คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (6) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (30 มกราคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (6) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (30 มกราคม 2556)



นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (6)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

30 มกราคม 2556




รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเพิ่มหนี้ให้อีก 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อเปลี่ยนโฉมประเทศ
คนชั้นกลางล่างจะได้อะไร?



รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่คนเสื้อแดงสนับสนุนบอกว่าการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทนอกงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะเป็นการพลิกโฉมหน้าประเทศไทย



เงินกู้ดังกล่าวเมื่อรวมกับเงินที่ได้ออกกฎหมายกู้อย่างเร่งด่วนไปแล้วจำนวน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนก็จะเป็นเงินกู้เพื่อโครงการก่อสร้างเปลี่ยนประเทศไทยในวงเงินกว่า 2.37 ล้านล้านบาท



ทั้งหมดล้วนเป็นโครงการลงทุนในทางกายภาพด้วย อิฐ หิน ดิน ทราย เหล็ก และปูนซีเมนต์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งได้เร็วกว่า 200 กม./ชม. หรือโครงการทำเขื่อน/ผนังกั้นน้ำจากแม่น้ำสายต่างๆ ให้คูคลองกลายเป็นท่อระบายน้ำแบบเปิดหรือตัวเมืองกลายเป็นเกาะ เป็นต้น หาได้มีโครงการเพื่อการศึกษาเป็นอาหารสมองเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของคนที่จะทำให้คนชั้นกลางล่างสามารถคิด-ทำเองเป็นหรือทำให้ลูกหลานของพวกเขาได้ฉลาดมีทักษะมากขึ้นแต่อย่างใดไม่



ประเทศไทยทุกวันนี้มีโครงสร้างการผลิตมาจากภาคเกษตรที่มีสัดส่วนผลผลิตที่ผลิตได้เพียงประมาณร้อยละ 10 ของ GDP แต่มีจำนวนแรงงานมากถึงร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม มีสัดส่วนผลผลิตมากกว่าร้อยละ 30 ของ GDP แต่มีการใช้แรงงานต่ำกว่าภาคเกษตรมาก และก็เป็นข้อเท็จจริงอีกเช่นกันว่า “คนจน” ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดก็ว่าได้อยู่ในภาคเกษตร



ระหว่างการสะสมทุนกายภาพกับการเพิ่มทุนมนุษย์ด้วยประสิทธิภาพการผลิตให้กับแรงงาน สิ่งใดจะสามารถสร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืนมากกว่ากัน และที่สำคัญก็คือ ระหว่าง “คนจน” กับ “คนไม่จน” ใครจะได้ผลประโยชน์จากโครงการเงินกู้กว่า 2.37 ล้านล้านบาทมากกว่ากัน



ประสบการณ์ของญี่ปุ่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลงทุนก่อสร้างด้านโครงสร้างและสาธารณูปโภคที่เป็นนโยบาย “ปูนซีเมนต์” เป็นการสะสมทุนกายภาพที่ดำเนินการโดยรัฐบาลญี่ปุ่นจากอดีตหลังยุคฟองสบู่แตกเมื่อทศวรรษที่ 1990 ไม่ได้สร้างความเจริญอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามมีแต่ยอดหนี้สาธารณะที่สูงกว่าร้อยละ 250 ของ GDP ที่สามารถครองอันดับโลกสูงสุดเป็นที่หนึ่งเท่านั้นที่หลงเหลือเป็นตัวตนให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นสามารถสัมผัสได้ในปัจจุบัน



รากฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เจริญเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น มิได้มาจากการสะสมทุนกายภาพ เช่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคแต่เพียงลำพัง หากแต่เป็นทุนมนุษย์ที่มาจากการศึกษาที่ได้มีการวางรากฐานเอาไว้ตั้งแต่สมัยเปิดประเทศเมื่อสิ้นสุดยุคโชกุนโดยรับเอาความเจริญจากโลกตะวันตกเข้ามาสู่สังคมและเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยแห่งแรกในขณะที่ไทยมีเพียงโรงเรียนประถมแห่งแรกในช่วงเวลาเดียวกัน



ทุนมนุษย์ที่ได้มาจากการเพิ่มความรู้ด้วยการศึกษาใส่ไว้ในหัวคนต่างหากที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ก้าวกระโดดของกบจึงเกิดมาจากกล้ามเนื้อที่แข็งแรงบนขาหลังทั้งสองข้าง หากไม่มีพื้นฐานทุนมนุษย์ที่ดีพอจะรองรับการเพิ่มขึ้นของทุนอื่นๆ การพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงปี ค.ศ. 1949-69 จะไม่สามารถทำได้เพราะจะเอาคนที่มีความพร้อมจากไหนมาเข้าสู่กระบวนการผลิต



มิใช่แต่เพียงประสบการณ์ของญี่ปุ่นแต่เพียงลำพัง ประเทศที่ถูกเรียกว่า 4 เสือเอเชียอื่นๆ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ต่างก็อาศัยทุนมนุษย์นี้แหละเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับให้ทัดเทียมชาติตะวันตกไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะชาติเหล่านี้หาได้มีทรัยากรธรรมชาติใดๆ ที่เอื้อกับการพัฒนาแต่อย่างใดไม่ น้ำมันซักหยด แร่เหล็กซักก้อนก็ไม่มี



