทวสภา ดันไปชุดนั้น พวกเขาก็เลยเรียกหลวงปู่ว่าเทพขอทานระหว่างทางที่ขึ้นไปมีเหล่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายนั่งอยู่เต็มไปหมด แต่ละองค์ก็มีที่ของเขา รู้สึกว่าเรื่องนี้หลวงปู่เคยเล่าให้ฟังสมัยอยู่ที่ถ้ำสิงโตทอง ทุกคนมีที่ของเขาทั้งนั้น เราก็ไปยืนชะเง้อคุยกับเขา ที่เขาสูงท่วมหัวเรา ที่นั่งเขาเท่าต้นเสาต้นตาลส่วนไอ้เรามันไม่มีที่ เขาก็เลยตะโกนถามลงมาว่า…
"เอ้ามายังไง"
"ก็วันนี้เรียกประชุมไม่ใช่หรือ เห็นเขาเรียกประชุมก็มากับเขานะสิ"
"เราไม่รู้นี่ ก็มาทั้งอย่างนี้แหละ" ทันใดก็มีเสียงมาจากฐานที่นั่งใหญ่สูงกว่าที่ทั้งหมดในบริเวณนั้นว่า
"ขอให้ท่านจงแสดงธรรมของท่าน"
"เราก็นึกในใจว่าเราจะมีธรรมอะไรวะ ดูสภาพเราก็เรียกว่าขอทานอยู่แล้ว จะไปแสดงธรรมอะไรกับเขาได้ก็เลยนึกขึ้นได้ว่า ก่อนที่จะมาเราเห็นรูปกวนอิมพันมือ ก็เลยคิดท่าปริศนาธรรมขึ้นได้ 8 ท่า แล้วก็เลยแสดงให้พวกเขาเห็น เมื่อเราแสดงปริศนาธรรมได้ครบ 8 ท่า แผ่นดินที่เรายืนอยู่ก็สูงขึ้นเท่ากับพวกเขานั่งเท่าเสมอกัน ทีนี้ก็คุยเป็นภาษาเดียวกันได้ เรื่องมันยาวเอาแค่เนี้ย…จบ ! "
"ท่าพระโพธิสัตว์ภาวนาที่จะสอนต่อไปนี้ เป็น 1 ใน 8 ของปริศนาธรรม ผู้ที่จะเป็นหรือจะเป็นพระโพธิสัตว์จะต้องมีปัญญาเป็นของตนเอง ต้องรู้เรื่องที่ตังเองคิดค้นได้ และต้องเข้าใจสิ่งที่ตนเองรู้ และถ่ายทอดให้คนอื่นได้ รวมทั้งต้องทำให้คนอื่นได้ประโยชน์จากสิ่งที่ตัวเองรู้แล้วด้วย"
"ความหมายของวิชาสมาธิพระโพธิสัตว์ มันก็คือ ท่าปริศนาธรรมที่หลวงปู่คิดดัดแปลงมาจากภาพกวนอิมพันมือเอามาใช้สอน จริงๆ แล้วไม่เคยสอน แต่วันนั้นนึกครึม สบายใจ ก็เลยสอนพวกเณรไป 4 ท่าคือ (1) พระโพธิสัตว์โอบอุ้มสรรพสัตว์ (2) พระโพธิสัตว์รำพึง (3) พระโพธิสัตว์กำจัดกิเลส (4) พระโพธิสัตว์ภาวนา
ขั้นตอนการฝึกปฏิบัติสมาธิพระโพธิสัตว์
ก่อนอื่นต้องตั้งกายให้ตรง ผ่อนคลาย แล้วสำรวจดูโครงกระดูกแกนกลางของร่างกาย สำรวจดูข้อต่อให้แต่ละข้อตั้งตรงฉากกับพื้นดิน ควบคุมความรู้สึกให้กำกับอิริยาบถที่เคลื่อนไหว สำหรับคนที่เริ่มฝึกใหม่ๆ ช่วงแรกจะรู้สึกสัมผัสถึงพลังชนิดหนึ่งที่สัมผัสได้ และถ้าทำไปเรื่อยๆ จะควบคุมพลังในกายได้ควบคุมอิริยาบถในกายได้ สมาธิพระโพธิสัตว์ ท่าพระโพระโพธิสัตว์ภาวนานี้ เป็นขั้นตอนที่ 4 และเป็น 1ใน 8 ท่า มันจะเป็นผู้ที่กำหนดอิริยาบถและบทบาทของตนเองได้ มีสติเท่าทันอิริยาบถ และควบคุมความรู้สึกนึกคิดได้ จิตจะตั้งมั่นได้เร็วและสุดท้ายเธอจะสามารถมีพลังวิเศษที่จะสามารถใช้บำบัดรักษาอาการป่วยไข้ของใครๆ ได้ แต่จะต้องไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือยและไม่ใช้ถ้าไม่จำเป็น
