มณฑลแห่งพลังกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (ตอนที่สอง)
"มูซาชิ ได้ค้นพบว่า หนทางแห่งนักรบนั้น แยกไม่ออกจากหนทางแห่งความเป็นคน
ความเป็นเลิศในเพลงดาบ คือ สิ่งเดียวกับความงาม ความสงัดสุข และความดี
พูดอีกนัยหนึ่งคือ มูซาชิจะไม่สามารถบรรลุความเป็นเลิศในฝีมือได้
ถ้าหากเขาไม่แสวงหาความหลุดพ้นในระดับจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน"
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2534
คนไทยในยุคนี้ช่างเต็มไปด้วยความคิดด้านลบ และอารมณ์ด้านลบมากเสียเหลือเกิน! ยิ่งถ้าได้อ่านทัศนะต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต เราจะพบว่า ความคิดด้านลบกับอารมณ์ด้านลบมันจับคู่กันอย่างแน่นแฟ้นควบแน่น อยากจะเตือนด้วยความหวังดีว่า คำบอกกล่าวที่ท่านบอกกล่าวต่อผู้อื่นผ่านสื่อต่างๆ สุดท้ายมันจะกลายเป็นคำสาปแช่งที่จำขังพวกท่านอยู่ในความมืดมนแห่งความคิดและอารมณ์ด้านลบ
นี่คือ แบบแผนแห่งพลังที่กำลังมีปัญหา ของคนไทยจำนวนไม่น้อยในโลกแห่งสื่อต่างๆ คนเหล่านี้อ่อนไหวง่ายต่อการปลุกเร้าของแรงยุหรือแรงโฆษณา พวกเขาตกเป็น เหยื่อ ของการยั่วยุทุกรูปแบบชีวิตของพวกเขา จึงต้องวนเวียนอยู่ท่ามกลางความเครียด ความเบื่อ ความหงุดหงิด ความก้าวร้าว ความฟุ้งซ่าน หรือไม่ก็ความเหงา
ความเศร้า ความเซ็ง จนต้องเสาะหาความตื่นเต้นอย่างสุดๆ จากเรื่องเพศ และยาเสพติดมาเป็นทางออก หรือไม่ก็หาทางทำเรื่องราวอย่างไม่รู้จักยั้งคิด
ปัญหาเรื่องความคิดด้านลบ และอารมณ์ด้านลบของผู้คนจำนวนไม่น้อยเหล่านี้ ต้องแก้ในระดับ ญาณทัสนะ (intuition) หรือ ปัญญาที่มาจากการคิดโดยไม่คิด เท่านั้นถึงจะได้ผล และผู้ใดก็ตามที่ฝึกฝนตนจนเข้าถึงญาณทัสนะได้ ผู้นั้นก็จะเข้าถึง มณฑลแห่งพลัง ได้อย่างสมบูรณ์
พระเซนชื่อ ทากุอัน โซโฮ (ค.ศ. 1573-1645) ที่อยู่ในยุคเดียวกับยุคของมูซาชิ และเป็นผู้แต่งหนังสือชื่อ "คัมภีร์แห่งจิตของพระผู้ไม่หวั่นไหว" (The Mysterious Record of Immovable Wisdom หรือ ฟุโดจิชินเมียวโรคุ) ได้ถ่ายทอดคำสอนอันมีค่ายิ่งเพื่อเข้าถึง ความคิดที่ไม่มีความคิด หรือ ญาณทัสนะ นี้ให้แก่ นักรบ คนหนึ่ง ผู้เป็นทั้งเพื่อนและศิษย์ของเขา นักรบคนนี้คือ ยางิวมุเนโนริผู้เป็นถึงครูดาบของโชกุน เพราะฉะนั้น ผู้ที่คิดจะเดินบน วิถีนักรบ จึงควรที่จะศึกษาคำสอนของหนังสือเล่มนี้ของทากุอันให้กระจ่าง
ปรัชญาเซนเพื่อนักรบ ของทากุอันมีแกนหลักอยู่ที่ การไม่ตามโลก แต่ก็ไม่ทิ้งโลก ท่านทากุอันก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มี "พหุปัญญา" เพราะท่านเชี่ยวชาญในศิลปะต่างๆ ไม่ว่า การวาดภาพ การเขียนอักษร การแต่งบทกวี การจัดสวน และพิธีชงชา ท่านฝึกฝนศิลปะเหล่านี้มิใช่เพื่อสนองความพึงพอใจส่วนตัวของท่าน แต่ท่านมุ่งใช้ศิลปะต่างๆ เหล่านี้มาเป็นเครื่องมือของท่าน ในการช่วยกล่อมเกลาจิตใจของผู้คน