คมดาบซากุระ 2 : ปัจจัยถ่วงความเจริญ โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (14 มีนาคม 2555)

คมดาบซากุระ 2 : ปัจจัยถ่วงความเจริญ โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (14 มีนาคม 2555)


ปัจจัยถ่วงความเจริญ

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

14 มีนาคม 2555






ปัญหาของประเทศไทยคือ นักการเมืองขาดจริยธรรม



รัฐบาลหุ่นโชว์ที่อยู่มาเพียงครึ่งปีเศษ แต่ได้ทำความเสียหายให้กับประเทศชาติไว้อย่างมากมาย ตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมก็คือ น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่มูลค่าความเสียหายเป็นรองก็เฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 11 มีนาคม 2011 ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น



แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขนาด 9 ริกเตอร์สเกลหรือ ระดับ 7 ในมาตรฐานของญี่ปุ่นก่อให้เกิดภัยพิบัติติดตามมา 2 ประการคือ คลื่นยักษ์ที่เรียกว่า “สึนามิ” ที่มีขนาดความสูงตั้งแต่ 10-30 เมตรซัดเข้าชายฝั่งบริเวณอีสานญี่ปุ่น และการ “หลอมละลาย” หรือ melt down ของเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดฟุกุชิมะที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลของรังสี เหตุเนื่องจากคลื่นสึนามิทำให้เครื่องปั่นไฟสำรองเพื่อเดินเครื่องสูบน้ำระบายความร้อนไม่สามารถทำงานได้



ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวนอกเหนือจากการเสียชีวิตของประชาชนกว่า 15,000 คนแล้ว ยังได้ซัดเอาเก้าอี้นายกฯ ของนายคังกระเด็นหายไปด้วย



จากรายงานที่ปรากฏออกมาเรื่อยๆ ทำให้สามารถประติดประต่อให้เห็นถึงการตัดสินใจของนักการเมืองญี่ปุ่นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตได้ว่ามีความโปร่งใสและมีความสามารถในการตัดสินใจเหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้มากน้อยเพียงใด



แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 14.46 น. และมีคำเตือนภัยถึงคลื่นยักษ์ออกมาในอีก 3 นาทีให้หลังในพื้นที่ชายฝั่งอีสานญี่ปุ่นโดยประมาณความสูงของคลื่นไว้เพียง 3-6 เมตร แต่จากความสูงของคลื่นสึนามิที่มากกว่าแสดงว่าคลื่นสึนามิได้ “น็อก” เครื่องปั่นไฟสำรองที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปในช่วงเวลาประมาณบ่ายสามโมงไปเรียบร้อยแล้ว เครื่องสูบน้ำระบายความร้อนจึงทำงานได้จากแบตเตอรี่สำรองที่ใช้งานได้ไม่เกิน 8 ชม.เท่านั้น การหลอมละลายของเชื้อเพลิงย่อมเป็นที่คาดการณ์ได้



แต่คณะกรรมการฉุกเฉินด้านนิวเคลียร์ที่มีนายกฯ คังเป็นประธานกว่าจะออกประกาศภาวะฉุกเฉินก็เมื่อหลังห้าโมงเย็นและมิได้มีการประกาศแจ้งการอพยพประชาชนในบริเวณใกล้เคียงแต่อย่างใดต้องรอให้เวลาล่วงเลยมาถึงเช้าวันที่ 12 มีนาคมจึงได้มีการออกประกาศอพยพในรัศมี 10 กม.และเพิ่มเติมเป็น 20 กม.ในภายหลังก็เมื่อหลังจากการระเบิดของไฮโดรเจนในเตาที่ 1 แล้ว ทั้งๆ ที่ห่างออกไปอีกหลายพันไมล์ที่สหรัฐฯ ก็ทราบถึงข้อมูลนี้และได้ออกประกาศเตือนภัยกับประชาชนสหรัฐฯ ให้อพยพออกห่างกว่า 50 ไมล์หรือ 80 กม.ตั้งแต่แรกดังปรากฏให้สืบค้นได้จากรายงานการประชุมที่เผยแพร่ในเวลาต่อมา



การที่นายคังให้นายเอดะโนซึ่งเป็นเพียงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้มาแถลงข่าวรับหน้าสื่อมวลชนและวิธีการสื่อสารกับสังคมของนายคังที่ “แถลงเสร็จ -ไป” จากโพยที่เตรียมแจกนักข่าวไว้ล่วงหน้า ไม่นิยมตอบคำถามจากสื่อเวลาแถลงข่าว ทำให้สังคมตกอยู่ในความมืดไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและควรทำตัวอย่างไรต่อไป



นอกจากนี้แล้ว การไม่ยอมให้ข้าราชการประจำอยู่ในที่ประชุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาตัดสินใจเรื่องสำคัญ ทำให้ไม่มีบันทึกการประชุมปรากฏซึ่งเป็นผลเสียทั้งกับสังคมและตัวนายคังเองในเรื่องความโปร่งใสและเป็นหลักฐานประเมินความสามารถ