ขั้นตอนการปฏิบัติสมาธิพระโพธิสัตว์ภาวนามีทั้งหมดดังนี้
เริ่มต้น สำรวจโครงสร้างของร่างกาย นั่งให้สบาย ผ่อนคลายให้มากที่สุด
ขั้นที่สอง หลับเปลือกตาลงอย่างนุ่มนวล เบา อ่อนโยน สูดลมหายใจเข้านับในใจว่า 1-2-3-4-5 ผ่อนลมออก นับในใจ 1-2-3-4-5 ทำอย่างนี้จนกระทั่งเมื่อเรารู้สึกว่าสลัดหลุดจากความรู้สึกฟุ้งซ่าน หงุดหงิดทั้งปวงได้ ร่างกายไม่เกร็ง หรือเครียด เมื่อเราสามารถควบคุมประสาททุกส่วนได้ จึงเริ่มเคลื่อนไหวช่วงแขน ข้อต่อ ศอก และฝ่ามือ โดยใช้จิตกำหนดพลังที่มีอยู่ในกายให้โยกโอนตามการเคลื่อนไหว ช่วงนี้จะรับรู้ถึงไออุ่นที่วิเศษคือ เป็นไออุ่นที่นุ่มนวลและให้สันติสุข เมื่อสูดดมเข้า ยกมือขึ้นวางที่หน้าตัก เมื่อยกมือกลับไปวางลงที่หัวเข่า ผ่อนลมออก จงควบคุมลมหายใจพร้อมกับอิริยาบถ
ขั้นที่สาม สลับสับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของมือขวาและซ้าย เคลื่อนไหวมือขึ้นบนและล่าง มันจะมีพลังชนิดหนึ่งซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างมือทั้งสองข้าง เราจะรับรู้ได้โดยวิถีจิตของเราว่า มันเป็นความอบอุ่นและมีไอพิเศษ
สุดท้าย ประนมมือในอากาศ แต่ไม่ให้ฝ่ามือทั้ง 2 ข้างแตะชิดกัน จงฝึกที่จะบังคับพลังให้ตั้งขึ้น จงใช้จิตวิญญาณของเรา ความรู้สึกนึกคิดของเราจับอยู่ที่อิริยาบทและพลังที่สัมผัสได้นั้น สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนซ้ายและขวา ล่างและบน เมื่อมีจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย จุดสุดท้ายก็คือจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นก็คือจุดสุดท้ายข้อสำคัญต้องอย่าให้ฝ่ามือทั้ง 2 ข้างแตะชิดกัน เคล็ดสำคัญของวิชานี้มิได้อยู่ที่ท่วงท่า แต่อยู่ที่วิธีการโยกย้ายลมปราณ
จะช่วยให้จิตเราตั้งมั่นได้ง่าย คนที่มีวิตกจริต โทสะ โมหะ ราคะ พุทธจริตทั้งหลายนี้จะสามารถกำราบลงได้ในการเคลื่อนไหวของอิริยาบท ท่านี้เขาใช้สำหรับพระมหาโพธิสัตว์ที่ใช้ในการภาวนา จะมีพลังชนิดหนึ่งที่หมุนเวียนรอบฝ่ามือและใจกลาง วิธีทำสมาธิที่หลวงปู่สอนให้พวกเราในวันนี้ ไม่ใช่มุ่งทำจนบรรลุผลใดๆ แต่จะทำให้จิตตั้งมั่นได้ง่าย เมื่อเรามั่นใจว่าตัวเรามีสติที่ทรงไว้อยู่กับตัวไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏแล้วก็หยุดทำมันแล้วเริ่มพัฒนาจิตต่อไปในขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 แล้วทำสมาธิพระโธิสัตว์ภาวนาจะช่วยยกระดับจิตของเราให้เข้าถึงปฐมมฌานและขั้นทุติยฌานได้ แต่ต้องหมายถึงเธอชำนาญเป็นเอกเทศแล้ว อันดับแรกหากได้รับความรู้สึกจากไออุ่นจากมือก็น่าจะพอแล้วสำหรับคนฝึกใหม่ จงลองไปฝึกดูที่สำคัญต้องผ่อนคลายลมหายใจ
ความหมายของสมาธิพระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่เรียนรู้สมาธิพระโพธิสัตว์ไปแล้วจะต้องไม่โง่ ต้องรู้เท่าทัน ต้องแยกแยะออกระหว่างมิตรกับศัตรู ถูกกับผิด ของจริงกับของปลอมได้ ต้องรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ลูกหลานของกูต้องฉลาด ! ยิ่งคนที่ปฏิญาณตนว่าจะเรียนรู้สมาธิพระโพธิสัตว์ยิ่งต้องฉลาด ทีแรกหลวงปู่ไม่คิดไม่พยายามสอนสมาธิพระโพธิสัตว์ เพราะหลวงปู่มีความคิดว่าไม่น่าจะสอนหรือถ่ายทอดไปสู่มหาชน เพราะคนจะคิดว่าเราไปยึดติดในรูปแบบและท่าทาง แต่ว่านั้นเป็นท่าร่างและท่าทางของปริศนาธรรม เป็นกระบวนการของธรรมะ เป็นการถ่ายทอดธรรมะโดยไม่ต้องอาศัยคำพูด หลวงปู่เอาวิชานี้มาใช้สอนเณร สอนพระเพราะว่าดูแล้ว ทดสอบด้วยตนเองแล้ว ให้คนอื่นทดสอบด้วย คือทำให้มีสมาธิได้ง่าย สติตั้งมั่นได้เร็ว จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าจะดี แต่ก็ยังหวั่นหวาดและเกรงว่าเราจะเป็นที่นำมาซึ่งลัทธิใหม่ ซึ่งลบล้างความเชื่อและคำสอนเก่าๆ ซึ่งเขาถือว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เลยอยากออกตัวว่า วิชาสมาธิพระโพธิสัตว์นี้เป็นประสบการณ์เฉพาะตัว เป็นความรู้เฉพาะตัวของหลวงปู่ ถ้าลูกหลานยอมรับก็มีสิทธิ์ที่จามาเรียนรู้ แต่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้เพราะมันไม่ใช่วิชาสากล ที่ใครๆ ก็จะทำได้
"หลวงปู่ครับ การหายใจของสมาธิพระโพธิสัตว์ต้องมีการอั้นหายใจหรือเปล่าครับ"
"จริงๆ แล้วไม่ได้อั้นหายใจ แต่ที่ให้หายใจเข้าแล้วนับ1-2-3-4-5 ก็เพื่อให้ปอดได้ขยายได้ซึมซับพลังงานอย่างสมบูรณ์แบบ ปกติปอดของคนเราทำงานไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ร่างกายเราทำงานน้อยถอยลง สมาธิพระโพธิสัตว์คือ การทำให้อวัยวะทั้งหลายทำงานภายในกายให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์แบบ จงหายใจให้เต็มปอด นับจังหวะให้ครบเสร็จแล้วให้ผ่อนออก ผ่อนออกให้หมด จงอย่าหายใจเข้าผิดว่าหลวงปู่ให้หายใจแล้วอั้นไว้ แต่จงหายใจโดยใช้ศักยภาพของปอดให้เต็มที่ แล้วหายใจออกให้แน่ใจว่าออกจนหมด ที่หลวงปู่นับเลขก็เพื่อที่จะให้เธอได้รู้ว่าลมหายใจของเรานั้น มันกว้างขวางยิ่งใหญ่ขนาดไหน การหายใจออกหมดก็เพื่อให้แน่ใจว่า เราต้องการลมเข้าแล้วจริงๆ"