เราได้สร้างกล้ามเนื้อเพื่อรองรับก้าวกระโดดแล้วหรือไม่? ไทยหลงระเริง “ฝัน” ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ว่าจะเป็นเสือเอเชียตัวที่ 5 แต่เมื่อ “ความจริง” ปรากฏไทยที่ปราศจากพื้นฐานทุนมนุษย์หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 จึงกลายเป็นได้แค่เสือตัวที่ 11 ข้างขวดยาดองเท่านั้น



รายได้ต่อหัวต่อปีที่คงเส้นคงวาอยู่ที่ประมาณ 5 พันดอลลาร์สหรัฐ ที่ไม่ได้ขยับไปไหนมานานมากแล้ว จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนว่าเราขาดวิสัยทัศน์และความอดทนมุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้พ้น “กับดักของความเจริญ” ที่ไม่จนแต่ไม่รวย ไม่สามารถจะก้าวให้ทันประเทศที่เจริญแล้ว ขณะที่ประเทศที่จนกว่ากำลังจะไล่ตามทันหรือแซงหน้าไป



การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันโดยปราศจากการเพิ่มประสิทธิภาพรองรับเป็นตัวอย่างที่ดีของ “กับดักของความเจริญ” ที่ชี้ให้เห็นว่าไทยกำลังขาดความสามารถในการแข่งขันจากนโยบายดังกล่าว ทำให้ไล่ตามมาเลเซียไม่ทัน ถ่วงให้ไทยถอยหลัง ขณะที่เวียดนาม กัมพูชา ลาวและอีกหลายๆ ประเทศกำลังจะไล่ตามเพื่อแซงหน้า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ แน่ใจแล้วหรือว่าเมื่อเปิดประเทศเปิดตลาดให้สมาชิกอาเซียนแล้วเราจะแข่งกับเขาได้?



หากผู้ประกอบการและแรงงานยังขาดศักยภาพ เช่น ความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ หรือคณิตศาสตร์ เพื่อรองรับการถ่ายทอดวิทยาการที่ติดมากับทุน เราจะเปิดประเทศเพื่อให้ชาวต่างชาติมาลงทุนใช้ทรัพยากรของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร หรือคน อย่างล้างผลาญไปทำไม สูญเปล่าหรือไม่ที่เรียนภาษอังกฤษในโรงเรียนมา 12 ปีแล้วเด็กไทยยังฟังหรือพูด ไม่ได้



ญี่ปุ่นและจีนเมื่อเปิดประเทศแล้วประสบความสำเร็จสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทุนต่างชาติได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็เพราะมีความพร้อมในการรับการถ่ายถอดวิทยาการ ญี่ปุ่นจึงสามารถสร้างสินค้าในยี่ห้อของตนเองได้ในภายหลังจากที่ลอกเลียนแบบต่างชาติเขามาก่อน เช่น อุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ในขณะที่จีนยังก้าวไปไม่พ้นการเป็นที่ตั้งโรงงานและจัดหาแรงงานให้ต่างชาติ



เงินกู้เพื่อโครงการก่อสร้างเปลี่ยนประเทศไทยในวงเงินกว่า 2.37 ล้านล้านบาทจึงช่วยได้แค่เป็นนโยบายเพิ่มทุน “ปูนซีเมนต์” ที่เป็นทุนกายภาพ ไม่ได้แก้ปัญหาที่สมองของคนให้สามารถพัฒนาทักษะมากขึ้นกว่าเดิมแต่อย่างใด แม้จะอ้างว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้ “คนจน” ในภาคเกษตรในต่างจังหวัดได้ใช้รถไฟความเร็วสูงวิ่งได้เกิน 200 กม./ชม. แต่ “คนจน” เหล่านั้นจะนั่งไปทำไมในเมื่อเวลาที่สามารถประหยัดได้ไม่ได้ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากกว่าเดิมแต่อย่างใด ศักยภาพของ “คนจน” ที่โดยสารบนรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นตามความเร็วที่เพิ่มของรถไฟความเร็วสูง



คิดใหม่ทำใหม่ดีไหม ระหว่างรถไฟความเร็วสูงกับรางคู่เพื่อให้รถไฟความเร็วปานกลางมาตรงเวลาเพื่อขนทั้งคนและสินค้า อย่างใดคุ้มค่าเงินลงทุนมากกว่ากัน?



ช่องว่างระหว่าง “คนจน” กับ “คนไม่จน” จึงอยู่ที่การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้คนชั้นกลางล่างสามารถเลื่อนชั้นขยับสูงขึ้นไปได้เพราะแก้จนได้โดยตรง แต่โครงการเงินกู้กว่า 2.37 ล้านล้านบาทดังกล่าวกลับไม่มีอะไรที่เสริมสร้าง “สมอง” ให้มากกว่ามากกว่าอิฐ หิน ดิน ทราย เหล็ก และปูนซีเมนต์ ที่จะเพิ่มมากขึ้น



หากเป็นเช่นนี้การพลิกโฉมประเทศไทยตามที่กล่าวอ้างจะเป็นได้เหมือนที่คนญี่ปุ่นประสบมาก็คือนักการเมืองเพิ่มหนี้ให้ แต่ไม่ได้เพิ่มรายได้ให้แต่อย่างใด



ช่างน่าอนาถเหลือทนสำหรับคนชั้นกลางล่างและคนไทย หากยังไม่เรียนรู้ประสบการณ์ด้านดีและร้ายจากคนอื่นๆ ที่เขาเคยประสบมา คล้ายดั่งชอบซื้อของแพง ชอบความเจ็บปวด สวรรค์มีประตูก็ไม่เดินเข้ามา นรกไม่มีประตูก็ยังจะพังเข้ามา





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้