24. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 24) 9/9/2551

24. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 24) 9/9/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 24)


24. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

การถอดกายทิพย์ เป็นความรู้เก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดที่มีอยู่ในทุกวัฒนธรรมเก่าแก่บนโลกนี้ เป้าหมายของ การถอดกายทิพย์ นั้นอยู่ที่การเดินทางไปสู่มิติแห่งจิตวิญญาณที่อยู่ในระดับสูง อันเป็นแหล่งแห่งปัญญาญาณ และพลังอันยิ่งใหญ่ในระหว่าง การถอดกายทิพย์ ดวงปัญญาของผู้นั้น จะได้รับการยกระดับให้สูงขึ้น ขณะเดียวกัน สภาวะจิตของผู้นั้นก็จะขยายตัวกว้างออกไปด้วย วิชาความรู้ทางจิตบางอย่าง บางทีก็เป็นข้อมูลที่ได้รับมาจาก การถอดกายทิพย์ นี้ เพราะ กายทิพย์ (Astral body) จะสามารถขยายมุมมอง และทัศนคติของผู้นั้นให้กว้างออกไป นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้นั้นสามารถตระหนักถึงธรรมชาติที่แท้จริง และความเป็นไปได้ในระดับสูงแห่งตัวตนของผู้นั้น รวมทั้งสามารถตระหนักถึงศักยภาพอันเป็น “เลิศมนุษย์” ที่คนเรามีอยู่ในตนได้ด้วย

วิชาสมาธิพระโพธิสัตว์ ที่ คุรุ ของ “เขา” ได้ถ่ายทอดให้พวกลูกศิษย์ในคืนวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ก็มาจาก การถอดกายทิพย์ เช่นกัน วิชานี้ คุรุ บอกว่า เป็นวิชาเฉพาะของโพธิสัตว์ที่ คุรุ ท่านคิดดัดแปลงมาจาก ภาพกวนอิมพันมือ ท่านยังเล่าต่อไปอีกว่า ครั้งหนึ่ง คุรุ ท่านเคยนอนยาวแล้ว ถอดกายทิพย์ ออกไปซึ่งจะเรียกว่าเป็น “ความฝัน” ของท่านก็ได้ เพราะการ ถอดกายทิพย์ ของท่านเกิดขึ้นเอง ในขณะที่ร่างกายของท่านเข้าสู่ภวังค์ใกล้หลับสนิท แต่ยังมีสติระลึกรู้อยู่ทุกประการ

ใน “ความฝัน” ครั้งนั้น คุรุ ได้ฝันไปว่า ตัวท่านได้มีโอกาสไปประชุมในเทวสภา ตอนนั้น คุรุ แต่งกายไม่ค่อยเรียบร้อยนัก คือ มีผ้าแดงนุ่งอยู่ผืนเดียว เพราะตัวท่าน ถอดกายทิพย์ ออกจากกุฏิในขณะที่อยู่ในชุดนั้น แล้วไปปรากฏตัวในที่ประชุมเทวสภา ทั้งๆ ที่อยู่ในชุดนั้น ในความฝันนั้นที่ประชุมก็เลยเรียกท่านว่าเป็น เทพขอทาน

ระหว่างที่เดินขึ้นไปที่ประชุมเทวสภา คุรุ ได้เห็นว่า มีเหล่าพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายนั่งอยู่เต็มไปหมด แต่ละองค์ก็มีฐานที่นั่งของตนทั้งนั้น คุรุ ก็ไปยืนชะเง้อคุยกับพวกเขาที่ล้วนนั่งสูงท่วมหัวท่านทั้งสิ้น ส่วน คุรุ ในตอนนั้นยังไม่มีฐานที่นั่ง พวกนั้นก็เลยตะโกนถามลงมาว่า

“เอ้า มายังไงน่ะ”

คุรุ ได้ตอบไปในความฝันว่า

“อ้าวก็วันนี้เรียกประชุมไม่ใช่หรือ ก็มากับเขาด้วยน่ะสิ เราไม่รู้มาก่อนก็เลยมาทั้งยังงี้แหละ”

ทันใดนั้น ก็มีเสียงมาจากฐานที่นั่งใหญ่สูงกว่าที่นั่งอื่นทั้งหมดในบริเวณนั้นว่า

“ขอให้ท่านจงแสดงธรรมของท่านออกมา”