"หลวงปู่ครับ ในขั้นสุดท้าย หรือท่าที่ 8 ของสมาธิพระโพธิสัตว์ ของสมาธิพระโพธิสัตว์ ความสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจเข้า-ออก หรือขั้นที่ 8 กับการเปลี่ยนท่าของมือจะเป็นอย่างไรครับ"
"ในขั้นสุดท้าย หรือขั้นที่ 8 ของสมาธิพระโพธิสัตว์ มันจะไม่ใช่แค่เพียงมีลมหายใจเข้า แล้วสัมพันธ์กับอิริยาบถที่เปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่ในขั้นนี้มันจะสามารถสัมพันธ์กับพลังแห่งจักรวาลและอณูแห่งบรรยากาศรอบข้างได้ คือมันรู้ว่าการเกิด-การดับ การเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลในร่างกายและพลังรอบตัวเราได้ แต่ในท่าที่ 4 หรือพระโพธิสัตว์ภาวนาที่หลวงปู่ถ่ายทอดให้พวกเธอนั้น ยังอยู่ในขั้นการหายใจต้องควบคุมให้สัมพันธ์กับอิริยาบถตามระบบการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมือขวา มือซ้าย มือล่าง มือบน ลมหายใจต้องประสานกลมกลืน พวกเธอจะต้องฝึกจนกระทั่ง เมื่อยกมือก็รู้ว่าหายใจเข้า เมื่อวางมือลงก็รู้ว่าหายใจออก เมื่อหมุนมือขวาขึ้น มือซ้ายอยู่ล่างก็รู้วาหายใจเข้า เมื่อขยับเปลี่ยนมือซ้ายขึ้น มือขวาลงก็รู้ว่าหายใจออก การกระทำในอิริยาบถทั้งหลายกลมกลืนกับลมหายใจนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เรารู้จักมิติแห่งกาลเวลา และพลังในจักรวาลทั้งหลายได้"
"หลวงปู่ครับ ในตอนตั้งมือ เป็นช่วงกึ่งกลางระหว่างลมหายใจเข้าและออกหรือเปล่าครับ"
"ในกระวนการตั้งมือนั้นมันเป็นการโคจรของพลังปราณในกาย มันเป็นกระบวนการของการบังคังพลังในกายให้เคลื่อนจากมือขวาย้ายมามือซ้าย สู่ท่อนแขนหัวไหล่ แล้วพุ่งออกไปสู่มือขวา เป็นการหมุนเวียนของพลังแล้วใช้พลัง อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของท่าพระโพธิสัตว์ภาวนา ส่วนกระบวนการหายใจยังปกติ"
"หัวใจของสมาธิพระโพธิสัตว์ คืออะไรครับ"
"คือ การหายใจอย่างผ่อนคลาย ใช้ศักยภาพของร่างกายให้สมบูรณ์ อ่อนโยน นิ่มนวล แฝงด้วยพลังอันลึกล้ำ เป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจ ศักยภาพในตนเอง กระบวนการหายใจเป็นเทคนิคของแต่ละบุคคล บางคนหายใจได้ยาว บางคนหายใจได้สั้น มันขึ้นกับอวัยวะของผู้นั้น บุญทำกรรมแต่งแต่เมื่อเราหายใจเข้าไปก็ต้องมั่นใจว่า เราดูดกลิ่นไอของพลังและความสุขสมบูรณ์ความเสริมร้าง ซ่อมแซม และส่งเสริมพลังปราณภายในเข้าไป และคราใดที่หายใจออกก็ต้องถ่ายเทของเสียทั้งหลาย ความรุ่มร้อน ความอึดอัดขัดเคือง ความยุ่งเหยิง ฟุ้งซ่าน รำคาญ โกรธเกลียดออกไปด้วย ลมหายใจที่ผ่อนออกนั้นคือ การผ่อนออกของมลภาวะดุจคนที่ท้องผูกแล้วได้ระบาย.."
