คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (5) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (9 ตุลาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (5) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (9 ตุลาคม 2556)




นรก” ของชนชั้นกลางล่างมาเยือนแล้ว (5)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

9 ตุลาคม 2556




จำนำข้าวและรถคันแรก มุมที่ไม่เคยมอง
       


       “น้องน้ำ” มาเยือนอีกครั้งหนึ่งแล้วในปี พ.ศ. 2556 พร้อมๆ กับการปรับลดตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้ง 2 เหตุการณ์มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไร
       


       หากความจำไม่สั้นจนเกินไปนัก น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตลดลง เหตุก็เพราะการผลิตของประเทศชะงักงันไปเกือบทุกภาคส่วนก็ว่าได้


       
       แต่ครั้งนั้นคนไทยอาจจะยังคิดไม่ถึงว่า น้ำท่วมที่เกิดขึ้นมิใช่เกิดเพราะเทวดาบันดาล หากแต่เกิดเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นหลัก
       


       แต่ในปัจจุบัน ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลของเธอได้ทำให้ปรากฏออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า น้ำท่วมและเศรษฐกิจทรุดตัวเป็น Man-made มิใช่ God-made
       


       มุมที่ไม่เคยมีคนมองเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวก็คือ มันเป็นคำตอบสุดท้ายของการเกิดน้ำท่วมอย่างมโหฬารทั้งในปี พ.ศ. 2554 และจะซ้ำรอยในปีพ.ศ. 2556 หรือไม่
       


       ในปี พ.ศ. 2554 ปรากฏค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ความพยายามในการกักเก็บน้ำเพื่อให้ชาวนาสามารถนำมาปลูกข้าวเพื่อสนองตอบต่อโครงการจำนำข้าว ทำให้มีน้ำจำนวนมหาศาลสะสมอยู่ในเขื่อน ทั้งๆ ที่ควรจะต้องปล่อยออกมาเพื่อรองรับน้ำฝนเหนือเขื่อนและป้องกันมิให้ต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนออกมาในช่วงเวลาเดียวกันกับน้ำที่มาจากฝนตกหนัก
       


       ในปี พ.ศ. 2556 ผลจากนโยบายจำนำข้าวในราคาสูงเกินจริงทำให้ความต้องการเนื้อที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื้อที่ในการระบายน้ำจึงหมดไป
       


       เมื่อทางน้ำหลากที่เคยมีกลับกลายเป็นไม่มี ทางตะวันตกก็กั้นเอาไว้ขณะที่ทางตะวันออกก็ติดสนามบินและโครงการของ “กิ๊ก” การระบายออกทางแม่น้ำสายหลักเพียง 1 หรือ 2 สายจึงเป็นหนทางเดียว น้ำท่วมจึงมีผลที่ติดตามอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากไม่ว่าจะมีเขื่อนอีกสักกี่เขื่อนก็ตาม
       


       นอกเหนือไปจากความเสียหายทางการคลังแล้ว นโยบายจำนำข้าวจึงกลายเป็นนโยบาย “เข็มขัดสั้น” คาดไม่ถึงเพราะคิดไม่รอบคอบถึงผลกระทบที่จะติดตามมา
       


       เช่นเดียวกับนโยบายรถคันแรกที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จแก้หน้าเรื่องการด้อยซึ่งความสามารถในการจัดการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
       


       หากถอยหลังนึกภาพเมื่อตอนปลายปี พ.ศ. 2555 คงจะคิดเช่นนั้น เหตุก็เพราะนโยบายรถคันแรกมียอดจอง/ขายอย่างถล่มทลายเป็นล้านคัน
       


       แต่จะมีใครในรัฐบาลคาดคิดหรือไม่ว่านโยบายนี้เป็นสาเหตุที่มาของเศรษฐกิจซบเซาและถดถอยในปัจจุบัน เป็นการสร้างวิกฤตหนี้ของของผู้กู้ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน หรือ sub-prime borrower crisis ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย


       
       วิกฤตในสหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ. 2551 เกิดจากสถาบันการเงินสหรัฐฯ หันมาปล่อยเงินกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 3 4 ให้กับผู้กู้ที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน หรือ sub-prime borrower ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เทียบเท่าผู้กู้ที่ได้มาตรฐาน หรือ prime borrower
       


       ความโลภ ความฉ้อฉล ของผู้กู้ ผู้ให้กู้ และผู้กำกับดูแล ทำให้สถาบันการเงิน “เล่นแร่แปรธาตุ” ขายสินเชื่อ/ลูกหนี้ที่เป็นสินทรัพย์แทนที่จะรักษาดูแลลูกหนี้ของตนเองไว้ในงบดุลจนครบสัญญาโดยหวังหากินกับค่าธรรมเนียมการเป็นนายหน้าปล่อยกู้ที่จะได้หลายรอบแทนดอกเบี้ย
       


