คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (7) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (6 กุมภาพันธ์ 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (7) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (6 กุมภาพันธ์ 2556)


นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (7)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

6 กุมภาพันธ์ 2556




ปัญหาเงินทุนจากต่างประเทศเปรียบได้ดั่งช้างใหญ่กับบ่อน้ำน้อย
เข้าออกเมื่อใดก็ปั่นป่วนเมื่อนั้น



ปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ตกผลึก มีข้อโต้แย้งตลอดเวลาในมุมมองของ “เซียน” หรือ “กูรู” ทางการเงินหรือเศรษฐศาสตร์ของไทย “กูไม่รู้” จึงขอร่วมวงสนุกด้วยอีกคน



ปัญหานี้ต้องมองในภาพรวม อย่ามองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง และต้องคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจสังคมไทยเป็นสำคัญ อย่าเอาตำราฝรั่งเขียนมากาง อย่านึกว่าเราอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วโดยเฉพาะอย่างในสติปัญญาของคนจึงจะมีทางแก้ไขได้สำเร็จ



ดูไปแล้วเหมือนธนาคารแห่งประเทศไทยแกล้งคนชั้นกลางล่างที่มีหนี้สินให้ต้องมีรายจ่ายดอกเบี้ยเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ เนื่องจากไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ที่ต่ำติดดินเข้าใกล้ 0% ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.75%



ส่วนต่างประมาณ 2% ของดอกเบี้ยระหว่างประเทศนี้เองที่ “กูรู” หลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝากรัฐบาล เช่น วีระพงษ์ หรือรัฐมนตรีโต้ง ประสานเสียงอ้างว่าเป็นเหตุให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยจำนวนมาก ส่งผลข้างเคียงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์ “แข็งค่า” หรือ appreciate หากไม่อยากให้เรื่อง go so big หรือ ไปกันใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดูแลนโยบายการเงินควรที่จะลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับชาวบ้านซะเรื่องนี้จะได้จบ



แต่จะมีใครพูดให้หมดว่า การไหลเข้าออกของเงินทุนข้ามพรมแดนไทยของเงินทุนต่างชาติที่เป็นไปโดยเสรีนั้นหากไหลเข้าออกจำนวนมากก็จะมีบทบาทกำหนด อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนของเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าที่ ธปท.จะสามารถเข้ามากำกับดูแลได้



เงินทุนหากไหลเข้ามามากก็เปรียบเสมือน “ช้าง” ตัวใหญ่ลงไปแช่ในบ่อน้ำน้อย “ระดับน้ำ” หรืออัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนก็จะกระเพื่อมไหวตัวอย่างรุนแรง และเมื่อ “ช้าง” ใหญ่นี้ลุกออกจากบ่อน้ำน้อยก็จะเป็นเช่นดียวกัน ธปท.จึงมีทางเลือกไม่มากนักที่จะรักษา “ระดับน้ำ” เอาไว้ไม่ให้กระเพื่อมมากโดยปราศจากข้อเสียหรือต้นทุนติดตามมาหากปล่อยให้ “ช้าง” ใหญ่เดินเข้าออกบ่อน้ำน้อยนี้ได้อย่างเสรี



ในวิกฤตเมื่อปี พ.ศ. 2540 เมื่อเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว ไทยถึงกับต้องยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวโดยเสรีโดยเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่กำหนดค่าโดย “ตลาด” แทนที่จะเป็น ธปท.หลังจากที่พยายามฝืนรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่มาอยู่พักใหญ่



เงื่อนไขเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยเสรีในวันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเมื่อ 15 ปีก่อนแต่อย่างใด เหตุจึงอยู่ที่อะไรเป็นตัวกำหนดให้ “ช้าง” ใหญ่ หรือเงินทุนไหลเข้าหรือออกจากประเทศ



ด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ ผลตอบแทนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมิใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นเหตุ “ดึง” ให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศ เนื่องจากผลตอบแทนย่อมมาคู่กับความเสี่ยง ดังนั้นหาก “เรา” ไม่ฝืนกลไกตลาด ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนแปรเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปกับเงินทุนเคลื่อนย้ายนี้ ส่วนต่างดอกเบี้ยที่หากมีจะสะท้อนถึงความเสี่ยงในการลงทุนในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ผู้ลงทุนจึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนด้วยว่าส่วนต่างประมาณ 2% จะคุ้มกับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่? หาได้พิจารณาดอกเบี้ยแต่เพียงลำพังไม่



ในอีกทางหนึ่ง เหตุ “ผลัก” ให้มีเงินทุนไหลออกมาสู่ประเทศไทยมากในช่วงนี้ก็เนื่องมาจากโอกาสในการทำกำไรภายในประเทศที่ใช้นโยบายเงินท่วมตลาด หรือ quantitative easing ทั้งหลายมีต่ำ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจึงไม่น่าจะใช่ปัจจัยที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศแต่เพียงลำพัง