ทำไมช่างคล้ายคลึงกับนายกฯ หุ่นโชว์เสียเหลือเกินที่ไม่นิยมสื่อสารสองทาง ชอบแต่เป็นฝ่ายพูดข้างเดียว อีกทั้งการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ก็มักทำเป็นความลับไม่เปิดเผยทั้งๆ ที่เป็นเรื่องส่วนรวมกระทบต่อความเป็นอยู่และชีวิตของประชาชน หรือว่าเป็นอุปนิสัยเฉพาะของคนตระกูลนี้



การแก้ปัญหาภัยพิบัติของญี่ปุ่นก็อาศัยการทำงบประมาณเพิ่มเติมโดยการออก พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมถึง 3 รอบผ่านสภาเพื่อขออนุมติใช้จ่ายเงิน ไม่บังคับให้เซ็นเช็คเปล่าโดยไม่มีรายละเอียดการใช้เงินเหมือนการออก พ.ร.ก.ของไทย



แต่ประเด็นสำคัญที่แตกต่างกันก็คือที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่าย รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ คนต่อมาคือนายโนดะที่มาจากพรรคเดียวกับนายคังเลือกที่จะขึ้นภาษีโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็น 10 แทนที่จะกู้



เหตุที่ใช้การขึ้นภาษีก็เพราะในปัจจุบันงบประมาณรายจ่าย 100 เยนมีส่วนที่เป็นรายได้จากภาษีเพียงประมาณ 50 เยนเท่านั้นที่เหลือส่วนใหญ่ต้องไปกู้มา ในขณะที่โครงสร้างประชากรญี่ปุ่นกำลังจะเป็นสังคมคนแก่ที่หมายถึงจะมีคนหนุ่มสาวผู้ทำงานและเสียภาษีน้อยลง ขณะที่จะมีคนแก่ผู้ที่ไม่ทำงานและรอรับเงินภาษี (จากสวัสดิการสังคม) มากขึ้น ไทยเองก็มีโครงสร้างประชากรเช่นนี้เหมือนกัน



นายโนดะจึงถือว่าการขึ้นภาษีเป็นเดิมพันอนาคตของญี่ปุ่นก็ว่าได้ มีข่าวลือว่านายโนดะแอบไปพบกับผู้นำฝ่ายค้านเพื่อขอความสนับสนุนโดยยอมยุบสภาก่อนกำหนดเพื่อแลกกับการสนับสนุนการขึ้นภาษี ทำไมนายโนดะที่เป็นนายกฯ สบายๆ อยู่แล้วจึงดิ้นรนทำเช่นนี้ได้ ขณะที่นักการเมืองบ้านเราแค่เป็นเพียงรัฐมนตรีหางแถวก็ยังยึดติดเก้าอี้อย่างเหนียวแน่น



นักการเมืองญี่ปุ่นก็เป็นคนเช่นเดียวกับนักการเมืองไทย มี รัก โลภ โกรธ หลง ติดตัวมาเหมือนๆ กัน แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ต่างกันและน่าจะเป็นสาเหตุให้ประเทศญี่ปุ่นยกระดับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ก็คือ จริยธรรมอยู่เหนือกฎหมาย



ใครมาญี่ปุ่นอยู่โรงแรมตื่นตอนเช้าควรจะเปิดดูช่อง 1 ของ NHK ที่เป็นเหมือน BBC ที่ช่อง 11 และ ThaiPBS พยายามจะเป็น ช่องนี้ในบางวันจะมีการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการคณะต่างๆ ของทั้งสองสภาในเวลา 09:00 น. และถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุในตอน 13:00 น.



สิ่งที่คนไทยอาจไม่เอะใจก็คือ ทำไมเขาเริ่มการประชุมได้ตรงเวลาทุกครั้งทั้งที่เป็นรายการสดที่หมายถึง NHK เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดมิใช่เป็นผู้จัดรายการนี้ ไม่ต้องให้ประธานกดกริ่งเรียก นายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็มาตรงเวลารอตอบกระทู้ทุกครั้ง ฝ่ายค้านที่ได้สิทธิถามก็ซักถามในประเด็นไม่วกวน ภายในไม่เกิน 1 ชม.ก็ซักถามได้ตั้งหลายคนหลายกระทู้



หากจะบอกว่าเป็นการสร้างภาพ นักการเมืองไทยทำงานหนักกว่าประชุมตั้งแต่เช้ายันดึก แต่ก็น่าจะเป็นการสร้างภาพที่ดีเพราะมีการถ่ายทอดสดเช่นนี้บ่อยครั้งมากแต่นักการเมืองทำได้เหมือนกันทุกครั้ง แต่จากข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่านักการเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจว่าการเข้าประชุมคือการทำงานที่ตัวเองอาสาประชาชนเข้ามา ตำแหน่งหน้าที่ล้วนมาพร้อมกับความรับผิดชอบ



