23. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 23) 2/9/2551

23. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 23) 2/9/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 23)

23. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

คุรุ ผู้เป็นโพธิสัตว์เคยสอนพวกลูกศิษย์ของท่านว่าเคล็ดของการเดินลมปราณ นั้นคือ ยาว แผ่วเบา เชื่องช้า เนิบนาบ หนักแน่น และหมดจดวิชาลม 7 ฐานของโพธิสัตว์เป็น การฝึกลมในกาย ไม่ได้ฝึกกาย คือ ฝึกลมหายใจ จนกระทั่งใจของผู้นั้นไม่มีอารมณ์อะไร นอกจากลมหายใจ เท่านั้น คุรุ ยังบอกอีกว่า การฝึกลมอย่างนี้แหละ สามารถปิดประตูอบายภูมิและเปิดประตูวิญญาณของตนได้ ไม่แต่เท่านั้น การฝึกลมอย่างนี้ ยังเป็นการเตรียมตัวเดินทางไกลได้ไกลที่สุด เพราะไม่มีอะไรๆ นอกจากลมหายใจและความว่างๆ สบายๆ โดยที่มันจะเดินทางได้ไกลจนถึงนิพพานเลยทีเดียว

ในอีกแง่มุมหนึ่ง คุรุ เคยกล่าวถึง วิชาลม 7 ฐาน ของท่านในฐานะที่เป็น วิชาเพื่อกายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ และธรรมศักดิ์สิทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า วิชาเพื่อสามศักดิ์สิทธิ์ ด้วย โดยที่วิธีการที่จะทำให้ กายศักดิ์สิทธิ์ นั้น เริ่มมาจากการฝึกปรือทุกอย่างให้เป็นกระบวนการของกาย จนกระทั่งมันกลายเป็นความกล้าแข็งของจิต ทำให้จิตใจกล้าแข็ง มีอำนาจ ตบะ และพลังอยู่ในตัวซึ่งเป็น จิตศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นด้วย จิตศักดิ์สิทธิ์ นี้ คนผู้นั้น ก็ย่อมเข้าถึง ธรรมศักดิ์สิทธิ์ ได้

เคล็ดของ การฝึกกายให้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ คุรุผู้เป็นโพธิสัตว์ ได้ถ่ายทอดให้พวกลูกศิษย์นั้น อยู่ที่ การฝึกตน ดังที่ท่านได้กล่าวถึง การฝึกตน นี้ด้วยสำนวนที่หลากหลายดังต่อไปนี้

“ถ้าจะ ฝึกตน จงอย่าไปสนใจฟองน้ำลายบนปลายลิ้นใคร”

“ใครๆ ก็พูดได้ แต่ใครๆ ก็ทำไม่ค่อยได้”

“รู้จริง ทำจริง จึงเห็นผลจริง”

“ฝึกบ่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ทำเป็นนิจศีลถึงเวลาพระธรรมก็เต็มเปี่ยมในภาชนะ คือ หัวใจที่ใสสะอาด”

“จงฝึกตนให้เป็นผู้มีใจเป็นเพชร แกร่ง และกล้า”

“อย่ามัวหาเวลาในการฝึกจิต แต่ จงฝึกให้ได้ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ”

“พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ การปฏิบัติบูชา ว่า มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่กว่าอะไรทั้งปวง จะทำให้เราหลุดพ้นจากภัยของวัฏสงสารได้”

“น้ำไม่มีใครตักหยดเดียวแล้วเต็มตุ่ม ทุกสิ่งต้องใช้การสะสมตัวมันเอง การฝึกปรืออบรมจิตวิญญาณจึงต้องใช้เวลา”

“การจะทำสิ่งใดให้สำเร็จต้องสร้างกำลังใจแก่ตัวเองให้ได้ตลอดเวลา อย่าไปฝากกำลังใจไว้กับอะไรๆ แต่ทำทุกอย่างต้องทำจริง”

“พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้คนเราทำลายกิเลส แต่สอนให้ละ ตัด วางกิเลส โดยไม่ยอมให้กิเลสมาใช้ หรือมีอำนาจเหนือเรา”

ส่วน เคล็ดการฝึกจิตให้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ คุรุ ผู้เป็นโพธิสัตว์ได้ถ่ายทอดให้พวกลูกศิษย์นั้น อยู่ที่ สมาธิแบบโลกุตระ โดยเริ่มจากการฝึกปรือ อบรม พัฒนา ลด ละ เลิก เว้นกรรมกิเลสที่เกิดจากโลภะ โทสะ โมหะ ค่อยๆ พัฒนาตนเองจากคนปุถุชนสู่ความเป็น เลิศมนุษย์ ผู้มีความเยือกเย็น สะอาด สงบ และไม่สับสน

คุรุ ยังบอกอีกว่า สมาธิแบบโลกุตระ คือ การสลัดให้พ้นจากบ่วง จากความร้อยรัดทั้งปวง โดยทำใจของตนเองให้โปร่ง ว่างๆ สบายๆ ไม่ต้องบังคับชี้นำอะไรให้เกิดขึ้น เป็นสภาวะที่เกิดจากประสบการณ์ทางวิญญาณที่ปล่อยวาง เป็นความตั้งมั่นของอารมณ์ที่ไม่มีอะไร เคล็ดสุดยอดของสมาธิแบบโลกุตระ ซึ่งเป็น สมาธิแบบพระพุทธเจ้า นั้นคือ กายรวมกับใจ ท่านบอกว่า ผู้รู้จัก สมาธิที่แท้จริง จะต้องดึงใจกลับมาอยู่กับกายเสมอ เพื่อไม่ให้ใจแตกแยก สับสน และ เพื่อดูจิตตัวเองให้กระจ่างชัดอย่างรวดเร็ว และเฉียบขาด การจะทำเช่นนั้นได้ ผู้นั้นจะต้องทำตัวให้หนักแน่น มั่นคงดุจภูเขาที่ตั้งตระหง่านโดยไม่ใส่ใจต่อแรงลม และพายุร้าย

การจะเข้าถึงสมาธิแบบโลกุตระ อิริยาบถทุกลมหายใจของผู้นั้นต้องสะอาด คือ สะอาดทุกขณะจิตเกิดดับอย่างเป็นไปเอง อาการของการข่ม การเพ่งให้เกิดสมาธินั้น ยังไม่ใช่ของจริง ยังไม่ใช่สมาธิล้วนๆ ของพุทธะ เพราะ คุรุ ท่านได้ค้นพบด้วยตัวท่านเองว่า ในขณะที่ตัวท่านมีชีวิต และจิตใจรวมเป็นสมาธินั้น ทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพวัตถุ รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีแม้แต่กาลเวลาคงไว้แต่อารมณ์สมาธิเท่านั้น

วิธีหนึ่งของการฝึก สมาธิแบบโลกุตระ ของ คุรุ ก็คือ การปล่อยใจไปตามอำนาจของธรรมชาติ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคตให้ปรากฏ แต่ธรรมชาติอันเป็นปัจจุบันเท่านั้น เช่น ลมพัดใบไม้ กลิ่นอายของแผ่นดิน เสียงนกร้อง โดยที่ปล่อยให้มันเป็นธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติจริงๆ อย่าง ไม่ต้องไปเปรียบกับสิ่งอื่น เราเพียงแต่รู้มัน สัมผัสมัน ลึกซึ้งมัน ซึมสิงมัน เข้าใจมัน แต่ไม่ต้องปรุงแต่งมัน สิ่งที่ผู้นั้นควรทำคือ แค่ซึมซับพลัง และวิถีทางของธรรมชาติเท่านั้น

คุรุยังสอนอีกว่า สมาธิที่ดีไม่ควรมีเฉพาะตอนนั่งหลับตา แต่มันควรจะอยู่กับทุกอิริยาบถอย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นปกติธรรมดา

