แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (43) (15/1/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (43) (15/1/2556)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (43)

(15/1/2556)

 

 
*เคล็ดการฝึกอาสนะ ในหทะโยคะ (ต่อ)*



การฝึกอาสนะเพื่อเข้าถึงความมั่นคง ตื่นตัวของกาย และความเบาสบายของใจ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้ฝึกทำการออกแบบการฝึกโยคะของตนอย่างถูกต้องในหลักการ อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสมรรถนะของร่างกาย และอย่างชาญฉลาด เพราะมองเห็นภาพรวมของทิศทางความก้าวหน้าในการฝึกโยคะของตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราควรฝึกโยคะโดยเริ่มต้นการฝึกของเราจากที่เราเป็น และมุ่งไปสู่เป้าหมายที่สูงส่งในการพัฒนาตนเองอย่างบูรณาการในทุกๆ มิติ ทั้งกาย อารมณ์ ความคิด จิตวิญญาณ แน่นอนว่า การฝึกโยคะของเราจะต้องตั้งอยู่บนชีวิตประจำวันของเรา เพียงแต่การฝึกในแต่ละวันของเราไม่ได้นำเรากลับมายังจุดตั้งต้นเดิม เพราะการฝึกโยคะทำให้ตัวเราเกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือไม่ก็ตาม



การออกแบบการฝึกโยคะ โดยเฉพาะการเลือกท่าอาสนะกับการจัดลำดับในการฝึกอาสนะท่าต่างๆ จึงมีความสำคัญ เราไม่จำเป็นต้องฝึกท่าอาสนะที่มีอยู่มากมายทุกท่า แต่เราควรจะฝึกท่าอาสนะต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะของร่างกายเราอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอย่างเป็นขั้นตอน



ด้วยเหตุนี้ การตรวจสอบสภาพของตัวเรา ทั้งก่อนเริ่มต้นฝึกในแต่ละวัน และในระหว่างการฝึกเป็นระยะๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ ก่อนที่เราจะทำท่าอาสนะใดๆ เราควรจะแน่ใจเสียก่อนว่าร่างกายของเรามีความพร้อมที่จะทำท่านั้น ไม่ควรหักโหมเป็นอันขาดเพราะอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ เราจึงควรเริ่มฝึกอาสนะแต่ละครั้งด้วยท่าที่ง่ายที่สุดก่อนแล้วค่อยๆ ไปสู่ท่าที่ยากขึ้น



นอกจากนี้ เรายังควรฝึกอาสนะแบบเคลื่อนไหวก่อนที่จะไปฝึกอาสนะแบบหยุดนิ่งซึ่งยากกว่า การฝึกอาสนะแบบเคลื่อนไหว คือ การเคลื่อนไหวไปสู่ท่าอาสนะ และเคลื่อนไหวกลับมาในท่าเริ่มต้นโดยให้ประสานกับการหายใจ และให้ทำซ้ำหลายๆ รอบ ส่วนใหญ่มักจะเป็นท่าอาสนะที่ง่ายๆ ขณะที่ การฝึกอาสนะแบบหยุดนิ่ง คือการเคลื่อนไหวไปสู่ท่าอาสนะ แล้วค้างอยู่ในท่านั้นเป็นจำนวนรอบหายใจที่แน่นอน มิใช่เคลื่อนไหวทุกครั้งที่หายใจ แต่ให้มุ่งความสนใจไปที่ลมหายใจตามจำนวนรอบหายใจที่กำหนดไว้ในใจแทน



อนึ่ง ในการฝึกอาสนะนั้น ผู้ฝึกจะต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลเสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อทำท่าอาสนะท่าใดที่ค่อนข้างยาก ผู้ฝึกก็ต้องรู้ด้วยว่า ควรจะฝึก “ท่าแก้” ท่าใด เพื่อลบล้างผลในเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการฝึกอาสนะที่ยากท่านั้น เนื่องเพราะการกระทำทุกอย่างทำให้เกิดผลในเชิงบวก และผลในเชิงลบได้เสมอ ผู้ฝึกต้องตระหนักให้ได้ว่าอะไรเป็นผลในเชิงบวกของอาสนะท่านั้น และอะไรเป็นผลในเชิงลบที่อาจเกิดจากอาสนะท่านั้น



ยกตัวอย่างเช่น ท่ายืนด้วยศีรษะ (ศีรษะอาสนะ) แม้จะให้ผลในเชิงบวกเป็นอย่างมาก เพราะช่วยกลับผลตามปกติของแรงโน้มถ่วงของโลกที่มีต่อร่างกาย แต่ผลในเชิงลบของท่านี้ก็คือ คอของผู้ฝึกจะต้องรับน้ำหนักของร่างกายทั้งหมด เพราะฉะนั้น หลังจากที่ฝึกท่ายืนด้วยศีรษะแล้ว ผู้ฝึกจึงควรฝึก “ท่าแก้” ตามไปด้วย โดยที่ท่าแก้สำหรับท่ายืนด้วยศีรษะก็คือ ท่ายืนด้วยไหล่ (สรรวางคะอาสนะ) เพื่อผ่อนคลายแรงกดที่คอนั่นเอง