ประพฤติปฏิบัติของนายกฯ หุ่นโชว์จนถึง ส.ส.ลูกพรรคจึงขาดสำนึกในเรื่องจริยธรรม เมื่อทำผิดก็บอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามเอาไว้หรือพูดแบบบ้าๆ บอๆ ตามสไตล์แบบด็อกเตอร์ “เป็ด” ที่ไม่รู้อังกฤษแม้แต่น้อยว่าไม่ได้ทำผิดเพียงแต่ทำสิ่งที่กฎหมายห้าม แค่มาประชุมให้ตรงเวลานัดก็ยังทำไม่ได้นับประสาอะไรกับจะให้รับผิดชอบสูงกว่านี้ อย่าให้พูดต่อไปถึงคุณภาพงานว่าเตรียมตัวประชุมมามากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการบ้านมาแทบทั้งสิ้น มาหาความรู้ความเข้าใจเอาในที่ประชุมแทบทั้งนั้น การประชุมจึงยืดเยื้อและไร้สาระเป็นที่สุดทั้งในระดับกรรมาธิการหรือการประชุมสภา



นี่อาจเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดจึงไม่มีการจลาจลแย่งชิงข้าวของเมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่เช่นแผ่นดินไหวเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ทำไมคนญี่ปุ่นจึงยอมเข้าแถวซื้อของที่มีอย่างจำกัดได้ ทำไมรถไฟเครื่องบินของญี่ปุ่นจึงออกได้ตรงเวลา ในขณะที่คนไทยต้องให้คนซื้อตั๋วรอ ส.ส.ที่ไม่เสียค่าตั๋ว ขับรถเรียงแถวขึ้นสะพานก็ยังทำไม่ได้ การเข้าแถวหรือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กลายเป็นเรื่องความเชยของคน “โง่” เป็นเพราะขาดตัวอย่างที่ดีใช่หรือไม่?



การทำให้คนมีความรู้อาจจะทำให้มีจริยธรรม แต่แบบอย่างประพฤติปฏิบัติของผู้นำในสังคมต่างหากที่น่าจะมีผลมากกว่า จริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้โดยไม่ต้องออกกฎเกณฑ์อะไรให้ยุ่งยาก นักการเมืองพึงสังวรว่าท่านก็เป็นผู้นำที่ต้องเป็นตัวอย่าง การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามิได้หมายความว่าจะมี GDP หรือขนมก้อนใหญ่เพิ่มขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่หมายถึงการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าตามไปด้วยพร้อมๆ กันต่างหาก จะรอให้ฉันรวยหรือสร้างเศรษฐกิจก่อนแล้วจึงค่อยหันมาสร้างสังคมหรืออบรมลูกนั้นมันก็สายไปแล้วและเป็นไปไม่ได้ด้วย



นักการเมืองในแง่ของการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการตัดสินใจในปัจจุบันถือได้ว่าล้มเหลว เป็นตัวถ่วง เป็นปัญหา ทำให้ประเทศพัฒนาต่อไปไม่ได้ เพราะนักการเมืองขาดจริยธรรม การตัดสินใจเพื่อประโยชน์คนส่วนรวมจึงผิดพลาดไปหมด



ประพฤติปฏิบัติของนายกฯ และนักการเมืองในรัฐบาลหุ่นโชว์เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน การโกหกของนายกฯ หุ่นโชว์ตั้งแต่คำให้การช่วยพี่ชายในศาล การหลบหนีคำถาม การแต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีมลทินติดตัว การบริหารจัดการน้ำจนทำให้น้ำ “ท่วม” ทั้งแผ่นดินอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือการพยายามสร้างค่านิยมที่ผิดยกย่องคนเลว เช่น พวกเผาบ้านเมืองให้ได้ตำแหน่งหรือมีเงินตอบแทนจากการทำชั่ว กล่าวได้เลยว่าจับตรงไหนก็เน่าตรงนั้น



อันที่จริงแล้ว ไม่มีประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศใดที่ไม่สร้างจริยธรรมให้คนในสังคมก่อนจะสร้างประเทศ ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องจริยธรรมของคนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง



สร้างจริยธรรมไม่ยาก แค่นักการเมืองทำตัวให้คนดีเคารพได้ก็พอ อย่าทำตัวให้คนเลวยกย่อง หากไม่รู้จักว่าอะไรดีหรือเลวก็ให้ดูพฤติกรรมที่ตนเองไม่อยากให้ลูกหรือคนที่รักทำตามก็พอจะแยกออกได้ จะดิ้นรนแก้รัฐธรรมนูญไปเพื่ออะไร รัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ไขเรื่องจริยธรรม




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้