วิธีการของคุรุก็คือ ให้หมั่นเพ่งความรู้สึกทั้งหมดจดจ่อลงไปภายในตัวเอง และในทุกสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำ โดยไม่ไขว้เขวไปดูผู้อื่น สิ่งอื่นที่ทำให้จิตออกไปนอกกาย เพราะอารมณ์ในสมาธิแบบโลกุตระนั้นจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับกาย ไม่ใช่หนึ่งเดียวกับสิ่งอื่น

คุรุได้ถ่ายทอดเคล็ดกายรวมใจ ของสมาธิแบบโลกุตระ ของท่านเอาไว้ดังนี้ว่า

“กายรวมใจ คือ การนำใจหรืออารมณ์เข้าไป ซึมสิงในอิริยาบถจนปรากฏออกมาเป็นการกระทำที่เต็มไปด้วยความเอื้ออาทร ความเสียสละการุณต่อสรรพสิ่ง นอกจากนี้ยังนำใจเข้าไป ซึมสิงในวาจาจนปรากฏออกมาเป็นการพูดในสิ่งที่เจริญ เพื่อให้เกิดความรื่นเริงในธรรม และถ้าทำได้จงนำใจเข้าไป ซึมสิงในการเขียน จนปรากฏออกมาเป็นข้อความที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมการพัฒนาจิตใจของผู้คนด้วย”

“กายรวมใจ คือ การกระทำกุศลกรรมอย่างรู้เนื้อรู้ตัว จนทุกอิริยาบถเป็นความสะอาด”

“กายรวมใจ คือ การใส่อารมณ์เข้าไปในการกระทำ และคำพูดโดยเป็นอารมณ์ล้วนๆ ที่ไม่มีอะไรในใจเลย”

“กายรวมใจ คือ วิธีเปิดประตูของธรรมชาติ และนิพพาน”

“กายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ และธรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็น คุณธรรมเบื้องสูงของผู้ที่คงแก่การฝึกปรือตนเอง ไม่ใช่ของผู้ที่คงแก่เรียน และยังเป็นคุณธรรมเบื้องสูงของเหล่าโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่มีกายอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่มีจิตอันศักดิ์สิทธิ์ และผู้ที่ถึงซึ่งธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย”

คุรุ ยังบอกอีกว่า กายศักดิ์สิทธิ์ คือ ระเบียบวินัยที่เป็นวิถีทางที่จะทำให้คนเราเข้าถึงประตูแห่งความมีระเบียบแห่งกาย และความเป็นระบบในจิต การที่พวกเธอทั้งหลายได้ ฝึกปรือตนเองให้มีความตื่นตัวของกายอยู่ทุกขณะจิตนี้แหละ คือสภาวะของกายศักดิ์สิทธิ์ คำว่าตื่นตัวในที่นี้ คุรุ บอกว่า หมายถึงสภาวะที่คนผู้นั้นเพียบพร้อม เต็มเปี่ยม ถูกต้อง รวดเร็ว รวบรัด แต่เรียบร้อย

เมื่อใดก็ตามที่คนเราสามารถปลุกกายของเราให้เป็นผู้ตื่นตัวได้ เมื่อนั้นก็ย่อมส่งผลให้ใจของผู้นั้นต้องตื่นตามไปด้วย คนผู้นั้นจะรู้สึกมีเสรีภาพ มีอิสระที่กว้างไกล มีความสามารถอันยิ่งใหญ่ต่อขบวนการแห่งกาย และใช้พลังงานของกายได้อย่างหมดจด