ช่วยเปลี่ยนแปลง "โครงสร้างเชิงลึก" ของผู้คนให้ซาบซึ้งดื่มด่ำในพุทธธรรมตามแนวเซน ซึ่งเน้นการปฏิบัติธรรมที่กลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ด้วยการประสานจิตวิญญาณของเซนเข้าไปจับในทุกๆ แง่ ทุกๆ มุมของการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผ่านศิลปะแขนงต่างๆ ที่เกื้อหนุนจิตใจของผู้คนให้งดงาม สะอาด สงบ ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเครียด ความวุ่นวาย ความโกลาหลแค่ไหนก็ตาม
หัวใจของเซน ในทัศนะของท่านทากุอันคือ การมีความคิดโดยไม่คิด ท่านบอกว่า สิ่งนี้ควรดำรงอยู่ในการดำเนินกิจกรรมทางศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นดาบ ศิลปะการต่อสู้ การวาดภาพ การเล่นพิณ การคัดอักษร และการเล่นหมากล้อม
คำว่า "การคิดโดยไม่มีความคิด" ในความหมายเซนของท่านทากุอันคือ การไม่เอา 'ใจ' ไปวางไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ การไม่เอาใจไปวางไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะก็คือ การเอาใจวางไว้ทุกจุด ทุกตำแหน่งทั่วตัว และรอบๆ ตัว หรือก็คือ การตระหนักรู้เฉยๆ อย่างบริสุทธิ์เท่านั้น
ถ้าใจ 'ติดขัด' อยู่ ณ ที่ใด ณ จุดใด ที่นั่นจะเกิด 'ช่องว่าง' ให้คู่ต่อสู้โจมตีได้ (ถ้าเป็นศิลปะหรือกีฬาที่มีคู่แข่งขัน) หรือเกิดความติดขัดในการสำแดงศิลปะของตนออกมาอย่างสมบูรณ์ (ถ้าเป็นศิลปะที่ไม่มีคู่แข่งขัน แต่ต้องแข่งกับตัวเอง) การมีใจที่ติดขัดหรือติดข้อง ท่านทากุอันบอกว่า นั่นแสดงว่า ขณะนั้นได้เกิด 'ความหลง' ขึ้นภายในจิตใจของผู้นั้น
เมื่อผู้ฝึกศิลปะฝึกฝนตนเองจนเข้าสู่สภาพ 'ไร้ใจ' หรือสภาพความคิดที่ไม่มีความคิดได้แล้ว ท่านทากุอันบอกว่า เมื่อนั้นเขาผู้นั้นจะไม่มี 'ช่องว่าง' เกิดขึ้นแม้แต่น้อย สภาพเช่นนี้เป็นสภาวะที่ท่านทากุอันเรียกว่า 'ปัญญาที่ไม่สั่นคลอน' หรือ 'จิตที่ไม่หวั่นไหว' ซึ่งเป็นสภาวะที่ผู้ฝึกศิลปะทุกแขนงควรฝึกฝนจิตใจตนเองให้บรรลุถึง การฝึกกลยุทธ์ก็เช่นกัน ในสายตาของท่านทากุอันนั้น มันมิใช่การฝึกสิ่งใดอื่น แต่คือ การฝึกฝนเพื่อที่จะขจัด 'ความติดข้องทางใจ' ให้หมดไปจากจิตใจของมนุษย์ผู้นั้นนั่นเอง ผู้ที่สามารถขจัดความติดข้องทางใจให้หมดไปจากจิตใจของตัวเองได้ ผู้นั้นจะเป็นผู้ยอดเยี่ยมในศิลปะแขนงที่เขายึดถือเป็นวิถีอยู่ เพราะ คนเก่งคือคนที่ทำอะไรทุกอย่างในแต่ละขณะ โดยลืมใจไปได้อย่างสิ้นเชิง
ท่านทากุอันได้เคยกล่าวไว้ว่า
"ถ้าหากเราวางใจของเราไว้ที่การเคลื่อนไหวของปรปักษ์
ใจของเราก็จะไปยึดติดกับการเคลื่อนไหวของปรปักษ์
ถ้าหากเราวางใจของเราไว้ที่ความคิดที่จะฟาดฟันปรปักษ์
ใจของเราก็จะไปยึดติดกับความคิดที่จะฟาดฟันปรปักษ์
ถ้าหากเราวางใจของเราไว้กับความคิดที่จะไม่ถูกปรปักษ์ฟาดฟัน
ใจของเราก็จะไปยึดติดกับความคิดที่จะไม่ถูกปรปักษ์ฟาดฟัน"
จึงสรุปได้ว่า ไม่มีที่ไหนเลยที่เราจะใช้วาง 'ใจ' ได้!