ตอนนั้น คุรุ นึกในใจว่า เราจะมีธรรมอะไรมาแสดงหนอ เพราะสภาพของเรา เขาก็เรียกขอทานอยู่แล้ว พอดีนึกขึ้นได้ว่า ก่อนที่จะมาที่นี่ เราได้เห็น รูปกวนอิมพันมือ เราก็เลยคิด ท่าปริศนาธรรม ขึ้นมาได้ 8 ท่า แล้วก็เลยแสดง ท่าปริศนาธรรม เหล่านั้นให้พวกเขาเห็น พอ คุรุ แสดงปริศนาธรรมได้ครบ 8 ท่าในความฝันนั้น ฉับพลันแผ่นดินที่ท่านยืนอยู่ ก็สูงขึ้นเท่ากับที่พวกเขานั่งจนเสมอกัน...ทั้งหมดข้างต้นนี้ คือ เรื่องราวของ “ความฝัน” ของ คุรุ ที่เป็นที่มาของ วิชาสมาธิพระโพธิสัตว์ ที่ท่านจะถ่ายทอดให้แก่พวกลูกศิษย์ในคืนวันนั้น คุรุ ผู้เป็นโพธิสัตว์ได้บอกกับพวกลูกศิษย์ของท่านในคืนนั้นว่า

“ท่าโพธิสัตว์ภาวนา ที่จะสอนต่อไปนี้ เป็น 1 ใน 8 ท่าของปริศนาธรรม ผู้ที่เป็นหรือจะเป็นโพธิสัตว์ จะต้องมีปัญญาเป็นของตัวเอง ต้องรู้เรื่องที่ตัวเองคิดค้นได้ ต้องเข้าใจสิ่งที่ตัวเองรู้ และถ่ายทอดสู่คนอื่นได้ รวมทั้งต้องทำให้คนอื่นได้ประโยชน์จากสิ่งที่ตัวเองรู้แล้วด้วย...”

“...ความหมายของ วิชาสมาธิพระโพธิสัตว์ มันก็คือท่าปริศนาธรรมที่เราคิดดัดแปลงมาจากภาพกวนอิมพันมือ ก่อนอื่นต้องตั้งกายให้ตรง ผ่อนคลาย แล้วจงสำรวจดูโครงกระดูกแกนกลางของร่างกาย สำรวจดูข้อต่อให้แต่ละข้อตั้งตรงตั้งฉากกับพื้นดิน ควบคุมความรู้สึกให้กำกับดูแลอิริยาบถที่เคลื่อนไหว”

“...สำหรับคนที่เริ่มฝึกใหม่ๆ ช่วงแรกจะรู้สึกสัมผัสถึง พลังชนิดหนึ่ง ที่สัมผัสได้ และถ้าทำไปเรื่อยๆ ผู้นั้นจะควบคุมพลังในกายได้ และควบคุมอิริยาบถในกายได้ สมาธิพระโพธิสัตว์ ท่าโพธิสัตว์ภาวนานี้ เป็น 1 ใน 8 ท่า มันจะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่กำหนดอิริยาบถ และบทบาทของตนเองได้ มีสติเท่าทัน อิริยาบถ และควบคุมความรู้สึกนึกคิดได้ จิตของผู้นั้นจะตั้งมั่นได้เร็ว”

ขั้นตอนการปฏิบัติ สมาธิพระโพธิสัตว์ภาวนา มีขั้นตอนทั้งหมดดังนี้

เริ่มต้น สำรวจโครงสร้างของร่างกาย นั่งให้สบาย ผ่อนคลายให้มากที่สุด

ขั้นที่สอง หลับเปลือกตาลงอย่างนุ่มนวล เบา อ่อนโยน สูดลมหายใจเข้ากักลมหายใจไว้ชั่วครู่ ผ่อนลมออก ทำอย่างนี้จนกระทั่งรู้สึกว่า ผู้ฝึกสามารถสลัดหลุดจากความรู้สึกฟุ้งซ่าน หงุดหงิดทั้งปวงได้ ร่างกายไม่เกร็งหรือเครียด เมื่อผู้ฝึกสามารถควบคุมประสาททุกส่วนได้ จึงเริ่มเคลื่อนไหวช่วงแขน ข้อต่อ ศอก และฝ่ามือ โดยใช้จิตกำหนดพลังที่มีอยู่ในกายให้โยกโอนตามการเคลื่อนไหว ช่วงนี้ผู้ฝึกจะรับรู้ถึง ไออุ่นที่วิเศษ คือเป็น ไออุ่นที่นุ่มนวล และให้สันติสุข เมื่อสูดลมเข้า จงยกมือขึ้นวางหน้าตัก เมื่อยกมือกลับไปวางที่หัวเข่า ผ่อนลมออก จงควบคุมลมหายใจพร้อมกับอิริยาบถ