"…แต่ถ้าหายใจออกแล้วยังเฉยๆ ไม่มีอะไร แสดงว่าเราไม่มีจิตคล้อยตามลมหายใจ อารมณ์ ทั้งหลายกำลังแบ่งแยก ถูกปรุงแต่งจาก 1 เป็น 2 เป็น 3 เป็น 4 พลังงานของเรากระจัดกระจายไม่รวมเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ถ้าเมื่อใดที่เราหายใจออกแล้วรู้สึกว่ามันได้ผ่อนคลาย มลภาวะทั้งหลายได้ละทิ้งนั้นเป็นกระบวนการที่ได้รวบรวมพลังเป็นกลุ่มเป็นก้อน และได้ใช้ผลักดันของเสียข้างในออกไปกับลมหายใจที่ผ่อนออกได้.."
"..ลมหายใจที่เต็มไปด้วยการผ่อนคลายนั้น จึงเป็นลมหายใจที่ สร้างสรรค์ สร้างเสริม ซ่อมแซม และส่งเสริมให้มีพลังชีวิตใหม่ๆ ปรากฏขึ้นความรู้สึกนึกคิดชีวิตจิตวิญญาณของเราก็ได้รับการพัฒนาไปตามกระบวนการใหม่ๆ ชีวิตใหม่วิถีทางใหม่ และวิธีการหายใจชนิดใหม่นี้ ซึ่งจะทำให้ระบบชีวิตความคิด สมอง สติปัญญาของเราได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ มีภูมิคุ้มกันความคิดการกระทำและคำพูดของตัวเราได้ อย่างหลวงปู่นี้ ตามองเห็นรูปได้ 360 องศา หูฟังเสียงได้ไกลที่สุดได้ 5 กิโลเมตร จมูกรับกลิ่นได้ 180 กลิ่น ลิ้นรับรสได้ 60 รส ผิวกายรับสัมผัส ความชื้น ความร้อน ความแข็งกระด้างของบรรยากาศและโมเลกุลรอบกายเราได้อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการเสริมสร้างประสิทธิภาพและกายภาพของชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนและสั่งให้เราพัฒนาชีวิตของเราเป็นศิลปะ"
"ในการเคลื่อนไหวมือในการฝึกสมาธิพระโพธิสัตว์ภาวนา เราจะทราบได้อย่างไรว่า เมื่อจิตเรามาถึงขั้นนี้เราจึงเปลี่ยนมือได้"
"มันอยู่ที่เทคนิค เหมือนกับคนขับรถยนต์ เมื่อเข่าเกียร์หนึ่งต้องมีคนบอกมั้ยว่าให้เข้าเกียร์สอง มันอยู่ที่เทคนิคบางคนเปลี่ยนเป็นเกียร์สามแล้ว ยังต้องกลับไปเกียร์หนึ่งใหม่ เพราะสถานภาพไม่อำนวย"
"ขอให้หลวงปู่บอกวิธีแก้การตกอยู่ในภวังค์ขณะกำลังทำสมาธิด้วยครับ"
"ภวังค์กับจิตเป็นเรื่องราวของหลุมอากาศ เมื่อตกภวังค์เหมือนตกหลุมอากาศ ทำให้เราเคว้งคว้าง สิ่งที่ได้รับคือ กระบวนการแห่งความมืดบอด ความดำ และเราจะโดนกักขังให้อยู่กับที่ วิธีแก้ไขคือ หายใจเข้าลึกๆ คนที่เข้าไปสู่ภวังค์ตกอยู่ภวังค์ก็เพราะหายใจไม่เป็น ไม่มีระบบในการหายใจ ไม่มีกระบวนการควบคุมลมหายใจ จนกระทั่งลมหายใจมันขาดออกเหมือนกับเราอยู่นิ่งๆ เฉยๆ สมัยก่อนคนที่ถึงตรงนี้มีมาก จนกระทั่งอวดอ้างว่าตนเองเป็นอรหันต์ พระพุทธเจ้า ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของคนตาบอดที่เข้าไปในความมืดแล้วหลงอยู่ในนั้น มันอยู่ในนั้นโดยไม่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใดๆ เรื่อยๆ เงียบๆ เฉยๆ เหมือนคนตาบอดอย่างนั้น จึงคิดว่าตนเองหมดตัณหา หมดกามกิเลส หมดความผูกพันแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นกระบวนการของภวังค์จิต ซึ่งเราไม่สามารถติดตามความเป็นไปของจิตได้ มันเป็นมายาชนิดหนึ่งของจิตที่แสดงออกไว้เพื่อหลอกล่อให้เราหลงใหลว่า เราเป็นผู้ชนะ เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้หมดแล้วจากอุปกิเลสแต่ไม่ใช่ ทางที่แก้คือ หันมาสู่กระบวนการหายใจอย่างเป็นระบบอย่างที่สอนไว้แล้วก็พอจะแก้ได้ อนึ่ง คนที่ตกภวังค์ ปอดเกือบไม่มีการหดเข้าและขยายออกเลย คล้ายกับคนที่เข้านิโรธสมาบัติ แต่ไม่เชิงนิโรธสมาบัติ เพราะคนที่เข้านิโรธสมาบัติมันจะหายใจเต็มที่ แต่เหมือนกับไม่ได้หายใจ มันเป็นการตัดสัญญา"
"หลวงปู่มีวิธีอย่างไรที่มีความเพียรในการทำสมาธิโดยที่ไม่ปวดเมื่อยตลอดเวลาที่ทำสมาธิ และจะสลัดให้หลุดอย่างไรจากมโนภาพครับ"
"ตอนที่หลวงปู่ทำสมาธิใหม่ๆ ก็รู้สึกวุ่นวาย สับสนเหมือนกัน พอหลับตานั่งก็เห็นภาพ คิดเป็นเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่มีช่วงหนึ่งที่เหมือนมีอะไรมาดลบันดาลว่าถ้ามัวคิดอยู่อย่างนี้ เราจะไม่มีวันรู้จักกับตัวของเราเอง ก็เลยพยายามสลัดให้หลุดบอกกับตัวเองว่าชีวิตเรามาคนเดียว สิ่งที่เป็นเรื่องตัวเราคนเดียวนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ให้หมดก่อน นี่คือวิธีคิดของหลวงปู่…"
"..เวลาที่นั่งหลับตาแล้ว ยังไม่เคยนะว่าเมื่อใดที่หลวงปู่นั่งหลับตาแล้วมีไอ้นั่นผุดขึ้น ไอ้นี่ผุดขึ้น ไม่เคยมีความคิดแตกแยก หากหลับตาเมื่อต้องการสมาธิต้องไม่ให้มันเกิดกระบวนการความคิดที่แตกแยก จะได้รวบรวมพลังงานทั้งปวงได้ หลวงปู่มีแนวความคิดที่ค่อนข้างไม่เหมือนคนอื่นนะ อย่างบางคนทำสมาธิแล้วต้องภาวนา พุทโธ แต่หลวงปู่จะไม่ เพราะเราต้องการพลังจากน้ำ แล้วให้น้ำรั่วออกไปทาง หู ตา จมูก ปาก น้ำที่มีอยู่มันก็ลดน้อยลง แล้วพลังมันได้มาจากไหน วิธีคิดของปู่ก็คือ เมื่อต้องการพลังจากน้ำก็ต้องหาน้ำมาเติมให้มันเต็มเสียก่อน สะสมพลังจากน้ำไว้ไม่ให้มันรั่วไหลจากที่ของมันไป เมื่อใดที่น้ำเต็มที่แล้วเราจะใช้ทำอะไรก็สามารถทำได้.."