       ผลก็คือไม่ว่าสถาบันการเงินจะปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ต่ำกว่ามาตรฐานมากเท่าใดก็ไม่ต้องกังวลเพราะในช้าจะถูกรวมห่อขายออกไปไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีงบดุลของตนก่อนครบอายุไถ่ถอนเพื่อนำเงินไปปล่อยกู้งวดใหม่
       


       ส่วนผู้กำกับดูแลก็ปล่อยให้มีการออกตราสารชนิดใหม่ที่เกิดจากนำเอาลูกหนี้ชั้นดีมาผสมกับชั้นเลวแล้วนำไปชุบตัวโดยบริษัทจัดลำดับความเสี่ยงออกขายให้กับผู้ลงทุนอื่นๆ ได้โดยง่าย


       
       ผู้ลงทุนที่ซื้อตราสารนี้ไปจึงไม่รู้เลยว่าไส้ในของตราสารที่ตนเองไปลงทุนนั้นมีลูกหนี้ประเภทใดบ้างเพราะถูก “เล่นแร่แปรธาตุ” ขยำรวมจนไม่รู้ว่าลูกหนี้ตนเองคือใครกันแน่ แล้วยังงี้จะวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกหนี้ได้หรือไม่ว่ามีมากน้อยเพียงใด ต้องพึ่งพาแต่ “หมูดดี้” หรือ “เอสแอนด์ผี” ในการจัดลำดับความเสี่ยง
       


       เมื่อผู้กู้ไม่ผ่อนบ้านต่อเพราะราคาบ้านตกกว่าราคาที่ไปซื้อมา ตราสารหนี้ที่ออกมาขายก็เริ่มผิดนัดชำระหนี้เป็นลูกโซ่ ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในสหรัฐฯ จนเป็นที่มาของมาตรการอัดฉีดเงินอย่างไร้สติ หรือ QE จนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และของโลกกลายเป็นผีดิบขาดเงินอัดฉีดไม่ได้
       


       วิกฤตหนี้ของผู้กู้ต่ำกว่าระดับมาตรฐานของไทยจึงอยู่ที่รถคันแรกมิใช่บ้านหลังแรก แม้ในขณะนี้จะมีผู้ที่ผิดนัดค่างวดเพียงประมาณร้อยละ 10 แต่ก็ส่งผลกระทบถึงการบริโภคอันเป็นเครื่องจักรฉุดเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าอย่างรุนแรง


       
       อย่าลืมว่ากฎหมายไทย ลูกหนี้แม้จะขายคืนหลักทรัพย์ที่ไปผ่อนซื้อมา เช่น รถหรือบ้าน แต่ก็ยังไม่พ้นบ่วงกรรมของเจ้าหนี้เพราะเงินที่ขายได้หากไม่พอเพียงกับมูลหนี้ที่ไปกู้ยืมมาก็ต้องหามาใช้คืนให้ครบ
       


       ต่างจากในสหรัฐฯ ที่เป็นภาระของเจ้าหนี้ มูลหนี้ของลูกหนี้จะมีเท่าใดก็ตามแต่หากไปยึดรถ/บ้านกลับคืนมาขายทอดตลาดได้เท่าใดก็ตามลูกหนี้ก็พ้นภาระ
       


       ลูกหนี้ไทยจึงต้องกัดฟันนำเงินส่วนใหญ่จากรายได้ทั้งหมดที่มีมาผ่อนค่างวดหากไม่อยากเป็นบุคคลล้มละลายอันเป็นการประหารชีวิตในทางแพ่งที่จะมีผลต่อชีวิตหน้าที่การงานของตนเอง


       
       นโยบายรถคันแรกที่เอาเงินภาษีของทุกคนไปให้คนบางคนที่ซื้อรถคันแรกจึงเป็นนโยบายที่ “เข็มขัดสั้น” คาดไม่ถึงเพราะคิดไม่รอบคอบถึงผลกระทบที่จะติดตามมาเช่นเดียวกัน
       


       ยอดขายรถจึงดีเพียงปีเดียว ขณะที่การหาคะแนนนิยมจากผู้กู้ต่ำกว่าระดับที่ไม่สมควรจะมีรถก็ทำให้การบริโภคในประเทศหดตัวลงอย่างรุนแรงไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปีจนกว่าจะผ่อนรถหมด ขณะที่การส่งออกทำไม่ได้


       
       รู้บ้างหรือยังว่า “นรก” ได้มาเยือนแล้วจากความโลภ ไร้สติ และบ้าคลั่ง ของคนชั้นกลางล่างและนักการเมืองของพวกเขา






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้