ขั้นที่สาม สลับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของมือขวาและมือซ้าย เคลื่อนไหวมือขึ้นบนและล่าง มันจะมี พลังชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างมือทั้งสองข้างที่ฝ่ามือหันเข้าหากัน ผู้ฝึกจะรับรู้ได้โดยวิถีจิตของผู้ฝึกเองว่า มันเป็นความอบอุ่นและมีไอพิเศษ

สุดท้าย ประนมมือในอากาศ แต่ไม่ให้ฝ่ามือทั้งสองข้าง แตะชิดกัน ผู้ฝึกต้องฝึกที่จะบังคับพลังให้ตั้งขึ้น ผู้ฝึกต้องใช้จิตวิญญาณของเขา ความรู้สึกนึกคิดของเขาไปจับอยู่ที่อิริยาบถ และพลังที่สัมผัสได้นั้น จากนั้นเคลื่อนไหวฝ่ามือสลับสับเปลี่ยน หมุนเวียนซ้ายและขวา ล่างและบน

ปริศนาธรรม ของ ท่าโพธิสัตว์ภาวนา นี้ก็คือ

“เมื่อมีจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้าย เหตุใด จุดสุดท้ายก็คือจุดเริ่มต้น และจุดเริ่มต้นก็คือ จุดสุดท้าย?”

ผู้ฝึกต้องอย่าให้ฝ่ามือทั้งสองข้างแตะชิดกัน และต้องไม่ลืมว่า เคล็ดสำคัญของวิชานี้มิได้อยู่ที่ท่วงท่า แต่อยู่ที่ วิธีการโยกย้ายลมปราณ

คุรุ บอกว่า ประโยชน์ของ สมาธิพระโพธิสัตว์ นั้นอยู่ที่จะทำให้ผู้ฝึกตั้งจิตมั่นคงได้ง่าย คนที่มีวิตกจริต โทสะ โมหะ ราคะ พุทธจริตทั้งหลายนี้ จะสามารถกำราบลงได้ในการเคลื่อนไหวของอิริยาบถ ท่านี้จึงเป็นท่าที่ผู้ที่เป็นหรือจะเป็นโพธิสัตว์ใช้ในการภาวนา โดยที่จะมีพลังชนิดหนึ่งที่หมุนเวียนรอบฝ่ามือ และใจกลางฝ่ามือของผู้นั้น วิธีทำสมาธิแบบนี้ เมื่อผู้นั้นทำจนมั่นใจว่าตัวเองมีสติที่ทรงไว้อยู่กับตัว และไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏแล้วก็หยุดทำมันได้ แล้วเริ่มพัฒนาจิตต่อไปด้วย การวิปัสสนากรรมฐานแทน

อนึ่ง การทำ สมาธิพระโพธิสัตว์ภาวนานี้ จะช่วยยกระดับจิตของผู้ฝึกให้เข้าถึงปฐมฌาน และขั้นทุติยฌานได้ หากผู้ฝึกได้ฝึกจนชำนาญเป็นเอกเทศแล้ว

คุรุ กล่าวว่า ทีแรกท่านไม่คิด ไม่พยายามสอน สมาธิพระโพธิสัตว์ สู่มหาชน เพราะท่านเกรงว่า ผู้คนจะเข้าใจผิดคิดว่า ตัวท่านไปยึดติดในรูปแบบและท่าทาง แต่ว่านั่นเป็นท่าร่างและท่าทางของปริศนาธรรมแบบเซน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นกระบวนการของธรรมะ แต่ เป็นการถ่ายทอดธรรมโดยไม่ต้องอาศัยคำพูด อีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ตอนแรกท่านลังเลที่จะสอนวิชานี้สู่มหาชน เพราะท่านยังหวั่นหวาด และเกรงว่า ท่านจะถูกเข้าใจผิดหรือถูกมองว่า เป็นผู้นำลัทธิใหม่เข้ามาลบล้างความเชื่อ และคำสอนเก่าๆ ของเถรวาทซึ่งถือกันว่าเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอน

คุรุ จึงออกตัวว่า วิชาสมาธิพระโพธิสัตว์นี้ เป็นประสบการณ์เฉพาะตัว และเป็นความรู้เฉพาะตัวของท่าน ถ้าลูกศิษย์ยอมรับก็มีสิทธิที่จะมาเรียนรู้ แต่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่มีสิทธิที่จะมาเรียนรู้ เพราะวิชานี้มิใช่วิชาสากลที่ใครๆ ก็จะทำได้ แต่ มันเป็นวิชาสำหรับผู้ที่ปฏิญาณตนว่าจะเรียนรู้ สมาธิพระโพธิสัตว์เพื่อสืบสานแนวทางสายโพธิสัตว์เท่านั้น