"…หลวงปู่จึงมีคำพูดว่า ลูกรัก.. ถ้าเมื่อใดที่เจ้าต้องการสมาธิ เห็นพระ พุทธเจ้า ต้องฆ่าทิ้ง เห็นพระธรรมต้องเผาทิ้ง เห็นพระสงฆ์ต้องหนีให้ไกลเพราะการทำสิ่งเหล่านี้จะทำให้เจ้าหลงไหลและมัวเมาตกเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ในทางที่ไม่เป็นสมาธิ ความหมายของสมาธิคือไม่อยู่กับอะไร แต่อยู่กับตัวเรา มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว บางคนเรียนสมาธิจากพุทโธ หลวงปู่คิดว่าเป็นวิธีที่เนิ่นช้า และไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ เราต้องการความสงบ แต่กลับไปพูดกับพระพุทธเจ้า ภาวนาหาพระพุทธเจ้า เราต้องควบคุมสันติสุข กลับไปนึกถึงพระธรรม จึงควรพูดเสียใหม่ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเครื่องกำหลาบกิเลศอย่างหยาบและเป็นเครื่องมือที่จะทำให้จิตเราสลดสังเวช แต่มันไม่ใช่เครื่องที่จะทำให้เราเกิดสมาธิ เพราะเป็นเรื่องของตัวเราที่จะต้องสลัดตัดให้หลุดฉุดตัวเราให้มันขึ้นมาจากกองขยะที่เหลวแหลกเละเทะ พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้ พระธรรมก็ช่วยไม่ได้ พระสงฆ์ก็ช่วยไม่ได้ ตัวเราจึงจะช่วยตัวเรา ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะบอกกับเราหรือว่า ตนแลเป็นที่พึงแห่งตน
สมาธิเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นโลกส่วนตัว เป็นกระบวนการส่วนตัวของเราที่เริ่มจากการปลุกครูของตนเองขึ้นมาสอน รักษาสมดุลของชีวิต รักษาความเป็นอิสระของตนเองได้ ปลดปล่อยสิ่งที่เราเก็บเอาไว้ให้ออกไป รื้อขยะที่มีหมักหมมให้ออกไป หากทำได้เช่นนี้แล้วหลับตาก็เป็นสมาธิ ลืมตาก็เป็นสมาธิ เดินอยู่ นั่งอยู่ ยืนอยู่ก็เป็นสมาธิ… หากทำด้วยวิธีอันเลิศ
การฝึกสมาธิพระโพธิสัตว์จะทำให้มีพลังชนิดหนึ่งออกมาจากใจกลางฝ่ามือ ออกมาบริเวณช่วงแขน ลำตัวและผิวกาย พระเขาเคยบอกว่าเวลาฝึกสมาธิแล้ว ลืมตาดูหลวงปู่ เขาจะเห็นแสงเรืองๆ เหมือนมีรัศมีออกมา หลวงปู่ไม่รู้ว่ามีหรือไม่รู้แต่ว่าตัวเองชุ่มฉ่ำ กระชุ่มกระชวย มีพลังเยอะขึ้น วิชาสมาธิพระโพธิสัตว์ มันจะทำให้จิตวิญญาณ สติ สมาธิ และกายรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างชนิดเฉียบพลัน รวดเร็ว เด็ดขาด หลวงปู่คิดว่า พวกเธอก็ทำได้ไม่ใช่เรื่องยาก สำคัญอยู่ที่อย่าไปหวังผลเลิศ แต่จงสรรหาวิธีที่เลิศ แล้วเราจะนำมาใช้เอง วิชาพระโพธิสัตว์ภาวนา วิชาลม 7 ฐาน ของหลวงปู่ได้มาจากสมาธิทั้งสิ้นไม่ได้เรียนรู้จากตำราเล่มใดเลย.." ..หลังจากนั้นอีกสามเดือน พวกผม ก็ได้รับการถ่ายทอด สมาธิพระโพธิสัตว์ อีก 7 ท่าที่เหลือจาก "หลวงปู่" โดยผ่านการนิมิตจนสมบูรณ์ในปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2541