หลักแห่งเซนบอกว่า การที่ไม่กำหนดวางใจไว้ ณ ที่ใดเลย ก็คือ การต้องกำหนดวางใจไว้ทั่วทุกๆ แห่งนั่นเอง ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า เขาผู้นั้นจะต้องอยู่ใน มณฑลแห่งพลัง (The Circle) เพราะ การทำให้ใจแผ่ขยายคลุมกว้างไปทั่วทุกส่วนของร่างกายได้ก็คือ การทำให้ร่างกายเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังปราณหรือชี่ เนื่องจากที่ใดที่ใจไปถึง ที่นั่น 'ชี่' ของเราหรือพลังปราณของเราก็จะตามไปถึงด้วยเช่นกัน
จึงเห็นได้ว่า การฝึกฝนลมปราณ การฝึกฝนการหายใจ และการฝึกฝนพลัง มันเป็นเรื่องเดียวกัน และควรนำไปสู่การไม่ยึดติดของใจ และภาวะใจที่ไร้ใจ หรือความคิดที่ไม่มีความคิด
อาจฟังดูแปลกแต่จริงที่ท่านทากุอันกลับสอนเหล่านักรบไม่ให้ต่อสู้ เพื่อหวังผลแพ้หรือชนะ และไม่ให้หมกมุ่นในเรื่องความเข้มแข็งกว่า หรืออ่อนแอกว่าของตัวเองและของคู่ต่อสู้ เพราะถ้าหากคนเรามุ่งต่อสู้เพื่อหวังผลแพ้ชนะ ในขณะที่อินทรีย์ยังไม่แกร่งกล้าพอ ก็อดที่ใช้ความรุนแรงไม่ได้ ทำให้ผู้ที่มีกำลังมากกว่าได้เปรียบ และเอาเปรียบข่มเหงเบียดเบียนผู้ที่อ่อนแอกว่าได้ จึงเห็นได้ว่า ใจที่ไปยึดติดกับผลแพ้ชนะจะเป็นตัวขัดขวาง "ความเลื่อนไหล" (Flow) ของพลัง และบั่นทอนความรุดหน้าของใจของผู้นั้นให้ห่างเหินจากทางธรรมยิ่งขึ้นทุกที
ท่านทากุอันบอกว่า ใจที่ไร้ใจคือใจที่มีสัมมา ซึ่งเป็นอนัตตา (ไร้ตัวตน) และคือตัวตนที่แท้ที่เป็นจิตเดิมของคนเรา
ใจที่เป็นอนัตตานี้ ย่อมสามารถพิชิตมารและมายาได้ ใจที่ไร้ใจนี้ความจริงล้วนดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นศักยภาพที่แฝงอยู่ในตัวของผู้คนทุกคน เพียงแต่ถ้าไม่ฝึกฝนอย่างจริงจังตามแนวสติปัฏฐานอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็จะไม่อาจค้นพบมันได้ ผู้ที่ไม่ฝึกฝนตนเอง ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรมคงยากที่จะได้เห็นสิ่งนี้ด้วยตัวเอง หากอยากเข้าถึงสภาวะใจที่ไร้ใจนี้ ก็ต้องมุ่งแสวงหามันท่ามกลางการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่ายามยืน นั่ง เดิน นอน ไม่ว่ายามพูดหรือยามเงียบ ยามทำงานหรือยามพักผ่อน ก็ต้องหมั่นเพียรพยายามอย่างไม่หยุดยั้งเป็นเวลายาวนาน แล้ววันหนึ่งก็จะได้พบมันเอง เหมือนกับได้พบแสงไฟท่ามกลางความมืดมิดโดยฉับพลัน เพราะ มันเป็นปัญญาที่มิได้มาจากคำสอนของครูบาอาจารย์ท่านใด แต่มันเป็นปัญญาที่ตัวเองได้มาด้วยตัวเองจากตนเอง