ในบริบทของเศรษฐกิจไทย ความกลัวอัตราแลกเปลี่ยนที่จะผันผวน หรือ fear float ของธปท.และความเคยชินของคนไทย (บางกลุ่ม) ที่มักจะผลักภาระส่วนนี้ไปให้ส่วนรวม (คนไทยทั้งประเทศ) รับผิดชอบแทน ทำให้ต่างชาติมีมุมมองรับรู้อยู่เสมอว่า ธปท.มีพันธะอย่างซ่อนเร้นที่จะเข้าแทรกแซงลดความผันผวนให้อัตราแลกเปลี่ยนคล้ายดั่งคงที่แม้จะอ้างว่าใช้ระบบลอยตัวก็ตาม ความเสี่ยงด้านนี้จึงถูกละเลย การนำเงินเข้าออกโดยแลกเปลี่ยนกับเงินบาทจึงเกิดขึ้นได้โดยง่ายเพราะต้นทุนในการเคลื่อนย้ายเงินทุนถูกทำให้ต่ำกว่าความเป็นจริง



ช้างใหญ่กับบ่อน้ำน้อยจึงเป็นเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงวินัยทางเศรษฐกิจของไทยว่าสิ่งที่พูดกับการกระทำมักเป็นไปในทางตรงกันข้ามอยู่เสมอๆ



อาจมีข้อโต้แย้งว่าไม่มีชาติใดในโลกที่ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามกลไกตลาดทั้งหมด เรื่องนี้ก็มีทั้งจริงและไม่จริง



ที่จริงและเห็นเป็นประจักษ์อยู่เสมอๆ ในประเทศไทยก็คือ การทำเขตการค้าเสรี ที่รู้จักในชื่อ FTA ซึ่งมักจะอ้างกลไกตลาด ปล่อยให้พืชผลในภาคเกษตรหลายชนิดต้องเผชิญกับสินค้าต่างชาติที่ราคาถูกกว่าไหลเข้ามาตีตลาดเพื่อแลกกับการเปิดเสรีสินค้าอื่นๆ ที่ต้องการ หรือการลอยตัวราคาเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเบนซิน ในขณะที่กลับตรึงราคาน้ำมันดีเซลฝืนเอาไว้ไม่ให้เป็นไปตามกลไกตลาด



พูดง่ายๆ ก็คือเอากลไกตลาดมาเป็นข้ออ้างสนับสนุนเฉพาะการกระทำที่ต้องการ หาได้ยึดเอามาเป็นกติกาทำเป็นการทั่วไปไม่



ที่ไม่จริงก็คือ การเปิดเสรีเงินทุนไหลเข้าออกหมายถึงประเทศเล็กแต่เปิดเช่นไทยจะไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยนได้เองโดยลำพัง ดังนั้นนโยบายการเงินภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้โดย ธปท.จึงไร้ซึ่งประสิทธิภาพ การปิดกั้นไม่ให้มีการไหลเข้าออกโดยเสรีต่างหากจึงจะเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จในนโยบายการเงินของ ธปท.



ในอีกด้านหนึ่ง อัตราดอกเบี้ยมีขีดจำกัดในการเป็นเครื่องมือของนโยบายการเงิน จะใช้เพื่อรักษาเงินเฟ้อไม่ให้มีการบริโภคมากพร้อมๆ กับใช้เพื่อควบคุมมิให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศนั้นดูจะเป็นการขัดกันของเป้าหมายโดยแท้ แล้วจะใช้เครื่องมือนี้เพื่อบรรลุ 2 เป้าหมายที่ขัดแย้งกันได้อย่างไร



คำถามในเชิงนโยบายก็คือ สมควรหรือไม่ที่ประเทศไทยจะต้องมีการไหลเข้าออกเงินทุนโดยเสรีเช่นเดียวกับสินค้า? องค์ความรู้ที่มีอยู่พิสูจน์แล้วว่าสวัสดิการสังคมจะดีขึ้นหากมีการค้าเสรี แต่ที่ไม่ได้คำนึงถึงจำแต่ขี้ปากฝรั่งมาเป็นสูตรสำเร็จก็คือ เงินทุนเคลื่อย้ายข้ามพรมแดนโดยเสรีนั้นสร้างประโยชน์อะไรให้เราที่เป็นเจ้าของบ่อน้ำน้อยบ้าง? ที่เห็นเป็นประจักษ์ก็คือความเสียหายที่ติดตามมา ใครเห็นช่วยบอกทีว่าอะไรคือประโยชน์



ภาวะฟองสบู่แตกเมื่อโผล่พ้นน้ำของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกปั่นให้ขึ้นสูงและตกลงมาอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากเงินทุนไหลเข้าและออกอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ เช่น ไทยในปี ค.ศ. 1997 หรือ สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2008 เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า



หากยังไม่เรียนรู้จากประสบการณ์ราคาแพงที่ซื้อมาอย่างเจ็บปวดแสนสาหัส ก็น่าเสียดายที่คนชั้นกลางล่างจะรู้หรือไม่ว่า “นรก” กำลังจะมาเยือนในไม่ช้า





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้