โดยปกติแล้ว ท่าอาสนะหนึ่งๆ อาจมี “ท่าแก้” ได้หลายท่า ขึ้นอยู่กับว่ามีอาการตึงเครียดบริเวณไหน เมื่อใดก็ตามที่ผู้ฝึกรู้สึกว่ามีอาการตึงเครียดอย่างรุนแรงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หลังจากฝึกท่าอาสนะหนึ่ง ผู้ฝึกจะต้องบรรเทาอาการตึงเครียดนั้นด้วย “ท่าแก้” ซึ่งก็คือ ท่าที่ง่ายที่สุดที่จะบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งโดยปกติก็คือการทำท่าที่ตรงกันข้ามกับท่าอาสนะนั้น ยกตัวอย่างเช่น ท่าแก้สำหรับท่าก้มตัวมาข้างหน้าเต็มที่ ก็คือ ท่าแอ่นตัวไปข้างหลังเบาๆ ในทางกลับกัน ท่าแอ่นตัวไปข้างหลังเต็มที่ ก็ควรตามแก้ด้วยท่าก้มตัวมาข้างหน้าเบาๆ เป็นต้น ขอย้ำอีกครั้งว่า เหตุผลของการทำ “ท่าแก้” ในการฝึกอาสนะก็เพื่อให้ร่างกายของผู้ฝึกกลับสู่ภาวะปกติ และเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการตึงเครียดก่อนจะฝึกท่าต่อไปหรือกลับไปสู่ชีวิตประจำวันนั่นเอง



ต่อไปผมจะขอแนะนำอาสนะบางท่าที่ดีต่อสุขภาพ และไม่ยากต่อการฝึกจนเกินไปนัก ต่อจาก 8 ท่าที่ได้ถ่ายทอดไปแล้ว...



(9) สาลัมพะ ศีรษะอาสนะ (ท่ายืนด้วยศีรษะ)


อันที่จริง ท่าอาสนะนี้ผมเคยเขียนถึงแล้ว ในตอนที่กล่าวถึง “เคล็ดวิชา 5 กระบวนท่าของทิเบตขั้นสูง” ในกระบวนท่าที่หก “การสลับตำแหน่งดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ในร่างกาย” เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงท่าอาสนะนี้แบบสรุปโดยย่ออีกครั้ง สาลัมพะหมายถึงพร้อมด้วยเครื่องย้ำยัน “สาลัมพะศีรษะอาสนะ” จึงหมายถึงท่าที่ยืนด้วยศีรษะ ซึ่งเป็นอาสนะหรือท่าที่สำคัญที่สุดในบรรดาท่าอาสนะทั้งหมดของโยคะ จนได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งอาสนะทั้งปวง เนื่องจากศีรษะเป็นที่ตั้งของสมองและระบบประสาทส่วนกลางซึ่งควบคุมการทำงานต่างๆ ของร่างกายและจิตใจ การฝึกศีรษะอาสนะจะทำให้โลหิตไหลเวียนมาเลี้ยงสมองมากขึ้น ทำให้สมองมีความกระปรี้กระเปร่า ทำหน้าที่ต่างๆ ได้ดีขึ้น



ผู้ที่ได้ฝึกศีรษะอาสนะจะรู้สึกได้เองว่า ตัวเองมีพลังความคิดเพิ่มขึ้น ความคิดก็แหลมคมแจ่มชัดขึ้นด้วย การฝึกศีรษะอาสนะอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จึงช่วยพัฒนาร่างกายของผู้ฝึก ทำให้จิตใจของผู้ฝึกมั่นคงมีระเบียบ และยังช่วยเสริมขยายขอบเขตของจิตวิญญาณของผู้ฝึกอีกด้วย ทำให้ผู้ฝึกกลายเป็นคนที่มีดุลยภาพในตัวเอง และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ ทั้งปวงบนโลกใบนี้



วิธีปฏิบัติ ก่อนอื่นให้นำผ้าห่มมาพับซ้อนกันวางบนพื้นใกล้ผนังห้อง จากนั้นคุกเข่าลงใกล้ๆ วางท่อนแขนลงตรงกึ่งกลางของผ้าห่ม ประสานนิ้วมือเข้าด้วยกันจนแน่นสนิท จากนั้นก้มศีรษะลงจดพื้น ขยับศีรษะให้ท้ายทอยสัมผัสกับอุ้งมือทั้งสอง เลื่อนเข้าเข้ามาชิดข้อศอกให้เฉพาะส่วนยอดของศีรษะจดพื้น หลังจากจัดวางตำแหน่งของศีรษะจนได้ที่แล้ว ยกเข่าขึ้น ขยับปลายเท้าเข้ามาชิดศีรษะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้