ผู้บรรลุในวิชาแห่งมรรคของตน ไม่ว่าจะเป็นท่านทากุอันหรือมูซาชิในวัยกลางคน ต่างสามารถสลัด 'ใจที่ยึดติด' ออกไปได้ทั้งสิ้น แม้กระนั้นคนระดับท่านทากุอัน ก็ยังถูกคนในสมัยเดียวกันบางส่วนนินทาป้ายร้ายท่านว่า ท่านเข้าหาผู้มีอำนาจอย่างโชกุนและยางิว มุเนโนริ แต่แม้ได้ฟังคำนินทาใส่ร้าย ท่านทากุอันก็ยังคงมีจิตใจเป็นปกติไม่หวั่นไหว เพียงสักว่ารู้ สักว่ารับทราบเท่านั้น ในทางกลับกัน เมื่อมีผู้คนมาแจ้งให้ท่านทากุอันทราบว่า โชกุนผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ชื่นชมในตัวท่านทากุอันเหลือเกิน และอยากจะให้ท่านอยู่ที่เมืองหลวงเอโดะ นานๆ ท่านทากุอันก็หาได้ปลาบปลื้มไม่ ก็ยังคงสักว่ารู้ สักว่ารับทราบเท่านั้น
ตัวมูซาชิเองในยามที่เขามีชีวิตอยู่ ก็มีคนกล่าวร้ายป้ายสีเขาเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจสั่นคลอนจิตใจที่มุ่งแสวงหาอภิมรรคของเขาได้ ท่านทากุอันจำใจต้องใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจเกือบตลอดชีวิตของท่าน เพราะท่านได้รับความนิยมเลื่อมใสจากผู้มีอำนาจเหล่านั้น โดยท่านหาได้เต็มใจเท่าไหร่นัก ในขณะที่ มูซาชิแทบไม่คิดจะเข้าไปสัมผัสกับพวกผู้มีอำนาจเลย เขาไม่เคยฟังคำนินทาของคนอื่น เขาไม่คิดจะฟังมันรวมทั้งไม่มีเหตุผลที่จะฟังคำนินทาเหล่านี้ แต่เขาก็ไม่คิดจะตอบโต้ด้วยแม้สักครั้ง
มูซาชิจับดาบจนถึงอายุยี่สิบเก้า ภายหลังจากที่เขามีชัยต่อซาซากิ โคยิโร่แล้ว หลังจากนั้น เขาแทบไม่จับดาบขึ้นมาประลองกับใครอีกเลย เขากลับมุ่งต่อสู้กับจิตใจภายในของตนเอง และมุ่งบรรลุวิถีของตนเองกับมุ่งบรรลุสภาวะจิตที่ 'ไร้ดาบ' ซึ่งเขาทำได้สำเร็จเมื่อตอนอายุห้าสิบปี
การจะฝึกใจไม่ให้ยึดติดนั้น ที่แท้ก็คือการฝึกใจให้ยึดติดกับ 'วิถี' ที่เป็นความมุ่งมั่นของตนเพียงหนึ่งเดียว และฝึกฝนพากเพียรอย่างหนัก จนกระทั่งแม้แต่วิถีนั้นตัวเองก็ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาอีกต่อไปแล้วในที่สุด