คุรุ ท่านยังกล่าวเสริมอีกว่า สมาธิพระโพธิสัตว์ ยังเป็นการฝึกหายใจทำให้อวัยวะทั้งหลายทำงานภายในกายให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์แบบด้วย โดยให้หายใจให้เต็มปอด ใช้ศักยภาพของปอดให้เต็มที่ โดยหายใจเข้าให้ลึกกักลมไว้ แล้วผ่อนลมหายใจออกให้หมดก่อนที่จะสูดเข้าไปใหม่ อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจเข้า-ออก กับอิริยาบถที่เปลี่ยนแปลงใน สมาธิพระโพธิสัตว์ นั้น ผู้ฝึกจะต้องพัฒนาความสัมพันธ์นี้ไปจนถึงขั้นสามารถสัมพันธ์กับพลังแห่งจักรวาฬ และอณูแห่งบรรยากาศรอบข้างให้จงได้ โดยเริ่มจากการหายใจต้องควบคุมให้สัมพันธ์กับอิริยาบถตามกระบวนการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมือขวา มือซ้าย มือล่าง มือบน ลมหายใจของผู้ฝึกจะต้องประสานกลมกลืน

ผู้ฝึกสมาธิพระโพธิสัตว์จะต้องฝึกจนกระทั่ง เมื่อยกมือก็รู้ว่าหายใจเข้า เมื่อวางมือก็รู้ว่าหายใจออก เมื่อหมุนมือขวาขึ้น มือซ้ายอยู่ล่าง ก็รู้ว่าหายใจเข้า เมื่อขยับเปลี่ยนมือซ้ายขึ้น มือขวาลงก็รู้ว่าหายใจออก การทำให้อิริยาบถทั้งหลายกลมกลืนกับลมหายใจนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้นั้นรู้จักมิติแห่งเวลา และพลังในจักรวาฬทั้งหลายได้ ส่วนในกระบวนการตั้งมือ อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของท่าพระโพธิสัตว์ภาวนานั้น มันเป็นการโคจรของพลังปราณในกาย โดยบังคับพลังในกายให้เคลื่อนจากมือขวาย้ายมามือซ้ายสู่ท่อนแขน หัวไหล่ แล้วพุ่งออกไปสู่มือซ้าย นี่เป็นการหมุนเวียนพลังแล้วใช้พลัง

คุรุ บอกว่า หัวใจของสมาธิพระโพธิสัตว์ คือการหายใจอย่างผ่อนคลาย ใช้ศักยภาพของร่างกายให้สมบูรณ์ อ่อนโยน นิ่มนวล แฝงด้วยพลังอันลึกล้ำ เป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจ และศักยภาพของผู้นั้น โดยที่ ตอนหายใจเข้า ผู้นั้นต้องมั่นใจว่า ตนเองได้ดูดกลิ่นอายของพลังและความสุขสมบูรณ์ ความเสริมสร้างซ่อมแซมและส่งเสริมพลังปราณภายในเข้าไป ขณะที่ ตอนหายใจออก ผู้นั้นก็ต้องมั่นใจว่าได้ถ่ายเทของเสียทั้งหลาย ความรุ่มร้อน ความอึดอัดขัดข้อง ความยุ่งเหยิง ฟุ้งซ่าน รำคาญ โกรธเกลียดออกไปด้วย

ลมหายใจที่เต็มไปด้วยการผ่อนคลายนั้น คุรุ กล่าวว่า เป็นลมหายใจที่สร้างสรรค์ สร้างเสริม ซ่อมแซม และส่งเสริมให้มีพลังชีวิตใหม่ๆ ปรากฏขึ้น ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตจิตวิญญาณของคนเราจึงได้รับการพัฒนาไปตามกระบวนการใหม่ๆ ชีวิตใหม่ วิถีทางใหม่ และ วิธีการหายใจชนิดใหม่แบบโพธิสัตว์ นี้ ซึ่งเป็นการหายใจที่ทำให้ระบบความคิด สมอง และสติปัญญาของผู้นั้นสามารถใช้ศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ มีภูมิคุ้มกันทางความคิด ทางการกระทำ และทางวาจาของตัวเองได้ ผู้นั้นจะกลายเป็นผู้สามารถพัฒนาชีวิตของตนเองให้กลายเป็นศิลปะได้ในที่สุด






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้