เมื่อคนผู้นั้นมีระเบียบทางกาย หรือมี กายศักดิ์สิทธิ์ แล้ว มันจะเกิดระบบชนิดหนึ่งให้แก่จิต ทำให้จิตของผู้นั้นเป็นจิตที่มีความกล้าแข็ง อาจหาญ สุขุม รอบคอบ หนักแน่น มั่นคง และยิ่งใหญ่ หรือเป็น จิตศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นกระบวนการแห่งจิตที่เกิดจากกายที่เป็นระเบียบ เพราะฉะนั้น ถ้าคนผู้นั้นรู้จักการฝึกปรือทั้ง กายศักดิ์สิทธิ์ และ จิตศักดิ์สิทธิ์ นี้ไปพร้อมๆ กัน ในที่สุดก็จะปรากฏ ธรรมศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นผลของขบวนการศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองที่ประสมประสานสอดคล้องกลมกลืน สนับสนุนเป็นพลังอันอัศจรรย์ที่ผลักดันให้เกิด ธรรมศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นมา โดยที่ธรรมศักดิ์สิทธิ์นี้เป็น ธรรมะที่มีชีวิตชีวา มิใช่ธรรมะอันแห้งแล้งที่เกิดจากอักษรภาษาหรือจากนิยามสัญญาความทรงจำ

เคล็ดของการทำให้ ธรรมศักดิ์สิทธิ์ เผยตัวออกมานั้น คุรุ บอกว่า อยู่ที่การทำงานของตน โดยทำให้งานของตนกลายเป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาให้จงได้ เพราะมีแต่การทำงานประเภทนี้เท่านั้น จึงจะสามารถทำให้คนผู้นั้นหลอมรวม ชีวิต จิตวิญญาณ และความรู้สึกนึกคิดของตน รวมเข้ากับร่างกายของตนให้เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาฬได้ คุรุ จึงบอกว่า

“เมื่อเราทำงานที่เป็น ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ งานนั้นจะสอนให้เราแกร่ง มีจิตใจอาจหาญ อดทน มานะ เป็นผู้กล้าที่แท้จริง เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้ งานของเรา กลายเป็น ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ และเป็น ธรรมะ ของเรา เราต้องทำให้ งานของเรา เป็นการพัฒนาพลังในกาย พัฒนาพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงพลังในกายจากดำเป็นขาว จนถึงที่สุด จนตัวเราเข้าถึงความอิ่ม เต็ม ดับ และเย็น...”

“จำไว้นะ ธรรมะแท้ๆ ไม่ได้มาจากสมอง ไม่ได้มาจากการคิด แต่มาจากใจล้วนๆ ที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ทฤษฎีต่างๆ ที่มาจากสมองนั้น เปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา ไม่เป็นสัจธรรม แต่อะไรที่เกิดจากจิตล้วนๆ นั้นไม่มีการโดนทำลาย...”

“ผู้ที่มี ธรรมศักดิ์สิทธิ์ หรือ ธรรมะ จึงไม่มีข้อแม้มาขีดคั่นระหว่างดี ชั่ว เลว หยาบ แต่จะอยู่ได้ทั้งสองสิ่งนั้น โดยสามารถหาประโยชน์ได้จากสิ่งเหล่านั้นในการใช้ชีวิต และในการทำงานที่เปี่ยมไปด้วยสติ มีความเข้าใจระลึกรู้ต่อกิจที่ทำ คำที่พูด สูตรที่คิดอยู่ทุกขณะ สามารถรู้เท่าทันอารมณ์ของตน จนไม่เป็นทาสของอารมณ์ใด และสามารถปลดปล่อยตัวเองได้ในพริบตาที่ต้องการ คนที่เป็นเช่นนี้ และทำเช่นนี้ได้ จึงเป็น ยอดคน”

หลังจากที่ “เขา” ได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาลม 7 ฐานจาก คุรุ ของเขาในคืนวันที่ 6 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 แล้ว “เขา” ก็ตั้งใจฝึกศิลปะการหายใจที่ คุรุ ได้เมตตาถ่ายทอดให้อย่างจริงจังมิได้ขาด หกเดือนต่อมาในคืนวันที่ 9 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2541 คุรุ จึงถ่ายทอด วิชาสมาธิพระโพธิสัตว์ ให้แก่พวกลูกศิษย์ของท่านเป็นครั้งแรก






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้