หายใจออก ดีดปลายเท้าเบาๆ เพื่อยกเท้าให้พ้นพื้น พร้อมๆ กันทั้งสองข้างโดยเข่ายังงออยู่ พับท่อนขาส่วนล่างเข้ามาชิดกับต้นขา ค่อยๆ ยกต้นขาขึ้นจนตั้งได้ฉากกับพื้น เข่าชี้ฟ้า ค่อยๆ เหยียดขาขึ้นจนท่อนขาทั้งหมดเหยียดตรง และร่างกายทั้งหมดตั้งได้ฉากกับพื้น โดยห่างจากผนังห้องประมาณ 3 นิ้วฟุต เหตุที่ให้ฝึกอาสนะท่านี้ใกล้กับผนังห้อง ก็เพื่ออาจใช้ลำตัวพิงผนังห้องได้ หากร่างกายเริ่มเสียสมดุล



จงอยู่ในท่านี้ 1-5 นาทีตามความสามารถ เมื่อชำนาญแล้วอาจเพิ่มเวลายาวขึ้นเรื่อยๆ ได้ เมื่อจะกลับลงมาสู่พื้นก็ให้ปฏิบัติย้อนลำดับที่กล่าวมาข้างต้น



(10) สาลัมพะสรรวางคะอาสนะ (ท่ายืนด้วยไหล่)


สรรวางคะหมายถึง ร่างกายทั้งหมด ในท่าอาสนะนี้น้ำหนักของร่างกายทั้งหมดจะตกอยู่บนลำคอ และไหล่กับมือทั้งสองข้างที่ช่วยค้ำยันเพื่อรับน้ำหนักร่างกายทั้งหมดเอาไว้ จึงเรียกท่านี้ว่า ท่ายืนด้วยไหล่ ท่าอาสนะนี้เป็นอาสนะที่สำคัญมาก จนได้ชื่อว่าเป็น ราชินีแห่งอาสนะทั้งปวง เคียงคู่ไปกับท่าศีรษะอาสนะซึ่งเป็น ราชาแห่งอาสนะทั้งปวง



วิธีปฏิบัติ ก่อนอื่นนอนหงายพื้น ขาเหยียด เข่าตึง แขนทอดข้างลำตัว ฝ่ามือคว่ำลง หายใจลึกๆ 2-3 ครั้ง หายใจออกพับเข่าและดึงเข้าหาลำตัวจนกระทั่งต้นขากดบนหน้าท้อง หายใจเข้า 2 ครั้ง หายใจออก ยกสะโพกขึ้นจากพื้น ยกมือขึ้นค้ำสะโพกไว้ โดยศอกยังวางอยู่กับพื้น หายใจเข้า 2 ครั้ง หายใจออก ยกลำตัวขึ้นจนตั้งได้ฉากกับพื้นโดยใช้มือทั้งสองช่วยยัน จนกระทั่งหน้าอกสัมผัสกับคาง เฉพาะท้ายทอย คอ ไหล่ และด้านหลังของต้นแขนเท่านั้นที่สัมผัสกับพื้น



มือค้ำอยู่ที่กึ่งกลางหลัง หายใจเข้า 2 ครั้ง หายใจออก เหยียดเท้าขึ้นจนตั้งตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น อยู่ในท่านี้ประมาณ 1-5 นาทีตามความสามารถ หายใจสม่ำเสมอ หายใจออกค่อยๆ ปล่อยตัวลงมา ปล่อยมือ นอนราบและผ่อนคลาย



ความสำคัญของสรรวางคะอาสนะนั้นมีมากเหลือเกิน เพราะท่าอาสนะนี้เป็นดุจ ยาครอบจักรวาล สำหรับบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์เป็นประจำ เนื่องจากท่าอาสนะต่างๆ ของโยคะล้วนมีผลโดยตรงต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกายของคนเรา โดยช่วยให้มันทำงานได้ดีขึ้น สรรวางคะอาสนะมีผลต่อต่อมไทรอยด์ และพาราไทรอยด์ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณลำคอ เนื่องจากการที่คางถูกจับยึดไว้อย่างแน่นหนาตอนทำท่าอาสนะนี้ จึงทำให้กระแสโลหิตที่มาหล่อเลี้ยงต่อมทั้งสองเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากเท้าชี้ฟ้าตอนทำท่าอาสนะนี้ ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดำกลับสู่หัวใจเป็นไปอย่างสะดวก และทำให้โลหิตแดงมาหล่อเลี้ยงบริเวณลำคอและหน้าอกเป็นจำนวนมาก ผู้ฝึกอาสนะท่านี้อย่างสม่ำเสมอจะรู้สึกเปี่ยมไปด้วยพลัง รู้สึกเข้มแข็งมีชีวิตชีวา และรู้สึกถึงความร่าเริง เบิกบานของชีวิตอยู่เสมอ (ยังมีต่อ)





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้